Tags:
Node Thumbnail

หนึ่งในนโยบายของ Blognone ในระยะหลังคือต้องการนำเสนอเกมในมิติใหม่ ที่ไม่ใช่เพียงสื่อบันเทิงยามว่างและสิ่งมอมเมาที่ติดภาพด้านลบในบ้านเรา แต่ยังเป็นเครื่องมือหรือช่องทางในการสร้างอาชีพ รายได้และหล่อเลี้ยงตัวเองได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเกมหรือกีฬา eSport ไม่เว้นแม้แต่นักพากย์ (commentator) หรือนักแคสต์เกมที่เกมกลายเป็นสื่อหล่อเลี้ยงของคนทำอาชีพนี้เช่นกัน

Blognone จึงได้สัมภาษณ์คุณซัน จากThe Dreamcasters ทีมพากย์ eSports แถวหน้าของไทย ถึงที่มาที่ไปของการทำงานด้านนี้ ปัญหาอุปสรรค และทัศนะต่อวงการ eSports ไทย

alt="15515656_1899902456906233_1795282939_o"

แนะนำตัวและที่มาที่ไปของการมาเป็นนักพากย์ eSport

คุณซัน (SunWatlz) ชื่อจริงว่าดลประภพ เทียนดำ เป็น Founder และ Vice President ของ The Dreamcasters ซึ่งจุดเริ่มต้นของการเข้ามาเป็นนักพากย์ eSports เริ่มจากการที่คุณซันเคยเป็นนักกีฬา eSports มาก่อน แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ประกอบกับช่วงที่เป็นนักกีฬาได้นั่งดูรีเพลย์เยอะ ได้วิเคราะห์และมองเกม รวมถึงได้แรงบันดาลใจจากนักแคสต์เกมต่างชาติด้วย จึงตั้งช่องของตัวเองครั้งแรกเมื่อปี 2002

หลังจากนั้นคุณซันมีโอกาสได้พากย์ภายใต้สังกัดใหญ่สังกัดหนึ่ง ก่อนที่จะออกมาทำเองจากปัญหาภายใน ก่อตั้งทีมพากย์ The Dreamcasters ขึ้นมาเอง เริ่มมาตั้งแต่พากย์ DOTA จนปัจจุบันเน้นอยู่ 3 เกมคือ DOTA 2, League of Legends และ Overwatch

ตั้งแต่ก่อตั้งก็มีการชักชวนคนที่มีความสามารถและสนใจด้านนี้มาทำ มีกระบวนการคัดคน มีการเทรนให้ โดยปัจจุบันมีทีมงานทั้งหมด 15 คน เป็นนักพากย์ประจำ 6 คน ที่เหลืออีก 9 คน มีอาพชีพหลักเป็นของตัวเอง และมาพากย์เกมเป็นอาชีพเสริม คุณซันบอกด้วยว่าส่วนตัวมี Toby "TobiWan" Dawson นักพากย์ DOTA 2 มืออาชีพเป็นแรงบันดาลใจด้วย

alt="15555151_1899902333572912_1298807450_o"
คุณซัน (ตรงกลาง) และทีมงาน

คิดว่าปัจจุบัน Dreamcasters อยู่ระดับไหนในฐานะนักพากย์เกมเมืองไทย และอะไรทำให้มาถึงจุดนี้

คุณซันบอกว่ากำลังพยายามขับเคลื่อนให้ The Dreamcasters ขึ้นไปอยู่ในระดับท็อปของไทยให้ได้ ถึงแม้ทีมพากย์ eSports บ้านเราจะมีอยู่ไม่มากก็ตาม ขณะที่ปัจจัยที่ทำให้ทีมเดินทางมาถึงจุดนี้ คุณซันมองว่าเป็นเพราะวิสัยทัศน์ของทีมที่เน้นการ Watch and Improve พยายามพัฒนาและปรับปรุงการพากย์ให้ดีขึ้น

โดยหนึ่งในนั้นคือการให้ความสำคัญกับผู้ชม อย่างการอ้างอิงหรือพูดถึงคอมเมนท์ของผู้ชม ที่ทีมงานเห็นว่าแสดงความเห็นหรือวิเคราะห์เกมเอาไว้อย่างน่าสนใจ ซึ่งก็มีผู้ชมคนหนึ่งที่แสดงความเห็นอย่างต่อเนื่อง จนทีมงานเห็นแววและชักชวนมาร่วมงาน จนปัจจุบันกลายเป็นนักพากย์ของทีมไปแล้ว

alt="15319111_1894577904105355_5659216711078655732_n"

ปัญหาและอุปสรรคในการทำงาน

ปัญหาและอุปสรรคในการเป็นนักพากย์มือาชีพในบ้านเรามีอยู่ 2 ปัจจัยหลักๆ อย่างแรกคือเรื่องของรายได้ ที่ไม่ค่อยเป็นหลักเป็นแหล่ง เนื่องจากวงการ eSport ในแง่ของฐานคนดูไม่ได้แพร่หลายในทุกๆ เกมมากนัก ทำให้นักพากย์ต้องคอยปรับตัวและพากย์เกมที่กำลังเป็นกระแสนิยม เพื่อเรียกคนดูด้วย ซึ่งแน่นอนว่าแตกต่างกับนักพากย์มืออาชีพต่างชาติ ที่มีฐานคนดูมากกว่าจากการใช้ภาษาอังกฤษ ซึ่งด้วยสาเหตุของรายได้ที่ไม่แน่นอน จึงส่งผลต่อปัจจัยที่ 2 คือเรื่องของการทุ่มเทเวลาให้กับการค้นคว้าข้อมูล

alt="Screen Shot 2559-12-15 at 14.29.54"

คุณซันเล่าว่า การพากย์ eSports จะคล้ายกับการพากย์กีฬาอื่นๆ อย่างฟุตบอล ที่จะมีคนพากย์อยู่สองคน คนแรกหรือไมค์ 1 จะพากย์หรืออธิบายสถานการณ์ภายในเกมที่เกิดขึ้น และอีกคนจะเป็นสายวิเคราะห์กลยุทธ แท็กติคต่างๆ ซึ่งนักพากย์ต่างชาติพอมีรายได้สูง ทำให้เขาสามารถทำแบบ full-time และทุ่มเวลาให้กับการค้นคว้าและรวบรวมฐานข้อมูลการเล่น ติดตามข่าวสารต่างๆ ในวงการ eSports ได้มากขึ้น ทำให้เวลาพากย์ จะสามารถป้อนข้อมูลเชิงลึกหรือเชิงวิเคราะห์ให้กับผู้ชมได้ดีกว่า ลึกกว่าหรืออ่านเกมขาดกว่านักพากย์ในบ้านเรา

ส่วนเรื่องเวลาก็อาจจะต้องแพลนล่วงหน้าและเตรียมตัวระดับหนึ่ง เพราะการแข่งขันส่วนใหญ่จะเป็นของทางตะวันตก ซึ่งเวลาช้ากว่าบ้านเรา ทำให้ต้องมีการปรับเวลาเรื่องการนอนการใช้ชีวิตระดับหนึ่ง

ความแตกต่างระหว่างนักพากย์ในไทยและต่างประเทศ

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าเรื่องของรายได้ที่นำไปสู่เรื่องของข้อมูลและการวิเคราะห์ ไม่นับว่านักกีฬา eSports ต่างประเทศหลายคนที่มีประสบการณ์โชกโชนได้ผันตัวมาเป็นนักพากย์ ก็ยิ่งมีมุมมองหรือการวิเคราะห์ที่แตกต่างออกไปอีก ขณะที่นักพากย์ไทยยังไม่เห็นใครจดบันทึกสถิติและรูปแบบการแข่งขันของทีมต่างๆ เอง ซึ่งก็เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลต่อการวิเคราะห์เช่นกัน

แต่จุดแข็งของนักพากย์ไทยก็คงจะเป็นความตลกอารมณ์ขัน ถึงขนาดมีนักพากย์ชาวไทยไปพากย์การแข่งขันในต่างประเทศ ต่างชาติยังชอบในอารมณ์ขันที่ถูกสอดแทรกเข้าไปด้วยซ้ำ

alt="15540443_1899902666906212_1792419292_o"

มองวงการนักพากย์และ eSports บ้านเรา

ผู้ก่อตั้ง The Dreamcasters มองว่านักพากย์ (commentator) ยังไม่สามารถสร้างกระแสหรือแรงกระเพื่อมได้มากเท่านักแคสต์เกม ซึ่งรวมถึงรายได้ที่มากกว่าด้วย แต่ก็มองว่าน่าจะได้รับความสนใจและความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนักพากย์และวงการ eSports เนื่องจากมีองค์ประกอบ (element) ที่เหมือนกีฬาชนิดอื่นๆ ขณะที่ในต่างประเทศเอง นักพากย์ก็เพิ่งจะมีพื้นที่ในสื่อกระแสหลักเช่น ESPN ได้ไม่นาน

ขณะที่สิ่งที่วงการ eSports ในบ้านเรายังขาดทัวร์นาเมนท์แบบระยะยาว จัดแล้วจบทั้งๆ ที่เม็ดเงินที่ลงไปค่อนข้างเยอะ รวมถึงไม่มีการจดบันทึกสถิติการแข่งขันต่างๆ อย่างเป็นทางการ

alt="Screen Shot 2559-12-15 at 14.30.32"

ส่วนนักกีฬา ปัญหาสำคัญไม่ใช่ฝีมือ นักกีฬาเก่งๆ บ้านเราเยอะ แต่เป็นเรื่องของการเล่นกับสื่อและการสร้างการจดจำให้กับตัวเอง ซึ่งคุณซันยกตัวอย่าง Mickie โปร Overwatch ชาวไทยที่มักจะยิ้มให้กล้องเสมอ ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ ซึ่งคุณ Mickie เคยให้สัมภาษณ์ว่าที่ยิ้มเพราะไม่อยากให้คนดูรู้สึกเฟลหรือดาวน์เวลาแพ้ ขณะเดียวกันก็อยากให้รู้สึกยินดีไปกับชัยชนะของเขา คุณซันบอกว่า นักกีฬาเก่งๆ ระดับโลกที่ประสบความสำเร็จ นอกจากเล่นเก่งและรู้สึกยอมรับข้อผิดพลาดแล้ว ยังรู้จักวิธีวางตัวและแสดงออกต่อสังคมด้วย

ไม่เพียงแต่เรื่องการเล่นกับสื่อ เรื่องของการขาดความรับผิดชอบของนักกีฬาก็มีส่วน ซึ่งคุณซันชี้แจงว่าเป็นไปได้ทั้งในแง่ของนิสัยส่วนตัว และข้อจำกัดของความเป็นนักกีฬาแบบ semi-pro ที่ไม่กล้าทุ่มให้กับการเป็นนักกีฬา eSports อย่างเต็มที่ ทำเป็นอาชีพเสริม ทำให้มีภาระอื่นเข้ามาและทุ่มเวลาให้กับการซ้อมหรือแข่งได้ไม่เต็มที่ ไม่นับเรื่องกริยา มารยาทและการวางตัวของนักกีฬาที่หลายๆ ครั้งดูไม่เป็นมืออาชีพและไม่มีน้ำใจนักกีฬา

แล้วสปอนเซอร์ล่ะเกี่ยวไหม

ในแง่ของสปอนเซอร์และผู้ใหญ่ในวงการ คุณซันมองว่าให้โอกาสกับนักกีฬาค่อนข้างมากแล้ว สิ่งที่ขาดมีเพียงการพิสูจน์ว่าการลงทุนจากสปอนเซอร์นั้นคุ้มค่า โดยเฉพาะการขายของให้สปอนเซอร์ เนื่องจากนักกีฬา eSports หรือผู้ที่ต้องการเดินสายนี้ยังไม่ค่อยรู้ว่านอกจากความเก่งในการเล่นเกมแล้ว อะไรอีกบ้างที่เป็นสิ่งจำเป็นในฐานะนักกีฬา

alt="Image 12-15-2559 BE at 14.40"

คำแนะนำสำหรับนักกีฬาและผู้ที่สนใจ

คุณซันเตือนว่า eSports ไม่ได้ง่ายแค่เล่นเกมเก่งแล้วจบ แล้วยังมีหลายปัจจัยที่สำคัญที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ประกอบกับการลงทุนด้านเวลาสำหรับการฝึกซ้อมและการปรับปรุงพัฒนาต่างๆ ที่ต้องอาศัยความตั้งใจ และความเสี่ยงที่จะต้องละทิ้งอะไรหลายๆ อย่างไปเพื่อมุ่งมั่นที่จะเอาดีทางด้านนี้

ออกจาก eSports มามองวงการเกมในภาพรวมบ้านเราบ้าง

วงการเกมบ้านเราถือว่าก้าวหน้ากว่าในอีกหลายๆ ประเทศ ในแง่ของการอุดหนุนเกมลิขสิทธิ์ที่มีมากขึ้น ผู้บริโภคมีความรับผิดชอบ มีความรู้ความเข้าใจมากขึ้นในแง่ของการพัฒนาเกมมากขึ้น ซื้อเกมละเมิดลิขสิทธิ์น้อยลง ซึ่งจะส่งผลดีต่อการพัฒนาวงการเกมบ้านเราในระยะยาว

ทิ้งท้าย ฝากถึงผู้อ่าน

อยากฝากติดตามแฟนเพจ The Dreamcasters โดยในปีหน้าทีมงานจะเป็นเจ้าภาพจัดลีคทัวร์นาเมนท์ eSports ด้วย แต่ยังขออุบไว้ก่อนว่าเป็นเกมอะไร ฝากติดตามกันด้วยครับ

Get latest news from Blognone

Comments

By: movement41
Windows PhoneAndroidWindows
on 15 December 2016 - 16:23 #958986

ท่านผู้นำ

By: Aize
ContributorWindows PhoneAndroidWindows
on 15 December 2016 - 16:48 #958993
Aize's picture

ซึ่งจุดเริ่มต้ม -> เริ่มต้น

/me หิววววว


The Dream hacker..

By: Jirawat
Android
on 15 December 2016 - 18:24 #959018
Jirawat's picture

ซันว่าวอิอิ ติดตามมานานสู้ต่อไป

By: K_AViar
Windows PhoneUbuntuWindowsIn Love
on 15 December 2016 - 18:41 #959023

ชอบโลโก้มากเลย ดูดีอะ

By: acitmaster
AndroidUbuntuWindowsIn Love
on 16 December 2016 - 08:35 #959120
acitmaster's picture

สุดยอด