Tags:
Node Thumbnail

KBTG บริษัทด้านเทคโนโลยีของธนาคารกสิกรไทย เพิ่งจัดแข่งขัน TechJam by KBTG 2017 รอบชิงชนะเลิศไปเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา และได้ผู้ชนะเรียบร้อยแล้ว

การแข่งขัน TechJam แบ่งออกเป็น 3 แทร็คคือ Code Track, Data Track, Design Track โดยงานปีนี้มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 594 คน จาก 421 ทีม แบ่งออกเป็นแทร็คต่างๆ ดังนี้

  • Code Track เข้าแข่งขัน 210 ทีม ผู้ชนะคือ ทีม AI shiteru
  • Data Track 146 ทีม ผู้ชนะคือ ทีม M&M
  • Design Track 65 ทีม ผู้ชนะคือ ทีม Consumotive

ผู้ชนะทั้ง 3 ทีมจะได้รางวัลไปดูงานที่ซิลิคอนวัลเลย์ ส่วนรายละเอียดเรื่องโจทย์ของการแข่งขันและผลงานของทีมผู้ชนะ มีดังนี้

No Description

No Description

Code Track

โจทย์รอบสุดท้าย: โจทย์มีหลายข้อ เป็นแนว Algorithm, Data Structure, Optimization ทุกคนจะได้โจทย์เหมือนกัน และ input สำหรับแก้ไขปัญหา จากนั้นให้เขียนโปรแกรมด้วยภาษาอะไรก็ได้ที่ถนัดเพื่อแก้ปัญหา และส่งคำตอบพร้อม source code ให้ระบบตรวจและให้คะแนนอัตโนมัติ โดยคะแนนจะวัดจากความถูกต้อง และคำตอบที่ดีที่สุด

คะแนนความง่าย-ยาก จะไม่ถูกกำหนดโดยกรรมการ แต่ถูกกำหนดโดยผู้แข่งขันทุกคน จากสูตรนี้ ถ้าข้อไหนมีผู้แข่งขันทำได้เยอะ คะแนนเต็มจะน้อย แต่ถ้าผู้แข่งขันทำได้น้อย คะแนนเต็มจะเยอะ

ทีมชนะเลิศ:

  • อันดับ 1: ทีม AI shiteru พีรจิตร ภาสุภัทร, ธนภัทร์ คุ้มสภา
  • อันดับ 2: ทีม GM วัชรพล วัชรวิเศษกุล, มานะ บวรผดุงกิตติ
  • อันดับ 3: ทีม wizard of skn ภัทระ ธีระพงษ์, รชตะ คำพิทักษ์

ความเห็นจากกรรมการ: ทีม AI shiteru สามารถเขียนโปรแกรมเพื่อแก้โจทย์ที่กำหนดได้ โดยได้คำตอบที่ถูกต้อง และ optimize ที่สุด สามารถทำโจทย์ที่ต้องการ exact answer ได้หมด เช่น โจทย์แนวหาเส้นทางที่เป็นไปได้ทั้งหมด โดยจะมี trick ว่าคำตอบจะใหญ่มากจนไม่สามารถ fit ได้ด้วย integer 32 bits, ผู้แข่งขันต้องแก้ปัญหา interger ขนาดใหญ่ของแต่ละ programming language เอง, หรือโจทย์แนว optimization, ทีมที่ชนะเลิศสามารถหาคำตอบที่ดีที่สุด ได้มากกว่าผู้แข่งขันทั้งหมดในงาน

ทีมชนะเลิศ AI shiteru

No Description

บรรยากาศระหว่างการแข่งขัน Code Track

No Description

Data Track

โจทย์รอบสุดท้าย: ให้ผู้เข้าแข่งขันวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนหนึ่ง แล้วนำผลการวิเคราะห์ที่ได้ เพื่อไปทำนายข้อมูลอีกส่วนหนึ่งที่ถูกปิดซ่อนไว้ โดยจะให้ผู้เข้าแข่งขัน พยายามวิเคราะห์เพื่อให้ได้ผลการทำนายที่แม่นยำที่สุด

ในการแข่งขันรอบสุดท้าย ผู้เข้าแข่งขันจะได้รับข้อมูลบัตรเครดิตจำลองและรายการธุรกรรมจำลองเป็นระยะเวลา 18 เดือน ผู้เข้าแข่งขันจะต้องทำข้อมูลที่ได้มาใช้วิเคราะห์พฤติกรรมการซื้อของลูกค้าในเดือนที่ 19 โดยมีเป้าหมายคือเพื่อทำนายยอดค่าใช้จ่ายและความถี่ในการใช้บัตร ในแต่ละ 5 หมวดหมู่ (ยานยนต์, เสื้อผ้า, การบริการ, การเดินทาง, สาธารณูปโภค)

การให้คะแนนจะเป็น 2 ส่วน คือ

  • Objective Score 70 คะแนน มาจากความแม่นยำในการพัฒนาโมเดล
  • Subjective Score 30 คะแนน มาจากการสื่อสาร (Communication) 10 คะแนน, ความสามารถด้านเทคนิค (Technical skills) 10 คะแนน และการสร้างคุณค่าทางธุรกิจ (Business value generation) 10 คะแนน

ทีมชนะเลิศ:

  • อันดับ 1: ทีม M&M ธนิพล วัฒนาอาษากิจ, ณพเมธ เนยเมืองปัก
  • อันดับ 2: ทีม Bank1234 วสุ จรีรัตนชาติ, ไม้เอก ธนังคุณานิจ
  • อันดับ 3: ทีม Baseline พัทธมน ดุลยคุปต์, ธนัสม์ปกรณ์ นิยมการ

ความเห็นจากกรรมการ: ผู้เข้าแข่งขันทำการศึกษาข้อมูลที่มีอย่างละเอียด และพบว่าข้อมูลที่มีมีลักษณะไม่หนาแน่น (sparse) บัตรเครดิตบางใบอาจจะไม่มีธุรกรรมเลยในบางเดือน ผู้เข้าแข่งขันจึงเลือกที่จะทำโมเดลสองชั้น โดยชั้นแรก จะทำนายว่าบัตรใบดังกล่าวจะมีธุรกรรมหรือไม่ในเดือนที่ 19 หากผลทำนายปรากฏว่าบัตรจะมีธุรกรรมเกิดขึ้น ก็จะใช้โมเดลชั้นที่ 2 ทำนายจำนวณการใช้งาน และค่าใช้จ่าย ในเดือนที่ 19

การสร้างโมเดลแยกกันทำให้ผู้เข้าแข่งขันสามารถทำนายข้อมูลได้แม่นยำสูงที่สุดในบรรดาทุกทีม นอกจากนี้ ทีมผู้เข้าแข่งขันยังนำเสนอและอธิบายผลงานของตัวเองได้กระจ่างชัด เข้าใจง่าย รวมไปถึงสามารถเสนอแนวทางเพิ่มเติมเพื่อที่จะนำข้อมูลที่มีอยู่ ไปใช้สร้างมูลค่าทางธุรกิจด้านอื่นๆ ได้

ทีมชนะเลิศ M&M

No Description

บรรยากาศระหว่างการแข่งขัน Data Track

No Description

Design Track

โจทย์รอบสุดท้าย: สร้างสรรค์และออกแบบการให้บริการทางการเงินแห่งอนาคต ในรูปแบบที่ถูกใจและสอดคล้องกับ จิตวิญญาณ ความต้องการ มุมมองและรูปแบบการใช้ชีวิตของเหล่า Digital Natives ที่จะทำให้ชีวิตของเขาเหล่านั้น สะดวก ทัดเทียม และเติมเต็มในทุก ๆ ระดับ (functional, emotional และ spiritual) รูปแบบในการนำเสนอผลงานการออกแบบสามารถนำเสนอในรูปแบบใดก็ได้ ที่สามารถนำเสนอแนวความคิดและถ่ายทอดเนื้อหาให้เห็นภาพ เข้าใจ และแสดงถึงคุณค่าที่เกิดขึ้นจากผลงานได้ดีที่สุด

ทีมชนะเลิศ:

  • อันดับ 1: ทีม Consumotive พัทยา อุประ, สรรพวิชญ์ ศิริผล
  • อันดับ 2: ทีม Moon Farm ณัชพล ศิริพานิชกร, ภีศเดช เพชรน้อย
  • อันดับ 3 ร่วม: ทีม Beyond Art and Craft อนุกุล ลีลาภัทรกิจ, ณิชชาภัทร สถิรพิพัฒน์กุล
  • อันดับ 3 ร่วม: ทีม Ratana รตน ลิ่มนรรัตน์, ต้องกมล กสิศิลป์

ความเห็นจากกรรมการ: ผู้ชนะได้สร้างสรรค์งานออกแบบที่ใช้แนวคิดที่แปลกใหม่ (revolutionary) มาเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีอยู่เดิมที่กำลังจะตกยุค ให้กลายเป็นรูปแบบการบริการแบบใหม่ ผ่านช่องทางการบริการแบบ Digital ที่ตอบโจทย์ความต้องการอันเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่ม Digital Natives ได้อย่างดีทั้งในระดับพื้นฐานและจิตวิญญาณ ผ่าน solution ที่เรียบง่ายสามารถทำได้จริงด้วยการลงทุนที่ไม่สูงจนเกินไป

นอกจากนั้นผู้ชนะยังสามารถนำเสนอแนวคิดและผลงานการออกแบบของพวกเขาได้อย่างครบถ้วนกระชับ ชัดเจน และเต็มไปด้วยสีสันในระหว่างการ pitch ที่มีเวลาอันจำกัดและภายใต้ความเหนื่อยล้าจากการทำงานกันมาแล้วกว่า 20 ชั่วโมง แสดงให้เห็นถึงการเป็นมืออาชีพ ความมุ่งมั่นและ passion ในการทำงานของพวกเขาทั้งสองได้อย่างน่าภูมิใจ

เป็นที่น่าสังเกตว่าผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศของ Design Track ในครั้งนี้ ไม่ได้เป็นผู้ที่เรียนด้านออกแบบมาตั้งแต่ต้น แต่เป็นมืออาชีพในรูปแบบที่เรียกว่า Inter Disciplinary คือผู้ที่มีการศึกษาและความเชี่ยวชาญในรูปแบบที่ผสมผสานความรู้ ความสามารถและประสบการณ์จากหลายแขนงไว้ในคนเดียวกัน

ผู้ชนะ คนแรก จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านนิเทศศาสตร์และกำลังศึกษาระดับปริญญาโทด้านศึกษาศาสตร์ ในขณะที่ทำงาน และสนใจเรียนรู้ด้าน User Experience Design อีกคนหนึ่งจบการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านเศรษฐศาสตร์และปริญญาโทด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยปัจจุบันสนใจและทำงานด้าน User Interface Design

ภาพดังกล่าว สอดคล้องกับแนวทางในการสร้างทีมและการทำงานในรูปแบบใหม่ ภายใต้แนวคิดของ Design Thinking ที่เชื่อว่า การสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างมีประสิทธิภาพจะเกิดขึ้นได้จากกลุ่มคนหลายอาชีพที่มาทำงานร่วมกัน โดยทีมงานในอุดมคติควรประกอบดัวย สมาชิกที่เป็น Inter Disciplinary มีความหลายหลายทางความคิดและความเชี่ยวชาญภายในทีม อันจะก่อให้เกิดความคิดที่แปลกใหม่ที่มีความนอกกรอบอย่างสร้างสรรค์ และได้มาจากพื้นฐานของความหลากหลายทางมุมมองของคนในทีมนั้นเอง

สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการทางด้านบุคลากรที่กำลังเปลี่ยนไป เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการทำงานในยุคแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงนวัตกรรม และยังชี้ให้เห็นถึงของโหว่ในระบบศึกษาที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน อันถูกออกแบบมาในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เน้นการสร้างบุคลากรที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (Single-discipline Expert) เป็นหลัก
ในยุคของการปฏิวัติทางนวัตกรรม ที่ทุกภาคธุรกิจ กำลังถูกเปลี่ยนแปลงและ Disrupted โดยนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและรูปแบบทางธุรกิจใหม่ ๆ นั้น ภาคการศึกษาจำเป็นที่จะต้องถูกเปลี่ยนแปลงและ Disrupted เช่นกัน เช่น การผลิตบุคลากรในรูปแบบใหม่ ที่มีความเหมาะสมกับรูปแบบและสภาพแวดล้อมในการทำงานในยุคปัจจุบัน บุคลากรที่เป็น Inter Discipline ที่มีความสามารถคิดนอกกรอบอย่างสร้างสรรค์แบบ Divergence และบุคลากรที่มีจิตวิญญาณ รวมทั้งแนวคิดแบบ Entrepreneur เป็นต้น

ทีมชนะเลิศ Consumotive

No Description

บรรยากาศระหว่างการแข่งขัน Design Track

No Description

Get latest news from Blognone

Comments

By: zerocool
ContributoriPhoneAndroid
on 29 August 2017 - 04:08 #1004570
zerocool's picture

ชอบคิ้วน้องผู้หญิงแฮะ เข้ากับสไตล์หน้าน้องเขาเลย


That is the way things are.

By: joecole on 29 August 2017 - 19:26 #1004685

เหมือนจ้างคน 594 คนมาคิดงานให้แบงค์
โดยจ่ายค่าจ้างจริง 6 คน

By: latesleeper
Android
on 30 August 2017 - 11:24 #1004734

ฟรู้ววววววว :3