Tags:
Node Thumbnail

เมื่อเดือนที่ผ่านมาผมได้รับเชิญจากทางบริษัท SUPERNAP Thailand ผู้ดำเนินการศูนย์ข้อมูล SUPERNAP ระดับ Tier IV ที่มีผู้ใช้บริการหลายราย (multi-tenant) และรองรับการสื่อสารหลายช่องทาง (multi-carrier) รายเดียวในประเทศไทย จึงนำมาเล่าถึงกระบวนการทำงานที่ทาง SUPERNAP เล่าให้ฟังในการเยี่ยมชม

note: เนื่องจากเงื่อนไขการเยี่ยมชมมีกฎค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการห้ามพกเครื่องมือสื่อสารตลอดการเยี่ยมชม ทำให้จำเป็นต้องใช้ภาพประกอบบทความเป็นภาพทางการจากทางบริษัททั้งหมด

SUPERNAP คืออะไร

No Description

SUPERNAP เป็นแบรนด์ของศูนย์ข้อมูลในสหรัฐฯ ดำเนินการโดยบริษัท Switch โดยเริ่มจากศูนย์ข้อมูลที่ซื้อมาจากบริษัท Enron ในปี 2002 และปรับปรุงจนให้บริการเป็นศูนย์ข้อมูล SUPERNAP ในปี 2008

No Description

ระบบจ่ายไฟสามชุดแยกจากกัน

No Description

หลังคาสองชั้นที่ทางกันฝนและลมได้เท่ากันทั้งชั้นนอกชั้นใน

จุดเด่นที่สุดของศููนย์ข้อมูล SUPERNAP คือ การได้รับรองระดับ Tier IV ที่เป็นมาตรฐานการออกแบบและดำเนินการศูนย์ข้อมูลเพื่อให้แน่ใจว่าจะมีช่วงเวลาให้บริการไม่ได้ (downtime) ต่ำที่สุด เช่นระบบไฟฟ้าที่ต้องเป็น 2N+1 ป้องกันระบบไฟฟ้าล้มเหลว นอกจากการป้องกันตามปกติแล้ว SUPERNAP ยังเพิ่มแนวทางป้องกันปัญหาอีกหลายอย่าง เช่น การสร้างอาคารที่ทนต่อลมพายุได้ หรือการสร้างหลังคาสองชั้นที่เป็นหลังคาเต็มรูปแบบจริงๆ ไม่ใช่เพียงแค่ฝ้า ทำให้ต่อให้หลังคาชั้นนอกปลิวออกไปแล้ว หลังคาภายในก็ยังกันลมและฝนได้เหมือนเดิม โดยรวมแล้วทางบริษัทระบุว่าช่วงเวลาให้บริการ 18 ปี มีดาวน์ไทม์เพียงระดับนาโนวินาทีเท่านั้น

ลูกค้าส่วนมากของ SUPERNAP เป็นองค์กรขนาดใหญ่, สถาบันทางการเงิน, หรือผู้ให้บริการคลาวด์ เช่น AWS เองก็ใช้พื้นที่ศูนย์ข้อมูลของ SUPERNAP ด้วย อีกรายคือ eBay ที่ใช้พื้นที่มากจนร่วมกับ Switch สร้างศูนย์ข้อมูล SUPERNAP แบบใช้งานรายเดียว ขนาด 500MW โดยคาดว่าจะเปิดใช้งานช่วงปี 2020-2022

ในปี 2014 กองทุน ACDC ร่วมลงทุนกับ Switch ก่อตั้งบริษัท SUPERNAP International (เอาชื่อศูนย์ข้อมูลมาเป็นชื่อบริษัท) เพื่อเปิดบริการศูนย์ข้อมูล SUPERNAP นอกสหรัฐฯ โดยมีสิทธิ์ในการใช้เทคโนโลยีและสิทธิบัตรจาก Switch หลังจากนั้นก็ได้เลือกเปิดศูนย์ข้อมูลนอกสหรัฐฯ สองแห่งในอิตาลีและไทย

SUPERNAP ในไทย

ตัวศูนย์ข้อมูล SUPERNAP ในไทยนั้นใช้พิมพ์เขียวมาจากศูนย์ข้อมูล SUPERNAP 9 ในลาสเวกัส แม้จะมีขนาดเล็กกว่า ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราช คุณ Sunita Bottse ผู้จัดการใหญ่ของ SUPERNAP Thailand ระบุว่าเลือกที่นี่เพราะห่างจากจุดไฟเบอร์ขึ้นบกเพียง 27 กิโลเมตร, ตัวที่ดินสูงกว่าระดับน้ำทะเลเกิน 100 เมตรค่อนข้างปลอดภัยจากน้ำท่วม, และใกล้กับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

เช่นเดียวกับศูนย์ข้อมูล SUPERNAP อื่น ศูนย์นี้ระบบไฟฟ้า 3 ชุดแยกจากกัน แสดงอุปกรณ์แยกชัดเจนด้วยสี น้ำเงิน, แดง, เทา ขณะที่การสื่อสารมีการเชื่อมต่อไฟเบอร์จากผู้ให้บริการ 8 รายในไทย ตัวไฟเบอร์นั้นลากเข้ามายังศูนย์ข้อมูลสองเส้นทางทั้งด้านหน้าและด้านหลัง

No Description

ภาพตู้แรคใน SUPERNAP จะเห็นว่าด้านหลังตู้ถูกปิด เพื่อเป็นท่อนำลมร้อนขึ้นสู่ฝ้าอาคาร

ตัวอาคารตอนนี้มีอาคารเดียว ภายในแบ่งเป็นสองเซกเตอร์ และยังเปิดใช้เซกเตอร์เดียวในช่วงแรก แต่ที่ดินทั้งหมดเตรียมไว้สำหรับ 3 อาคาร รวม 6 เซกเตอร์ ตอนนี้ทั้งศูนย์มีความสามารถรับอุปกรณ์ใช้พลังงานรวม 20 เมกกะวัตต์ และจ่ายไฟได้ 33 กิโลวัตต์ต่อตู้แรค นับว่าสูงที่สุดในไทย

No Description

ฝ้าอาคารด้านบนรับลมร้อนส่งไปยังระบบปรับอากาศ หลังคาที่เห็นในภาพเป็น "หลังคาล่าง" ที่ด้านบนมีหลังคาอีกชั้น

การออกแบบอย่างหนึ่งที่ SUPERNAP ใช้คือระบบจัดการความร้อน T-SCIF ที่แยกลมเย็นออกจากลมร้อนอย่างชัดเจน โดยลมร้อนจะถูกดูดออกจากหลังตู้แรคแล้วดึงขึ้นฝ้าอาคารทันที ก่อนจะเวียนกลับไปยังระบบทำความเย็น การออกแบบเช่นนี้ทำให้ทาง SUPERNAP ต้องรอลูกค้านำเครื่องมาติดตั้งจนเสร็จสิ้นเสียก่อน จากนั้นจึงดูว่ามีปริมาณความร้อนปล่อยออกมาระดับใด แล้วจึงแพ็กปิดหลังตู้ไปทั้งหมดเพื่อเป็นท่อนำความร้อนขึ้นไปยังฝ้า แนวทางออกแบบนี้ทำให้ SUPERNAP มีความแปลกอย่างหนึ่งคือ พื้นของศูนย์ข้อมูลไม่ได้เป็นพื้นยก (raised floor) ตามที่นิยมกัน

การเดินทางไปเยี่ยมชม

ผมเองได้รับคำเชิญจากทาง SUPERNAP ให้ไปเยี่ยมชมศูนย์ข้อมูล และพบว่าแม้จะเป็นคำเชิญแต่กระบวนการก็ค่อนข้างมากกว่าการไปทำข่าวตามปกติ โดยต้องส่งเอกสารยืนยันตัวตนและเซ็นสัญญาไม่เปิดเผยข้อมูลจำนวนหนึ่ง

เมื่อเดินทางไปถึง เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (พกอาวุธ) จะมาเช็กชื่อทุกคนบนรถว่าตรงตามรายชื่อที่ได้รับมาหรือไม่ (ความรู้สึกเหมือนเด็กนักเรียน มีการขานชื่อ) ก่อนจะให้รถเข้าไปยังพื้นที่ทีละคัน หลังจากเข้าไปยังพื้นที่แล้ว ทุกคนต้องไปยืนหน้ากล้องวงจรปิด แสดงบัตรประชาชน และขานชื่อตัวเองให้เจ้าหน้าที่ในอาคารตรวจสอบ จึงเปิดให้เข้าไปรับบัตรผู้เยี่ยมชมได้

No Description

เมื่อก้าวเข้ามาในตัวอาคาร เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจะแตะบัตรให้เข้าประตูหมุนไปทีละคน โดยห้องต่อจากนั้นคือห้อง man-trap ที่ทุกคนต้องยืนรออยู่ก่อน ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะเปิดประตูให้เข้าไปยังส่วนสำนักงานอีกทีหนึ่ง

การเดินเยี่ยมชมในสำนักงานจะมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประกบหน้าหลังตลอดเวลาการเยี่ยมชม ทุกคนต้องทิ้งโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เอาไว้ในส่วนสำนักงาน ไม่สามารถนำเข้าไปยังตัวศูนย์ข้อมูลได้ และการเยี่ยมชมศูนย์ข้อมูลมีเงื่อนไขเพิ่มเช่น ห้ามพิงกำแพง หรือแตะอุปกรณ์ใดๆ

ระหว่างที่คณะเดินไป ผมพบว่าเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยนั้นจะมาประจำคณะเยี่ยมชมถึง 3 คน คนหนึ่งเดินนำไปข้างหน้าเสมอ คนหนึ่งดูว่ามีใครทำอะไรผิดปกติหรือไม่ และอีกคนปิดท้ายคณะ กระบวนการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดนี้เป็นประเด็นหนึ่งที่ SUPERNAP เชื่อว่าเหนือกว่าผู้ให้บริการรายอื่น เพราะเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทั้งหมดเป็นพนักงานเต็มเวลาของบริษัท และส่วนมากเป็นทหารหรือตำรวจมาก่อน และก่อนจะเริ่มงานต้องไปฝึกอบรมกับทาง Switch

การไปเยี่ยมชมศูนย์ข้อมูลโดยปกติคงไม่ใช่เรื่องที่ทำกันบ่อยๆ นัก แต่คุณ Sunita ก็ระบุว่าผู้สนใจสามารถขอนัดเข้าไปเยี่ยมชมได้

Get latest news from Blognone

Comments

By: absulation
AndroidWindows
on 11 December 2018 - 10:04 #1086395
absulation's picture

ติดอาวุธ เสียด้วย

By: IDCET
Contributor
on 11 December 2018 - 11:13 #1086437 Reply to:1086395

น่าจะแค่ปืนพกธรรมดากับลูกซอง แต่ถ้าได้รับอนุญาตใช้อาวุธหนักขึ้นมาหน่อยก็คงเป็น SMG หรือ Assault Rifle หละมั้ง เหมือนที่ใช้งานในเหมืองทองคำ

ปล. ถ้าจะดี หากมีโรงไฟฟ้าของตัวเอง (อาจเป็นพลังงานขยะหรือก็าซธรรมชาติ ถ่านหินไม่ดีกับสภาพแวดล้อม) + ระบบเครือข่ายไร้สายกรณี Fiber เสียหาย แบบตั้งเสาโทรคมนาคมใกล้ศูนย์ Datacenter เลย คิดว่าอนาคตต้องมีนะ


ความล้มเหลว คือจุดเริ่มต้นสู่ความหายนะ มีผลกระทบมากกว่าแค่เสียเงิน เวลา อนาคต และทรัพยากรที่เสียไป - จงอย่าล้มเหลว

By: pruet
WriterAndroidRed HatUbuntu
on 11 December 2018 - 10:26 #1086407
pruet's picture

"สร้างศูนย์ข้อมูล SUPERNAP แบบใช้งานรายเดียว ขนาด 500mW " ตรง 500mW แปลว่าอะไรนะครับ?

By: Holy
ContributorAndroidWindowsIn Love
on 11 December 2018 - 10:55 #1086425 Reply to:1086407
Holy's picture

ตอนนี้ทั้งศูนย์มีความสามารถรับอุปกรณ์ใช้พลังงานรวม 20 เมกกะวัตต์ และจ่ายไฟได้ 33 กิโลวัตต์ต่อตู้แรค นับว่าสูงที่สุดในไทย

น่าจะดูที่อัตราการจ่ายพลังงานครับ คงเป็น 500 เมกกะวัตต์

By: icez
ContributoriPhoneAndroidRed Hat
on 11 December 2018 - 11:14 #1086439 Reply to:1086425

สงสัยว่าถ้าเป็นเมกกะวัตต์จริงควรเขียนเป็น MW รึเปล่าฮะ เพราะ mW มันจะพาลอ่านเป็นมิลลิวัตต์เอา

By: Holy
ContributorAndroidWindowsIn Love
on 11 December 2018 - 12:57 #1086476 Reply to:1086439
Holy's picture

ผมก็สงสัยเหมือนกันครับ แต่คิดว่าคงเขียน m ผิดมากกว่าจะหมายถึงหน่วยอื่น

By: lew
FounderJusci's WriterMEconomicsAndroid
on 11 December 2018 - 14:08 #1086494 Reply to:1086425
lew's picture

แก้ไขแล้วนะครับ


lewcpe.com, @wasonliw

By: panurat2000
ContributorSymbianUbuntuIn Love
on 11 December 2018 - 14:12 #1086496 Reply to:1086407
panurat2000's picture

ขณะทีการสื่อสารมีการเชื่อมต่อไฟเบอร์

ขณะที => ขณะที่

เช่น AWS เองก็ใช้พิ้นที่ศูนย์ข้อมูลของ SUPERNAP ด้วย

พิ้นที่ => พื้นที่

แบบใช้งานรายเดียว ขนาด 500mฃMW

500mฃMW ?

เมื่อเดือนทางไปถึง เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (พกอาวุธ) จะมาเช็คชื่อทุกคน

เดือนทาง => เดินทาง

เช็คชื่อ => เช็กชื่อ

By: lew
FounderJusci's WriterMEconomicsAndroid
on 11 December 2018 - 14:43 #1086501 Reply to:1086496
lew's picture
By: banky118
iPhone
on 11 December 2018 - 11:54 #1086450
banky118's picture

โอ้ บ้านเรามี Tier IV ได้แล้วหรือเนี่ย

นึกว่าทำไม่ได้ในบ้านเราซะอีก เพราะต้องมีไฟฟ้าภายนอกจากสองแหล่ง (บ้านเรามีการไฟฟ้าเจ้าเดียว)

By: IDCET
Contributor
on 11 December 2018 - 11:57 #1086451 Reply to:1086450

ผมว่าไม่ใช่นะครับ ยังมี RATCH, EGCO ฯลฯ ที่ผลิตไฟฟ้าร่วมกันครับ ทั้งผลิตป้อนครัวเรือนและนิคมอุตสาหกรรมเลยครับ


ความล้มเหลว คือจุดเริ่มต้นสู่ความหายนะ มีผลกระทบมากกว่าแค่เสียเงิน เวลา อนาคต และทรัพยากรที่เสียไป - จงอย่าล้มเหลว

By: banky118
iPhone
on 11 December 2018 - 15:27 #1086507 Reply to:1086451
banky118's picture

เป็นคำถามที่ผมสงสัยมานานแล้วครับ

ทุกวันนี้เราสามารถซื้อไฟฟ้าโดยตรง ที่ไม่ได้มาจากการไฟฟ้าได้แล้วเหรอครับ?

นึกว่ายังเป็นการธุรกิจผูกขาดเฉพาะการไฟฟ้า

เห็นตัวอย่างเคสโซล่าเซล ก็ยังต้องขายคืนกลับไปให้การไฟฟ้าเช่นกัน

By: Holy
ContributorAndroidWindowsIn Love
on 11 December 2018 - 15:33 #1086508 Reply to:1086507
Holy's picture

Solar Cell ที่ต้องขายคืนเพราะมันไม่คุ้มครับ อย่างแรกคือต้นทุนต่อหน่วยสูงกว่าซื้อไฟจากการไฟฟ้า ทุกวันนี้เกือบทั้งหมดผลิตแล้วขายให้การไฟฟ้า แล้วซื้อคืนจากการไฟฟ้ายังกำไรกว่าผลิตใช้เอง ยังไม่นับว่าถ้าจะใช้พลังแสงอาทิตย์ 24 ชม. ต้องลงทุนระบบแบตอีก

ส่วนเรื่องซื้อไฟโดยตรง ที่ผมเคยเห็นคือโรงงานใหญ่ๆ ตั้งโรงไฟฟ้า Biomass กากอ้อย แกลบ etc. ขายให้บ. ในกลุ่มกันเอง เหลือก็ขายการไฟฟ้านี่พอมีครับ หรือบางแห่งขายให้นิคมเดียวกันก็น่าจะมี

By: Architec
ContributorWindows PhoneAndroidWindows
on 11 December 2018 - 18:10 #1086553 Reply to:1086507

มีโรงไฟฟ้าในนิคมครับ แพงกว่าของการไฟฟ้านิดนึงแต่การทำเรื่องง่ายกว่ามาก บางแห่งตรวจสามวันลากสายไฟเข้าระบบได้เลย

By: iDan
ContributorAndroidSUSEUbuntu
on 11 December 2018 - 12:46 #1086473 Reply to:1086450

WHA2 แถบนั้นมีโรงไฟฟ้าทั้ง WHAUP, GULF และ BGRIMM ความมั่นคงทางไฟฟ้าคิดว่ายังไงก็ดับยากครับ

By: IDCET
Contributor
on 11 December 2018 - 13:04 #1086480 Reply to:1086473

ถ้าสำหรับผลิตไฟให้นิคมนี่ ยังมีเหลือไปจ่ายให้กับการไฟฟ้าหรือเปล่าหว่า หรือเป็นโรงไฟฟ้าสำหรับนิคมโดยเฉพาะเนี่ย ถ้าสามารถเลี้ยงเข้าไฟครัวเรือนได้ก็น่าจะช่วยแก้ปัญหาด้านพลังงานได้ระดับหนึ่งนะ


ความล้มเหลว คือจุดเริ่มต้นสู่ความหายนะ มีผลกระทบมากกว่าแค่เสียเงิน เวลา อนาคต และทรัพยากรที่เสียไป - จงอย่าล้มเหลว

By: iDan
ContributorAndroidSUSEUbuntu
on 11 December 2018 - 13:07 #1086482 Reply to:1086480

ปัจจุบัน GULF กับ BGRIMM เขาก็มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPP)กับกฟผ.อยู่นะครับ นั้นเป็นเหตุผลที่ทำไม GPSC อยากซื้อ GLOW

By: lew
FounderJusci's WriterMEconomicsAndroid
on 11 December 2018 - 14:10 #1086495 Reply to:1086450
lew's picture

มีประเด็นว่าเขาต้องสร้างสถานีจ่ายไฟไว้เองอีกจุดหนึ่งครับ (ไม่เปิดเผยว่าตรงไหน)

ส่วนเรื่องแหล่งไฟเข้าสถานีนี่ไม่ได้บอกไว้

อ่อ แต่เขายอมรับว่าเขาน่าจะไม่ใช่ Tier IV "ที่แรก" นะครับ มีองค์กรขนาดใหญ่บางแห่งสร้างใช้เองไปก่อนแล้ว เขาถึงต้องบอกว่าของเขาเป็น multi-tenant


lewcpe.com, @wasonliw

By: wasbone on 11 December 2018 - 15:13 #1086506

น่าจะมี CDN ดังๆ มาลงเยอะๆ นะครับ เห็นลากสายเข้า ISP หลายที่..

ส่วนลูกค้าที่เขาประกาศไว้หน้าเว็บฯ อยากให้ AWS, Level3 มาลง CDN POP ก็ดี..

ส่วน Cloud อยากให้ OVH มาครับ..

ส่วนราคา Colocation ไม่ต้องพูดถึง.. ไม่กล้าเมลไปถามเลย.. ราคา 1 U คงไม่มี ระดับนี้..