Tags:
Node Thumbnail

สรุปความจาก งานเสวนา NBTC Public Forum 1/2558 หัวข้อ "ทรัพยากรคลื่นความถี่และทิศทางการสื่อสารภายใต้ร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล" ในส่วนของการวิจารณ์ร่างกฎหมายชุดเศรษฐกิจดิจิทัล (ตอนที่ 1, ตอนที่ 2)

วิทยากรคนที่สองคือ ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (TRIDI) ในสังกัด กทช. แต่ถูกยุบไปตอนเปลี่ยนเป็น กสทช. (ประวัติการทำงาน)

No Description

ดร.สุพจน์ (คนขวาสุดในภาพ) ภาพจากเว็บไซต์ กสทช.

ร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาดิจิทัลฯ

  • เดิมที กองทุน กสทช. เกิดจากแนวคิดเรื่อง USO (universal service obligation) หรือการเข้าถึงบริการโทรคมนาคมอย่างเท่าเทียม ซึ่งเป็นแนวคิดระดับสากลของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม แต่ภายหลังพอเป็นยุค กสทช. ก็ขยายขอบเขตของกองทุนมาเป็นเรื่องการวิจัย การพัฒนา การเข้าถึงสื่อด้วย
  • พอมาถึงยุคของกองทุนพัฒนาดิจิทัลตามร่างกฎหมายฉบับล่าสุด ภารกิจของกองทุนขยายเพิ่มขึ้นอีกมาก สามารถให้กู้เงินเอกชนได้ด้วย อุดหนุนหน่วยงานของรัฐได้ด้วย เรียกว่าแทบไม่มีขอบเขตก็ว่าได้
  • ข้อสังเกตคือ เราจะมองกองทุนใหม่เป็นการแบ่งเค้กให้ใครหรือเปล่า เพราะวัตถุประสงค์ของกองทุนกำหนดให้เงินสนับสนุนภาคเอกชนได้ ถ้าเป็นแบบนั้น ผู้ประกอบการที่เสียเงินจำนวนมหาศาลจากการประมูลคลื่นความถี่ จะหาวิธีนำเงินย้อนกลับมาได้หรือไม่
  • อีกประเด็นคือวัตถุประสงค์ของกองทุนเดิม กำหนดเรื่อง "รู้เท่าทันสื่อ" ไว้ด้วย แต่ร่างกฎหมายฉบับใหม่ตัดคำนี้ไป กลายเป็น "รู้ทันเทคโนโลยีดิจิทัล" แทน
  • สุดท้ายคือวัตถุประสงค์ของกองทุนใหม่ ไม่มีเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคเลย

ร่าง พ.ร.บ.กสทช. ฉบับใหม่

  • กสทช.ถูกริบอำนาจในการร่างแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่ เพราะอำนาจไปอยู่กับคณะกรรมการดิจิทัลแห่งชาติแทน
  • กฎหมายกำหนดให้ กสทช. ต้องจัดสรรคลื่นให้ภาครัฐอย่างเพียงพอ ถือเป็นการมอบคลื่นให้หน่วยงานภาครัฐอย่างไม่มีการตรวจสอบ
  • การไม่กำหนดให้ต้องประมูลคลื่น ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมเริ่มไม่มั่นใจว่าคลื่น 900/1800MHz ในปัจจุบันที่รอการประมูลอยู่ จะไม่ถูกประมูล และกรณีของ 1800MHz ที่หมดอายุไปบางส่วนแล้วก็จะถูกต่ออายุไปเรื่อยๆ ต้องดูว่าใครได้ประโยชน์
  • เห็นด้วยกับการรวมบอร์ด กสช. และ กทค. เป็นบอร์ดเดียวกัน
  • ข้อดีของการแยกกองทุน กสทช. ออกไป ช่วยให้เส้นแบ่งระหว่างสำนักงาน กสทช. กับกองทุนชัดเจนขึ้น เพราะแยกหน้าที่กันชัดเจน

ร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการดิจิทัลแห่งชาติฯ

  • ข้อสังเกตคือคณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจอนุมัติการ "ร่วมทุน" กับภาคเอกชนในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัลด้วย นั่นแปลว่า "พระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ" จะถูกลัดกระบวนการตรงนี้ไปหรือไม่
  • ร่างกฎหมายมีแต่กำหนด "อำนาจ" ของคณะกรรมการดิจิทัลแห่งชาติ แต่กลับไม่กำหนด KPI เป็นเป้าหมายว่าคณะกรรมการต้องทำอะไรบ้าง
Get latest news from Blognone

Comments

By: zerost
AndroidWindows
on 1 February 2015 - 09:05 #787615
zerost's picture

เรื่อง kpi นี่บอกตรงๆว่าไม่ได้นึกถึงเลยครับ ตรงนี้ก็น่าคิดนะ