Special Report

บทความนี้เป็นตอนสุดท้ายของ "ไตรภาคไมโครซอฟท์-โนเกีย" โดยสองตอนแรกคือ ย้อนตำนาน Nokia เดินหมากพลาดตาเดียว พ่ายแพ้ทั้งกระดาน ย้อนรอยความผิดพลาดของโนเกียในโลกสมาร์ทโฟน และ One Windows ย้อนตำนานไมโครซอฟท์ กับการหลอมรวมระบบปฏิบัติการเป็นหนึ่งเดียว ความพยายามของไมโครซอฟท์ในการปฏิรูป Windows ให้เข้ากับยุคสมัย

บทความตอนนี้จะอธิบายว่าทำไม Windows ถึงสูญเสียอิทธิพลลงไปอย่างมาก โดยจะมองเชิงเปรียบเทียบกับยุทธศาสตร์ของคู่แข่งใน สามก๊กไอที คือแอปเปิลและกูเกิลด้วย

ย้อนรอย สามก๊กไอที

ก่อนอื่นต้องย้อนกลับไปเล่าแนวคิดของ "สามก๊กไอที" สักเล็กน้อยครับ แนวคิดเรื่องสามก๊กไอทีคือการก่อตัวขึ้นของมหาอำนาจในโลกไอที 3 บริษัทคือ ไมโครซอฟท์ แอปเปิล กูเกิล ในช่วงทศวรรษ 2000s ซึ่งเป็นผลมาจากความเสื่อมถอยของไมโครซอฟท์ที่เคยกินรวบตลาดไอทีฝั่งคอนซูเมอร์ในยุค 90s และเปิดโอกาสให้คู่แข่ง 2 รายคือแอปเปิลกับกูเกิลผงาดขึ้นมาได้

ทั้งสามก๊กมีจุดอ่อนจุดแข็งที่ต่างกัน และมีรากเหง้าของตัวเองจากคนละวงการ โดยแอปเปิลมีต้นกำเนิดมาจากบริษัทฮาร์ดแวร์ ไมโครซอฟท์มาจากซอฟต์แวร์ และกูเกิลมาจากบริการออนไลน์ เดิมทีต่างฝ่ายต่างอยู่ในวงการของตัวเอง ไม่ใช่คู่แข่งกันโดยตรง

ถ้าวิเคราะห์แต่ละบริษัทด้วยกรอบ "ฮาร์ดแวร์-ซอฟต์แวร์-บริการ" เราสามารถแยกแยะยุทธศาสตร์เชิงธุรกิจของทั้งสามได้ดังนี้

แอปเปิล 1.0

รากเหง้าของแอปเปิลมาจากการสร้างฮาร์ดแวร์ และเขียนซอฟต์แวร์เพื่อสร้างจุดเด่นให้กับฮาร์ดแวร์ของตัวเอง ซึ่งประวัติศาสตร์ของแอปเปิลเป็นแบบนี้มาโดยตลอดตั้งแต่ Apple II

อย่างไรก็ตาม แอปเปิลในยุค 2000s หลังการกลับมาของสตีฟ จ็อบส์ ก็ปรับวิธีการทำธุรกิจของตัวเองบ้างบางส่วน ถึงแม้ฮาร์ดแวร์จะยังเป็นธุรกิจหลักของบริษัท (รายได้ส่วนใหญ่มาจากการขายฮาร์ดแวร์) แต่แอปเปิลก็ยังขยับขยายไปขายซอฟต์แวร์ (เช่น Mac OS X, iWork หรือซอฟต์แวร์กลุ่ม Pro อย่าง Final Cut หรือ Aperture) รวมถึงธุรกิจบริการที่เริ่มมาจากการขายเพลงบน iTunes Store อีกด้วย

ในภาพรวมแล้ว แอปเปิลยุค 2000s มีโมเดลธุรกิจค่อนข้างหลากหลาย เน้นฮาร์ดแวร์เป็นหลัก แต่ก็ทำเงินจากซอฟต์แวร์และบริการบ้าง

ไมโครซอฟท์ 1.0

รากเหง้าของไมโครซอฟท์เกิดจากการขายซอฟต์แวร์ภาษา Basic ก่อนจะตามมาด้วยระบบปฏิบัติการ ที่ผ่านมาเกือบ 40 ปี รายได้หลักของไมโครซอฟท์เกิดจากการขายไลเซนส์ซอฟต์แวร์นานาชนิด ไม่ว่าจะเป็น Windows, Office หรือซอฟต์แวร์องค์กรอื่นๆ อีกมากมายมหาศาล ในโลกของอุปกรณ์พกพา ไมโครซอฟท์ยังหารายได้จากการขายไลเซนส์ Windows Mobile หรือ Windows Embedded ให้คู่ค้ารายอื่นๆ

บริษัทซอฟต์แวร์รายอื่นๆ เช่น Adobe หรือ Autodesk ก็ใช้โมเดลธุรกิจแบบเดียวกันนี้ (ขายซอฟต์แวร์กล่องหรือไลเซนส์เป็นชุดสำหรับองค์กร) ซึ่งถือเป็นโมเดลมาตรฐานสำหรับบริษัทซอฟต์แวร์ยุค 80-90s

ไมโครซอฟท์มีธุรกิจฮาร์ดแวร์อยู่บ้างเล็กน้อย เริ่มจากการขายเมาส์และคีย์บอร์ด ก่อนที่จะค่อยๆ ขยายเข้ามายังธุรกิจเครื่องเล่นเกม Xbox ที่ช่วงแรกก็ไปได้ไม่ค่อยดีนัก และเริ่มมาลืมตาอ้าปากได้ในยุคของ Xbox 360

ส่วนธุรกิจบริการ ไมโครซอฟท์พยายามขยายตัวเองมาสู่ธุรกิจนี้ตั้งแต่สมัยสร้างพอร์ทัล MSN ตามด้วย Windows Live และ Hotmail แต่ในภาพรวมแล้ว ธุรกิจบริการออนไลน์ของไมโครซอฟท์ยังขาดทุนแทบทุกปี

เราจะเห็นว่าธุรกิจฮาร์ดแวร์และบริการออนไลน์ของไมโครซอฟท์ไม่ใช่ธุรกิจหลักของบริษัท และในแง่การเงินแล้วอาจถือเป็นภาระของไมโครซอฟท์ด้วยซ้ำไป ผู้ถือหุ้นไมโครซอฟท์เคยเสนอให้แยกสองธุรกิจนี้มานานแล้ว (แต่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง) หรือแม้กระทั่งคนในอย่าง Stephen Elop ก็เคยพูดไว้ว่าอยากขาย Xbox และปิด Bing

กูเกิล 1.0

กูเกิลเป็นบริษัทน้องเล็กในทั้งสามก๊กนี้ จุดกำเนิดของกูเกิลมาจากการสร้างบริการออนไลน์ ที่เริ่มด้วย search engine และค่อยๆ ขยายมาเป็นบริการออนไลน์ชนิดอื่นๆ มากมาย

เดิมทีนั้นโมเดลธุรกิจของกูเกิลเรียบง่ายมาก เพราะมีแค่บริการออนไลน์อย่างเดียว รายได้มาจากค่าโฆษณาเป็นหลัก มีค่าสมาชิกต่างๆ (เช่น พื้นที่ Gmail หรือค่าเช่า Google Apps) เป็นรายได้รอง

แนวคิดของกูเกิลในอดีตจึงไม่มีอะไรมาก นอกจากทำบริการออนไลน์ของตัวเองให้ดึงดูด เพื่อมีคนมาใช้เยอะๆ หารายได้จากค่าโฆษณามากๆ เท่านั้นเอง (บริษัทออนไลน์เกือบทุกแห่ง เช่น Yahoo, Facebook, Twitter มีแนวคิดแบบเดียวกันนี้)

ยุทธศาสตร์ที่เปลี่ยนไป

อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาพการแข่งขันของวงการไอทีในปัจจุบันที่เกิดการหลอมรวมทางเทคโนโลยี (หรือที่เราเรียกกันว่า convergence) ทำให้ตลาดของทั้งสามก๊กเริ่มซ้อนทับกัน ความเป็นพันธมิตรเริ่มแปรเปลี่ยนเป็นคู่แข่ง (กรณีที่ชัดที่สุดคือแอปเปิลหักกับกูเกิลจากการทำ Android) ทั้งสามก๊กต่างจึงกวาดต้อนขุนพล กองทัพรายย่อยๆ เพื่อเสริมความเข้มแข็งของตัวเองในตลาดที่ไม่เคยสนใจมาก่อน จนสุดท้ายทั้งสามก๊กต่างมีจิ๊กซอครบทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ บริการ เพื่อให้สามารถแข่งขันกับก๊กอื่นๆ ต่อไปได้

ตอนนี้ทั้ง 3 บริษัทต่างมีธุรกิจฮาร์ดแวร์-ซอฟต์แวร์-บริการ เหมือนกันทั้งหมด แต่วิธีการมองของแต่ละบริษัทกลับแตกต่างกันไป (ตามพื้นเพหรือรากเหง้าของตัวเอง) และในรอบ 5-6 ปีที่ผ่านมา เราก็เริ่มเห็นการปรับตัวในเชิงโมเดลธุรกิจของทั้งสามบริษัทไปคนละทาง

แอปเปิล 2.0

แอปเปิลเป็นก๊กแรกที่ปรับเปลี่ยนตัวเองให้เข้ากับยุคของอุปกรณ์พกพา และการเปลี่ยนตัวเองของแอปเปิลก็สร้างพลวัตรให้กับวงการ จนบริษัทอื่นๆ ต้องปรับตัวตามเพื่อให้อยู่รอดกับโมเดลใหม่นี้

สิ่งที่แอปเปิลทำ (เริ่มจากในยุค iPod ไล่มาจนถึง iPhone/iPad) คือสร้างฮาร์ดแวร์พันธุ์ใหม่ที่มีความสามารถเทียบเท่าคอมพิวเตอร์ แต่กลับมีความเรียบง่ายและจบในตัวเองเหมือนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้สินค้าเหล่านี้สามารถจับตลาดผู้บริโภคทั่วไป (mass) ที่กว้างกว่าผู้ใช้คอมพิวเตอร์แบบดั้งเดิมมาก ลูกค้ากลุ่มใหม่นี้ไม่สนใจฟีเจอร์ขั้นสูงมากนัก ไม่ต้องการดูแลหรือบำรุงรักษาอุปกรณ์ (ในความหมายเดียวกับพีซี) แต่ต้องการใช้ความสามารถของซอฟต์แวร์โดยมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของฮาร์ดแวร์แทน (เช่น ใช้ iPod ฟังเพลง หรือใช้ iPhone เล่นเน็ต)

พฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไป ทำให้โมเดลธุรกิจของแอปเปิลจึงต้องเปลี่ยนตามไปด้วย เราจะเห็นว่าระบบปฏิบัติการของ iPod ถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของตัวฮาร์ดแวร์ (ไม่ต้องติดตั้งระบบปฏิบัติการเอง) และพอมาถึงยุค iOS แอปเปิลก็ไม่คิดเงินค่าระบบปฏิบัติการ อย่างที่เคยทำในสมัย Mac OS เดิม ระบบปฏิบัติการกลายเป็น "ของฟรี" ที่ถูกคิดเงินรวมในค่าฮาร์ดแวร์มาตั้งแต่ต้นแล้ว

ส่วนของ Mac OS X เองก็ได้รับผลกระทบจากยุทธศาสตร์เดียวกันนี้ ทำให้ "ราคา" ของมันลดลงเรื่อยๆ จากเดิมที่ขายชุดละ 129 ดอลลาร์ ก็ค่อยๆ ลดลงมาเหลือ 29.99 ดอลลาร์ ก่อนจะกลายเป็นระบบปฏิบัติการอัพเกรดฟรีนับตั้งแต่ OS X 10.9 เป็นต้นมา

(หมายเหตุ: Mac OS X 10.1 Puma เป็นเหมือนรุ่นแก้บั๊กของ 10.0 ทำให้แอปเปิลแจกฟรี ถือเป็นข้อยกเว้น)

ฝั่งของบริการออนไลน์ แอปเปิลก็พยายามขยายขอบเขตจาก iTunes มาเป็น App Store และ iCloud บ้าง แต่ก็ไม่ได้หาเงินกับมันจริงจังมากนัก รูปแบบจะเป็นแนวว่าถ้าทำเงินได้ก็ดี แต่แนวคิดหลักคือการช่วยเสริมให้ฮาร์ดแวร์ของตัวเองโดดเด่นกว่าเดิม เช่น ใช้ iPod สามารถซื้อเพลงจาก iTunes ได้ (เป็นจุดขาย) แต่แอปเปิลไม่สนใจเปิดบริการออนไลน์ของตัวเองให้บริษัทอื่นใช้งานเลย

ในภาพรวมแล้ว ยุทธศาสตร์ทางธุรกิจของแอปเปิลจึงกลับไปสู่การขายฮาร์ดแวร์เป็นชิ้นๆ (ในราคาพรีเมียม สร้างส่วนต่างกำไรได้มาก) โดยใช้ซอฟต์แวร์และบริการช่วยเสริมให้ฮาร์ดแวร์ของตัวเองโดดเด่นเหนือคู่แข่งยิ่งขึ้น ตอนนี้แอปเปิลแทบไม่สนใจตลาดการขายซอฟต์แวร์โดยตรงแบบเดิมแล้ว และมีธุรกิจบริการ (เน้นการหัก % จากคู่ค้าอื่น) ในฐานะส่วนเสริมของฮาร์ดแวร์นั่นเอง

กูเกิล 2.0

วิธีคิดของกูเกิลยังเหมือนเดิมคือ "ทำยังไงก็ได้ให้คนใช้บริการของกูเกิลเยอะๆ" ซึ่งยุทธศาสตร์ที่กูเกิลเคยใช้ในยุคแรกๆ คือ "ควบคุมประตู" (gate keeper) ในจุดใดๆ ที่คนใช้งานอินเทอร์เน็ต จะต้องมีช่องทางเข้าถึงบริการของกูเกิลเสมอ ตัวอย่างเช่น การให้เงินสนับสนุน Firefox โดยแลกกับการเป็นเครื่องมือค้นหาหลัก

ต่อมา กูเกิลมองว่าการพึ่งพา "ประตู" ของคนอื่นอาจมีความเสี่ยงต่อธุรกิจหลักของตัวเอง (เพราะพาร์ทเนอร์เปลี่ยนใจได้เสมอ) กูเกิลจึงหันมาทำ Chrome เพื่อให้ตัวเองควบคุมพฤติกรรมการใช้งานของลูกค้าได้มากขึ้น แนวคิดนี้ถูกสืบทอดต่อมาในยุคของ Android แค่เปลี่ยนจากเบราว์เซอร์เป็นอุปกรณ์พกพาเท่านั้น (ตอนแรกสุดกูเกิลกลัวไมโครซอฟท์กินรวบตลาดมือถือ และผู้ใช้ถูกบังคับให้เข้า Bing จึงสร้าง Android ขึ้นมาแข่ง)

มุมมองของกูเกิลต่อซอฟต์แวร์ (ไม่ว่าจะเป็น Chrome, Android หรือ Chrome OS) จึงไม่มีมูลค่าในเชิงธุรกิจ เพราะมันเป็นแค่ช่องทางให้คนเข้ามาใช้บริการของกูเกิลเท่านั้น จึงไม่น่าแปลกใจอะไรนักที่กูเกิลตัดสินใจ "เปิดซอร์ส" ซอฟต์แวร์ระดับแพลตฟอร์มทั้งหมดเพื่อให้คนใช้เยอะมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ (ซึ่งก็ได้ผลอย่างมากในกรณีของ Android) การเปิดซอร์สนั้นไม่มีผลกระทบด้านลบในเชิงธุรกิจต่อกูเกิลเลย เพราะกูเกิลไม่คิดทำเงินจากมันตั้งแต่แรกอยู่แล้ว (ซึ่งต่างไปจากแอปเปิลหรือไมโครซอฟท์)

ส่วนตลาดฮาร์ดแวร์ เราเห็นกูเกิลลงมาทำโครงการ Nexus โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างมาตรฐานให้กับฮาร์ดแวร์ในวงการเท่านั้น ไม่คิดทำกำไรจากมัน เราจึงเห็น Nexus รุ่นหลังๆ ขายในราคาแทบไม่มีกำไร และกูเกิลก็ขายธุรกิจฮาร์ดแวร์โมโตโรลาออกไปเพราะไม่สนใจธุรกิจนี้เลย (ฮาร์ดแวร์อื่นอย่าง Google Glass ก็ยังเป็นแค่โครงการในเชิงทดลองเท่านั้น ไม่ใช่ธุรกิจหลัก)

โดยสรุปแล้ว กูเกิลยังยึดโยงอยู่กับโมเดลธุรกิจเน้นบริการออนไลน์ โดยมีซอฟต์แวร์-ฮาร์ดแวร์คอยช่วยบีบให้คนใช้บริการของตัวเองเยอะๆ แต่แทบไม่คิดทำกำไรจากสองส่วนนี้เลย

โมเดลธุรกิจของกูเกิลแตกต่างกับแอปเปิลอย่างสุดขั้ว แต่ทั้งสองรายนี้ก็ชัดเจนว่าเลือกอะไร รายหนึ่งไปทางฮาร์ดแวร์ ส่วนอีกรายมาทางบริการ การกำหนดยุทธศาสตร์ภาพรวมจึงง่ายและค่อนข้างตรงไปตรงมา

ไมโครซอฟท์ 2.0

ไมโครซอฟท์กลับเป็นบริษัทที่ตกอยู่ในภาวะลำบากที่สุด เพราะรากเหง้าเดิมของบริษัท (ซอฟต์แวร์) ถูกทำลายลงไปจากการเปลี่ยนแปลงของตลาดไอทีเอง

ซอฟต์แวร์ในระดับล่าง (ในที่นี้คือระบบปฏิบัติการ) เริ่มไม่มีมูลค่าในเชิงธุรกิจ เพราะผู้บริโภคเริ่มมีตัวเลือกอื่นทดแทนที่ราคาถูกกว่า

ไมโครซอฟท์อาจยังแข็งแกร่งในตลาดระบบปฏิบัติการพีซี (ซึ่งแอปเปิลยอมแพ้ไม่สนใจแข่งด้วยตรงๆ ไปนานแล้ว) และยอดขาย Windows 7/8 ก็ยังไปได้ดี แต่ในตลาดอุปกรณ์พกพาที่การผูกขาดของไมโครซอฟท์ไม่เข้มแข็งเท่ากับตลาดพีซี ผู้บริโภคมีตัวเลือกมากมาย แถมโมเดลธุรกิจการขายไลเซนส์ Windows Mobile/Phone ก็ถูกทำลายลงไปเนื่องจากกูเกิลเปิด Android เป็นโอเพนซอร์ส ทำให้ไมโครซอฟท์ไม่สามารถทำเงินจากค่าไลเซนส์ระบบปฏิบัติการมือถือได้เหมือนสมัยแข่งกับ Symbian ได้อีกต่อไป (ไมโครซอฟท์เตรียมแจก Windows สำหรับอุปกรณ์หน้าจอเล็กกว่า 9 นิ้ว) เรื่องนี้อาจส่งผลกระทบไปถึงธุรกิจ Windows ด้วย และมีข่าวลือมาโดยตลอดว่า Windows Threshold จะแจกฟรี

เมื่อมูลค่าของตลาดซอฟต์แวร์เริ่มลดลง ทางออกของไมโครซอฟท์จึงเป็นการขยับโมเดลของซอฟต์แวร์ไปเป็น "บริการ" แทน ซึ่งในรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมา เราเห็นความเคลื่อนไหวนี้ชัดเจนมาก โดยเฉพาะกรณีของ Office 365 กับ Azure ที่ปรับโมเดลมาเป็นการเสียค่าสมาชิกแทนการซื้อขาด ซึ่งตรงนี้ถือว่าไมโครซอฟท์ทำได้ค่อนข้างดี

แต่ไมโครซอฟท์ดูจะไม่พอใจแค่การเป็น "ผู้ให้บริการ" เพียงอย่างเดียว เพราะมันส่งผลให้อิทธิพลในการกำหนดตลาดคอนซูเมอร์ของไมโครซอฟท์ลดลงไป ไมโครซอฟท์จึงเลือกบุกเข้ามาในตลาดฮาร์ดแวร์ด้วย โดยเริ่มจากการทำ Surface เอง และตามด้วยการเข้าซื้อธุรกิจฮาร์ดแวร์มือถือของโนเกียในท้ายที่สุด

ยุทธศาสตร์นี้ชัดเจนในปี 2013 โดยสตีฟ บัลเมอร์ ซีอีโอในขณะนั้นได้สรุปแนวคิดไว้ว่า Devices and Services ทำธุรกิจทั้งฮาร์ดแวร์และบริการ (ข่าวเก่า)

เดิมพันของไมโครซอฟท์

อย่างไรก็ตาม ถ้ามองด้วยกรอบวิเคราะห์แบบเดียวกับแอปเปิลและกูเกิล จะเห็นว่ายุทธศาสตร์ Devices and Services ของไมโครซอฟท์ค่อนข้างสับสน เพราะไม่เลือกทางใดทางหนึ่ง (แบบแอปเปิลและกูเกิลที่ชัดเจนไปเลย) แต่จะไปทั้งสองทาง

สิ่งที่เกิดขึ้นคือเราจึงเห็นว่าบริการออนไลน์ของไมโครซอฟท์ไม่โดดเด่นเท่ากับกูเกิล และฮาร์ดแวร์ของไมโครซอฟท์ก็ไม่โดดเด่นเท่าแอปเปิล ในขณะที่ธุรกิจหลักอย่าง "ซอฟต์แวร์" กำลังถูกทำลายอย่างช้าๆ

ไมโครซอฟท์สร้างบริการออนไลน์ให้ทุกคนใช้งาน (แบบเดียวกับกูเกิล) บริษัทฮาร์ดแวร์ทุกรายสามารถเข้ามาใช้ซอฟต์แวร์ของไมโครซอฟท์ได้ แต่ไมโครซอฟท์กลับมี Surface และ Lumia เป็นคู่แข่งกับบริษัทเหล่านี้เช่นกัน (ในขณะที่โครงการ Nexus ซึ่งถูกวางตัวไว้ระดับเดียวกัน กลับถูกลดทอนความสำคัญลงเรื่อยๆ จนมีข่าวลือว่าจะเลิกทำด้วยซ้ำ)

ความสับสนของยุทธศาสตร์ Devices and Services ของไมโครซอฟท์ จึงถูกแก้ไขในอีก 1 ปีถัดมา โดยซีอีโอคนใหม่ Satya Nadella จึงบิดมันใหม่ ออกมาเป็น Platform and Productivity แทน (ข่าวเก่า)

ต้องยอมรับกันว่าไมโครซอฟท์เข้ามาช้าในตลาดฮาร์ดแวร์ (ทั้ง Surface และ Lumia) บวกกับความล่าช้าของการปรับ Windows ให้เข้ากับยุคสมัย (ตามที่กล่าวในบทความตอนที่แล้ว) ทำให้ขุมกำลังสายฮาร์ดแวร์ของไมโครซอฟท์ไม่ค่อยเข้มแข็งนักเมื่อเทียบกับธุรกิจบริการ ที่ดูจะไปได้ดีกว่า ถึงแม้ไมโครซอฟท์ยังเข็น Bing ไม่ขึ้น แต่บริการออนไลน์ตัวอื่นๆ ทั้ง Skype, Office 365, Azure ก็ยังไปได้ดีและแข่งขันได้

ผมคิดว่าในเชิงยุทธศาสตร์แล้ว ไมโครซอฟท์จึงน่าจะขยับตัวเองไปเน้นด้าน "บริการ" มากกว่าฮาร์ดแวร์ และมีความเป็นไปได้สูงว่าถ้าไมโครซอฟท์ยังไม่สามารถผลักดันยอดขายฮาร์ดแวร์ให้เยอะอย่างที่ฝันไว้ เราอาจเห็นไมโครซอฟท์ถอนตัวออกจากธุรกิจฮาร์ดแวร์ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า (ถมเงินในธุรกิจที่ขาดทุนได้ แต่ก็ต้องมีวันสิ้นสุด) กลายเป็นบริษัทด้านบริการเชิงธุรกิจเต็มตัว

ตรงนี้ Satya Nadella เองก็น่าจะเข้าใจดีกว่าใคร เพียงแต่สงครามฮาร์ดแวร์ยังไม่ได้ข้อยุติ (อีกทั้งเพิ่งซื้อโนเกียมา) จะประกาศเลิกทำฮาร์ดแวร์ทันทีก็คงลำบาก เขาจึงเลี่ยงไปใช้คำว่า Platform (น่าจะหมายถึงซอฟต์แวร์ระบบ ที่ไมโครซอฟท์ยังเข้มแข็งอยู่) และ Productivity (บริการในฝั่งธุรกิจที่ไมโครซอฟท์ทำได้ดี) แทน

ความหวังของไมโครซอฟท์ในการกอบกู้ธุรกิจฮาร์ดแวร์กลับมา คงอยู่ที่ Windows รุ่นหน้ารหัส Threshold ที่จะหลอมรวมระบบปฏิบัติการสาย Windows ให้เป็นหนึ่งเดียว และอาจพลิกเกมช่วยให้ธุรกิจฮาร์ดแวร์ของไมโครซอฟท์กลับมาเป็นที่น่าสนใจอีกครั้งหนึ่ง

อีกไม่นานเกินรอเราคงได้เห็นกันว่าไมโครซอฟท์จะทำได้ดีแค่ไหนกับ Threshold ครับ เดิมพันครั้งนี้สูงยิ่ง ถ้าไมโครซอฟท์ล้มเหลวอีก เราคงเห็น Windows, Windows Phone, Surface และธุรกิจสมาร์ทโฟนที่ซื้อมาจากโนเกีย ค่อยๆ เฉาลงและสูญพันธุ์ไปตลอดกาลเลยก็เป็นได้

ข้อมูลเพิ่มเติม

สำหรับผู้สนใจเรื่องโครงสร้างธุรกิจของทั้งสามบริษัท ลองดูบทความ Apple, Google, Microsoft: Where does the money come from? โดยคุณ Ed Bott จาก ZDNet ที่เขียนเรื่องนี้ไว้ละเอียด และรวบรวมตัวเลขจากผลประกอบการมาให้ดูด้วย

ผมขอยกมาให้ดูเฉพาะกราฟสัดส่วนรายได้ของไมโครซอฟท์นะครับ

  • Consumer Licensing การขายซอฟต์แวร์ให้คอนซูเมอร์ ธุรกิจนี้กำลังหดลงจากคู่แข่งที่ปล่อยฟรี ดังที่เขียนไปแล้ว
  • Consumer Hardware อย่างที่ทราบกันว่า Surface/Lumia ยังขายไม่ค่อยดีนัก ส่วน Xbox น่าจะยังไปได้เรื่อยๆ แต่ก็ไม่ใช่ธุรกิจหลัก
  • Consumer Other ธุรกิจออนไลน์ (เช่น Bing, Windows Store) รวมถึงการขายแผ่นเกม Xbox และการขายของผ่านหน้าร้าน Microsoft Store
  • Commercial Licensing การขายไลเซนส์ซอฟต์แวร์ให้ตลาดองค์กร ตรงนี้ยังเป็นธุรกิจหลักของไมโครซอฟท์ และน่าจะยังไปได้เรื่อยๆ
  • Commercial Other การขายบริการออนไลน์สำหรับองค์กร เช่น Azure หรือ Office 365 น่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยบางส่วนมาจากการแปลงรายได้กลุ่ม Commercial Licensing มาเป็นรายได้ส่วนนี้

จากกราฟจะเห็นว่าธุรกิจสาย Commercial ของไมโครซอฟท์ยังเข้มแข็งมาก ในขณะที่ฝั่งคอนซูเมอร์อ่อนแรงลง เพราะตลาดซอฟต์แวร์หดตัว ฮาร์ดแวร์ยังเข็นไม่ค่อยขึ้น และบริการเองก็ไม่โดดเด่นมากนัก

Hiring! บริษัทที่น่าสนใจ

Token X company cover
Token X
Blockchain, ICO, Tokenization, Digital Assets, and Financial Service
Carmen Software company cover
Carmen Software
Hotel Financial Solutions
TechFlow Solution Co., Ltd. company cover
TechFlow Solution Co., Ltd.
TechFlow is a tech company which developing a one stop service platform for construction business.
Next Innovation (Thailand) Co., Ltd. company cover
Next Innovation (Thailand) Co., Ltd.
We are web design with consulting & engineering services driven the future stronger and flexibility.
KKP Dime company cover
KKP Dime
KKP Dime บริษัทในเครือเกียรตินาคินภัทร
Kiatnakin Phatra Financial Group company cover
Kiatnakin Phatra Financial Group
Financial Service
Fastwork Technologies company cover
Fastwork Technologies
Fastwork.co เว็บไซต์ที่รวบรวม ฟรีแลนซ์ มืออาชีพจากหลากหลายสายงานไว้ในที่เดียวกัน
Thoughtworks Thailand company cover
Thoughtworks Thailand
Thoughtworks เป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านเทคโนโยลีระดับโลกที่คว้า Great Place to Work 3 ปีซ้อน
Iron Software company cover
Iron Software
Iron Software is an American company providing a suite of .NET libraries by engineer for engineers.
CLEVERSE company cover
CLEVERSE
Cleverse is a Venture Builder. Our team builds several tech companies.
Nipa Cloud company cover
Nipa Cloud
#1 OpenStack cloud provider in Thailand with our own data center and software platform.
Bangmod Enterprise company cover
Bangmod Enterprise
The leader in Cloud Server and Hosting in Thailand.
CIMB THAI Bank company cover
CIMB THAI Bank
MOVING FORWARD WITH YOU - CIMB is the leading ASEAN Bank
Bangkok Bank company cover
Bangkok Bank
Bangkok Bank is one of Southeast Asia's largest regional banks, a market leader in business banking
Gofive company cover
Gofive
“We create world-class software experience”
KBTG - KASIKORN Business-Technology Group company cover
KBTG - KASIKORN Business-Technology Group
KBTG - "The Technology Company for Digital Business Innovation"
Siam Commercial Bank Public Company Limited company cover
Siam Commercial Bank Public Company Limited
"Let's start a brighter career future together"
Icon Framework co.,Ltd. company cover
Icon Framework co.,Ltd.
Global Standard Platform for Real Estate แพลตฟอร์มสำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร มาตรฐานระดับโลก
REFINITIV company cover
REFINITIV
The Financial and Risk business of Thomson Reuters is now Refinitiv
H LAB company cover
H LAB
Re-engineering healthcare systems through intelligent platforms and system design.
LTMH (WM) _TECH company cover
LTMH (WM) _TECH
LTMH (WM) _TECH มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถช่วยพันธมิตรของเราให้บรรลุเป้าหมาย
Seven Peaks company cover
Seven Peaks
We Drive Digital Transformation
Wisesight (Thailand) Co., Ltd. company cover
Wisesight (Thailand) Co., Ltd.
The Best Choice For Handling Social Media · High Expertise in Social Data · Most Advanced and Secure
MOLOG Tech company cover
MOLOG Tech
We are Modern Logistic Platform, Specialize in WMS, OMS and TMS.
Data Wow Co.,Ltd company cover
Data Wow Co.,Ltd
We enable our clients to realize increased productivity by solving their most complex issues by Data
LINE Company Thailand company cover
LINE Company Thailand
LINE, the world's hottest mobile messaging platform, offers free text and voice messaging + Call
LINE MAN Wongnai company cover
LINE MAN Wongnai
Join our journey to becoming No.1 food platform in Thailand

ส่วนหนึ่งเพราะไมโครซอฟท์โดนเล่นงานจากพฤติกรรมผูกขาดในสมัยก่อน ซึ่งสมัยนี้เป็นStandard Practiceในวงการไอทีไปแล้ว เลยทำให้ผลิตภัณฑ์consumerของไมโครซอฟท์ขาดเชื่อมโยงถึงกันและกัน เหมือนที่กูเกิ้ลและแอปเปิ้ลทำได้ในขณะนี้ด้วย

และยังคงโดนเล่นงานทางกฏหมายด้วยข้อหาเดียวกันจากอียู และจีน อยู่บริษัทเดียวเช่นเดิมแม้แต่ในปัจจุบัน

Commercial Licensing/Other-> Enterprise Licensing/Other จะถูกต้องกว่าไหม ใครๆก็เรียกแบบนั้นนะ

ผมเคยได้ยินแต่ Consumer/Enterprise ไม่เคยได้ยินคนใช้ Consumer/Commercialเรียกตลาดเลย

ใครๆก็เรียกแบบนั้นนะ

ใครจะเรียกแบบไหนก็ตาม ไมโครซอฟท์เขาเรียก Commercial ก็ต้องใช้ตามนั้นครับ

LinkWii1GT Sun, 14/09/2014 - 18:43

บทความดีมากครับ ขอแชร์ทั้งเฟสบุ๊ค ทวิสเตอร์ กับกูเกิ้ลพลัสนะครับ

Microsoft ยังขาย Software และ Services ไปพร้อมๆกัน ในขณะที่ Apple เริ่มหันมาแจก Software และ ขาย Services ในราคาเบาๆแทน (แหงล่ะสิ แกมี Hardware ผูกขาดนี่) ตอนนี้ Microsoft ต้องรอให้ Surface กับ Hardware ผูกขาด Windows 8 ขายได้มากขึ้น ...

นั้นคือสิ่งที่แข็งแกร่ง แทบจะที่สุดของ MS แล้วครับ อีกอย่างคือเรื่องสิทธิบัตร ที่แข็งแกร่งไม่แพ้กัน
อ๋อ ทรัพยากรบุคคลของ MS ด้วยครับ

AronSun Sun, 14/09/2014 - 22:15

Surface, Lumia หรือ WP อาจจะล้มหายตายจากได้ แต่ผมว่า Windows (PC) และ Office ยังแข็งแกร่งอยู่มาก อีกทั้งยังไม่มีคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อ น่าจะไปได้อีกนานอยู่

ส่วนตัวมอง MS เป็นส่วน ๆ ประมาณนี้

  • OS จะคงยังแข็งแกร่งในระดับ Enterprise ต่อไป แต่ในธุรกิจขนาดเล็กและกลาง น่าจะสูญเสียให้กับ Free OS ต่าง ๆ ไปเรื่อย ๆ อย่างช้า ๆ (ตราบใดที่รูปแบบการขาย License ยังเป็นเช่นทุกวันนี้)

  • Office คงจะหาอะไรมาล้มยาก

  • Mouse / Keyboard คงเป็นเพียงแค่ Branding Signature ไม่ใช่ธุรกิจหลัก คงไม่เลิก แต่ก็คงไม่ยิ่งใหญ่เทียบเท่า Logitech อะไรประมาณนั้น

  • Lumia จะเกิดหรือไม่เกิด ง่าย ๆ คือ Ecosystem ทัดเทียมผลไม้หรือกระป๋องหรือไม่ และ "นวัตกรรม" อย่าลืมว่าเริ่มต้นช้ากว่าเจ้าอื่น แถมไม่มียันต์ NOKIA มาสะกดจิตสาวกดึกดำบรรพ์แล้วด้วย

  • Surface คงจะทำต่อไป แต่จะเกิดเหมือน Macbook / iPad ไหม คิดว่ายาก เพราะ Macbook / iPad คือเจ้าเดียว แต่ Surface มีอีกหลายยี่ห้อที่ทำเหมือนกัน ตัวเลือกมีมากกว่า ต่อให้ Ecosystem ดีแล้วก็ใช่ว่า Surface จะขายดี

  • บริการออนไลน์ ถ้ามันจะเกิดก็ต่อเมื่อ 1. OS เป็นหนึ่งเดียวกัน และแทรกมาในระดับ OS เหมือน Chrome OS 2. ทัดเทียมหรือดีกว่าเจ้าอื่น 3. ขายอุปกรณ์หรือมี OS ที่เข้าถึงคนจำนวนมาก และมีอะไรจูงใจให้หันมาใช้บริการของตนแทนเจ้าตลาดเดิม เช่น Gmail / Dropbox / Google Search เป็นต้น

ส่วนตัวมองว่าไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยากเกินไป เชื่อว่า MS ทำได้ทุกอย่างแหละ แค่เพียงปฏิรูปองค์กรให้เสร็จเท่านั้น ลดขนาดให้คล่องตัว ออกผลิตภัณฑ์ให้เร็ว R&D เข้ม ๆ (ยากนะ เพราะจะทำอะไรที่ไม่เหมือนเจ้าอื่น ๆ ณ ตอนนี้นี่ หินสุด ๆ)

ส่วนที่อยากเห็นจาก MS คือ

  • Windows OS ฟรีสำหรับใช้ส่วนตัวหรือใช้ตามบ้าน Home Network Solution พร้อม และหารายได้จากการโฆษณา

  • Ecosystem ที่สมบูรณ์แบบทัดเทียมกับเจ้าอื่น (อยากให้ดีกว่าด้วยซ้ำ)

  • สร้างความ WOW ให้กับ Hardware ของตัวเอง ทำได้เมื่อไรสนุกแน่

ในฐานะแฟนคลับแล้ว ผมศรัทธาในแบรนด์ Surface นะ หวังให้ MS ดันมันขึ้นมาเท่า XBOX

R&D ของ MS ผมว่าสุดยอดอยู่นะ แต่กลับไม่รีบดันออกมา ดูกรณี "Surface" ทำไปทำมา ตลบหน้าตลบหลังเหลืออันเท่าถาด

Windows OS ฟรี อาจจะได้เห็นครับเพราะคงทำออกมาแน่หลังจากที่เริ่มปล่อยให้กับ OEM ฟรีสำหรับ Tabletไม่เกิน 9" ไปแล้ว

Ecosystem อันนี้ไม่รู้จะพูดว่าทัดเทียมหรือสมบูรณ์ยังไงเพราะสาย windows มันก็มากแต่เดิมอยู่แล้ว แต่ถ้าเปรียบเทียบกับเทรนใหม่ๆ อาจจะดูเหมือนไม่เยอะ แต่ไม่น้อยแน่ครับ (แต่ถ้าเป็น Smart Device เข้าใจครับน้อยกว่าเห็นๆ)

อยากให้มี WOW ครับ อยากเห็นแบบล้ำๆกว่าคนอื่น สักที

ผมเป็นสาวกโนเกียแต่ไม่เคยคิดจะซื้อ Lumia อยู่แล้วถึงแม้ว่าจะมียี่ห้อโนเกียแปะอยู่ก็ตาม เห็นคุณโพสแบบนี้บอกตามตรงว่าหาคำอื่นให้มันดีกว่าคำว่าดึกดำบรรพ์หน่อยได้มั้ยครับ

ไม่เห็นด้วยที่ว่า Windows จะตายในตลาด consumer หาก Windows 9 pro ขายในราคา 999 บาท เชื่อว่าตลาดจะกลับมาคึกคักกว่า os แจกฟรีอย่าง Mac os X เพราะเครื่องมันแจกฟรีตามไหม ราคาเมื่อเทียบสเปคกับฮาร์ดแวร์ฝั่งวินโดวส์ ซื้อวินโดวส์คุ้มค่ากว่ามาก

มันพ้นยุคของการแข่งกันอัดเสปกแล้วครับ แต่เห็นด้วยว่าโอเอสแจกฟรีไม่ได้ช่วยให้แมคขายดีขึ้น แต่เป็นเครื่องมือให้ผู้ใช้แมคตามเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ทัน ซึ่งมันส่งผลต่อยอดขายบริการต่างๆ โดยตรง ตรฃนี้เป็นรายได้หลักของแอปเปิ้ลครับไม่ใช่การขายเครื่อง

ถ้าวิเคราะห์ตามบทความจะเทียบอย่างคุณว่าไม่ได้(หมายถึงส่วนที่คุณเทียบว่า Windows ลดราคาแล้วจะคึกคักกว่า Mac OSX แจกฟรี)

PC คือ PC HW + Windows (หรือ OS อื่น)
Mac คือ Mac HW + Mac OS

Apple ไม่ได้อยากแข่งเรื่อง OS กับ MS อยู่แล้ว
ที่ Mac อยากได้คือลูกค้าจาก PC

ทีนี้มันมีผลก็ user ไหมเรื่อง OS ฟรี
ผมว่ามี มีเยอะ
Apple จะได้ลูกเล่นใหม่(หลังจากที่เมื่อก่อนมีมุกหลักๆมุกเดียวเรื่องไวรัส) ซื้อ Mac อัพเดท OS ฟรี ผมว่ากระแทกใจคนใช้ PC หลายๆคนเหมือนกัน แต่สิ่งทีจะรั้ง user ไว้ คือสิ่งแวดล้อมมากกว่าที่จะเป็นตัว Windows

ผมก็เชื่อว่า MS คงไม่ล้มหรอก(อย่างน้อยก็เร็วๆนี้เร็วๆนี้)ในส่วนของ OS แต่ทรงของตลาดและผลิตภัณฑ์ต้องเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างมาก
ถ้า MS ตามไม่ทันตอนนั้นแหละ MS ก็จะเหมือน Nokie

เมื่อ 1 ปี หรือเกือบๆ 2 ปีก่อน อาจจะไม่เห็นด้วยสักเท่าไหร่ แต่ตอนนี้วันนี้ ผมชักไม่แน่ใจแล้ว
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เปลี่ยนแปลงความคิดคือ

  1. ความล่าช้าและทอดทิ้งกลุ่มผู้ใช้ที่ใช้งาน Windows RT และ Windows phone และไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันสักอย่าง เนื่องจากประสบการณ์ตรงเลยเข้าใจ เพราะความสามารถของ Windows phone 8.1 ในตอนนี้ทำได้ไม่มากไม่น้อยไปกว่า Android เมื่อวันที่ Windows phone 8 เปิดตัว ที่ถือว่าเป็นนวัตกรรมหลายตัวในตอนนั้นแต่มาวันนี้มันไม่แปลกใหม่อะไร ถือว่าตามหลังชาวบ้านเค้า 2 ปีเป็นอย่างน้อย แน่นอนคนซื้อไม่รอ ส่วน Windows RT ถือว่าตามหลักหนักกว่า Windows phone 8 มาก และคิดว่าคงตายแล้วแน่ๆ เพราะไม่มีการพัฒนาใดๆ เลย ทางแก้คงเป็นการเอาแอพของ Windows phone 8 มาใส่ แทน หรือไม่ก็ลอยแพกลุ่มคนใช้ Windows RT ไปเลย ซึ่งเป็นผลเสียแน่ๆ เพราะหากมีการออก OS รุ่นใหม่ที่ไม่ใช่ x86 ออกมา คงไม่มีใครกล้าลงไปสุ่มหัวร่วมเป็นร่วมตายอีกแน่ เพราะพี่ท่านทำชาวบ้านขาดทุนไปตั้งเท่าไหร่

  2. การเปิดตัว OS คู่แข่งที่ผสานบริการต่างๆ ได้แนบเนียนกว่ามากขึ้น ซึ่งไม่เข้าใจว่าประสบการณ์ในการผสานระบบซอฟต์แวร์ในตลาด enterprise ของ Microsoft ไม่ได้ช่วยอะไรตลาด comsumer เลยเหรอ เพราะหลายๆ อย่างดูขาดๆ เกินๆ บางอย่างดูยากเกินไป ซึ่งดูแล้วคงช่วยอะไรไม่ได้ นอกจากทำใจ

  3. ตลาด Desktop และ Notebook แม้จะครองตลาด แต่สภาพตลาดไม่ได้เอื้อให้ Windows เติบโตได้ต่อไปได้อีก และมีแนวโน้มว่าคนจะเปลี่ยนเครื่องช้าลง หรือย้ายไปใช้ Tablet มาใช้แทน ปล่อย Windows แบบฟรี คงทำได้แต่ในตลาด comsumer ซึ่งคิดว่าคงเป็น edition แนวๆ home edition ส่วน pro หรือ enterprise คงต้องซื้อ activation code มาเพิ่มเติมแทน เพราะในตลาด enterprise คงต้องยึดหัวหาดในการคิดค่า license กันต่อไป เพราะสามารถขายได้ เพราะต้องต่อกับพวก AD และการคิดเงินแบบ CAL ที่น่าจะเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญพอสมควรที่ยังไม่น่าจะหายไปในเร็ววันนี้

  4. งานหลายๆ อย่างในตลาด Tablet อย่าง Android/iOS ตอบสนองได้เทียบเท่ากับ Desktop/Notebook แล้ว แถม Windows RT ที่จะมาฟาดฟันในตลาด Tablet ก็ดูจะตายอย่างไม่ต้องสงสัย ประกอบกับพกพาสะดวกในราคาที่ถูกกว่ามากหลักสองพันกว่าบาทก็พอทำงานหลายๆ อย่างได้แล้ว และทุกวันนี้หากไม่ได้ทำงานแบบ Full multi-task และต้องการใช้คีย์บอร์ดดีๆ ผมแทบไม่ได้นั่งทำงานอยู่หน้า notebook เลย งานบน Tablet/Mobile รองรับการทำงานได้ทั้งหมด

2 ขอตัวอย่างเรื่องผสานบริการแนบเนียนกว่าของค่ายอื่นหน่อยครับ อ่านแล้วไม่เข้าใจ เพราะผมว่า MS นี่เนียนสุดแล้วนะเรื่องพวกนี้(ไม่แน่ใจหมายถึงเรื่อง cloud service รึเปล่า หรือส่วนอื่น)

บริการในที่นี้ของผมคือบริการ cloud services ในส่วนของ consumer ครับ มันยังไม่ผสานดีเท่ากับฝั่ง Google หรือแม้แต่ Apple แม้เหมือนจะดูผสาน แต่พอใช้ลึกๆ แล้วมีปัญหาอยู่พอสมควร เช่น

  • Office 365 ทำงานผสานระหว่าง local drive กับ Onedrive จะมีปัญหาในการดึงไฟล์ไปมา บางครั้งบันทึกลงใน Onedrive แต่ที่บันทึก PDF จาก Office desktop พวกก็ไปเปิดเว็บต่อหลังจากบันทึกแล้ว แทนที่จะสั่งเปิดไฟล์จากบนเครื่องแทน
  • อัพเดทไฟล์ไม่ทันกันระหว่างเครื่อง เจอ corrupt อยู่หลายรอบ Google Drive กับ iCloud เนียนกว่า เหมือนเป็นข้อจำกัดของไฟล์ หรืออะไรก้ไม่รู้
  • การผูก Onedrive เข้ากับบริการ Outlook เพื่อใช้ส่งเมลไม่ได้ หรือตั้งแชร์ใน folder private ไม่ได้ ต้องเอาไปวาง public อะไรแบบนี้ (ไม่แน่ใจว่าเปลี่ยนหรือยัง เพราะไม่ได้ใช้ส่วนนี้นาน หลังๆ ย้ายไปใช้ Dropbox)
  • Outlook.com ตัว contact ที่ผูกกับบริการชาวบ้านที่ field หายบ้าง มาไม่ครบบ้าง ซึ่งไม่เนียนเท่า Google Apps ที่ดึงมาใส่ได้ครบ และมักไม่ conflict กัน
  • Notes บน Outlook Desktop ถ้า Sync เข้าไปยัง Office 365 หรือ Outlook.com หาทางเข้ายากมาก (เหมือนตอนหลังปรับแล้ว) ผิดกับของ Google apps ที่มีทางเข้าค่อนข้างชัดเจน
  • ข้อมูล SMS เอาไปเก็บบน Outlook แต่ไม่มีที่เข้าถึง จะลบ หรือจัดการต่อก็ไม่มี
  • บริการ Office 365 ระดับ Home edtion, Small Business, Mid-size Business และ Enterprise มีปัญหาเรื่องการเข้ากันของ Account หามีการ switch plan เพราะไม่สามารถ switch plan ไปมาแล้วใช้งานซอฟต์แวร์ต่อได้ ต้องติดตั้งด้วยการลบของเก่าออกและลงของใหม่ทับไปแทน คล้ายๆ ตัว execution มันใช้คนละตัว ซึ่งแตกต่างจาก Google Drive หรือ iCloud ที่ไม่มีความต่างตรงนี้เวลาจ่ายเงินเพิ่มความสามารถ
  • OneDrive และ OneDrive for Business ลักษณะการใช้งานไม่เหมือนกัน แอพ OneDrive บน iOS และ Android เพิ่งอัพเดทให้สามารถเข้าถึง OneDrive for Business ได้ และความสามารถไม่เท่ากับ OneDrive ปรกติหลายส่วนมาก

จริงๆ มีอีกเยอะครับ ผมนึกออกเร็วๆ ประมาณนี้ จริงๆ ค่ายอื่นๆ ก็มีปัญหาครับ แต่ Microsoft เอาการ sync ของ enterprise มาใส่ใน comsumer แล้วไม่สุด เหมือนกั๊กๆ ไว้ บางอันเหมือนทำไม่เสร็จก็มี

คุณพลาดไป 1 เรื่อง เป็นเรื่องที่ คุณมองข้ามและคาดไม่ถึง

"FREE OFFER BUSINESS MODEL"

ถ้าลองไปสังเกตุดูดีๆ จะพบว่า ตลาดองค์กร ต้องจ่ายค่า license การใช้ OS เพราะเป็นเรื่องทางธุรกิจที่สามารถฟ้องร้องและได้ค่าเสียหายมาก ส่วนใหญ่องค์กรธุรกิจไม่เสี่ยงใช้ประเด็นนี้ เนื่องจากค่าใช้จ่าย software ตัดเป็นค่าใช้จ่ายได้

แต่ทำไมตลาด consumer MS ถ้าจะเอาจริงก็ทำได้แต่ไม่ทำ ผลได้ของการฟ้องจะน้อยมาก ไม่คุ้มค่าใช้จ่าย และสร้างทางเลือกให้ผู้บริโภคไปหา OS อื่นที่ FREE

การคุ้นเคยกับ OS ใดมาส่งผลต่ออนาคตของ บริษัทนั้นๆในระยะยาว

ลองคิดง่ายๆ MS รู้ไหมว่ามีการละเมิดลิขสิทธ์ windows ... เขาทราบ... และทำไมยังเปิดให้ใช้งานได้อยู่ทั้งที่จริงแล้วจะปิดการทำงานยังได้เลย (แค่ออก patch)

ผมมองว่า การที่ทำให้ OS เป็นที่เคยชินในตลาด จะทำให้ เวลาเลือก OS ของผู้ที่มีกำลังจ่าย ("Willingness to pay") เลือก OS WINDOWS แทนที่จะเป็น CHROME OS , OSX หรือ LINUX

หาก MS ออกจากตลาด consumer จริงๆ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คนรุ่นใหม่จะชินกับ OS ทางเลือก เช่น LINUX และ OSX หรือ ios หรือ Chrome OS ซึ่งจะส่งผลต่อ รายได้ของ MS ในระยะยาว รวมไปถึง SERVICE ต่างๆด้วย (ใช่สิ ฉันไม่ได้ใช้ WINDOWS ทำไมฉันต้องใช้ OUTLOOK,SKYPE,AZURE)

สิ่งที่ windows จะทำในอนาคตคือ การแจกฟรี โหลดไปใช้ได้ฟรี (แต่ข้าพเจ้าขาย service พูดง่ายคือ FREE OS ** มึ IN APP PURCHASING) ซึ่งหาก mobile และ desktop ใช้ os เดียวกัน (ตอนนี้เขาพัฒนาอยู่ เราถึงได้เห็น RT + phone 8.1 นิ่ง)

ลองคิดดูนะ โปรแกรมที่รันใน เครื่องใหญ่ได้ รันในมือถือได้ด้วย คิดว่าตลาดจะเป็นของใคร? นี่คือสิ่งที่คู่แข่งสำคัญคือ Apple คิดมาตลอด พยายามปรับ OSX +iOS เข้ามาเป็นเนื้อเดียวกัน) แต่ผมคิดว่า windows มีโอกาสมากที่สุด

ทำไมผมคิดแบบนั้น

Tablet ขนาด 8 นิ้ว บางรุ่นบางยี่ห้อ รัน windows ได้ใส่ซิมได้ และ(โทรได้) install โปรแกรมเหมือนใน pc ได้เลย ในขณะที่คู่แข่งทำไม่ได้

โลกธุรกิจ จริงๆ mobile และ desktop ไม่สามารถแทนได้ บริษัท solution it เจ้าดังๆทราบดี แต่หนทางที่ดีที่สุดคือ ใช้ควบคู่กัน และผมมองว่า MS ชนะเกมนี้

ผมเคยมองแบบนี้เลย

โดยส่วนตัว ผมว่าไมโครซอฟท์สู้ตายในตลาด consumer แน่ เหตุผลเดียวกับที่คุณว่าเลย เพราะถ้าเสียฐาน consumer ไป ตลาด enterprise นั่นแหละที่จะโดนทำลายด้วย network effect แบบเดียวกับที่ไมโครซอฟท์สร้างตัวเองขึ้นมา

ปัญหาคือ ไมโครซอฟท์ช้าไป(มากกกก) มากจนไม่แน่ใจว่าตั้งใจจะสู้รึเปล่า แล้วกว่าจะพร้อมสู้ต้องอีกนานแค่ไหน

Learning Curve ที่เคยเป็นข้อได้เปรียบ Network Effect ที่เคยเป็นอาวุธที่ยิ่งใหญ่ ตอนนี้แทบจะเอามาใช้ในตลาดมือถือซึ่งเป้นตลาดที่โตเร็วที่สุดไม่ได้เพราะตัวเองไม่พร้อมซักทีในขณะที่คู่แข่งลงหลักปักฐานเรียบร้อย แถมจะเอาหันกลับมาบุกตลาด PC/enterprise ที่เป็นฐานที่มั่นเดิมของไมโครซอฟท์อีก

ถ้าไมโครซอฟท์ยังช้าอยู่แบบนี้ ไมโครซอฟท์นั่นแหละที่อาจจะถูก"บีบ"จากคู่แข่งให้ออกจากตลาด consumer

ถึงจะแจกฟรี ถ้าตลาดไม่เอา ก็คือไม่เอานะครับ ตัวอย่าง เช่น web os, symbian, และ tizen

ยิ่ง windows ที่ไม่มีคนแข่งออก windows รุ่นฟรี ที่ทำอะไรใด้น้อย อาจทำให้คนหันไปหา free os เร็วขึ้นก็ใด้

ปัจจุบันตลาดยังเอาไงครับ ถ้าไมโครซอฟท์รีบเดินเกมเร็ว(และควรจะดีด้วย)ก็ยังพอรักษาฐานตลาดไว้ทัน

ถ้ายังอืดเป็นเรือเกลือแบบนี้ รอจนตอนที่คนใช้ OS อื่นๆจนชิน จะทำอะไรก็ไม่ทันเพราะตอนนั้นคนไม่เอาแล้วจริงๆ

ผมยังไม่อยากเชื่อว่า Windows Mobile ในวันที่ชนะ PalmOS จะกลายเป็นง่อยได้ขนาดนี้ นับว่า M$ มองตลาดไม่ขาดจริงๆ นับตั้งแต่ตอนที่เป็นผู้นำตลาด Smartphone จนกระทั่ง Android เกิดขึ้นมา จนกระทั่ง Android แซงหน้า iOS ไป Microsoft มัวไปทำอะไรอยู่ที่ไหนหนอ...

ผมว่ามันน้อยเกินไป และช้าเกินไป คงต้องถอยทัพไปเก็บกินตลาดองค์กรอย่างที่ถนัดแหละดีแล้ว รอให้ Google บุกเข้าไปตีให้ยับจะได้จบๆ ตำนานไป :-P

ผมว่า MS เขารู้เรื่องนี้ดี แม้ว่าจะมีคนใช้ windows แบบไม่ได้ซื้อ license แต่สิ่งที่ MS ได้ไปคือ ประสบการณ์ในการใช้งาน ใครจะรู้ว่า คนที่จะตัดสินใจซื้อ OS ตัวไหน เขาอาจจะมีประสบการณ์จาก WINDOWS เถื่อนก็เป็นได้

ถามว่า MS เสียอะไร? ผมว่า MS ได้กับได้ เพราะจริงๆ ค่าโฆษณาแวบๆ ออกตามสื่อ แจก windows ได้หลายพัน License เลยนะครับ แต่ถามว่า ไอ้โฆษณาตามสื่อ แวบๆ เนี้ย มันให้ประสบการณ์คนใช้ไหม?

ตอบเลยว่าไม่! นั้นเป็นสาเหตุที่ บริษัทด้าน IT ทั้งหลายแข่งกันเปิด STORE ตัวเป็นๆ และหลายกรณี ไม่ได้ตั้งใจขายของด้วย (เรื่องค้าขายเป็นเรื่องน้ำจิ้ม) แต่ให้คนมีประสบการณ์กับสิ่งๆ นั้นเป็นเรืองใหญ่

MS แทบไม่มี STORE ตัวเป็นเหมือนคู่แข่ง แต่สิ่งที่ MS มีและเราใช้เองไม่รู้ตัว

windows เถื่อนๆ

ไม่ต้องโฆษณา ไม่มีต้นทุน (เพราะไอ้พวกที่ต้องจ่าย license จ่ายกันไปโครมๆแล้ว) ใช้กันปากต่อปาก เคยชินกับ windows

นี่คือความเห็นผมเองนะครับ MS ไม่บังคับอัพเดต KB เลขที่ 971033 ด้วยเหตุผลบางประการ (KB ตัวนี้หากเจอเครื่องที่ license ไม่ถูกต้อง มันจะฟ้องการทำงานบนหน้าจอจนรำคาญ)

เมื่อคุณคุ้นกับ windows คุ้นกับ office คุ้นกับ service ของ MS แล้ว ทีนี้ขึ้นกับว่า MS จะทำโปรดักส์ตัวไหนโดนๆที่ คนยอมเสียเงิน

..ความบันเทิง..

ผมเขียนไม่ผิด และเชื่อไหมทุกค่ายก็กำลังทำอยู่

หากใน node นี้พูดว่า MS กำลังจะละทิ้ง ตลาด consumer ผมก็ต้องเสนออีกด้านด้วยว่า Apple กำลังจะทิ้งตลาดโปร ด้วยเช่นกัน

แต่สิ่งที่สองบริษัทนี้ทำ คือ FREE OFFER บางอย่าง ให้เคยชิน แล้วขาย บางสิ่งที่ทำเงินและยินดีจ่าย

สวัสดี

เรื่องของเถื่อนนี่ผมว่ามันไม่ค่อยจำเป็นนะ คือ Windows เองยึดตลาดได้มาตั้งแต่สมัย Windows 95 (ก็เกือบ ๆ 20 ปี) คุณคิดว่า MS ยังต้องประชาสัมพันธ์อะไรเพิ่มเติมเพื่อที่จะทำให้คนรู้จักอีกเหรอครับ ? ในเมื่อมองไปทางไหนเราก็ยังเจอ Windows อยู่

สำหรับบ้านเรา อาจจะเห็น Windows อยู่จำนวนมาก ส่วนหนึ่งก็เพราะว่ามีคนโหลดเถื่อน (ส่วนใหญ่ด้วย) แต่ถ้าบอกว่าทำไมคนถึงใช้ Windows ก็เพราะว่า ... ก็เขารู้จักแต่ Windows ทั้งคนใช้แท้และเถื่อน (เช่น license ติดมากับเครื่อง) ดังนั้นความจำเป็นที่จะต้องปล่อยให้คนใช้ของเถื่อนต่อไปนั้นไม่มีเลย

คุณลองไปถามคนที่ไม่ใช่สายไอทีดูสิ ถามเขาว่า คอมพิวเตอร์มี OS อะไรบ้าง ผมว่าเกินครึ่งที่ตอบได้แค่ว่า Windows เท่านั้น เพราะเขาไม่รู้จักตัวอื่น

ปล. ผมล่ะเห็น BSA ขยันส่ง Notice จัง เคยคุยกับนักกฎหมายเขาว่า ถ้าไปสู้ในศาลก็แพ้คดีอยู่ดี แต่ยังส่ง Notice อยู่ได้

windows มันเป็นมาตรฐานเพราะเครื่องที่ใช้ได้มันราคาถูกเมื่อเทียบกับระบบอื่นๆ แล้วมันต่อยอดมาจากดอสที่แพร่หลายอยู่แล้วด้วยพาร์ทเนอร์ทางซอฟท์แวร์ก็เยอะด้วย ในบ้านเราที่ไหนๆ ก็สอนโอเอสและโปรแกรมฝั่ง Windows ทั้งนั้น คนก็เลยเหมือนอยู่แต่ในระบบนิเวศของ windows มาตลอดหลายสิบปี M$ เพิ่งจะมาเป๋ตอนยุคหลังพีซีนี่เอง

ส่วนของเถื่อนนี่ผมก็ว่า M$ ไม่ได้ยินดีหรอกครับเพราะไม่งั้นพอออกอัพเดตมาทีนึง Windows เถื่อนก็จะบูตไม่ได้ หรือถ้าไม่ลงตัวแคร๊กก็มีหมดอายุด้วย ถ้าปล่อยเถื่อนจริงๆ ก็คงแค่ไม่ต้องใส่รหัสผ่านแล้วให้ใช้ได้ตลอดไปเลย Windows เถื่อนที่อัพเดตไม่ได้พอเกิดปัญหาทีนึงเดี๋ยวคนก็จะบ่นว่าประสบการณ์การใช้ไม่ได้เรื่องอีกต่างหาก (ใช้ของฟรีแล้วยังไปด่าเค้าอีก พวกนี้ก็เยอะเลย)

ประเด็นอื่นคงเป็นความเห็นของคุณซึ่งแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคลนะครับ แต่ในบทความผมไม่ได้บอกว่า "MS กำลังจะละทิ้ง ตลาด consumer" ครับ ความหมายของผมคือ "ถูกบีบให้ออกจากตลาด consumer" แม้อยากบุกใจจะขาดก็ตาม

อารมณ์คุณประมาณ MP3 สมัยก่อนเลยอะ ที่บอกว่าค่ายเพลงเป็นคนปล่อย MP3 เถื่อนออกมาเองเพื่อไล่เก็บค่าลิขสิทธิ์กับอยากให้นักร้องดัง(ขออภัยถ้าเข้าใจผิด)

ผมว่าไงๆ MS ก็อยากเก็บให้ได้ทุกบาททุกสตางค์อะแหละ แต่คงคิดมาแล้วว่าทำกับประเทศที่ไม่เน้นเรื่อง LC มันคงไม่ค่อยคุ้ม
และอย่างเรื่อง patch ก็ไม่เคยเห็น MS บังคับอะไรจริงจังเลยนะเรื่องอัพส่วนใหญ่มาเป็นคำแนะนำ

ถ้า Microsoft สามารถดัน Surface Pro จนติดตลาดได้ ผมว่าจะยิ่งน่าสนุกมากๆ กับสามก๊กไอที
ส่วน Surface RT กับ Windows RT ผมว่าโล๊ะทิ้งไปเลย ทำตลาด Surface Pro ตัวเดียวเน้นๆ

คุณต้องเดินถอยออกมาประมาณ 5 ล้านก้าว แล้วมองกลับไปทำไม MS ต้องทำ Hardware

ผมจะบอกว่า เมื่อคราวที่ MS จับมือกับผู้ผลิตคอมหลายๆเจ้า ทำ windows 8 จอทัส มันมีเครื่องที่เข้า concept เครื่องที่ออกทะเล เละเทะไปหมด

เพราะอะไร? ไม่มีผู้นำในตลาด ไม่มีใครกล้าเสี่ยง ไม่มีใครกล้าทุ่ม

สิ่งที่ MS ทำคือ ทำ HARDWARE เทพๆ 2 - 3 รุ่น มีชื่อว่า SURFACE ทำสเปคดีๆ (ดีจริงๆนะครับจากการลองเล่นดู) ผลหรือครับ ?

ยอดขาย SURFACE ที่พุ่งแซง partner ของ MS เอง

แล้วเขาจะมาเป็นคู่แข่งกันไหม?

บอกเลยว่าไม่ นี่เป็นโชว์เรียกแขก จาก MS ที่สื่อสารไปยัง partner ของตนเอง ว่า พวกคุณดูสิ HARDWARE ดีๆขายแพงๆ ก็ยังมีคนซื้อ ดังนั้น อย่ากลัวที่จะสร้าง Hardware ดีๆ

ปล.กำไร hardware พวก เมาส์ คีย์บอร์ด น่าจะกำไรเยอะกว่า Surface ด้วยมั้งครับ

ผมก็ไม่แน่ใจเรื่องกำไรของ Surface นะครับ แต่คิดว่าถ้า Surface Pro ติดตลาดแทน Macbook Air (ที่ MS กำลังชูเป็นจุดขายอยู่) ได้จริงๆ MS ก็มีแต่ได้กับได้ทั้งนั้น ส่วนแบ่ง OS ของ Windows 8 ก็จะเพิ่มขึ้นด้วยครับ

ถ้ามองเฉพาะฝั่ง Consumer ผมซึ่งถือ Surface pro และเคยถือ Lumia 1520 คิดว่าสิ่งที่ Microsoft ขาดที่สุดคือการเข้าถึง Content (หรือในที่นี้คือ service) เพราะถึงแม้ Hardware จะทำออกมาได้เนี้ยบและราบลื่น แต่การเข้าถึง content ค่อนข้างยุ่งยากเมื่อเทียบกับเจ้าอื่น

ตัวอย่างที่ผมเจอเองคือ Youtube และ Kindle Jp ซึ่งเป็นแหล่ง content ค่อนข้างใหญ่ แต่เข้าถึงแบบ Native ผ่านทาง Windows ไม่ได้เลย ทำให้ประสบการ์ณใช้งานไม่ดีนัก ซึ่ง Apple ก็ไม่ได้เป็นเจ้าของ content แต่เป็นทางผ่านได้ ทำให้ MS เสียบเปรียบมาก นี่ยังไม่นับถึง content อื่นๆที่อาจจะเล็กกว่านี้ เช่น Line, instagran, etc.

ทั้ง 3 ค่ายต่างมี Ecosystem ที่ขังผู้ใช้อยู่หมัด
ผมใช้ๆ window, office และใช้ google ถือ iPhone และ android
อ่านบทความนี้ผมเลยเข้าใจว่าทำไมผมต้องถือหลายเครื่อง

ขอบคุณสำหรับบทวิเคราะห์ดีๆ ครับ

ในความเห็นส่วนตัว ผมสนใจคำว่า "Productivity" ของ Nadella มากที่สุด เพราะ...

เป็นสิ่งเดียวที่คู่แข่งอีก 2 ก๊ก ที่เหลือ ยังเอาชนะไม่ได้ และก็ยากที่จะเอาชนะให้ได้

Apple นี่ตัดเรื่อง Productivity โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวของกับงานประจำ อย่างการพิมพ์เอกสาร สเปรดชีท (เว้นเรื่องพรีเซนต์จาก Keynote ให้ซักตัว) ไปได้เลย...ก๊กนี้เรื่องบันเทิง ยังไงก็กินขาด เสียแค่ระบบปิดไปหน่อย

Google เอง แม้จะมี Google Docs อยู่ในมือ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผมยังถือว่าความสามารถห่างจากชุด Office เยอะพอสมควรครับ

ซึ่งถ้ามองเฉพาะประเด็น Productivity ในชีวิตประจำวันของทุกคน เชื่อเหลือเกินว่า ขาด Windows ได้ แต่จะขาด Microsoft Office ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเด็ก วัยรุ่น คนทำงาน หรือแม้แต่คนแก่...

ทีนี้ถ้า Microsoft ผลักดัน Office แบบจริงจัง เช่น ทำแอพฯ Microsoft Office ที่มีความสามารถใกล้เคียงหรือเท่ากับเดสก์ทอปลงอุปกรณ์ที่เป็น Windows Phone เท่านั้น แถมขายราคาถูกหรือแจกฟรีกันไปเลย (เพราะยังไงก็ขายไลเซนต์กับฮาร์ดแวร์อยู่แล้ว) อันนี้แหละที่น่าจะเป็น "ไม้ตาย" ของ Microsoft มากที่สุด

ไม่ว่าจะพกมือถือ iOS หรือ Android เพื่อเล่นเกม ท่องเว็บ ฯลฯ หรือทำอย่างอื่น แต่ถ้าคิดว่าต้องทำงาน แล้วถูกบีบให้เหลือตัวเลือกที่ Microsoft บังคับข้างต้น... (คิดต่อกันเองครับ)

ในมุมมองผม ผมคงแบ่ง 3 ก๊ก เป็นอีกจักรวาลหนึ่งครับ (Spiderman ยังมีจักรวาลคู่ขนานฉันใด 3 ก๊กไอที ก็คงต้องมีฉันนั้น)

จักรวาลที่ว่า คือ Entertainment, Online Service และ Productivity ถ้าแบ่งเค้กกันตามจักรวาลนี้... ผมว่าทุกก๊กน่าไม่ทับเส้นกันนะครับ แต่ละก๊กต่างก็ใช้จุดแข็งของตัวเองได้อย่างเต็มที่

Apple กับเรื่องความบันเทิงที่ดูจะเป็นของคู่กันอย่างเนียนที่สุด (iPhone เป็นมือถือที่ถูกใช้ถ่ายรูปแล้วโพสต์โชว์มากที่สุด)

Google เอง ก็คงหนีไม่พ้นการนำทุกอย่างขึ้นสู่โลกออนไลน์ ถ้าทำให้ระบบออนไลน์กลายเป็นเรื่องสามัญขึ้นกว่านี้ได้อีก คนก็ยิ่งติด เพราะยังไงเว็บแรกที่เลือกเปิดก็เป็น Google อยู่แล้ว (ส่วนเปิด Google แล้วจะไปไหนต่อก็ว่ากันไปครับ)

และ

Microsoft กับบทบาทของคนทำงานตัวจริง ถ้าหันไปเน้นการพัฒนาในเชิงการทำงานสุด ผมว่ามีโอกาสพลิกเกมได้เหมือนกัน อาจจะไม่ถึงขั้นกลับมาเป็นเบอร์หนึ่งในโลกสมาร์ทโฟน แต่จะเป็นเบอร์หนึ่งในกลุ่มสมาร์ทโฟนเพื่อคนทำงาน

นี่ถ้าผมคิดต่อเล่นๆ ว่า Microsoft ทุ่มซื้อ BlackBerry (เอาระบบจัดการในองค์กรที่เน้นความปลอดภัยสูง), Evernote (เอาระบบจดบันทึก), Dropbox (เอาระบบฝากไฟล์ที่ง่ายและรวดเร็ว) มาทั้งหมด

โลกฝั่ง "ทำงาน" คงไม่หลุดไปจากกุมมือของ Microsoft แน่ๆ ครับ

ก็คิดไว้... ถ้า Microsoft บ้าจี้ทำตามเมื่อไหร่ เราคงได้เห็น Geek หิ้วอุปกรณ์จากทั้ง 3 ค่ายกันอย่างครบครัน จากที่ทุกวันนี้ก็พกกันคนละ 2 ชิ้น เป็นอย่างต่ำไปแล้ว (ไหนใครยังพกมือถือเครื่องเดียวยกมือขึ้น?)

ลองคิดว่า สมาร์ทโฟนหลักเป็น iPhone (แอพฯ เยอะถ่ายรูปง่าย สวย และโชว์ได้), มี iPad หรือแท็บเล็ตติดตัว (อ้างว่าใช้อ่านเอกสาร แต่ที่จริงใช้เล่นเกม เพราะจอใหญ่กว่ามือถือ), สมาร์ทโฟนสำรองเป็น Android (ใช้ออนไลน์ล้วนๆ ทั้งอีเมล, แบ็คอัพ, โซเชียล ฯลฯ)

และ

ยังต้องมีสมาร์ทโฟน/แท็บเล็ต Microsoft อีกเครื่องไว้พิมพ์งาน ทำเอกสารต่างๆ หรือแม้แต่ใช้พรีเซนต์...

แค่คิดครับ ถ้าเป็นจริง ผมว่าเราคงลำบากเรื่องอแดปเตอร์น่าดูเลยทีเดียว 555+

ผมพก Android เครื่องเดียวครับ
iPhone เคยใช้ แต่พอหันมาใช้ android ผมก็เลิกใช้ iPhone ครับ
ทุกวันนนี้ใช้ Notebook ของ Office รัน Windows
และไม่เคยเอากลับบ้าน

"ขาด Microsoft Office ไม่ได้" ... ไม่เป็นความจริงครับ

สมัยก่อนบ้านเราจะไช้ CW (จุฬา Word) / Lotus123 สมัยนั้นมีคนพูดเหมือนกันว่า "ขาด CW / Lotus123 ไม่ได้" วันนี้เรารู้แล้วว่า ชุด office มันเคยเปลี่ยนมาแล้วและเปลี่ยนใด้อีก ทั้งที่ CW / Lotus123 มี office บน windows เหมือนกัน

โลกเราเปลี่ยนไปเรื่อยๆ Android/ios กินตลาดมือถือ / tablet และกำลังลามไปที่ notebook โปรแกรมพวก office ทุกเจ้าขายตัวเองทันที แต่ ms ก็ยังกัก และทำ office ออกมาช้า ง่อย และต้องจ่ายรายเดือน บน Android/ios เพื่อจะขาย wp ที่เข็นไม่ขึ้น

ตอนนี้ยังเร็วไปที่จะบอกว่า windows หรือ ms office จะหายไปจากตลาด แต่ windows arm เข็นไม่ขึ้นจริงๆ แปลว่าตอนนี้ windows อาศัย ecosystem เดิมอยู่เท่านั้น

ผมพก android เครื่องเดียว

ส่วน งานโดยส่วนตัวใช้ Google Docs ก็ตอบสนองความต้องการได้ครบครันแล้วครับ

life style ของ consumer ระดับ mass ไม่ได้ใช้ความสามารถระดับลึกล้ำอะไรมากมายหรอกครับ

ผมพก iPhone เครื่องเดียวครับ :-D

สงสัยเราคงไม่ใช่ "กิ๊ก"

เห็นด้วยว่า M$ กินบุญเก่าอยู่จริงๆ ถ้าไม่นับ Xbox360 ที่เป็นแพลตฟอร์มที่ประสบความสำเร็จจริงๆ ก็ดูเหมือน M$ ย่ำอยู่กับที่หากินกับโปรแกรมสำนักงานเป็นหลักจริงๆ

ส่วนโปรแกรม Office ไม่จำเป็นต้องยึดติดอยู่กับ Microsoft Office ก็ได้ครับ ถ้าคุณทำงานเอกสารอยู่แค่ในองค์กรตัวเอง (โดยเฉพาะองค์กรขนาดเล็ก-เล็กมาก) เวลาส่งออกเอกสารก็ทำเป็น pdf ออกไปให้อ่านได้อย่างเดียว ก็มีตัวเลือกอื่นให้ใช้เยอะแยะ อาจจะไม่รวดเร็ว ไม่ถนัดเท่า แต่มันก็ใช้งานได้ในระดับหนึ่ง เหมือนที่บางคนเคยตั้งคำถามว่าฟังก์ชั่นมากมายใน Microsoft Office มีใครใช้เกินครึ่งบ้าง ??

มันมีงานบางอย่างจริง ๆ นะครับที่ขาด MS Office ไม่ได้ ถ้าใครอยู่ในจุดที่ผละจากมันได้นี่จะเพอร์เฟคมากครับ

ทุกวันนี้อยากจะเปิดไฟล์ Checklist Excel ใน Libreoffice แต่เปิดทีไรเอกสารพังทุกที เอาฟ้อนต์มาลงแล้วก็ยังไม่ได้ จะไปเปลี่ยนก็ไม่ได้เพราะมันเป็นของที่ทำงานไม่ใช่ของส่วนตัว หรือเรื่องเอกสาร ถ้าต้องแก้ร่วมกัน หากโน้มน้าวให้เขาให้แอพอื่นไม่ได้ ก็ต้อง MS Office อยู่ดี เพราะไม่งั้นหน้าตาเละหมด

MS จะตกม้า เพราะตลาดpc หดตัวนี่แหละ เนื่องจากconsumer ที่เคยใช้ pc/laptop เพื่อเล่นเนท ดูหนัง เล่นเกมcasual ฟังเพลง สามารถใช้smartphone/tablet ทดแทนได้เกือบทั้งหมด เหลือแค่ส่วนการพิมพ์งานและโปรแกรมเฉพาะทางเท่านั้นที่ทดแทนไม่ได้ แต่ก็ทำให้เด็กๆหรือน.ศ.ยุคใหม่ลดการใช้pc ลง(หลายคนซื้อแค่ipad แล้วเวลาทำรายงานค่อยไปใช้ห้องคอมแทน)

เห็นได้ชัดหลานๆผมสมัยนี้ขอพ่อแม่ซื้อมือถือหรือtablet เป็นของขวัญ มากกว่าที่จะอยากได้pc/laptop เหมือนเด็กยุคก่อนหน้า

สำหรับผมhardcore gamer ยังไงก็ต้องpc ตราบใดที่console ยังต่อสามจอหรืออัดกราฟฟิคหนักๆไม่ได้ แต่ก็เซ็งที่ทั้งcpu และ gpu ขยับตัวพัฒนาช้ามากๆในรอบสองสามปีมานี้

+1 เห็นด้วยครับ MS ถึงจะไม่ตาย(มีของเก็บกินอยู่อีกมาก) แต่ก็มีแนวโน้มโตช้าลง ด้วยตลาดความแรง pc เริ่มอิ่มตัว รอบการเปลี่ยน pc ห่างขึ้นจะส่งผลให้แนวโน้มราคาชิ้นส่วนน่าจะมีราคาสูงขึ้น ต่อไป pc แรง ๆ ก็อาจจะเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม เหลือแต่ pc เสปคต่ำ ๆ ซึ่งก็เพียงพอการใช้งานเวลาต่อสายเล่นเน็ทอยู่บ้าน พิมพ์งาน ทำกราฟิก เขียนแคดเล็กน้อย และผู้ใช้กลุ่มทั่วไปนี้ก็มักไม่อัพเสปกกันเท่าไร เน้นเปลี่ยนรอบเดียวอาจจะสัก 4 ปีขึ้นไปหรือนานกว่านั้นถ้าวินโดวส์น่าใช้ออกรุ่นเว้นรุ่น ถึงตลาดไม่หด แต่ตลาดอีกฝั่งเติบโตมากเมื่อเทียบกัน ผู้คนสนใจจับจ่ายของอีกฝั่ง เม็ดเงินเทไป เดฟก็ตามไปผลิตคอนเทนท์หนาขึ้น เมื่อนั้นอาณาจักรวินเทลคงสะเทือนจาก network effect ที่ว่าเมื่อคนทั่วไปคุ้นกับการใช้งานในระบบอื่น ทำให้ฝั่งธุรกิจเริ่มมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการเทรนคนในระบบเดิม ซึ่งคาดว่ายังอีกนานพอที่ MS จะกลับมาได้แต่ปล่อยนานก็ไม่ดีแน่ ถึงแม้ฝั่งคู่แข่งอ่อนประสบการณ์ด้านฝั่งธุรกิจแต่ถ้ามันคุ้มค่าก็เปลี่ยนได้ไม่ยากกว่าฝั่งคนใช้งานทั่วไปที่เน้นความชอบ ความสะดวกมาเป็นอันดับแรก

คำถามที่ 3 ก๊ก ต้องมองต่อ ไม่ใช่แค่ "ตลาดแท็บเล็ตหยุดโต" แต่ต้องหาให้ได้ว่า "จะโตในตลาดไหนแทน" ครับ

บางค่ายมองที่กลุ่ม "แฟ็บเล็ต" บางค่ายก็หันไปลุยตลาด "สวมใส่" มากขึ้น

ถ้า Microsoft อยากกลับมาเร็วขึ้น คงต้อง R&D ว่าตลาดไหนจะมาก่อนกัน แล้วรีบทำสินค้าที่พ่วงบริการซึ่งเป็นจุดแข็งของตัวเองออกมาสู้

ก็ได้แต่หวังว่า Microsoft จะมองเห็น ปรับตัวไว และผลิตสินค้าได้ทัน...

ขอบคุณสำหรับบทความดีๆครับ
โดยส่วนตัวผมคิดว่า MS คงคิดว่าตัวเองมีกำลังทรัพยากรมากพอที่จะทำ แต่พอทำไปแล้วมันผิดอย่างที่คาดแล้วกลับมาไม่ทัน ซึ่งจริงๆแล้วถ้ามองดีๆ MS เองก็ไม่เก่งทางด้าน UI ที่สวยงามและเรียบง่ายเท่าไรตั้งแต่ต้น แต่เผอิญ PC มันใหญ่และเหมาะกับการทำงานจึงทำให้ MS ยังขยายตัวได้ แต่พอมีการเปลี่ยนยุคสู่ Smart Device ที่ MS กลายเป็นยักษ์ไปแล้ว การทำอะไรหลายๆอย่าง จึงเชื่องช้า ทำให้พลาดในตลาด Device สำหรับ Consumer ไปไกล แม้แนวทางจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น หลังจากเปลี่ยนCEO ไปแต่ทว่า ความเชื่องช้าก็ดูเหมือนจะยังไม่เปลี่ยนแปลง

สำหรับผมคิดว่า MS ควรจะทำ Device ระดับ Surface Pro3 ตั้งแต่แรกๆ แข่งกับ iPAD ไปเลยซึ่งถ้าตอนนั้นทำ บางทีมันก็จะไม่ขาดขนาดนี้ ต้องโทษว่าช้าเกินไปกว่าจะโฟกัสConsumer ของตัวเอง แม้ Surface Pro3 จะต้องใช้เวลาพิสูจน์อีกยาวไกลแต่ผมว่ามาถูกทางแล้ว คราวนี้ขอให้จัดการเรื่อง XBox เนี่ยถ้าสามารถจัดการเกม Xbox ให้รวมกับ Lumia ซึ่งเป็นสายที่ซื้อมาได้เนี่ยจะยกระดับ Lumia ขึ้นเป็นกองเลยคราวนี้จะตอบโจทย์ Consumer ได้ดีเลยทีเดียว ผมคิดว่าอยากให้ WP เนี่ยออกเป็นกราฟฟิกหน้าจอดีๆสวยๆ เพื่อให้เกมดังๆ น่าเล่น จากนั้นทุกๆอย่างเกี่ยวกับบันเทิงน่าจะตามมา มันจะทำให้ยุทธศาสตร์ชัดเจนขึ้น ส่วนการเชื่อมต่อเนี่ย ผมกลับคิดว่าถ้า MS ออกมาลุยอีกอย่างคือ พวก Smart TV ที่เชื่อมต่อ XBox , WP และ Surface ได้ผมว่ามันจะแจ่มมากๆเลย

อวยให้มองตลาดดีๆ Consumer ยังมีช่อง การที่ Apple, Google พยายามดันตัวเองสู่ Device ตัวอื่นก็เป็นสัญญาณ ชัดเจนว่าเฮ้ยตลาดบางอย่างเริ่มอิ่มตัวแล้วนะกำลังจะไปอย่างอื่นฉะนั้นคิดดีๆว่า จะทำยังไงโดยส่วนตัวคิดว่า นโยบาย Partner ดีกว่าแน่นอน

  • จนสุดท้ายทั้งสามก๊กต่างมีจิ๊กซอครบทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ บริการ

"จิ๊กซอ" > "จิ๊กซอว์"

  • ไม่ต้องการดูแลหรือบำรุงรักษาอุปกรณ์

"ไม่ต้องการดูแล" > "ไม่ต้องการการดูแล"

  • (บริษัทออนไลน์เกือบทุกแห่ง เช่น Yahoo, Facebook, Twitter มีแนวคิดแบบเดียวกันนี้)

"Yahoo" > "Yahoo!"

  • และการเปลี่ยนตัวเองของแอปเปิลก็สร้างพลวัตรให้กับวงการ

"พลวัตร" > "พลวัต"

  • พฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไป ทำให้โมเดลธุรกิจของแอปเปิลจึงต้องเปลี่ยนตามไปด้วย

ควรแก้เป็น "พฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไป ทำให้โมเดลธุรกิจของแอปเปิลต้องเปลี่ยนตามไปด้วย" หรือ "พฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไป จึงทำให้โมเดลธุรกิจของแอปเปิลต้องเปลี่ยนตามไปด้วย"

  • ความสับสนของยุทธศาสตร์ Devices and Services ของไมโครซอฟท์ จึงถูกแก้ไขในอีก 1 ปีถัดมา โดยซีอีโอคนใหม่ Satya Nadella จึงบิดมันใหม่ ออกมาเป็น Platform and Productivity แทน

ควรแก้เป็น "ความสับสนของยุทธศาสตร์ Devices and Services ของไมโครซอฟท์ จึงถูกแก้ไขในอีก 1 ปีถัดมา โดยซีอีโอคนใหม่ Satya Nadella ซึ่งบิดมันใหม่ ออกมาเป็น Platform and Productivity แทน"

  • แต่บริการออนไลน์ตัวอื่นๆ ทั้ง Skype, Office 365, Azure ก็ยังไปได้ดีและแข่งขันได้

Office 365 ไม่น่าจะนับเป็นบริการนะครับ เพราะมันเป็นซอฟต์แวร์ที่เราต้องติดตั้งลงในคอมพิวเตอร์ตามปกติ เพียงแต่เปลี่ยนวิธีคิดเงินจากการขายขาดมาเป็นเก็บค่าเช่าเท่านั้น ถ้าเป็น Office Online ถึงควรจะเรียกว่า "บริการ"

ทุกวันนี้ userแทบทุกคน ซื้อแอป ซื้อเพลง ค้นหาข้อมูล มากกว่า บ่อยกว่า ซื้อOSตัวเดียวจบ / ถ้าอยากอยู่รอด ต้องขายสิ่งเหล่านี้ ให้จงได้

Alios Mon, 15/09/2014 - 14:48

Windows ครองตลาด PC สูงจริงครับ
อยากให้ Windows ลงมาเล่นในตลาดโน้ตบุคราคาถูกแบบ ChromeBook พร้อมติดตั้ง Windows+Office ฟรี ทำตลาดโรงเรียนและองค์กรทั่วโลก

ขอบคุณสำหรับบทความดีๆครับ
ตอนนี้ทั้ง 3 ก๊ก ที่ลำบากสุดน่าจะเป็น M$ เพราะ

  1. Surface การออกแบบเกือบจะดี พยายามทำให้แปลกและแตกต่าง แต่ก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย
    เหมือนพยายามจะรวม iPad+Mac book Air เข้าด้วยกัน
  2. Windows Threshold ตัวใหม่ ปัจจุบันยังมีคนใช้ Windows XP อยู่เลย Windows 7 เยอะสุด
    ส่วน Windows 8 ใช้เฉพาะคนอยากลองของใหม่
  3. มือถือ Lumia ก็ออกชื่อรุ่นที่จดจำได้ยากมากๆ ทำให้ผู้ใช้สับสน (ผมคนนึงแหละ)

ปล.ผมสงสัยว่า Threshold คือชื่อนี้สื่อความหมายว่าอย่างไรสำหรับ M$ ครับ

ถ้าผมเป็น google ก็คง package chrome OS เป็น USB หรือ cd พร้อมลงในเครื่องใหม่ๆ ได้ทันที
ส่วนประกอบสุดท้ายสำหรับการฝัง windows ลงหลุม ก็คือ chrome OS ที่ลงง่าย รันแอพได้ จบ

ตลาดพีซีสำหรับคนทั่วไปเหมือนไม่มีทางเลือกนอกจาก windows / office
Linux ยังมีคนอคติมากเกินไป chrome OS แบรนด์มันดีอยู่แล้ว ขาดแค่ developer tools ดีดี กับเล่นเกมส์ไม่ได้

สรุป - chrome OS มาเป็นแผ่นซีดีลงง่าย รันแอพ android ได้ ลง steam ได้ พอครับ

vegita Mon, 15/09/2014 - 20:31

ผมว่า MS น่าจะให้ความสำคัญกับตลาด software windows เถื่อน อย่างน้อยก็เป็นฐานให้คนยังใช้ Windows เป็นระบบปฏิบัติการหลัก และคู่แข่งยากที่จะมาต่อกรได้ ขำ ๆ นะ

โดยส่วนตัว ไม่ค่อยชอบ OS ตัวใหม่ ๆ ของ Mircrosoft ที่ออกมาเท่าไหร่ ตั้งแต่ 8 หรือกะทั่ง Software โดยส่วนตัวรู้สึกว่าการทำงานของ Software ยังมีความล่าช้าอยู่ ถ้าเปรียบเทียบกับตัวอื่น ๆ ทีนักพัฒนาคนอื่น ๆ ทำออกมาขาย หรือแจกฟรี โดยส่วนตัวผมใช้เพียงแค่ OS ในการทำงานเท่านั้นครับ พวก Microsoft Office หรือ Service ต่าง ๆ ผมจะไม่แตะเลย คือไม่มีไว้ในเครื่องเลย พยายามหลีกเลี่ยง

Apple
public://topics-images/apple_webp.png
SCB10X
public://topics-images/347823389_774095087711602_515970870797767330_n_webp.png
Windows 11
public://topics-images/hero-bloom-logo.jpg
Huawei
public://topics-images/huawei_standard_logo.svg_.png
Google Keep
public://topics-images/google_keep_2020_logo.svg_.png
Instagram
public://topics-images/instagram_logo_2022.svg_.png
Microsoft
public://topics-images/microsoft_logo.svg_.png
Basecamp
public://topics-images/bwpepdi0_400x400.jpg
FTC
public://topics-images/seal_of_the_united_states_federal_trade_commission.svg_.png
Pinterest
public://topics-images/pinterest.png
Palantir
public://topics-images/-nzsuc6w_400x400.png
AIS Business
public://topics-images/logo-business-2021-1.png
PostgreSQL
public://topics-images/images.png
JetBrains
public://topics-images/icx8y2ta_400x400.png
Krungthai
public://topics-images/aam1jxs6_400x400.jpg
Palworld
public://topics-images/mccyhcqf_400x400.jpg
Bill Gates
public://topics-images/bill_gates-september_2024.jpg
VMware
public://topics-images/1nj4i1gp_400x400.jpg
Take-Two Interactive
public://topics-images/0khle7nh_400x400.jpg
OpenAI
public://topics-images/ztsar0jw_400x400.jpg
Thailand
public://topics-images/flag_of_thailand.svg_.png
ServiceNow
public://topics-images/ytnrfphe_400x400.png
Klarna
public://topics-images/urcllpjp_400x400.png
Google Play
public://topics-images/play.png
Drupal
public://topics-images/drupal.png
Virtua Fighter
public://topics-images/virtua_figther_2024_logo.png
Paradox Interactive
public://topics-images/paradox_interactive_logo.svg_.png
Europa Universalis
public://topics-images/europa-icon.png
Nintendo Switch 2
public://topics-images/mainvisual.png
Cloudflare
public://topics-images/cloudflare_logo.svg_.png
Samsung
public://topics-images/samsung.png
Google
public://topics-images/google_2015_logo.svg_.png
Uber
public://topics-images/uber.png
Microsoft 365
public://topics-images/m365.png
USA
public://topics-images/flag_of_the_united_states.svg_.png
GM
public://topics-images/0pe0po-z_400x400.jpg
Perplexity
public://topics-images/perplex.jpg
Xperia
public://topics-images/xperia.png
iOS 18
public://topics-images/ios-18-num-96x96_2x.png
True
public://topics-images/true_logo.png
SoftBank
public://topics-images/softbank.jpg
Pac-Man
public://topics-images/pacman.png
Harry Potter
public://topics-images/harry.png
Marvel
public://topics-images/marvel.png
Skydance
public://topics-images/skydance.png
SEA
public://topics-images/sealogo.png
Find Hub
public://topics-images/find.png
Accessibility
public://topics-images/accessibility-128x128_2x.png
Material Design
public://topics-images/m3-favicon-apple-touch.png
Android 16
public://topics-images/android16.png
Android
public://topics-images/android_0.png
Firefox
public://topics-images/firefox_logo-2019.svg_.png
Google Messages
public://topics-images/messages.png
Notepad
public://topics-images/notepad.png
Singapore
public://topics-images/flag_of_singapore.svg_.png
Airbnb
public://topics-images/airbnb.png
PS5
public://topics-images/ps5.png
Krafton
public://topics-images/krafton.png
Doom
public://topics-images/doom-game-s_logo.svg_.png
AMD
public://topics-images/amd_logo.svg_.png
GTA
public://topics-images/gta_0.png
DoorDash
public://topics-images/doordash.png
YouTube
public://topics-images/yt.png
YouTube Music
public://topics-images/yt-music.png
Facebook
public://topics-images/fb.png
iQiyi
public://topics-images/iqiyi_0.png
Viu
public://topics-images/viu.png
Amazon Prime Video
public://topics-images/prime-vid.png
Spotify
public://topics-images/spotify.jpg
Apple TV
public://topics-images/apple-tv.png
HBO Max
public://topics-images/max.png
Threads
public://topics-images/threads.png
Alexa
public://topics-images/alexa.png
Kindle App
public://topics-images/kindle.png
Shopee
public://topics-images/shopee.png
Waze
public://topics-images/waze.png
Bilibili
public://topics-images/bili.png
Google Maps
public://topics-images/maps.png
Apple Music
public://topics-images/apple-music.png
Claude
public://topics-images/claude.png
TikTok
public://topics-images/tiktok.png
Xbox
public://topics-images/xbox.png
Tesla
public://topics-images/tesla.png
Chrome
public://topics-images/chrome.png
Google Calendar
public://topics-images/gcal.png
Google Home
public://topics-images/ghome.png
Google Meet
public://topics-images/meet.png
NotebookLM
public://topics-images/notebooklm.png
Reddit
public://topics-images/reddit.png
Assassin’s Creed
public://topics-images/ac.png
Mark Zuckerberg
public://topics-images/zuck.jpg
Meta
public://topics-images/meta.png
Meta AI
public://topics-images/meta-ai.png
Epic Games
public://topics-images/epic_games_logo.svg_.png
Unreal
public://topics-images/unreal_engine_logo-new_typeface-svg.png
Fortnite
public://topics-images/fortnite.png
DeepMind
public://topics-images/deepmind.png
Databricks
public://topics-images/databricks.png
Netflix
public://topics-images/netflix-logo.png
Microsoft Azure
public://topics-images/azure.png
Microsoft Copilot
public://topics-images/microsoft_copilot_icon.svg_.png
Bing
public://topics-images/bing.png
EA
public://topics-images/ea.png
Intel
public://topics-images/intel.png
Amazon
public://topics-images/amazon.png
AWS
public://topics-images/aws.png
Zoom
public://topics-images/zoom.png
Dropbox
public://topics-images/dropbox_0.png
Dell Technologies
public://topics-images/dell-tech.png
Nothing
public://topics-images/nothing.svg_.png
Microsoft Teams
public://topics-images/teams.png
Mojang
public://topics-images/mojang.png
Minecraft
public://topics-images/minecraft.png
Redis
public://topics-images/redis_logo.svg_.png
Ubisoft
public://topics-images/ubisoft_logo.svg_.png
Elden Ring
public://topics-images/elden.png
Brave
public://topics-images/brave.png
Opera
public://topics-images/opera.png
Vivaldi
public://topics-images/vivaldi.png
Microsoft Edge
public://topics-images/edge.png
Duolingo
public://topics-images/duolingo.png
LinkedIn
public://topics-images/linkedin.png
Canva
public://topics-images/canva.png
Realme
public://topics-images/realme.png
NASA
public://topics-images/nasa-logo.png
Booking.com
public://topics-images/booking.png
Agoda
public://topics-images/agoda.png
Bolt
public://topics-images/bolt.png
Temu
public://topics-images/temnu.png
LINE
public://topics-images/line.png
Facebook Messenger
public://topics-images/messenger.png
WhatsApp
public://topics-images/whatsapp.png
Telegram
public://topics-images/telegram.png
Signal
public://topics-images/signal.png
X.com
public://topics-images/x.png
Grok
public://topics-images/grok.png
xAI
public://topics-images/xai.png
CapCut
public://topics-images/capcut.png
Edits
public://topics-images/edit.png
Google One
public://topics-images/gone.png
Tinder
public://topics-images/tinger.png
Whoscall
public://topics-images/whoscall.png
OneDrive
public://topics-images/onedrive.png
Lightroom
public://topics-images/lr.png
Meitu
public://topics-images/meitu.png
Outlook
public://topics-images/outlook.png
Excel
public://topics-images/excel.png
PowerPoint
public://topics-images/ppt.png
Microsoft Word
public://topics-images/word.png
Phone Link
public://topics-images/phone-link.png
OneNote
public://topics-images/onenote.png
Windows App
public://topics-images/windows-app.png
Notion
public://topics-images/notion.png
Google Drive
public://topics-images/drive.png
YouTube Kids
public://topics-images/yt-kids.png
Gboard
public://topics-images/gboard.png
DeepSeek
public://topics-images/deepseek_logo.svg_.png
Prince of Persia
public://topics-images/prince-persia.png
Sony
public://topics-images/nq0nd2c0_400x400.jpg
Cisco
public://topics-images/jmyca1yn_400x400.jpg
Alibaba Cloud
public://topics-images/qm43orjx_400x400_cloud.png
Coinbase
public://topics-images/consumer_wordmark.png
CarPlay
public://topics-images/carplay.png
Rust
public://topics-images/rust-logo-blk.png
Red Hat
public://topics-images/redhat.png
Anthropic
public://topics-images/anthropic.png
Xcode
public://topics-images/xcode.png
Tim Cook
public://topics-images/tim-cook.jpg
Donald Trump
public://topics-images/trump.jpg
Microsoft Surface
public://topics-images/surface.jpg
Copilot+ PC
public://topics-images/copilotpc.png
Stellar Blade
public://topics-images/stellar-blade.jpg
Snapdragon
public://topics-images/snapdragon_chip.png
Qualcomm
public://topics-images/qualcomm-logo.svg_.png
CoreWeave
public://topics-images/coreweave.png
Ford
public://topics-images/ford.png
Xiaomi
public://topics-images/xiaomi.png
Google Cloud
public://topics-images/google_cloud_logo.svg_.png
PlayStation Network
public://topics-images/psn.png
PlayStation Plus
public://topics-images/ps-plus.png
Windsurf
public://topics-images/windsurf.png
Square Enix
public://topics-images/square-enix.png
MIT
public://topics-images/x7hyjl3t_400x400.jpg
Zoox
public://topics-images/zoox.jpg
Evernote
public://topics-images/1neatidg_400x400.jpg
Magic the Gathering
public://topics-images/magic.png
Call of Duty
public://topics-images/cod.png
NVIDIA
public://topics-images/nvidia_logo.svg_.png
Satya Nadella
public://topics-images/nadella.png
Nintendo
public://topics-images/nintendo.png
Japan
public://topics-images/japan_flag.png
China
public://topics-images/china-flag-sq.png
Sam Altman
public://topics-images/sam-altman.png
SNK
public://topics-images/snk_logo.svg_.png
EPYC
public://topics-images/epyc.png
HPE
public://topics-images/hpe.png
Juniper
public://topics-images/juniper.png
CMA
public://topics-images/cma.png
App Store
public://topics-images/app-store.png
DoJ
public://topics-images/doj.png
Siri
public://topics-images/siri.png
Apple Intelligence
public://topics-images/apple-intelligence.png
Acer
public://topics-images/acer.png
GeForce
public://topics-images/geforce.png
Omen
public://topics-images/omen.png
HP
public://topics-images/hp.png
Alienware
public://topics-images/alienware.png
Dell
public://topics-images/dell.png
Bungie
public://topics-images/bungie.png
Marathon
public://topics-images/marathon.png
Intel Arc
public://topics-images/badge-arc-graphics.png
GitHub
public://topics-images/8zfrryja_400x400.png
GitHub Copilot
public://topics-images/copilot.png
Foxconn
public://topics-images/foxconn_0.png
Visual Studio
public://topics-images/vs.png
Visual Studio Code
public://topics-images/vscode.png
WSL
public://topics-images/wsl.png
Linux
public://topics-images/linux.png
Tencent
public://topics-images/tencent_logo_2017.svg_.png
Entra
public://topics-images/microsoft_entra_id_color_icon.svg_.png
RHEL
public://topics-images/rhel-icon.png
MSI
public://topics-images/msi-logo-for_digital_use_b.png
MCP
public://topics-images/mcp.png
Docker
public://topics-images/docker.png
RISC-V
public://topics-images/risc-v-logo.svg_.png
Fedora
public://topics-images/fedora.png
ASUS
public://topics-images/asus.png
ROG
public://topics-images/rog-logo_red.png
Naughty Dog
public://topics-images/naughty-dog.png
AIS
public://topics-images/357073423_657473419752809_8491928084596189631_n.png
National Telecom
public://topics-images/nt.jpg
Elon Musk
public://topics-images/elon_musk_2015_0.jpg
OpenShift
public://topics-images/openshift-logotype.svg-0.png
Shift Up
public://topics-images/shiftup.png
Bethesda
public://topics-images/bethesda.png
The Elder Scrolls
public://topics-images/tes.png
CATL
public://topics-images/img_7841.png
Radeon
public://topics-images/radeon.png
Borderlands
public://topics-images/borderlands4.png
Android XR
public://topics-images/android-xr.png
Ninja Theory
public://topics-images/ninja.jpg
Jonathan Ive
public://topics-images/ive.jpg
Bitcoin
public://topics-images/bitcoin.svg_.png
Baidu
public://topics-images/baidu.jpg
Wear OS
public://topics-images/wearos.png
Activision
public://topics-images/activision.svg_.png
Netmarble
public://topics-images/netmarble.png
NetEase
public://topics-images/netease.png
Fujifilm
public://topics-images/l_9ycfw2_400x400.png
Google Vids
public://topics-images/vids.png
Google Docs
public://topics-images/docs.png
Google Sheets
public://topics-images/sheets.png
Google Chat
public://topics-images/gchat.png
Google Slides
public://topics-images/slides.png
Google Photos
public://topics-images/photos_0.png
Snapchat
public://topics-images/snapchat.png
Google TV
public://topics-images/gtv.png
Android Auto
public://topics-images/aauto.png
Gmail
public://topics-images/gmail.png
Google Forms
public://topics-images/forms.png
Google Workspace
public://topics-images/workspace_0.png
Android Studio
public://topics-images/android_studio_logo_2024.svg_.png
Pocket
public://topics-images/spnhfky8_400x400.png
Mozilla
public://topics-images/mozilla.jpg
Thunderbird
public://topics-images/thunderbird.png
Bluesky
public://topics-images/bluesky.jpg
Warhammer
public://topics-images/warhammer-bw.png
Relic Entertainment
public://topics-images/relic_entertainment_logo.svg_.png
Age of Empires
public://topics-images/age_of_empires_franchise_logo.png
Azul
public://topics-images/azul.png
Meta Quest
public://topics-images/meta-quest.png
Informatica
public://topics-images/qzlzwpsp_400x400.jpg
Salesforce
public://topics-images/salesforce.com_logo.svg_.png
Steam
public://topics-images/steam.png
Valve
public://topics-images/valve_logo.svg_.png
SteamOS
public://topics-images/steamos_wordmark.svg_.png
Steam Deck
public://topics-images/steam-deck.png
Arch Linux
public://topics-images/archlinux-logo-standard-version.svg_.png
Half-Life
public://topics-images/orange_lambda.svg_.png
Counter-Strike
public://topics-images/counter-strike.png
OnlyFans
public://topics-images/onlyfans_logo_icon_blue.png
Strava
public://topics-images/strava.png
Mortal Kombat
public://topics-images/mortal-kombat.png
Canon
public://topics-images/canon.png
Snipping Tool
public://topics-images/snipping.png
Microsoft Paint
public://topics-images/paint.png
Microsoft Photos
public://topics-images/photos.png
File Explorer
public://topics-images/file_explorer.png
Git
public://topics-images/git-logo.svg_.png
Star Wars
public://topics-images/star-wars.png
Activision Blizzard
public://topics-images/actvision-blizz.png
Microsoft Store
public://topics-images/microsoft-store.png
France
public://topics-images/france.png
Ricoh
public://topics-images/ricoh_logo_2005.svg_.png
Xeon
public://topics-images/xeon.png
.NET
public://topics-images/dotnet.png
SQL Server
public://topics-images/microsoft_sql_server_2025_icon.svg_.png
Power BI
public://topics-images/power-bi.png
Microsoft Fabric
public://topics-images/fabric.png
MSN
public://topics-images/msn.png
SharePoint
public://topics-images/sharepoint.png
Ubuntu
public://topics-images/ubuntu-logo-2022.svg_.png
Debian
public://topics-images/debian-openlogo.svg_.png
LLM
public://topics-images/7410e129-824e-479c-93c7-558e87130b8f.png
Meituan
public://topics-images/meituan.png
Logitech
public://topics-images/logitech_logo.svg_.png
Llama
public://topics-images/llama.png
Oracle
public://topics-images/oracle_logo.svg_.png
Arc Browser
public://topics-images/arc.png
Circle
public://topics-images/circle.png
T-Mobile
public://topics-images/tmobile.jpg
Starlink
public://topics-images/starlink.jpg
SpaceX
public://topics-images/hbri04tm_400x400.jpg
Apple Arcade
public://topics-images/en-us-large-1x.png
TypeScript
public://topics-images/typescript.svg_.png
AlmaLinux
public://topics-images/almalinux.png
Subnautica
public://topics-images/subnautica.png
Clair Obscur
public://topics-images/clair-33.png
Dragon Quest
public://topics-images/dragon_quest_logo.png
Twitter
public://topics-images/twitter300.png
One UI
public://topics-images/one-ui.png
Fire TV
public://topics-images/amazon_fire_tv_2024.svg_.png
Stellantis
public://topics-images/stellantis.png
Taobao
public://topics-images/taobao.png
WeChat
public://topics-images/wechat.png
Alipay
public://topics-images/alipay.png
DingTalk
public://topics-images/dingtalk.png
Alibaba
public://topics-images/alibaba-group-logo.svg_.png
Pokemon
public://topics-images/international_pokemon_logo.svg_.png
NBTC
public://topics-images/nbtc.png
CD Projekt
public://topics-images/cd_projekt_logo.svg_.png
Cyberpunk 2077
public://topics-images/cyberpunk.png
The Witcher
public://topics-images/witcher.png
Boeing
public://topics-images/boeing.png
Discord
public://topics-images/discord.png
Grammarly
public://topics-images/grammarly.png
Google Lens
public://topics-images/lens.png
WordPress
public://topics-images/wordpress.png
Automattic
public://topics-images/automattic.png
Zotac
public://topics-images/zotac.png
Black Forest Labs
public://topics-images/flux.png
Sega
public://topics-images/sega.png
Twitch
public://topics-images/twitch.png
Person
public://topics-images/gemini_generated_image_ddj47iddj47iddj4.png
IntelliJ
public://topics-images/intellij.png
CrowdStrike
public://topics-images/cs_logo.png
Bandai Namco
public://topics-images/bandainamco.png
Oppo
public://topics-images/oppo.png
Dontnod
public://topics-images/don-t_nod.png
Hugging Face
public://topics-images/huggingface.png
Bixby
public://topics-images/logo_bixby_new.svg_.png
Gemma
public://topics-images/gemma.png
Flash Express
public://topics-images/flash.png
Lyft
public://topics-images/lyft.png
James Bond
public://topics-images/007.png
Snowflake
public://topics-images/snowflake.png
IO Interactive
public://topics-images/ioi.png
The Sims
public://topics-images/the_sims.png
Character.AI
public://topics-images/character_ai.png
IBM
public://topics-images/xy93qvy4_400x400.png
USB
public://topics-images/usb-logo.png
Zynga
public://topics-images/zynga.svg_.png
Broadcom
public://topics-images/broadcom.png
Photoshop
public://topics-images/ps.png
Adobe
public://topics-images/adobe.png
Premiere Pro
public://topics-images/premier.png
Database
public://topics-images/gemini_generated_image_nlgayenlgayenlga.png
GeForce Now
public://topics-images/gf-now.png
Go
public://topics-images/o6aczwfv_400x400.png
ChatGPT
public://topics-images/chatgpt.png
Final Fantasy
public://topics-images/ff.png
Swift
public://topics-images/swift_logo.svg_.png
Cursor
public://topics-images/cursor.png
AirPods
public://topics-images/airpods_pro2.png
AirPods Max
public://topics-images/airpodsmax.png
Koei Tecmo
public://topics-images/koei_tecmo.png
Team Ninja
public://topics-images/team-ninja.png
Disney+
public://topics-images/disney-plus.png
Capcom
public://topics-images/capcom.png
Pornhub
public://topics-images/pornhub-logo.svg_.png
Proton
public://topics-images/proton.png
PlayStation
public://topics-images/playstation.png
GOG
public://topics-images/gog-logo.png
Mistral
public://topics-images/mistral.png
No Man's Sky
public://topics-images/nomansky.png
Hello Games
public://topics-images/hello-games-logo.png
SCB
public://topics-images/scb.png
Kasikorn Bank
public://topics-images/kbank.png
Grasshopper Manufacture
public://topics-images/grasshopper-100.png
Metal Gear
public://topics-images/metal_gear_franchise_logo.svg_.png
Google Wallet
public://topics-images/g-wallet.png
PayPal
public://topics-images/paypal.png
Mark Cuban
public://topics-images/cuban.jpg
Giant Squid
public://topics-images/giant-squid.png
Black Myth: Wukong
public://topics-images/blackmyth.jpg
Deathloop
public://topics-images/deathloop_logo.webp_.png
Resident Evil
public://topics-images/residentevil.png
Street Fighter
public://topics-images/street_fighter_logo.png
Ryu Ga Gotoku
public://topics-images/ryugagotokustudio.png
Like a Dragon
public://topics-images/lad-logo.png
Sonic the Hedgehog
public://topics-images/sonic.png
Blender
public://topics-images/logo_blender.svg_.png
Volvo
public://topics-images/volvo-iron-mark-black.svg_.png
Atomic Heart
public://topics-images/atomic.png
Hitman
public://topics-images/hitman.png
Mac
public://topics-images/apple-finder.png
Arc Raiders
public://topics-images/arc-raiders.jpg
Krungsri Bank
public://topics-images/krungsri.png
Lenovo
public://topics-images/branding_lenovo-logo_lenovologoposred_low_res.png
Owlcat Games
public://topics-images/owlcat.png
Scale
public://topics-images/scale_ai.png
The Outer Worlds
public://topics-images/1600px-outerworlds-logo.png
Obsidian Entertainment
public://topics-images/obsidian_entertainment.svg_.png
Avowed
public://topics-images/avowed.png
Grounded
public://topics-images/grounded.png
Atlus
public://topics-images/atlus_logo_thin_stroke_277x108.png
High on Life
public://topics-images/high-logo.png
Ryzen
public://topics-images/ryzen.png
Flight Simulator
public://topics-images/microsoft_flight_simulator.png
Indiana Jones
public://topics-images/indiana_jones_logo.svg_.png
Dawnwalker
public://topics-images/the-blood-of-dawnwalker-logo-light.png
Rebel Wolves
public://topics-images/rebel-wolves-logo-black.png
inXile
public://topics-images/inxile_entertainment_logo.png
Double Fine Productions
public://topics-images/double-fine.png
Game Freak
public://topics-images/game_freak_logo.svg_.png
iOS 26
public://topics-images/ios26.png
Tahoe
public://topics-images/macos26.png
iPadOS 26
public://topics-images/ipados26.png
Zelda
public://topics-images/zelda_logo.svg_.png
watchOS 26
public://topics-images/watchos26.png
Apple Vision Pro
public://topics-images/applevisionpro.png
Amiibo
public://topics-images/amiibo.png
Thunder Lotus
public://topics-images/thunder-lotus.png
Games
public://topics-images/role-playing_video_game_icon.svg_.png
Waymo
public://topics-images/waymo.png
Grab
public://topics-images/grab_0.png
Fallout
public://topics-images/fallout_logo.svg_.png
Warner Bros. Discovery
public://topics-images/wbd.png
Splatoon
public://topics-images/splatoon.png
Gemini
public://topics-images/google_gemini_logo.png
Kingston
public://topics-images/kingston.png
Roblox
public://topics-images/roblox_thumb.png
Google Pixel
public://topics-images/pixel_wordmark.svg_.png
Jensen Huang
public://topics-images/jensen-headshot-1906-600x338.png
Midjourney
public://topics-images/61396273.png
NBCUniversal
public://topics-images/umh_w5l-400x400.png
Disney
public://topics-images/disney.png
Snap
public://topics-images/snap_inc.png
Wikipedia
public://topics-images/wikipedia-logo-v2.svg_.png
Kaggle
public://topics-images/kaggle_logo.svg_.png
Wikimedia Foundation
public://topics-images/wikimedia_foundation.png
IonQ
public://topics-images/ionq.png
Apple TV+
public://topics-images/apple_tv_plus.png
Slack
public://topics-images/slack.png
Webex
public://topics-images/webex.png
Wayland
public://topics-images/wayland.png
GNOME
public://topics-images/gnomelogo.svg_.png
X.Org
public://topics-images/xorg.png
PCI-SIG
public://topics-images/pci-sig_logo.png
PCI
public://topics-images/pci_express.svg_.png
Instinct
public://topics-images/instinct.png
MariaDB
public://topics-images/img_9067.png
Mattel
public://topics-images/mattel-2019-svg.png
Silent Hill
public://topics-images/silent_hill_2022_logo.png
Bloober Team
public://topics-images/blooberlogo260b.png
India
public://topics-images/flag_of_india.png
Nexon
public://topics-images/nexon.svg_.png
Helldivers
public://topics-images/helldivers_print_logo.png
Mac Mini
public://topics-images/mac-mini-202410-gallery.png
Dyson
public://topics-images/dyson.png
Mario Kart
public://topics-images/mario-kart-100.png
Germany
public://topics-images/flag_of_germany.svg_.png
Gears of War
public://topics-images/gears-of-war-logo-2006.png
Warren Buffett
public://topics-images/buffett.png
Craig Federighi
public://topics-images/craige1.png
Boston Dynamics
public://topics-images/boston.png
aespa
public://topics-images/aespa.png
NewJeans
public://topics-images/newjeans.png
iPhone 16
public://topics-images/iphone16_.png
iPhone 16 Pro
public://topics-images/iphone16_pro.png
Indonesia
public://topics-images/indo_flag.png
Devil May Cry
public://topics-images/dmc5.png
Etsy
public://topics-images/etsy.png
Ghost of Yōtei
public://topics-images/ghost.png
BT
public://topics-images/bt_logo_2019.svg_.png
Kubernetes
public://topics-images/kubernetes_logo_without_workmark.svg_.png