Tags:
Node Thumbnail

จากข่าวเก่า รายละเอียดเพิ่มเติมของ Ubuntu Netbook Remix ทางบริษัท Canonical บอกว่าจะไม่ออก ISO ของ Ubuntu Netbook Remix ให้คนทั่วไปโหลด เพราะเป็นดิสโทรพิเศษที่ทำให้กับ OEM เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ซอฟต์แวร์ส่วนที่เป็นโอเพนซอร์สใน Ubuntu Netbook Remix ทุกตัวเปิดให้ผู้ใช้ Ubuntu สามารถดาวน์โหลดได้ทาง apt-get และมีหลายๆ เว็บ (อย่างเช่น Ars Technica) นำมาทดสอบกันแล้ว คราวนี้ Blognone เลยขอลองบ้าง

วิธีการลงไม่ยากเลย ทาง Ubuntuclub เค้าเล่นกันไปหลายวันแล้ว Mark Shuttleworth แห่ง Canonical เองก็เขียนบล็อกถึง และกระตุ้นให้ผู้ใช้ช่วยกันทดสอบ (คู่มืออย่างเป็นทางการอยู่ที่ Launchpad) แต่เว็บที่อธิบายที่มาที่ไปละเอียดที่สุด ผมแนะนำของ Free Software Magazine

จากปากคำของ Mark Shuttleworth บอกว่า Ubuntu Netbook Remix เป็น 'remix' ของ Ubuntu ปกติที่เพิ่มเติมแพกเกจเข้ามานิดหน่อย และปรับค่าใช้เหมาะกับเครื่อง Netbook โดยวิศวกรของบริษัท Canonical ซุ่มทำกับอินเทลมาได้สักระยะแล้ว แพกเกจที่เพิ่มเข้ามาดูได้จากหน้า Launchpad ของทีม Remix มีทั้งหมด 6 ตัวดังนี้

  • go-home-applet
  • window-picker-applet
  • maximus
  • human-netbook-theme
  • ume-config-netbook
  • ume-launcher

ผมจะอธิบายถึงทีละตัว กรุณาดู screenshot ประกอบนะครับ

alt="Ubuntu Netbook Remix"

go-home-applet คือไอคอนรูปโลโก้ Ubuntu ที่อยู่มุมซ้ายบนสุดของจอ เป็น applet ของพาเนลของ GNOME กดแล้วจะเรียก ume-launcher ขึ้นมาบนหน้าจอ เราสามารถลากไฟล์จากหน้าต่างโปรแกรมต่างๆ (เช่น Nautilus) แล้วมาวางบน applet นี้เพื่อสร้างช็อตคัตใน ume-launcher ได้

window-picker-applet มาแทนทาสก์บาร์แบบเดิม โดยลดรูปเหลือแค่ไอคอนแทน จะแสดงเฉพาะชื่อของหน้าต่างที่เปิดอยู่เท่านั้น

maximus โปรแกรมนี้จะบังคับให้หน้าต่างของโปรแกรมอื่นๆ เปิดเป็น maximize (ยกเว้นบางโปรแกรมที่อยู่ใน exception)

human-netbook-theme อันนี้ตามชื่อครับ ธีมสีดำของ UME

ume-config-netbook รวมค่าต่างๆ สำหรับเครื่อง Netbook เตือนรอบแรกว่าถ้าเครื่องของคุณไม่ใช่ Netbook ห้ามลง

ume-launcher อันสุดท้ายคือ launcher หรือตัวเรียกโปรแกรม ที่เห็นไอคอนมากมายบนหน้าจอคือตัวนี้เอง มันเขียนขึ้นด้วยเฟรมเวิร์ค Clutter

อ่านมาถึงตรงนี้ถ้ายังไม่ค่อยเข้าใจว่าแต่ละตัวมันทำงานร่วมกันยังไง ยังไม่ต้องซีเรียสครับ ถ้าพร้อมจะลองแล้ว มาติดตั้งแพกเกจตามกันก่อน ผมใช้ Ubuntu 8.04 Hardy Heron รุ่นปกติไม่มีอะไรพิสดาร เซ็ตขนาดหน้าจอให้ใกล้เคียงกับ Netbook (1024x600) โดยผมใช้ 1024x768 อาศัยว่าความกว้างเท่ากันเป็นหลัก แนะนำให้สร้างผู้ใช้ใหม่ขึ้นมาเพื่อทดสอบ เวลาเบื่อแล้วจะเอาออกจะได้ไม่กระทบหน้าจอเก่า และถ้าเปิด Compiz ไว้ให้ปิดก่อนติดตั้ง

เพิ่มบรรทัดนี้ลงในไฟล์ /etc/apt/sources.lst ของคุณ

deb http://ppa.launchpad.net/netbook-remix-team/ubuntu hardy main

สั่ง sudo apt-get update หนึ่งที จากนั้นตามด้วย

sudo apt-get install go-home-applet window-picker-applet maximus human-netbook-theme ume-launcher

ย้ำอีกครั้งว่า ห้ามลง ume-config-netbook

เสร็จแล้วให้ล็อกเอาท์แล้วล็อกอินใหม่หนึ่งรอบ น่าจะเห็น ume-launcher โผล่ขึ้นมาให้เห็นแล้ว ที่เหลือเราต้องปรับแต่งด้วยมือเล็กน้อยให้หน้าตาคล้ายกับ Netbook Remix

  • เข้าไปที่ Settings > Preferences > Themes เลือกธีมเป็น Ubuntu Netbook จะได้ธีมสีดำ
  • คลิกขวาที่พาเนลด้านล่างของหน้าจอ สั่งลบพาเนลทิ้ง
  • คลิกขวาที่ไอคอน Ubuntu มุมซ้ายบน ลบทิ้ง
  • คลิกขวาที่เมนูข้างๆ ไอคอน Ubuntu อันเมื่อกี้ ลบทิ้ง
  • ปกติบนพาเนลของ Ubuntu จะมีไอคอน 3 อันคือ Firefox, Evolution และ Help ลบทิ้งให้หมด
  • พอเหลือพาเนลว่างๆ ให้คลิกขวาแล้วเลือก Add to panel
    ** เพิ่ม Go Home
    ** เพิ่ม Window Picker
    ** แล้วเรียงจากซ้ายไปขวาตามนี้ (สลับตำแหน่งโดยคลิกขวาแล้วเลือก Move) Go Home, Window Picker, อื่นๆ ใน Notification Area
  • เปิดโปรแกรม Terminal ขึ้นมา (ถ้าลบเมนูไปแล้ว สั่งจาก ume-launcher ก็ได้) แล้วพิมพ์คำว่า maximus ลงไป (จะใส่ & ตามก็ได้ แล้วแต่ชอบครับ) ถ้าหน้าต่าง Terminal ขยายเต็มจอ แสดงว่าถูกต้องแล้ว

ติดตั้งเสร็จเรียบร้อย ได้เวลาอธิบายแนวคิดของส่วนติดต่อผู้ใช้ของ UME ครับ

UME ออกแบบมาสำหรับ Netbook ซึ่งมีลักษณะพิเศษคือหน้าจอเล็กกว่าพีซีหรือโน้ตบุ๊กทั่วไป การสลับหน้าต่างด้วยทาสก์บาร์แบบเดิมจึงเริ่มมีปัญหา ทางออกของทีมงาน Netbook คือสร้างวิธีเรียกโปรแกรม และสลับหน้าจอแบบใหม่ขึ้นมา แนวคิดของมันคือให้ผู้ใช้เห็นโปรแกรมทีละ 1 หน้าจอแบบ maximize จะได้ไม่บังกัน

หน้าที่นี้จึงเป็นของโปรแกรม maximus และ window-picker โดย maximus จะทำหน้าที่เดียวคือขยายโปรแกรมทุกตัวที่เราเปิดมาให้เต็มหน้าจอ และซ่อนไตเติลบาร์เอาไว้ไม่ให้เห็น ส่วน window-picker จะควบหน้าที่ทั้งเป็นทาสก์บาร์แบบย่อ (แสดงเฉพาะไอคอนของโปรแกรม) และแสดงชื่อหน้าต่าง บวกกับปุ่ม x เพื่อปิดหน้าต่างนั้นๆ ในบริเวณที่ว่างที่เหลืออยู่ของพาเนล

alt="Ubuntu Netbook Remix"

จากรูปข้างบนนี้จะเห็นชัดเจนว่า ไอคอน Firefox เหนือเมนู History จะถูกไฮไลต์ เพื่อบ่งบอกว่าหน้าต่างนี้ถูกเปิดใช้งานอยู่ พร้อมแสดงไตเติลบาร์ในที่ว่างข้างๆ ส่วนติดต่อผู้ใช้แบบนี้ช่วยลดจำนวนพิกเซลในแนวตั้งไปได้นิดหน่อย และลดปัญหาเรื่องการย่อ-ขยายหน้าต่างไปได้มาก

alt="Ubuntu Netbook Remix"

แน่นอนว่าถ้าเปิดโปรแกรมเดียวกันสองหน้าต่าง ไอคอนใน window-picker จะซ้ำกัน ซึ่งตรงนี้มีทูลทิปให้ก็พอช่วยได้บ้าง

โปรแกรมบางประเภทอย่างเช่น Pidgin นั้น เราไม่นิยมเปิดเต็มหน้าจอ ซึ่ง maximus ก็ฉลาดพอที่จะรู้จักว่าโปรแกรมไหนควร-ไม่ควรขยาย (เราสามารถแก้รายชื่อโปรแกรมเหล่านี้ได้ใน gconf-editor แล้วหาคำว่า maximus)

alt="Ubuntu Netbook Remix"

เนื่องจากผมรัน maximus เป็น foreground เลยจะเห็นว่ามี exception อะไรบ้าง ที่เห็นคือหน้าต่างหลัก Pidgin และหน้าต่างสนทนากับคุณมะระ Ubuntuclub

อย่างไรก็ตามมันยังมีบั๊กตามที่ Ars Technica ว่าไว้ คือเปิด GIMP ขึ้นมาแล้วเละแบบที่เห็น

alt="Ubuntu Netbook Remix"

ส่วนสุดท้ายคือ Launcher หรือตัวเรียกโปรแกรม ซึ่งมันจะทำหน้าที่แทนเดสก์ท็อป และเมนูไปพร้อมๆ กัน เรื่องเมนูคงไม่มีอะไรมาก เพราะแทนด้วย Launcher ซึ่งใช้โครงสร้างเดียวกับเมนู แค่ไอคอนใหญ่ขึ้น ไม่มีปัญหา

แต่สิ่งผู้ใช้ UME ต้องปรับหัวคือ UME ไม่มีเดสก์ท็อปอีกแล้ว (ไม่มีให้กด แต่ยังสามารถเข้าได้จาก Nautilus อยู่นะครับ) ไม่สามารถเอาไอคอนหรือไฟล์ไปวางไว้บนเดสก์ท็อปได้เหมือนเดิมอีกต่อไป วิธีเข้าถึงไฟล์ที่ใช้บ่อยๆ คือสร้างช็อตคัตของไฟล์นั้นในหมวด Favorite ของตัว Launcher ซึ่งสามารถลากไฟล์จาก Nautilus ไปวางใส่ได้โดยตรง

alt="Ubuntu Netbook Remix"

จากรูปข้างบนจะเห็นว่าผมลากไฟล์ชื่อ screenshot.png มาใส่ ไอคอนพวกนี้มีค่าเท่ากับช็อตคัต ไม่ใช่ไฟล์จริง สามารถเอาช็อตคัตออกได้ แต่การจัดการ-ลบ-แก้ไขเปลี่ยนชื่อไฟล์ ต้องย้ายไปทำใน Nautilus ทั้งหมด

สรุป

ของใหม่ที่เพิ่มมาใน Netbook Remix ก็มีแค่นี้ จะเห็นว่ามันเป็นการเปลี่ยนแปลงเฉพาะวิธีการใช้งานโปรแกรมเท่านั้น บรรดาโปรแกรมต่างๆ ในระบบยังใช้ของ Ubuntu ทั้งหมด ตรงนี้ Shuttleworth อธิบายไว้ว่าไม่ต้องการจะสร้างระบบปฏิบัติการใหม่ขึ้นมา เพราะต้องลงทุนลงแรงอีกมาก ให้เป็นการต่อยอดจาก Ubuntu ที่พื้นฐานดีอยู่แล้วแทนจะดีกว่า

ถ้าไม่นับปัญหาเรื่อง GIMP แล้ว ผมเจอปัญหาอื่นๆ ดังนี้

  • ตัว Launcher ทำงานได้ช้ามาก เข้าใจว่าเป็นเพราะ Clutter มีปัญหากับการ์ดจอ
  • ไอคอนโปรแกรมหลายอัน เวลาขยายใหญ่ใน Launcher แล้วดูไม่สวยเลย ตอนแรกคิดว่าเป็นคนเดียว แต่ดูใน screenshot ของ Mark Shuttleworth เองก็เป็นเหมือนกัน
  • ทาสก์บาร์แบบใหม่ของ window-picker ไม่มีระบบแจ้งเตือน ทำให้โปรแกรม IM อย่าง Pidgin นั้นไม่สามารถบอกได้ว่ามีข้อความใหม่เข้ามาโดยการกระพริบๆ ที่ทาสก์บาร์ สำหรับ Pidgin แก้ปัญหานี้โดยดูจากไอคอนของ Pidgin ในส่วนของ system tray ด้านขวามือแทน

ผมลองใช้งานจริงอยู่พักใหญ่ พบว่าต้องเปลี่ยนหัวเปลี่ยนวิธีคิดนิดหน่อย เพราะว่าวิธีการสลับหน้าต่างและเรียกโปรแกรมต่างไปจากที่คุ้นเคย อย่างไรก็ตามมันไม่ได้ยากเกินไป และคิดว่าเป็นการออกแบบที่ดีมาก สำหรับคอมพิวเตอร์จอเล็กๆ อย่าง Netbook ทั้งหลาย ตอนนี้เหลือแค่รอดูว่าบริษัทฮาร์ดแวร์อะไรบ้างที่จะใช้ UME สำหรับเครื่อง Netbook ของตัวเอง สถานการณ์ในตอนนี้

  • Asus ใช้ Xandros สำหรับ Eee PC อยู่แล้ว คงไม่ใช้ (แต่ด้วยความนิยมของ Eee น่าจะมีคนทำ ISO สำเร็จออกมาให้นำ UME ไปลงใน Eee PC ง่ายๆ)
  • Acer Aspire One ใช้ Linpus Linux
  • Everex Cloudbook ใช้ gOS
  • HP Mininote กับ MSI Wind ใช้ SUSE

เห็นฝรั่งคาดกันว่า Dell คงใช้แน่ เพราะมีสายสัมพันธ์เก่ากับ Canonical อยู่ จากคำสัมภาษณ์ของ Shuttleworth ดูเหมือนว่าจะมีอีก 2-3 ราย ก็คงต้องรอดูกันต่อไปครับ ระหว่างนี้ใครที่เล็ง Netbook ไว้ก็ซ้อมใช้กันบนพีซีไปพลางๆ ก่อนละกัน

Get latest news from Blognone

Comments

By: loptar on 11 June 2008 - 10:21 #54520
loptar's picture

ถ้าใช้กับ EeePC รุ่นจอ 800 จะมีปัญหามั้ยเนี่ย?

By: demon69gt on 11 June 2008 - 10:36 #54522

ให้รายละเอียดได้ดีจัง ขอชมเชย

By: mk
FounderAndroid
on 11 June 2008 - 21:55 #54575
mk's picture

เขียนไปเมื่อวาน วันนี้ Ubuntu (เวอร์ชันไม่ใช่ UME) สำหรับ Eee PC ออกตัวจริงแล้วครับ

Ubuntu Eee

By: loptar on 12 June 2008 - 07:57 #54596
loptar's picture

น่าเอามารีวิวมั่งนะครับ ว่าตัวไหนจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า