Tags:
Node Thumbnail

กระแสการเปิดบริษัทสตาร์ตอัพบ้านเราอาจจะเพิ่งได้รับความนิยมสูงๆ ในช่วงไม่กี่ปีมานี้จนมีงานประกวดในไทยอยู่เนืองๆ แต่งานในสหรัฐฯ ที่มีสตาร์ตอัพจำนวนมาก ก็มีการประกวดกันมานานแล้ว หนึ่งในงานที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงคืองาน LAUNCH Festival ที่มีการแข่งขันนำเสนอธุรกิจ (pitch) กันเป็นจำนวนมาก ผู้ร่วมงานปีละนับหมื่นคน

งานนี้ทาง Digital Ventures และ IBM ก็เชิญ Blognone ไปร่วมงาน ผมจึงมีโอกาสเก็บบรรยากาศมาเล่าให้ฟังกันครับ

alt="upic.me"

ตัวงานแบ่งออกเป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการ ให้พื้นที่กับสตาร์ตอัพที่มาร่วมงาน กับเวทีการนำเสนอธุรกิจ ที่มีแยกกันสามเวที แต่ละเวทีก็จะมีช่วงเวลาเสวนาในช่วงเช้า พูดคุยถึงประเด็นต่างๆ ในวงการสตาร์ตอัพ ตั้งแต่ความเท่าเทียมทางเพศ การที่หุ่นยนต์จะเข้ามาแย่งงานมนุษย์ และแนวทางที่บริษัท venture capital เลือกลงทุนในบริษัทต่างๆ

ส่วนนิทรรศการ

alt="upic.me"

งานนี้ IBM เป็นสปอนเซอร์ใหญ่ (เวทีหลักก็เป็นเวทีไอบีเอ็ม) บูตหลักเป็นบูตไอบีเอ็มมาโชว์พลังของ Watson โดยทำแอปพลิเคชั่นตัวอย่าง เป็นแอปแนะนำเบียร์ตามลักษณะของคนดื่ม

alt="upic.me"

ส่วนรอบๆ เป็นการนำเสนอของทีมที่ชนะมาจากการแข่งขัน IBM SmartCamp ทั่วโลก ตัวอย่างในภาพเป็น Pyrenee Drive จอช่วยขับรถ

การนำเสนอธุรกิจ

เนื่องจากเป็นงานใหญ่ บริษัทที่มาร่วมนำเสนอจึงมีเยอะมาก บนเวทีมีการจัดการเวลาค่อนข้างเข้มงวด โดยแต่ละทีมจะมีเวลานำเสนอ 3 นาทีพอดีเท่านั้น หากเกินไปประมาณ 10 วินาทีไมโครโฟนก็จะตัด ถัดจากนั้นเป็นช่วงเวลาถามตอบกับกรรมการอีก 4 นาทีรวมทั้งกรรมการพูดและคนเข้าแข่งขันตอบ โดยการแข่งจะแบ่งเป็นรอบๆ รอบละ 5 บริษัทแล้วให้กรรมการแต่ละชุดชุดละ 5 คนจากบริษัทลงทุนขึ้นเวทีให้คะแนน

แนวคำถามคล้ายกับการแข่งขันที่เราเห็นในบ้านเรา คำถามส่วนมากจะถามถึงการแข่งขัน, มูลค่ารวมในตลาดอนาคต, แนวทางการทำเงิน, ฐานผู้ใช้ ฯลฯ โดยทั่วไปแล้วเวลาในการนำเสนอค่อนข้างสั้น พิธีกรเองจะเตือนกรรมการว่าเวลาสามนาทีไม่เพียงพอต่อการให้ข้อมูลทุกอย่างแน่นอน และตัวกรรมการเองก็จะละหัวข้อบางอย่างไป หรือบางบริษัทที่เป็นธุรกิจดำเนินการไปแล้วก็อาจจะปฏิเสธไม่ตอบคำถามบางคำถามไปเลย เพราะเปิดเผยต่อสาธารณะไม่ได้

ช่วงประกาศผลของแต่ละรอบจะค่อนข้างเร็ว เพราะพิธีกรจะขอให้กรรมการแต่ละคนบอกบริษัทอันดับ 2 และ 3 ก่อน ทีละคน จากนั้นจึงบอกบริษัทอันดับ 1 ของแต่ละคนอีกครั้ง (บอกสองรอบให้มีลุ้นว่าใครจะได้ที่หนึ่งมากที่สุด) และคิดคะแนนจากอันดับของกรรมการแต่ละคน กรรมการไม่มีโอกาสปรึกษากันจึงจบได้ในเวลาอันรวดเร็ว

ตัวอย่างการนำเสนอบางบริษัทในงาน

Topology Eyewear

alt="upic.me"

บริษัทผลิตแว่นตาแบบปรับขนาดให้พอดีกับทุกคน โดยอาศัยการสร้างโมเดลใบหน้าของผู้สวมใส่จากกล้องโทรศัพท์มือถือ เมื่อสร้างโมเดลได้แล้วก็จะสามารถสร้างแว่นตาที่พอดีกับใบหน้าได้ โดยผู้ใช้สามารถเลือกการออกแบบได้เอง รวมถึงปรับขนาดบางส่วนได้เองในกรณีที่ต้องการขนาดต่างจากที่แนะนำ

การสร้างแว่นตาตามสั่งเช่นนี้ต้องใช้เทคโนโลยีทั้งฝั่งไคลเอนต์ คือแอปพลิเคชั่นที่จะสร้างโมเดลสามมิติ และฝั่งการผลิตที่ต้องสามารถผลิตทีละชิ้นได้ โดยตอนนี้ยังอยู่ในช่วงเบต้า

Topology ได้รับคอมเมนต์จากกรรมการว่าราคาของแว่นมีราคาแพง (ประมาณ 700 ดอลลาร์ต่อชิ้น) และอาจจะต้องพยายามให้เข้าเครือข่ายบริษัทประกันเพื่อให้ได้ลูกค้าง่ายขึ้น

MegaBots

alt="upic.me"

MegaBots ที่เคยระดมทุนสร้างหุ่นยนต์ต่อสู้ไปรับคำท้าจากทีมหุ่นยนต์ญี่ปุ่น ตอนนี้มานำเสนอในเวทีในฐานะธุรกิจ แม้ว่าจะเริ่มต้นจากการเป็นทีมสร้างหุ่นยนต์ แต่ MegaBots ก็นำเสนอแผนธุรกิจในฐานะผู้จัดการแข่งขัน

บริษัทเตรียมแผนการที่จะวางตัวเป็นผู้จัดการแข่งขันหุ่นยนต์ต่อสู้ แบบเดียวกับการแข่งขันมวยปล้ำ แนวทางรายได้มีตั้งแต่รายได้จากการเข้าชมสดริมเวที, ค่าไลเซนส์นำการแข่งขันออกเผยแพร่ที่ต่างๆ, สปอนเซอร์รายการ, และการขายสินค้าที่ระลึก

อาจจะดูงงๆ สำหรับคนทั่วไป แต่กรรมการก็มองเห็นว่า MegaBots มีโอกาสทางธุรกิจที่สูงมาก หากทำสำเร็จจะกลายเป็นธุรกิจมูลค่าสูงกำไรดี ทำให้ MegaBots กลายเป็นผู้ชนะในการนำเสนอ LAUNCH Festival ปีนี้ไปด้วย

AID:Tech

alt="upic.me"

บริษัทให้บริการ Blockchain เพื่อการยืนยันตัวตน โดย AID:Tech จะสร้างซอฟต์แวร์ให้กับ NGO และหน่วยงานให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ไม่มีเอกสารของราชการ เช่นผู้ลี้ภัยไปยังต่างประเทศ เมื่อหน่วยงานให้ความช่วยเหลือเริ่มลงทะเบียนตรวจสอบแล้วก็จะออกหมายเลขประจำตัวให้กับผู้ประสบภัยได้ เมื่อได้หมายเลขประจำตัวแล้ว ผู้ประสบภัยจะสามารถเข้าถึงบริการและความช่วยเหลือต่างๆ ฟีเจอร์หนึ่งที่ระบุบนเวทีคือการบริจาคเงินตรงเข้าไปยังผู้ประสบภัย ขณะเดียวกันระบบก็ตรวจสอบได้ว่าผู้ประสบภัยคนไหนได้รับเงินไปแล้วเท่าไหร่

แม้ว่าจะเป็นเครื่องมือสำหรับให้ความช่วยเหลือ แต่ AID:Tech ก็เป็นธุรกิจเต็มตัว คิดค่าบริการ 1 ดอลลาร์ต่อเดือนต่อผู้ใช้หนึ่งคน โอกาสในตลาดคืองบประมาณการส่งเงินช่วยเหลือที่โดยรวมแต่ละปีสูงถึง 6 ล้านล้านบาท แต่กลับมีประสิทธิภาพการใช้งบประมาณต่ำ ประเมินกันว่างบประมาณถึง 30% สูญเสียไปจากการบริหารที่ไม่มีประสิทธิภาพ

Legal Robot

alt="upic.me"

การใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่องานด้านกฎหมายได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในยุคหลังๆ (1, 2, 3) ในงานนี้ก็มี Legal Robot มานำเสนอธุรกิจ โดยขายบริการวิเคราะห์เอกสารสัญญาด้วยปัญญาประดิษฐ์

Legal Robot มีความสามารถในการวิเคราะห์ความสมบูรณ์ของสัญญาว่านิยามต่างๆ ครบถ้วนถูกต้องหรือไม่ และแจ้งเตือนหากมีข้อความใดผิดไปจากรูปแบบปกติและต้องระมัดระวัง โดยจะให้คะแนนความสมบูรณ์ของสัญญาไว้ด้วย จากนั้นก็มีสรุปเป็นภาษาเข้าใจง่ายๆ ว่าสัญญานี้คือเรื่องอะไร

ในแง่ธุรกิจ Legal Robot คิดค่าบริการเดือนละ 299 ดอลลาร์สำหรับการวิเคราะห์สัญญา 25 สัญญาต่อเดือน ทีมงานระบุว่าตั้งเป้าจะขายให้กับบริษัทเป็นหลักเพราะมีสัญญาต้องตรวจสอบจำนวนมาก แม้แต่บริษัทขนาดใหญ่ที่มีทีมกฎหมายก็ยังใช้เวลาตรวจสอบสัญญากันเป็นเวลานาน การใช้ Legal Robot มาช่วยกรองสัญญาจะทำให้บริษัทขนาดใหญ่ปิดกระบวนการทำสัญญาได้เร็วขึ้น

กรรมการเสนอว่า Legal Robot อาจจะขยายตลาดไปยังผู้ใช้ทั่วๆ ไป เช่น การอ่านข้อตกลงการใช้งาน หรือสัญญาที่นานๆ ใช้ทีเช่นการกู้เงิน ขณะที่องค์กรขนาดใหญ่ก็มีควรมีแพลนเก็บเงินที่สมเหตุสมผลยิ่งขึ้น

Fotokite

alt="upic.me"

โดรนได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีมานี้จากความสามารถในการควบคุมที่ง่ายขึ้นมาก สื่อมวลชนเริ่มให้ความนิยมเพราะสามารถเก็บภาพในมุมแปลกใหม่ได้ แต่ Fotokite กลับสร้างโดรนมีสาย และทำงานง่ายกว่าโดรนที่ปกติแล้วมักมีระบบควบคุมซับซ้อน

Fotokite เป็นโดรนแบบมีสายที่ติดกับผู้ควบคุมตลอดเวลา ตัววงจรในโดรนออกแบบให้ดึงสายจนนิ่งทำให้ผู้ควบคุมสามารถควบคุมโดรนได้โดยง่ายแบบเดียวกับว่าว

แม้ว่าตัวโดรนจะเรียบง่าย แต่ Fotokite กลับวางตัวเองเป็นสินค้าสำหรับงานมืออาชีพเป็นหลัก เพราะเป็นโดรนที่ได้รับอนุญาตให้ใช้งานได้แม้จะอยู่ท่ามกลางฝูงชน สำหรับช่องข่าวในสหรัฐฯ หลายช่องซื้อไปใช้งานกันแล้ว จากการที่มีลูกค้ากลุ่มมืออาชีพใช้งาน Fotokite ยังมีรุ่นส่งภาพและพลังงานผ่านสาย ทำให้สามารถบินได้นานต่อเนื่องนับสิบชั่วโมงและส่งภาพได้ยาวนาน ทำให้เหมาะกับการใช้ถ่ายทอดสดกีฬาได้อีกทางด้วย

เสวนาอนาคตแห่งอาหาร

ในงานยังมีช่วงเสวนาอีกหลายช่วง แต่ช่วงหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจเป็นพิเศษ คือรายการ Future of Food การใช้หุ่นยนต์กับอาหารในอนาคต ร่วมเสวนาโดย Alex Garden จาก ZUME Pizza บริษัทพิซซ่าที่ใช้หุ่นยนต์ผลิต, Henry Hu จาก Cafe X ร้านกาแฟที่ไม่มีบาริสต้า (แต่ยังมีพนักงานในร้าน), และ Deepak Sekar จาก chowbotics บริษัทขายเครื่องทำสลัดอัตโนมัติ

alt="upic.me"

วงเสวนาพูดถึงการจ้างงานในอนาคตที่มีคนสหรัฐฯ ถึง 30 ล้านคนทำงานในร้านค้าปลีกและร้านอาหาร Alex Garden ระบุว่าแม้ว่าทาง ZUME จะลดการจ้างคนในห้องครัวลง แต่พนักงานส่งพิซซ่าก็ยังใช้คนอยู่ และตอนนี้ทาง ZUME สามารถจ้างด้วยค่าแรงเกือบสองเท่าตัวของค่าแรงขั้นต่ำ สำหรับ Cafe X เองก็ระบุว่าตอนนี้ลูกค้ายังต้องการพบกับคนที่ให้คำแนะนำในร้านบ้าง ดังนั้นแม้ Cafe X จะทำกาแฟโดยหุ่นยนต์ทั้งหมดแต่ก็ยังมีพนักงานในร้าน 1-2 คน ทำหน้าที่แนะนำสินค้าให้ลูกค้าและทำความสะอาดหุ่นยนต์วันละสองรอบ ส่วน chowbotics นั้นต่างออกไป เพราะทุกวันนี้สลัดในสหรัฐฯ ก็มักไม่ค่อยใช้คนทำอยู่แล้ว แต่เครื่อง chowbotics จะเข้ามาแทนที่สลัดบาร์ ทำให้ผักสดกว่าสลัดบาร์เพราะอยู่ในตู้แช่ตลอดเวลาก่อนจะถึงจาน และลดความเสี่ยงการติดโรคระหว่างคน

อีกอุปสรรคของการใช้หุ่นยนต์คือการขอใบอนุญาตร้านอาหาร ZUME ระบุถึงกระบวนการขออนุญาตใช้หุ่นยนต์ที่ต้องได้รับการรับรองความปลอดภัย ทำให้ทาง ZUME ใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรมมาทำพิซซ่า แม้จะราคาสูงสักหน่อย แต่ก็คืนทุนในระยะเวลาปีกว่าๆ เท่านั้น ส่วน Cafe X ระบุว่ายังมีกฎหมายที่ค่อนข้างสับสนบางจุด เช่นร้านกาแฟอัตโนมัติอย่าง Cafe X หากจดทะเบียนเป็นเครื่องขายกาแฟอัตโนมัติ จะไม่สามารถใช้นมสดในเครื่องได้เลย ไม่ว่าจะดูแลอายุนมอย่างไร ส่วน chowbotics ระบุว่าเครื่องของบริษัทเน้นขายให้กับผู้ที่มีใบอนุญาตประกอบอาหารอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นห้องอาหารบริษัทหรือร้านอาหารก็ตาม จึงไม่ต้องยุ่งกับตัวใบอนุญาตด้วยตัวเอง

เรียนรู้จาก LAUNCH Festival

ตัวผมเองเพิ่งเคยมีโอกาสไปสตาร์ตอัพขนาดใหญ่เช่นนี้ สิ่งที่เห็นอย่างหนึ่งคือสตาร์ตอัพเหล่านี้มักเป็นธุรกิจอยู่ก่อนแล้ว บางรายเปิดตัวในวงจำกัด บางรายมียอดขายและกำไรอยู่ก่อนแล้ว แต่ทุกรายมีเดโมเบื้องต้นใช้งานได้จริงแล้วทั้งสิ้น

เทคโนโลยีใหม่ๆ เริ่มกลายเป็นธุรกิจมากขึ้นเรื่องๆ เช่น Blockchain นอกจาก AID:Tech แล้วในงานก็ยังมี Bancor ที่เปิดให้ทุกคนสร้างโทเค็นของตัวเอง ไปจนถึงปัญญาประดิษฐ์ และอีกหมวดหนึ่งคือกัญชาที่สหรัฐฯ เริ่มปล่อยให้ประชาชนทั่วไปปลูกได้เองในหลายรัฐ

ถ้าใครมีโอกาส การไปร่วมงานแบบนี้ก็ทำให้เห็นกระแสและได้ฟังแนวคิดของผู้ก่อตั้งบริษัทจำนวนมาก นับเป็นข้อมูลที่ดีโดยเฉพาะคนที่อยากลงทุนทำสตาร์ตอัพด้วยตัวเองในอนาคต

Get latest news from Blognone

Comments

By: Be1con
ContributorWindows PhoneWindowsIn Love
on 16 April 2017 - 10:35 #979884
Be1con's picture

แท็กผิดครับ Digital Ve => Digital Ventures


Coder | Designer | Thinker | Blogger

By: panurat2000
ContributorSymbianUbuntuIn Love
on 18 April 2017 - 11:26 #980087 Reply to:979884
panurat2000's picture

เทคโนโลยีใหม่ๆ เริ่มกลายเป็นธุรกิจมากขึ้นเรื่องๆ

เรื่องๆ => เรื่อยๆ

By: narok119
ContributoriPhone
on 16 April 2017 - 20:42 #979918

ผมรอ ศึกระหว่าง MegaBots vs Kuratas มานานมาก
สำหรับคนที่รออยู่เหมือนกัน เค้าประกาศแล้วนะครับว่าสิงหานี้ได้ลุยกันแน่นอน

By: lingjaidee
ContributoriPhoneAndroid
on 18 April 2017 - 13:54 #980116
lingjaidee's picture

หลายๆ ไอเดียสนุกมากครับ บทความนี้ดีทีเดียว ;)


my blog