Tags:
Node Thumbnail

ซีรีส์ "สัมภาษณ์คนไทยในซิลิคอนวัลเลย์" มาถึงตอนที่ห้าแล้วนะครับ ตอนนี้เราจะมาคุยกับคุณวิทวัส กาญจนฉัตร วิศวกรคนไทยจากบริษัทโฆษณาออนไลน์ Turn Inc. ที่จะมาแนะนำข้อมูลของวงการเทคโนโลยีโฆษณา (Ad Tech)

ในบทสัมภาษณ์นี้ยังเล่าประสบการณ์และเทคนิคการสัมภาษณ์กับบริษัทไอทีชื่อดังหลายแห่ง ข้อมูลเรื่องวีซ่า การเสียภาษี การลดหย่อนภาษี และค่าใช้จ่ายสำหรับการอยู่อาศัยในอเมริกา รวมถึงประเด็นเรื่อง "ภาษาจีน" ในซิลิคอนวัลเลย์ที่อาจสำคัญกว่าหลายคนคิด

No Description

ประวัติความเป็นมา แนะนำตัวแบบคร่าวๆ

ผมเรียนจบปริญญาตรีวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ที่จุฬาฯ และได้มีโอกาสเข้าทำงานที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยผลงานที่คิดว่าหลายคนน่าจะคุ้นหน้าคุ้นตากันคือโปรแกรมเทรดหุ้น Settrade Streaming for iPhone/iPad และ Streaming Pro ครับ

หลังจากนั้นผมมาศึกษาต่อระดับปริญญาโทด้าน Information Technology ที่ Carnegie Mellon University (CMU) ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นมหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ของโลกที่เข้ายากมาก แต่พอมาเรียนแล้วพบว่าสิ่งที่ยากกว่าคือการแข่งขันในมหาวิทยาลัย

เทอมแรกผมคิดว่ามีหน่วยกิตเท่าไหร่ลงเต็มทุกหน่วยกิต ตั้งใจว่าเอาให้คุ้ม พอมาถึงคาบแรกอาจารย์แจก paper พร้อมให้เขียนวิเคราะห์ พอเปิดมา!!! อ่านแทบไม่รู้เรื่องเลย ตรงนี้ต้องบอกเลยว่าคนไทยอย่างเราเป็นรองมาก เพื่อนๆ ชาวอินเดียเขาได้ภาษาอังกฤษกันอยู่แล้ว และเขายังขยันยกมือถามตอบกับอาจารย์ ส่วนเพื่อนคนจีนก็มี textbook หลายเล่มที่แปลเป็นภาษาจีนเสร็จสรรพให้อ่าน

มาถึงจุดนี้ผมมองว่าเราต้องสู้เขาให้ได้ หากเพื่อนผมขยัน ผมต้องขยันมากให้มากกว่าเขา ต้องรู้จักกล้าคิดกล้าถามให้มากขึ้น และใช้ประโยชน์จากผู้ช่วยสอน (TA) ให้มากที่สุด

จากนั้นมาอยู่ที่ซิลิคอนวัลเลย์ได้อย่างไรครับ

โปรแกรมที่ผมศึกษาต้องเรียนทั้งที่แคมปัสหลักที่ Pittsburgh และแคมปัสที่ Silicon Valley ตอนก่อนเรียนจบผมมีโอกาสได้เข้าไปฝึกงานกับ AdsOptimal สตาร์ตอัพเชื้อชาติไทย ของคุณแบดด์ (ปรัชญา) และนี่คือจุดเริ่มต้นของชีวิตใน Silicon Valley ของผม

ในระหว่างที่เรียนอยู่ ทางมหาวิทยาลัยจะมีกิจกรรมเหมือนกับ Job Fair บ้านเรา คือให้บริษัทต่างๆ เข้ามาคัดนักศึกษาเพื่อรับเข้าทำงาน ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่สัมภาษณ์งาน (หลายที่มาก) จนกระทั่งได้ offer มาก่อนที่จะเรียนจบประมาณครึ่งปี หลังจากเรียนจบก็เริ่มทำงานเลยครับ ปัจจุบันผมทำงานที่บริษัท Turn Inc. ในตำแหน่ง Software Engineer ครับ

ผมรู้สึกโชคดีมากที่ก่อนไปเรียนต่อปริญญาโท ผมเลือกไปเรียนภาษาจีนที่เซี่ยงไฮ้เป็นเวลา 4 เดือน เพราะรู้ว่ามาอยู่อเมริกาแล้วต้องเจอคนจีนเยอะ และพอได้เข้ามาทำงานจริงๆ ก็พบว่าเพื่อนที่ทำงานพูดภาษาจีนได้กันถึง 80% เลยครับ ถ้าถามว่ามันจำเป็นไหมที่เราจะต้องพูดได้ สำหรับตัวเนื้องานไม่จำเป็นครับ แต่มันเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงานมากกว่าครับ

No Description

หลายคนอาจไม่รู้จัก Turn อยากให้แนะนำองค์กรว่าทำธุรกิจอะไรบ้าง มีผลิตภัณฑ์อะไร

Turn Inc. เป็นบริษัทในอุตสาหกรรม Ad Tech (สื่อโฆษณาออนไลน์) มีผลิตภัณฑ์เป็น digital marketing platform ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้นักการตลาดสามารถวิเคราะห์ วางแผน ตั้งงบประมาณ และจัดการป้อนโฆษณาผ่านทางระบบ real-time bidding (RTB) ที่ใช้กันเป็นมาตรฐานในปัจจุบัน

พูดง่ายๆ คือเว็บไซต์ส่งข้อมูลผู้เยี่ยมชมให้กับคนกลาง เพื่อให้คนกลางถามบริษัทโฆษณาอย่างผมว่า ต้องการประมูลพื้นที่โฆษณาในเว็บไซต์ของเขาไหม
หากต้องการประมูลก็ให้ส่งราคาและตัวโฆษณากลับมายังคนกลาง เพื่อจะได้เลือกโฆษณาไปแสดงบนหน้าเว็บไซต์ดังกล่าว กระบวนการทั้งหมดที่ว่านี้เกินขึ้นภายใน 10 มิลลิวินาที โดยโฆษณาที่ปรากฏจะตรงตามความต้องการของผู้ใช้งานมากที่สุด ณ เวลานั้น

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราเคยเข้าเว็บร้านค้าเพื่อซื้อจักรยาน แต่เรายังไม่ซื้อ พอเราไปเข้าเว็บอื่น ก็จะเจอโฆษณาของจักรยานตามมาหลอกหลอน บางคนอาจรู้สึกรำคาญกับโฆษณาเหล่านี้ แต่ผมกลับมองว่ามันสามารถเสนอทางเลือกให้เราได้มากขึ้น และยังเตือนความจำให้กับเราอีกด้วย

ความท้าทายในแง่วิศวกรรมมีทั้งเรื่องความเร็วของการคัดเลือกโฆษณาตามที่กล่าวไปแล้ว และมีเรื่องปริมาณโฆษณาด้วย เพราะระบบ RTB ของบริษัทต้องประมวลผลคำสั่งนี้มากกว่า 2 ล้านครั้งต่อวินาที ครอบคลุมผู้ใช้ทั่วโลก ระบบไอทีจึงต้องพร้อมมาก

งานที่ทำอยู่ในบริษัท Turn ตอนนี้ทำอะไรครับ

ทีมของผมทำผลิตภัณฑ์ที่ชื่อ Audience Suite มีหน้าที่เก็บและจัดการข้อมูลของผู้ชมเว็บไซต์ เพื่อเอาไปวิเคราะห์และจัดประเภทผู้ชมว่าคนๆ นี้มี profile เป็นอย่างไร เหมาะสมกับโฆษณาแบบไหนในระบบของเรา แล้วส่งต่อข้อมูลนี้ไปให้ระบบ RTB ครับ

No Description

ประสบการณ์การทำงานในสหรัฐ พบว่าวัฒนธรรมการทำงานแตกต่างกับเมืองไทยมากน้อยแค่ไหน

ต่างกันมากครับ ผมจะแยกออกเป็นข้อๆ เพื่อให้อ่านง่ายขึ้นนะครับ

กระบวนการสมัครงาน

ที่นี่การสมัครงานมักเริ่มต้นจาก LinkedIn โดยฝ่ายบุคคลของแต่ละบริษัทจะติดต่อเราผ่านทาง LinkedIn เริ่มต้นจากมาขอนัดวันโทรคุย, คุยกับ recruiter, recruiter ส่งประวัติให้ทีมต่างๆ ในบริษัท หากมีทีมใดสนใจก็เข้ากระบวนการสัมภาษณ์ โดยการสัมภาษณ์ก็ยังแบ่งเป็น Technical Phone Interview และ Onsite Interview หลังจากนั้นเราจะได้รับผลว่าผ่านหรือไม่ผ่านครับ ถ้าเป็นบริษัทสตาร์ตอัพก็รอไม่นาน แต่ถ้าหากเป็นบริษัทใหญ่อาจต้องรอถึง 2 สัปดาห์

ระบบการทำงาน

บริษัททำงานกันแบบ Agile คือแบ่งเวลาเป็น 2-week sprint, ประชุม stand up วันละ 5-10 นาทีทุกเช้าเพื่อ sync up ระหว่างเพื่อนในทีม, ประเมินงานโดยให้คะแนนตามระดับความยากในแต่ละ task ทุกต้น sprint เพื่อเอามาวางแผน, และประชุม retrospective เพื่อประเมินว่า sprint ที่แล้วมีส่วนไหนที่ทีมเราทำได้ดี ควรจะยกย่อง และส่วนไหนที่ทำไม่ดี ควรจะมอบหมายให้ใครเอาไปปรับปรุงได้บ้าง

ข้อดีของการทำงานลักษณะนี้มันผลักดันให้เรา active ตลอดเวลา รวมถึงส่งเสริมการร่วมมือ ระหว่างเพื่อนในทีมและนอกทีมด้วย ส่วนข้อเสียคือเสียเวลาการทำงานไปกับการประชุมอยู่บ้าง

นอกจากนี้ยังมีการประชุมที่เรียกว่า brown bag session คือใช้เวลาตอนเที่ยงกินข้าวไปฟังไป ซึ่งการประชุมลักษณะนี้มักเป็นการแบ่งปันความรู้ (เช่น tech talk หรือ demo งาน) แบบสบายๆ ไม่เครียด ส่วนที่มาของคำว่า brown bag คือเวลาเราไปซื้ออาหาร ที่ร้านเค้าจะใส่ถุงสีน้ำตาลมาให้เราครับ

การประชุมอีกแบบหนึ่งเรียกว่า dogfooding session คือการขอให้ทุกคน (ไม่ใช่แค่ QA) เสียสละเวลาส่วนตัวมาช่วยกันใช้ผลิตภัณฑ์ของตัวเองในช่วง alpha/beta ครับ จุดประสงค์คือให้ช่วยกันหาบั๊กหรือเสนอแนะสิ่งที่ควรปรับปรุงก่อนปล่อยให้ลูกค้าใช้งานจริง ที่มาของคำนี้มาจากการเปรียบเทียบกับบริษัทที่ผลิตอาหารสุนัข พนักงานก็ควรทดลองชิมอาหารที่บริษัทผลิตก่อนขายให้สุนัขทาน

สังคมการทำงาน

ส่วนนี้แตกต่างจากที่ไทยมากหน่อย เพราะคนที่นี่กลับบ้านกันเร็ว ให้ความสำคัญกับครอบครัวมาก ไม่ค่อยมีการสังสรรค์หลังเลิกงาน หรือแม้แต่วันหยุดก็ไม่ค่อยไปเที่ยวด้วยกัน ต่างจากที่ไทย มีกินข้าวดูหนังเที่ยวต่างจังหวัดกันเป็นประจำ

ผลประโยชน์

การทำงานที่นี่เป็น flexible hours คือมาทำงานกี่โมงก็ได้ แต่ขอให้งานเสร็จ รวมถึงมี unlimited time off ซึ่งอาจน่าอิจฉาสำหรับคนไทยที่ได้อ่านมาถึงจุดนี้ แต่สำหรับผมมันเป็นดาบสองคมครับ เพราะในทางกลับกัน แปลว่าเราทำงานไม่มีวันหยุดเช่นกัน เพราะตอนเราลางานก็จะกังวลถึงงานที่ยังทำไม่เสร็จ มันทำให้เรารู้สึกว่าต้องรับผิดชอบงานสูงขึ้นจนต้องทำงานดึกๆ เพื่อให้ความคืบหน้าของงานยังเป็นไปตามแผนเดิม ไม่เป็นตัวถ่วงให้กับทีม แต่ก็เหมาะสำหรับพนักงานต่างชาติอย่างเราที่จะมีโอกาสกลับไปประเทศได้บ้างตามความเหมาะสม

บริษัทผมมีอาหารฟรีทุกวัน แทบทุกมื้อ ผมมองว่าตรงนี้เป็นผลดีกับตัวบริษัทเอง เพราะพนักงานไม่ต้องเสียเวลาออกไปหาอาหารทาน และสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ เป็นจุดที่บริษัทในไทยน่าลองเอาไปพิจารณานะครับ

นอกจากนี้บริษัทยังใส่ใจกับสุขภาพของพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นยิม จักรยาน หรือแม้กระทั่งโต้ะ เก้าอี้ที่ใช้ในสำนักงาน ก็ยังมีให้พนักงานทดลองนั่งและโหวตก่อนสั่งซื้อด้วยครับ

ส่วนเรื่องค่าตอบแทนก็สูงจริงตามที่หลายคนรู้กัน แต่อย่าลืมคิดเรื่องภาษีและค่าครองชีพด้วยนะครับ

ไหนๆ พูดเรื่องภาษีแล้ว อยากให้อธิบายข้อมูลการเสียภาษีในสหรัฐอเมริกาสักหน่อยครับ

ภาษีรายได้ (income tax) ในอเมริกาแบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ federal income tax (ภาษีส่วนกลาง) และ state income tax (ภาษีของแต่ละรัฐ)

ผู้มีรายได้ต้องจ่ายส่วน federal ในอัตราขั้นบันไดที่เท่ากันทุกรัฐ แต่ส่วน state จะขึ้นกับที่รัฐนั้นกำหนด ซึ่งรัฐแคลิฟอร์เนียที่ผมอยู่นั้นขึ้นชื่อว่าเป็นรัฐที่ค่าครองชีพสูง ภาษีส่วนนี้แพงกว่ารัฐอื่นมาก ในขณะที่รัฐวอชิงตันกลับไม่มี state income tax ทำให้บริษัทไอทีหลายแห่งจึงนิยมไปตั้งออฟฟิศที่เมือง Seattle

ขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพ คนทำงานไอทีใน Silicon Valley ต้องเสียภาษี federal income tax อย่างน้อย 28% และเสียภาษี California income tax อย่างน้อย 10% นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายส่วนอื่นที่ต้องโดนหักด้วย เช่น ประกันสังคม

เรื่องการลดหย่อนภาษี ที่นี่ยังมีการแบ่งประเภทว่าผู้เสียภาษีถือว่าเป็นคนที่ "อยู่อาศัย" ที่นี่หรือไม่ (resident หรือ non-resident) ข้อแตกต่างอยู่ที่จำนวนเงินที่เราสามารถหักรายได้ก่อนเอามาคำนวณภาษีครับ และมีส่วนที่คล้ายกับ LTF/RMF ของบ้านเรา (กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ) ที่นี่เรียกว่ากองทุน 401k และ IRA ครับ ซึ่งเอามาคำนวณลดหย่อนได้เช่นกัน

สำหรับคนไทยที่ถือวีซ่านักเรียน (F-1) จะมีสิทธิลดหย่อนภาษีเพิ่มบ้าง เพราะอเมริกาทำสนธิสัญญาเรื่องภาษีกับหลายประเทศ กรณีของคนไทยไทยจะมีสิทธิหักรายได้ก่อนคำนวณภาษีจำนวนหนึ่ง แต่ได้เฉพาะ 5 ปีแรกที่เข้ามาอาศัยในอเมริกา ที่พูดถึงตรงนี้เพราะหลังเรียนจบ นักเรียนไทยจะมีสิทธิทำงานในอเมริกาได้อีก 12 เดือน (Optional Practical Training - OPT) แต่ถ้าเป็นสายเทคโนโลยี (STEM) จะสามารถยืดเวลาได้เพิ่มอีก 17 เดือน รวมเป็น 29 เดือน โดยยังใช้วีซ่านักเรียนของเดิม แต่เมื่อนักเรียนคนนั้นได้วีซ่าทำงาน (H-1B) จะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นอีกเยอะพอสมควร เพราะถือว่าคุณเป็นคนทำงานเต็มตัวแล้ว

เนื่องจากอเมริกามีอัตราภาษีที่ค่อนข้างสูง เรื่องการขอคืนภาษีหรือ tax return เลยซับซ้อนและสำคัญมาก คนที่นี่จึงนิยมซื้อโปรแกรมช่วยทำภาษีหรือไม่ก็จ้างคนช่วยทำให้ เพราะการทำภาษีต้องคำนวณปัจจัยหลายอย่าง และมีข้อยกเว้นเต็มไปหมด

ค่าใช้จ่ายที่สำคัญอีกอย่างสำหรับชาว Silicon Valley คือค่าเช่าบ้านครับ เพราะค่าบ้านของเขตนี้สูงติดอันดับต้นๆ ในอเมริกาเลย ดังที่บางท่านอาจเคยเห็นข่าวชาวเมือง San Francisco บางคนรวมตัวกันประท้วงบริษัทไอที หรือเกลียดคนทำงานสายไอทีเพราะมีส่วนที่ทำให้ค่าเช่าบ้านสูงขึ้น ดังนั้นคนที่มาทำงานที่นี่บางคน เมื่อมีหน้าที่การงานพร้อมวีซ่าที่มั่นคงเลยนิยมซื้อบ้าน แม้ว่ามูลค่าจะสูงมาก แต่ก็คุ้มกว่าการจ่ายค่าเช่าบ้าน แต่ไม่ได้ทรัพย์สินอะไร แถมการซื้อบ้านยังช่วยให้เราลดภาษีได้อีกเยอะเลย

No Description

เนื่องจากเคยสัมภาษณ์งานมาเยอะ มีอะไรอยากแชร์เรื่องกระบวนการสัมภาษณ์บ้างไหมครับ?

ตอนอยู่มหาวิทยาลัย ผมก็เริ่มหาทางติดต่อ recruiter ด้วยวิธีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นร่วมกิจกรรม career fair, สมัครงานในระบบ career service ของมหาวิทยาลัย, ให้เพื่อนที่ทำงานในบริษัทแต่ละแห่ง reference ให้ หรือพยายามอัพเดต LinkedIn เสมอๆ

หลังจาก recruiter ติดต่อเรามาแล้ว กระบวนการแตกต่างกันไปตามแต่ละบริษัท แบ่งคร่าวๆ ได้ 4 ประเภทครับ

  1. โทรมาคุย สัมภาษณ์ประสบการณ์การทำงานของเรา ถามว่าทำไมเราถึงสนใจบริษัทของเขา รวมถึงตำแหน่งงานที่บริษัทเปิดรับอยู่ หลังจากนั้นค่อยนัดวัน technical phone interview เป็นการสัมภาษณ์พร้อมเขียนโค้ดไปด้วย หรือทดสอบผ่านบริการ online collaboration ต่างๆ ยกตัวอย่างที่นิยม Collabedit, Codepair และ Google Docs ส่วนใหญ่แล้วเรามักต้องผ่าน phone interview ประมาณ 1-2 รอบ
  2. คุยกันในอีเมล แล้วนัด technical phone interview กันเลย
  3. บริษัทจะส่ง technical challenge เป็นโจทย์หรือโปรเจ็กต์เล็กๆ มาให้เราทำให้เสร็จภายในเวลาที่กำหนด
  4. ถ้าเราอยู่ใกล้ออฟฟิศของเขา เขาโทรมาคุยก่อน แล้วนัดไปสัมภาษณ์รอบแรกที่นั่นเลยครับ

การสัมภาษณ์รอบ technical phone interview ถ้าเป็นบริษัทเล็กมักรู้ผลภายในวันเดียวกันเลย แต่ถ้าบริษัทใหญ่อาจต้องรอประมาณหนึ่งสัปดาห์

หลังจากผ่าน phone interview แล้ว recruiter จะนัดสัมภาณ์ on site interview ไปคุยที่บริษัท ซึ่งมักกินเวลาทั้งวัน กระบวนการประกอบด้วยการสัมภาษณ์ตัวต่อตัวกับ engineer หรือ manager ซึ่งอาจมีถึง 3-5 รอบ รอบละ 45-60 นาที พร้อมกินข้าวเที่ยงและพาทัวร์ในบริษัทไปด้วยเลย เพื่อให้เราได้เห็นบรรยากาศการทำงาน และอาจได้ทำความรู้จักกับ engineer ในบริษัทนั้นด้วย

หลังจากสัมภาษณ์ on site เสร็จแล้วก็ต้องรอฟังผลครับ บางที่ก็รู้ผลเย็นวันนั้นเลย บางที่ก็รอเกือบสัปดาห์ แต่ถ้าบริษัทใหญ่มากอาจต้องรอถึง 2 สัปดาห์

ถ้ามีคำแนะนำให้น้องๆ รุ่นหลังที่อยากมาทำงานด้านเกี่ยวกับไอทีในสหรัฐ มีอะไรบ้าง

เรื่องภาษาเป็นสิ่งสำคัญมาก ในกรณีที่มาเรียนต่อที่อเมริกาก่อนสมัครงาน อย่าคิดว่าจะสอบ TOEFL หรือ GRE เพียงเพื่อให้ได้เข้ามหาวิทยาลัยเท่านั้น เพราะเป็นสิ่งจำเป็นมากในการเรียน และถ้าเป็นไปได้ก็แนะนำเรียนภาษาจีนครับ เพราะคนจีนทำงานสายไอทีมีเยอะจริงๆ

ประเด็นเรื่องการมาเรียนต่อก่อนสมัครงาน ค่อนข้างจำเป็นเพราะบริษัทที่นี่สนใจเด็กที่จบที่อเมริกามากกว่า สาเหตุหนึ่งคือบริษัทรู้จักชื่อมหาวิทยาลัยดีอยู่แล้ว
ทำให้มีโอกาสถูกเรียกมาสัมภาษณ์มากขึ้น สาเหตุที่สองคือเรื่องวีซ่า เพราะนักเรียนที่เรียนสาย STEM (Science, Technology, Engineering and Mathematics) จะมีสิทธิทำงานต่อหลังเรียนจบโดยไม่ต้องขอวีซ่าเพิ่มเติมได้สูงสุด 2 ปีกว่า

แต่เรื่องการจบอเมริกาก็ไม่ใช่เกณฑ์ตายตัวเสมอไป เพราะผมก็เห็นหลายคนสามารถมาทำงานที่อเมริกาโดยไม่ต้องจบที่อเมริกาอีกเหมือนกัน มีวิธีสร้าง profile หลายอย่างให้บริษัทสนใจเรา เช่น ร่วมเขียนโค้ดบน GitHub ก็เป็นช่องทางหนึ่งที่ส่งผลให้ recruiter ติดต่อขอสัมภาษณ์งานเรา ช่วงนี้อุตสาหกรรมไอทีในอเมริกาต้องการคนมาก ถือเป็นช่วงเวลาทองของคนทำงานสายวิศวกรรมซอฟต์แวร์ครับ

Get latest news from Blognone

Comments

By: BLiNDiNG
AndroidUbuntuWindowsIn Love
on 19 July 2015 - 02:07 #828240
BLiNDiNG's picture

ใช่คนนี้รึเปล่าครับ หน้าคุ้นๆ

alt="google"

By: m3rlinez on 19 July 2015 - 02:27 #828243 Reply to:828240

เข้ามารอดูรูปนี้เลยครับ :-)

By: kookai
AndroidWindows
on 19 July 2015 - 03:04 #828244 Reply to:828240

ใช่ครับ 55

By: wiennat
Writer
on 19 July 2015 - 06:56 #828255 Reply to:828240

ใช่ครับ


onedd.net

By: X_Changer on 19 July 2015 - 09:17 #828268 Reply to:828240

คิดว่าใช่นะครับ...

By: bluezip
AndroidUbuntuWindows
on 19 July 2015 - 02:13 #828241

เดี๋ยวก็มีคนพูดเรื่องถึง สถาบันอีก ต้มมาม่ารอดีกว่า

By: Jonathan_Job
WriteriPhoneUbuntuWindows
on 19 July 2015 - 02:20 #828242 Reply to:828241
Jonathan_Job's picture

ลองเช็ค ranking ก่อน CMU ด้าน Computer Science นี่ top 5 นะครับ

By: uthan
ContributoriPhoneAndroidWindows
on 19 July 2015 - 03:06 #828245 Reply to:828242

ผมว่าหมายถึง วิศวะจุฬา มากกว่านะ

By: kookai
AndroidWindows
on 19 July 2015 - 03:17 #828246 Reply to:828242

ตานี่ไม่ได้เรียน Computer Science โดยตรงครับ ครับ แต่เรียน Information Networking Institute เหอๆๆ แต่ผมก็ยังงงว่ามันจะดรามายังไง

ที่นี่เค้าไม่ดูหรอกครับว่าจบที่ไหน ไม่ว่าจะตอนสมัครเรียน หรือว่าตอนสมัครงาน ขอให้มีความสามารถถึงก็พอ ผมจบพระจอมมาตอนนี้ก็เรียนอยู่ในคณะที่ติด Top 10 ไม่เห็นเค้าจะเลือกปฏิบัติตรงไหน แต่ว่ามหาลัยที่จบก็มีผลในเรื่อง Connection และ Reference ที่อาจจะทำให้ได้สัมภาษณ์ได้ง่ายขึ้น เน้นว่าสัมภาษณ์นะครับ ไม่ได้บอกว่ารับง่ายขึ้น เพราะว่าบริษัทอาจจะมีความสัมพันธ์ หรือความประทับใจในนักศึกษาที่จบจากมหาลัยนั้นๆ ทำให้พอเห็นว่าเราจบจากที่นี่ก็จะเป็น option แรกๆในการเรียกสัมภาษณ์

ส่วนเรื่องจะรับไม่รับเค้าให้ทำข้อสอบเหมือนกันหมดล่ะครับ ทำไม่ได้ก็ไม่รับ แค่นั้นเอง ไม่ว่าจะมาจากมหาลัยไหน

ปล.สังเกตเห็นหมู กะยีราฟด้วย ไม่รู้ตั้งใจให้ถ่ายให้เห็นหรือเปล่า 555

By: wiennat
Writer
on 19 July 2015 - 06:56 #828254 Reply to:828246

หมูกับยีราฟนี่ตั้งใจแน่ๆ ครับ

ผมนี่เปิดมารอดูเลย


onedd.net

By: Jonathan_Job
WriteriPhoneUbuntuWindows
on 19 July 2015 - 09:51 #828280 Reply to:828246
Jonathan_Job's picture

ขออภัย ผมเข้าใจผิดเองครับ

จะว่าไป ผมเคยสมัคร INI (InfoNet) 7 ปีก่อน เพื่อนที่นั่นเคยแซวเหมือนกันว่า INI นี่มีนร.อินเดียเยอะมาก จนมันก็สงสัยว่า I มันย่อมาจาก Information แน่นะ 555

By: kookai
AndroidWindows
on 20 July 2015 - 00:17 #828467 Reply to:828280

อย่างไม่เป็นทางการ INI คือ Indian Institute ครับ 55 อันนี้ผมล้อเล่นนะครับ แต่มีเยอะจริง เวลาบ่นพวกนี้ใน FB ตาแว่นในบทความจะใช้โค้ดลับครับ ไม่งั้นกด GG translate แล้วมันจะรู้

By: bluezip
AndroidUbuntuWindows
on 19 July 2015 - 03:30 #828247 Reply to:828241

ที่จริงผมจะพูดถึงการสัมภาษณ์เด็กจากจุฬาอีกแล้ว ก่อนหน้านี้ก็มีประเด็นนี้แล้ว

By: kookai
AndroidWindows
on 19 July 2015 - 03:44 #828248 Reply to:828247

ออ เพิ่งเห็นครับ ผมว่าไม่แปลกหรอกครับ 70-80% ของเด็กไทยใน Pittsburgh (ผมว่าน่าจะจริงกับมหาลัยอื่นๆในเมกาด้วยเหมือนกัน) ที่มาเรียนป.โท มาจากจุฬาครับ (อีก 20% มาจากเกษตร พระจอม มหิดล และอื่นๆ) ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าเด็กจุฬามากกว่าครึ่งจะค่อนข้างเก่งกว่ามหาลัยอื่นอยู่แล้ว ทำให้โอกาสในการมาเรียนต่อค่อนข้างสูงกว่า ในขณะที่เด็กที่จบจากมหาลัยอื่นๆมีเปอร์เซ็นต์น้อยมากที่จะมาเรียนต่อทำให้ไม่ค่อยเห็นครับ

เลิกดรามาเรื่องนี้เถอะครับ ถึงว่ามันจะไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่เป็นแบบนี้ แต่ก็เป็นเพราะความสามารถส่วนตัวแหละครับ ที่ทำให้หลายๆคนมาถึงจุดนี้ได้

By: tg-thaigamer
ContributoriPhoneAndroidBlackberry
on 20 July 2015 - 22:19 #828600 Reply to:828247
tg-thaigamer's picture

นั่นสินะ จุฬาอีกแว้ววว


มือใหม่!! ใหม่จริงๆนะ

By: phakphumi
AndroidWindows
on 19 July 2015 - 07:54 #828259

จริงๆก็ไม่อยากให้มองว่าเป็นดราม่า มันเป็นแค่ความภูมิใจของหลายๆคนเท่านั้นที่เห็นรุ่นพี่ได้ดี และอยากเอาเป็นแบบอย่าง ทำให้มีกำลังใจในการสู้เผื่อจะมีโอกาสไปในจุดที่พี่เขาอยู่บ้าง

ผมก็อยากจะลองเกริ่นเส้นทางความสำเร็จที่ข้องเกี่ยวกับการศึกษาซักนิดนึง(ไม่เกี่ยวกับแรงบันดาลใจ) คือก่อนที่พี่ๆพวกนี้จะไปต่อโทย่อมต้องมีผลงานก่อนซึ่งส่วนมากย่อมเป็นงานวิจัยหรืองานที่อาจารย์ให้นิสิตช่วยทำ ความหมายของมันก็คือผลงานที่เกิดขึ้นมันเกิดขึ้นภายในมหาลัยนั้นๆ โดยมีอาจารย์เป็นตัวกระตุ้น/เป็นที่ปรึกษาให้โปรเจคนั้นๆสำเร็จ พอผลงานพวกนั้นได้ตีพิมพ์ พอนิสิตไปสมัครต่อโทนอกมหาลัยเขาก็ให้ความเชื่อถือผลงานที่ทำมาจึงรับเข้าเรียน พอจบโท บริษัทต่างชาติก็อยากรับเพราะผลงานที่ทำมาตั้งแต่ ป.ตรี-ป.โท

อาจารย์ที่ปรึกษาค่อนข้างจะมีผลต่อโปรเจคของเราเลยว่ามันจะออกมาดีแค่ไหน ด้วยประสบการณ์ท่านมีสามารถชี้แนวทางให้เราได้

และอันที่จริงผมไม่ได้หมายถึงมหาลัยใดมหาลัยหนึ่ง จะเรียนที่ไหนคุณก็ทำได้ แค่คุณพยายามกับหา advisor ที่ดีพอ โปรเจคคุณก็จะเป็นตัวปูพรมไปสู่ความสำเร็จเอง

แต่ก็มีอีกช่องทางหนึ่งนอกจากการศึกษาคือผลงานจากการทำงานจริงครับ :)

เลิกดราม่าได้ละ

By: phakphumi
AndroidWindows
on 19 July 2015 - 07:59 #828261 Reply to:828259

อีกนิด มีหลายบริษัทของต่างชาติที่เรียกคนเข้าทำงานจากผลงานใน github ด้วยนะครับ

ถ้าผลงานคุณน่าสนใจพอ และตรงกับ requirement ของบริษัท

By: hotnan
iPhone
on 19 July 2015 - 09:31 #828272

คนทำงานไอทีในอเมริกาถ้าสมมุติโปรไฟล์อย่างน้องข้างบนนี่เงินเดือนได้กันเฉลี่ยเท่าไหร่อะครับ

หลักแสนบาทต่อเดือน?

By: Jonathan_Job
WriteriPhoneUbuntuWindows
on 19 July 2015 - 09:57 #828282 Reply to:828272
Jonathan_Job's picture

ดูได้จากใน Glassdoor.com ครับ เลือกตำแหน่ง+เมือง/รัฐ

By: wiennat
Writer
on 19 July 2015 - 13:55 #828336 Reply to:828272

แต่อย่าลืมหักค่าครองชีพ + ภาษีแพงมหาโหดด้วยนะครับ

เช่นค่าเช่าห้องรูหนูเดือนนึงหลักพันเหรียญ เป็นต้น


onedd.net

By: ajaxpp on 19 July 2015 - 09:51 #828279

อยากรู้ว่าบริษัทต่างชาติ เขาให้ทำ "technical challenge เป็นโจทย์หรือโปรเจ็กต์เล็กๆ" มันประมาณไหน มีตัวอย่างมั้ย

By: teezee
iPhoneWindows PhoneAndroidWindows
on 19 July 2015 - 13:57 #828337 Reply to:828279

บางที่ให้เขียน algorithm หานู่นหานี่แบบข้อสอบในมหาลัยครับ

แต่บางที่ก็ให้เรา share screen แล้วโยน issue มาให้เราแก้เลยก็มี

By: skycreeper
iPhoneBlackberryUbuntu
on 22 July 2015 - 01:17 #828820 Reply to:828279

โจทย์คล้ายๆ การบ้าน algorithm ของ ป ตรี หรือยากกว่านั้น แต่ไม่ยากแบบโจทย์โอลิมปิก ยกตัวอย่าง:
- ให้หาว่าใน Linked list มี loop หรือไม่
- ให้หาพื้นที่สี่เหลี่ยมจัตุรัสที่ใหญ่ที่สุดในแผนที่
- ฯลฯ

ส่วนโปรเจกต์เล็กๆ ก็ขึ้นกับบริษัท เพราะโจทย์จะเกี่ยวเนื่องกับงานที่ทำจริงๆ เช่น ถ้าเป็นบริษัทที่ทำเกี่ยวกับ search โจทย์ก็จะเป็นการทำ search engine แบบง่ายๆ เป็นต้น เวลาที่ให้ทำก็ประมาณ 2-3 วัน แล้วต้องส่ง source code หรือบางที่ก็ให้เราเขียน document ด้วย

By: panurat2000
ContributorSymbianUbuntuIn Love
on 19 July 2015 - 15:02 #828345
panurat2000's picture

หรือแม้กระทั่งโต้ะ เก้าอี้ที่ใช้ในสำนักงาน

โต้ะ => โต๊ะ

กรณีของคนไทยไทยจะมีสิทธิหักรายได้ก่อนคำนวณภาษีจำนวนหนึ่ง

คนไทยไทยจะมีสิทธิ ?

By: btoy
ContributorAndroidWindows
on 20 July 2015 - 09:44 #828499
btoy's picture

เก่งมากครับ


..: เรื่อยไป