Tags:
Node Thumbnail

งานสัมมนา"เกาะขอบสนามสนช. วิเคราะห์ พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ" จัดโดยเครือข่ายพลเมืองเน็ต ILaw และ SEAPA หรือสมาคมผู้สื่อข่าวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดขึ้นช่วงเวลาเดียวกันกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จัดงานสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ที่กำลังเป็นประเด็นในขณะนี้

มีวิทยากรร่วมสัมมนา คือ

  • สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียน และนักแปล
  • อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล จากเครือข่ายพลเมืองเน็ต
  • ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
  • คณาทิป ทองวีรวงศ์ คณะนิติศาสตร์ ม.เซนต์จอห์น
  • จอมพล พิทักษ์สันตโยธิน คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ม.มหิดล

Blognone เคยนำเสนอข่าวเกี่ยวกับร่างแก้ไขสามารถย้อนอ่านได้ที่นี่ 1 และ 2

No Description

ภาพจาก ILaw

สำหรับเนื้อหาสำคัญที่วงเสวนาเป็นกังวลมากเป็นพิเศษ คือ มาตรา 14 และ มาตรา 20

มาตรา 14 การนำเข้าข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์

แก้ไขเพิ่มเติมฐานความผิด และกำหนดโทษผู้นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ นำเข้าข้อมูลเท็จโดยทุจริตหรือหลอกลวง แก้ไขเพิ่มเติมโทษผู้นำเข้าสู่ระบบหรือเผยแพร่ส่งต่อ โดยประการที่น่าจะทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศ ความมั่นคง ความปลอดภัยสาธารณะ เศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐาน ข้อมูลลามก มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

วงเสวนาเห็นพ้องกันว่า มาตรานี้เดิมทีน่าเป็นห่วงตรงที่มักเป็นมาตราที่ใช้ฟ้องการแสดงความเห็นของสื่อและภาคประชาชน พอมาแก้ไขใหม่นี้ก็เพิ่มองค์ประกอบขึ้นมาว่านำเข้าสู่ระบบโดยทุจริตหรือหลอกลวง ซึ่งยังกำกวม ไม่ชัดเจน และนำไปสู่การตีความที่กว้างขวางมาก

สฤณี อาชวานันทกุล เห็นว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ควรใช้เพื่อปกป้องธุรกิจ พาประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ควรใช้เพื่อป้องกันการโจมตีไซเบอร์ที่จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจดิจิทัลโดยตรง แต่ พ.ร.บ.นี้กลับใช้เพื่อลิดรอนเสรีภาพการใช้อินเทอร์เน็ตเสียมากกว่า จึงเกิดคำถามว่าเจตนาของกฎหมายนี้คืออะไรกันแน่

คณาทิป ทองวีรวงศ์ ตั้งข้อสังเกตว่า ร่างใหม่นี้ไม่มีพูดถึงการระงับแก้ไข Hacking เลย แต่กลับเน้นไปที่คอนเทนต์แทน โดยใช้เกณฑ์ว่าเป็นคอนเทนต์ที่ผิดศิลธรรมอันดี ทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศ ความมั่นคง ความปลอดภัยสาธารณะ เศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐาน แต่ไม่พูดถึงการแฮกที่เป็นปัญหาใหญ่โดยตรง

มาตรา 15 คนรู้เห็นก็ไม่รอด

มาตรา 15 ใหม่ ระบุว่า ผู้ให้บริการผู้ใดให้ความร่วมมือ ยินยอม รู้เห็นเป็นใจ ให้มีการกระทำผิดตามมาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความดูแลของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้ทำผิดตามมาตรา 14

ให้รัฐมนตรีออกประกาศกำหนดขั้นตอน การระวังการแพร่หลาย และการนำข้อมูลออกจากระบบคอมพิวเตอร์ หากพิสูจน์ได้ว่าตนปฏบัติตามประกาศของรัฐมนตรี คนผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ

ด้าน สุรางคณา วายุภาพ จากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (อยู่ที่เวทีรัฐสภาในขณะนั้น) ระบุว่าแก้ไขมาตรา 15 เพื่อลดทอนความรุนแรงของมาตรา 14 แต่ สฤณี อาชวานันทกุล แย้งว่า ไม่ช่วยลดทอนความรุนแรง แต่กลับจะทำให้คลุมเครือและเกิดการตีความกว้างขวางกว่าเดิม

ในมาตรา 15 ยังมีความพยายามจะนำวิธีการของต่างประเทศมาใช้คือ Notice and Takedown หรือการแจ้งเตือนและระงับการแพร่หลาย ซึ่งกำหนดเอาไว้ในร่างประกาศกฎกระทรวง เปิดให้ผู้ใช้ทั่วไปสามารถแจ้งรายงานไปยังผู้ให้บริการ ผู้ควบคุมเว็บไซต์ระงับข้อมูลภายใน 3 วัน (ในกฎหมายไม่ได้บอกละเอียดว่าครอบคลุมใครบ้าง)

ตรงจุดนี้ ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล มองว่าเป็นปัญหา เพราะหลักการ Notice and Takedown ต่างประเทศเขาใช้กับเรื่องละเมิดลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา ไม่เกี่ยวกับเนื้อหาผิดศีลธรรมที่กฎหมายไทยพยายามจะครอบคลุม และไม่ใช่ว่าหลักการนี้จะไม่มีปัญหาในต่างประเทศ เพราะส่วนใหญ่มักใช้เป็นเครื่องมือการกลั่นแกล้งกันทางธุรกิจ

มาตรา 20 คณะกรรมการกลั่นกรองและอำนาจการบล็อคเว็บ

ในวงเสวนาระบุว่าเป็นมาตราที่กระทบต่อผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุด เพราะในมาตรา 20 กำหนดให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ เป็นคณะกรรมการ 5 คนมาทำหน้าหน้าที่ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อบล็อคเว็บ

ในร่างกฎหมายยังขยายขอบเขตการบล็อกเว็บให้เกี่ยวข้องกับมาตรา 14 ด้วย คือไม่เพียงคอนเทนต์ เว็บไซต์ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา แต่ยังสามารถบล็อคเนื้อหาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี ซึ่งยังกำกวม และบางเนื้อหาอาจไม่ผิดกฎหมายเลยก็ได้

จอมพล พิทักษ์สันตโยธิน ให้ความเห็นว่า เรากำลังนำระบบตรวจสอบเนื้อหาโทรทัศน์ในสมัยก่อนมาใช้ หรือ กบว.มาใช้ในยุคดิจิทัล นอกจากนี้ยังไม่แน่ใจว่า ศาลจะใช้เวลาพิจารณา URL ที่มีมากมายได้อย่างถ้วนถี่หรือไม่ก่อนจะตัดสินใจบล็อคหรือไม่บล็อคเว็บนี้

อีกคำถามคือ ศีลธรรมอันดีคืออะไร เพราะแต่ละคนมีศีลธรรมอันดีไม่เหมือนกัน และการตัดสินว่าใครมีหรือไม่มีศีลธรรมอันดี สอดคล้องกับอารยะสังคมหรือไม่

พลตำรวจเอก ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง ซึ่งขณะนั้นทำการสัมมนารับฟังความเห็นอยู่ที่รัฐสภาระบุถึง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ที่พยายามจะขยายไปยังกฎหมายอื่นๆ ว่า การกระทำความผิดนั้นครอบคลุมหลายอย่าง ถ้อยคำความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดี ปรากฎอยู่ในกฎหมายไทยหลายฉบับ จึงมองว่ายังเป็นถ้อยคำสำคัญ ควรคงเอาไว้ ส่วนเรื่องคณะกรรมการกลั่นกรอง มีหลายชุดหลายคณะ และจะมีภาคเอกชนเป็นส่วนประกอบด้วย

ผู้สนใจอยากทราบรายละเอียดมากกว่าเข้าไปดูไลฟ์วิดีโอฉบับเต็มได้ ที่นี่ และไลฟ์สดจากเวที สนช.

Get latest news from Blognone

Comments

By: itpcc
ContributoriPhoneRed HatUbuntu
on 24 November 2016 - 17:20 #955508
itpcc's picture

ควาน่า -> ความน่า

ปก้อง -> ปกป้อง

ปรเทศ -> ประเทศ

แต่พ.ร.บ.นี้ -> แต่ พ.ร.บ. นี้

เตืน -> เตือน

แจ้งรายงานไปยังผู้ให้บริการ ผู้ควบคุมเว็บไซต์ระงับข้อมูลภายใน 3 วัน

?

ไม่มีัญหา -> ไม่มีปัญหา


บล็อกส่วนตัวที่อัพเดตตามอารมณ์และความขยัน :P

By: panurat2000
ContributorSymbianUbuntuIn Love
on 25 November 2016 - 10:42 #955650 Reply to:955508
panurat2000's picture

พรบ. => พ.ร.บ.

บล็อก => บล็อค

ปรากฎ => ปรากฏ

By: sunnywalker
WriterAndroid
on 24 November 2016 - 20:06 #955555 Reply to:955510

ขอบคุณค่ะ