Tags:
Node Thumbnail

เมื่อเดือนที่แล้ว Red Hat จัดงาน Red Hat Summit 2013 ไปมีการเปิดตัวสินค้าหลายตัวที่ตอนนี้นำมาเปิดตัวอีกครั้งในไทยแล้ว

สินค้าสำคัญสองตัวที่เปิดตัวในงานนี้คือ Red Hat Enterprise Linux OpenStack และ Red Hat Cloud infrastructure

  • Red Hat Enterprise Linux OpenStack: เป็นชื่อการค้าของโครงการ RDO ที่เรดแฮตเปิดตัวไปตังแต่เดือนเมษายน นั่นคือผู้ใช้ที่ต้องการใช้ OpenStack แบบมีซัพพอร์ตก็สามารถซื้อซัพพอร์ตได้จากเรดแฮตอย่างเป็นทางการแล้ว
  • Red Hat Cloud Infrastructure: เป็นชุดของสินค้าสามตัวรวมกัน ได้แก่ OpenStack (ที่เปิดตัวมาพร้อมกัน), RHEV ระบบจัดการการทำเวอร์ชวลไลเซชั่นในองค์กร, และ Red Hat CouldForms ระบบจัดการคลาวน์ข้ามแพลตฟอร์มเช่น RHEV และ VMware หรือผู้ผลิตรายอื่นๆ โดยรวมจะทำให้องค์กรสามารถจัดการทั้งการทำคลาวน์ภายในองค์กรร่วมกับการใช้บริการจากภายนอกได้พร้อมกัน

ทางตัวแทนของ Red Hat ในประเทศไทยเปิดโอกาสให้ผมส่งคำถามไปยังคุณ Damien Wong ผู้จัดการทั่วไปของเรดแฮตอาเซียน ผมส่งไปสามคำถามเกี่ยวข้องกับการเปิดตัวครั้งนี้

Blognone: หน่วยงานบางอย่างมีความต้องการเฉพาะ เช่น ธนาคารและภาคการเงิน ทางเรดแฮตสามารถแชร์ประสบการณ์ที่ลูกค้ากลุ่มนี้ใช้ไฮบริดคลาวน์ได้บ้างไหม?

Damien: มีหลายอุตสาหกรรมที่กังวลกับการใช้คลาวน์สาธารณะ (เช่น Amazon EC2, Google Compute Engine, และ Windows Azure - Blognone) ความกังวลเหล่านี้ดูจะเป็นตัวปิดกั้นไม่ให้อุตสาหกรรมเหล่านี้มาใช้งานไฮบริดคลาวน์ ความกังวลหลักสองประการคือความกังวลด้านความปลอดภัย และความกังวลกับการเข้ากันได้กับข้อบังคับต่างๆ

แต่เมื่อเทคโนโลยีคลาวน์สมบูรณ์ขึ้นเรื่อยๆ ความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยเหล่านี้ถูกแก้ไขไปแล้วหลายอย่าง องค์กรที่ใช้บริการผู้ให้บริการคลาวน์สาธารณะที่มีชื่อเสียงจะสามารถได้รับประโยชน์จากทั้งการรวมทรัพยากรเข้าเป็นพูลขนาดใหญ่ และความเชี่ยวชาญด้านความปลอดภัย

ในแง่ของข้อบังคับของอุตสาหกรรม คงไม่ใช่ประเด็นเทคโนโลยี ธนาคารอาจจะถูกบังคับว่าห้ามเก็บข้อมูลลูกค้านอกประเทศ แม้อย่างนั้นก็ยังมีโอกาสสำหรับอุตสาหกรรมเหล่านี้ เช่นธนาคารอาจจะนำข้อมูลในส่วนที่ไม่สำคัญไปวางบนคลาวน์สาธารณะ หรือในช่วงหลังเราเริ่มเห็นผู้ให้บริการคลาวน์สาธารณะเริ่มให้บริการคลาวน์เสมือนคลาวน์ส่วนตัวที่สามารถปรับแต่งตามข้อกำหนดของลูกค้าได้

สุดท้ายคือ ลูกค้าในกลุ่มธนาคารและการเงินอาจจะเลือกเก็บข้อมูลสำคัญเอาไว้ในศูนย์ข้อมูลของตัวเองแล้วใช้บริการคลาวน์สาธารณะสำหรับข้อมูลที่สำคัญน้อยกว่า เราจะเห็นแนวทางแบบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตแม้แต่กับอุตสาหกรรมที่มีการกำกับมากๆ

Blognone: บริการคลาวน์สาธารณะอย่าง Amazon, Google, หรือ Azure กำลังถูกลงและได้รับความนิยมจากองค์กรขนาดเล็กขึ้น มุมมองของเรดแฮตกับผู้ให้บริการเหล่านี้เป็นอย่างไร การใช้งานเหล่านี้เป็นโอกาสหรือเป็นอันตรายกับเรดแฮต

Damien: เทคโนโลยีโอเพนซอร์สเป็นกุญแจสำคัญกับการให้บริการคลาวน์สาธารณะของผู้ให้บริการรายใหญ่ในโลกและเรดแฮตก็เป็นผู้ผลิตเทคโนโลยีโอเพนซอร์สรายใหญ่ในโลกตอนนี้ ถ้าคุณเลือก Amazon เป็นผู้ให้บริการคลาวน์สาธารณะ แล้วเลือก VMware สำหรับคลาวน์ภายใน คุณจะได้ชุดบริการแบบปิด ในอนาคตหากคุณพบแพลตฟอร์มที่ดีกว่า ผู้ให้บริการรายอื่นที่ดีกว่า, หรืออยากได้ฟีเจอร์ใหม่ที่ผู้ให้บริการเหล่านี้ไม่ได้เปิดให้บริการ คุณจะพบกับความท้าทายในการจัดการทรัพยากร องค์กรส่วนมากไม่สามารถไปเริ่มต้นใหม่กับแพลตฟอร์มใหม่ได้ คุณมีการลงทุนมากมายทีไม่อยากโยนทิ้งใหม่ทั้งหมด คุณต้องการการวิวัฒนาการไปตามกระบวนการทำให้สิ่งที่ดีอยู่แล้วดีขึ้นเรื่อยๆ โอเพนซอร์สทำให้การพัฒนาเช่นนี้เป็นไปได้ ระบบไฮบริดคลาวน์แบบเปิดของเรดแฮตทำให้ระบบไอทีปรับเปลี่ยนได้ง่าย ที่่ผ่านมาเรดแฮตเคยนำตาดเทคโนโลยีเปิดอย่างมิดเดิลแวร์หรือเวอร์ชวลไลเซชั่น

ที่มา - จดหมายข่าวเรดแฮต, บทสัมภาษณ์ทางอีเมล

Get latest news from Blognone