Tags:
Node Thumbnail

สภาพความสัมพันธ์ระหว่างอเมซอนและสำนักพิมพ์นั้นเป็นความสัมพันธ์ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกจากการที่อเมซอนครองตลาดอีบุ๊กอยู่เป็นส่วนใหญ่โดยที่สำนักพิมพ์ไม่มีศักยภาพในการทำตลาด และคู่แข่งรายอื่นๆ เช่น Barnes & Noble หรือ Apple iBook นั้นยังตามหลัง Kindle อยู่ห่าง ที่ผ่านมาอเมซอนพยายามกำหนดราคาอีบุ๊กไม่ให้สำนักพิมพ์กำหนดราคาด้วยตัวเอง แต่ก็จบลงด้วยการยอมแพ้ต่อสำนักพิมพ์ ในปีนี้สงครามรอบใหม่อาจจะกำลังเกิดขึ้นเมื่ออเมซอนกำลังเปลี่ยนตัวเองมาเป็นสำนักพิมพ์เสียเอง

หนังสือพิมพ์ The New York Times อ้างแหล่งข่าวภายใน ระบุว่าปีนี้อเมซอนกำลังพิมพ์หนังสือของตัวเองทั้งหมด 122 เล่มโดยขายทั้งรูปแบบอีบุ๊กและหนังสือปรกติ

ธุรกิจหนังสือในสหรัฐฯ นั้นโดยปรกติสำนักพิมพ์จะให้เงินล่วงหน้าแก่นักเขียนเพื่อซื้อสิทธิในการพิมพ์หนังสือหลังจากหนังสือเขียนเสร็จ หรือหากนักเขียนไม่ได้รับการตอบรับจากสำนักพิมพ์ก็ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายในการพิมพ์ด้วยตัวเอง และรับความเสี่ยงจากการพิมพ์เอง แต่บริการของทางอเมซอนนั้นจะให้บริการทั้งบรรณาธิการ, ออกแบบปก, และช่วยทำการตลาด โดยนักเขียนที่ได้รับบริการเช่นนี้จะได้รับการติดต่อจากอเมซอนโดยตรง

ข้อเสนอแบบนี้สร้างความขัดแย้งกับสำนักพิมพ์ให้บาดลึกขึ้นอีกครั้ง ก่อนหน้านี้นักเขียนบางคนที่กำลังทำหนังสือให้กับสำนักพิมพ์กลับนำบทความเก่าของตนมารวมเล่มขายเป็นอีบุ๊กกับอเมซอนโดยตรงก็ทำให้เป็นคดีความกับสำนักพิมพ์มาก่อนแล้ว การที่อเมซอนตัดสำนักพิมพ์ออกจากวงจรการพิมพ์ทำให้หนังสือไปอยู่กับหน้าร้านของอเมซอนโดยตรงเช่นนี้น่าจะทำให้สำนักพิมพ์ออกมาตรการตอบโต้อะไรบางอย่างออกมา

การที่อเมซอนติดต่อกับนักเขียนโดยตรงอาจจะเป็นอันตรายกับร้านหนังสืออื่นๆ ยิ่งกว่าสำนักพิมพ์เองเสียอีก โดยก่อนหน้านี้ Barnes & Noble ก็ถอดหนังสือบางรายการออกจากหน้าร้านของตัวเองเพราะหนังสือวางขายแบบอีบุ๊กกับอเมซอนเท่านั้น ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้อาจจะทำให้ตลาดหนังสือสหรัฐฯ เปลี่ยนมาคล้ายกับตลาดของไทยที่สำนักพิมพ์ใหญ่ๆ มีหน้าร้านขายหนังสือของตัวเอง และเน้นทำตลาดกับหนังสือของตัวเอง ไปพร้อมๆ กับการไม่ยอมส่งหนังสือขายดีของตัวเองให้กับร้านอื่นๆ เท่าที่ควร

ที่มา - The New York Times, Los Angeles Times

Get latest news from Blognone

Comments

By: tekkasit
ContributorAndroidWindowsIn Love
on 18 October 2011 - 10:04 #345924
tekkasit's picture

อเมซอนจะเป็นสำนักพิมพ์ (publisher) รวมถึงสายส่งและหน้าร้านในตัวเสร็จ ซึ่งสามารถขายได้ทั้งเป็นเล่มๆและแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งต่างจากสำนักพิมพ์ปกติยังขาดหน้าร้านทั้งของจริงและแบบออนไลน์ของตัวเอง

โดยส่วนตัวแล้ว สำหรับผู้บริโภคไม่สนใจสำนักพิมพ์อยู่แล้ว ในทางตรงข้าม สำนักพิมพ์ต่างหากที่ขวางการเติบโตหนังสือฉบับอิเล็กทรอนิกส์ กำหนดให้ขายราคาเท่ากับปกแข็งมั่ง และไม่ยอมลดราคาเมื่อฉบับปกอ่อนออก จนบางเล่มเรียกว่าถ้าอยู่ต่างประเทศไปซื้อปกอ่อนมือสองตามเว็บไซต์ รวมค่าส่งแล้ว ราคาน่าจะยังถูกกว่าซื้อฉบับอิเล็กทรอนิกส์เสียอีก

By: lew
FounderJusci's WriterMEconomicsAndroid
on 18 October 2011 - 22:55 #346178 Reply to:345924
lew's picture

สุดท้ายคงต้องเป็นแบบนั้น แต่ในระยะเปลี่ยนผ่านคำถามคือทำยังไงจะไม่ให้มีเรื่องกับสำนักพิมพ์จนสำนักพิมพ์ถอนหนังสือออกหมดซะก่อน


lewcpe.com, @wasonliw

By: tekkasit
ContributorAndroidWindowsIn Love
on 18 October 2011 - 23:48 #346197 Reply to:346178
tekkasit's picture

ในที่สุดมันคงจะเลี่ยงไม่ได้ ถ้าเจรจากันไม่ลงตัว (ซึ่งจะลงตัวได้ไงยังไม่รู้เลย อีกฝ่ายมีหน้าร้านช่องทางจำหน่ายของตัวเอง ทั้งในแบบเล่มและอิเล็กทรอนิกส์ ระบบรีวิวหนังสือที่เข้มแข็ง แถมจะรุกคืบเป็นสำนักพิมพ์เอง กับฝ่ายเดิม เป็นสำนักพิมพ์ที่อยู่มานาน และมีลิขสิทธิ์เดิมหนังสือเดิมๆที่อยู่ในมือ ไม่มีเทคโนโลยี DRM ของตัวเอง) แต่กรณีที่สำนักพิมพ์คว่ำบาตร เลิกส่งให้อเมซอนนี่น่าจะเป็น worst-case scenario ซึ่งมีแต่เสียกับเสีย ทั้งสองฝ่าย

ตัวละครมี 4 ฝ่าย ได้แก่ ลูกค้า, นักเขียน, สำนักพิมพ์, ช่องทางจำหน่าย

ด้านสำนักพิมพ์คงต้องรวมหัวกันเอง เพราะไม่มีช่องทางจำหน่าย จึงต้องดึงเอานักเขียนเป็นพวก สร้างสัญญาใหม่ล่อนักเขียนมากขึ้น มีเงินขั้นต่ำให้ต่อ title เพื่อดึงให้นักเขียนหน้าใหม่ให้อยู่ เพียงแต่ส่วนแบ่งต่อเล่มจะไม่สูง แต่จะฮุบสิทธิ์ขาด IP ทั้งในรูปเป็นเล่มๆและอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึง franchise ต่างๆ ให้อยู่กับตัว ส่วนการขายแบบอีบุ๊ค เพราะสำนักพิมพ์ไม่มีเทคโนโลยีพวกนี้เอง สิ่งที่ทำได้ก็โก่งราคาฉบับอิเล็กทรอนิกส์ให้แพงๆเค้าไว้ คนที่สนใจจะได้มาซื้อฉบับเป็นเล่มๆแทน

ทางอเมซอนก็ได้เปรียบเรื่องช่องทางการจำหน่าย ได้เปรียบที่มี ecosystem รวมถึงระบบรีวิวให้คะแนนหนังสือที่ดีเยี่ยมบนอเมซอน พยายามล่อลวงนักเขียนให้มาอยู่ สร้างสัญญาแบบ share revenue ที่ให้ต่อเล่มมากกว่าสำนักพิมพ์เดิมๆ แต่ไม่มีประกันรายได้ขั้นต่ำ รวมถึงขอสิทธิ์แบบ timed exclusive ขายในช่องทางจำหน่ายของตัวเองผ่านทางร้านอเมซอนหรือแบบอิเล็กทรอนิกส์บนคินเดิลแพลตฟอร์ม ส่วนการขายหนังสือเป็นเล่มๆก็คงยังขายอยู่ สำนักพิมพ์เองก็คงทำอะไรไม่ได้ คงยังต้องมองอเมซอนเป็นช่องทางจำหน่ายหนังสือเล่ม และยอมให้เกิดการขายผ่านช่องทางนี้อยู่ดี

By: cornario
iPhoneAndroidUbuntuWindows
on 18 October 2011 - 10:18 #345936
cornario's picture

ตลาดของไทยที่สำนักพิมพ์ใหญ่ๆ มีหน้าร้านขายหนังสือของตัวเอง และเน้นทำตลาดกับหนังสือของตัวเอง ไปพร้อมๆ กับการไม่ยอมส่งหนังสือขายดีของตัวเองให้กับร้านอื่นๆ เท่าที่ควร

เพิ่งรู้ว่าของไทยเป็นแบบนี้ ว่าแต่สำนักพิมพ์ใหญ่ๆของไทยที่ทำแบบนี้มีอะไรบ้างครับใครทราบบ้าง พอดีไม่ค่อยได้ซื้อหนังสือภาษาไทยยกเว้นนิยายญี่ปุ่นกับการ์ตูนที่ส่วนใหญ่จะมีทุกร้านที่ไป

By: tk719
iPhoneBlackberrySymbianIn Love
on 18 October 2011 - 11:03 #345964 Reply to:345936

อย่างอมรินทร์ก็มีหน้าร้านของตนเองคือนายอินทร์ ซีเอ็ดก็มีทั้งสำนักพิมพ์และหน้าร้าน ดอกหญ้าด้วย(แต่เจ้านี้คงไม่ใหญ่แล้วมั้ง)

By: hisoft
ContributorWindows PhoneWindows
on 18 October 2011 - 14:01 #346018
hisoft's picture

ขาย ebook ให้ถูกกว่าแบบเล่มเยอะ ๆ หน่อย ส่วนใครซื้อแบบเล่มก็ได้ฉบับ ebook ไปด้วยเลยสิ (- -)b

By: plyteam
iPhone
on 18 October 2011 - 20:33 #346130 Reply to:346018

เห็นด้วยว่าซื้อเป็นเล่มแล้วได้ ebook ด้วยเลยดีกว่า ทำไมพวกดีวีดีหนังถึงมีดิจิตอลก็อปปี้พ่วงได้ แต่หนังสือไม่ทำหว่า

แบก the girl with the dragon tattoo เล่มเบ้อเร่อไปอ่านแล้วหนักมาก

By: hisoft
ContributorWindows PhoneWindows
on 19 October 2011 - 01:06 #346237 Reply to:346130
hisoft's picture

ผมแบก The girl with the dragon tattoo + The girl who played with fire พร้อมกันยังไม่หนักเลยครับ (>_<) ฉบับ Kindle ทั้งคู่

ตอนนี้คิดว่าถ้าว่างพอ (จากภาวะน้ำท่วม ช่วงนี้แบกหนีน้ำแทบไม่ได้หยุด) จะเร่งอ่านเล่มสองให้จบก่อนภาคแรกเข้าโรงเนี่ยครับ

By: porple on 18 October 2011 - 15:49 #346058

หวังว่าจะไม่เจอ outside USA