Tags:
Topics: 
Node Thumbnail

ลองจิตนาการว่าไปทำงานแล้วคนที่บริษัทคอยจับตามองตลอดการทำงาน ตามจี้ทุกจุด แถมยังถามคำถามทุกครั้งที่พักกินข้าวหรือไปเข้าห้องน้ำ สถานการณ์แบบนี้สร้างความอึดอัดใจให้กับพนักงานแต่ก็ยังมีบริษัทจำนวนมากที่ใช้เครื่องมือวัดประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานด้วยการบันทึกเวลาที่ใช้คอมพิวเตอร์เพื่อดูว่าพนักงานทำงานอยู่หน้าจอตลอดหรือไม่ พร้อมประเมินออกมาเป็นคะแนนประสิทธิภาพเสร็จสรรพ

จริง ๆ แล้ว นอกจาก Productivity จะไม่สามารถวัดด้วยระยะเวลาที่พนักงานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ การพยายามเก็บข้อมูลการทำงานและพยายามควบคุมพนักงานอยู่ตลอดเวลาทำให้พนักงานเกิดความอึดอัดในการทำงาน บางคนถึงกับมองว่าการคอยติดตามตลอดแบบนี้เป็นพฤติกรรมที่ท็อกซิกและทำให้เกิดความอับอายด้วย

ในทางกลับกัน บริษัทควรปฏิบัติต่อพนักงานด้วยความเชื่อใจ ความโปร่งใส เพื่อให้พนักงานรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรและรู้สึกว่ามีองค์กรที่คอยสนับสนุนตนเองอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะช่วยสร้างแรงจูงใจในการทำงานและ Productivity ได้มากกว่า

No Description

นำข้อมูลที่สร้างแรงจูงใจมาให้ดู

ข้อมูลจากระบบติดตามพนักงานไม่ได้ผลเสมอไปเพราะคะแนนความ Productivity ที่แสดงผลออกมาไม่ได้แสดงภาพการทำงานของพนักงานโดยรวม แถมยังไม่สามารถวัดประสิทธิภาพในด้านอื่น ๆ เช่น การพัฒนาความสัมพันธ์ของพนักงานในทีม ความสามารถในการทำงานตามเป้าหมายที่วางไว้

กลับกันข้อมูลที่บริษัทควรเปิดเผยต่อพนักงานควรจะเป็นข้อมูลอย่างแผนผังองค์กรที่ช่วยให้พนักงานเข้าใจภาพรวมขององค์กรและเชื่อมต่อกับเพื่อนร่วมงานได้ หรือเปิดเผยมาตรฐานและเกณฑ์เงินเดือนที่ชัดเจนเพื่อช่วยให้พนักงานมองเห็นภาพการเติบโตในหน้าที่การงานอย่างชัดเจน ข้อสำคัญก็คือความโปร่งใสซึ่งหมายความว่าพนักงานทุกคนควรจะเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้อย่างเท่าเทียมกัน

การให้ข้อมูลแบบนี้จะทำให้บริษัทเห็นภาพว่าพนักงานต้องได้รับการสนับสนุนและให้ความรู้เรื่องอะไรบ้างเพื่อที่จะสามารถทำผลงานออกมาได้ดี พนักงานมีส่วนร่วมในกิจการของบริษัทในภาพกว้าง ๆ อย่างไร และได้เห็นว่าพนักงานแต่ละคนได้มีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันอย่างไรบ้างซึ่งต่างจากการมองแค่เวลาที่อยู่หน้าจอเพียงอย่างเดียว

สื่อสารอย่างลึกซึ้งและครอบคลุมช่วยเพื่อสร้างการรับรู้ร่วมกันในองค์กร

ในองค์กรหนึ่ง ๆ โดยเฉพาะองค์กรขนาดใหญ่ การสื่อสารเพื่อให้ทุกคนในบริษัทรับรู้ร่วมกันเป็นเรื่องยากทั้งต้องมีการประชุมทั้งบริษัท การประชุมในทีม การประชุมแบบ 1:1 ระหว่างผู้บริหารหรือหัวหน้างานและพนักงาน แถมยังต้องมีเครื่องมือสื่อสารที่มีประสิทธิภาพอย่าง Slack หรือ Google Workspace

สิ่งสำคัญคือผู้บริหารไม่ควรยึดติดกับตัวเลขคะแนนน แต่ควรวางแผนการสื่อสารที่แสดงถึงความตั้งใจที่จะให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการดำเนินธุรกิจของบริษัทไปด้วยเป้าหมายเดียวกันด้วยการสื่อสารแผนการของบริษัทออกไปให้ชัดเจน รวมทั้งผู้บริหารควรเป็นคนที่เข้าถึงได้และแสดงความไว้ใจให้พนักงานมีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วย

นอกจากนี้ ผู้บริหารยังควรทำให้เป้าหมายของบริษัทกับความต้องการของพนักงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยการประชุมร่วมกันทั้งบริษัทและการประชุมแบบ 1:1 ระหว่างพนักงานและผู้บริหารยังทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายรับรู้ตรงกัน และการประชุมแบบ 1:1 ยังทำให้หัวหน้างานมีโอกาสเทรนและแนะนำพนักงานเพื่อช่วยให้พนักงานมีความก้าวหน้าในการทำงานและบรรลุเป้าหมายในการทำงานหรือแม้แต่ได้เลื่อนตำแหน่งและได้รับโบนัสด้วย

ดังนั้น การสื่อสารจึงเป็นคีย์ที่ช่วยลดช่องว่างระหว่างพนักงานกับบริษัทเพื่อป้องกันไม่ให้พนักงานมีความรู้สึกว่าตนเองไม่เป็นส่วนหนึ่งของบริษัทด้วย

No Description

สร้างความโปร่งใสและความสัมพันธ์ของผู้บริหารกับพนักงาน

ผู้บริหารหรือหัวหน้างานในระดับสูงจำเป็นจะต้องเชื่อมั่นในความซื่อสัตย์และความถูกต้องของพนักงาน เพื่อให้พนักงานรู้สึกว่าได้รับการสนับสนุนและได้รับความเคารพจากบริษัท ซึ่งจะทำให้พนักงานรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมและเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท รวมทั้งเกิดความไว้วางใจต่อผู้บริหาร

นอกจากนี้ หัวหน้าหรือผู้นำในที่ทำงานควรเปิดกว้างเพื่อตอบคำถามหรือฟังความคิดเห็นของพนักงาน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้พนักงานมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และป้องกันไม่ให้พนักงานมีแนวคิดแบบ “พวกเรากับพวกเขา” (us versus them) ที่สร้างความรู้สึกว่าหัวหน้างานกับพนักงานเป็นคนละพวกกัน ซึ่งทำให้เกิดความขัดแย้งในที่ทำงาน การเลือกปฏิบัติ รวมทั้งอาจทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง

การสร้าง Productivity ในที่ทำงานจึงไม่ใช่การมองหาระบบวัดประสิทธิภาพการทำงานออกมาเป็นคะแนนที่ทำให้พนักงานต้องถูกจับตามองอยู่ตลอดเวลา แต่เป็นการก้าวข้ามการวัดคะแนนที่นอกจากจะไม่ได้วัดผลได้ในทุกแง่มุม ยังทำให้องค์กรขาดวัฒนธรรมองค์กรที่ดีและขาดความรู้สึกร่วมของพนักงานอีกด้วย

ส่วนใครที่กำลังมองหางานด้านสายเทคโนโลยี เข้ามาดูงานได้เลยที่ Blognone Jobs

ที่มา: Quart

Get latest news from Blognone