Tags:
Node Thumbnail

เมื่อไม่นานมานี้เราเห็นข่าว Cisco เปิดตัวเราเตอร์แบรนด์ Linksys รุ่นใหม่ที่มีฟีเจอร์ Cisco Connect Cloud ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมใหม่ของโลก home wireless router พอสมควร

ตอนนี้อุปกรณ์เหล่านี้เริ่มวางขายในไทยแล้ว และทาง Cisco ก็ส่งมาให้ผมลองทดสอบหนึ่งตัวคือ Linksys EA4500 ซึ่งเป็นรุ่นรองท็อปที่สุดในขณะนี้ (รุ่นท็อปสุดคือ Linksys EA6500 ใช้ Wi-Fi 802.11ac ด้วย ไม่รู้จะเอาฝั่งรับที่ไหนมาทดสอบ)

เมื่อเราเตอร์มาเจอกับคลาวด์

ก่อนอื่นต้องอธิบายแนวคิดของ Cisco Connect Cloud กันก่อนนะครับ คือเราเตอร์ไร้สายที่ใช้ตามบ้าน ปกติแล้วมันจะฝังเว็บเซิร์ฟเวอร์มาให้ในตัว เอาไว้ควบคุมปรับแต่งค่าต่างๆ ในเราเตอร์ ซึ่งเวลาเราได้เราเตอร์มาใหม่ๆ วิธีการตั้งค่าแบบมาตรฐานคือเสียบสายแลน แล้วเปิดเบราว์เซอร์เข้าไปที่หมายเลขไอพีที่กำหนดมาให้ (ส่วนใหญ่เป็น 192.168.1.1) แล้วปรับแต่งค่าตามต้องการ รีบูตเราเตอร์หนึ่งทีก็เรียบร้อยใช้งานได้

วิธีนี้ง่ายและใช้เป็นมาตรฐานกันมานาน แต่ในภาพรวมแล้วมันมีปัญหาใหญ่ๆ 3 ข้อ ดังนี้

  • ถ้าไม่ใช่คนไอทีที่มีความรู้ด้านระบบเครือข่าย การเข้าไปคอนฟิกค่าผ่านเว็บเซิร์ฟเวอร์ (ที่เข้าด้วยหมายเลขไอพี) อาจยุ่งยากและสับสนไปบ้าง
  • เข้าไปเปลี่ยนค่าจากเครือข่ายนอกวงได้ลำบากมาก (ต้องผ่านขั้นตอนเยอะ เช่น หาไอพีจริงมาใช้งาน หรือหาโดเมนเนม ฯลฯ)
  • การตั้งค่าขั้นสูงบางอย่างอาจทำได้ยากและต้องใช้ความเชี่ยวชาญเยอะ เช่น port forwarding, DMZ, จำกัดการเข้าถึงตาม MAC ที่ระบุ ฯลฯ

Cisco จึงพยายามแก้ปัญหานี้ด้วยแนวคิด Connect Cloud ซึ่งอธิบายง่ายๆ คือการยกเว็บเซิร์ฟเวอร์ในตัวเราเตอร์ ไปอยู่บนกลุ่มเมฆของ Cisco แทน (ในทางปฏิบัติคือเว็บไซต์ CiscoCloudConnect.com

ข้อดีของแนวคิดนี้คือพอระบบคอนฟิกไปอยู่บนอินเทอร์เน็ต (แทนที่จะเป็นวงแลนภายในบ้าน) เราจึงสามารถคอนฟิกเราเตอร์ตัวเองจากที่ไหนก็ได้ (แถมใช้งานเหมือนเข้าเว็บแอพทั่วไป) และระบบกลุ่มเมฆของ Cisco ก็มีแอพพลิเคชันสำหรับตั้งค่างานเฉพาะทางบางอย่างในพร้อมสรรพ ไม่ต้องมานั่งคอนฟิกเองให้เมื่อย

ว่าแล้วก็มาดูตัวจริงกันดีกว่าครับ

แกะกล่อง

ก่อนอื่นต้องบอกว่า EA4500 เป็นแค่ Wi-Fi router ไม่มีส่วนของ ADSL modem มาให้ในตัว ดังนั้นเราต้องพ่วงมันกับ ADSL modem ที่มีอยู่แล้วด้วยสายแลนก่อนนะครับ ต่อตรงกับสายโทรศัพท์โดยตรงไม่ได้ (ถ้าอยากได้โมเด็มด้วยต้องไปใช้ตระกูล Linksys Gateways แทน)

Cisco Linksys EA4500

Cisco Linksys EA4500

ตัวเราเตอร์หน้าตามีชาติตระกูลดีมาก ไม่มีไฟแสดงสถานะใดๆ ยกเว้นโลโก้ Cisco เรืองแสงได้ ส่วนพอร์ตเชื่อมต่อก็มี Ethernet ให้ 4 พอร์ตสำหรับกระจายออก และขาเข้าอีก 1 พอร์ต นอกจากนี้ยังมี USB หนึ่งช่องสำหรับเอา flashdrive ไปเสียบเพื่อทำตัวเป็น media server ได้ และมีฟีเจอร์มาตรฐานสำหรับเราเตอร์สมัยใหม่ๆ อย่างปุ่ม WDS มาให้ด้วย

เนื่องจากโมเด็มของผมต่ออินเทอร์เน็ตได้อยู่แล้ว ดังนั้นพอเสียบสายไฟเข้ากับ EA4500 และต่อสายแลนเรียบร้อย มันก็ส่งสัญญาณ Wi-Fi ออกมาทันที โดยใช้ชื่อ SSID ว่า Cisco11648 (เข้าใจว่าเป็นเลขสุ่ม) กำหนดไอพีมาให้เสร็จสรรพ แต่เป็นเครือข่ายแบบไม่ได้เข้ารหัส ใครก็มาใช้งานได้

ถ้าไม่คิดอะไรมาก เท่านี้ก็เสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ในความเป็นจริงเราคงไม่ซื้อเราเตอร์ราคาตั้งแพงมาทำอะไรแค่นี้จริงไหมครับ

ติดตั้ง

Cisco ให้ซีดีสำหรับติดตั้งเราเตอร์มาให้ในกล่อง ใช้ได้ทั้งวินโดวส์และแมค (ผมยังคิดไม่ออกเหมือนกันว่าคนใช้ลินุกซ์จะทำยังไง) ถ้าเครื่องไม่มีไดรฟ์ซีดี-ดีวีดีแล้ว ก็สามารถดาวน์โหลดไฟล์จากเว็บไซต์ของ Cisco ได้

กระบวนการติดตั้งและตั้งค่าเราเตอร์จะต้องทำผ่านโปรแกรม setup ทั้งหมด ไม่สามารถทำผ่านเบราว์เซอร์แบบที่เราคุ้นเคยกันได้

ขั้นตอนไม่มีอะไรซับซ้อน แค่ตั้งชื่อ SSID, กำหนดรหัสผ่านของเครือข่าย, รหัสผ่านของตัวเราเตอร์ แค่นี้ก็เรียบร้อย

จากนั้นเราจะได้ PIN ของเราเตอร์มาหนึ่งชุด เพื่อไปลงทะเบียนกับเว็บไซต์ Cisco Connect Cloud อีกทีหนึ่ง ขั้นตอนการลงทะเบียนและกรอก PIN ไม่มีอะไรซับซ้อน คงไม่ต้องแปะภาพ

ผมพยายามลองล็อกอินเข้าไปที่ไอพีของเราเตอร์เพื่อลัดขั้นตอนการติดตั้งด้วยซีดี ปรากฏว่าทำไม่ได้ครับ เราเตอร์จะ redirect ส่งเราไปยังเว็บไซต์ Cisco Connect Cloud แทน

Cisco Connect Cloud

เมื่อลงทะเบียนบนเว็บไซต์เสร็จเรียบร้อย ล็อกอินเข้ามา เราจะพบกับหน้าจอตั้งค่าเราเตอร์แห่งยุคกลุ่มเมฆ ตามภาพ

จากภาพเราจะเห็นเมนูด้านซ้ายมือ และ widget/app บอกสถานะด้านขวามือ

ส่วนของเมนูเองก็แยกเป็นครึ่งบนและครึ่งล่าง โดยครึ่งล่างคือหมวด Router Settings หรือการตั้งค่าเราเตอร์ทั่วไป ซึ่งตรงนี้ฟีเจอร์เหมือนกับเราเตอร์ยี่ห้ออื่นๆ ในท้องตลาด เช่น เปลี่ยนรหัส Wi-Fi, กรอง MAC ฯลฯ

แต่จุดเด่นของ Cisco Cloud อยู่ที่ครึ่งบนที่เขียนว่า Apps นั่นล่ะครับ มันคือแอพช่วยสนับสนุนงานขั้นสูงที่ Cisco เตรียมมาให้เราแล้ว เช่น

  • Device List การดูว่ามีอุปกรณ์รุ่นใดเชื่อมต่อเครือข่ายอยู่บ้าง บอกได้อัตโนมัติว่าเป็นมือถือ แท็บเล็ต โน้ตบุ๊ก (เท่าที่ลองมาถูกเกือบหมด)
  • Guest Access หรือการรัน SSID อีกตัวสำหรับแขกที่ใช้เน็ตบ้านของเรา ให้เล่นเน็ตได้แต่ไม่เห็นคอมเครื่องอื่นๆ ที่ต่อกับเครือข่ายอยู่ ความง่ายในการใช้งานเพียงแค่กดปุ่ม On ก็ใช้ได้แล้ว ที่เหลือ Cisco จัดการมาให้เสร็จสรรพแม้แต่รหัสผ่าน
  • Parental Controls พ่อแม่สามารถตั้งค่าคอมของลูกให้เข้าถึงเนื้อหาตามที่กำหนดในช่วงเวลาที่ต้องการได้
  • Media Prioritization จัดความสำคัญของอุปกรณ์-โปรโตคอลที่ใช้ มีรายชื่อเกมหรือแอพยอดนิยมเตรียมมาให้พอสมควร
  • Speed Test ทดสอบความเร็วการเชื่อมต่อเน็ตของเรา
  • USB Storage เราสามารถจิ้ม usb drive กับตัวเราเตอร์แล้วให้มันแปลงร่างเป็น file server ได้เลย

หน้าจอตั้งค่าอันนี้ยังสามารถใช้งานได้จาก Android/iOS ผ่านแอพ Cisco Connect Cloud ที่ดาวน์โหลดได้จาก App Store/Play Store ตามปกติ (แต่ความสามารถในการปรับแต่งจะไม่เยอะเท่ากับเวอร์ชันเว็บ)

ในอนาคต Cisco มีแผนการเพิ่ม "แอพ" ลักษณะนี้เข้ามาบนแพลตฟอร์ม Connect Cloud อีก ตอนนี้มีตัวอย่างนิดหน่อยดูได้จากเว็บของ Connect Cloud

สรุป

แนวคิดของ Connect Cloud ถือว่าน่าสนใจมากครับ ในแง่ผู้ใช้ทั่วไปแล้ว เราเตอร์ที่มีความสามารถนี้จะคล้ายกับเครื่องใช้ไฟฟ้ามากขึ้น ไม่ต้องมาตั้งค่ายากๆ แบบเดียวกับเราเตอร์ยุคที่ผ่านมา ส่วนแนวคิดเรื่องแอพเฉพาะกิจก็น่าจะมีประโยชน์มากกว่านี้ถ้ามีแอพเยอะมากขึ้นในอนาคต (ตอนนี้ยังรู้สึกว่ามันน้อยไปหน่อย)

แต่ผมก็มีข้อกังขาต่อแนวคิด Connect Cloud ของ Cisco เหมือนกัน

  • ถ้าเน็ตเจ๊งแล้วเราจะปรับแต่งค่าในเราเตอร์ได้อย่างไร? เอาง่ายๆ แค่เน็ตไม่เจ๊ง ผมก็ประสบปัญหาพอสมควรในการเข้าเว็บ Connect Cloud ที่มักมีปัญหาอยู่เรื่อยๆ แถมโหลดช้าอีกต่างหาก
  • เอาเข้าจริงๆ แล้ว เราจำเป็นต้องเข้าไปตั้งค่าเราเตอร์ตัวเองบ่อยขนาดนั้นเลยหรือ ประโยชน์ที่ได้จากการยกเว็บเซิร์ฟเวอร์ขึ้นกลุ่มเมฆมันมีมากขึ้นแค่ไหนกันเชียว

alt="Connect Cloud Error"

นอกจากนี้ Connect Cloud เองก็มีปัญหาเรื่องความเป็นส่วนตัวไม่น้อย ดูได้จากข่าวเก่า ซิสโก้อัพเดตเฟิร์มแวร์โดยไม่ขออนุญาตล่วงหน้า บังคับใช้ Cloud Connect และ Cisco ขอโทษลูกค้าที่อัพเดตซอฟต์แวร์ ตั้งศูนย์ช่วยเหลือและรับรองว่าข้อมูลจะไม่ส่งต่อสู่ภายนอก

สำหรับผู้อ่าน Blognone ที่มีความรู้เชิงเทคนิคสูงอยู่แล้ว ฟีเจอร์ของ Connect Cloud คงไม่จำเป็นเท่าไรนัก และเผลอๆ อาจกลายเป็นอุปสรรคด้วยซ้ำ แต่สำหรับคนที่ซื้อเราเตอร์ใหม่และต้องการความสามารถด้านการควบคุมจากระยะไกล ก็อาจพิจารณาเลือกเราเตอร์ตระกูล Linksys Smart Wi-Fi ได้ครับ

Get latest news from Blognone

Comments

By: pasuth73
iPhoneWindows PhoneAndroidUbuntu
on 10 September 2012 - 21:15 #471386

ทีแรกก็ตกใจว่า ถ้ายังไม่ได้ตั้งค่าเน็ตแล้วจะต่อก้อนเมฆยังไง เรามาเข้าใจตรงท้ายๆว่ามันเป็นแค่ไวไฟเร้าเตอร์ ไม่มีโมเด็ม(ซึ่งสำหรับผมแล้วจะมีก้อนเมฆทำไมในเมื่อมันตั้งค่าที่โมเด็มเลยน่าจะดีกว่า ????ผมโง่ไม่รู้ใครบอกหน่อยครับ-/-)

By: pakmaan
ContributoriPhoneWindows PhoneAndroid
on 10 September 2012 - 21:20 #471387
pakmaan's picture

เป็นแนวทางที่ดีสำหรับคนกลุ่มน้อย เพราะเอาเข้าจริงการตั้งค่าใช้ในบ้านไม่มีอะไรยุ่งยากขนาดนั้นนะกำหนดชื่อใส่รหัสผู้ใช้ของบริการเจ้านั้นๆไม่ก็ช่างติดให้จบ เพราะใช้ในบ้านมันก็บ้านไงครับ อิอิ จะไปยุ่งยากอะไร ทางออกอีกทางคือทำเป็นภาษาไทยหรือทำให้รองรับหลายๆภาษาซะก็จบ นอกจากคนที่ เป็น Geek อันนี้เขาจัดเองได้สบาย ส่วนในองค์กรณ์เขาก็ต้องให้คนที่มาวางระบบเป็นคนจัดให้อยู่แล้ว นอกจากได้ไก่กามาทำให้ ห๊ะ อิอิ สรุป ค่อนข้างจะไม่มีประโยชน์ อิอิ


ราชาแห่งมาร

By: manster
iPhoneAndroidUbuntuWindows
on 10 September 2012 - 21:30 #471388
manster's picture

กว่าจะเข้า cloud ได้ ผมว่าเข้า 192.168.1.1 แล้ว login ง่ายกว่าเยอะเลย ไม่ต้องกังวลเรื่องอินเตอร์เนตด้วย

มันคงเหมาะกับระบบที่ใหญ่ มีเนตตลอดเวลาอย่าง web server ต้องมีคนเข้าไปบริหารทางไกล หรือบริหารหลายๆคน มากกว่ามั้ง

ยังงงๆกับ cloud ว่ามันต้องคิดค่าใช้จ่ายอีกต่อรึเปล่า หรือว่าจะฟรีตลอดไป router นึงใช้เป็นสิบปี

By: EThaiZone
ContributorAndroidUbuntuWindows
on 10 September 2012 - 21:48 #471391 Reply to:471388
EThaiZone's picture

ในแง่ของ cloud ก็ทำให้มองมุมกลับได้ล่ะครับว่าเป็นระบบที่ต้องพึ่งพาคนอื่น ซึ่งเป็นผมขอเลือก 192.168.x.x เหมือนเดิมดีกว่า และในความเป็นจริงไม่มีความจำเป็นต้องแก้ไขอะไรบ่อยขนาดนั้น

มองบริษัทใหญ่ใกล้ตัว ขนาดที่ฝ่ายการตลาดจะคุยกับ IT ยังคุยกันคนละภาษาเลย (ภาษาไทยเนี่ยแหละ แต่ศัพท์ใช้คนละเรื่อง) คือการร้องขอให้แก้นู่นแก้นี้มันไม่เยอะ เพราะเดิมก็ไม่ค่อยอยากจะคุยกัน และไม่ใช่งานทั้งหลายที่ให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง เร่งด่วนจนต้องแก้ มันเลยไม่มีการแก้ไขจนเยอะมากถึงขนาดต้องหา solution อื่นมาเป็นตัวช่วยเลย


มันไม่ง่ายเลยที่จะทำ GIF ให้มีขนาดน้อยกว่า 20kB

By: Wizard.
iPhoneAndroidUbuntuWindows
on 10 September 2012 - 21:47 #471390
Wizard.'s picture

เหมือนจะยากกว่าปกติด้วยซ้ำ

By: time3957
iPhoneWindows PhoneAndroidWindows
on 11 September 2012 - 00:36 #471419

มันก็ควรให้แก้โดยไม่มีเน็ตได้สิ - -*

By: specimen
Windows PhoneAndroid
on 11 September 2012 - 00:44 #471420
specimen's picture

ตอนนี้ router all in one บางยี่ห้อ แค่เสียบสายโทรศัพท์ มันก็รู้แล้วว่าจะต้องตั้งค่ายังไงกับผู้บริการที่เราใช้

ผู้ใช้มีหน้าที่แค่ป้อน user pass เท่านั้น ก็พร้อมใช้

ดังนั้น การย้ายการตั้งค่าไปไว้บนเว็บ จึงไม่เกิดประโยชน์ และในกรณีสงสัยว่าปัญหาเกิดจากผู้ให้บริการ หรือจาก router เอง มันก็เช็คไม่ได้ เพราะเข้า setting test อะไรไม่ได้เลย (ตามที่อ่าน)

By: paijc
ContributorWindows PhoneAndroidUbuntu
on 11 September 2012 - 03:10 #471431

ผมใช้ Asus wl500 อยู่
เป็น Router แบบมี linux ในตัว config ยากกว่าเยอะเลย

By: Thai.hacker
ContributoriPhoneAndroidUbuntu
on 11 September 2012 - 07:41 #471442
Thai.hacker's picture

ผมว่ามันใช้ยากกว่าเดิมอีกนะ ใช้ 192.168.1.1 ง่ายกว่าเยอะเลย


ไม่มีลายเซ็น

By: sunback
Contributor
on 11 September 2012 - 07:56 #471443
sunback's picture

เราเตอร์บางยี่ห้อตั้งชื่อไวไฟแบบสุ่มพร้อมรหัสผ่านมาให้เลย มีเกสต์ไวไฟด้วย ง่ายกว่าเยอะ

By: นักโทษประหาร
Windows PhoneAndroidRed HatSUSE
on 11 September 2012 - 09:31 #471465
นักโทษประหาร's picture

design สวยขึ้นนะครับ :)

By: raaon on 11 September 2012 - 10:19 #471489

ทุกๆ นวัตกรรม ต้องการ การพิสูจน์ และท้าทายทัศนคติ จากระบบเดิม ๆ เสมอ
ลองดูครับ

By: Palajin
AndroidWindows
on 11 September 2012 - 10:22 #471490
Palajin's picture

เท่าที่ดูยังไม่รู้สึกว่ามันใช้ง่ายขึ้นเลยนะครับเนี่ย

แล้วตัวนี้สามารถทำ bridge mode ให้ connect adsl จาก modem เองได้รึเปล่าครับ หรือต้อง set ให้ modem ต่อแล้ว share มาที่เครื่องนี้อย่างเดียวครับ

ถ้าไม่ได้ แล้วแบบนี้มันก็ยังเป็นต้อง Forward port ที่ตัว modem อีกรอบนึง ผมว่ามันก็กลับมายากเหมือนเดิม(หรือยากกว่าเดิม แล้วนะเนี่ย)

By: Noppon
iPhoneWindows
on 11 September 2012 - 10:24 #471491

เดี๋ยวนี้ wifi router ของทรู ที่แถมมาตอนขอเน็ต ไม่ต้องเซ็ตอะไรแล้วครับ เสียบสายเสร็จ เปิด router รอทรูปล่อยสัญญานเน็ตมา ใช้ได้เลย ไม่ต้องลงทะเบียน ไม่ต้องมี username password อะไรเลยด้วย ส่วนรหัสความปลอดภัยก็เซ็ตเป็นแบบ WEP เบื้องต้นมาให้เลย ติดชื่อ SSID กับรหัสผ่านเข้าใช้ Wifi ไว้บนตัว router เลย

ส่วนตัวที่รีวิวนี่ราคา 6 พันกว่าบาท คงจะขายยากหน่อยสำหรับผู้ใช้ตามบ้าน ที่อยากได้ router ที่ราคาถูก ๆ มากกว่า

By: figgaro
ContributorAndroidWindows
on 11 September 2012 - 10:33 #471498
figgaro's picture

เจ๋งครับ แต่ไม่ควรใช้ อะไรที่เป็น Online อาจจะส่งผลต่อ Privacy แถมถ้าอยู่ข้างนอกแล้วดันไปแก้ config รีบูทแล้วมีปัญหาทีนี้งานเข้าเลย แต่ถ้าเอาไว้ใช้พวก Support ลูกค้าก็คงพอได้อยู่


Texion Business Solutions

By: ineng on 11 September 2012 - 11:56 #471555

สุดท้าย cloud มันเป็นเหมือนจุดขายทางการตลาดมากกว่า จริงๆการเซ็ตอัพง่ายยากมันขึ้นอยู่กับการออกแบบหน้า config ใน router แล้ว 192.168.1.1 คนส่วนมากน่าจะทราบแล้ว แต่ปัญหาคือคำศัพท์เทคนิคหรือภาษาที่ใช้ในหน้า config มากกว่า