Tags:
Node Thumbnail

เมื่อวานนี้ได้รับมอบหมายจาก cofounder ให้ไปงานบรรยายสาธารณะหัวข้อ Internet Governance : legal and policy challenges ซึ่งบรรยายโดย Jovan Kurbalija ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้งมูลนิธิดิโพล ประธานเวทีอินเทอร์เน็ตเจนีวา และผู้เขียนหนังสือ An Introduction To Internet Governance (ดาวน์โหลดได้จาก Thai Netizen) ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์มาค่ะ ซึ่งในงานบรรยายสาธารณะดังกล่าวมีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้

No Description

ภาพจาก Thai Netizen

ในช่วงแรกของการบรรยาย Jovan ได้ถามและแลกเปลี่ยนกับผู้ฟังเกี่ยวกับประสบการณ์การใช้ Social Network ว่าเป็นอย่างไรบ้าง รวมถึงแนะนำให้ผู้ฟังรู้จักกับ ICANN ซึ่งเป็นหน่วยงานเอกชนที่ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตบนโลกนี้ และพูดถึงสถานการณ์ปัจจุบันบนอินเทอร์เน็ตโดยพูดถึงแผนที่การโจมตีระบบที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งจากแผนที่ดังกล่าวจะเห็นได้ว่าการโจมตีระบบที่มีปลายทางไปยังจีนและสหรัฐในปัจจุบันมีมากขึ้น พัฒนาการเรื่องปริมาณการใช้สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตที่มีสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เห็นได้ว่าเทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่อย่างไรก็ดีมนุษย์ก็ยังไม่สามารถฝ่าข้อจำกัดของตัวเองไปได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของจำนวนเวลาที่มี 24 ชั่วโมงใน 1 วัน ข้อจำกัดทางด้านสมองของมนุษย์ในการคิดหรือการตัดสินใจที่จะทำอะไร โดยเค้ายกตัวอย่างเกี่ยวกับผลการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่ว่ามนุษย์ 1 คนจะสามารถรักษาความสัมพันธ์กับคนอื่นได้เพียง 148 คนเท่านั้น จะเห็นได้ว่าแม้ว่าปัจจุบันจะมี social network ที่ทำให้เรามีเพื่อน (ในเฟซบุ๊ค) มีผู้ติดตาม (ในทวิตเตอร์) มากแค่ไหน แต่เราก็จะสามารถมีความสัมพันธ์กับคนที่อยู่ใน social network ได้จริงๆ เพียง 148 คนเท่านั้น

3 Layers of Internet Policy

ถัดมาเป็นส่วนของการบรรยายเกี่ยวกับความรู้พื้นฐานต่างๆ เกี่ยวกับ computer networking และกลไกการทำงานของอินเทอร์เน็ต โดยเขาได้ยกตัวอย่างของการส่งอีเมลว่าการส่งอีเมล์ซักฉบับไม่ใช่ว่าการที่เราคลิกส่งปุ๊บแล้วข้อมูลจะวิ่งเป็นเส้นตรงไปถึงผู้รับในทันที เพราะแท้จริงแล้วในทันทีที่เรากดส่งข้อมูลนั้นจะวิ่งผ่าน server ต่างๆ ก่อนจะส่งไปถึงยังปลายทาง ซึ่งจากกลไกการทำงานของอินเทอร์เน็ตในแบบนี้เอง Jovan จึงได้สรุปนโยบายทางอินเทอร์เน็ตออกเป็น 3 ชั้น (3 layers of internet policy) กล่าวคือ ชั้นบนสุดซึ่งเป็นส่วนของเนื้อหา ชั้นกลางซึ่งเป็นในส่วนของ TCP/IP ซึ่งเป็นตัวกลางเชื่อมต่อระหว่างเนื้อหากับโครงสร้างพื้นฐาน และชั้นล่างสุดซึ่งเป็นในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานทางอินเทอร์เน็ต ในการที่รัฐบาลของรัฐใดๆ จะเข้าควบคุมอินเทอร์เน็ตในแต่ละประเทศนั้นสามารถทำได้ทั้ง 3 ชั้น แล้วแต่ว่าจะเลือกวิธีการใด เป็นต้นว่าในกรณีของรัฐบาลเกาหลีเหนือ รัฐบาลเลือกที่จะควบคุมจากชั้นล่างสุดในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ต กรณีรัฐบาลจีนนั้นเลือกควบคุมในส่วนบนสุดคือในส่วนของเนื้อหา เป็นต้น

กฎหมายความมั่นคงไซเบอร์ของสหรัฐ

ในสุนทรพจน์ของโอบาม่าที่มีขึ้นใน Silicon Valley เมื่อเร็วๆ นี้ เป็นการประกาศผลักดันการจัดทำกฎหมายความมั่นคงไซเบอร์ เพื่อต่อต้านการก่อการร้ายและการก่ออาชญากรรมต่างๆ แต่ในงานดังกล่าวผู้บริหารระดับสูงของบริษัทไอทีใน Silicon Valley อย่างเฟซบุ๊ค กูเกิล และยาฮู กลับไม่ได้ไปร่วมงานทั้งๆ ที่ได้รับเชิญให้มาในงานนี้ด้วย ซึ่งเหตุการณ์นี้เป็นการสะท้อนว่าผู้บริหารบริษัทเหล่านี้ไม่สะดวกใจเกี่ยวกับแผนการผลักดันกฎหมายความมั่นคงไซเบอร์ของรัฐบาลในคราวนี้ เพราะไอเดียส่วนหนึ่งในการต่อต้านการก่อการร้ายในคราวนี้คือการที่รัฐขอเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลบางอย่างของผู้ใช้จากบริษัทไอทีเหล่านี้นั่นเอง

ความเป็นส่วนตัว

อินเทอร์เน็ตในบริบทของวัฏจักรทางเศรษฐกิจปัจจุบันประกอบด้วย 3 ส่วนกล่าวคือ ผู้ใช้งาน (end user) ตัวกลางอินเทอร์เน็ต (กูเกิล เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ ฯลฯ) และบริษัทผู้จำหน่ายสินค้า Jovan ชี้ให้ผู้ฟังเห็นว่าทุกวันนี้การที่เราใช้งานตัวกลางอินเทอร์เน็ตต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกูเกิล เฟซบุ๊ค ก็ตามเราไม่ได้ใช้บริการมันฟรีจริงๆ แต่ต้องแลกมากับการให้ข้อมูลส่วนบุคคลของเราแก่แพลตฟอร์มเหล่านี้แทน และบริษัทก็จะนำข้อมูลส่วนบุคคลของเราไปขายต่อให้กับบริษัทผู้จำหน่ายสินค้าเพื่อจะนำไปทำการตลาดให้เหมาะสมกับตัวผู้ใช้ ทำให้ผู้ใช้ตัดสินใจซื้อสินค้านั้นๆ มาใช้อีกต่อหนึ่ง และเขาได้ยกตัวอย่างเกี่ยวกับสัดส่วนรายได้ของกูเกิลว่า ร้อยละ 95 ของรายได้ทั้งหมดของกูเกิลมาจากการทำเหมืองข้อมูล (data mining) นอกจากนี้เขายังได้ยกตัวอย่างกรณีของเสิร์จเอนจิ้น ซึ่งจากข้อมูลแสดงให้เห็นว่าสัดส่วนผู้ใช้งานเสิร์จเอนจิ้นในแต่ละประเทศนั้นกูเกิลมาอันดับหนึ่งในเกือบทุกประเทศ (ยกเว้นจีนที่ไป่ตู้มาอันดับหนึ่ง) จะเห็นได้ว่าในการที่เราจะเข้าถึงข้อมูลต่างๆ บนอินเทอร์เน็ตนั้น กูเกิลมีบทบาทหลักเป็น gatekeepper ในการเลือกข้อมูลว่าใครจะสามารถเข้าถึงข้อมูลใดได้บ้าง นั่นอาจจะมองต่อไปได้ว่ากูเกิลนั้นมีอิทธิพลต่อความคิดทางการเมืองและการควบคุมสื่อด้วยก็เป็นได้

ความท้าทายกรณี UBER

ความท้าทายเกี่ยวกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในกรณีของ UBER กับรถแท็กซี่ เป็นอีกเรื่องที่น่าคิด เพราะเดิมทีหลายประเทศในยุโรปการขอใบอนุญาตขับขี่รถสาธารณะมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก แต่การมาถึงของ UBER ซึ่งไม่ต้องขอใบอนุญาตขับขี่รถสาธารณะทำให้ใครๆ ที่มีรถก็สามารถออกมาขับรถแท็กซี่ได้ จะเห็นได้ว่าเกิดความไม่เท่าเทียมทางต้นทุนที่ผู้ขับรถแท็กซี่กับคนขับรถของ UBER อันเกิดจากพัฒนาการทางเทคโนโลยี

อินเทอร์เน็ตกับรัฐ

สำหรับประเด็นความท้าทายเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยของรัฐ (Sovereignty) Jovan ให้ความเห็นว่าปัจจุบันมีเหตุการณ์หลายอย่างที่อยู่นอกเหนือความควบคุมจากอำนาจอธิปไตยของรัฐนั้นๆ ตัวอย่างเช่นในกรณีเหตุกราดยิงชาร์ลี แอ็บโดในประเทศฝรั่งเศส ที่ในทันทีที่เกิดเหตุการณ์นี้ใหม่ๆ ในแถลงการณ์ครั้งแรกของกระทรวงมหาดไทยฝรั่งเศสสาระสำคัญก็คือขอความร่วมมือจากกูเกิล เฟซบุ๊ค และทวิตเตอร์เกี่ยวกับการให้ข้อมูลคนร้าย ซึ่งเหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่าในปัจจุบันเมื่อเกิดเหตุการณ์ใดๆ ขึ้นก็ตาม รัฐบาลไม่สามารถจะจัดการสืบสวนหาข้อเท็จจริงโดยปราศจากข้อมูลที่อยู่กับบริษัทไอทีเหล่านี้ได้อีกต่อไป นอกจากนี้เขายังได้พูดถึงกลยุทธ์ทางภูมิรัฐศาสตร์อินเทอร์เน็ต โดยยกตัวอย่างอุษาคเนย์ว่าจากแผนที่เคเบิ้ลใต้น้ำพบว่าสายเคเบิ้ลส่วนใหญ่จะถูกเชื่อมต่อไปยังสิงคโปร์ ดังนั้นเมื่อพิจารณาในมุมของภูมิรัฐศาสตร์จะเห็นได้ว่าสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีอิทธิพลทางข้อมูลเหนือประเทศอื่นในภูมิภาคอุษาคเนย์ จะเห็นได้ว่าสายเคเบิ้ลใต้น้ำเป็นสิ่งสำคัญมากเพราะเป็นตัวกลางในการส่งผ่านข้อมูลระหว่างประเทศ การที่ประเทศใดประเทศหนึ่งถูกตัดเคเบิ้ลใต้น้ำอาจส่งผลกระทบถึงการส่งผ่านข้อมูลและธุรกรรมระหว่างประเทศของประเทศนั้นๆ หรืออย่างในกรณีกลุ่มประเทศ BRICS (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้) ที่ตัดสินใจลากสายเคเบิ้ลใต้น้ำเส้นใหม่จากทวีปแอฟริกามายังบราซิลโดยไม่ผ่านสหรัฐ และยุโรป เพื่อเป็นการถ่วงดุลอำนาจทางข้อมูล เนื่องจากสายเคเบิ้ลจำนวนมากที่ผ่านบราซิลนั้นเชื่อมต่อไปยังมลรัฐไมอามี่ สหรัฐอเมริกามากที่สุด และเชื่อมต่อไปยังยุโรป ทำให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลในสหรัฐกับยุโรปนั้นมีจำนวนมาก

โดเมนเนม

ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับ ICANN คือการจดชื่อโดเมนยกตัวอย่างเช่นกรณีของ .amazon เนื่องจากชื่อ Amazon ก็คือเครื่องหมายการค้าประเภทหนึ่งซึ่งได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายระหว่างประเทศ แต่ขณะเดียวกันก็สร้างความไม่สบายใจให้แก่กลุ่มประเทศในพื้นที่ของป่าอเมซอนกับการที่บริษัทเอกชนเป็นเจ้าของชื่อโดเมนนี้ และกฎหมายระหว่างประเทศก็ปกป้องชื่อนี้ในฐานะเครื่องหมายการค้าของบริษัทเอกชน ทำให้คำว่า อเมซอน กลายเป็นชื่อเฉพาะไป แทนที่จะเป็นชื่อทั่วๆ ไปที่หมายถึงพื้นที่ป่าขนาดใหญ่ในอเมริกาใต้ แล้ว ICANN จะจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้นนี้อย่างไร

สิทธิที่จะถูกลืม

สิทธิในการที่จะถูกลืม (right to be forgotten) เป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองแล้วในยุโรป เหตุเริ่มจากการที่นักธุรกิจชาวสเปนคนหนึ่งโดนฟ้องล้มละลายไปในช่วงทศวรรษที่ 90 ต่อมาภายหลังจากพ้นจากภาวะล้มละลายแล้ว เขาได้ลองค้นหาชื่อตัวเองบนกูเกิลก็พบข่าวเกี่ยวกับถูกฟ้องล้มละลายอยู่ซึ่งทำให้เขาเสื่อมเสียชื่อเสียง จึงได้ยื่นคำร้องไปยังกูเกิลเพื่อขอให้ลบผลการค้นหาดังกล่าว แต่กูเกิลไม่ยินยอม เขาจึงยื่นฟ้องต่อศาลสเปนขอให้กูเกิลลบผลการค้นหาเกี่ยวกับล้มละลายของเขาทิ้งเสีย และภายหลังคดีนี้ได้ขึ้นถึงศาลสูงยุโรปโดยตัดสินให้ชายคนดังกล่าวชนะ และกูเกิลต้องลบผลการค้นหาดังกล่าวทิ้ง ซึ่งภายหลังจากที่มีคำพิพากษาดังกล่าวเป็นเวลา 6 เดือน กูเกิลได้เปิดเผยว่ามีคำร้องขอให้กูเกิลลบผลการค้นหาตามหลักเรื่องสิทธิในการที่จะถูกลืมสูงถึง 500,000 คำร้อง Jovan ก็ได้ตั้งคำถามกับกรณีนี้ว่าถ้าแนวโน้มจะยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไปกูเกิลจะต้องทำอย่างไรและประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือต่อไปกูเกิลซึ่งมีสถานะเป็นบริษัทเอกชนจะต้องอยู่ในฐานะผู้ตัดสินใจทางกฎหมายว่าเนื้อหาใดควรนำออกจากผลการค้นหาบ้าง แทนที่ศาลจะเป็นผู้พิจารณาหรือไม่

ขอบเขตอำนาจศาลกับอินเทอร์เน็ต

ประเด็นสุดท้ายในการบรรยายคือความท้าทายเกี่ยวกับเขตอำนาจศาลในการพิจารณาคดี เนื่องจากในโลกของอินเทอร์เน็ตนั้นมีเขตแดนระหว่างประเทศที่พร่าเลือน ทำให้การก่ออาชญากรรมคอมพิวเตอร์สามารถกระทำได้แม้ว่าผู้ก่ออาชญากรรมและเหยื่อจะอยู่กันคนละประเทศก็ตาม Jovan ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า ถ้าสมมติว่ามีคนไทยทำ botnet ไปสร้างความเสียหายแก่ผู้ใช้ในสหรัฐอเมริกาแล้ว คดีดังกล่าวจะตกอยู่ภายในเขตอำนาจศาลของศาลสหรัฐหรือไม่ เพราะหากถ้าทำได้ก็จะหมายความว่าเขตอำนาจศาลในการพิจารณาคดีของศาลสหรัฐจะถูกขยายออกนอกพรมแดนสหรัฐเข้ามายังประเทศไทย ซึ่งถือเป็นการรุกล้ำอธิปไตยของประเทศไทยและรุกล้ำเขตอำนาจศาลของศาลไทยด้วยเช่นกัน

Get latest news from Blognone

Comments

By: panurat2000
ContributorSymbianUbuntuIn Love
on 1 September 2015 - 18:52 #839410
panurat2000's picture

ได้ถามและแลกเปลี่ยนผู้ฟังเกี่ยวกับประสบการณ์การใช้ Social Network

แลกเปลี่ยนผู้ฟัง ?

โดยพูดถึงแผนที่การโจมตีระบบทีเกิดขึ้นในปัจจุบัน

ทีเกิด => ที่เกิด

ปริมาณการใช้สมาร์ทโฟนและแท็ปเล็ต

แท็ปเล็ต => แท็บเล็ต

โดยเขาได้ยกตัวอย่างของการส่งอีเมล์ว่าการส่งอีเมล์ซักฉบับ

อีเมล์ => อีเมล

เพราะไอเดียส่วนหนึ่งในการต่อต้านการก่อการร้ายในคราวนี

คราวนี => คราวนี้

อินเทอร์เน็ตในบริบทของวัฎจักรทางเศรษฐกิจ

วัฎจักร => วัฏจักร

กูเกิลมีบทบาทหลักเป็น gate keepper

gate keepper => gatekeeper

เช่นในกรณีเหตุกราดยิงชารี แอ็บโด

ชารี => ชาลี / ชาร์ลี

ในแถลงการครั้งแรกของกระทรวงมหาดไทย

แถลงการ => แถลงการณ์

โดยปราศจากข้อมูลที่อยู่กับบรษัทไอทีเหล่านี้

บรษัท => บริษัท

นอกจากนี้ในเขายังได้พูดถึงกลยุทธทางภูมิรัฐศาสตร์อินเทอร์เน็ต

ในเขา ?

กลยุทธ => กลยุทธ์

ให้แก่กลุ่มประเทศในพื้นที่ของป่าอะเมซอน

ทำให้คำว่า อะเมซอน กลายเป็นชื่อเฉพาะไป

อะเมซอน => อเมซอน

กูเกิลซึ่งบริษัทเอกชนจะต้องอยู่ในฐานะผู้ตัดสินใจทางกฎหมาย

ซึ่งบริษัท => ซึ่งเป็นบริษัท

By: Flurrywong
ContributorMEconomicsAndroidWindows
on 2 September 2015 - 00:10 #839491 Reply to:839410

แก้แล้วค่ะ ขอบคุณค่ะ

By: -Rookies-
ContributorAndroidWindowsIn Love
on 2 September 2015 - 13:21 #839605

อืม มีแต่เรื่องน่าคิด แต่ชอบตัวเลข 148 แฮะ ถ้าไป unfriend เพื่อนในเฟซให้เหลือแค่ 148 คน น่าสนใจว่าใครจะเหลืออยู่บ้างนะเนี่ย


เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!

By: terminus
ContributorJusci's WriterMEconomicsUbuntu
on 3 September 2015 - 15:24 #840012 Reply to:839605

ตัวเลขนี้มีชื่อว่า Dunbar's number มัน(เชื่อกันว่า)เป็นจำนวนสูงสุดของความสัมพันธ์ต่อบุคคลที่เรามีได้ในเวลาหนึ่งๆ มันนับเฉพาะคนที่ติดต่อสื่อสารกันอยู่ประจำ เชื่อกันว่าถ้าเกินจำนวนนี้ไป สมองเราจะติดตามความสัมพันธ์ไม่ทันแล้ว

ความจริงของตัวเลขนี้คือมันนับทุกความสัมพันธ์ในชีวิตคนเราเลยครับ ไม่จำกัดแค่ในโลกอินเตอร์เน็ต (ผมเองคิดว่าการมี "เพื่อน" ในอินเตอร์เน็ตน่าจะขยับ Dunbar's number ให้เพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ เพราะเราไม่ต้องติดตามเพื่อนเหล่านี้มากเท่าเพื่อนที่มีปฏิสัมพันธ์ในชีวิตจริง ยิ่ง Social Network สมัยใหม่มีเครื่องมือที่ช่วยให้เราติดตามเพื่อนกลุ่มนี้ได้ง่ายขึ้น มันก็น่าจะขยายขีดจำกัดของมนุษย์ได้)

By: -Rookies-
ContributorAndroidWindowsIn Love
on 3 September 2015 - 16:30 #840036 Reply to:840012

น่าสนใจครับ ในอีกแง่นึง ผมมองว่าถ้าตัวเลข 148 นี้เป็นจริง ในโลก Social Network เราควรจะลดตัวเลขนี้ลงอีกโขเลย เพราะเราต้องรักษาความสัมพันธ์กับคนนโลกจริง ๆ ไว้ด้วย (ซึ่งปกติจะสำคัญกว่า) โดยเฉพาะถ้าคนในชีวิตจริงไม่ได้ใช้ Social Network เลย อย่างของผมถ้าให้นึกแบบไว ๆ ก็นับได้สี่ห้าสิบคนแล้วล่ะนะ (ผู้ใหญ่ที่ไม่เล่นเทคโนโลยีมีเยอะ และอาจเป็นคนรุ่นใหม่ที่เล่นเทคโนโลยีแต่เราไม่ได้ติดต่อกันผ่านโลกเสมือน)


เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!

By: Kittichok
Contributor
on 2 September 2015 - 22:41 #839777

ขอบคุณสำหรับข้อมูลครับ