Tags:
Node Thumbnail

องค์กรในปัจจุบันหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที จะต้องมีการใช้งานคลาวด์ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง โดยองค์กรใหม่ ๆ อย่างสตาร์ทอัพส่วนมากมักจะใช้งานคลาวด์ 100% ตั้งแต่แรก (cloud native) ทว่าองค์กรใหญ่ ๆ ที่อยู่มานาน อาจจะตั้งแต่ก่อนยุค dot com ล้วนมีการใช้งานเซิร์ฟเวอร์แบบ on-premise ซึ่งปัจจุบันก็น่าจะควบคู่ไปกับการใช้ Public Cloud

ทว่าปัญหาของหลาย ๆ องค์กรคืออาจจะยังไม่รู้แน่ชัดว่า ควรย้ายไปใช้งาน Public Cloud ทั้งหมด 100% เลยดีหรือไม่และเป็นไปได้แค่ไหน หรือใช้แบบ Hybrid Cloud แบบนี้ไปเรื่อย ๆ ดี คุณนพดล เจริญทอง ตำแหน่ง Head of General Business for Thailand and Emerging จาก SAP Indochina ได้ให้ข้อเสนอและมุมมองที่ค่อนข้างน่าสนใจเอาไว้ในงาน Blognone Tomorrow 2019 ที่ผ่านมา

No Description

SAP ผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ ERP ที่ถึงแม้จะมีบริการไลเซนส์ซอฟต์แวร์แบบ on-prem อย่าง ERP Central Component (ECC) แต่ SAP ก็มองว่าตัวเองเป็น Cloud Company เพราะมีโซลูชันบนคลาวด์พร้อมบริการ ไม่ว่าจะเป็น ERP S/4 HANA, CRM (C4/HANA), SRM (SAP Ariba), SCM(SAP IBP) เป็นต้น หากนับจำนวนผู้ใช้งาน ยกตัวอย่าง เช่น โซลูชัน SAP SuccessFactors Talent Management มีผู้ใช้งานที่เป็นพนักงานบริษัทที่มีล็อกอิน มีอยู่ราว ๆ 125 ล้านคนทั่วโลก หรือ ระบบอย่าง SAP Ariba มีบริษัทซัพพลายเออร์ในเครือข่ายก็มีอยู่ราว ๆ 4.1 ล้านบริษัท ทั่วโลก

นอกจากนี้ SAP ยังมีดิจิทัลแพลตฟอร์ม สำหรับการทำ Data Management, Workflow หรือ Integration Platform สำหรับ on-prem และคลาวด์ หรือระหว่างคลาวด์ด้วยกัน

No Description

คลาวด์เป็นทางเลือกที่หากไปได้ลูกค้าก็จะไป

คุณนพดลเล่าว่าปัจจุบันลูกค้าส่วนใหญ่ค่อนข้างมีการเตรียมความพร้อมในการขึ้นไปใช้งานคลาวด์ค่อนข้างมาก ขณะที่บทบาทไอทีองค์กรของลูกค้าเปลี่ยนไป จากเดิมแค่เป็นคนดูแลและมอนิเตอร์ระบบ กลายเป็นว่ามีบทบาทในแง่การขับเคลื่อนธุรกิจมากขึ้น ไปจนถึงช่วยดูแลและบริหารจัดการะบบไอทีที่ฝ่ายต่าง ๆ ต้องการใช้งานมากยิ่งขึ้น เช่น HR เป็นคนบอกว่าอยากได้ระบบแบบไหน ฝ่ายไอทีก็จะเข้ามาดูเรื่องความปลอดภัยหรือการให้ความรู้ในการใช้งาน

ดังนั้นเมื่อบทบาทฝ่ายไอทีเปลี่ยนไปแบบนี้ การย้ายไปคลาวด์ขององค์กร หากไม่ติดปัญหาอะไรส่วนใหญ่ก็เลือกที่จะใช้คลาวด์กัน ฝ่ายไอทีเองก็ลดภาระการดูแลมอนิเตอร์ลงด้วย

No Description

ขณะที่ผลิตภัณฑ์ของ SAP ที่ลูกค้าส่วนใหญ่ย้ายขึ้นคลาวด์ คุณนพดลบอกว่าอันนี้แล้วแต่ธุรกิจ และแต่กลุ่มธุรกิจ (line of business) อาจจะมีความต้องการที่แตกต่างกันไป แต่ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือโซลูชัน Talent Management ที่ส่วนใหญ่ขึ้นไปทำบนคลาวด์ หากเป็น 7-8 ปีก่อนหลายคนอาจบอกว่า Excel ก็พอแล้ว แต่ทุกวันนี้ความซับซ้อนในแง่การบริหารจัดการคนในองค์กรมีมากขึ้น ที่สำคัญคือพอระบบ Talent Management อยู่บนคลาวด์ สามารถสร้างความสะดวกให้มากขึ้น นับแต่การรับใบสมัคร การสื่อสารกับพนักงาน การฝึกอบรมเพิ่มเติม แต่องค์กรจำนวนมากก็ยังคงติดตั้งระบบให้ทำงานร่วมกับระบบจัดการเงินเดือน (payroll) ที่อยู่บน on-prem ก็มี

เทรนด์ All-in Cloud แบบสตาร์ทอัพในโลกองค์กร

คุณนพดลบอกว่าเทรนด์ที่องค์กรจะเริ่มทุกอย่างบนคลาวด์ในแบบที่สตาร์ทอัพนิยมกันนั้นก็เริ่มเห็นบ้าง โดยเฉพาะเมื่อองค์กรอยากจะทำอะไรใหม่ ทดลองธุรกิจใหม่หรือ implement อะไรใหม่ ก็จะเริ่มที่คลาวด์ก่อน หรือบางกรณีหากมีปัจจัยเรื่องการสเกลเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น เขียนแพลตฟอร์มของตัวเองที่อยู่บน on-prem แต่เป็น front-end ที่ต้องรับรองดีมานด์เยอะ ๆ หากวันนึงอาจมีคนเข้ามาเป็นหมื่นเป็นแสน อาจไม่สามารถบริหารจัดการได้ องค์กรก็จะพัฒนาแพลตฟอร์มตัวเองขึ้นไปบนคลาวด์แต่แรก

No Description

ส่วนเคสในการเปลี่ยนจาก on-prem ไปคลาวด์ คุณนพดลแนะนำว่ามีอยู่ 3 กรณีหลัก ๆ คือ

  • ระยะการซัพพอร์ทซอฟต์แวร์ที่ใช้ on-prem อย่างกรณีของ ERP Central Component (ECC) ของ SAP ที่กำลังจะหมดระยะซัพพอร์ทในปี 2025 ซึ่งลูกค้ารู้ล่วงหน้าแล้วว่าตอนนี้มีเวลา 5-6 ปีในการเตรียมตัว ถ้าจะเปลี่ยนไปเป็น S/4HANHA เวอร์ชันล่าสุดบนคลาวด์ ก็ควรจะเตรียมตัว

    • อย่างไรก็ตามคุณนพดลยืนยันว่าหลัง 2025 ยังคงมีทางเลือก S/4HANA On-Prem ให้ลูกค้าอยู่ เพราะเห็นว่าหลาย ๆ องค์กรยังไม่เห็นความจำเป็นในการใช้งานคลาวด์ ถ้ากระบวนการทางธุรกิจไม่เปลี่ยนหรือยังไม่มีความจำเป็นจะต้องปรับตัว (transform) ธุรกิจตัวเอง
  • มีโมเดลธุรกิจใหม่หรือเปลี่ยนกระบวนการทางธุรกิจ อาจต้อง implement ระบบใหม่ ซึ่งก็ต้องซื้อระบบใหม่ ซึ่งก็เป็นตัวเลือกที่ดีในการไปคลาวด์
  • ถึงเวลาต้องเปลี่ยนฮาร์ดแวร์ (hardware refreshment) ลูกค้าอาจจะขึ้นไปใช้คลาวด์แทนก่อน เพราะไม่ต้องการเปลี่ยนกระบวนการทางธุรกิจ ในกรณีที่องค์กรยังไม่พร้อมจะเปลี่ยนไปใช้ฮาร์ดแวร์ใหม่ เท่ากับว่าลูกค้าส่วนใหญ่ย้ายแค่เวิร์คโหลดเดิมเป๊ะ ๆ ขึ้นไปบนคลาวด์

คำแนะนำในการย้ายไปใช้งานคลาวด์

การไปคลาวด์มีข้อดีหลายอย่าง แต่องค์กรเองต้องเข้าใจก่อนว่าตัวเองอยากได้อะไร ถ้าต้องการใช้งานบริการ SaaS แล้วไม่ต้องดูแลเองก็ถือว่าตอบโจทย์ แต่ปัญหาคือองค์กรต้องรู้จักบริการเหล่านี้ให้ดีเสียก่อน เพราะบริการแต่ละเวนเดอร์ไม่เหมือนกัน ความต้องการของลูกค้าก็ต่างกันออกไป จากเดิมทีเคยดูเองหมด พอไปคลาวด์ บทบาทของไอทีในองค์กรจะเปลี่ยนไป และบทบาทของเวนเดอร์เป็นยังไง ตรงความต้องการหรือไม่ เรื่องเหล่านี้ควรจะศึกษาให้ดี

No Description

คุณนพดลแนะนำให้ทำเช็คลิสต์ เปรียบเทียบทุกเวนเดอร์ ทั้งในแง่การบริหารจัดการ แผนสำรองเผื่อใช้งานแล้วไม่ชอบ รวมถึงค่าใช้จ่าย ที่ต้องวางแผนและคาดการณ์ให้ดี เพราะองค์กรส่วนใหญ่มักจะลืมต้นทุนแฝงต่าง ๆ แล้วมองเพียงว่าคลาวด์ต้นทุนถูกกว่า ดังนั้นการคาดการณ์ค่าใช้จ่ายต้องเผื่อเรื่องต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้นด้วย (projection cost growth)

สุดท้ายแล้ว ตัวองค์กรเองต้องรู้ด้วยว่าอะไรคือ DNA ของตัวเองที่ไม่อยากแชร์ให้คนอื่น

Get latest news from Blognone