Tags:
Node Thumbnail

Single Gateway, ฮับ, หรือชื่อล่าสุด Virtual Single Gateway ถูกชี้แจงเหตุผลต่างๆ กันไป แต่สุดท้ายแล้วมันคือระบบสอดส่องการใช้งานอินเทอร์เน็ต และควบคุมการเข้าถึงข้อมูล ที่ไม่ว่าจะกระจายตัวหรือรวมตัวกันอยู่ที่เดียว สามารถสั่งงานได้จากศูนย์กลาง ไม่ว่าท่อ อาคาร หรือเส้นทางออกจะแยกกันอย่างไร เป็นบริษัทเอกชนหรือรัฐบาล (อ่านรายงานของ PPTV อ้างคำพูดของ พ.ต.อ.นิเวศน์ อาภาวศิน)

alt="upic.me"

ดัชนีความเสรีอินเทอร์เน็ตไทย โดย Freedom House ปี 2014 ได้ 62 คะแนน สูงที่สุดนับแต่สำรวจมาจากปี 2011

alt="upic.me"

ความต้องการควบคุมและสอดส่องอินเทอร์เน็ตของรัฐบาลนี้ สะท้อนออกมาอย่างเข้มข้น ตั้งแต่ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ที่จากตัวร่างเอง จะเป็นหน่วยงานรัฐ หรือเอกชนทำก็คงไม่ต่างกันในแง่ของการเข้าควบคุม

คำถามคือความพยายามจะต้องจ่ายอะไรบ้าง แม้จะไม่คำนึงถึงเสรีภาพอินเทอร์เน็ต และสิทธิความเป็นส่วนตัว

เว็บเข้ารหัส

ถ้าถามว่าก่อนหน้านี้ไปสักห้าปี หากมีรัฐบาลที่สามารถเข้าดักฟังอินเทอร์เน็ตได้ทั้งหมด ข้อมูลจะได้อะไรบ้าง คำตอบคือข้อมูลจำนวนมหาศาล, อีเมล, เว็บ, ข้อความส่วนตัวตามเว็บบอร์ด, เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ฯลฯ ข้อมูลเหล่านี้หากประมวลผลอย่างมีประสิทธิภาพ คงมีประโยชน์มหาศาลต่อผู้ที่เข้าถึงได้ (พร้อมๆ กันอันตรายอย่างยิ่งยวดต่อผู้ที่ถูกดักฟัง)

ความเปลี่ยนแปลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โลกอินเทอร์เน็ตผ่านจุดเปลี่ยนสองจุดใหญ่ๆ คือเหตุการณ์ Firesheep ที่นักวิจัยสาธิตการดักฟังให้ทำได้ง่ายๆ ผ่านโทรศัพท์มือถือ กดดันให้บริการใหญ่ๆ ต้องออกมารองรับการเข้ารหัสทั้งหมด และ Edward Snowden ที่ออกมาเปิดเผยโครงการดักฟังขนานใหญ่ของ NSA

ภายในช่วงไม่กี่ปี การให้บริการเว็บที่รองรับ HTTPS กลายเป็นเรื่องพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นเว็บที่มีข้อมูลส่วนตัวหรือไม่ บริการที่เข้ารหัสทั้งหมดตอนนี้ เช่น เฟซบุ๊ก, ทวิตเตอร์, Google/YouTube, LINE (ที่เคยไม่เข้ารหัสเมื่อส่งข้อความผ่าน 3G)

ภายในปีนี้ บริการ Let's Encrypt จะเริ่มให้บริการ การเข้ารหัสเว็บจะกลายเป็นสิ่งที่ได้มาฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากการจดโดเมนและการเช่าเซิร์ฟเวอร์ ซีพียูรุ่นใหม่ๆ รองรับการเร่งความเร็วการเข้ารหัส ทำให้การเข้ารหัสไม่ใช่การลงทุนเพิ่มเติมเหมือนแต่ก่อน นี่คือทิศทางที่โลกกำลังเดินหน้าไป

ราคาที่ต้องจ่ายกับการจัดการเว็บเข้ารหัส

รัฐบาลเองก็ตระหนักถึงข้อจำกัดเหล่านี้ ถึงได้ตั้งคณะทำงานเพื่อจัดการกับปัญหา SSL นี้ หลังจากรู้เรื่องนี้ ผมเขียนบทความสาธิตกระบวนการดักฟัง HTTPS โลกความเป็นจริงทางเทคนิคหากมอง SSL เป็นปัญหา เราจะมีสี่ทางเลือกคือ

  1. บังคับคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องติดตั้งใบรับรองพิเศษ เพื่อประกาศสามารถดักฟังได้ทุกเว็บ ทุกเวลา
  2. เมื่อดักฟังก็ปล่อยให้เบราว์เซอร์เตือนว่าใบรับรองผิดพลาด ยอมรับกันตรงๆ ว่าอยากดักฟังเมื่อต้องการ แล้วสอนให้ประชาชนกดผ่านหน้าจอแจ้งเตือนเมื่อเข้าเว็บ (ซึ่งเบราว์เซอร์หลายตัวเริ่มมีเงื่อนไขไม่ยอมให้กดผ่านในบางเว็บแล้ว)
  3. ลงทุนขี่ช้าง สร้าง root CA ของตัวเอง ทำตามมาตรฐานสากลจนกว่าจะได้รับการยอมรับจากเบราว์เซอร์ทั่วโลก ซึ่งน่าจะใช้เงินหลายสิบหรือหลายร้อยล้านบาท แล้วออกใบรับรองปลอมสำหรับเว็บต่างๆ เพื่อดักฟัง
  4. สร้างเบราว์เซอร์เองแล้วบังคับทุกคนใช้ ถ้าต้องการออกอินเทอร์เน็ต (เราพร้อมจะไปถึงจุดนี้จริงๆ หรือ?)

แนวทางที่ 3 เป็นแนวทางที่ "เนียน" ที่สุดที่เป็นไปได้ในสมัยนี้ รายงานทั่วโลกเคยมีกรณีเช่นนี้สองครั้ง ครั้งแรกคือ DigiNotar เป็น CA ที่ถูกแฮกในปี 2011 และถูกใช้งานเพื่อดักฟังอยู่ 25 วัน ตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคมจนถึงวันที่ 25 สิงหาคม 2011 หลังจากนั้นใบรับรองของ DigiNotar ถูกถอดออกจากเบราว์เซอร์ทั้งหมด และกิจการล้มละลาย อีกครั้งหนึ่งคือ CNNIC จากจีนที่ออกใบรับรองให้กับบริษัทในอียิปต์เพื่อดักฟัง ใบรับรองถูกใช้งานเพียงไม่กี่วัน กูเกิลก็ออกมาแจ้งเตือนและถอด CNNIC ออกจาก root CA หลังจากนั้นไฟร์ฟอกซ์ก็ถอด CNNIC เช่นกัน ทำให้ในทางปฎิบัติ ใบรับรองจาก CNNIC แทบใช้งานไม่ได้

alt="upic.me"

ข่าวร้ายชั้นสุดท้ายคือเบราว์เซอร์รุ่นใหม่ๆ เริ่มรองรับการล็อก CA ทำให้ต่อให้ตั้ง CA เองได้ เบราว์เซอร์ก็จะไม่ยอมรับใบรับรองจากเว็บเหล่านี้ เช่นในภาพโครมจะรองรับใบรับรองจาก Symantec และ DigiCert เท่านั้น ถ้าต้องการดักฟังแบบผู้ใช้ไม่รู้ตัวก็คงต้องแฮกเอาใบรับรองจากสองรายนี้

alt="upic.me"

NSA เองเคยพยายามอย่างมากในการจัดการกับเว็บเข้ารหัสเช่น Gmail ที่สุดท้ายแล้ว NSA อาศัยการดังฟังระหว่างเซิร์ฟเวอร์ เมื่อเอกสารเปิดเผยออกมา กูเกิลและบริษัทอื่นๆ ต้องเข้ารหัสการเชื่อมต่อระหว่างเซิร์ฟเวอร์อย่างรีบเร่ง

ราคาของการดักฟัง

alt="upic.me"

ตัวอย่างของการดักฟังขนานใหญ่ คือ กรณีของ NSA การเปิดเผยโครงการทั้งหมดของ NSA สร้างความเสียหายสี่ด้าน ตามรายงานของ New America’s Open Technology Institute (PDF)

  • กระทบต่อธุรกิจโดยตรง: บริษัทรายงานความเสียหายจากการเสียลูกค้า โดยเฉพาะบริการคลาวด์ที่ประมาณการว่าเสียหายนับพันล้านดอลลาร์
  • กระทบต่อธุรกิจทางอ้อม: รัฐบาลต่างชาติตั้งกฎการดูแลข้อมูลส่วนตัวของประชาชนหนักแน่นขึ้น ทำให้ต้นทุนการให้บริการสูงขึ้น
  • กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ: ในกรณีของ NSA ที่มีการดักฟังในต่างประเทศรวมถึงการดักฟังโทรศัพท์บุคคลสำคัญในรัฐบาล
  • กระทบต่อความปลอดภัยไซเบอร์: ความพยายามดักฟังทุกวิถีทางไปจนถึงการทำให้การเข้ารหัสอ่อนแออย่างจงใจ ทำลายความปลอดภัยของอุปกรณ์เครือข่ายโดยตรง ทำลายความปลอดภัยโดยรวมของอินเทอร์เน็ต

บล็อคเว็บ

ภาพฝันว่ารัฐจะสามารถควบคุมอินเทอร์เน็ตได้อย่างสมบูรณ์ แบบเดียวกับที่เคยควบคุมสื่อสิ่งพิมพ์ในสมัยเก่าเป็นภาพที่คงทำได้ยากแม้แต่ในจีนเอง ยกเว้นบ้างคงเป็นเกาหลีเหนือ

Intranet addresses used in #NorthKorea #DPRK #DPRK360

Posted by DPRK 360 on Saturday, July 4, 2015

ไม่ใช่แค่ Single Gateway คนเกาหลีเหนือที่ "เชื่อมต่อเครือข่าย" ได้อยู่ในระดับ Zero Gateway

การลงทุนสร้างเครือข่ายขนาดใหญ่เพื่อเซ็นเซอร์อย่างหนักเช่นในจีนเอง สุดท้ายแล้วก็มักจะมีข้อยกเว้นมากมาย รายงานแปลกๆ เช่น อินเทอร์เน็ตตามโรงแรมหรูที่ต่างชาติเข้าพักกลับสามารถเข้าถึงเว็บที่ถูกบล็อคได้ หรือโทรศัพท์ของชาวต่างชาติที่เปิดโรมมิ่งกลับเข้าเว็บที่ปกติบล็อคได้เช่นกัน ประชาชนจีนเองก็นิยมเข้าถึงบริการ VPN เพื่อออกไปใช้บริการ VPN เหล่านี้เป็นเรื่องปกติ มีการไล่บล็อคบางบริการเป็นระยะๆ แต่ก็เกิดรายใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ และการใช้ VPN ในบริษัทต่างๆ ที่ต้องเชื่อมต่อกับต่างชาติก็ใช้งานได้ตลอดมา โดยทางการไม่เข้าไปยุ่งแต่อย่างใด

สุดท้ายแล้วการลงทุนไปมากมาย คาดว่าหน่วยงานบล็อคเว็บของจีนจ้างคนนับหมื่นคนเพื่อดูแลการบล็อคเว็บนี้ และได้ระบบบล็อคเว็บที่มีข้อยกเว้นไปมา

ความน่าเชื่อถือคือราคา

นอกจากราคาที่ต้องจ่ายเป็นค่าอุปกรณ์ ค่าบำรุงรักษา ความน่าเชื่อถือต่อโลกภายนอกคือราคาที่ต้องจ่ายเมื่อต้องการควบคุมอินเทอร์เน็ตอย่างสมบูรณ์ ไม่ว่าการควบคุมจะสำเร็จหรือไม่ ความน่าเชื่อถือกลายเป็นราคาที่ต้องจ่ายไปในทันที อินเทอร์เน็ตจีนกลายเป็นโลกอีกใบหนึ่งที่คนภายนอกมองเป็นสิ่งแปลกปลอม การใช้บริการจากบริษัทในจีนกลายเป็นสิ่งต้องระวังจากบริษัทภายนอก เช่น กรณี Xperia ส่งข้อมูลผู้ใช้ไปยังเซิร์ฟเวอร์ในจีน หรือเมือบริษัทต้องการให้บริการระดับโลก สิ่งแรกๆ ที่ Xiaomi ทำคือย้ายเซิร์ฟเวอร์ออกไปนอกประเทศ

นี่คือราคาของระบบที่มีข้อยกเว้น ระบบที่มีข้อจำกัด ราคาของระบบสอดส่องที่เป็นการขี่ช้างจับตั๊กแตน ตั๊กแตนที่ตัวเล็กลงเรื่อยๆ อย่างรวดเร็ว

นี่คือการกระตุ้นเศรษฐกิจ?

และเราจะจ่ายราคานี้กันจริงๆ หรือ?

Get latest news from Blognone

Comments

By: Polwath
ContributoriPhoneWindows PhoneAndroid
on 2 October 2015 - 10:28 #848832
Polwath's picture

ผมคนนึงหละครับ ที่จะไม่จ่ายให้กับเรื่องแบบนี้


Get ready to work from now on.

By: paween_a
Android
on 2 October 2015 - 10:40 #848836
paween_a's picture

เขียนได้ดีครับ ข้อมูลชัดเจน

แต่ว่าคนที่จะตัดสินใจจ่ายหรือไม่จ่ายดันไม่ใช่เรา ๆ น่ะสิ

การควบคุมอินเตอร์เน็ตมันไม่ง่ายเหมือนการควบคุมสื่อสมัยก่อนที่เป็นการสื่อสารทางเดียว มีผู้ผลิตไม่กี่เจ้า แต่อินเตอร์เน็ตคือผู้ใช้ทุกคนสามารถเป็นสื่อได้ทั้งหมด รัฐคงต้องหาโมเดลในการจัดการสิ่งเหล่านี้นอกจากใช้การควบคุมได้แล้วล่ะ เพราะบทพิสูจน์แล้วว่าขนาดรัฐใหญ่ ๆ ยังไม่สามารถควบคุมได้อย่างใจเลย

By: tuttap
Android
on 2 October 2015 - 10:57 #848842 Reply to:848836
tuttap's picture

ถ้าอินเตอร์เน้ตเข้าถึงทุกคนยิ่งมากเท่าไหร่

เสรีภาพในการเลือกใช้ชีวิตจะกว้างขึ้น และเป็นไปตาม แบบที่มันเป็นมา

ทุกคนมีสิทธิเลือก ขอแค่รักษาสิทธิ

By: iamfalan
iPhoneAndroidWindows
on 2 October 2015 - 10:43 #848837

ไม่ได้ทำผิดจะกลัวอะไรละคร้าบ

ข้อความนี้ให้คนบล็อกเว็บนะ

By: ch2r2
Windows PhoneAndroidWindows
on 2 October 2015 - 16:26 #848984 Reply to:848837

ฝากบอกคนบล็อกเว็บ คนนั้นด้วยว่า เราไม่ได้กลัวเพราะเราทำผิด แต่พวกเรากลัวพวกมันจะทำผิดโดยที่เราไม่สามารถเรียกร้องอะไรได้เลยต่างหาก

By: tuttap
Android
on 2 October 2015 - 10:54 #848840
tuttap's picture

เป็นความหวงใย ที่ คนที่หวงใยไม่เคยได้สัมผัส

By: pittaya
WriterAndroidUbuntuIn Love
on 2 October 2015 - 11:02 #848848
pittaya's picture

ข้อแตกต่างสำคัญระหว่างไทยกับจีนคือ จีนบล็อค Facebook, Twitter, YouTube ได้ เพราะมีบริการทดแทนภายในประเทศ ส่วนกรณีเมืองไทย ผู้มีอำนาจอยากจะบล็อคบางเนื้อหาที่อยู่ในนี้เสียเหลือเกิน แต่ก็ไม่สามารถบล็อคทิ้งทั้งเว็บได้

แต่เราก็ไม่ควร underestimate คนเหล่านี้


pittaya.com

By: nrml
ContributorIn Love
on 2 October 2015 - 11:14 #848857
nrml's picture

ขอให้ทุกท่านเลิกกังวลกันได้แล้วครับ จะไม่มีชื่อ Single Gateway ให้ระคายหูอีกต่อไปแล้ว

By: zerc
iPhoneWindows PhoneAndroid
on 3 October 2015 - 11:15 #849140 Reply to:848857

เกตเวย์ เฉลิม.. อยู่บำรุง

By: pd2002 on 2 October 2015 - 11:15 #848858

ถ้าเขาจะทำ ค้านยังไงก็ไม่ได้ผลครับ

By: ploysics
ContributorAndroidUbuntuWindows
on 2 October 2015 - 11:20 #848861
ploysics's picture

(ที่เคยไม่เข้ารหัสเมื่อส่งข้อควมผ่าน 3G) --> ข้อความ

By: panurat2000
ContributorSymbianUbuntuIn Love
on 2 October 2015 - 11:30 #848862 Reply to:848861
panurat2000's picture

(พร้อมๆ กันอันตรายอย่างยิ่งยวดต่อผู้ที่ถูกดักฟัง)

กันอันตราย => กับอันตราย

(ที่เคยไม่เข้ารหัสเมื่อส่งข้อควมผ่าน 3G)

ข้อควม => ข้อความ

หรือเมือบริษัทต้องการให้บริการระดับโลก

เมือ => เมื่อ

By: acitmaster
AndroidUbuntuWindowsIn Love
on 2 October 2015 - 11:32 #848863
acitmaster's picture

ธุรกรรมทางการเงินบนอินเทอร์เน็ทคงต้องปิดตัว

By: adamy
iPhoneAndroidBlackberryUbuntu
on 2 October 2015 - 11:41 #848866

ผมว่าหน่วยงานที่ทำงานด้านนี้คิดน้อยครับ ... ทั้งที่ความจริงหลักฐานจากคนทั้งชาติสนับสนุนขนาดนี้แล้ว

ผมตั้งคำถามว่าทำไม ? ถ้าคนกลุ่มหนึ่งจะหน้าด้านออกมาฟัดกับคนทั้งประเทศ/ทั้งโลก (องค์ใหญ่ๆที่เชื่อมต่อกับไทยทั้งโลก) แล้วก็มีผลเสียมากกว่าผลดีไม่ว่าด้วยประการใดก็ตาม

..... ผมเลยคิดว่ามันต้องมีคน "หนึ่งคน" หรือ "กลุ่มหนึ่ง" ที่เดินออกไปพร้อมผลประโยชน์มหาศาลพอที่จะทำให้เจาหน้าด้านทนเสียงด่าคนทั้งโลกได้ครับ

เหมือนกับว่าถ้าผมหักเงินคนเข้ากระเป๋า 1% ของ GDP ได้ ... จะด่าทออะไรผมก็ได้เงิน 1% ของ GDP มาเข้ากระเป๋าผม

ต้องรอดักตัวไอ้คนนี้และรอให้ Single Gateway เกิดแล้วทำให้ Single Gateway ล่ม ... ทำให้เศรษฐกิจล่ม ทำให้คนทั้งประเทศเดือดร้อน และสาวดูเส้นทางคอรัปชั่นของคนคนนี้ให้เจอครับ

.... เพราะตอนนี้สิ่งที่รัฐบาลทำมันไม่มีตรรกะเลยครับ .... แปลกแต่จริงสำหรับคนเป็นพันๆหมื่นๆคนที่ทำงานในรัฐบาลที่จะไม่รู้อะไรเลยหรือครับ ?

ขอบคุณครับ สวัสดีครับ

By: mr_tawan
ContributoriPhoneAndroidWindows
on 2 October 2015 - 12:08 #848875 Reply to:848866
mr_tawan's picture

ลองนึกถึงกรณีสหภาพแรงงาน TOT นะครับ

ปล. ได้ยินว่า TOT เองก็มีสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่


  • 9tawan.net บล็อกส่วนตัวฮับ
By: waroonh
Windows
on 2 October 2015 - 13:04 #848894 Reply to:848866

ตามความคิดของผม ก็แค่กลุ่มคนที่เค้าคิดว่า เค้าทำได้
และ เค้าจะทำมันด้วย "ปิดระบบ internet"
อะไรจะพัง เค้าไม่สนหลอก เค้าคิดว่า ต้องทำเพื่อรักษาฐานอำนาจไว้ให้ได้ เท่านั้น

เราทุกคนก็รู้ว่า มันไม่ได้เกี่ยวกัน
เป็นเรื่องงี่เง่าที่ อธิบายไม่ถูกเลย ว่าระดับความโง่ของคนพวกนี้ไปสิ้นสุดที่ใหน ?

ปัญหาคือ สองสามปีมานี้ มีการอ้างถึงคนนามสกุลใหญ่ๆ สวยๆ ว่าให้ต้องการให้เป็นแบบนู้น
แบบนี้ กันเยอะเหลือเกิน คนที่มีนามสกุลต่อท้ายสวย ๆ คนอื่น ที่ไม่ได้เกี่ยวข้อง
กับ power game ครั้งนี้ก็อาจจะรู้สึกเริ่มร้อน ๆ หนาว ๆ บ้าง

ใช่มั้ยครับ ?

By: JackieNP
ContributorUbuntu
on 2 October 2015 - 15:42 #848959 Reply to:848866
JackieNP's picture

ด้านได้ อายอดสินะครับ


รักนะคะคนดีของฉัน

By: waroonh
Windows
on 2 October 2015 - 16:52 #848991 Reply to:848959

เป็นเรื่องของบุญวาสนาครับ
อยากเป็นในสิ่งที่เป็นไม่ได้ ทั้ง กายภาพ, กฎหมาย, จารีต-ประเพณี

แต่ผมเชื่อว่า มีคนยุให้ทำเยอะ เพราะผลประโยชน์มันก้อนใหญ่จริงๆ

By: Aoun
AndroidWindows
on 2 October 2015 - 12:13 #848879

บริษัทUS ที่ภริยาทำอยู่(ระดับโลก) ทำแผนสำรองไว้แล้วครับ มีไม่กี่แผน
แต่แผนสุดท้ายคือย้ายฐานเลยครับ ถ้าทำจริง ภริยาเตรียมตกงาน หางานใหม่คงลำบาก

By: Log
iPhoneAndroid
on 2 October 2015 - 13:48 #848915

ยอมรับเถอะว่าโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว อย่าขวางเลยเป็นห่วง

By: javaboom
WriteriPhone
on 2 October 2015 - 15:24 #848952
javaboom's picture

ถ้ามี Data and Goliath (ของ Bruce) ฉบับภาษาไทยขายช่วงนี้ คงขึ้นอันดับหนังสือขายดี (หรือไม่ก็ taboo)


My Blog

By: bow_der_kleine
WriterAndroidUbuntu
on 2 October 2015 - 16:46 #848989
bow_der_kleine's picture

ความเห็นนั้นถูกอุ้มไปเสียแล้ว

และนี่คืออีกหนึ่งราคาที่ต้องจ่าย เป็นบทพิสูจน์ว่าประเทศไทยไม่เสรี และในประเด็นนี้มันมีเรื่องให้เราคิดไปไกลและลึกกว่า single gateway

ผมขอเย้ยหยัน และดูแคลนสังคมที่ปิดกั้นและกดทับ เสรีภาพและความหลากหลายทางความคิด จะเป็นสังคมที่ก้าวไปข้างหน้าไม่ได้เลย เพราะการก้าวไปข้างหน้า หมายถึงความเปลี่ยนแปลง ความแตกต่างจากเดิม การกักขังความคิดไม่ว่าในมิติไหนคือการปฏิเสธความเปลี่ยนแปลง และปฏิเสธความก้าวหน้าในเวลาเดียวกัน

ป.ล. ผมไม่เห็นด้วยกับความไม่เสรีของไทย แต่ผมเห็นด้วยในการอุ้มกระทู้ มันไม่คุ้มที่ใครต้องมาแลกเสรีภาพทางกายภาพของตน กับความวิปลาสของสังคมแห่งนี้