Tags:
Node Thumbnail

กระทรวงศึกษาธิการของเกาหลีใต้ประกาศแผนร่วมกับกระทรวงอื่นๆ ในการพัฒนาแรงงานป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมดิจิทัล โดยตั้งเป้าผลิตแรงงานมีทักษะให้ได้ 1 ล้านคนภายในปี 2026 ซึ่งในการนี้จะมีทั้งการเพิ่มหลักสูตรการเรียนในระดับประถมศึกษา, มัธยมศึกษาให้มีชั่วโมงการเรียนการสอนวิชาไอทีเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า รวมทั้งกำหนดให้สถานศึกษาสอนการเขียนโค้ดโปรแกรมคอมพิวเตอร์

ในจำนวนเป้าหมาย 1 ล้านคนนี้ ยังได้แบ่งย่อยลงไปตามระดับการศึกษาของกลุ่มแรงงาน อันได้แก่ แรงงานที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาหรือวิทยาลัยในระดับเทียบเท่า 160,000 คน, กลุ่มที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี 710,000 คน และอีก 130,000 คนคือเป้าหมายของแรงงานดิจิทัลที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโทหรือปริญญาเอก

การเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการศึกษาจะเริ่มตั้งแต่ระดับประถมศึกษาให้เพิ่มชั่วโมงเรียนวิชาไอทีจาก 17 ชั่วโมงเป็น 34 ชั่วโมง และในระดับมัธยมศึกษาให้เพิ่มจำนวนชั่วโมงเรียนวิชาไอทีจาก 34 ชั่วโมงเป็น 68 ชั่วโมง โดยจะดำเนินการปรับเปลี่ยนหลักสูตรให้แล้วเสร็จภายในปี 2025 โดยจะมีทั้งการสอนเรื่องการคิดเชิงคำนวณ (computational thinking) และการเขียนโปรแกรมรวมทั้งภาษาคอมพิวเตอร์ต่างๆ

No Description

ส่วนโรงเรียนวิทยาศาสตร์หรือห้องเรียนพิเศษสำหรับกลุ่มนักเรียนที่มีความฉลาดโดดเด่น ก็จะมีการจัดหลักสูตรพิเศษด้านซอฟต์แวร์และปัญญาประดิษฐ์ให้ได้เรียนกันตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนที่จะเข้ารับการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น

พร้อมกันนี้ทางกระทรวงยังเตรียมยกเลิกข้อกำหนดที่เคยบังคับใช้กับสถานศึกษาต่างๆ ก่อนหน้านี้ ซึ่งมีการควบคุมการเปิดแผนกหรือคณะที่จัดการสอนเกี่ยวกับอุตสาหกรรมดิจิทัลมิให้มีจำนวนมากเกินไป การยกเลิกข้อกำหนดนี้จะทำให้สถาบันสถานศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศสามารถเปิดแผนกและคณะทำการสอนวิชาที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมดิจิทัลได้มากขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการยกเลิกข้อข้อกำหนดเรื่องจำนวนสูงสุดของผู้เรียนต่อคณะ ทำให้สถานศึกษาเดิมที่มีการเรียนการสอนในศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมดิจิทัลอยู่ก่อนแล้วสามารถรับผู้เรียนเพิ่มขึ้นได้อีก เพียงแค่ยังคงต้องรักษาคุณภาพการสอนให้เป็นไปตามมาตรฐานของกระทรวง

และเริ่มตั้งแต่ปีหน้าจะมีการจัดกิจกรรมเข้าค่ายในระดับมหาวิทยาลัยเพื่อสร้างการเรียนรู้เชิงบูรณาการเรื่องการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับสาขาวิชาชีพงานด้านอื่นๆ อาทิ การใช้เทคโนโลยีในแง่มนุษยศาสตร์, สังคมศาสตร์ รวมทั้งการพัฒนาด้านศึกษาศาสตร์ด้วย

ยิ่งไปกว่านั้นกระทรวงยังมีแผนเปิดสถาบันการศึกษาในระดับบัณฑิตวิทยาลัยโดยมุ่งเน้นศาสตร์เฉพาะด้าน ทั้งด้านปัญญาประดิษฐ์, เทคโนโลยี VR, ความปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ ตลอดจนเทคโนโลยีด้าน big data อีกด้วย ทั้งนี้กระทรวงมีแผนที่จะให้เกาหลีใต้มีมหาวิทยาลัยด้านซอฟต์แวร์ครบ 100 แห่ง ภายในปี 2027

ในระยะสั้นนี้กระทรวงศึกษาธิการคาดว่าสถานศึกษาต่างๆ อาจต้องใช้วิธีการจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีมาให้คำแนะนำและทำการสอนไปก่อนเป็นการชั่วคราว แต่ในระยะยาวจะมีการศึกษาเรื่องความต้องการครูเฉพาะทางเพื่อพัฒนาบุคคลากรครูให้เพียงพอต่อความต้องการของสถานศึกษาด้วย

การประกาศนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการในครั้งนี้ เป็นการตั้งนโยบายขยายวงมาจากเป้าหมายพัฒนาแรงงานฝีมือสู่อุตสาหกรรมเซมิคอนดัคเตอร์ให้ได้ 150,000 คนในช่วง 10 ปีข้างหน้า โดยแผนงานของกระทรวงศึกษาธิการนี้มองภาพรวมของอุตสาหกรรมดิจิทัลว่าต้องการแรงงานประเภทต่างๆ ไม่น้อยกว่า 738,000 คนในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ยังมองว่าการเติบโตของอุตสาหกรรมธุรกิจกลุ่มอื่นก็อาจเพิ่มความต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านแพลตฟอร์มดิจิทัลเพิ่มตามขึ้นไปยิ่งกว่านั้นได้อีก

สำหรับประเทศไทยเรานั้น กระทรวงการศึกษาก็ได้กำหนดนโยบายและจุดเน้นในการทำงานประจำปีนี้ออกมาเช่นกัน โดยมีเรื่อง "การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์" แตกย่อยออกเป็นนโยบาย 13 ข้อซึ่งรวมถึงการพัฒนาวงการไอที ดังที่ได้ประกาศไว้ดังนี้

ICT (Information and Communication Technologies) เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ประกอบด้วย 7 เรื่องย่อย ได้แก่ (1) Data Center ศูนย์ข้อมูลกลาง (2) Big Data ข้อมูลขนาดใหญ่ (คลังข้อมูล การนำข้อมูลมารวมกัน) (3) Platform (e-library e-learning และ Teaching Resource Platform) (4) e-book (5) e-office e-mail และ document (6) ระบบบริหารจัดการห้องเรียน School และ Classroom Management และ (7) โครงสร้างพื้นฐาน Infrastructure (Internet)

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าแผนงานของกระทรวงศึกษาธิการของไทยก็จะให้ความสำคัญในการเดินหน้าตามนโยบายที่ได้วางเอาไว้ให้บรรลุผลสำเร็จจริง

ที่มา - The Korea Herald, Yonhap

Get latest news from Blognone

Comments

By: rattananen
AndroidWindows
on 22 August 2022 - 16:44 #1258948

เอาจริงๆ สมัยนี้ควรให้ความสำคัญกับ
วิชา IT เท่ากับ วิทยาศาสตร์ เลยด้วยซ้ำ
เพราะ internet กับ electronic device แทบจะเป็นปัจจัย 5 อยู่แล้ว

By: freeriod on 22 August 2022 - 17:40 #1258955
freeriod's picture

น่าสงสาร เด็กเกาหลี ถ้าจะเคลียดน่าดู

By: 9rockky
AndroidIn Love
on 22 August 2022 - 21:38 #1258984 Reply to:1258955

เด็กผู้ชายเครียดรอบด้าน ทั้งสถานศึกษา ทั้งครอบครัว ทั้งภาระการทหาร ก็น่าสงสารนะ แต่สงสารผู้หญิงเกาหลีที่กลายเป็นที่ระบายอารมณ์ต่างๆมากกว่า

By: sdc on 22 August 2022 - 17:54 #1258956

ของไทยควรทำแบบนี้บ้าง ยกเลิกวิชาเรียนบางตัว และปรับให้เข้ากับสมัยใหม่ เช่น
ปรับวิชาประวัติศาสตร์ ไทย ให้ทันสมัย ไม่อวยแค่ฝั่งไทย
เน้นวิชาประวัติศาสตร์สากลให้เยอะขึ้น
เน้นวิชาวิทยาศาสตร์ IT และคณิตศาสตร์ให้เยอะขึ้น
IT เน้นภาษา C หรือ Python ที่เขียนง่ายๆ
เพิ่มวิชากฎหมายเบื้องต้น
ยกเลิกวิชาศาสนาพุทธ ให้เป็นศาสนาสากล
ยกเลิกวิชาสังคม และเพิ่มวิชามนุษยศาสตร์

ลดงบทหารลงเหลือ 15% ของงบทั้งหมด(เหล่าทัพละ 5-6%) และเอาไปเพิ่มในส่วนของวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ วิจัย IT และส่วนอื่นๆ แทน

เหตุผลที่ลดก็เพราะยังมองไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องซื้อเพราะของเก่ายังใช้ได้ดี และที่มีอยู่ก็ไม่ได้ทำอะไรเลย(ดูจากกรณีทหารพม่าเข้ามาในเขตไทยก็ไม่ได้ทำอะไร)

By: Architec
ContributorWindows PhoneAndroidWindows
on 22 August 2022 - 18:30 #1258958 Reply to:1258956

วิชาเยอะไปครับ ความเยอะของหลักสูตรทำร้ายเด็กทางอ้อมมานักต่อนักครับ ให้เด็กโฟกัสกับสิ่งที่เด็กสนใจและจำเป็นแค่ 5-6 วิชาต่อสัปดาห์ก็พอแล้วครับ

ถ้ามีแบบเด็กเลือกครูและวิชาได้ แล้วไล่ครูที่ไม่มีเด็กอยากเรียนด้วย ผมว่ากระทรวงคงประหยัดงบประมาณไปได้มหาศาลเลย

By: 9rockky
AndroidIn Love
on 22 August 2022 - 21:47 #1258988 Reply to:1258956

เด็กเยอรมันตอนนี้เรียน 4 จากโรงเรียนเองครับ
วิชาการ 2 คือ คณิต กับ สังคม (วิทย์บูรณาการกับสังคมได้)
ภาษา 2 คือ อังกฤษ (สากล) กับ เยอรมัน (ในบ้าน)
เวลาที่เหลือใช้กับความชอบส่วนตัว มีครูเป็นmentorดึงศักยภาพ
ประเทศที่แบก EU เขาทำแบบนี้

By: iqsk131 on 23 August 2022 - 12:02 #1259070 Reply to:1258956

เห็นด้วยกับความเห็นย่อยด้านบนครับ

ปัญหาของการศึกษาไทย ไม่ใช่แค่หลักสูตรไม่ทันสมัย แต่วิชาเรียนมันเยอะเกินไปครับ

พอวิชาเรียนเยอะ การบ้านก็เยอะ การสอบก็เยอะ ข้อสอบก็ยกระดับสูงขึ้นไปเรื่อยๆ มีเพียงคนเก่งไม่กี่คนเท่านั้นแหละที่รับมือทุกอย่างด้วยตัวเองได้

ผลลัพท์ก็คือ... เด็กที่จบมา มีความรู้เยอะ แต่ขาดทักษะหลายๆอย่าง โดยเฉพาะ ทักษะการเรียนรู้ ทักษะการคิดวิเคราะห์ เพราะด้วยหลักสูตรที่มาก การเรียนการสอนจึงต้องเปลี่ยนจากให้เด็กเรียนรู้คิดวิเคราะห์เป็นการป้อนความรู้ให้เด็กตรงๆ (ไม่งั้นไม่ทันตามหลักสูตร) รวมถึงการหาติวเตอร์เพื่อป้อนความรู้ให้ด้วย

นอกจากนี้... ด้วยความที่ใช้เวลากับการเรียนมากเกินไป ทำให้เวลาในการค้นหาตัวเองน้อยลง ไม่มีเวลาไปลองทำสิ่งที่ตัวเองชอบ ทำให้ไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร การเลือกมหาลัยฯจึงทำได้ยาก และหนีไม่พ้นที่จะต้องเลือกตามพ่อแม่/เพื่อน และก่อให้เกิดปัญหาต่างๆตามมา

โดยส่วนตัวผมคิดว่าในวัยประถม-มัธยมเนี่ย เราควรให้ความสำคัญกับเรื่องทักษะที่เขาใช้ได้ตลอดไป เช่น ทักษะการเรียนรู้ การคิดวิเคราะห์ อะไรพวกนี้ ให้ความรู้แค่เท่าที่จำเป็น และให้เวลาให้เขาได้ลองทำอะไรหลายๆอย่างเพื่อให้รู้ว่าเขาชอบอะไร มากกว่าให้เพียงแค่ความรู้ที่อาจไม่จำเป็นกับเขาในอนาคตเพียงอย่างเดียวครับ

ปล. ผมเคยเป็นผู้ช่วยอาจารย์ในมหาลัยฯที่ไม่ได้มีแต่เด็กหัวกะทิอยู่ช่วงนึง ก็เลยพอเห็นได้คร่าวๆว่าเด็กมัธยมที่จบมาเป็นยังไงไม่มากก็น้อย

By: sian
Windows PhoneAndroidWindows
on 23 August 2022 - 14:07 #1259088 Reply to:1259070
sian's picture

+1

By: Architec
ContributorWindows PhoneAndroidWindows
on 22 August 2022 - 17:50 #1258957

ผลิตเพื่อรับใช้แชโบล?

วกกลับมาที่บ้านเรา คอมเครื่องนึงเรียนกันสอง-สามคน คนนึงคลิกส่วนอีกคนแค่ดู บางโรงจำหน่ายทิ้งหมดแล้ว เห็นบอกให้หัดโค้ดโปรแกรมทำส้มตำมันได้ประโยชน์อะไรฟระ???

By: 9rockky
AndroidIn Love
on 22 August 2022 - 21:29 #1258983 Reply to:1258957

อยู่แล้ว แชโบลแบกประเทศ

By: psemanssc
Blackberry
on 23 August 2022 - 00:02 #1259001 Reply to:1258957

แต่แชโบลเค้าแบกประเทศมาได้ไกลมากนะ

By: EwwGirlYoureSoToxic on 23 August 2022 - 09:38 #1259037

เรียนไอที ปลูกฝังความคิดที่เป็นตรรกะ Logic
มีCritical Thinking ยกระดับความคิด ไม่งมงาย แบบห้ามถาม ห้ามสงสัย
แบบนี้ ได้ตาสว่างกันเกือบทุกคน