Tags:
Node Thumbnail

เมื่อวานนี้ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) จัดงานสัมมนาประจำปี Creative Unfold 2015 โดยหนึ่งในวิทยากรที่เชิญมาคือ Porter Erisman อดีตผู้บริหารของ Alibaba ยักษ์ใหญ่แห่งวงการอีคอมเมิร์ซจีน ที่มาเล่าประวัติศาสตร์เชิงลึกของ Alibaba ในฐานะอดีตพนักงาน

ผมฟังแล้วได้ประโยชน์มาก เลยเก็บเนื้อหา + ถ่ายสไลด์มาเผยแพร่ต่อครับ (รูปเยอะหน่อยนะครับ)

Porter Erisman ที่งานของ TCDC

alt="The Alibaba Story"

Porter เป็นพนักงานต่างชาติคนแรกๆ ของ Alibaba อยู่กับบริษัทในปี 2000-2008 เขาเคยเรียน MBA ที่ศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเข้าทำงานกับ Alibaba ในช่วงที่เพิ่งย้ายออกมาจากอพาร์ทเมนต์ของ Jack Ma

alt="The Alibaba Story"

หลังลาออกจาก Alibaba เขาตัดสินใจบันทึกประวัติของบริษัทผ่านภาพยนตร์สารคดี Crocodile in the Yangtze (ออกฉายปี 2012) และเขียนหนังสือ Alibaba's World: How a Remarkable Chinese Company is Changing the Face of Global Business (วางขาย พ.ค. 2015) ซึ่งกำลังจะมีฉบับแปลภาษาไทยด้วย

alt="The Alibaba Story"

Porter เล่าความเป็นมาของวงการอีคอมเมิร์ซโลกว่า เริ่มขึ้นในทศวรรษ 90s โดยบริษัทฝั่งอเมริกา 2 รายคือ Amazon (โมเดลห้าง) และ eBay (โมเดลตลาด)

alt="The Alibaba Story"

โมเดลของอีคอมเมิร์ซตะวันตก เป็นส่วนต่อขยายของการค้าปลีกฝรั่งที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นระบบมาก (พวกห้างสรรพสินค้าหรือซูเปอร์มาร์เก็ต) อีคอมเมิร์ซเป็นแค่ส่วนที่ช่วยให้เราซื้อของได้สะดวกขึ้น โดยไม่ต้องเดินทางไปห้างเท่านั้นเอง

alt="The Alibaba Story"

แต่กรณีของประเทศจีนที่เพิ่งพัฒนาทุนนิยม เพิ่งออกมาจากระบบคอมมิวนิสต์ ไม่มีระบบค้าปลีกแบบเดียวกัน คำถามคืออีคอมเมิร์ซในจีนควรเป็นอย่างไร?

alt="The Alibaba Story"

สมัยที่ Jack Ma เริ่มทำ Alibaba ใหม่ๆ เขาต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย เช่น คนจีนเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต ไม่ใช่บัตรเครดิต ระบบลอจิสติกส์ห่วย คนจีนเองยังไม่เชื่อถือกันเลย ไม่เคารพกฎหมาย ฯลฯ

alt="The Alibaba Story"

ในปี 1999 ช่วงที่ Alibaba ยังล้มลุกคลุกคลาน Jack ประชุมพนักงานรุ่นแรกจำนวน 17 คนที่บ้านของเขาเอง (Alibaba มีผู้ก่อตั้งทั้งหมด 18 คนนี้) และพูดถึงวิสัยทัศน์ของเขากับ Alibaba ว่าต้องทำอะไรบ้าง การพูดครั้งนั้นถูกบันทึกเทปไว้ และ Porter นำมาเผยแพร่ต่อ รวมถึงใช้ในหนังสารคดีของเขาด้วย

alt="The Alibaba Story"

ในเทปปี 1999 นี้ Jack Ma บอกเพื่อนร่วมอุดมการณ์ว่าไม่ต้องห่วงปัญหาข้างต้น ขอให้พนักงานทุกคนอดทนประมาณ 3-5 ปี ขอให้ทำงานหนักแบบเดียวกับคู่แข่งในซิลิคอนวัลเลย์ เลิกคิดถึงการทำงานแบบ 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็นซะ ขอให้คิดว่าเราจะเป็นบริษัทระดับโลกตั้งแต่วันแรก และเขาคิดว่าบริษัทน่าจะพ้นช่วงยากลำบากไปได้ และ IPO เข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี 2002

แนะนำอย่างยิ่งให้ผู้สนใจประวัติของ Alibaba ดูคลิปนี้ครับ (ใครคิดจะทำสตาร์ตอัพยิ่งต้องดูนะ)

จากนั้นเส้นทางของ Alibaba ก็เริ่มต้นขึ้น โดยเว็บไซต์ Alibaba.com เป็นเว็บขายของแบบ B2B สำหรับผู้ส่งออก-นำเข้าสินค้าในจีน ช่วงแรกบริษัทโปรโมทตัวเองว่าเป็นเว็บไซต์ online trade show เพื่อให้ผู้นำเข้าส่งออกมองว่าเป็นพื้นที่ขายของที่เพิ่มเข้ามา ไม่ใช่คู่แข่งที่เข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาด

alt="The Alibaba Story"

ต่อมา บริษัทขยายตัวมาทำค้าปลีก โดยเปิดเว็บที่สอง Taobao.com อิงตามโมเดลของร้านค้าปลีก ร้านโชว์ห่วยของจีน ตรงนี้ Porter อธิบายว่าโมเดลของ eBay ในช่วงแรกคือการนำของเก่าหรือของสะสมมาขายมือสอง ซึ่งโลกตะวันตกมีระบบทุนนิยมมานาน คนมีของเก่าสะสมไว้เยอะ แต่จีนเพิ่งออกมาสู่ระบบทุนนิยม แต่ละบ้านแทบไม่มีของอะไรที่นำมาขายได้เลย จึงต้องเปลี่ยนมาเป็นการผลักร้านค้าปลีกเล็กๆ ขึ้นมาอยู่บนอินเทอร์เน็ตแทน

alt="The Alibaba Story"

แน่นอนว่า Taobao ถูกนำไปเปรียบเทียบกับ eBay ซึ่ง Jack Ma ก็กล่าววาทะที่มีชื่อเสียงเอาไว้ว่า eBay เปรียบเสมือนฉลามในมหาสมุทร ส่วน Alibaba เป็นแค่จระเข้ในแม่น้ำแยงซีเกียง (Crocodile in the Yangtze River) ถ้าเราต่อสู้กันในทะเล เราแพ้แน่ แต่ถ้าสมรภูมิคือแม่น้ำ เราจะเป็นผู้ชนะ

วาทะนี้ทำให้ Porter นำไปตั้งเป็นชื่อหนังสารคดีนั่นเอง

alt="The Alibaba Story"

งานสำคัญอย่างหนึ่งของ Porter คือรับผิดชอบการออกแบบเว็บ Taobao ซึ่งเขาก็ค้นหาคำตอบว่าควรทำอย่างไร ตำราการออกแบบเว็บในโลกตะวันตกมักชูเรื่องความสะอาด เรียบง่าย ไม่รก ซึ่งขัดกับอุปนิสัยของคนจีนที่ชอบเยอะๆ เห็นสินค้าครบถ้วนในหน้าจอเดียว

alt="The Alibaba Story"

แต่จุดเด่นของ Taobao จริงๆ คือปุ่ม "แชตกับคนขาย" ช่วยให้ลูกค้าสามารถคุยกับคนขายได้จริงๆ ก่อนสั่งสินค้า ตรงนี้ Porter อธิบายว่าเป็นเพราะอุปนิสัยของคนเอเชียที่เน้นสายสัมพันธ์ระหว่างคน ซึ่งต่างจากโมเดลฝรั่งที่เน้นระบบอัตโนมัติ ไม่ต้องคุยกับคน และ eBay ไม่อยากให้ลูกค้ากับคนขายคุยกันเองเพราะกลัวเสียสถานะตัวกลาง

กรณีของ Taobao กลับกันคือคนจีนไม่เชื่อใจกันเอง ไม่เชื่อใจคนขายที่ไม่รู้จัก ดังนั้นการได้พูดคุยทำความรู้จักกันก่อน จะช่วยให้ผู้ซื้อสะดวกใจมากขึ้นเพราะเริ่มรู้จักคนขายแล้วว่าเป็นอย่างไร ซึ่ง Porter มองว่าอีคอมเมิร์ซเมืองไทยก็มีลักษณะคล้ายคลึงกัน

alt="The Alibaba Story"

นิยามของ Taobao จึงไม่ใช่อีคอมเมิร์ซแบบดั้งเดิม แต่เป็น social commerce ที่เป็นชุมชนระหว่างคนซื้อกับคนขายด้วย ลูกค้าหลายคนกลายเป็นเพื่อนกับคนขาย และมีหลายคู่ที่ได้แต่งงานกันเพราะ Taobao ซึ่ง Porter บอกว่าถ้าอยู่ในอเมริกาแล้วบอกว่าเจอกับแฟนผ่าน Amazon คงเป็นไปไม่ได้

alt="The Alibaba Story"

ปัจจัยเรื่อง social เป็นจิ๊กซอชิ้นแรกที่ทำให้คนใช้ Taobao กันมาก ต่อมาบริษัทก็แก้ปัญหาเรื่องความไม่เชื่อใจกันระหว่างคนซื้อกับคนขาย ว่าจะเชิดเงินหรือไม่ ด้วยระบบจ่ายเงิน Alipay ที่ต่างไปจากระบบของ PayPal ตรงที่ Alipay ทำตัวเป็นคนกลางถือเงิน (escrow)

alt="The Alibaba Story"

ระบบของ Alipay ผู้ซื้อจะจ่ายเงินไปให้ตัวกลาง Alipay ก่อน จากนั้น Alipay จะแจ้งผู้ขายว่าได้รับเงินจากผู้ซื้อแล้ว แต่ยังไม่จ่ายเงินให้ผู้ขาย ฝั่งของผู้ขายจะต้องส่งสินค้าให้ถึงมือผู้ซื้อก่อน เมื่อเสร็จกระบวนการแล้ว Alipay ค่อยโอนเงินส่วนนี้ให้

Alibaba ไม่ได้ลงมาทำระบบลอจิสติกส์เอง เพราะมีแนวคิดว่าปล่อยให้คนขายจัดการเองมีประสิทธิภาพมากกว่า (หลายครั้ง ผู้ขายใช้วิธีส่งของด้วยการขี่จักรยานไปส่งแทนการใช้ระบบลอจิสติกส์) แต่ช่วงหลังพอตลาดโตขึ้นมาก ระบบลอจิสติกส์เอกชนเริ่มรองรับไม่ไหว ทำให้ Alibaba ต้องเข้ามาลงทุนบ้าง แต่ก็ยังไม่ใช่ธุรกิจหลักของบริษัท เน้นลงทุนเพื่อให้พาร์ทเนอร์โตทันความต้องการมากกว่า

alt="The Alibaba Story"

ปัจจัยข้อที่สามที่ช่วยผลักดัน Taobao คือ Alibaba ตัดสินใจไม่คิดค่าธรรมเนียมผู้ขายเป็นเวลา 3 ปี เพื่อให้คนกล้าเข้ามาใช้ระบบแล้วบอกต่อ เพราะคนจีนจะไม่กล้าจ่ายเงินถ้าหากไม่ได้ลองขายก่อน ตรงนี้ฝั่ง eBay ไม่สนใจและบอกว่าไม่มีคำว่า "ฟรี" อยู่ในหัวเลย

alt="The Alibaba Story"

นอกจากนี้ Taobao ยังมีระบบแก้ไขข้อขัดแย้งระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย (dispute management) ด้วยระบบลูกขุน (jury) ภายในเว็บ ที่ให้แต่ละฝ่ายเสนอตัวแทนลูกขุนเข้ามาพิจารณาข้อขัดแย้ง เป็นโมเดลที่ดูแลกันเองภายในชุมชน และช่วยแก้ปัญหาเรื่องความขัดแย้งไปได้มาก

ประเด็นเรื่องสินค้าปลอม Taobao ใช้การตรวจสอบอย่างเคร่งครัด ทั้งจากฝ่ายแบรนด์เจ้าของสินค้า ฝั่งร้านค้า และผู้ซื้อที่ช่วยกันตรวจตรา

ถัดจาก Taobao ที่เป็นโมเดลร้านโชว์ห่วย ก็เป็นคิวของ Tmall.com ที่เป็นเหมือน "ห้างสรรพสินค้าออนไลน์" แบรนด์มาขายเอง เน้นสินค้าหรูหรามีราคามากขึ้น

alt="The Alibaba Story"

Porter บอกว่าในสหรัฐมีห้างสรรพสินค้ามากมาย การมาขายสินค้าออนไลน์ถือเป็นเพียงช่องทางหนึ่งเท่านั้น และเว็บอีคอมเมิร์ซเองก็พยายามเอาชนะห้างสรรพสินค้าด้วย เป็นคู่แข่งกันโดยตรง

แถมเว็บอีคอมเมิร์ซเองพยายามลดความสำคัญของแบรนด์สินค้าลง เน้นไปที่ตัวสินค้าเป็นหลัก ดังจะเห็นได้จากเพจของแบรนด์บน Amazon ที่มีโลโก้แบรนด์น้อยมาก ปรับแต่งอะไรแทบไม่ได้เลย

alt="The Alibaba Story"

แต่กรณีของ Tmall นั้นกลับกัน เพราะจีนไม่มีระบบห้างสรรพสินค้าที่ดีพอ บริษัทจึงมองว่าต้องทำ Tmall ให้เป็นห้างสำหรับแบรนด์มาขายของ เลยเปิดพื้นที่ให้จัดเต็มเรื่องโฆษณาอย่างเต็มที่

alt="The Alibaba Story"

ผลกลายเป็นว่ามีแบรนด์สินค้าจำนวนมากไม่มีหน้าร้านจริงๆ และเปิดร้านบน Tmall เพียงอย่างเดียว ตัวอย่างในภาพคือแบรนด์เสื้อผ้า HSTYLE จากเกาหลีใต้ เน้นใช้ดาราช่วยโปรโมท (ทั้งดาราเกาหลีและจีน) โดยไม่ต้องมีหน้าร้านเลย ขายออนไลน์ล้วนๆ

Porter ยังบอกว่าปัจจุบันมีอาชีพ Taobao models คือสาวสวยหนุ่มหล่อ รับจ้างเป็นนางแบบนายแบบบน Taobao เพียงอย่างเดียว (คล้ายกับร้านเสื้อผ้าบน Facebook/Instagram ในบ้านเรา)

มีผู้ฟังถามว่าการขายเสื้อผ้าออนไลน์ มักติดปัญหาเรื่องสินค้าต้องลองสวมก่อน กรณีแบบนี้ Alibaba แก้ปัญหาอย่างไร คำตอบคือต้องเริ่มจากนโยบายรับประกันการคืนสินค้าก่อน ภายใน 7 วันถ้าผู้ซื้อต้องการคืนสินค้า ผู้ขายไม่มีสิทธิถามใดๆ ต้องรับคืนเสมอ

alt="The Alibaba Story"

ในภาพรวมแล้ว โมเดลของ Alibaba คือการสร้าง ecosystem ของการค้าขนาดใหญ่ มีเว็บไซต์หลากหลายรองรับความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่ม และมีระบบจ่ายเงิน Alipay เป็นตัวกลางให้ธุรกรรมราบรื่น

alt="The Alibaba Story"

ในประเทศจีนมีธรรมเนียมที่เรียกว่า "วันคนโสด" (Singles' Day) เป็นด้านกลับของวันวาเลนไทน์ ซึ่ง Alibaba ใช้โอกาสนี้เปลี่ยนวันคนโสด มาเป็นวันช็อปปิ้งแก้เครียดเรื่องโสด ผลคือวันคนโสดปี 2014 บริษัททำยอดขายได้ถึง 9.3 พันล้านดอลลาร์ภายในวันเดียว

alt="The Alibaba Story"

บทสรุปของตำนาน Alibaba คือการปรับโมเดลคอมเมิร์ซให้เหมาะกับความต้องการของท้องถิ่น ซึ่ง Jack Ma เปรียบเทียบว่าในโลกตะวันตก อีคอมเมิร์ซเป็นแค่ของหวาน (dessert) เพราะระบบการค้าทั่วไปดีอยู่แล้ว แต่ในจีนที่ไม่มีอะไรเลย อีคอมเมิร์ซสำคัญระดับอาหารจานหลัก (main course)

alt="The Alibaba Story"

ปัจจุบัน อีคอมเมิร์ซในจีนเฟื่องฟูมาก ผู้เล่นรายใหญ่คือ Alibaba, JD.com, Tencent และมีรายเล็กจับตลาดเฉพาะทางอีกมาก

alt="The Alibaba Story"

Porter สรุปปิดท้ายว่า ในประเทศกำลังพัฒนาหลายๆ แห่งที่เคยไปเยือน เขาพบรูปแบบอีคอมเมิร์ซคล้ายคลึงกัน นั่นคือทำหน้าที่แทนระบบค้าปลีกที่ไม่มีประสิทธิภาพมากนัก ตัวอย่างประเทศในแอฟริกาเคยมอง Amazon เป็นโมเดล แต่ทำไปสักพักก็พบว่าทำแบบ Alibaba เหมาะสมกว่า

เรื่องสภาพตลาดของแต่ละประเทศมีความสำคัญมาก เป็นเหตุที่ทำให้ Amazon/eBay ไม่เวิร์คในจีน และ Alibaba ไม่เหมาะสำหรับอเมริกาเช่นกัน Porter บอกว่าตรงนี้เป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการในแต่ละประเทศต้องค้นหาคำตอบที่เหมาะสม อย่างในอินเดียก็มี Flipkart และ Snapdeal ส่วนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มี Lazada และ Tokopedia

alt="The Alibaba Story"

ช่วงถามตอบ ผมถาม Porter ว่าความสำเร็จอย่างที่สุดของ Jack Ma ในฐานะผู้นำองค์กรคืออะไร ซึ่ง Porter เล่าว่าเดิมที Jack Ma มองว่าตัวเองจะเป็นซีอีโอแค่ 4 ปีเท่านั้น เพราะมองว่าตัวเองมีพื้นเพเป็นแค่ครูสอนภาษาอังกฤษ ไม่เหมาะจะเป็นผู้บริหารขององค์กรใหญ่ แต่สุดท้ายพอบริษัทเติบโต ลองดึงผู้บริหารข้างนอกเข้ามาก็พบว่าไม่เวิร์ค เพราะขาดพลังความเป็นผู้ประกอบการ (entrepreneur spirit) แบบ Jack

ส่วนผลงานสำคัญของ Jack คือสามารถจูงใจทีมงานให้คิดใหญ่ได้ เขาสามารถปรับเปลี่ยนตัวเอง (transformation) ให้มีศักยภาพมากขึ้นตามขนาดองค์กรที่เติบโตขึ้น ซึ่งเป็นคุณลักษณะสำคัญของผู้นำสตาร์ตอัพ นอกจากนี้เขายังให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมองค์กรเป็นอย่างมาก ในอดีต Alibaba เคยเติบโตเร็วแบบสะเปะสะปะ จน Jack และ Porter ต้องบินไปอเมริกาเพื่อปลดพนักงานในอเมริกาทั้งหมด แล้วสร้างองค์กรขึ้นมาใหม่ บทเรียนครั้งนั้นทำให้บริษัทกำหนด "คุณค่า" (value) ขององค์กรขึ้นมา 9 ข้อ และกำหนดเงื่อนไขการจ่ายโบนัสประจำปีว่าบริษัททำได้ดีแค่ไหนใน 9 ข้อนี้ด้วย

Porter ให้คำแนะนำกับผู้ประกอบการคอมเมิร์ซบ้านเราว่า ขอให้มองความพึงพอใจของลูกค้าเป็นหลัก มองเป็นอย่างแรกสุด อย่าเริ่มจากการมองว่าตลาดนี้สดใส น่าเข้าไปชิงเค้ก ซึ่งตัวอย่างมีให้เห็นแล้วจากบรรดาโคลนของ Groupon ที่ล้มตายกันหมด

สุดท้ายเขามองว่าข้อจำกัดของตลาดคอมเมิร์ซเมืองไทยคือระบบจ่ายเงินที่ยังอิงกับเงินสดหรือการโอนเงิน ซึ่งไม่มีประสิทธิภาพ เมืองจีนเคยเผชิญปัญหานี้และสามารถแก้ได้ด้วย Alipay ดังนั้นถ้ามีคนไทยทำระบบที่ทัดเทียม Alipay ขึ้นมาได้ ในท้ายที่สุด การจ่ายเงินสดเมื่อได้รับสินค้า (cash on delivery) จะหายไปภายใน 5 ปี

จบด้วยคลิปตัวอย่าง Crocodile in the Yangtze ใครสนใจก็ไปหามาดูกันได้ครับ

Get latest news from Blognone

Comments

By: kiva
iPhone
on 13 September 2015 - 12:38 #842563

ชอบนโยบายคืนสินค้าภายใน7วัน โดยไม่ถามลูกค้า เมืองไทยน่าจะมีบ้าง

By: zerost
AndroidWindows
on 13 September 2015 - 12:57 #842569
zerost's picture

เห็นแล้วต้องชมทีมงานจริงๆที่มองตลาดออกจนประสบความสำเร็จและยิ่งดูคลิปที่ jack ma พูดกับผู้ก่อตั้งแล้วก็คิดเลยว่าผู้นำองค์กรมันต้องเป็นแบบนี้แหละ มีความกล้า มองธุรกิจได้ไกล มีแนวคิดจุดประกายให้คนทำงานได้ และจูงใจคนได้ ผู้บริหารในที่ทำงานที่ผมเคยเจอมาแทบไม่มีทักษะเหล่านี้เลยหรือมีก็มีแค่อันเดียว

By: devilblaze
iPhoneAndroidWindows
on 13 September 2015 - 13:09 #842571
devilblaze's picture

ดวงดีอย่างเดียวไม่ได้ ต้องเก่งด้วย ปรบมือให้ alibaba ทั้งๆที่มียักษใหญ่ขว้างหน้าอยู่เต็มไปหมด

By: Skykick
iPhone
on 13 September 2015 - 14:01 #842581

"eBay เปรียบเสมือนฉลามในมหาสมุทร ส่วน Alibaba เป็นแค่จระเข้ในแม่น้ำแยงซีเกียง ถ้าเราต่อสู้กันในทะเล เราแพ้แน่ แต่ถ้าสมรภูมิคือแม่น้ำ เราจะเป็นผู้ชนะ"

เปรียบเทียบได้ดีมากๆ ผมชอบประโยคนี้

By: skuma
iPhoneWindows PhoneAndroidBlackberry
on 13 September 2015 - 14:21 #842587
skuma's picture

เห็นวิธีคิดแล้วแบบ เออ แม่งเจ๋งจริง คิดได้ไง
ข้อมูลที่หามาก็แน่นมาก ว่า ประเทศเค้าวัฒนธรรมยังไง แตกต่างกับเรายังไง
เข้าใจเลยว่า อันดับ 1 ของ จีน ไม่ได้มาเพราะ โชคช่วย จริงๆ
นับถือจริงๆครับ

ขอบคุณที่ลงบทความดีดีแบบนี้ด้วยเน้อ
ปล.นึกแล้วก็เสียดายในไทยมี Lazada แล้ว TT

By: NoppawanConan
ContributoriPhoneAndroidWindows
on 13 September 2015 - 16:09 #842601 Reply to:842587
NoppawanConan's picture

ถึงมี Lazada แล้ว แต่ถ้า Alibaba มาบุกไทยเมื่อไหร่ ผมว่ามันก็น่าสนใจไม่น้อยเลยครับ


แค่มนุษย์คนนึงที่อยากรู้เกี่ยวกับวงการไอที

By: Architec
ContributorWindows PhoneAndroidWindows
on 13 September 2015 - 17:53 #842623 Reply to:842587

ผมว่าถึงจะมีอยู่แล้ว แต่พอดูตามกระทู้"ด่า(ล้วนๆ)"ในพันทิปแล้วคิดว่าเจ้าอื่นยังมีโอกาสครับ

By: chain_choonoi on 13 September 2015 - 23:22 #842682 Reply to:842587

http://www.aliexpress.com/
ตามลิ้งนี้เลยครับ
สู้Lazadaไม่ได้อย่างเดียวคือได้ของช้า ประมาณ2อาทิตย์

By: Pinery
ContributoriPhoneAndroidIn Love
on 14 September 2015 - 15:09 #842883 Reply to:842587

ความพึงพอใจของลูกค้าคือสิ่งสำคัญ

ซึ่งผมมองว่า Lazada ยังทำตรงนี้ได้ไม่ดีและยังทำไม่สุดครับ
ความเห็นส่วนตัวคือ ยังมีโอกาสให้เจ้าอื่นเข้ามาตีตลาดได้ครับ

By: menu_dot on 13 September 2015 - 15:29 #842593

ประสบการณ์เติบโตไปสู่ระดับโลก อิจฉาจริงๆที่ได้อยู่วงในบริษัทแบบนี้

มีประโยชน์มาก ขอบคุณที่แชร์เรื่องราวดีๆ

By: KuroNeko_Hiki
AndroidUbuntuWindows
on 13 September 2015 - 20:45 #842656
KuroNeko_Hiki's picture

"ถ้ามีคนไทยทำระบบที่ทัดเทียม Alipay ขึ้นมาได้ ในท้ายที่สุด การจ่ายเงินสดเมื่อได้รับสินค้า (cash on delivery) จะหายไปภายใน 5 ปี"

ใช่เลย... Lazada เวลาเพื่อนซื้อของ ต้องซื้อแบบจ่ายตอนรับของ เพราะไว้ใจไม่ได้จริงๆ เพราะเคยจ่ายไปก่อน แล้วโดนยกเลิกทีหลัง กว่าจะได้เงินคืน แถมต้องโทรติดตามอีก เหมือนไม่อยากคืนเงินให้

By: kengeng
iPhoneAndroidWindows
on 13 September 2015 - 21:12 #842663

ขอบคุณสำหรับบทความนี้ครับ ดีมากๆ จดรายละเอียดได้ลึก ใช้เป็นกรณีศึกษาได้เลย จะได้จำไว้ให้ขึ้นใจ ว่าการ copy model ของตะวันตกอาจจะไม่เหมาะกับการทำธุรกิจของประเทศแถบนี้ เราต้องปรับรูปแบบบริษัทให้เข้ากับลูกค้าและวัฒนธรรม ไม่ใช่ปรับลูกค้าให้เข้ากับบริษัทเรา

ถ้ามีใครอัพขึ้น youtube บ้างมั้ยครับ

By: mk
FounderAndroid
on 13 September 2015 - 21:23 #842666 Reply to:842663
mk's picture

ปกติ TCDC ทำครับ (TCDCThailand) แต่ต้องรอกันหน่อย

By: nrml
ContributorIn Love
on 13 September 2015 - 21:14 #842664
nrml's picture

เงื่อนไขส่วนหนึ่งที่ทำให้ Alibaba ทำสำเร็จคือขนาดของตลาดด้วยครับ ถ้าลองทำแบบเดียวกันในตลาดที่เล็กกว่าก็ไม่แน่ใจว่าจะสำเร็จจนถึงขนาดนี้หรือเปล่า แต่สุดท้ายการตัดสินใจสร้างทำสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาในตอนนั้นถือว่าเป็นความพยายามที่กล้าและบ้าบิ่นมากครับ

By: hostingdigg
Windows Phone
on 14 September 2015 - 00:42 #842690

ไม่ว่าจะเป็นโมเดลไหน สำหรับประเทศไทย ผมมั่นใจล้านเปอร์เซ็นต์ ว่าเจ้าของไม่ใช่คนไทย (เป็นเจ้าของทีมฟุตบอลระดับโลก อาจจะง่ายกว่าทำเว็บอีคอมเมิซอันดับหนึ่งของไทย หุหุ)

By: crucifier
iPhoneAndroidUbuntu
on 14 September 2015 - 08:28 #842727 Reply to:842690

ผมรู้สึกว่าอะไรที่มันไทยเกินมันต้องมีดราม่าตามมาแน่ๆ

By: arabal
iPhoneWindows PhoneAndroidRed Hat
on 14 September 2015 - 10:33 #842786
arabal's picture

ถ้าทำเว็บอีคอมเมิร์ซในไทย ต้องใส่ RSS ราคาทอง,ราคาน้ำมัน,นาฬิกา,ปฏิทิน รับรองเวิร์ค ฮ่าๆ

By: cutter27
AndroidWindows
on 14 September 2015 - 12:42 #842831
cutter27's picture

เว็บอีคอมเมิร์ซของไทยรุ่นแรกๆที่ยืนหยัดมาจนถึงทุกวันนี้คือ pramool.com แต่เสียดายที่เป็นการยืนอยู่กับที่
ไม่มีการพัฒต่อยอดไปแบบอื่น แนวคิดการให้คะแนนผู้ซื้อ-ผู้ขาย คล้ายๆ Alibaba

By: Kittichok
Contributor
on 14 September 2015 - 22:26 #843022

ขอบคุณสำหรับบทความครับ

By: ปลงนะเรา
Android
on 15 September 2015 - 04:57 #843104

ผมทันใช้แต่ aliexpress เสียดายบทความไม่ได้กล่าวถึง ผมซื้อของออนไลน์มา 10 ปีแล้ว eBay amazon (digital) pramool tohome lazada shopat7 jib แล้วก็อะไรเฮดๆ นี่แหล่ะจำไม่ได้ หลักร้อยยันหลักหมื่น อยากบอกว่ามันก็โอเคนะครับ เวลาผู้ซื้อมีปัญหาก็น่าจะแก้กันไป แก้ได้ก็ซื้อกันต่อ แก้ไม่ได้คราวหน้าก็ระวังกันไป มีบ่นด่าในเว๊บก็ยังมีคนซื้ออยู่ดี เพราะสินค้ามันเยอะจริงๆ แล้วเดี๋ยวนี้เดินร้านไม่เป็นแล้วผม ซื้อออนไลน์จนขี้เกียจเดิน นั่งจ้องหาสินค้าลดราคา กับท่องเว๊บมอลหาอะไรที่ไม่ได้มีดีมานด์แต่ิยากเสียตังส์นี่กลายเป็นเสพติดแล้ว เศร้่แป๊บ แต่คงแก้ไม่ได้

By: zaturday
iPhoneAndroidBlackberryRed Hat
on 15 September 2015 - 07:54 #843122
zaturday's picture

แนวคิดเด็ดๆ ทั้งนั้นเลย ลูกค้าอย่างผมนี้ก็ต้องกดbuy now ต่อไป

By: Skykick
iPhone
on 21 September 2015 - 15:29 #844941

อ่านแล้วได้ความรู้เพียบ
ขอบคุณสำหรับบทความครับ

By: iamhelpka
AndroidWindows
on 28 September 2015 - 13:22 #847197
iamhelpka's picture

ขอบคุณสำหรับบทความค่ะ