หากถามคนทั่วไปว่าถ้านึกถึงรถยนต์ไฟฟ้าจะนึกถึงแบรนด์อะไร เชื่อว่าคนส่วนใหญ่จะนึกถึง Tesla เป็นอันดับต้นๆ อย่างไรก็ตามหากคุณถามคำถามเดียวกันนี้กับคนจีนแผ่นดินใหญ่ คำตอบที่ได้กลับมาน่าจะแตกต่างกันไป เพราะในจีนมีผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าหลายสิบเจ้าเลยทีเดียว
แต่แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าจีนเจ้าใหญ่ที่กำลังมาแรงและทำยอดขายได้มากที่สุดในปีที่ผ่านมาคือ BYD บทความนี้จะพาไปรู้จักกับ BYD กับอาณาจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่กำลังแผ่ขยายไปทั่วโลก
BYD Co. Ltd ย่อมาจาก Build Your Dream ก่อตั้งเมื่อปี 1995 โดย Wang Chuanfu ปัจจุบันเป็นประธานบริหาร (president), ซีอีโอ, ประธานบอร์ดของบริษัท และมหาเศรษฐีอันดับที่ 39 ของจีน ธุรกิจแรกเริ่มของบริษัทคือแบตเตอรี่มือถือ ก่อนจะเติบโตขึ้นจนกลายเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่สำหรับมือถือเบอร์ 2 ของโลก
BYD เข้าสู่ธุรกิจรถยนต์ในปี 2002 จากการซื้อบริษัทรถยนต์ Tsinchuan Automobile Co Ltd เข้ามาเป็นบริษัทลูก และเปลี่ยนชื่อเป็น BYD Auto Co.,Ltd
ในช่วงแรก BYD ยังผลิตและจำหน่ายรถยนต์น้ำมันอยู่ โดยจุดเด่น (?) คือการออกแบบรถยนต์ที่หน้าตาเหมือนแบรนด์จากญี่ปุ่นและยุโรป
BYD F3 รุ่นแรก - ข้างหน้า Altis ข้างหลัง City - รุ่นนี้ได้รับความนิยมและขายดีมากในจีน ภาพจาก Wikipedia (CC BY-SA 3.0)
ปี 2008 รัฐบาลจีนออกนโยบายผลักดันรถยนต์ไฟฟ้า ทำให้ BYD ตัดสินใจผลิตรถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริดตัวแรกในรุ่น BYD F3DM และได้รับความสนใจในอุตสาหกรรมค่อนข้างมาก จนถึงขนาด Warren Buffet เข้ามาซื้อหุ้นของ BYD บริษัทแม่ถึง 10% (คิดเป็นเงิน ณ ตอนนั้นราว 230 ล้านเหรียญ) เนื่องด้วยตอนนั้นฝั่งสหรัฐและยุโรปยังไม่ให้ความสนใจหรือสามารถพัฒนาเทคโนโลยีด้านนี้ออกมาได้เด่นชัด
ส่วนรถรุ่นที่ทำให้ BYD เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นคือ BYD Qin รถปลั๊กอินไฮบริด เปิดตัวปี 2013 และขึ้นแท่นเป็นรถยนต์ที่ขายดีที่สุดในจีนในปี 2014 และติดอันดับรถยนต์ปลั๊กอินที่ขายดีที่สุดอันดับ 7 จาก 10 อันดับในปี 2014 ส่วนปี 2015 ยอดขายขึ้นมาเป็นอันดับ 4 ในกลุ่มรถไฟฟ้าปลั๊กอินทั่วโลก ตามหลัง Tesla Model S, Nissan Leaf และ Mitsubishi Outlander PEV ส่วนอันดับ 5 คือ BMW i3
BYD Qin ภาพจาก Wikipedia (CC BY-SA 3.0)
ปีที่แล้ว BYD Tang รถ SUV ปลั๊กอินไฮบริด, BYD Qin และ BYD e6 ที่เป็นไฟฟ้าทั้งคัน มียอดขายติดท็อป 3 ในจีน
ปีที่ผ่านมา BYD ขึ้นแท่นเป็นแบรนด์ที่ขายรถยนต์ไฟฟ้าได้มากที่สุดในจีนด้วยจำนวน 108,612 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2016 ที่ 9% ทำให้ BYD มีส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในจีนเมื่อปีที่แล้วอยู่ที่ 19%
ทว่าภาพลักษณ์ของรถยนต์สัญชาติจีนในตลาดตะวันตกยังถือว่าไม่ค่อยดีและไม่เป็นที่รู้จักมากนัก ปีที่ผ่านมาการขยายตลาดนอกจีนของ BYD โดยเฉพาะในเอเชียจะยังเป็นตลาดรถบัสไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้าและแบตเตอรี่เป็นหลักเท่านั้น ไม่ได้ส่งรถยนต์นั่งส่วนบุคคลมาทำตลาดนี้
อย่างไรก็ตาม BYD พยายามปรับภาพลักษณ์ให้ดูอินเตอร์มากขึ้นหลายประการ อย่างการจ้าง Leonardo DiCarprio นักแสดงรางวัลออสการ์มาเป็น Brand Ambassador, ดึงตัว Wolfgang Eggar อดีตหัวหน้าฝ่ายออกแบบของ Audi เข้ามาเป็นหัวหน้าฝ่ายออกแบบของบริษัท รวมไปถึงเตรียมก่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในโมร็อกโกเมื่อปลายปีที่แล้ว ที่สะท้อนว่า BYD เตรียมจะบุกประเทศตะวันตกในเร็วๆ นี้
ถามว่ามาตั้งโรงงานในโมร็อกโกเกี่ยวอะไรกับการขยายไปซีกโลกตะวันตก? นั่นก็เพราะโมร็อกโกตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปแอฟริกา ติดกับสเปน ห่างกันเพียงช่องแคบยิบรอลตาเท่านั้น เป็นที่ตั้งที่สมเหตุสมผลในการขายรถยนต์ในยุโรป โดย Renault และ Peugeot เองก็ตั้งโรงงานในโมร็อกโกเพื่อขายในยุโรปให้เห็นอยู่ก่อนแล้ว
ส่วนการบุกตลาดรถยนต์สหรัฐ ณ ตอนนี้เหมือนจะยังไม่อยู่ในแผนของ BYD เนื่องจากบริษัทมองว่าสหรัฐ ยังเปิดรับรถยนต์พลังงานสะอาดน้อยกว่ายุโรปหรืออินเดีย เนื่องจากค่าน้ำมันในสหรัฐยังค่อนข้างถูก และยังมีประเด็นเรื่องนโยบายกีดกันการค้าของรัฐบาลทรัมป์ขณะนี้ด้วย
นอกจากรถยนต์ BYD ยังมีรถบัสไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้าที่อยู่ในไลน์สินค้า โดยรถบัสไฟฟ้าเริ่มผลิตครั้งแรกปี 2010 เป็นรถบัสไฟฟ้าเพียวๆ ก่อนจะเริ่มแตกรุ่นตามขนาดของรถบัสมาเรื่อยๆ เช่นเดียวกับยอดขายที่เพิ่มขึ้นทุกปี อย่างปีที่แล้วขายไปราว 14,000 คันทั่วโลก เพิ่มขึ้น 8% จากปีก่อนหน้า
รถบัสของ BYD ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกมากกว่ารถยนต์ ทำให้รถบัสไฟฟ้าของ BYD ได้ไปวิ่งแล้วในหลายประเทศ อาทิ สหรัฐ, เม็กซิโก, สหราชอาณาจักร, เยอรมนี, ฮอลแลนด์, บราซิล, ออสเตรเลีย หรือแม้แต่ไทยเองก็ตาม และตอนนี้ทาง BYD กำลังพยายามขยายตลาดในตะวันออกกลางและแอฟริกาด้วย
เช่นเดียวกับรถบรรทุกไฟฟ้าของ BYD ที่ได้รับการยอมรับจากตะวันตก โดยเฉพาะในรัฐแคลิฟอร์เนียที่มีการใช้งานรถบรรทุกไฟฟ้าของ BYD ค่อนข้างมากเป็นอันดับต้นๆ เนื่องจากมีสำนักงานและโรงงานตั้งอยู่ อย่างล่าสุดเมื่อปลายปีที่แล้ว BYD ก็เพิ่งเปิดตัวรถบรรทุกขยะพลังงานไฟฟ้าคันแรกของโลกใน Palo Alto แคลิฟอร์เนีย (หลังบ้านของ Tesla) แทนที่จะเป็นในจีน
BYD ทำยานยนต์มาเกือบหมดแล้วทั้งรถยนต์ รถบัสรถบรรทุก ก้าวต่อไปของ BYD เลยเลือกที่ขึ้นฟ้าด้วย SkyRail รถรางโมโนเรลไฟฟ้าซึ่งเปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2016 และเริ่มให้บริการครั้งแรกเมื่อปี 2017 ในเมืองหยินชวน ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน เป็นระยะทาง 5.67 กม.
โครงการ SkyRail เป็นโครงการที่ BYD ใช้เวลาพัฒนามา 5 ปี ใช้เงินค่า R&D ไปราว 5 พันล้านหยวนหรือ 2.5 หมื่นล้านบาท ปีนี้ BYD ก็มีแผนจะสร้าง SkyRail อีกกว่า 20 เมืองทั่วจีน หลังรัฐบาลจีนสนับสนุนโครงการโมโนเรลเป็นระบบเดินรถสาธารณะในเมืองชั้นรอง (second-tier) เพราะทั้งถูกกว่าและใช้เวลาก่อสร้างไม่นาน เมื่อเทียบกับรถไฟฟ้าหรือรถไฟใต้ดิน อย่างในหยินชวนใช้เวลาสร้างเพียง 4 เดือนเท่านั้น มีนักวิเคราะห์เคยวิเคราะห์ว่า BYD น่าจะทำเงินจากโครงการ SkyRail ได้ราว 3 หมื่นล้านหยวน (1.5 แสนบ้านบาท) ในปีนี้
ไม่เฉพาะแค่ในจีน BYD ได้รับสัญญาสร้าง SkyRail นอกประเทศแห่งแรกในจังหวัด Iloilo ของฟิลิปปินส์ เป็นระยะทาง 20 กม. คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2020 ส่วนเมืองลอสแอนเจลิสก็กำลังอยู่ระหว่างการพูดคุยกับ BYD อยู่ด้วย
สุดท้ายเมื่อ BYD ทำรถยนต์ไฟฟ้าก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกนำไปเปรียบเทียบกับ Tesla ของ Elon Musk ที่คนส่วนใหญ่รู้จัก บ้างก็ว่า BYD เป็น Tesla Killer บ้างก็ว่าเป็น Tesla แห่งโลกตะวันออก
อย่างไรก็ตามส่วนตัวมองว่า BYD กับ Tesla นำมาเปรียบเทียบกันตรงๆ ไม่ได้ซะทีเดียว เพราะทั้งสองบริษัททำธุรกิจกันอยู่ในคนละสภาพแวดล้อม, รูปแบบการทำธุรกิจคนละแบบ และที่สำคัญคือแตกต่างกันแม้กระทั่งปรัชญาของบริษัท
แนวคิดของ Elon Musk ในการทำ Tesla เป็นไปในลักษณะบนลงล่าง กล่าวคือเริ่มที่ Roadster รุ่นแพง เพื่อแนะนำรถไฟฟ้าให้คนทั่วไปรู้สึกว่าไม่น่าเกลียดและมีประสิทธิภาพ ในสภาพแวดล้อมที่คนส่วนใหญ่ใช้รถน้ำมันและไม่มีใครสนใจรถไฟฟ้า ก่อนจะทำรุ่นที่ถูกลงอย่าง Model S และ Model X และแมสมากขึ้นอย่าง Model 3 และปีหน้าที่มี Model Y รออยู่ในคิว
ด้วยเหตุดังกล่าวทำให้กำไรต่อคันของ Tesla ค่อนข้างสูง แต่ภาพรวมยังขาดทุนเพราะการลงทุนในการขยายโรงงานและ R&D เป็นหลัก
ตรงกันข้ามกับ BYD ที่เริ่มจากรถยนต์สันดาปภายในแบบดั้งเดิม ก่อนที่จะเห็นโอกาสในรถยนต์ไฟฟ้าจากทั้ง know-how เดิมที่มี (รถยนต์ + แบตเตอรี่) และการสนับสนุนเชิงนโยบายและงบประมาณจากรัฐบาลจีน ในสภาพแวดล้อมกึ่งบังคับของจีน ที่ต้องหันไปหาพลังงานสะอาด
ขณะที่รูปแบบการดำเนินธุรกิจไม่แตกต่างจากบริษัทรถยนต์แบบเดิมๆ ประกอบกับ BYD ไม่ได้ให้ความสนใจแต่รถยนต์อย่างเดียว แต่ยังมีรถสำหรับบริการสาธารณะอย่างรถบัส รถบรรทุกและโมโนเรลด้วย ซึ่งเรายังไม่น่าจะเห็น Tesla หันมาทำรถสาธารณะอย่างรถบัสหรือโมโนเรลแข่งกับ BYD ในเร็วๆ นี้
Comments
มาตั้งโรงงานที่ไทยสิ
Monorail นี่ก็คือรถไฟฟ้ารางเดี่ยวใช่ไหมครับ ? ส่วนที่เรียกว่ารถไฟฟ้าด้วยคำทั่วไปหมายถึงว่ามี 2 รางหรือเปล่า ?
หรือว่าผมเข้าใจอะไรผิด พอดีอ่านแล้วงง ๆ ว่า Monorail ก็ใช้ไฟฟ้าเหมือนกัน มีลักษณะเป็นรถไฟเหมือนกัน แต่ทำไมไม่เรียกรถไฟฟ้า
That is the way things are.
จริงๆถ้าจะไม่สับสนควรเรียกรถไฟฟ้ารางเบาครับจริงๆมันก็มีจาไปกลับแต่ล้อรถไฟฟ้าเป็นยางวิ่งบนรางคอนกรีตรางเดียว ส่วนรถไไฟ้าที่เกให็นอย่างบีทีเอสเป็นรถไฟฟ้ารางหนกหรือรางเหล็กใช้บ้อเหล็กใหญ่กว่าบรรทุกหนักกว่า
ผมรู้จักชื่อ BYD ตอนที่อุตสาหกรรมยานยนต์จีนเริ่มเป็นที่กล่าวถึง ซึ่งในช่วงแรก ทุกแบรนจีนด์ก็โดนล้อว่าเป็นของเลียนแบบของชาติอื่น อย่าง BYD ก็โดนล้อชื่อไปคล้ายกับ BMW จนกระทั้ง BYD ทำรถยนต์ไฟฟ้า ก็ปรากฏชื่อ BYD ในข่าวยานยนต์บ่อยครั้ง แม้จะไม่มีข่าวเรื่องประสิทธิภาพที่โดดเด่นหรือนวัตกรรมใหม่ที่จะไปเทียบกับ TESLA ก็ตาม แต่ในความรู้สึกของผมแล้ว ถ้าเป็นรถยนต์พลังไฟฟ้า BYD เป็นอีกยี่ห้อที่สามารถเอามาเป็นตัวเลือกได้
วัยรุ่นจีนส่วนนึงเปิดใจยอมรับ BYD เพราะจ่ายเท่ากันได้มากกว่ารถญี่ปุ่น
ส่วนคนมีอายุส่วนใหญ่จะซื้อรถยุโรป (VW)
oxygen2.me, panithi's blog
Device: ThinkPad T480s, iPad Pro, iPhone 11 Pro Max, Pixel 6
กลัวจะเป็นแบบ MG เนี่ยสิ รถราคาไม่แพง แต่ต้องมาซ่อมบ่อย ๆ
Coder | Designer | Thinker | Blogger
ตอนนี้เค้าเน้นตลาด Fleet อยู่ ถ้าใช้ดีจริง ตลาด Fleet เป็นตัววัดคุณภาพรถเลย
เท่าที่เคยนั่ง BYD ในจีน รุ่นล่างๆ ก็พอใช้ได้ครับ
oxygen2.me, panithi's blog
Device: ThinkPad T480s, iPad Pro, iPhone 11 Pro Max, Pixel 6
โมรอกโก -> โมร็อกโก
สันดาบ -> สันดาป