Tags:
Node Thumbnail

สถาปัตยกรรมซีพียู RISC-V ที่ริเริ่มโดยมหาวิทยาลัย Berkley ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ (เช่น Western Digital หรือ Alibaba) โดยเฉพาะเมื่อ NVIDIA ซื้อ Arm ทำให้หลายคนเริ่มไม่มั่นใจในอนาคตของสถาปัตยกรรม ARM ว่าจะเปิดกว้างต่อไปหรือไม่ ตัวเลือกที่เด่นชัดจึงเป็น RISC-V ที่มีแนวทางเปิดกว้าง ไม่เก็บค่าไลเซนส์ใดๆ

เว็บไซต์ VentureBeat สัมภาษณ์ Calista Redmond ซีอีโอของ RISC-V International ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ไม่หวังผลกำไร และตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลการพัฒนา RISC-V ในภาพรวม (ตัวองค์กรจดทะเบียนในสวิตเซอร์แลนด์)

No Description

ประเด็นที่น่าสนใจ

  • ความสนใจใน RISC-V เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่ได้เพิ่มมากเป็นพิเศษหลังข่าว NVIDIA ซื้อ Arm โดยสมาชิกของกลุ่ม RISC-V เพิ่มจำนวนขึ้น 50% ในปี 2020
  • องค์กรหลายแห่งที่สนับสนุน RISC-V ก็สนับสนุนสถาปัตยกรรมอื่นด้วย เช่น NVIDIA เองก็เป็นบอร์ดของ RISC-V International หรือ Intel/Qualcomm ต่างก็ลงทุนใน SiFive บริษัทที่ทำซีพียู RISC-V
  • โครงการสำคัญที่ช่วยผลักดัน RISC-V คือ European Processor Initiative (EPI) ของสหภาพยุโรป ที่ต้องการใช้ RISC-V เป็นตัวเร่งการประมวลผล AI
  • RISC-V เริ่มต้นจากการเป็นซีพียูสำหรับอุปกรณ์ฝังตัว แต่ปัจจุบันก็เริ่มขยายไปยังงานอื่นๆ เช่น คลาวด์ (Alibaba), AI (EPI) หรือพีซี (SiFive)
  • จีนเป็นภูมิภาคที่สนใจ RISC-V สูง นอกจาก Alibaba แล้วยังมี Huawei และ ZTE ให้ความสนใจ และมหาวิทยาลัย Berkley ก็มีความร่วมมือด้านนี้กับมหาวิทยาลัย Tsinghua ในจีนเช่นกัน

คลิปแนะนำ RISC-V โดย Calista Redmond ซีอีโอของ RISC-V International

ที่มา - VentureBeat

Get latest news from Blognone

Comments

By: maxmin on 29 September 2020 - 22:53 #1178190

คิดค้นในอเมริกา แต่ทำไมไปจดทะเบียนที่สวิตเซอร์แลนด์