Tags:
Node Thumbnail

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา Medscape เว็บไซต์ด้านการแพทย์ของสหรัฐอเมริกา ได้จัดงานเสวนาว่าด้วยเรื่องของการใช้ข้อมูลที่เกิดจากผู้ป่วย (patient-generated data) ในการรักษาทางการแพทย์และผลกระทบที่เกิดขึ้นในอนาคต โดยแพทย์หลายคนบนเวทีเสวนาดังกล่าวเห็นว่าการเข้ามาของเทคโนโลยีหลายอย่าง ทำให้วิธีการรักษาผู้ป่วยเปลี่ยนแปลงไป และวงการแพทย์จำเป็นที่จะต้องปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงนี้

นายแพทย์ Eric Topol หัวหน้าคณะบรรณาธิการของเว็บไซต์ Medspace และผู้อำนวยการของสถาบัน Scripps Translational Science ระบุว่ากิจกรรมหลายอย่างที่แพทย์กำลังทำในปัจจุบัน ผู้ป่วยหรือคนไข้จะเป็นผู้ทำเองในอนาคต ตัวอย่างเช่นการตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองหรือการใช้เครื่องมืออย่างสมาร์ทโฟนในการเป็นเครื่องมือตรวจหาอาการบางอย่างในเบื้องต้น ตัวอย่างเช่นเป็นชุดตรวจหู (otoscope)

ด้าน Joseph Teirstein หัวหน้าคณะแพทย์ด้านการป้องกันโรคหัวใจของ Scripps Clinic และผู้อำนวยการสถาบัน Prebys Cardiovascular ระบุว่าตัวเขาเองเริ่มให้คนไข้ใช้ระบบตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) ของ AliveCor ผ่านสมาร์ทโฟน ซึ่งจะส่งผลตรวจทั้งหมดไปยังแพทย์โดยตรง และคนไข้สามารถตรวจสอบผลเองได้ด้วย ซึ่ง Topol ระบุว่าแม้แพทย์บางคนอาจจะไม่สบายใจกับการตรวจแบบนี้ แต่ก็เป็นการป้องกันปัญหาในการรักษาสำหรับคนไข้ที่ต้องการอิสรภาพระดับหนึ่ง (autonomous)

เมื่อถึงประเด็นระบบเวชระเบียนและสุขภาพของคนไข้แบบอิเล็กทรอนิกส์ (EHR) แพทย์หญิง Cheryl Pegus ผู้อำนวยการฝ่ายแพทย์ภายในทั่วไปและนวัตกรรมคลินิกของศูนย์การแพทย์ Langone มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ระบุว่าความแม่นยำของข้อมูล EHR จะต้องมีสูงมาก โดยสถานประกอบเวชกรรมจะต้องบริหารข้อมูลเหล่านี้เป็นอย่างดี และข้อมูลติดตาม (monitoring data) ที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วย ควรจะสามารถส่งไปวิเคราะห์ต่อแล้วเชื่อมโยงกับ EHR ของผู้ป่วยได้ เพื่อให้คำแนะนำและจัดการรักษาได้ดีขึ้น ด้าน Topol ระบุว่าภาระอาจจะต้องตกอยู่ที่ฝ่ายไอทีขององค์กร ซึ่งต้องดูแลข้อมูลเหล่านี้ โดยจะต้องให้คนไข้สามารถเลือกได้ว่าจะแบ่งปันข้อมูลเหล่านี้ให้ใครบ้าง โดยตัวเขาเองหวังว่าสักวันหนึ่งจะมีผู้ช่วยด้านสุขภาพออกแบบเดียวกับที่ Siri หรือ Cortana เป็นในทุกวันนี้

ทั้งหมดนี้นำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า ความสัมพันธ์ของผู้ป่วยและแพทย์จะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม Pegus ระบุว่าเทคโนโลยีจะทำให้คนไข้เข้าใจในสิ่งที่แพทย์ให้การรักษาได้ดียิ่งขึ้น ขณะที่ Topol ชี้ให้เห็นว่าตัวเลือกของผู้ป่วยจะมีหลากหลายมากขึ้น ไม่ต้องรอการนัดตรวจจากแพทย์เป็นระยะเวลานานๆ อีกต่อไป ส่วน Teirstein ระบุว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ทำให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมในการรักษามากขึ้น แต่แพทย์ต้องปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงนี้ เพราะในท้ายที่สุดในการรักษาหลายอย่าง แพทย์ก็ยังคงต้องเข้าไปมีส่วนสนับสนุนคนไข้อยู่นั่นเอง

ที่มา - Medscape

No Description

Get latest news from Blognone

Comments

By: menu_dot on 27 March 2016 - 17:13 #898065

น่าสนใจมาก มีช่องทางไปอีกเยอะ