ไมโครซอฟท์ถือว่าเป็นหนึ่งในบริษัทเทคที่จริงจังสร้างอุปกรณ์และซอฟต์แวร์ให้มีความเข้าถึงผู้พิการหรือ Accessibility ในปี 2018 ไมโครซอฟท์เปิดตัวคอนโทรลเลอร์สำหรับผู้พิการ Xbox Adaptive Controller มาพร้อมกล่องบรรจุที่ใช้ฟันเปิดได้ และยังเปิดรับนักพัฒนาเกมทำเกมเพื่อผู้พิการด้วย และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานี้เอง ไมโครซอฟท์เปิดตัวแผนการ 5 ปี ใช้เทคโนโลยีพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการ
WSJ เข้าสัมภาษณ์ Jenny Lay-Flurrie ประธานฝ่ายการเข้าถึงของไมโครซอฟท์ ซึ่งมีไม่กี่บริษัทที่มีตำแหน่งนี้อยู่ พูดคุยถึงแนวคิดการทำงานที่ส่งผลให้ไมโครซอฟท์เป็นผู้นำที่จริงจังเรื่อง Accessibility และที่สำคัญเธอยังเป็นผู้ที่มีปัญหาเรื่องการได้ยินด้วย
ภาพจาก ไมโครซอฟท์
Lay-Flurrie ได้แต่งตั้งเข้ามาในตำแหน่งปี 2016 ซึ่งเป็นช่วงที่ไมโครซอฟท์ปรับแผนในองค์กร พยายามยกเรื่อง Accessibility เข้ามาในศูนย์กลางธุรกิจมากขึ้น เธอบอกว่า ในองค์กรไม่ใช่เฉพาะสายเทคโนโลยีเท่านั้น ควรจะมีตำแหน่ง CAO (chief accessibility officer) มากกว่านี้ ซึ่งเธอพบว่ามันน้อยมากอย่างน่าเวทนา
เมื่อถามถึงวิธีการทำงานภายในทีม Accessibility ในไมโครซอฟท์ซึ่งเป็นบริษัทที่คุมผลิตภัณฑ์หลายอย่าง Lay-Flurrie บอกว่า วิธีการทำงานคือ กระตุ้นให้ทีมอื่นๆ ได้เห็นวิสัยทัศน์และประโยชน์ที่จะได้จาก Accessibility ซึ่งในองค์กรมีความเปิดกว้างให้เข้าถึงทีมงานได้ทุกทีม ตั้งแต่ฝ่าย HR และ ฝ่าย Xbox เป็นต้น
ก่อนหน้านี้ตำแหน่ง CAO ไม่ได้มีเป็นตำแหน่งแยกออกมา แต่อยู่ในทีมสร้างผลิตภัณฑ์อีกทีหนึ่ง ซึ่งทำให้การพัฒนาผลิตภัณฑ์นั้นไม่ครอบคลุมมากพอถ้า CAO นั่งเป็นคนในทีมนั้นๆ ทำให้ต้องเพิ่มการจ้างงาน จ้างผู้พิการ และที่สำคัญที่สุดคือการรับฟังลูกค้าและผู้ใช้งาน ด้านผลตอบแทนจากการลงทุนใน Accessibility นั้น Lay-Flurrie บอกว่า มันน้อยมากอยู่แล้ว แต่จะให้กับดักเรื่องผลตอบแทนการลงทุนมากำหนดกรอบการพัฒนาเพื่อผู้พิการไม่ได้
ด้านการทำองค์กรให้ friendly ต่อผู้พิการ รวมถึงการจ้างงานผู้พิการ อาจดูเป็นเรื่องที่เฉพาะองค์กรใหญ่สามารถทำได้ Lay-Flurrie ตอบเรื่องนี้ว่า จริงๆ แล้ว มันสามารถเริ่มได้เลย ตัวอย่างเช่น เปลี่ยนสีเฟอร์นิเจอร์ในที่ทำงานให้มีสีต่างกัน ผู้ที่มีสายตาเลือนรางจะได้มองแยกแยะออก, ประตูเปิดปิด ที่ไม่เปิดยากจนเกินไป ซึ่งในไมโครซอฟท์เองก็ได้เผยแพร่คู่มือเกี่ยวกับการจ้างงานผู้พิการ และคาดหวังว่ามันจะช่วยให้องค์กรอื่นเห็นคุณค่าของสิ่งนี้
แม้ Lay-Flurrie จะเป็นผู้มีปัญหาการได้ยินแต่เธอก็ชอบดนตรีมาก เธอจบปริญญาตรีสาขาดนตรีจาก University of Sheffield, ปริญญาโทสาขาการจัดการจากมหาวิทยาลัย Bradford ในอังกฤษ ทำงานใน T-Mobile ก่อนจะมาเป็นหัวหน้าฝ่ายสนับสนุนลูกค้าของไมโครซอฟท์
ที่มา - WSJ, ไมโครซอฟท์
Comments
เอาจริงๆ ผมว่าบริษัท IT ในไทยก็ควรมีตำแหน่งนี้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นพนักงานประจำก็ได้ แต่อาจมีบุคคลไว้ให้ทดลองระบบเป็นครั้งๆ หรือเป็นโปรเจกต์ไป
โดยเฉพาะเรื่องใกล้ตัวเช่นแอปหรือเว็บ ซึ่งต้องยอมรับว่า นักพัฒนาหลายเจ้าละเลยเรื่องนี้เป็นอย่างมาก บางเว็บนี่เมนูมีแต่ภาพไอคอน คำอธิบายไอคอนก็ไม่มี บางทีถ้าอยากรู้ว่าลิงก์ไอคอนนี้เป็นอะไร หรือปุ่มนี้คืออะไร คนตาบอดก็ต้องลองกดเดากันไป
อย่างบางทีก็รู้นะ ว่าเมนูมันถูกย่ออยู่ แล้วต้องกดปุ่มให้มันขยายขึ้นมา แต่กรรมเถอะ พอกดลงไป ปุ่มกลับไม่ตอบสนองซะงั้น ก็ต้องวุ่นวายปิดโปรแกรมเสียงเพื่อลองกดกันบ้าง ซึ่งก็ได้บ้างไม่ได้บ้างตามกรรม
โดยเฉพาะเว็บธนาคารบางเว็บนี่แทบใช้งานไม่ได้ (ทั้งที่มันจำเป็นมากๆ)
สาวก Drupal และ Backdrop CMS ไม่ใช่ใคร ก็ผมนี่แหละ