ผู้ที่ติดตามข่าวสารเกมไทย คงได้ยินข่าวการรีแบรนด์ของสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย หรือ TGA (Thai Game Software Industry Association)โดยมีคุณเนนิน อนันต์บัญชาชัย เป็นนายกสมาคมพร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่
Blognone มีโอกาสได้สัมภาษณ์คุณเนนิน พูดคุยถึงเกมไทยหลายเรื่อง ตั้งแต่ เป้าหมายการรีแบรนด์ TGA, วิวัฒนาการคนเล่นเกม บทบาทของคุณเนนินก่อนจะมาเป็นนายกฯ สมาคม ความคาดหวังของตลาดเกมไทย และเป้าหมายของ TGA
ก่อนมาเป็นนายกสมาคม คุณเนนิน คร่ำหวอดในวงการพัฒนาเกมอยู่แล้ว เริ่มตั้งแต่จบการศึกษาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หลังจากนั้นทำเกมกับเพื่อนๆ แข่งตามงานอีเว้นท์ต่างๆ ได้รางวัลชนะเลิศในงาน Thai Developer Challenge ปี 2008
ในปีเดียวกัน 2008 คุณเนนินตั้งบริษัทพัฒนาเกมเองในชื่อว่า Extend Interactive ตัวอย่างผลงานเกมของ Extend Interactive ที่โด่งดังเช่น A.R.E.S ขายได้ 2 แสนชุด, So Many Me เป็นผลงานเกมที่ไมโครซอฟท์ซื้อลิขสิทธิ์ไปลง Xbox One จนถึงเกมล่าสุดคือ Pandora Hunter เป็นเกมที่เริ่มกลับมาเจาะตลาดผู้เล่นไทย และผลงานเกมล่าสุดที่กำลังพัฒนาอยู่ คือ Morning Moon Village เป็นเกมแนวทำฟาร์ม
จากการเป็นทั้งคนทำเกม และเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทเกม ทำให้คุณเนนิน รู้จักกลุ่มคนพัฒนาเกมและรู้จักวงการเกมไทยมาพอสมควร จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ได้เข้ามาเป็นผู้นำรุ่นใหม่ของ TGA
“เกมไทยต้องเป็นที่รู้จักมากขึ้น” คือสาเหตุสำคัญที่ต้องรีแบรนด์ TGA และตั้งคณะกรรมการชุดใหม่
คุณเนนินเล่าว่าแต่เดิม TGA มีเป้าหมายยกระดับเกมคนไทยอยู่แล้ว แต่ด้วยลักษณะชุมชนคนทำเกมที่มักคุยกันเองในวงแคบ อาจไม่เพียงพอให้คนไทยทั่วไปรู้จักเกมไทยมากขึ้น จึงเริ่มต้นรีแบรนด์ TGA ด้วยภาพลักษณ์ใหม่ที่เข้าถึงง่าย เพิ่มเติมด้วยการทำรายการเกม พูดคุยกับนักแคสต์เกม และอินฟลูเอนเซอร์ลงโซเชียล นำเสนอข่าวเกมไทยต่างๆ ที่น่าสนใจ รวมถึงอัพเดตการทำงานสมาคมด้วยว่ามีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง
TGA ยุคใหม่ยังคงเป้าหมายเดิมเรื่องยกระดับเกมคนไทยเอาไว้ แต่เพิ่มเติมภารกิจใหม่คือขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังคนเล่นเกมทั่วไป องค์กรและหน่วยงานภาครัฐด้วย เพื่อให้พวกเขาได้รู้จัก เข้าใจวงการเกมมากขึ้น
ส่วนคณะกรรมการชุดใหม่ยังเป็นคนที่อยู่ในวงการพัฒนาเกม แต่ก็เลือกคนที่เข้าใจการตลาดเกมเพิ่มมาด้วย เพราะเป้าหมายใหม่ของ TGA คือทำให้เกมไทยเป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้เล่นมากขึ้น การตลาดจึงสำคัญไม่แพ้กัน
ตอนนี้สมาคม TGA มีบริษัทเกมไทยเป็นสมาชิกแล้วกว่า 50 บริษัท มีทั้งกลุ่มนักพัฒนาเกม และผู้จัดจำหน่าย (publisher) ตัวอย่างบริษัทสร้างเกมที่ดังๆ ในไทยอย่าง Home Sweet Home, Timelie ก็เป็นสมาชิกสมาคมด้วย
รายชื่อคณะกรรมการ TGA ชุดปัจจุบันประกอบด้วย
คุณเนนินให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันมูลค่าการตลาดของเกมในประเทศไทยอยู่ที่ 3 หมื่นล้านบาท เป็นการคำนวณจากตัวเลขการเติมเงินและการซื้อเกม แต่น่าเสียดายที่เม็ดเงินเข้ากระเป๋าผู้พัฒนาเกมไทยน้อยมาก
ดังนั้นภารกิจหลัก TGA คือดันผู้ประกอบการและเกมไทยให้คนรู้จักมากขึ้น รวมถึงเข้าไปช่วยกระตุ้นผู้พัฒนาเกมไทยเรื่องการทำการตลาดและประชาสัมพันธ์เกมของตัวเอง
สิ่งที่ TGA พยายามทำคือเป็นสะพานเชื่อมระหว่างผู้พัฒนาเกมกับหน่วยงานรัฐว่าสามารถช่วยผู้ประกอบการได้อย่างไรบ้าง จากการพูดคุยที่ผ่านมาพบว่าได้รับการตอบรับที่ดี เช่น DEPA, กระทรวงวัฒนธรรม และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ช่วยออกค่าใช้จ่ายจัดบูธในต่างประเทศ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีงานออกบูธเพราะ COVID-19
ด้านมุมมองรัฐบาลที่มีต่อเกม คุณเนนินยืนยันว่า หลายหน่วยงานในรัฐบาลไม่ได้ปิดกั้นวงการเกมไทยขนาดนั้น แต่อาจมีอุปสรรคตรงที่เขาไม่เข้าใจวงการเกม ไม่เข้าใจธรรมชาติของธุรกิจในวงการนี้ จึงเป็นหน้าที่ TGA ที่ต้องสื่อสารให้รู้ว่า เกมไทยมีศักยภาพไปต่อได้อีกไกลมาก
จากประสบการณ์ในวงการเกม พบว่าคนทำเกมไทยขาดการแบ่งปันประสบการณ์ซึ่งกันและกัน และขาดการประชาสัมพันธ์ผลงานของตัวเอง ซึ่ง TGA ต้องเข้าไปช่วยจุดนี้ ช่วยสร้างและกระตุ้นให้เกิดชุมชนนักพัฒนาเกม กระตุ้นให้พวกเขาออกมาโฆษณาผลงานเกมของตัวเองมากขึ้น
แต่ความท้าทายที่สุดของคนทำเกมไทยคือตลาดเกมมือถือ ซึ่งมีคาแรกเตอร์ต่างจากเกมพีซี, คอนโซลโดยสิ้นเชิง
เกมมือถือตอนนี้ ถูกผูกขาดจากบริษัทเกมจากจีนและจากบริษัทใหญ่ในต่างประเทศมาระดับหนึ่งแล้ว มีช่องว่างให้นักพัฒนาเกมในไทยน้อยมาก ส่วนหนึ่งเพราะเกมมือถือเป็นตลาดเงินทุน ไม่เพียงเนื้อหาดี เล่นสนุก แต่การตลาดต้องแน่น เม็ดเงินโฆษณาต้องเยอะด้วย ถึงจะดึงผู้เล่นในมือถือได้ คุณเนนินมองว่าคนไทยเสียเปรียบจุดนี้
ช่องทางที่นักพัฒนาเกมไทยจะอยู่รอดได้คือเกมพีซีและคอนโซล ที่ผู้เล่นค่อนข้างเปิดรับเกมใหม่ๆ มากกว่า เกมของคนไทยมีโอกาสถูกพบเจอบนร้านขายเกมในพีซีมากกว่ามือถือ
ภาพจาก Facebook Depa
ในประเด็นการตลาดเกม มีข้อมูลเพิ่มจากคุณ ปริเมธ วงศ์สัตยนนท์ จากบริษัท Urnique Studio หรือคุณเจมส์ ผู้สร้างเกม Timelie และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการ TGA เขียนโพสต์บน Facebook ว่า จริงๆ แล้วประเทศไทยเป็นกลุ่มตลาดเป้าหมายของเกมที่ใหญ่มาก อยู่ระดับสูงสุดในภูมิภาคอาเซียน และอยู่ใน 20 อันดับแรกของโลกและส่วนใหญ่เป็นตลาดเกมมือถือ
แต่การทำเกมมือถือสำหรับคนไทยเป็นไปได้ยาก เพราะตลาดมือถือแทบไม่มีที่ยืนให้สตูดิโอทำเกมไทยแล้ว ถูกกินรวบจากบริษัทใหญ่ในต่างประเทศ เกมดังบนมือถือส่วนใหญ่เป็นเกมเก่าที่ครองใจคนมาได้นาน พฤติกรรมผู้เล่นเองก็ไม่ได้เลื่อนหาเกมที่อยากเล่นบนร้านค้าแอปในมือถือแล้ว การเจาะตลาดมือถือได้จึงเป็นเรื่องของเงินลงทุนโฆษณาล้วนๆ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่การทำเกมลงพีซีมีความเป็นไปได้มากกว่า
ในโพสต์ฉบับเต็มยังพูดถึงพฤติกรรมการซื้อเกมของคนไทย, การรับข่าวสารวงการเกมในยุคโซเชียลมีเดียที่มทำให้เกมอินดี้ถูกพบเจอได้ยากขึ้น สามารถอ่านเนื้อหาทั้งหมดได้ที่โพสต์ของคุณเจมส์ด้านล่าง
คุณเนนินชี้ว่า อีกปัจจัยหนุนที่ช่วยให้มีสตูดิโอผลิตเกมไทยมากขึ้นคือเทคโนโลยีช่วยให้การทำเกมง่ายขึ้น มีเครื่องมืออำนวยความสะดวกในการสร้างเกมเช่น Unity, Unreal ไม่จำเป็นต้องลงทุนซื้อฮาร์ดแวร์แพงๆ ขอเพียงมีบัญชีนักพัฒนาเกมซึ่งสามารถสมัครได้ตามแพลตฟอร์ม Google Play, Steam, Xbox, Nintendo ก็สามารถสร้างเกมได้ทันที
ภาพจาก Blog Unity
สังคมไทยเองก็เริ่มมองเกมในภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น หากลองย้อนกลับไปสัก 15 ปีก่อน คำว่าเกมในสายตาผู้ใหญ่มันดูเลวร้าย และยิ่งลูกหลานบอกพ่อแม่ว่าอยากเป็นคนทำเกม หรืออยากเรียนเกี่ยวกับเกม ก็จะเจอคำถามว่าจะทำเงินได้ยังไง แล้วขายที่ไหน แต่เดี๋ยวนี้เปลี่ยนไปแล้ว สังคมเริ่มเข้าใจว่าเกมคือสื่อแขนงหนึ่ง เป็นอีกธุรกิจหนึ่ง
นอกจากนี้ เด็กๆ ที่ฝันอยากทำเกมก็มองเห็นทางเดินชัดเจนกว่าในอดีต มีคณะในมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนเกี่ยวกับเกมโดยเฉพาะ เช่น คณะไอซีที สาขาเกม ม.ศิลปากร, ม. รังสิต, ม. กรุงเทพ, ม.ศรีปทุม, ม.เกษตรศาสตร์ เป็นวิชาเลือก, ม.ธรรมศาสตร์, ม. บางมด ถือว่ามีพัฒนาการกว่าเมื่อก่อนมาก จากที่ต้องไปเรียนวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ แล้วมาหาทางกันต่อเอง ตอนนี้มีทิศทางชัดเจน อย่างน้อยถ้าเด็กอยากทำเกม เขาจะรู้ว่าต้องไปเรียนที่ไหน
คุณเนนินมองว่า ภาพรวมเกมไทยตอนนี้กำลังไปได้ดี แต่ละสตูดิโอผลิตเกมออกมามากขึ้น ตกอยู่ปีละ 6-7 เกม ถือว่าเยอะมากเมื่อเทียบกับในอดีต และผลิตมาด้วยคุณภาพที่ดีขึ้น มีเนื้อหาหลากหลาย ตั้งแต่เกมผีที่ถูกจริตคนไทย ไปจนถึงเกมเนื้อเรื่องแปลกใหม่อย่าง Timelie
ช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. ที่ผ่านมามีโครงการสำคัญที่จะเป็นหมุดหมายของการพัฒนาเกมไทยใหม่ๆ อีกในอนาคตคือ Depa Game Accelerator batch 1 รับสมัครคนทำเกมและคัดเลือกจนเหลือ 10 ทีม เพื่อมาประชันไอเดียเกมของตัวเอง โดยคุณเนนินและคณะกรรมการ TGA ส่วนหนึ่งเป็นหนึ่งในผู้ตัดสิน ทีมที่ชนะจะได้โอกาสต่อยอดเกมของตัวเองบนแพลตฟอร์ม Nintendo และยังได้รับการสนับสนุนชุดพัฒนาเกมให้ทีมที่ผ่านคัดเลือกด้วย
ภาพจาก Facebook Depa
คุณเนนินมองว่า การจัดงานครั้งนี้สร้างความประทับใจกว่าที่คิดไว้ ทีมที่เข้าแข่งขันสร้างเกมน่าประทับใจทั้งในแง่เล่นสนุก กราฟิกสวยงาม และในเชิงเทคนิคการสร้างเกมก็ไม่ง่ายเลย ซึ่งคาดหวังว่าจะได้เห็นสิ่งนี้ batch ต่อไปเรื่อยๆ
สรุปภารกิจของ TGA ในระยะสั้นตามวาระคณะกรรมการสองปี คือทำให้เกมไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้นในกลุ่มผู้เล่นที่เป็นกำลังซื้อสำคัญ และทำให้ TGA เป็นที่รู้จักในภาครัฐ หากรัฐมีนโยบายหรือวันหนึ่งอยากทำอะไรเกี่ยวกับเกมขึ้นมา เขาจะต้องนึกถึง TGA เป็นที่แรก ส่วนระยะยาว 5 ปี วางเป้าหมายไว้ว่า TGA จะมีโครงการที่เป็นกระบอกเสียงให้ชุมชนคนทำเกมไทย และมีคอมมูนิตี้เป็นของตัวเอง และผลักดันเกมไทยให้ประสบความสำเร็จในตลาดโลก
Comments
แวะมาชูป้ายไฟพี่ป๊อบครับ
เป็นกำลังใจให้ครับ
เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!
คิดถึงเกม "Unblock Me"
แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยได้เล่นแล้ว
ผู้ใหญ่แถวนี้ยังมองเกมเป็นวายร้ายสำหรับเยาวชนอยู่เลยครับ