Tags:
Node Thumbnail

อดีตผู้บริหาร 3 รายของ Tepco (Tokyo Electric Power Company Holdings Inc.) ถูกตัดสินให้พ้นผิดจากข้อกล่าวหาเรื่องการละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ จากเหตุการณ์ที่สารกัมมันตรังสีรั่วไหลจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะเมื่อปี 2011 จนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ และทำให้ผู้คนจำนวนมากต้องย้ายออกจากพื้นที่อันตรายจากการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี

ในวันที่ 11 มีนาคม 2011 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 9.0 แมกนิจูด นอกชายฝั่งญี่ปุ่น ทำให้เกิดคลื่นสึนามิซัดเข้าสู่ชายฝั่ง โดยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะของ Tepco เองก็เป็นหนึ่งในพิ้นที่ที่โดนคลื่นสึนามิซัดเข้าใส่สร้างความเสียหายจนทำให้ระบบหล่อเย็นของเครื่องปฏิกรณ์ 3 เครื่องหยุดทำงาน ส่งผลให้เกิดการหลอมละลายและมีสารกัมมันตรังสีรั่วไหลออกสู่ภายนอกโรงไฟฟ้า

จากเหตุการณ์ดังกล่าวซึ่งมีผู้เสียชีวิต 44 ราย และได้รับบาดเจ็บสาหัส 13 ราย ทั้งยังมีผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากต้องอพยพจากถิ่นฐานเดิมที่อยู่ในพื้นที่อันตรายจากการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี โดยมีผู้อพยพมากกว่า 10,000 รายได้ยื่นฟ้องคดีแพ่งเพื่อเรียกค่าชดเชยจาก Tepco และภาครัฐรวมกันมากกว่า 30 คดี ซึ่งศาลแขวงหลายศาลก็ตัดสินให้มีการชดเชยโดยระบุว่า Tepco ควรมีมาตรการป้องกันเหตุฉุกเฉินที่รัดกุมยิ่งกว่านี้และป้องกันการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีได้

No Description

อย่างไรก็ตามในการพิจารณาคดีล่าสุดนี้ เป็นการพิจารณาคดีอาญาซึ่งมีการตั้งข้อหาผู้บริหารของ Tepco เป็นรายบุคคล (แตกต่างจากคดีแพ่งที่พิจารณาคดีนี้โดยให้ Tepco แสดงความรับผิดชอบในนามบริษัท) โดยฝั่งอัยการยื่นฟ้องให้เอาผิด 3 อดีตผู้บริหารของ Tepco อันได้แก่ Tsunehisa Katsumata (อายุ 79 ปี) อดีตประธานบริหาร Tepco กับ 2 รองประธาน Ichiro Takekuro (อายุ 73 ปี) และ Sakae Muto (อายุ 69 ปี)

ศาลแขวงโตเกียวพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่มีทางเป็นไปได้ที่บรรดาอดีตผู้บริหาร Tepco จะล่วงรู้ได้ล่วงหน้าว่าจะมีแผ่นดินไหวจนเกิดคลื่นสึนามิซัดเข้าสร้างความเสียหายให้แก่โรงไฟฟ้า โดยฝั่งจำเลยทั้ง 3 อ้างว่าไม่เพียงแต่พวกเขาจะไม่มีทางพยากรณ์ถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวและการเกิดคลื่นสึนามิได้เท่านั้น ทว่าต่อให้ก่อนหน้านี้มีการเพิ่มมาตรการเชิงป้องกันให้แก่โรงไฟฟ้า แต่ด้วยความรุนแรงของคลื่นที่พัดเข้าใส่โรงไฟฟ้าในครั้งนี้ก็ย่อมก่อให้เกิดการหลอมละลายของเครื่องปฏิกรณ์อยู่ดี

อย่างไรก็ตามฝั่งอัยการนั้นมองว่าทาง Tepco ควรจะประเมินความเสี่ยงได้ว่าจะมีคลื่นสึนามิสูงขนาดไหนซัดเข้าใส่โรงไฟฟ้าและวางแผนป้องกันเหตุการณ์เช่นนี้ได้ และเห็นว่าควรเอาผิดผู้บริหารทั้ง 3 รายของ Tepco ในทางอาญา โดยในระหว่างการไต่สวนได้มีการเผยแพร่รายงานคณะกรรมการของรัฐบาลจากปี 2002 ซึ่งอ้างอิงผลการศึกษาของ Tepco เอง ที่มีการสรุปว่าหากมีแผ่นดินไหวขนาด 8.3 แมกนิจูด เกิดขึ้น อาจจะก่อให้เกิดคลื่นสึนามิสูง 15.7 เมตร ซัดเข้าใส่โรงไฟฟ้า ซึ่งขนาดคลื่นจากการคำนวณดังกล่าวนั้นสูงกว่าระดับพื้นที่ติดตั้งอุปกรณ์หลักของโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะที่อยู่สูง 10 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปกติ ซึ่งความสูงของคลื่นที่เกิดขึ้นจริงในปี 2011 นั้นก็มีความสูง 13 - 15 เมตร โถมเข้าใส่พื้นที่ติดตั้งอุปกรณ์จริงตามที่เคยมีการศึกษาประเมินไว้

No Description

ทั้งนี้มีบันทึกของหนึ่งในผู้บริหารของ Tepco ยืนยันว่าผลการศึกษาเรื่องความเสี่ยงเกี่ยวกับคลื่นสึนามิที่ว่านี้ถูกรายงานต่อคณะผู้บริหารของ Tepco ไปแล้วในปี 2008 ทว่าผู้บริหารเจ้าของบันทึกดังกล่าวระบุว่าแผนพัฒนามาตรการป้องกันคลื่นสึนามิในระดับนั้นถูกคัดค้านและเลื่อนออกไปโดยหัวหน้าของเขาเอง

หลังมีคำตัดสินออกมาให้ 3 อดีตผู้บริหาร Tepco พ้นผิดในคดีอาญานี้ ทางฝั่งอัยการก็เตรียมพิจารณาเรื่องการยื่นอุทธรณ์คดีต่อไป โดยให้ความเห็นว่าแม้เหล่าอดีตผู้บริหารจะไม่มีทางรู้ว่าจะเกิดเหตุแผ่นดินไหวและมีคลื่นยักษ์ซัดเข้าใส่โรงไฟฟ้าเมื่อไหร่ แต่การศึกษาความเสี่ยงจนพบว่าอาจมีคลื่นสูงกว่า 15 เมตร พัดเข้าสร้างความเสียหายต่อโรงไฟฟ้าได้แล้วกลับไม่สร้างมาตรการป้องกันนั้นสมควรถูกพิจารณาว่ามีความผิดฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่

ที่มา - The Japan Times

Get latest news from Blognone

Comments

By: Witna
ContributoriPhoneAndroidWindows
on 23 September 2019 - 04:26 #1129656

มันเป็นซึนามิที่สูงที่สุดเกินกว่าที่เคยบันทึกกันมาน่ะสิ

ขนาดหมู่บ้านป้องกันซึนามิยอดเยี่ยม ที่มีกำแพงป้องกันคลื่นรอบหมู่บ้าน 2 ชั้น ยังโดนกลืนหาย

By: akira on 23 September 2019 - 05:14 #1129657

ระดับสำหรับการออกแบบคือข้อมูลย้อนหลังสูงสุดจำนวน x ปี ถ้ามีเหตุเกิดมากกว่าข้อมูลย้อนหลัง ก็มีปัญหาทุกที่แหล่ะ ไม่มีใครออกแบบเกินข้อมูลย้อนหลังหรอก ต้นทุนมันไม่ได้ รวมถึงไม่เป็นที่ยอมรับในวงการด้วย ยกเว้นเจ้าของเงินบอกเองว่าจะให้เผื่อไว้ ซึ่งการออกแบบเผื่อแนวป้องกัน เพิ่มขึ้นแค่ 10 cen ต้นทุนอาจไม่ได้เพิ่มแบบแปรผันตรงด้วยนะ

By: WarHammeR_TH
iPhone
on 23 September 2019 - 09:44 #1129672
WarHammeR_TH's picture

อ่านแล้ว ไม่เห็นด้วยที่จะเอาผิดทางอาญาเลย มันเป็นภัยธรรมชาติชัด ๆ แต่จะยัดเยียดให้เป็นความผิดของคนไม่กี่คน

By: 7
Android
on 23 September 2019 - 11:42 #1129692
7's picture

เอาให้ป้องกันก๊อตซิล่าได้เลยมั้ยหล่ะ ฮา

By: Patchan
iPhone
on 23 September 2019 - 12:03 #1129698

ไม่เข้าใจตรรกะคนที่คิดว่าไม่ผิดแฮะ ในเมื่อผลการประเมินความเสี่ยงบอกว่ามีโอกาสเกิดขึ้นแต่เลือกที่จะไม่ป้องกันก็ควรมีความผิด ถ้าประเมินแล้วว่ามันไม่มีทางสูงได้เท่านี้หรือได้เท่านี้แต่ป้องกันแล้วแต่ยังรั่วก็ว่าไปอย่าง จะอ้างว่าที่ผ่านมาไม่เคยมีคลื่นสูงขนาดนี้ผมว่าฟังไม่ขึ้น ถ้าจะอิงจากแค่อดีตก็คงไม่ต้องมีการคำนวนทางวิทยาศาสตร์ทั้งหลายแล้วล่ะ

By: akira on 23 September 2019 - 18:41 #1129767 Reply to:1129698

มันเป็นหลักการออกแบบทางวิศวกรรมอยู่แล้วครับ ถ้าหน่วยงานตรวจสอบมาตรฐานบอกว่าผ่านก็คือผ่าน นอกเหนือจากนั้นเป็นความเสี่ยงซึ่งจะเกิดหรือไ่ม่เกิด ไม่มีใครสามารถพยากรณ์ได้ เพราะถ้าออกแบบเผื่อเยอะ ต้นทุนต่างๆ ของประชาขนก็จะสูงจนไม่คุ้มกับการผลิตอยู่ดี เหรียญมี 2 ด้านเสมอ เอาง่ายๆ ถ้าคุณอยู่คอนโดในกรุงเทพฯ ที่เขาบอกมั่นคงดี แต่วันนึงเกิดแผ่นดินไหว เกิน 7 ริคเตอร์ แถวเมืองกาญฯ ซึ่งจากสถิติไม่เคยมีเกิดขึ้นเลยในไทย คุณคิดว่าจะมีคนออกแบบได้ออกแบบเผื่อไว้ไหม ?

บางคอนโดอาจบอกว่าสร้างเผื่อไว้แล้ว มีระบบไฮดรอริกของรับที่ฐานตึกอีกชั้น โครงสร้างเป็นโครงสร้างเหล็กสามารถรองรับแรงโยกคลอนได้ +/- x เซ็นติเมตร รับแรงสั่นไหวได้เกิน 7 ริคเตอร์ ราคาห้องละ 150 ล้าน คิดว่าจะมีคนซื้อไหม ?

ความเสี่ยงก็คือ ความเสี่ยง ถ้าอยู่ในมาตรฐานก็ถือว่าเป็นที่ยอมรับ แต่ก็รับรู้กันว่ามีโอกาสเกิดขึ้น ในรอบตัวเราเนี่ย มีอันตรายหมดแหล่ะ ความเสี่ยงมากน้อยต่างกัน ไม่มีอะไรไม่มีความเสี่ยงหรอกครับ เพียงแต่มันต้องอยู่ในกรอบมาตรฐานก็เท่านั้น

By: -Rookies-
ContributorAndroidWindowsIn Love
on 23 September 2019 - 21:40 #1129788 Reply to:1129767

+1 ชัดเจนดีครับ

ก่อนกดเข้ามาอ่านคอมเมนต์ ก็ทำใจไว้ระดับนึงแล้ว ไม่นึกว่าชาว Blognone จะมาแนวนี้แฮะ คิดว่าถ้าข่าวนี้ดังในเฟส กระแสน่าจะไปอีกทาง

ผมตามข่าวตั้งแต่เกิดเหตุช่วงแรก ๆ คือเห็นใจเค้านะ สร้างเผื่อไว้เยอะมากแล้ว แต่สิ่งที่เกิดคือมันเกินจากที่เผื่อไว้เยอะจริง ๆ แถมโรงงานก็เกือบจะปลดระวางแล้วด้วย โคตรจะซวยอะ


เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!

By: hisoft
ContributorWindows PhoneWindows
on 23 September 2019 - 21:56 #1129791 Reply to:1129788
hisoft's picture

ผมตามข่าวตั้งแต่เกิดเหตุช่วงแรก ๆ คือเห็นใจเค้านะ สร้างเผื่อไว้เยอะมากแล้ว แต่สิ่งที่เกิดคือมันเกินจากที่เผื่อไว้เยอะจริง ๆ

ผมจำความไม่ได้เท่าไหร่ แต่ที่จำแม่นมากคือเรื่องปั๊มน้ำนี่แหละครับ ผมไม่ได้ตามละเอียดว่าตกลงยังไงกันแน่แต่เหมือนว่าพวกระบบฉุกเฉินไม่สามารถทำงานได้ (เครื่องปั่นไฟและปั๊มน้ำไม่มีเชื้อเพลิงอยู่ใกล้พอจะนำส่งทัน) ซึ่งด้วยข้อจำกัดทั้งหลายก็คงช่วยให้ไม่ผิดได้อยู่