Tags:
Node Thumbnail

Zhang Ping'an ประธานฝ่ายธุรกิจ Consumer Cloud Service ของ Huawei กล่าวเปิดงาน Huawei Developer Day APAC 2019 ที่สิงคโปร์ ด้วยคำถามที่ทุกคนสงสัยว่า "Huawei จะเอาตัวรอดอย่างไรจากสถานการณ์ในตอนนี้"

คำตอบของ Zhang คือ "พวกเราเตรียมพร้อมอยู่แล้ว" คำตอบนี้อาจดูอหังการ แต่เมื่อผลประกอบการไตรมาสล่าสุดออกมาดีเยี่ยม เสียงวิจารณ์ก็เงียบลง

แต่การขาด Google Mobile Services (GMS) ทำให้บริษัทต้องพยายามสร้าง Huawei Mobile Services (HMS) ขึ้นมาทดแทน ก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก และเป็นผลให้บริษัทต้องเร่งจัดงานสัมมนาสำหรับนักพัฒนา เพื่อสื่อสารกับนักพัฒนาทั่วโลกให้หันมาสนใจ HMS กันมากขึ้น

No Description

จุดเด่นของ Huawei ย่อมหนีไม่พ้นเรื่องฮาร์ดแวร์ บริษัทระบุว่าตัวเองเป็นรายเดียวในโลกที่มีทุกอย่าง นับตั้งแต่ชิปเซ็ตไปจนถึงคลาวด์ ทำให้เกิดการเชื่อมประสานกันระหว่างทุกหน่วยธุรกิจ (Chipset-Device-Cloud Synergy) บริษัทมีตั้งแต่ชิป 5G ของตัวเอง ออกแบบฮาร์ดแวร์เอง พัฒนาระบบปฏิบัติการเอง และมีบริการบนคลาวด์หลากหลายระดับให้นักพัฒนาเลือกใช้

ยอดขายฮาร์ดแวร์ของ Huawei ยังคงโดดเด่น สมาร์ทโฟนสามารถขายได้ถึง 200 ล้านเครื่องแล้วในปีนี้ (นับถึง 22 ตุลาคม 2019) ส่วนฮาร์ดแวร์ชนิดอื่นๆ ทั้งพีซี แท็บเล็ต หูฟัง และอุปกรณ์สวมใส่ ก็เพิ่มขึ้นถ้วนหน้า

No Description

เมื่อพูดถึงระบบปฏิบัติการแล้ว สารของ Huawei ในงานนี้ระบุชัดเจนว่าเป็น "Android" ที่ครอบด้วย EMUI ของตัวเอง และไม่มีพูดถึงระบบปฏิบัติการ Harmony OS (ซึ่งยังไม่พร้อม) แม้แต่น้อย

สิ่งที่เปลี่ยนไปหลังจากการโดนสหรัฐแบน คงมีแค่การสร้างระบบ HMS ของตัวเองขึ้นมาใช้แทน GMS (ซึ่งจะกล่าวถึงในบทความถัดไป) แต่ภาพรวมและทิศทางในยุทธศาสตร์ฮาร์ดแวร์ของ Huawei ยังคงเหมือนเดิม

No Description

Huawei เรียกยุทธศาสตร์ฮาร์ดแวร์ของตัวเองว่า "1+8+N" มันคือยุทธศาสตร์ที่มอง "สมาร์ทโฟน" เป็นศูนย์กลาง เพราะมาถึงตอนนี้คงได้ข้อสรุปแล้วว่า ไม่มีอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ชนิดใดสำคัญไปกว่าสมาร์ทโฟนอีกแล้ว เนื่องจากอยู่ติดตัวผู้ใช้ตลอดเวลา มันจึงเป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง ดังตัวเลข "1" ในยุทธศาสตร์นี้

แต่ Huawei ก็มองว่าคนเราจะมีอุปกรณ์รายล้อมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งบริษัทจัดกลุ่มมาทั้งหมด 8 ประเภท ได้แก่ พีซี, แท็บเล็ต, อุปกรณ์ที่มีจอภาพ, ลำโพงอัจฉริยะ, แว่นอัจฉริยะ, นาฬิกา, รถยนต์ และหูฟัง

ส่วนตัว N ตัวสุดท้ายหมายถึงคำว่า Endless คือรูปแบบการใช้งานที่หลากหลายไม่รู้จบ ไม่ว่าจะใช้ในแง่ความบันเทิง ใช้ในการทำงาน, การเดินทาง, สุขภาพและฟิตเนส เป็นต้น

แนวทางของ Huawei จึงเป็นการพัฒนาฮาร์ดแวร์ให้ดี ออกสินค้าให้ครอบคลุมฮาร์ดแวร์ทั้ง 9 (1+8) ประเภท ดังที่เราเห็นได้จากการพยายามทำตลาดหูฟังแบรนด์ FreeBuds และอุปกรณ์สวมใส่ (wearable) มากขึ้นในช่วงหลัง พยายามทำให้อุปกรณ์แต่ละประเภทสื่อสารกันได้เอง และร่วมมือกับนักพัฒนาหรือพาร์ทเนอร์ในสาขาต่างๆ สร้างแอพหรือบริการ N ชนิดที่สอดคล้องกับอุปกรณ์เหล่านี้ สามารถทำงานข้ามอุปกรณ์ได้อย่างไร้รอยต่อ

No Description

เครื่องมือที่ Huawei มีให้นักพัฒนาจึงเป็นแพลตฟอร์มซอฟต์แวร์ โดยเฉพาะฟีเจอร์ด้าน AI ในชื่อแบรนด์ HiAI ที่เข้ามาช่วยเติมเต็มเรื่องการทำงานข้ามอุปกรณ์

แพลตฟอร์มซอฟต์แวร์ของ Huawei ถูกออกแบบมาตั้งแต่ต้นให้ทำงานข้ามอุปกรณ์ได้ โดยไม่จำเป็นต้องอิงกับ Android เพียงอย่างเดียว ตัวอย่างคือ Ability Gallery ของ Huawei ซึ่งเป็นฟีเจอร์คล้ายกับ Google Assistant ของกูเกิล (แสดงข้อมูลสำคัญในรูปแบบการ์ด และสั่งงานด้วยเสียงได้) สามารถทำงานได้กับสมาร์ทวอทช์ หรือลำโพงอัจฉริยะของบริษัทเช่นกัน

No Description

Huawei ยังมีแอพแบบที่เรียกว่า Quick App เป็นแอพขนาดเล็กที่ใช้ได้ทันที ไม่จำเป็นต้องติดตั้ง (ไส้ในมันคือเว็บแอพเวอร์ชันของ Huawei เอง ที่ต่างจาก PWA อยู่บ้าง) ซึ่งบริษัทชูจุดเด่นว่าสามารถทำงานได้บนฮาร์ดแวร์ทุกตัวใต้ยุทธศาสตร์ 1+8+N ทำให้ไม่ต้องสร้างแอพใหม่สำหรับอุปกรณ์แต่ละประเภท

ปัจจุบัน Quick App มีให้ใช้งานประมาณ 1,000 ตัว แต่ยังจำกัดเฉพาะนักพัฒนาในจีนเท่านั้น ซึ่งบริษัทกำลังขยายตลาดออกมานอกจีนเช่นกัน

No Description

อีกประเด็นที่ Huawei กำลังผลักดัน เป็นเรื่องการพัฒนาให้อุปกรณ์แต่ละชนิดสื่อสารกันเองได้ ตัวอย่างที่นำมาโชว์คือกล้องดิจิทัลต้นแบบ ที่สามารถกดแชร์รูปไปยังสมาร์ทโฟนได้เลย โดยไม่ต้องลงแอพทั้งสองฝั่ง กระบวนการตั้งค่าก่อนส่งไฟล์จึงลดน้อยลงมาก ลดความลำบากในชีวิตลง

No Description

อีกตัวอย่างของการใช้อุปกรณ์หลากหลายประเภททำงานร่วมกัน คือแอพสอนโยคะ ที่ใช้กล้องเว็บแคมถ่ายภาพของเราไปวิเคราะห์ท่าทาง, แสดงผลขึ้นบนหน้าจอทีวี ส่วนการประมวลผลเกิดขึ้นในมือถือทั้งหมด (เป็น on-device AI) งานลักษณะนี้ มือถือไม่ได้ยุ่งอะไรกับส่วน input-output เลย เป็นการใช้งานผ่านอุปกรณ์ชิ้นอื่น แต่มือถือทำหน้าทีเป็นแค่ตัวประมวลผลให้เท่านั้น ซึ่ง Huawei บอกว่าเราจะเห็นการทำงานเชื่อมต่อกันลักษณะนี้มากขึ้นในอนาคต ตามยุทธศาสตร์ 1+8+N นั่นเอง

No Description

Get latest news from Blognone

Comments

By: delta on 14 November 2019 - 06:07 #1137214
delta's picture

ใช้สิ่งที่ตนถนัดสร้างอาณาจักรใหม่..อาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ยังล่มสลายได้ด้วยฝีมือคน หรือ ภัยธรรมชาติ..
การเริ่มต้นยากยิ่งกว่าการล่มสลาย..เมื่อเดินได้แล้ว ก็วิ่งได้เอง

By: Nolim
AndroidWindows
on 14 November 2019 - 12:47 #1137259

สถาณการ์ณอาจจะสร้างวีรบุรุษ แต่ต้องดูว่าจะล้มตามรอยรุ่นพี่ๆอย่าง Tizen FireOS หรือ Nokia X มั้ย

By: tom789
Windows Phone
on 14 November 2019 - 13:00 #1137264

เห็นแต่ สไลด์ พรีเซ็น ยังไม่เห็น แนวทางเลย ว่า ถ้าจะเร่ิม พัฒนา แอพ โดยใช้ hms อย่างเดียว ไม่พึ่ง gms ยังไง เข้าไป ใน เว็บ hms ก็งง สมัคร หัวเว้ยไอดี ก็ยังเป็นภาษาจีน

By: mk
FounderAndroid
on 14 November 2019 - 13:43 #1137278 Reply to:1137264
mk's picture

อันนี้ก็เห็นด้วยนะครับ คือ ตัวอย่างแอพที่ใช้ HMS ที่นำมาโชว์ในงานก็ยังเป็นแอพจีนล้วนครับ

By: IDCET
Contributor
on 14 November 2019 - 13:35 #1137273

กลัวจะทำออกมาแล้วเป็นแบบนี้อีกนะสิ


ความล้มเหลว คือจุดเริ่มต้นสู่ความหายนะ มีผลกระทบมากกว่าแค่เสียเงิน เวลา อนาคต และทรัพยากรที่เสียไป - จงอย่าล้มเหลว

By: -Rookies-
ContributorAndroidWindowsIn Love
on 14 November 2019 - 21:20 #1137344

โอ้โห วิสัยทรรศน์น่ากว้างไกลมาก และยากมาก ๆ ไปพร้อม ๆ กัน ถ้าสำเร็จนี่แทบจะครองโลกได้เลย


เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!