Tags:

Jonathan Schwartz ประธานและซีอีโอของ Sun Microsystems ได้เขียนบล็อกเกี่ยวกับ OpenDocument โดยใช้วิธีเปรียบเทียบให้เข้าใจได้ง่าย ผมเห็นว่าบล็อกอันนี้มีประโยชน์และจะช่วยเผยแพร่ OpenDocument และแนวคิดด้านมาตรฐานเปิดในบ้านเรา เลยแปลมาให้อ่านกัน

ร่วมกันโปรโมท OpenDocument โดยส่งเรื่องนี้ไปให้คนรู้จักของคุณอ่าน หรือใส่ลิงก์กลับมายังบล็อกนี้ในเว็บของคุณ

ภาพถ่ายครอบครัวกับ ODF

เมื่อสองสามปีก่อนตอนที่ผมกลับไปเยี่ยมบ้านพ่อแม่ ผมได้ไปรื้อภาพถ่ายครอบครัวสมัยก่อนที่เก็บในกล่องใส่รองเท้า ผมสนุกกับการดูรูปภาพเหล่านี้มาก จนกระทั่งผมนึกขึ้นมาได้ว่าภาพความทรงจำเหล่านี้มีเพียงอย่างละใบเท่านั้น มีแค่ไม่กี่รูปที่อัดสำรองไว้มากกว่าหนึ่ง ให้ตายสิ

กล่องรองเท้ากล่องนั้นมันเก่ามากแล้ว ผมลองคิดเล่นๆ ว่าถ้าเกิดน้ำท่วมหรือไฟไหม้ขึ้นมาล่ะจะทำยังไง ผมอยากเก็บรูปภาพเหล่านี้ไว้ให้ลูกๆ ของผมดูว่าสมัยก่อนพ่อของพวกเขาหน้าตาแบบไหน และอยากส่งผ่านไปยังรุ่นหลานรุ่นเหลนของผมอีกด้วย

ดังนั้นผมจึงทำตัวเป็นลูกชายที่ดี นำกล่องรองเท้านั้นกลับบ้าน สแกนรูปภาพทั้งหมดลงคอมพิวเตอร์ (และไม่ลืมเอากล่องนั้นไปคืน) ไฟล์รูปภาพถูกเก็บลงฮาร์ดดิสก์ในแล็ปท็อป ซึ่งผมมักจะวางมันไว้ในครัว

แต่พอนึกถึงกิจกรรมในครัว ผมก็คิดว่ามันยังอันตรายอยู่ดีที่รูปจะหาย (มีโอกาสหายมากกว่าไว้ในกล่องรองเท้าด้วยซ้ำ) ผมทำสำเนาลงดีวีดี แยกเก็บไว้หลายแห่งตามที่ต่างๆ ภายในบ้าน รวมถึงแจกไปยังญาติพี่น้อง อย่างไรก็ตาม ระบบการบริหารจัดการที่ไม่เป็นมืออาชีพแบบนี้ไม่ประสบผลสำเร็จ สุดท้ายดีวีดีเกือบทั้งหมดจะหายไป!

มีคนเคยพูดไว้ว่า "เครือข่ายนั่นแหละคือคอมพิวเตอร์" ผมเลยแก้ปัญหาโดยการอัพโหลดรูปทั้งหมดไปไว้บนอินเทอร์เน็ต วิธีคิดของผมคือถ้าคุณอยากเก็บอะไรซักอย่างไว้ในกล่องรองเท้า คุณก็ควรจะจ้างมืออาชีพดูแลกล่องรองเท้าของคนอื่นให้มาดูแลกล่องของคุณด้วย บริการเว็บฝากรูปก็เช่นกัน มันน่าจะเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยที่สุดในโลกสำหรับเก็บรูปภาพก็ได้

แต่แล้วผมก็คิดต่อไปอีก...

มีอะไรรับประกันไหมว่าบริการฝากรูปพวกนี้จะคงอยู่ตลอดไป และผมสามารถเรียกรูปภาพของผมมาดูใหม่ได้ในอีกห้าสิบปีข้างหน้า เทคโนโลยีเก็บรูปในอนาคตจะเป็นแบบไหน มันจะยังสามารถเปิดไฟล์แบบเก่าได้หรือไม่

นี่เป็นแค่ตัวอย่าง มาถึงตอนนี้คุณคงพอเห็นภาพแล้วว่าทำไม Open Document Format เป็นเรื่องสำคัญ

ลองสมมติตัวเองเป็น ส.ส. ที่ร่างกฎหมาย, หมอที่ต้องเขียนประวัติคนไข้ หรือนักเรียนที่ต้องเขียนเรียงความก็ได้ ถ้าอีกห้าสิบปีข้างหน้า คุณอยากกลับมาแก้เอกสารพวกนี้อีกครั้ง คุณยังสามารถทำได้หรือเปล่า? ลองคิดดูว่าถ้าบริษัทที่พัฒนาโปรแกรมสำหรับแก้ไขเอกสารเหล่านี้ล้มละลาย หายไปจากตลาด หรือบังคับให้คุณจ่ายเงิน 10,000 เหรียญสำหรับโปรแกรมที่เปิดไฟล์รุ่นเก่าได้ ตัวอย่างเหล่านี้สอนเราว่า "เทคโนโลยีจะเปลี่ยนไปแค่ไหนก็ตาม ข้อมูลยังต้องคงอยู่"

แล้วเราจะทำอย่างไร?

ข้อมูลที่คุณสร้างนั้นเป็นของคุณ ไม่ใช่ของบริษัทซอฟต์แวร์ คุณคงจะไม่อยากจ่ายเงินให้บริษัทผู้ผลิตกล้องทุกครั้งเวลาอยากดูรูปถ่ายของตัวเองหรอกนะ ความเสี่ยงพวกนี้เกิดจากการใช้โปรแกรมที่ไม่ทำตามมาตรฐานเปิด อย่าเพิ่งลืม "เทคโนโลยีจะเปลี่ยนไปแค่ไหนก็ตาม ข้อมูลยังต้องคงอยู่"

นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้บริษัทไฮเทคจำนวนมาก และหน่วยงานภาครัฐบาลของหลายประเทศ พัฒนา Open Document Format (หรือรู้จักกันในชื่อย่อว่า ODF) ขึ้นมา ODF เป็นมาตรฐานเอกสารแบบเปิด เป็นอิสระไม่ผูกติดกับโปรแกรมที่ใช้สร้างเอกสารของเจ้าใดเจ้าหนึ่ง

ดังนั้นถ้าคุณเขียนประวัติคนไข้หรือเรียงความด้วยโปรแกรมเวิร์ดโพรเซสเซอร์ที่สนับสนุน ODF ในอีกห้าสิบปีข้างหน้าคุณจะยังสามารถเข้าถึงข้อมูลของคุณได้เสมอ ODF เป็นมาตรฐานเปิดอย่างแท้จริง ไม่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์ในการใช้งาน ปัจจุบันมีบริษัทซอฟต์แวร์จำนวนมากสนับสนุนการนำ ODF ไปใช้งาน ตัวอย่างเช่น ไอบีเอ็ม ซัน กูเกิล เรดแฮท หรือแม้แต่ไมโครซอฟท์เองก็เถอะ

สำหรับธุรกิจที่มีนโยบายการเก็บรักษาเอกสารแล้ว ความคงทนของข้อมูลและฟอร์แมตไฟล์นั้นสำคัญกว่าตัวโปรแกรม (และพนักงาน) ที่สร้างเอกสารมาก นี่เป็นแนวคิดเดียวกับเรื่องการเก็บภาพในกล่องรองเท้า ในฐานะที่ผมเป็น CIO ของครอบครัว ผมต้องการให้ภาพพวกนั้นมีอายุยืนยาวกกว่าตัวผมอยู่แล้ว

ตอนนี้เรากำลังทำงานร่วมกับกูเกิลในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่าง OpenOffice กับบริการออนไลน์ของกูเกิลโดยใช้ ODF เป็นสื่อกลาง เอกสารทุกฉบับที่สร้างด้วยชุดออฟฟิศออนไลน์ของกูเกิลจะสามารถนำมาใช้กับ OpenOffice ได้ โปรแกรมทั้งสองตัวช่วยรับประกันความเข้ากันได้ของเอกสารในระยะยาว ไม่จำกัดว่าเอกสารนั้นจะเป็นกฎหมาย สัญญา ประวัติคนไข้ ไดอารี หรือแผนธุรกิจ นี่รวมไปถึงสเปรดชีตและเอกสารนำเสนอด้วย

สำหรับคนที่ไม่รู้จัก OpenOffice มันเป็นชุดโปรแกรมสำนักงานที่ทุกคนสามารถดาวน์โหลดได้ฟรี ปัจจุบันมีคนจากทั่วโลกดาวน์โหลดไปแล้วหลายร้อยล้านชุด ล่าสุดบริษัทไมโครซอฟท์ได้ประกาศสนับสนุน ODF ผ่านทางปลั๊กอิน ซึ่งคุณจะสามารถดาวน์โหลดได้ในเร็วๆ นี้ ปลั๊กอินตัวนี้จะช่วยให้ไมโครซอฟท์เวิร์ดสามารถอ่านและเขียนเอกสารในรูปแบบ ODF ได้

ไม่ว่าคุณจะเป็นนักเรียนมัธยมหรือบริษัทน้ำมันข้ามชาติก็ตาม คุณควรใช้ ODF เป็นฟอร์แมตเอกสารหลัก การใช้ ODF ช่วยให้โปรแกรมแบบโอเพนซอร์สและไม่เปิดซอร์สแลกเปลี่ยนข้อมูลข้ามกันได้อย่างราบรื่น เพราะนี่เป็นเรื่องของมาตรฐาน ไม่ใช่ในระดับเทคโนโลยีหรือผลิตภัณฑ์ใดๆ

ถ้าคุณเป็นผู้บริหารองค์กรขนาดใหญ่ คุณอาจเลือกให้ส่วนงานที่ต้องติดต่อกับภายนอกใช้ไมโครซอฟท์เวิร์ดได้ต่อไป แต่ย้ายพนักงานส่วนอื่นไปใช้โปรแกรมที่รองรับ ODF ได้ดีกว่า (ไม่ว่าจะเป็น OpenOffice, ชุดออฟฟิสของกูเกิล หรือโปรแกรมอื่นๆ ก็ตาม) สิ่งที่ทำให้อินเทอร์เน็ตแพร่หลายคือระบบที่แตกต่างกันสามารถทำงานร่วมกันได้ (interoperability) ในราคาที่ไม่แพงจนเกินไป (affordability) ในฐานะที่เรารู้จักและใช้งานจุดแข็งเหล่านี้เป็นอย่างดีแล้ว เราก็ควรเลือกระบบที่มีคุณลักษณะพวกนี้ไว้ใช้ในอนาคตเช่นกัน

Jonathan Schwartz ประธานและ CEO บริษัท Sun Microsystems

(ต้นฉบับภาษาอังกฤษ)

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ODF

Get latest news from Blognone

Comments

By: au8ust
AndroidSymbianWindows
on 17 February 2007 - 23:56 #16868

เข้าใจล่ะ! มันเป็นอย่างนี้นี่เอง ขอบคุณที่นำมาลงครับ ^o^

By: Gmz
Windows PhoneAndroid
on 18 February 2007 - 02:41 #16872

OpenOffice ตอนนี้ถือว่าทำงานกับภาษาไทยได้ดีมาก ขาดก็แต่การนำ Base ไปใช้กับภาษาโปรแกรมมิ่งที่หลากหลาย เหมือนที่ Access ทำได้

By: crucifier
iPhoneAndroidUbuntu
on 18 February 2007 - 09:24 #16878

Gmz -- อืมๆ ใช่ๆ ผมหัดเขียนโปรแกรมก็เริ่มมาจากทางสายไมโครซอฟท์นั่นแหละ คือ ASP กับ VB มาเจอ Base เลยรู้สึกว่ามันขาดๆ ยังไงชอบกล

OpenOffice ดีุทุกอย่าง เสียอย่างเดียวมันช้าไปนิดสำหรับ user จนๆ ที่มีแต่เครื่องเต่าๆ อย่างผม แต่ก็จะใช้ต่อไป

By: audy
AndroidUbuntu
on 18 February 2007 - 10:53 #16880
audy's picture

ขอบคุณมากมายครับ

By: iMenn
ContributorAndroid
on 18 February 2007 - 14:00 #16885
iMenn's picture

ผมกลับว่า เปรียบเทียบเป็นรูปมันไม่ค่อยชัดนะ เพราะคนรู้จักกันแต่ Jpeg ไม่รู้สึกว่าเป็นมาตรฐานปิดอะไร (เค้าเปรียบเทียบระบบปิด กับมาตรฐานปิด) ไหนๆจะพูดเรื่องนี้แล้วก็น่าจะเปรียบเทียบเอกสารเวิร์ด หรือสำเนาเอกสารในบ้านกันชัดๆไปเลย ไม่ต้องเป็นรูป

By: impressa on 18 February 2007 - 15:13 #16886

ได้เวลา FW mail ละครับ

By: loptar on 18 February 2007 - 18:25 #16888
loptar's picture

อ่านแล้วเข้าใจได้ง่ายดีครับ คนที่ไม่ใช่ geek ก็น่าจะเข้าใจได้ง่ายด้วย แล้วผมจะ forward mail ไปให้อ่านกันเยอะๆเลย :-)

By: เอี้ยก้วย ณ แอนฟิลด์ on 19 February 2007 - 11:04 #16898

ฟอร์แมตเปิดดีแน่นอน ปัญหาคือ Application ต้องเจ๋งด้วย ไม่งั้นคน(ทั่วไป)ไม่นิยม ------------------------------------- เอี้ยก้วย ณ แอนฟิลด์

By: ThaiBuddy on 20 February 2007 - 01:54 #16928

อ่านแล้วซึ้งดี :) แต่เรื่องผูกกับมาที ODF หักมุมไปหน่อย(อาจหมายถึง .odg?) ทำให้นึกถึงการเคลม license ของ GIF เลย แต่มีใครพอให้ข้อมูล .PNG กับ .ODG ได้ไหมครับ? ว่า .PNG เดิมมีจุดอ่อนอย่างไรบ้าง(เพราะ .PNG ก็เกิดเพราะ license ของ GIF) เลยอยากรู้ว่า .ODG ดีกว่าในแง่ไหนบ้างครับ(นอกจาก XML)? สุดท้าย เห็นด้วยกับ เอี้ยก้วย ... ผมว่าหลายๆตัวที่ดี แต่มาแป๊กตรงนี้แหละ.. (ทำให้นึกถึง Linux ที่ใช้ทำ thesis อยู่ distro ใหม่ๆลง kylix3 ไม่ค่อยได้[ถ้าไม่ modify install/ติดตั้ง *lib*) ทำให้นึกถึง united linux ที่ทำไม idea ดีแต่หายเข้ากีบเฆมไป :~( ---------------- http://www.ThaiBuddy.com ฟรี T<->E dictionary แค่ชี้ mouse

By: snappy
AndroidUbuntu
on 4 March 2016 - 09:49 #890264
snappy's picture

ส่วนตัวผมใช้ openoffice มาหลายปีละครับ จนตอนนี้ย้ายมาใช้ libreoffice ก็ยังโอเคอยู่สำหรับเอกสารภายใน แต่ถ้าเอกสารภายนอกที่ต้องส่งต่อไปยังคนอื่นให้เขาแก้ไข ผมก็ใช้ microsoft นะ