Tags:
Node Thumbnail

จากประเด็นเรื่อง กองบัญชาการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) กับ LINE ที่เป็นข่าวตลอดทั้งวันนี้ ทางเครือข่ายพลเมืองเน็ต ได้ออกแถลงการณ์ต่อเรื่องนี้ (และการสอดส่องหรือ surveillance ของรัฐไทยในภาพรวม) ทั้งหมด 5 ประเด็น

  1. ปอท.ต้องให้ความชัดเจนว่า การขอข้อมูลที่ ปอท.กล่าวถึงนั้น มีข้อมูลอะไรบ้าง
  2. ผู้บริการการสื่อสารและเครือข่ายสังคมออนไลน์ ควรปกป้องสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้ โดยเฉพาะสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคล
  3. ผู้บังคับใช้กฎหมายต้องดำเนินการตามที่ระบุในกฎหมาย และหยุดการ “ขอความร่วมมือ” อย่างไม่เป็นทางการจากผู้ให้บริการ
  4. ตำรวจและรัฐบาลไทย ต้องหยุดการกระทำที่ทำให้เกิดความกลัวในหมู่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต รวมทั้งหยุดการใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์อย่างพร่ำเพรื่อ
  5. เครือข่ายพลเมืองเน็ตมีข้อเสนอแนะในการรับมือกับข่าวลือซึ่งอาจกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือรัฐบาล

ที่มา - เครือข่ายพลเมืองเน็ต

แถลงการณ์เครือข่ายพลเมืองเน็ต: รัฐไทยต้องให้ความชัดเจนเรื่องการสอดส่องประชาชนบนไลน์และสื่อสังคมอื่น

จากกรณี พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบก.ปอท.) กล่าวถึงแผนการตรวจสอบการสื่อสารของประชาชนบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก (Facebook) ยูทูบ (YouTube) วอทซ์แอพ (WhatsApp) และไลน์ (LINE) ซึ่ง พล.ต.ต.พิสิษฐ์กล่าวว่า ปอท.จะเลือกตรวจสอบข้อมูลการสื่อสารของบุคคลที่มีแนวโน้มจะกระทำการที่กระทบต่อความมั่นคงหรือความสงบเรียบร้อย และอ้างว่าผู้ให้บริการ LINE ตอบรับยินดีให้ความร่วมมือ เครือข่ายพลเมืองเน็ตยืนยันว่า การติดต่อระหว่างบุคคลผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์นั้นอยู่ภายใต้ความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 35, 36 และ 45 ที่ว่าด้วยสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เสรีภาพในการสื่อสารถึงกันโดยไม่ถูกเปิดเผย และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐบาลไทยพยายามสอดส่องประชาชน เมื่อเดือนธันวาคม 2554 ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้พูดถึงแผนการจัดซื้ออุปกรณ์ดักข้อมูล เพื่อดักข้อมูลที่อาจเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
จากแนวโน้มที่น่าเป็นห่วงนี้ เครือข่ายพลเมืองเน็ตมีข้อกังวลและข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้

1. ปอท.ต้องให้ความชัดเจนว่า การขอข้อมูลที่ ปอท.กล่าวถึงนั้น มีข้อมูลอะไรบ้าง

ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 8 ปอท.ไม่มีสิทธิในการดักฟังการสื่อสารของประชาชน การดักฟังจะทำได้ ก็ต่อเมื่อคดีดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของกรมสืบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งดีเอสไอจะดักฟังได้โดยอาศัยคำสั่งศาล สำหรับคดีบางประเภทเท่านั้นเท่านั้น
เครือข่ายพลเมืองเน็ตมีความสงสัยว่า การขอ “ตรวจสอบข้อมูลการสนทนา” ของปอท. นั้นหมายถึงการ ดักฟัง หรือ การขอบันทึกการสนทนา (chat log) หรือ ข้อมูลผู้ใช้ (user’s data)
ในกรณีที่เป็นการดักฟังนั้น เครือข่ายพลเมืองเน็ตเห็นว่า ปอท. ไม่มีสิทธิที่จะทำการดังกล่าว

นอกจากนี้ แม้รัฐธรรมนูญไทยปี 2550 มาตรา 36 ซึ่งระบุว่า “ การตรวจ การกัก หรือการเปิดเผยสิ่งสื่อสารที่บุคคลมีติดต่อถึงกัน รวมทั้งการกระทําด้วยประการอื่นใดเพื่อให้ล่วงรู้ถึงข้อความในสิ่งสื่อสารท้ังหลายที่บุคคลมีติดต่อถึงกันจะกระทํามิได้” มีข้อยกเว้นสำหรับการดักฟังหรือสอดส่องการสื่อสารของประชาชนอยู่สำหรับเรื่องความมั่นคง และการรักษาศีลธรรมอันดี แต่เนื่องจากข้อยกเว้นดังกล่าวสามารถตีความได้อย่างกว้างขวาง การอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงของเจ้าหน้าที่รัฐจึงควรจะมีคำอธิบายที่มีรายละเอียดและชัดเจนต่อประชาชน การเปิดโอกาสให้เกิดการดักฟังนั้นยังเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิประชาชนในด้านอื่นๆ ด้วย ดังนั้นแม้จะมีการดักฟังซึ่งชอบด้วยกฎหมายก็ควรเป็นไปด้วยความระมัดระวัง และใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น

2. ผู้บริการการสื่อสารและเครือข่ายสังคมออนไลน์ ควรปกป้องสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้ โดยเฉพาะสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคล

ตามนโยบายของไลน์นั้น ได้ระบุข้อยกเว้นของการให้ข้อมูลแก่บุคคลที่สามไว้คือข้อหนึ่งคือ
“เมื่อบริษัทถูกร้องขอให้ความร่วมมือจากสถาบันของรัฐ รัฐบาลท้องถิ่น หรือบุคคล หรือผู้ประกอบการธุรกิจ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ และเมื่อการให้ผู้ใช้ยินยอมก่อนจะเป็นการกีดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ” (คำแปลอย่างไม่เป็นทางการ)

ขณะเดียวกันไลน์ก็ได้ระบุไว้ในหน้าความช่วยเหลือต่อคำถามที่ว่าบุคคลที่สามสามารถ “แอบดู” เนื้อหาของการสนทนาได้หรือไม่ว่า “ไม่ได้ ผู้ที่ไม่ได้อยู่ในการสนทนาไม่สามารถเห็นสิ่งที่คุณพิมพ์ได้ ไลน์ปลอดภัย”
ในประเทศไทยนั้น ไลน์เป็นที่นิยมมาก และมีผู้ใช้ในประเทศไทยกว่ามากกว่าสิบห้าล้านคนเครือข่ายพลเมืองเน็ตขอเรียกร้องให้บริษัท Naver Japan ผู้ให้บริการไลน์ ปกป้องสิทธิและความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ชาวไทย และต้องไม่ยินยอมให้ข้อมูลหรือบันทึกการสนทนาของผู้ใช้ต่อรัฐไทยโดยไม่มีเหตุผลหรือไม่ทำตามกระบวนการทางกฎหมายที่โปร่งใส

3. ผู้บังคับใช้กฎหมายต้องดำเนินการตามที่ระบุในกฎหมาย และหยุดการ “ขอความร่วมมือ” อย่างไม่เป็นทางการจากผู้ให้บริการ

วัฒนธรรมการ “ขอความร่วมมือ” อย่างไม่เป็นทางการ ส่งผลเสียในทางปกครองและการบริหารราชการแผ่นดิน เนื่องจากหลักฐานการขอความร่วมมือและข้อมูลที่ได้ จะไม่ถูกจัดเก็บในสารบบของราชการ ประชาชนไม่สามารถใช้สิทธิ เช่น สิทธิตามพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ เพื่อขอข้อมูลเพื่อตรวจสอบการทำงาน ทำให้การพิทักษ์สิทธิของประชาชนเป็นไปได้ยาก และเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคล

ในกรณีของบริษัท Naver นั้น แม้ผู้ให้บริการจะอยู่ในประเทศญี่ปุ่น และไม่ได้มีภาระหน้าที่ต้องตอบสนองต่อกฎหมายไทย ซึ่งปอท. อาจสามารถเลือกวิธีการ “ขอความร่วมมือ” แทนที่จะใช้วิธีที่ถูกต้องตามกฎหมายเช่น การใช้คำสั่งศาล การกระทำเช่นนี้จะทำให้ประชาชนไม่สามารถใช้สิทธิตา มพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ มาตรวจสอบย้อนหลังได้ว่า ข้อมูลที่ขอไปนั้นมีอะไรบ้าง เครือข่ายพลเมืองเน็ตเห็นว่า เพื่อความโปร่งใส และตรวจสอบได้ ขอเรียกร้องให้ ปอท.ใช้วิธีการตามกฎหมาย และหยุดการใช้วิธีขอความร่วมมืออย่างไม่เป็นทางการ

4. ตำรวจและรัฐบาลไทย ต้องหยุดการกระทำที่ทำให้เกิดความกลัวในหมู่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต รวมทั้งหยุดการใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์อย่างพร่ำเพรื่อ

เครือข่ายพลเมืองเน็ตมองว่า การะกระทำของรัฐบาล ทั้งการให้ข่าวว่าจะทำ หรือการกระทำจริงๆ ล้วนแล้วแต่เป็นการทำให้เกิดผลเสียต่อบรรยากาศโดยรวมของกิจกรรมบนอินเทอร์เน็ต ทำให้ผู้ใช้เน็ตตกอยู่ในความกลัว และความไม่แน่ใจว่า สิ่งใดทำได้ สิ่งใดทำไม่ได้

นอกจากนี้ รัฐบาลควรหยุดการใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างพร่ำเพื่อและไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ดั้งเดิม ที่ต้องการ ซึ่งจากสถิติคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จะเห็นได้ว่า คดีส่วนใหญ่นั้น ไม่เกี่ยวกับอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ แต่เกี่ยวกับการหมิ่นประมาทหรือการปล่อยข่าวลือ บนระบบอินเทอร์เน็ต ที่ล้วนแล้วแต่มีกฎหมายอื่นรองรับอยู่แล้ว
การใช้ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ อย่างพร่ำเพื่อเช่นนี้ จะเป็นการสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวแก่ผู้ใช้เน็ตโดยรวม

5. เครือข่ายพลเมืองเน็ตมีข้อเสนอแนะในการรับมือกับข่าวลือซึ่งอาจกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือรัฐบาล

มีวิธีการอันเป็นสากลมากมายในการรับมือกับข่าวลือ โดยที่ไม่ต้องใช้มาตราการอันจะไปกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน หรือทำให้เกิดบรรยากาศแห่งความกลัว เช่น การชี้แจงข้อมูลตามความเป็นจริงเพื่อแก้ไขข่าวลือต่างๆ ที่เกิดขึ้นต่อสาธารณชน ซึ่งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยควรจะเคารพวิจารณญาณ และความสามารถในการพิจารณาของประชาชนว่า ข้อความใดจริง ข้อความใดเท็จ แทนที่จะใช้มาตราการการสอดส่องที่จะนำไปสู่การละเมิดสิทธิ

อินเทอร์เน็ตเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ทางสังคมที่เราทุกคนอยู่ร่วมกัน ทั้งภาครัฐ ผู้ให้บริการ และพลเมืองเน็ตจะต้องมีบทบาทร่วมกันในการรักษาพื้นที่นี้เพื่อประโยชน์สาธารณะ บนพื้นฐานของการรักษาสิทธิพลเมืองและปกป้องสิทธิมนุษยชน การกระทำที่ทำให้เกิดการตื่นตระหนก และความรู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่เป็นส่วนตัว จะส่งผลเสียทางเศรษฐกิจ และกิจวัตรประจำวันของผู้คนที่ต้องใช้อินเทอร์เน็ตได้

เปิดเน็ต เปิดใจ
เครือข่ายพลเมืองเน็ต
13 สิงหาคม 2556

Get latest news from Blognone

Comments

By: knightomon on 13 August 2013 - 19:09 #609891
knightomon's picture

ผมสงสัยอยู่ถ้าบีบกันมากๆ ถ้าคนที่คิดจะทำไมดีไป ทำเว็บ หรือเขียน app ติดต่อกันเองเฉพาะกลุ่มจะเป็นงัย

ที่ถามนี่คือเขาอ้างว่า เพื่อป้องการกลุ่มค้าอาวุธ แล้วก้ยาเสพติด แต่ผมมองว่าช่องทางสื่อสารเพื่อหลบเลี่ยงมีอีกมากมาย
จึงไม่สมเหตุสมผลนะครับ

By: timered
Android
on 13 August 2013 - 19:44 #609906

ชอบขู่ชาวบ้านไหนบอกเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย ทำตัวบ้าอำนาจทุกวัน ใครไม่เห็นด้วยก็จับ ตกลงคนไม่เห็นด้วยกับพวกคุณมันไม่รักชาติใช่ไหม มันอยากให้ประเทศชาติล่มจมฉิบหายใช่ไหมครับ น่าเบื่อมากตำรวจทำตัวอย่างนี้มิน่าประชาชนเขาเกลียดเอาครับ เพราอะไรหัดคิดหน่อยครับ ในเฟซบุคมีเพจ เกลียดตำรวจของไทยก็เรียกตัวเขาไปสิ เพราะเขาเห็นต่างกับคุณ
ส่วนเฟซบุค ยูทูบเขาไม่ให้ความร่วมมือกับคุณเพราะอะไร ตอบไม่ยากแต่พวกคุณก็ทำเป็นซื่อไม่รู้เรื่อง ส่วนไลน์เขาคงให้หรอก ญี่ปุ่นไม่ใช่เกาหลีเหนือนะ ตำรวจไทยหัดเคารพสิทธิ์ประชาชนด้วย อย่าคิดว่าพวกคุณมีอำนาจล้นฟ้า

By: illusion
ContributorAndroid
on 13 August 2013 - 21:51 #609948 Reply to:609906
illusion's picture

+1,000,000

By: niyata
iPhoneAndroidBlackberry
on 13 August 2013 - 23:37 #609992 Reply to:609906
niyata's picture

ไม่ใช่ ส่วนงานของรัฐบาลครับ ขณะนี้ ICT ได้ออกมาแสดงท่าทีไม่เห็นด้วย

By: 0FFiiz
Windows PhoneAndroidWindows
on 14 August 2013 - 11:23 #610235 Reply to:609992
0FFiiz's picture

เอ่อ .... คนคุมตำรวจนี่ ก็พวกมันไม่ใช่เหรอครับ

By: darkfaty
AndroidWindows
on 14 August 2013 - 13:15 #610318 Reply to:609906
darkfaty's picture

ผมว่าถ้าอีกขั่วอำนาจกลับมาได้ก็คงจะทำเหมือนกันครับ เพราะตอนนี้ Line มันกลายเป็นช่องทางการทำธุรกิจใต้ดินทั้งหลาย แบบโจ๋งครึ่มด้วย ถ้าเค้าไม่ทำอะไรสักอย่างก็จะโดนด่าว่าปล่อยปะละเลย

แต่ผมไม่สนับสนุนวิธีนี้น่ะครับ แต่ก็คิดไม่ออกเหมือนกันว่าจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร

By: NightMare on 14 August 2013 - 20:59 #610539 Reply to:610318
NightMare's picture

ประเด็นคือที่นี่ ขาเชียร์มากครับ แต่พอถึงเวลา กลับหายจ้อยไปเลย...

By: Tenzen
iPhoneWindows PhoneAndroidWindows
on 13 August 2013 - 19:45 #609907

ตั้ง server เขียนโปรแกรมคุยกันเองง่ายกว่าไหม เปลี่ยนชื่อเรียกสิ่งผิดกฎหมายซะ ตร. จะรู้หรอ ข้ออ้างที่ใช้ keyword ฟังไม่ขึ้นอ่ะ คิดได้แค่นี้ ริจะเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายคอมพิวเตอร์ คิดตื้นไปหน่อยนะ

By: Architec
ContributorWindows PhoneAndroidWindows
on 13 August 2013 - 21:05 #609929

บอกไม่ถูกเลย แต่กระบวนการสอบสวนของจนท.รัฐที่เป็นฝ่ายโจทก์ในบางคดีก็บอกว่าใช้วิธีพิเศษในการค้นหา แต่ไม่ได้บอกกระบวนการอะไรเลย แบบนี้ใครจะยอม?

ถ้าอบรมจนท.รัฐไม่กี่ชั่วโมงแบบหายใจทิ้งไปวันๆแล้วมาเป็นโจทก์กันสั่วๆขึ้นล่ะก็ ผมว่าอย่ามีกฎหมายนี้เลย (ในใจอยากให้มี แต่แบบนี้ไม่ไหวเว้ย) ช่วยให้ชีวิตพวกเราเส็งเคร็งขึ้น แถมแพะเต็มบ้านเต็มเมืองอีก

By: jokerxsi on 13 August 2013 - 21:24 #609937

คงต้องเขียน App สื่อสารแบบ P2P แบบไม่ต้องมี Server กลางมาใช้แทน Line เลยดีกว่า
เขาจะได้ไม่มาดักจับ Line เอ๊ะ

By: NightMare on 13 August 2013 - 21:30 #609941
NightMare's picture

ไม่เกี่ยวกับข่าว ผมเพียงแค่แปลกใจว่าเหล่า liberal ใน blognone ช่วงเดือนนี้หายกันไปไหนหมด
ไม่เห็นจะเข้ามาตอบโต้ข่าวประเภทนี้เฉกเช่นแต่ก่อนเลย ทั้งที่ข่าวออกมาผมนับได้ก็ปาไปสี่ข่าวแล้ว ไม่เข้าใจว่าท่านทั้งหลายเหล่านั้นหมดแล้วซึ่งอุดมการณ์ และความโหยหาในอิสระภาพสุดขั้วนั้นมันหมดสิ้นไปแล้วหรือไรกันครับ บอกตรงๆ ว่างงจริงๆ :-)

By: Kurtumm
ContributoriPhoneUbuntu
on 13 August 2013 - 22:40 #609970 Reply to:609941
Kurtumm's picture

ว่าจะถามอยู่ พอดีมีคนถามให้แล้ว


kurtumm

By: PaPaSEK
ContributorAndroidWindowsIn Love
on 14 August 2013 - 00:33 #610018 Reply to:609941
PaPaSEK's picture

liberal อย่างผมกำลังติดสตันครับ ปกติแล้วผมจะใช้มาตรฐานอเมริกาดินแดนแห่งเสรีภาพ และประชาธิปไตยเป็นหลัก

พอเกิดกรณี NSA + PRISM แล้วผมทำอะไรไม่ถูกครับ คือในระดับข้อมูลรัฐที่เราเข้าถึงได้ก็ไม่เห็นว่าจะมีการกระทำลักษณะนี้ แต่ในข้อมูลเชิงลึกแบบที่ snowden ออกมาแฉก็เห็นๆ อยู่ว่าแทบในทุกประเทศก็มีการกระทำในเชิงแทรกแซงสื่อทางด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ โทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต หนังสือพิมพ์ ฯลฯ

ตอนเราโดน tap ข้อมูลเราก็ไม่รู้ไงครับ อีกอย่างที่สำคัญเลยคือรัฐไม่เคยให้ความใส่ใจกับเสียงของประชาชนอย่างจริงจังครับ

การแสดงออกอาจไม่ค่อยมีให้เห็น แต่ไฟขบถทางความคิดยังคงลุกโชน ด้วยการเผาไหม้ขี้เลื่อยในหัวสมอง และเสียงเรียกร้องอิสระภาพยังดังก้องหัวใจอยู่เสมอครับ

ตอบแทนคนอื่นๆ ว่าไม่ได้หายไปไหน แต่ไม่แสดงออกมากกว่า

"ความโหยหาในอิสระภาพสุดขั้วนั้นมันหมดสิ้นไปแล้วหรือไรกันครับ" ผมเชื่อว่าอิสระภาพในระดับ absolutely free นั้นไม่มีอยู่จริง เพียงแต่เราจะยอมรับความแคบของขอบเขตที่เรามีได้เพียงเท่าใดครับ

By: clozed2u
ContributoriPhoneIn Love
on 14 August 2013 - 02:06 #610073 Reply to:610018

+1

By: kswisit
ContributoriPhoneAndroidIn Love
on 14 August 2013 - 09:02 #610139 Reply to:610018

hi-five!


^
^
that's just my two cents.

By: NightMare on 14 August 2013 - 20:49 #610535 Reply to:610018
NightMare's picture

ผมยอมรับในคำพูดนี้ของคุณครับ "ผมเชื่อว่าอิสระภาพในระดับ absolutely free นั้นไม่มีอยู่จริง เพียงแต่เราจะยอมรับความแคบของขอบเขตที่เรามีได้เพียงเท่าใดครับ"

By: molecule120 on 14 August 2013 - 00:27 #610019 Reply to:609941

+1

By: rapeapach
Windows
on 14 August 2013 - 02:34 #610092 Reply to:609941

ถ้าเรามองโดยยึดแบบสิ่งใกล้เคียงอุดมคติ เราอาจเกิดอาการมึน วิงเวียนศีรษะได้คับ -- เพราะเวลาเราอ้าง จะใช้ USA เป็นหลัก ทำให้พอขาดที่ยึดมั่น เลยกลายเป็นเคว้งคว้าง -- แต่ถ้าเรายึดตามแบบอุดมคติ อย่างน้อยก็ทำให้เรายืนในจุดนี้ได้ แค่อุดมคติคงจะมีน้ำหนักไม่มากเท่าไหร่ สำหรับคนทั่วไป หรือผู้ไม่แสวงหาในอุดมการณ์ (ง่ายๆคือ พวกเฉยๆ อะไรจะเกิดก็เกิด)

ถ้าถูกสอดส่องตลอดเวลา ไม่แปลกที่จะรู้สึกอึดอัด ผมรู้สึกยังไม่ค่อยแน่ใจว่าฝั่งไหนดีกว่ากันแน่ (พูดตรงๆเลย มันไม่มีทางตัดสินได้)

แต่พอมองย้อนไปนิดๆ อเมริกาที่เป็นต้นแบบทางความเสรี (ถึงเราจะรู้ว่ามันไม่เสรีอย่างที่คิด) ยังอยู่มาได้ โดยไม่มีความขัดแย้งทางความคิดโลกเสรี -- อย่างน้อยก็แสดงให้เห็นว่า ตราบใดที่คนไม่รู้ และคิดว่าตนเสรี ก็ไม่มีปัญหาอะไร -- ตราบใดที่มีกล้องสอดส่องเราตลอดเวลา แต่เรามองไม่เห็นเราก็ไม่รู้สึกผิดแปลกอะไร -- เหมือนๆกับว่า แม้แต่โลกอินเทอร์เน็ตยังเลี่ยงสีเทาไม่ได้เลย

พออ้างตามด้านบนแล้ว ทำให้เหมือนเอาอุดมคติโลกเสรีไปเปรียบกับพวกโลกสวยเลยนะ (ถึงจะออกมาเป็นอย่างนั้นจริงๆ)

แต่จะเป็นสีดำสนิทก็ยอมไม่ได้เหมือนกัน จะเป็นสีขาวก็เป็นไปไม่ได้อีก

ถ้าเทียบเครือข่าย Internet เป็นโลกใบหนึ่ง Protocols ไม่น่าจะใช่กฎหมาย แต่เป็น Nature laws มากกว่าเพราะนอกจาก Data ใน Protocols อะไรที่อยู่นอกกฎแล้วตัวระบบจะไม่รับรู้ถึงการมีอยู่ รวมถึงการถูกกำจัดออก (แต่ในสภาพเมื่อมองจากโลก Internet สิ่งๆนั้นไม่มีอยูจริง)
-- ตัว Server ใหญ่ๆก็เหมือนประเทศใหญ่ๆ สร้างกฏเล็กๆขึ้นมาดูแลกันเอง -- แต่ต้องยอมรับกันว่าโลก Internet มีประเทศได้เสรีโดยไม่มีกฏบังคับว่าประเทศที่ว่าควรจะมีกรอบพื้นๆยังไง อย่างเช่นประเทศในปัจจุบันก็แบ่งโดยการยอมรับจากสหประชาชาติ โดยมีกฎอยู่ระดับหนึ่ง
-- แต่โลกที่ได้ชื่อว่าเสรีมากๆนี้น่ะ จะควบคุมได้ยังไง ในเมื่อประเทศแต่ละประเทศแทบจะสามารถเป็นเอกเทศแยกจากกันโดยพึ่งพากันน้อยมากๆยังได้เลย ทำให้ระบบ Internet แทบจะควบคุมไม่ได้โดยใช้วิธีแบบควบคุมกันเอง หรือจะใช้ไวรัสมหาประลัยแทนนิวเคลียร์ดีล่ะ
-- มาตรการคว่ำบาตรนาๆ ที่ใช้ได้ผลคงไม่ได้ดีเท่าไหร่แน่ในโลกนี้

ที่เพ้อมาทั้งหมดก็เพื่อจะบอกว่า
-- วิธีแก้ปัญหาแบบหยาบๆ แต่ได้ผลในยุกเริ่มแรกของความปั่นป่วนทาง Internet ช่วงที่เว็บแต่ละเว็บกำลังแย่งชิงพื้นที่หรือ ทราฟฟิค หรือ ผู้ใช้ -- กฎแห่งความเชื่อง่ายๆว่ามีคนอยู่เหนือกว่ายังใช้ได้ดี หรือก็คือ มีคน(สมมติหรือจริงก็ได้)ตั้งตัวเป็นพระเจ้า ควบคุมได้ทุกอย่าง มีหน้าที่ตัดสินถูกผิด (ซึ่งเราก็รู้ว่าวิธีนี้มันเผด็จการชัดๆ แต่เราก็เห็นผลจากประวัติศาสตร์อยู่แล้ว)
-- ถ้าเราไปถึงยุคที่มีบางประเทศมีความมั่นคงทางอำนาจมากๆ (ซึ่งเกิดได้ยากในปัจจุบันเนื่องจากความเสรีอย่างมากทาง Internet ทำให้ Facebook หรือ Google ที่ว่ามั่นคงแล้วยังรักษามันไว้ลำบาก) เป็นคนกำหนดทิศทางของโลกอินเทอร์เน็ตว่าไปทางไหน (เห็นได้ชัดว่าเราผ่านยุคที่ Google หรือ Yahoo กำหนดทิศทางการพัฒนารูปแบบเว็บไซต์มาแล้ว) หรือว่าเรากำลังคานอำนาจกันอยู่ แต่มหาอำนาจของเรามีอำนาจได้ไม่นานหรอก (เพราะโลก Internet มีความผันผวนสูง)
แต่ว่า เนื่องจาก กฎเกณท์พื้นๆของ Internet เปลี่ยนไปมาก จนถึงทุกวันนี้ยังไม่มีเว็บไซต์ หรือ แหล่งชุมชนทางอินเทอร์เน็ตไหน ที่จะกำหนดหรือมีอำนาจอย่างมั่นคงพอที่จะกำหนดแนวทางได้เลย (ถ้าไม่พอใจก็ย้ายได้นี่)

By: NightMare on 14 August 2013 - 20:57 #610537 Reply to:610092
NightMare's picture

ขอบคุณสำหรับมุมมองที่ดีครับ ประเด็นของผมหาใช่คำถามสำหรับคนที่มีโลกทัศน์ที่ดีเยี่ยมเช่นคุณครับ หากแต่เป็นสำหรับคนจำพวกที่คิดว่าตัวเองเลิศเลอหลุดพ้นแล้ว ซึ่งหาได้มากมายในที่นี้ สำหรับผมยอมรับในเหตผลและความเป็นจริง แต่สำหรับคนบางจำพวกที่เบินหน้าหนีกับสิ่งที่ไม่ตรงจริตของตัวเองนั้น ผมหวังว่าเขาคงจะหลงเหลือความละอายใจบ้าง สักนิดก็ยังดีครับ

By: PaPaSEK
ContributorAndroidWindowsIn Love
on 14 August 2013 - 21:19 #610546 Reply to:610537
PaPaSEK's picture

ตกลงคือเป็นแค่ความเห็นเพื่อรอเหน็บความเห็นที่ตัวเองไม่ชอบเหรอครับเนี่ย เซ็งเป็ดครับ

By: rapeapach
Windows
on 16 August 2013 - 00:11 #611156 Reply to:610537

ผมแสดงมุมมองของผม และขอบคุณที่เสียเวลาอ่าน (ถือว่าผมประสบกความสำเร็จล่ะ)
ผมแค่มองอินเทอร์เน็ตไม่ต่างกับประวัติศาสตร์โลก เพราะมันเกิดจากคนกลุ่มแบบเดียวกัน

ป.ล. หากจะด่าว่าคนอื่นเป็นคนที่คิดว่าตัวเองเลิศเลอ หลุดพ้นแล้ว
ก็ไม่ต่างจากคนที่คิดว่าตัวเองพอร์เฟคจนตัดสินคนอื่นหรอกครับ
ไม่ได้มองว่าใคร หรือ ไม่ได้ชอบความเห็นไหนจนมากนัก
ความเห็นทุกความเห็นมีค่าครับ เพราะส่วนตัวผมชอบโลกที่มีประวัติศาสตร์ให้มอง

ติดท้ายคือ ถ้าไม่มีฝ่ายซ้ายหรือขวาจัด โลกจะไม่หมุนแบบมีสีสัน ก็เท่านั้นเอง
และ ถ้าไม่มีคนพวกนั้น โลกก็คงไม่มีวิวัฒนาการ

By: cutter27
AndroidWindows
on 15 August 2013 - 14:35 #610870 Reply to:609941
cutter27's picture

ไม่แปลกหรอครับที่เขาเลือกที่จะเงียบ
ยังดีกว่าเขาจะออกมาแถช่วยแบบข้างๆคูๆ

By: Patt37063
iPhoneAndroidWindows
on 13 August 2013 - 22:32 #609966

ต่อไปคงไว้ใจอะไรไม่ได้จะทำไรก้คงต้องใช้ผ่าน Tor

By: เดวิลแมน on 14 August 2013 - 09:34 #610156

ปิดกั้นแบบจีนกับเกาหลีเหนือไปเลยสิ ทำเฟสบุคเอง ทำไลน์เอง ทวีตเอง เสิร์ชเอนจิ้นเอง แล้วบล็อคพวกต่างประเทศให้หมด

By: Virusfowl
ContributorAndroidSymbianWindows
on 16 August 2013 - 20:28 #611612
  • มาตราการ > มาตรการ

@ Virusfowl

I'm not a dev. not yet a user.