Firefox 85 ที่จะออกในเดือนมกราคม 2021 เป็นเบราว์เซอร์ตัวล่าสุดที่เริ่มใช้ cache partitioning แยกส่วนแคชของแต่ละเว็บไซต์ออกจากกัน เพื่อไม่ให้เว็บไซต์สามารถตรวจสอบได้ว่าเราเคยเข้าเว็บอื่นๆ หรือไม่
ฟีเจอร์นี้มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า Client-Side Storage Partitioning เป็นสเปกกลางที่พัฒนาโดยคณะทำงานด้านความเป็นส่วนตัวของ W3C เพื่อแก้ปัญหาช่องโหว่ของเบราว์เซอร์ที่มีพื้นที่เก็บแคชกลาง
ในระบบเดิม ทุกเว็บไซต์สามารถใช้สคริปต์ตรวจเช็คเบราว์เซอร์โหลดไฟล์ที่กำหนดเร็วแค่ไหน หากว่าเร็วแปลว่าแคชเอาไว้ และหากรู้ URL ของไฟล์บนเว็บไซต์อื่น ก็ตรวจสอบได้ว่าผู้ใช้เคยเข้าเว็บไซต์นั้นมาแล้ว
cache partitioning เข้ามาแยกส่วนแคชของแต่ละเว็บไซต์ออกจากกัน เพื่อไม่ให้เว็บไซต์สามารถเช็คแคชของเว็บอื่นได้ ข้อจำกัดของแนวทางนี้คือไฟล์ที่เว็บไซต์จำนวนมากใช้ร่วมกัน (เช่น Google Fonts) จะต้องดาวน์โหลดใหม่ทุกครั้งแรกที่เข้าเว็บใหม่
ฟีเจอร์นี้ถูกเริ่มใช้มาก่อนแล้วใน Chrome 86 ที่ออกเมื่อเดือนตุลาคม 2020 และ Safari เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2013 ทำให้ตอนนี้เหลือ Microsoft Edge เพียงตัวเดียวที่ยังไม่ใช้งาน (ซึ่งก็ไม่ยากนักเพราะอิงอยู่บน Chromium อยู่แล้ว)
ที่มา - Ars Technica
Comments
เพิ่งรู้ว่าเว็บอื่นสามารถใช้ script ตรวจแคชว่าเข้าเว็บไหนได้บ้าง
+1
ไม่รู้ว่าใช่มั้ย แต่ถ้าผมกดดูสินค้าอะไรก็ตาม มันมักจะมีโฆษณาสินค้านั้น ๆ ผุดขึ้นมาในหลาย ๆ Platform เลยนะครับ จะว่าเวบนั้นขายข้อมูลให้ก็อาจจะใช่ แต่มันจะเร็วขนาดนั้นเลยเหรอ
ลองปิด 3rd party cookies ดูครับ ช่วยได้ระดับนึง
"ระดับนึง" จริงๆ เพราะนี่โดนโฆษณากาแฟตามหลอกหลอนอยู่ครับ
+1 ความรู้ใหม่