Tags:
Node Thumbnail

ช่วงนี้สตาร์ตอัพไทยที่เน้นตลาดเฉพาะทาง เน้นแก้ปัญหาเฉพาะบางอุตสาหกรรมเริ่มโผล่มาให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อไม่นานนี้ Blognone เพิ่งสัมภาษณ์ ZmyHome สตาร์ตอัพด้านอสังหาริมทรัพย์ คราวนี้ขอแนะนำให้รู้จัก Giztix สตาร์ตอัพด้านลอจิสติกส์กันบ้าง (เป็นทีมที่เข้ารอบสุดท้ายของ dtac Accelerate 2015 เหมือนกัน)

Giztix (อ่านว่า "จิสติกซ์") ก่อตั้งโดยคุณสิทธิศักดิ์ วงศ์สมนึก ซึ่งมีธุรกิจของครอบครัวทำด้านลอจิสติกส์อยู่แล้ว เห็นปัญหาในวงการนี้มายาวนาน โดยเฉพาะเรื่องระบบไอทีที่บริษัทลอจิสติกส์ในบ้านเรายังไม่เห็นความสำคัญกันมากนัก หลายบริษัทยังทำงานด้วยโทรศัพท์-กระดาษทั้งหมดด้วยซ้ำ

No Description

คุณสิทธิศักดิ์ เคยพยายามทำระบบซอฟต์แวร์สำหรับบริษัทลอจิสติกส์ ช่วยเรื่องใบเสนอราคา ใบสั่งซื้อ ตามงาน ออกบิล ฯลฯ (ลักษณะเดียวกับ Builk ที่เป็นซอฟต์แวร์สำหรับวงการก่อสร้าง) แต่พบว่าบริษัทลอจิสติกส์รายไหนที่หัวใหม่หน่อยก็ใช้งานได้ดีไม่มีปัญหา แต่บางบริษัทหัวเก่า ทำอย่างไรก็ไม่ยอมใช้งานเพราะเคยชินกับของเดิม ส่งผลให้พัฒนา Giztix ที่เป็นระบบตลาดกลาง (marketplace) ขึ้นมาแทน

Giztix เป็นตลาดซื้อขายบริการด้านลอจิสติกส์ ฝั่งผู้ให้บริการขนส่งหรือที่เรียกว่า transporter สามารถมาลิสต์บริการที่ตัวเองมีในระบบ และฝั่งของผู้ใช้บริการหรือ shipper สามารถเข้ามาเลือกดูว่ามีบริษัทใดรับขนส่งสินค้าในรูปแบบที่ตัวเองต้องการบ้าง และสามารถเช็คราคาได้ทันที ขอใบเสนอราคาจาก transporter เจ้าต่างๆ ได้ทันที สะดวกกว่าการโทรศัพท์ไปสอบถาม-ขอใบเสนอราคาทางแฟกซ์หรืออีเมลมาก

No Description

ตัวอย่างหน้าจอของ Giztix

No Description

ในมุมของ Giztix ต้องการนำระบบไอทีเข้ามาช่วยแก้ปัญหาของทั้งบริษัทขนส่ง และผู้ที่ต้องการขนส่งสินค้า ในฝั่งของบริษัทขนส่งก็มีลูกค้าเพิ่มขึ้นจากหน้าเว็บ และมีระบบไอทีช่วยอำนวยความสะดวกที่หลังบ้าน (เช่น ระบบส่งต่อให้เอาท์ซอร์สหรือ subcontractor, ระบบช่วยคำนวณต้นทุนค่าส่งจากเส้นทาง) ส่วนเจ้าของสินค้าก็สะดวก ไม่ต้องไล่เช็คทีละบริษัทว่าราคาเท่าไร ว่างมารับขนของในวันที่ต้องการหรือไม่ ส่วนในภาพรวมก็ช่วยลดระยะเวลาของการขนส่งสินค้าในไทยลงจากเดิม

บริษัท transporter สามารถแบ่งได้คร่าวๆ เป็น 3 ระดับ ดังนี้

  1. Forwarder ไม่ได้เป็นเจ้าของรถเอง ทำหน้าที่เป็น agent คือรับบริหารงานขนส่ง โดยใช้รถขนส่งจากบริษัทอื่นหรือรถรายย่อย
  2. Carrier บริษัทที่เป็นเจ้าของรถเอง รายที่ใหญ่หน่อยอาจมีรถเป็นหลักร้อยคัน
  3. Logistic Service Provider เป็นทั้งเจ้าของรถและคลังสินค้า มีบริการอื่นๆ เรื่องการขนส่งด้วย ครบวงจรที่สุด

คุณสิทธิศักดิ์เล่าว่า pain point ของบริษัทขนส่ง (transporter) คือ "ต้นทุน" ทั้งในเรื่องการจัดการคนและเอกสาร ซึ่งตรงนี้ระบบซอฟต์แวร์เข้ามาช่วยได้ และปัญหาที่เรียกว่า backhaul หรือการตีรถเปล่ากลับที่ตั้ง ซึ่งจะพยายามแก้ปัญหาด้วยการจับคู่ความต้องการขนส่งสินค้าในเส้นทางต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

จุดเด่นของ Giztix คือมีฐานข้อมูล transporter จำนวนมากอยู่แล้ว เพราะตัวผู้ก่อตั้งเองมาจากธุรกิจนี้ เป้าหมายของ Giztix คือขยายผู้ใช้งานฝั่ง shipper ให้มากขึ้น เพื่อสร้าง ecosystem ให้โตขึ้นในภาพรวม

ทีมงาน Giztix ในงาน dtac Accelerate 2015

No Description

Get latest news from Blognone

Comments

By: maoIndie
Ubuntu
on 19 April 2016 - 13:07 #904555
maoIndie's picture

เจ๋งอ่ะ ชอบบริษัทสตาร์ทอัพจัง

By: ekaphop
iPhoneWindows PhoneAndroidBlackberry
on 19 April 2016 - 14:13 #904568

ในฐานะที่ทำ Software ด้าน Logistics อยู่ อยากบอกว่า เงื่อนไขมันเยอะ ยุบยิบ พอๆกับ Promotion ของร้านสะดวกซื้อหรือห้างเลยหล่ะ

By: 100dej
AndroidWindows
on 19 April 2016 - 15:24 #904589

บริหารช่วงเวลาจราจรด้วยก็ดีนะ แบบกระจายรถขนส่งไม่ทำให้ปริมาณรถขนส่งหนาแน่นจนเกินไปอ่ะ

By: menu_dot on 20 April 2016 - 10:41 #904834

App ใช้พนักงานกี่คนนะ