Tags:
Node Thumbnail

นักวิจัยจาก University of Pennsylvania ทำการทดลองปลูกถ่ายอุปกรณ์บนสมองของคนเพื่อช่วยแก้พฤติกรรมการกินไม่หยุดได้ผลเป็นครั้งแรกของโลก ซึ่งนี่เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามรักษาโรค Binge Eating Disorder (BED) หรือที่เรียกในภาษาไทยว่า "โรคกินไม่หยุด" ซึ่งเป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่งที่มีความสัมพันธ์กับความเครียดจนส่งผลให้มีพฤติกรรมการกิน

เมื่อปี 2017 มีงานวิจัยที่ระบุว่าสมองส่วน nucleus accumbens อาจสัมพันธ์กับพฤติกรรมบางอย่างที่ทำซ้ำจนเกินพอดีซึ่งรวมถึงพฤติกรรมการกินไม่หยุดหย่อน ในงานวิจัยดังกล่าวได้มีการปลูกถ่ายอุปกรณ์บนสมองส่วนนี้ของหนูทดลองและทำการปล่อยสัญญาณไฟฟ้าเพื่อขัดขวางสัญญาณสมองที่คอยกระตุ้นให้หนูกินอาหาร ซึ่งผลที่ได้พบว่าพฤติกรรมการกินไม่หยุดของหนูถูกหยุดได้จริงจากการทำงานของอุปกรณ์

มาในครั้งนี้การทดลองได้เปลี่ยนมาทำกับร่างกายคน โดยทีมวิจัยได้ผ่าตัดฝังอุปกรณ์ลงบนสมองของผู้ป่วยโรค BED ซึ่งมีภาวะน้ำหนักเกินจำนวน 2 ราย โดยอุปกรณ์ดังกล่าวจะคอยดักจับและขัดขวางสัญญาณสมองที่เกี่ยวกับความรู้สึกอยากกินอาหารของผู้ป่วย ทั้งนี้ทีมวิจัยได้ติดตามผลการทดลองเป็นระยะเวลานาน 6 เดือน

ในช่วงแรกนักวิจัยจะคอยตรวจสอบและเก็บข้อมูลรูปแบบ "สัญญาณความอยาก" ซึ่งหมายถึงสัญญาณคลื่นสมองของผู้ป่วยเมื่อรู้สึกอยากอาหาร เช่น ในตอนที่ผู้ป่วยเข้ามาในห้องทดลองและได้เห็นอาหารบุฟเฟต์แคลอรี่สูงหลากหลายชนิด จากนั้นทีมวิจัยก็ปรับตั้งค่าอุปกรณ์ที่ปลูกถ่ายไว้ให้คอยตรวจจับสัญญาณสมองที่สอดคล้องกับรูปแบบของ "สัญญาณความอยาก" ที่บันทึกไว้และคอยส่งสัญญาณไฟฟ้าเพื่อรบกวนทุกครั้ง

จากการติดตามผลเป็นเวลา 6 เดือน ทีมวิจัยพบว่าอุปกรณ์ทำงานได้ผลดีโดยไม่มีผลข้างเคียงต่อผู้ป่วย ตัวผู้ป่วยเองลดพฤติกรรมการกินไม่หยุดลงได้ และการเกิดความรู้สึก "สูญเสียการควบคุมตนเอง" (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งการของการกินแบบขาดสติ) ก็ลดน้อยลง โดยเฉลี่ยแล้วผู้ป่วยมีน้ำหนักตัวลดลงประมาณ 5 กิโลกรัมในช่วงระยะเวลาดังกล่าวโดยไม่ได้มีการปรับโภชนาการเข้ามาช่วย

อย่างไรก็ตามการทดลองนี้ยังเป็นแค่ก้าวแรกในการศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการใช้วิธีการกระตุ้นสมองเพื่อรักษาอาการของโรค ทีมวิจัยระบุว่ายังจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมให้แน่ชัดเพื่อแยกว่าสัญญาณสมองแบบไหนที่เป็น "สัญญาณความอยาก" โดยไม่สับสนกับสัญญาณสมองที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายรู้สึกหิวเพราะต้องการอาหารจริงๆ

สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมของงานวิจัยได้ที่นี่

ที่มา - New Atlas

No Description

Get latest news from Blognone