Tags:
Node Thumbnail

ไมโครซอฟท์ประกาศระบบการอัพเดตรายเดือนแบบใหม่ของ Windows 10 ที่ไฟล์อัพเดตจะมีขนาดเล็กลง ดาวน์โหลดเร็วขึ้น และเปลืองทรัพยากรในการประมวลผลอัพเดตน้อยลง

ปัจจุบัน Windows 10 แบ่งการอัพเดตเป็น 2 แบบคือ

  • อัพเดตใหญ่ที่เพิ่มฟีเจอร์ใหม่ (feature update) ที่เราคุ้นเคยกันจากเลขเวอร์ชัน 1709 หรือ 1803 และอัพเดตให้ทุก 6 เดือน
  • อัพเดตปรับปรุงคุณภาพ (quality update) ไม่เพิ่มฟีเจอร์ใหม่ แต่แก้บั๊กและอุดช่องโหว่ความปลอดภัย อัพเดตออกเป็นประจำทุกเดือน และอาจมีอัพเดตพิเศษนอกรอบหาเจอช่องโหว่ความปลอดภัยที่มีอันตรายสูง

ประกาศของไมโครซอฟท์รอบนี้มีผลเฉพาะ quality update เท่านั้น

No Description

ที่ผ่านมาการดาวน์โหลดไฟล์อัพเดตจากไมโครซอฟท์มายังเครื่องของเรา มีไฟล์ทั้งหมด 3 แบบตามภาพ

  • Full updates หรืออีกชื่อหนึ่งคือ latest cumulative update (LCU) เป็นไฟล์ที่รวมการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนับตั้งแต่ RTM ของรุ่นใหญ่นั้นๆ สะสมมาเรื่อยๆ ทำให้เราสามารถใช้ไฟล์ LCU อัพเดตกับเครื่องที่ไม่เคยอัพเดตมานานๆ ได้เสมอ เช่น เครื่องมาพร้อม Windows 10 v1709 (RTM) และไม่เคยอัพเดตเลย มาอัพเดตด้วยไฟล์ LCU ในเดือนสิงหาคม 2018 ก็สามารถอัพเดตจากไฟล์นี้ได้เลย เพราะมีทุกอย่างมาให้ครบ ข้อเสียของ LCU คือขนาดไฟล์จะบวมขึ้นเรื่อยๆ ตามระยะเวลาที่เพิ่มขึ้น ไฟล์อาจใหญ่ได้ถึง 1GB
  • Delta updates เป็นไฟล์อัพเดตที่เอาเฉพาะคอมโพเนนต์ส่วนที่มีการเปลี่ยนแปลง (delta) ระหว่างอัพเดตของเดือนล่าสุดกับเดือนก่อนหน้า ขนาดไฟล์อยู่ราว 300-500MB แต่อัพเดตแบบนี้ ไมโครซอฟท์จะเลิกใช้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2019
  • Express updates เป็นเวอร์ชันปรับปรุงของ delta updates ข้อดีคือไฟล์ขนาดเล็กลงได้อีก (ราว 150-200MB) เพราะเป็นการวัดส่วนต่าง (delta) ที่ระดับของไฟล์ ไม่ใช่ที่ระดับของคอมโพเนนต์ ไมโครซอฟท์ใช้วิธีคำนวณส่วนต่างของ Windows 10 ในเดือนต่างๆ ทุกเดือน (ย้อนหลังไป 6 เดือน) เพื่อสร้างไฟล์อัพเดตหลายๆ เวอร์ชันให้เหมาะกับคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องมากที่สุด ข้อเสียของ express updates จึงเป็นการเปลืองพื้นที่บนเซิร์ฟเวอร์ขององค์กร เพราะต้องเก็บไฟล์หลายเวอร์ชันมาก

พื้นที่เก็บไฟล์อัพเดตบนเซิร์ฟเวอร์ จะเห็นว่า express เปลืองที่สุด

No Description

จากที่กล่าวมาจะเห็นว่า full updates และ express updates ต่างมีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันไป (delta ถือว่าถูกแทนที่ด้วย express ที่ยังมีอยู่เพราะรองรับเซิร์ฟเวอร์อัพเดตแบบเก่า ที่ยังใช้งาน express ไม่ได้) แต่ไมโครซอฟท์กำลังจะมีอัพเดตแบบใหม่ที่นำใช้แทนอัพเดตทั้งสองแบบนี้

อัพเดตใหม่ยังไม่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการ ตอนนี้มันมีชื่อเล่นว่า small updates หรือ smaller updates แนวคิดของมันคือแก้ไขปัญหาของ express updates ที่ต้องเก็บ delta หลายเวอร์ชันจนซับซ้อนและเปลืองพื้นที่เก็บข้อมูล

ทางแก้ของไมโครซอฟท์ในเชิงวิศวกรรมคือ แทนที่จะเก็บส่วนต่างหลายเวอร์ชันทับซ้อนกันไปมา อัพเดตแบบใหม่จะใช้เวอร์ชัน RTM เป็นจุดอ้างอิงอันเดียวแทน

ตัวอย่างคือหากเครื่องของเรามีสถานะการอัพเดตเป็นเดือนกันยายน และต้องการอัพเดตเป็นเวอร์ชันเดือนตุลาคม สิ่งที่ small updates ทำคือ ย้อนข้อมูลของเดือนกันยายนกลับเป็นเวอร์ชัน RTM ก่อน (reverse delta) จากนั้นค่อยอัพเดตส่วนต่างจาก RTM ไปเป็นเวอร์ชันเดือนตุลาคม (forward delta)

วิธีการนี้ทำให้ไมโครซอฟท์เก็บ delta เพียงสองเวอร์ชันต่อหนึ่งเดือน นั่นคือ forward delta และ reverse delta ในแต่ละรอบการออกอัพเดต อัพเดตแบบนี้อาจมีขนาดใหญ่กว่า express update เล็กน้อย (เพราะต้องเทียบ delta ย้อนกลับไปยัง RTM แทนที่จะเป็นเดือนก่อนหน้า) แต่ไมโครซอฟท์บอกว่าความแตกต่างเรื่องขนาดถือว่าไม่เยอะนัก

ข้อดีของ small updates คือขนาดไฟล์ไล่เลี่ยกับ express updates แต่เปลืองพื้นที่เก็บบนเซิร์ฟเวอร์น้อยกว่ามาก แถมไม่ต้องเสียเวลา-พลังซีพียูเพื่อตรวจสอบสถานะของเครื่องก่อนอัพเดตด้วย เพราะทุกเครื่องต้องอ้างอิง RTM เหมือนกันหมด แถมไฟล์อัพเดตตัวเดียวกันยังใช้ได้กับช่องทางการอัพเดตทุกแบบ ไม่ว่าจะเป็น Windows Update หรือ Windows Server Update Services (WSUS), Microsoft Update Catalog, System Center Configuration Manager (SCCM) ช่วยลดความซับซ้อนในการดูแลของแอดมินลงได้มาก

small updates จะถูกเริ่มใช้งานใน Windows 10 รุ่นถัดไป (1809) และ Windows Server รุ่นถัดไป

ที่มา - Microsoft (1), Microsoft (2)

Get latest news from Blognone

Comments

By: kernelbase on 25 August 2018 - 21:54 #1067415

แล้ว LTSBตัวใหม่ เมื่อไหร่จะออกน้อ
ตัวเดิมก็2ปีมาแล้ว

By: osmiumwo1f
ContributorWindows PhoneWindows
on 27 August 2018 - 11:34 #1067610 Reply to:1067415
osmiumwo1f's picture

น่าจะเป็นตัวถัดไปที่กำลังจะออกนี่แหละครับ