Tags:
Node Thumbnail

กลุ่มสตาร์ทอัพสายสุขภาพประเทศไทย ประกาศจะจัดตั้งสมาคม Health Startup Network (HSN) เพื่อแก้ปัญหาข้อจำกัดทางกฎหมาย อำนวยความสะดวกในการสร้างนวัตกรรมใหม่ และลดความเสี่ยงของการดำเนินธุรกิจของสตาร์ทอัพสายนี้ HSN มาจากการรวมกลุ่มสตาร์ทอัพสุขภาพหลายๆ บริษัท

หนึ่งในนั้นคือ Ooca แพลตฟอร์มสื่อกลางระหว่างจิตแพทย์ นักจิตวิทยา และคนไข้ หรือคนทั่วไปที่มีปัญหาในใจ และอยากคุยกับแพทย์ ซึ่ง Blognone ได้สัมภาษณ์ผู้ก่อตั้งคือ ทพญ.กัญจน์ภัสสร สุริยาแสงเพ็ชร์ หรือ หมออิ๊ก และพบว่าเป็นการสัมภาษณ์ที่สนุกและได้ความรู้มาก

No Description
ภาพจาก Facebook Ooca

"Ooca เกิดขึ้นมาได้เพราะมีกำแพงใหญ่กั้นระหว่างประชาชนกับจิตแพทย์"

แนะนำตัว และที่มาของ Ooca

สวัสดีค่ะ ชื่อ ทพญ.กัญจน์ภัสสร สุริยาแสงเพ็ชร์ จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะทันตแพทยศาสตร์ เมื่อเรียนจบก็ทำงานเป็นทันตแพทย์ในกองทัพบก รับราชการประมาณสองปี ช่วงที่รับราชการได้เห็นปัญหาการเข้าถึงบริการทางสุขภาพในหลายๆ ด้าน ทำให้รู้สึกว่า การเพิ่มช่องทางการเข้าถึงแพทย์เป็นเรื่องจำเป็นมาก

ประเทศไทยค่อนข้างมีเอกลักษณ์ เราโชคดีมี 30 บาทรักษาทุกโรค เรามีระบบประกันสุขภาพที่ดี ประชาชนเบิกจ่ายค่ารักษาได้ แต่เรายังมีข้อจำกัดบางอย่าง คือ ถ้าประชาชนต้องการเข้าพบ หรือปรึกษาบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน อย่างเช่น สาขาจิตวิทยาการปรึกษา หรือจิตแพทย์ พบว่าจำนวนบุคลากรเหล่านี้ยังมีค่อนข้างน้อย ผู้ให้บริการส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ที่เมืองใหญ่ ส่วนในพื้นที่ห่างไกล อาจมีจิตแพทย์แค่คนสองคน หรือบางจังหวัดก็อาจไม่มีเลย

No Description

อย่างจังหวัดที่ดิฉันเคยไปอยู่ นอกจากจะมีบุคลากรการแพทย์ด้านนี้น้อยแล้ว ยังพบว่าประชาชนไม่มั่นใจว่าเรื่องราวของพวกเขาจะเป็นความลับมากน้อยแค่ไหน เพราะเวลาไปหาหมอ เขาต้องเดินทางไปหาหมอที่โรงพยาบาล ต้องเปิดเผยข้อมูลว่าไปหาหมอสุขภาพจิต ผู้มาใช้บริการอาจกังวลว่าจะมีคนไปพูดต่อ หรือถูกนินทาหรือไม่

ความคิดริเริ่มอยากทำ Ooca จึงเริ่มขึ้นจากตรงนี้ อยากทำให้ช่องทางการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตนั้นง่าย ซึ่งเทคโนโลยีทำได้ และทุกอย่างเป็นความลับได้ด้วย อยากให้มองว่า สุขภาพจิตเป็นเรื่องของทุกคน ไม่ใช่เฉพาะคนที่มีปัญหาทางจิต โรคซึมเศร้าเท่านั้น เราอยากจะเปลี่ยนแปลงความคิดคนที่คิดแบบนี้ เราอยากทำให้เป็นเรื่องง่ายๆ อยากให้มองว่าเรากำลังจัดการปัญหาสภาพจิตอย่างชาญฉลาด โดยมีผู้ช่วยคือนักจิตวิทยาและจิตแพทย์ที่ได้รับการรับรองทางวิชาชีพแล้ว

เพราะเหตุใดจึงเจาะจงเลือกสาขาจิตวิทยามาทำแพลตฟอร์ม Ooca

การเลือกว่าสาขาไหนสำคัญ มีคนเป็นโรคในสาขานี้เยอะกว่าสาขานี้ มันยากที่จะชี้ชัด แต่องค์การอนามัยโลก ให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตเป็นอันดับหนึ่งในปีนี้ จัดเป็นธีม Depression Day และโรคซึมเศร้าถือเป็น disease of the mankind องค์การอนามัยโลก ทำแคมเปญ Let's Talk รณรงค์ว่าถ้ามีปัญหา รีบมาคุยกัน อย่าปล่อยให้เป็นความทุกข์ในใจคนเดียว

No Description
ภาพจาก WHO #LetsTalk – Angelo's Story

จริงๆ แล้วทุกโรคมีความสำคัญหมด อยู่ที่เรามีจุดยืนตรงไหน ถ้าดูจากสถิติ คือประชากร 1 ใน 4 เจอต้องเหตุการณ์ที่มากระทบกระเทือนใจจนถึงขั้นเป็น หรือเกือบจะเป็นโรคซึมเศร้า ตัวเลขจากองค์การอนามัยโลก บอกว่ามีคนทั่วโลกกว่า 300 ล้านคนเป็นโรคซึมเศร้า จะเห็นได้ว่าเป็นปัญหาที่เกิดกับใครก็ได้ เพราะทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตเรามันคาดเดาไม่ได้

นั่นหมายความว่า Ooca เปิดรับทุกคน ไม่จำเป็นต้องเป็นคนไข้ที่ต้องกินยา?

Ooca เปิดรับคนทั่วไปทุกคน ใครก็ได้ที่มีปัญหาชีวิตเข้ามาคุยได้เลย เพราะเราไม่ได้ตั้งเป้าหมายที่คนเป็นโรค ถ้าเป็นโรคแล้วต้องไปโรงพยาบาล แต่ตั้งเป้าหมายไปที่คนมีปัญหาอยากให้ช่วย ให้เข้ามาคุยโดยมีคนมืออาชีพด้านการปรึกษามาช่วยเหลือ

บนระบบ Ooca ไม่มีการจ่ายยา เป็นการพูดคุยปรึกษาปัญหาเบื้องต้นเท่านั้น ถ้าคุยแล้ว นักจิตวิทยาการปรึกษาหรือจิตแพทย์บนแพลตฟอร์ม มีความเห็นว่าควรจะได้รับการรักษาอยางจริงจังอย่างต่อเนื่อง จะแนะนำให้ไปสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้กับคนไข้ ซึ่งเรามีลิสต์รายชื่ออยู่

เราถือว่าเราอยากเป็นประตูบานแรกให้คนที่อยากมีที่ปรึกษา คนที่ไม่กล้า คนที่มีปัญหาในใจแต่ไม่รู้จะรับมือกับมันอย่างไร

ช่วยเล่าวิธีการใช้งานแพลตฟอร์มให้ฟังหน่อย

ตัวเว็บไซต์เป็น progressive web app เข้าได้จาก Chrome macOS Windows Android Firefox ส่วนตัววิดีโอคอลก็ขึ้นตรงกับ Chrome จึงมีข้อจำกัดเล็กน้อยตรงที่ยังเข้าจากไอโฟนไม่ได้ ซึ่งเดี๋ยวจะมีเป็นแอพออกมา อยู่ระหว่างทำเอกสารเพื่อขึ้น App Store

ผู้ใช้จะเห็นคำว่า "เริ่มเลย" เมื่อกดแล้วระบบจะนำไปที่หน้ากรอกข้อมูล ผู้ใช้สมัครได้โดยไม่ต้องติดตั้งโปรแกรมอะไรเพิ่มเติม ที่สำคัญ ในระบบไม่ได้บังคับว่าต้องบอกชื่อ นามสกุลจริง ใช้ชื่อสมมติได้ แต่ต้องการอายุ และเพศ

No Description

ในอนาคตระบบเราจะไปเชื่อมต่อกับระบบของโรงพยาบาล ถ้าวันไหนคุณอยากให้ข้อมูลของคุณ เชื่อมกับระบบโรงพยาบาล ก็ค่อยมาใส่รายละเอียดที่แท้จริง ส่วนข้อมูล พาสเวิร์ด เรามีการเข้ารหัสไว้แล้ว และมีไฟร์วอลช่วยปกป้องรายละเอียดความลับข้อมูลส่วนบุคคล

นอกจากนี้ ผู้ใช้แต่ละคนเป็นคนผู้นำข้อมูลไปสู่ provider หมายความว่า ถ้าผู้ใช้เคยมาตรวจกับอาจารย์หมอท่านหนึ่ง และอยากเปลี่ยนไปตรวจกับหมออีกท่านหนึ่ง ผู้ใช้มีสิทธิ์ที่จะบอกว่า เราไม่อยากให้เขาดูข้อมูลเก่าๆ ที่เป็นของอาจารย์ท่านนี้ เราก็ถือว่าให้สิทธิ์ผู้ป่วยเป็นเจ้าของข้อมูลจริงๆ

แต่ถ้าแพทย์อีกท่านต้องการข้อมูลเก่าของผู้ป่วยมากจริงๆ ต้องร้องขอไปยังผู้ใช้ ทำให้ผู้ใช้ทราบเสมอว่าข้อมูลของตนมีใครขอดูบ้าง และใครเข้าไปดูได้บ้าง เงื่อนไขตรงนี้ผู้ใช้จะระบุมาตั้งแต่ตอนสมัครใช้บริการแล้ว

รูปแบบการพูดคุยเป็นแบบไหน

เบื้องต้นเราทำให้รูปแบบการคุยเป็นวิดีโอคอลอย่างเดียว เพราะจิตแพทย์ให้ความสำคัญกับการแสดงออกทางสีหน้ามาก การคุยวิดีโอคอลไม่เทียบเท่าการไปเจอจริงๆ แต่เราพยายามทำให้มันใกล้เคียงการไปพบหมอมากที่สุด คือควรจะต้องเห็นหน้า

แต่อนาคตจะทำเป็นฟังก์ชั่นให้หมอเลือกว่ารับได้ไหมถ้าเป็นโทรคุยอย่างเดียว เพราะเราต้องยืดหยุ่นความต้องการสองฝ่าย

มีมาตรฐานความเป็นส่วนตัวของข้อมูลผู้ใช้อย่างไรบ้าง

Ooca ยึดมาตรฐานตามหลักของ HIPAA Compliance เป็นมาตรฐานการปกป้องข้อมูลของคนไข้ในสหรัฐฯ เนื่องจากประเทศไทย ยังไม่พบว่ามีการบังคับใช้มาตรฐานการปกป้องข้อมูลของผู้ป่วยอย่างชัดเจน บริษัทเลยยึดตามมาตรฐานนี้เป็นหลัก

ผู้ให้บริการเป็นใครบ้าง และคิดราคาอย่างไร

Ooca เพิ่งเปิดใช้งานมาได้ไม่นาน ตอนนี้บนแพลตฟอร์มมีนักจิตวิทยาการปรึกษา และจิตแพทย์รวมกันแล้วประมาณ 8-9 คน จิตแพทย์ต้องมีบอร์ด (วุฒิบัตรจากราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย) ส่วนนักจิตวิทยามีสองประเภท คือนักจิตวิทยาคลินิกที่ลงลึกเรื่อง disorder และ ทำแบบทดสอบพิจารณาคนไข้ กับนักจิตวิทยาการปรึกษาที่ถนัดเรื่องการให้คำปรึกษา

นักจิตวิทยาทั้งสองประเภทมีการควบคุมไม่เหมือนกัน นักจิตวิทยาคลินิกต้องสอบจนได้บอร์ดรับรอง ส่วนนักจิตวิทยาการปรึกษา ยังไม่มีกำหนดว่าต้องมีบอร์ด แต่บนระบบของ Ooca มี requirement พื้นฐานคือต้องจบการศึกษาด้านนี้ปริญญาโทอย่างต่ำ ส่วนนักจิตวิทยาคลินิกกับจิตแพทย์ต้องมีใบประกอบวิชาชีพ สอบบอร์ดผ่าน และเราจะมาสอบถามทัศนคติการให้คำปรึกษาทางไกลอีกที

เรามีระบบจองล่วงหน้า จำกัดเวลาไม่เกิน 2 เดือน หมอแต่ละคนเป็นคนตั้งราคา กำหนดวันและเวลาเอง และถ้าเขาสะดวกรับวอล์คอิน เขาก็จะกำหนดเอง แพลตฟอร์มของเราเป็นแค่เครื่องมือให้จิตแพทย์และประชาชนเข้าถึงกันได้ง่ายมากขึ้น

ส่วนราคา ในระบบมีชี้แจงประวัติการศึกษาและค่าใช้จ่ายของหมอแต่ละคนไว้ คิดค่าบริการตามอัตราการใช้บริการเป็นนาที ถ้าเข้ามาครั้งแรก 15 นาทีแรก จะไม่เกิน 300 บาท

No Description

ผู้ใช้บริการต้องจ่ายขั้นต่ำก่อน 300 บาท ถ้าคุยเสร็จแล้วเวลาเกินระบบจะตัดเงินตามเวลาที่ใช้จริง Ooca ก็กินเปอร์เซ็นต์ส่วนแบ่ง เราพยายามควบคุมราคาให้ไม่สูงเกินไป ถ้าหมอตั้งราคามาสูง เราก็เก็บสูง ถ้าหมอคนไหนตั้งราคาไม่สูง เราก็จะขอค่าส่วนแบ่งน้อย เพื่อช่วยเหลือหมอที่อยากให้บริการในราคาเป็นมิตร ก็ถือว่าช่วยเหลือกัน

บุคลากรแพทย์เพียงพอกับจำนวนผู้ใช้หรือไม่

เพียงพอค่ะ เข้ามาได้เลย ยังสามารถรับผู้เข้ามาใช้บริการเพิ่มได้อีก ถ้าเข้ามามาใช้งานแล้วมีปัญหาก็เข้ามารอคิวและพิมพ์มาในช่องแชทได้เลย
No Description

ตอนนี้ทำ Ooca เต็มตัวเลยหรือเปล่า

Ooca เป็นไอเดียในใจมาประมาณสองปี หลังจากนั้นปีนึงมาทำเต็มตัว ประจวบเหมาะกับช่วงที่เราสอบติดเรียนต่อด้านศัลยกรรม maxillofacial ที่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ภาควิชาศัลยศาสตร์ช่องปาก maxillofacial ตอนไปเรียนมีการฟอร์มทีมเริ่มทำ prototype ง่ายๆ ปรากฏว่าเรียนก็งานหนักมาก ไม่มีเวลากินเวลานอน ทำงานตลอดเวลา เข้าเวรไม่มีเวลามาดูแล Ooca จึงคิดอย่างจริงจังว่าต้องเลือก เพราะทำพร้อมกันสองอย่างไม่ได้ ต้องเลือกระหว่างเรียนสี่ปี จบเป็นหมอผ่าตัด หรือออกมาทำแพลตฟอร์มเพื่อคนอื่น ก็เลยเลือก Ooca และลาออกมาทำเต็มตัว

หลายคนมองว่า เรียนจบแล้วค่อยทำไหม แต่เรามองว่าเป็น timing ดูเทรนด์การใช้งานมือถือความยอมรับของคนต่อกระแสดิจิทัล ถ้าเราไม่ทำตอนนี้ จะไม่มีโอกาสมาทำเองแล้วเกิดขึ้นได้แน่นอน มันจะนานเกินไป ต้องเป็นตอนนี้เท่านั้น จึงตัดสินใจลาออกจากเรียนมาทำ ในโลกสตาร์ทอัพ ทุกอย่างเปลี่ยนเร็ว ถ้าไม่ทำตอนนี้ คงไม่มีโอกาสได้ทำ หรือถ้าทำก็ไม่ใช่ไอเดียแบบนี้

มองการระดมทุนอย่างไร

Ooca ยังไม่ได้ระดมทุนค่ะ ที่ผ่านมาเป็นผู้ก่อตั้งเอาเงินมาลงทำเอง เนื่องจากเป็นเรื่องการแพทย์ เราก็อยากจะปกป้องทิศทางบริษัท เราไม่รู้ว่าคนที่จะเข้ามาลงทุน จะมาทำให้ทิศทางบริษัทเปลี่ยนไปหรือเปล่า จึงเลี่ยงที่จะมีกลุ่มทุนใหญ่เข้ามาควบคุมตั้งแต่แรก

แต่ถ้าหลังจากนี้บริษัทมีความชัดเจนทางธุรกิจมากขึ้น ก็จะเริ่มเปิดรับให้เข้ามาร่วมลงทุน บริษัทมีแผนที่จะขยายไปสาขาอื่นด้วย แต่อยากให้ภาพเราชัดก่อนว่าเรามีที่ปรึกษาทางจิตวิทยา และเราค่อนข้างมั่นใจว่าแพลตฟอร์มของเรามีบุคลากรทางจิตวิทยารองรับมากที่สุดเมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มอื่น

มีนักลงทุนสนใจติดต่อเข้ามาบ้าง ทั้ง VC และบุคลากรทางการแพทย์ กำลังคุยกันว่าใครพอจะมีมุมมองเหมือนกันและมาช่วยกันทำงาน จะชอบแบบนี้มากกว่า

นอกจากหมออิ๊กจะก่อตั้ง Ooca แล้ว ยังเป็นทีมงานส่วนหนึ่งช่วยให้สมาคม Thai Health Tech เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง อยากฝากอะไรถึงคนอ่าน หรือคนในวงการสุขภาพบ้าง

ดิฉันเป็นแค่ส่วนเล็กๆ ในการพยายามผลักดันให้เกิดเป็นสมาคม อย่างไรก็ตาม Health Tech เป็นสิ่งที่ disrupt ยากที่สุด ผู้เล่นในตลาดนี้ต้องมีความอดทนสูง ต้องเปิดใจ ถึงจะสร้างสรรค์การพัฒนาอะไรใหม่ๆ ได้ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องเหมาะสม หลักความปลอดภัย เพื่อผลประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ป่วย

เมื่อใดก็ตามที่การร่วมมือกันพัฒนา ระหว่าง innovator, stakeholder หรือโรงพยาบาล และ ผู้บังคับใช้กฎหมายเกิดขึ้นแล้ว และนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ดี จะทำให้เกิดผลประโยชน์ต่อประชาชนนับไม่ถ้วน อยากให้ทุกฝ่ายเปิดใจและมาร่วมมือกัน อยากให้มาคุยกันดีกว่าว่าส่วนไหนที่เรากังวลใจ ต้องควบคุมและวางกฎเกณฑ์ มากกว่าที่จะปิดกั้น และห้ามไม่ให้ทำตั้งแต่ตอนแรก

No Description
ภาพจาก Facebook Ooca

Get latest news from Blognone

Comments

By: topty
Contributor
on 22 July 2017 - 11:18 #999078

จะแนะนำให้ไปสถานพยาบางที่อยู่ใกล้กับคนไข้

พยาบาง => พยาบาล

เข้าได้จาก Chrome Mac OS Window Android Firefox

Mac OS => macOS
Window => Windows

ส่วนนักจิตวิทยาคลีนิกกับจิตแพทย์ต้องมีใบประกอบวิชาชีพ

คลีนิก => คลินิก

Ooca ก็กินเปอร์เซนต์ส่วนแบ่ง

เปอร์เซนต์ => เปอร์เซ็นต์

แพลตฟอร์มของเรามีบุคลากรทางจิตวิทยารรองรับมากที่สุดเมื่อเทียบกับแพลตฟอร์อื่น

รรองรับ => รองรับ
แพลตฟอร์ => แพลตฟอร์ม

By: sunnywalker
WriterAndroid
on 22 July 2017 - 12:54 #999083 Reply to:999078

ขอบคุณค่ะ

By: panurat2000
ContributorSymbianUbuntuIn Love
on 23 July 2017 - 20:12 #999185 Reply to:999078
panurat2000's picture

ควรจะได้รับการรักษาอยางจริงจัง

อยาง => อย่าง

By: KR on 22 July 2017 - 13:03 #999086

นับถือค่ะ การเข้าถึงการรักษาด้านนี้ในไทยยังมีปัญหาอยู่มากจริงๆ

ความเห็นส่วนตัว ไม่ค่อยแน่ใจเรื่องคิดเงินเป็นนาที ว่าจะทำให้ทั้งคนไข้และหมอกดดันเรื่องเวลาหรือเปล่า(เหมือนเวลาโทรมือถือแล้วต้องพะวงเรื่องเวลาและรีบวาง) ถ้าตั้งเป็น session จำกัดเวลาจะดีกว่าไหม เช่น ตั้งเป็น 30นาที/1ชม/2ชม

อีกเรื่องที่เป็นประเด็นที่เราเป็นห่วงเป็นการส่วนตัว คือเด็กๆ นักเรียน นักศึกษา ที่ทางบ้านไม่เข้าใจเรื่องปัญหาทางจิต อาจจะเข้าถึงการรักษาได้ยาก ไม่ว่าจะไปโรงพยาบาล หรือแม้แต่ใช้แอพ เพราะถึงแม้จะเข้าถึงจากคอมพิวเตอร์/มือถือได้ แต่เด็กๆไม่มีเงินมากนัก และต่อให้พอเก็บเงินได้ก็ไม่มีบัตรเครดิต ทำธุรกรรมทางการเงินเองไม่ถนัด ประมาณนี้ค่ะ

อันนี้แจ้งเผื่อจะเป็นประโยชน์ค่ะ ได้ลองสมัครสมาชิกเว็บดูแล้ว อีเมลล์ verify ไปอยู่ในกล่อง spam ค่ะ (gmail) เข้าใจว่าแก้ไม่ง่าย แต่อาจจะใช้วิธีเขียนบอกในหน้าที่แจ้งส่งอีเมลล์ กำกับว่าให้เช็คในกล่อง spam ด้วยก็จะดีค่ะ

By: whitebigbird
Contributor
on 22 July 2017 - 19:51 #999111
whitebigbird's picture

สันก่อนเพิ่งอ่านเรื่อง YourDost จากอินเดีย ดีใจที่มีคนทำคล้ายๆ กันครับ