Tags:
Node Thumbnail

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ (8 กันยายน 2558) อนุมัติมาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมีประเด็นที่เกี่ยวกับธุรกิจเกิดใหม่ (startup ทุกประเภทไม่จำกัดเฉพาะไอที) ดังนี้

  • จัดตั้งกองทุนร่วมลงทุน 2,000 ล้านบาท จำนวน 3 กองทุนโดย 3 ธนาคารคือ ออมสิน กรุงไทย และ SME Bank เพื่อร่วมลงทุนใน SME ระยะเริ่มต้นที่มีศักยภาพสูง กองทุนจะตั้งเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2558
  • นโยบายลดภาษีเงินได้สำหรับผู้ประกอบการ SME ที่มีกำไร 300,001 บาทขึ้นไป (เดิมทีเสียภาษี 15% ลดเหลือ 10%), ถ้ามีกำไร 3,000,001 บาทขึ้นไป (เดิมทีเสีย 20% ลดเหลือ 10%) เป็นเวลา 2 รอบปีบัญชีคือ 2558-2559
  • มาตรการยกเว้นภาษีส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ (New Start-up) สำหรับบริษัทที่จดทะเบียนใหม่ตั้งแต่ 31 ตุลาคม 2558 ถึง 31 ธันวาคม 2559 และเป็นผู้ประกอบการกลุ่ม New Engine of Growth ของประเทศ เช่น เกษตรแปรรูป เทคโนโลยีและนวัตกรรมชั้นสูง ดิจิทัล วิจัย-พัฒนา จะได้ยกเว้นภาษีนิติบุคคลนาน 5 รอบระยะบัญชี ทั้งนี้ต้องรอกฎเกณฑ์จากกรมสรรพากรอีกครั้งหนึ่ง

นอกจาก 3 มาตรการข้างต้น ยังมีมาตรการเรื่องสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 4% ของธนาคารออมสินและธนาคารพาณิชย์อื่นๆ และมาตรการปรับหลักเกณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อสำหรับ SME ที่ขาดหลักประกันค้ำเงินกู้ ไม่เกินรายละ 40 ล้านบาทอีกด้วย

ที่มา - Thaigov.go.th, ประชาชาติธุรกิจ, ภาพประกอบจาก Thaigov.go.th

No Description

มาตรการการเงินการคลังเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในระยะเร่งด่วน

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้แก่ผู้ประกอบกิจการ SMEs และอนุมัติงบประมาณในการดำเนินโครงการเป็นวงเงินรวมไม่เกิน 20,020 ล้านบาท ตามที่กระทรวงการคลัง ทั้งนี้ ให้เบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 และปีต่อๆ ไป ตามประมาณการค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในแต่ละปี โดยให้ธนาคารออมสินทำความตกลงกับสำนักงบประมาณในรายละเอียดต่อไป
2. ทบทวนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการค้ำประกันสินเชื่อโครงการ  PGS ระยะที่ 5 เดิมที่เคยได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 และอนุมัติหลักเกณฑ์และเงื่อนไข และอนุมัติงบประมาณการชดเชยความเสียหายตามที่เสนอ  ทั้งนี้ ให้เบิกจ่ายจากงบประมาณส่วนที่เหลือจากกรอบเงินงบประมาณจำนวน 13,800 ล้านบาท ของโครงการ PGS-5 ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 8 มกราคม 2556 ก่อนเป็นลำดับแรก สำหรับงบประมาณส่วนที่เหลือให้ บสย. ทำความตกลงในการเบิกจ่ายงบประมาณดังกล่าวตามภาระที่เกิดขึ้นจริงกับสำนักงบประมาณต่อไป
3. เห็นชอบการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีกำไรสุทธิตั้งแต่ 300,001 บาทขึ้นไป จากเดิมร้อยละ 15 และ 20 ของกำไรสุทธิ เป็นร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิ เป็นเวลา 2 รอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 จนถึงรอบระยะเวลาบัญชีวันที่ 31 ธันวาคม 2559
4. เห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ (New Start-up) โดยยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ในอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักที่มีศักยภาพขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่จดทะเบียนพาณิชย์ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2558 ถึง 31 ธันวาคม 2559 เป็นเวลา 5 รอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน
5. มอบหมายให้กรมสรรพากรดำเนินการยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มาตรการ
ตามข้อ 3 และ 4 มีผลบังคับใช้โดยเร็วต่อไป

สาระสำคัญของมาตรการการเงินการคลังเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบกิจการ SMEs มีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้

1. มาตรการการเงิน
   1.1 โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้แก่ผู้ประกอบกิจการ SMEs มีหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้
       1.1.1 วัตถุประสงค์ของโครงการ : เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการ SMEs บรรเทาปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการซึ่งส่วนใหญ่มีปัญหาขาดสภาพคล่องให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยธนาคารออมสินให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่เข้าร่วมโครงการฯ และธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบกิจการ SMEs เฉพาะการปล่อยสินเชื่อใหม่ โดยมีเงื่อนไขไม่ให้ Refinance หนี้เดิม วงเงินโครงการรวม 100,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่เข้าร่วมโครงการฯ ต้องนำตั๋วสัญญาใช้เงินที่ออกโดยผู้ประกอบกิจการ SMEs เพื่อประกอบการเบิกเงินกู้จากธนาคารออมสิน
       1.1.2 อัตราดอกเบี้ยและระยะเวลา : กำหนดให้ธนาคารออมสินให้สินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่เข้าร่วมโครงการฯ ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.1 ต่อปี และธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่เข้าร่วมโครงการฯ ให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบกิจการ SMEs ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี ระยะเวลาให้สินเชื่อไม่เกิน 7 ปี โดยผู้ประกอบกิจการสามารถยื่นขอสินเชื่อได้ภายใน 31 ธันวาคม 2558 หรือจนกว่าวงเงินที่กำหนดไว้จะถูกจัดสรรหมด แล้วแต่อย่างใดอย่างหนึ่งถึงก่อน
       1.1.3 การใช้วงเงินโครงการของธนาคารออมสิน : ธนาคารออมสินสามารถใช้วงเงินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ในการปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ตามโครงการสินเชื่อของธนาคารออมสิน ได้แก่ 1) โครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือชาวประมง “ประมงไทยก้าวไกลสู่สากล” 2) โครงการสินเชื่อ SMEs เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการประหยัดพลังงาน 3) โครงการสินเชื่อ SMEs เพื่อธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ 4) โครงการสินเชื่อ SMEs เพื่อผู้รับเหมางานภาครัฐ 5) โครงการสินเชื่อ SMEs เพื่อเสริมสภาพคล่อง
       1.1.4 การชดเชย : รัฐบาลชดเชยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยให้กับธนาคารออมสินในอัตราเท่ากับต้นทุนทางการเงินของธนาคาร (ร้อยละ 2.21 ต่อปี) บวก ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (ร้อยละ 0.75 ต่อปี) หัก อัตราผลตอบแทนจากการให้สถาบันการเงินกู้ร้อยละ 0.1 ต่อปี เท่ากับร้อยละ 2.86 ต่อปี ดังนั้น ประมาณการค่าใช้จ่ายที่รัฐต้องชดเชยเป็นจำนวน 2,860 ล้านบาทต่อปี งบประมาณชดเชยรวม 7 ปี 20,020 ล้านบาท ทั้งนี้ ให้เบิกจ่ายตามที่เกิดขึ้นจริง
   1.2 การปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการค้ำประกันสินเชื่อโครงการ PGS-5 มีรายละเอียด ดังนี้
       1.2.1 วงเงินค้ำประกัน 100,000 ล้านบาท
       1.2.2 วงเงินค้ำประกันต่อรายสูงสุด 40 ล้านบาทต่อรายต่อสถาบันการเงิน
       1.2.3 อายุการค้ำประกันไม่เกิน 7 ปี
       1.2.4 สิ้นสุดระยะเวลารับคำขอค้ำประกันวันที่ 30 มิถุนายน 2559
       1.2.5 ค่าธรรมเนียมการค้ำประกันร้อยละ 1.75 ต่อปี ของวงเงินค้ำประกันสินเชื่อตลอดอายุโครงการโดยรัฐบาลจ่ายค่าธรรมเนียมแทนผู้ประกอบการดังนี้
             (1)  จ่ายค่าธรรมเนียมแทนผู้ประกอบการในอัตราร้อยละ 1.75 ในปีที่ 1
             (2)  จ่ายค่าธรรมเนียมแทนผู้ประกอบการในอัตราร้อยละ 1.25 ในปีที่ 2
(ผู้ประกอบการรับภาระค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ 0.5)
             (3)  จ่ายค่าธรรมเนียมแทนผู้ประกอบการในอัตราร้อยละ 0.75 ในปีที่ 3 (ผู้ประกอบการรับภาระค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ 1)
             (4)  จ่ายค่าธรรมเนียมแทนผู้ประกอบการในอัตราร้อยละ 0.25 ในปีที่ 4
(ผู้ประกอบการรับภาระค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ 1.5)
       1.2.6 การจ่ายค่าประกันชดเชยของ บสย.
             (1)  จ่ายค่าประกันชดเชยกรณีที่เป็น NPGs ทั้งโครงการรวมทั้งสิ้น ไม่เกินร้อยละ 30 ของภาระค้ำประกัน
             (2)  จ่ายค่าประกันชดเชยตามภาระค้ำประกัน SMEs แต่ละราย (Coverage Ratio per SMEs) เป็นสัดส่วนร้อยละ 100 ของภาระค้ำประกัน SMEs แต่ละราย ในสัดส่วนร้อยละ 15 แรกของภาระค้ำประกัน ที่เป็น NPGs ส่วนที่เหลือจ่ายค่าประกันชดเชยร้อยละ 50 ของภาระค้ำประกัน SMEs แต่ละราย
             (3)  จ่ายค่าประกันชดเชยตามภาระค้ำประกันในแต่ละ Portfolio (Coverage Ratio per Portfolio) สูงสุดไม่เกินร้อยละ 22.5 ของภาระค้ำประกันเฉลี่ยตลอดระยะเวลาโครงการ
       1.2.7 การชดเชยจากรัฐบาล การดำเนินการตามโครงการดังกล่าว บสย. จำเป็นต้องขอรับการชดเชย
ความเสียหายจากรัฐบาลตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงเป็นเงินจำนวน 14,250 ล้านบาท ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
             (1)  ชดเชยค่าธรรมเนียมค้ำประกันใน 4 ปีแรก เป็นเงินจำนวน 4,000 ล้านบาท ((ร้อยละ 1.75 + ร้อยละ 1.25 + ร้อยละ 0.75 + ร้อยละ 0.25) x 100,000)
             (2)  ชดเชยการจ่ายค่าประกันชดเชยตลอดอายุโครงการ 7 ปี เป็นเงินจำนวน 10,250 ล้านบาท [((ร้อยละ 22.5) - (ร้อยละ 1.75 x 7)) x 100,000 ล้านบาท]
             (3) ให้ บสย. ค้ำประกันตามเงื่อนไขโครงการ PGS-5 ที่ปรับปรุงใหม่นับตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ
   1.3 มาตรการสนับสนุน SMEs ผ่านการร่วมลงทุน ธนาคารออมสิน ร่วมกับธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในการจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุนแห่งละ 2,000 ล้านบาท รวมจำนวน 6,000 ล้านบาท เพื่อร่วมลงทุนกับ SMEs (ลงทุนในส่วนของทุน) ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการลงทุนที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย โดยรูปแบบของกองทุนที่จะจัดตั้งขึ้นอยู่กับความสามารถและความเหมาะสมในการบริหารจัดการของแต่ละสถาบันการเงิน ทั้งนี้ กองทุนร่วมลงทุนดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมลงทุนใน SMEs ระยะเริ่มต้น (Start-up) ที่มีศักยภาพสูง หรือมีโอกาสในการเติบโต หรืออยู่ในกลุ่มธุรกิจที่มีประโยชน์ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือเป็น Supplier ธุรกิจภาครัฐและภาคเอกชนขนาดใหญ่ หรือเป็นสมาชิกของสภาหอการค้าไทยหรือหน่วยงานภาครัฐ นอกจากนี้ สถาบันการเงินแต่ละแห่งสามารถให้ SMEs ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายกู้เงินเพิ่มเติมจากส่วนที่สถาบันการเงินเข้าไปร่วมลงทุนได้ โดยทั้ง 3 สถาบันการเงินจะดำเนินการจัดตั้งกองทุนดังกล่าวภายใน 31 ธันวาคม 2558 เพื่อดำเนินการร่วมลงทุนกับ SMEs ตามพันธกิจของกองทุนต่อไป

2. มาตรการการคลัง
   2.1 มาตรการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับผู้ประกอบการ SMEs
       2.1.1 ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีกำไรสุทธิตั้งแต่ 300,001 บาทขึ้นไป จากเดิมร้อยละ 15 และ 20 ของกำไรสุทธิ เป็นร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิ เป็นเวลา 2 รอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 จนถึงรอบระยะเวลาบัญชีวันที่ 31 ธันวาคม 2559 เพื่อบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs และเพิ่มขีดความสามารถของ SMEs ให้สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ได้ ซึ่งจะทำให้โครงสร้างอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับ SMEs เป็นดังนี้

กำไรสุทธิของ SMEs             ปัจจุบัน      ข้อเสนอ
0-300,000 บาท             ยกเว้น        ยกเว้น
300,001-3,000,000 บาท     15%       10%
3,000,001 บาทขึ้นไป         ร้อยละ 20   ร้อยละ 10 

       2.1.2 ผลกระทบ
             (1) คาดว่าการลงทุนจะเพิ่มขึ้นประมาณ 3,800 ล้านบาท และการบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 960 ล้านบาทจากกรณีปกติ
             (2) รัฐบาลจะสูญเสียรายได้ภาษีประมาณ 5,000 ล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ดี มาตรการนี้ จะส่งผลให้การจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นในอนาคตชดเชยรายได้ภาษีที่สูญเสียไป เนื่องจากเป็นการจูงใจให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าสู่ระบบภาษีมากขึ้น
   2.2  มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ (New Start-up)
       2.2.1 ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่ประกอบกิจการ
ที่จดทะเบียนพาณิชย์ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2558 ถึง 31 ธันวาคม 2559 เป็นเวลา 5 รอบระยะเวลาบัญชี
ต่อเนื่องกัน โดยผู้ประกอบการ SMEs ที่จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
             (1) เป็นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักที่มีศักยภาพขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (New Engine of Growth) เช่น กลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูป เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง ดิจิตอล และการวิจัยและพัฒนา เป็นต้น
             (2) จะต้องจดแจ้งการขอใช้สิทธิกับกรมสรรพากร
             (3) ต้องไม่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
             (4) ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขอื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
Get latest news from Blognone

Comments

By: iPomz
ContributorAndroidWindows
on 8 September 2015 - 22:06 #841166
iPomz's picture

นโยบายลดภาษาเงินได้ => นโยบายลดภาษีเงินได้
ธนาคาพาณิชย์อื่นๆ => ธนาคารพาณิชย์อื่นๆ

By: McKay
ContributorAndroidWindowsIn Love
on 8 September 2015 - 22:10 #841168
McKay's picture

อันนี้คือส่งเสริมให้ตั้ง SMEs ใหม่ๆ แล้ว SMEs เก่าๆที่กำลังจะตายหล่ะ?

หรือว่าธนาคารขอมา เพราะช่วงนี้เศรษฐกิจไม่ดี คนมากู้น้อย?


Russia is just nazi who accuse the others for being nazi.
someone once said : ผมก็ด่าของผมอยู่นะ :)

By: Hadakung
iPhoneWindows PhoneAndroidWindows
on 8 September 2015 - 22:20 #841171 Reply to:841168

เราแนะนำให้ SMEs เก่ารีบตายและไปขอใบชุบสะ:P

By: iDan
ContributorAndroidSUSEUbuntu
on 8 September 2015 - 23:30 #841190 Reply to:841168

อันนี้ขอเกี่ยวกับ Meconomics หน่อยนะครับ

อันนี้สำหรับ SMEs เก่าๆ ผมเริ่มได้แล้วนะครับ
ตอนนี้เริ่มยื่นเอกสารขอ OD แล้วนะครับ เห็นว่าจากข่าวนี้ โปรฯ นี้ของ ธ.ออมสิน เริ่มยื่นเอกสารสัปดาห์หน้าครับ ผมเข้าข่ายโครงการสินเชื่อ SMEs เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการประหยัดพลังงาน และโครงการสินเชื่อ SMEs เพื่อเสริมสภาพคล่อง

แต่จะบอกว่า เห็นข่าวเขียนซะสวยหรูแบบนี้ คุณสมบัติที่ได้กู้ได้เยอะมากๆ!! เรียกว่าใครเคยขอกองทุนตั้งตัวได้ อันนี้นี่น้องๆ ครับ

ส่วน SMEs ใหม่ หรือ Startups ใหม่
มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ (New Start-up)
ผมตั้งข้อสังเกตุนะครับว่า ไอ้ตอนนี้ขอร่วมได้ แต่พ้น 5 ปีไปแล้วอีกเรื่องนะครับ นักบัญชี-ข้าราชการสรรพากร ไม่เคยปราณีใคร สุดท้ายแล้วจะโดนรีดคืนหรือเปล่า อันนี้อีกเรื่องนะครับ เพราะถ้าใครทำธุรกิจแล้วเป้าไม่ถึง หรือรายได้ที่เราขายจริงมันไม่เป็นไปตามที่เขาคิด เขาปรับยอดได้นะครับ... หลังจากนั้นรู้กัน

ส่วนข้อครหาที่ว่า

กลัวจะมีบริษัทใหม่ แต่หน้าเดิมๆ ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด ประหยัดภาษีโดยการซอยเป็นบริษัทย่อย

อันนี้ ถ้าเข้าข่ายข้อ (1) ก็ดูเหมือนไม่มีปัญหาครับ เพราะอีกข้อดีก็คือ สร้างงานให้กับคนหางาน และบริษัทที่สงวนท่าที ว่าจะลงทุนดีหรือไม่? ก็จะได้ถือโอกาสนี้ rethink อีกครั้ง

แต่ผมว่ามันจำกัดกันเกินไปว่า จะต้องเอาแต่ กลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูป เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง ดิจิตอล และการวิจัยและพัฒนา แบบนี้ผมสังเกตุว่า มันไม่ปิดกั้นกันเกินไปหน่อยหรือครับ?

นอกนั้นมีอยากให้รัฐบาลนำกลับไปคิดอีกข้อคือ นโยบายเปิดค่าแรงเสรีครับ ให้เป็นไปตามกฎอุปสงค์-อุปทานครับ และนโยบายเปิดกว้างเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างชาติเข้าทำงานมากขึ้นครับ คล้ายๆ กับสิงคโปร์ครับ จะดีมาก

By: McKay
ContributorAndroidWindowsIn Love
on 9 September 2015 - 00:57 #841201 Reply to:841190
McKay's picture

คุณ iDan ยื่นขอ OD แสดงว่าไปรอดใช่ไหมครับ ตัวธุรกิจทำกำไร แต่แค่ขาดสภาพคล่อง

SMEs เก่าๆที่กำลังจะตายที่ผมหมายถึงคือ เคยทำกำไรได้ แต่ตอนนี้สภาพการทำกำไรต่ำ-ต่ำมาก-ขาดทุน เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจไม่ดีหน่ะครับ

  1. นโยบายปรับลดภาษีไม่ช่วย SMEs เหล่านี้เท่าไหร่ เพราะมีกำไรที่ต่ำมาก-ขาดทุนอยู่แล้ว
  2. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ อันนี้ก็ไม่ช่วย
  3. ตัวโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเองก็ไม่ตอบโจทย์นี้ครับ เพราะให้เฉพาะการปล่อยสินเชื่อใหม่ และไม่ให้ refinance หนี้เดิม ดังนั้น SMEs รายเก่าที่ใกล้ตายก็ต้องทนแบกภาระดอกเบี้ยสูงเหมือนเดิม(ยังไม่รวมอัตราดอกเบี้ยที่สูงมากๆหากชำระหนี้ไม่ทันด้วย)
  4. การให้ธนาคารออมสินให้สินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์โดยดอกเบี้ยร้อยละ .01 แล้วบอกว่ารัฐจะชดเชยส่วนต่างให้ร้อยละ 2.86 แปลว่าธนาคารพาณิชย์ได้เงินมากินฟรีเล่นๆ เพราะเอาไปปล่อยต่อได้ถึงร้อยละ 4(!) อันนี้รัฐเอื้อประโยชน์ให้'ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่เข้าร่วมโครงการฯ' หรือเปล่าหว่า

Russia is just nazi who accuse the others for being nazi.
someone once said : ผมก็ด่าของผมอยู่นะ :)

By: iDan
ContributorAndroidSUSEUbuntu
on 9 September 2015 - 03:50 #841215 Reply to:841201

ของผมกำไรต่ำมาแล้วประมาณ 5 ปี ผมเข้าบริหารแล้ว 2 ปีครับ มีทั้งปรับโครงสร้างหนี้ และฯลฯ อันนี้เข้าข่าย SMEs เก่าๆที่กำลังจะตาย ไหมครับ? 555+

ปีนี้ไม่หวังอะไร ขอ P/E 3-8 % ให้เจ้าของหุ้นใจชื้นขึ้นมากหน่อยก็ดีครับ

เข้าประเด็นนะครับ O/D นี้ทำให้เราไม่ขาดสภาพคล่องตามที่คุณว่า เพราะลูกค้าต่างประเทศ(EU)ผิดนัดชำระหนี้ + ไม่มีคำสั่งซื้อจากอียู

ผมตอบข้อ 3 ของคุณก่อนนะ เพราะประเด็นที่สำคัญก็คือ ข้อนี้...
การที่เขาไม่ให้ refinance เพราะรัฐบาลมีงบที่จำกัด กว่าผมจะได้ O/D นี้ ทีแรกไม่เข้าคุณสมบัติเลย ผมประท้วงและต้องรอถึงรอบต่อมาเขาผ่อนปรนคุณสมบัติเลยได้ O/D มา และได้ไม่เยอะครับ ดังนั้นให้เป็น เงินกู้ หรือ O/D ก็ขึ้นอยู่ธนาคารพิจารณา ถ้าคุณเจ๊งขึ้นมาจริงๆ ใครจะรับผิดชอบล่ะ? บสย.(รัฐบาล)+ธนาคาร ถูกไหม? และตอนนี้ก็ไม่ใช่ผมเจ้าเดียวที่มีปัญหา คุณก็ยังมีปัญหาแบบเดียวกัน ก็แบ่งๆ กันไปครับ งบมีจำกัด ขอให้ผ่านปีนี้ไปได้ให้เลขมันสวยๆ ไม่ติดลบ และไม่มีข่าวร้ายไปมากกว่านี้ ก็ดีแล้วครับ ถ้าปีหน้าเศรษฐกิจดีขึ้น รัฐบาลเห็นว่าเราไปรอดผ่านมา 1 ปีได้ เขาอาจจะออกโปรฯ ใหม่มาให้อีกก็ได้ ถ้าเปรียบได้นะตอนนี้ผมก็เหมือนๆ กับทีมบอลตำบล ที่งบจำกัด แต่ถ้าผลงานเข้าตาก็อาจมีมาให้อีกครับ ตอนนี้คือ เอาตังไปแค่นี้ และสร้างนวัตกรรม ปรับปรุงสายการผลิตภัณฑ์ เอาไปทำการตลาด

ส่วนข้อ 1 ของคุณ เนี่ยลดมาเหลือ 10% ก็เสมอตัวครับ ยิ่งขายได้มาก ยิ่งมีกำไรจากส่วนต่างภาษีมากมาบริหารกันต่อไป

ส่วนข้อ 2 ของคุณ อันนี้แย้มๆ นะครับ startups ใหม่เนี่ย เป็นอะไรที่น่าสนใจมากครับ ผมกำลังแยกบริษัทใหม่อีก บริษัทนึงทำ R&D ไปเลยเพื่อเข้าโครงการว่าในข่าวไปเลยครับ ก็เป็นข้อดีครับ แยกบริษัทไป แยกบัญชีไปเลย จะได้รู้ไปเลยว่า ที่ผ่านส่วนไหนที่มีปัญหา... ส่วนเขาจะปั้นบัญชียังไงอันนี้ พวกนักบัญชีมองกันออก

ส่วนข้อ 4 ของคุณเนี่ย อันนี้เป็นธรรมดาของนายธนาคารครับ รัฐบาลก็ต้องจูงใจธนาคารบ้าง ถ้าธนาคารปล่อยแล้ว NPL เด้งนี่ เขาก็ต้องเพิ่มเงินสำรองธนาคารกันเจ้งนะครับ... ถ้าเขาไม่อุ่นใจเขาก็ไม่ปล่อยจบ...

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ พยายามจุนกับภาครัฐ และพาร์ทเนอร์ของเราครับ และมาตรการทางเศรษฐกิจไม่ใช่แค่ปัจจัยส่งเสริมอย่างเดียวให้ธุรกิจไปได้ แต่มันยังมีขาอื่นๆ อีกครับ เหมือนกับเราเล่นวงดนตรีครับ เล่นคนเดียวไม่ได้ หรือต่างคนต่างเล่น มันก็ไม่เป็นเพลงสิครับ

ป.ล. ถ้าเป็นไปได้ มี business matching บ้างก็ดีครับ และหวังว่าอเมริกาจะประกาศลด QE ครับ ถ้าลดจริงนี่ผมว่า ผมเห็นแสงสว่างนะปลายอุโมงค์นะ

ขอให้โชคดีกับแคมเปญนี้นะครับ

By: boatboat001
iPhoneWindows
on 8 September 2015 - 22:41 #841172
boatboat001's picture

กลัวจะมีบริษัทใหม่ แต่หน้าเดิมๆ ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด ประหยัดภาษีโดยการซอยเป็นบริษัทย่อยน่ะซี่ ตั้งหลายรอบบิลแหนะ ถ้าจะทำจริงต้องคุมให้เข้มเลยแหละ ตรวจเจอต้องเอาให้หนัก

แต่ถ้าคุมได้ น่าจะเป็นนโยบายที่ดีที่จะช่วยดัน SME/Startup ไทยให้เกิดได้... 5 ปีนี่ตัวชี้วัดเลยนิ ว่าบริษัทจะรอดไม่รอด

By: Architec
ContributorWindows PhoneAndroidWindows
on 8 September 2015 - 22:59 #841185

SME ที่ไม่ได้อยู่ในฐานภาษีมีเยอะมากเพราะไม่รู้ว่าจะทำระบบบัญชีกับต้องจ่ายภาษีอะไรบ้าง

อัญเชิญสรรพากรให้ความรู้ให้กับ SME หน่อยเถอะ ไม่ใช่สักแต่จะนั่งรถตู้มาจิกเรื่องจ่ายภาษีอย่างเดียว

ทุเรศ

By: Mikamura
AndroidUbuntuWindows
on 8 September 2015 - 23:06 #841186 Reply to:841185

ก็เห็นว่าสรรพากรกับ ICT เขากำลังพัฒนาเรื่องโปรแกรมสำหรับทำบัญชีเพื่อให้ SMEs เอาไปใช้งานกันอยู่นะครับ

By: iDan
ContributorAndroidSUSEUbuntu
on 9 September 2015 - 03:55 #841216 Reply to:841185

ถ้าเรานั่งรถไปหาเขา ถามเขาก็ตอบให้นะครับ สรรพากรบางครั้งเขาก็น่ารักนะครับ ไม่ได้แต่สักจิกอย่างเดียว หรือจ้างนักบัญชีสักคนครับ จะช่วยท่านได้ นักบัญชีเดินแตะฝุ่นมีเยอะไปครับ งบเงินเดือน 10000-15000 บาท สำหรับ startup พอได้อยู่ และรางวัลเป็นหุ้นบริษัทแบบนี้น่าจะมีคนสมัครอยู่

By: Hadakung
iPhoneWindows PhoneAndroidWindows
on 9 September 2015 - 05:51 #841222 Reply to:841216

พูดจริงหรอครับที่บริษัทรอจ้างเกือบ25000 ในเขตสมุทรปราการยังไม่มีใครสมัครเลยจนเลิกรับสมัครแก้ปัญหาคนขาดด้วยวิธีอื่นแทนละ

By: mr_tawan
ContributoriPhoneAndroidWindows
on 8 September 2015 - 23:20 #841187
mr_tawan's picture

จริง ๆ แล้วบ.ใหม่ ๆ ส่วนใหญ่ก็ยื่นแบบขาดทุนอยู่แล้วหรือเปล่า ?


  • 9tawan.net บล็อกส่วนตัวฮับ
By: iDan
ContributorAndroidSUSEUbuntu
on 8 September 2015 - 23:29 #841191 Reply to:841187

บางบริษัทที่ปลายสภาพ หรือตั้งได้แล้วมีรายได้เขาก็ยื่นไปแบบตรงไปตรงมาไงครับ...หึ หึ หึ

By: OXYGEN2
ContributoriPhoneAndroidWindows
on 9 September 2015 - 02:44 #841210
OXYGEN2's picture

นโยบายให้ปิดบริษัทเก่าแล้วก่อตั้งบริษัทใหม่ชัดๆ


oxygen2.me, panithi's blog

Device: ThinkPad T480s, iPad Pro, iPhone 11 Pro Max, Pixel 6

By: datalost
AndroidSUSEUbuntuWindows
on 9 September 2015 - 06:02 #841223
datalost's picture

ไม่มีคนมองในแง่บวกบ้างเลยเหรอครับ ว่าสิ่งที่กำลังพยายามจะทำให้ประโยชน์อะไร

By: vitnu
iPhone
on 9 September 2015 - 09:02 #841238

มีแต่คนมองโลกในแง่ร้ายแฮะ SME ที่ลุ่มๆดอนๆมีเยอะแยะ พอไม่มียโยบายที่ช่วย ก็หาว่าอุ้มแต่บริษัทใหญ่ พอออกนโยบายมาก็หาว่าว่า ออกนโยบายมาให้คนซอยบริษัท มันก็แค่เปลี่ยนทิศทางการไหลของเงินรึเปล่า ไม่ต้องไหลเข้าสรรพากร แต่ให้เจ้าของธุรกิจมีเงินเหลือไปทำอย่างอื่นต่อ

By: Architec
ContributorWindows PhoneAndroidWindows
on 9 September 2015 - 10:55 #841282 Reply to:841238

สองวรรคสุดท้ายคุณเข้าใจผิดครับ ที่จริงต้องกลับกัน สรรพากรนี่ยิ้มเลย :\

By: vitnu
iPhone
on 9 September 2015 - 11:21 #841288 Reply to:841282

ท่านผู้รู้ ช่วยชี้แนะข้าด้วยเทอญ :p