Tags:
Node Thumbnail

โรงพยาบาลศิริราชแถลงข่าวความสำเร็จการผ่าตัดปลูกถ่าย 3 อวัยวะให้ผู้ป่วยในคราวเดียวได้สำเร็จเป็นรายแรกของเอเชีย โดยผู้ป่วยได้รับหัวใจ, ตับ และไตใหม่ ถือเป็นรายที่ 15 ของโลกที่ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะใหม่เช่นนี้สำเร็จ

ผู้ป่วยรายดังกล่าวเป็นชายวัย 26 ปี ชื่อนายรชานนท์ มีอาการป่วยด้วยโรคไตตั้งแต่อายุ 8 ขวบ แม้จะพยายามควบคุมอาการด้วยยาจนอาการทรงตัวได้ระยะหนึ่ง แต่ภายหลังก็เกิดไตวายระยะร้ายแรงจนต้องรักษาด้วยการฟอกเลือดอยู่เสมอ ต่อมาผู้ป่วยรายนี้ถูกตรวจพบว่ามีภาวะหัวใจล้มเหลวเนื่องจากกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง ซึ่งส่งผลกระทบจนเกิดภาวะตับแข็งตามมาด้วย

การเจ็บป่วยแทรกซ้อนทำให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตประจำวันอย่างยากลำบาก กระทั่งวันที่ 24 สิงหาคมเมื่อปีก่อน ผู้ป่วยได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช และได้เข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะในวันที่ 3 ธันวาคม

ทีมแพทย์ใช้เวลาผ่าตัด 12 ชั่วโมง 5 นาที ผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ, ตับ และไตที่ได้รับจากผู้บริจาคอวัยวะให้กับผู้ป่วยตามลำดับ ซึ่งหลังการผ่าตัด ทีมแพทย์ตรวจชิ้นเนื้อหัวใจและไม่พบการต่อต้านของหัวใจใหม่ ในขณะที่การตรวจตับด้วยคลื่นอัลตราซาวนด์ก็พบว่ามีเลือดมาเลี้ยงตับได้ดี คงมีเพียงไตใหม่ที่ในตอนแรกเริ่มยังทำงานได้ไม่ดีนัก แต่ก็ค่อยๆ ดีขึ้นจนผู้ป่วยปัสสาวะได้ตามปกติในเวลาต่อมา จนกระทั่งวันที่ 23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แพทย์ได้ประเมินอาการและอนุญาตให้ผู้ป่วยเดินทางกลับบ้านได้

การผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะมากกว่า 1 อย่างให้กับผู้ป่วยในคราวเดียวนั้นทำได้สำเร็จกันมานานหลายปีแล้ว โรงพยาบาลศิริราชเองก็ทำได้เป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2548 โดยเป็นการผ่าตัดปลูกถ่ายตับและไตให้กับผู้ป่วย และจนถึงปัจจุบันทางโรงพยาบาลศิริราชทำการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ 2 อย่างให้ผู้ป่วยในคราวเดียวมาแล้วทั้งสิ้น 25 ครั้ง

แต่การผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ 3 อย่างในคราวเดียวนั้นเกิดขึ้นน้อยมาก โดยนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 มีรายงานการผ่าตัดสำเร็จในระดับนี้เพียง 14 ครั้งในสหรัฐอเมริกา โดยยังไม่พบว่ามีรายงานการผ่าตัดปลูกถ่าย 3 อวัยวะได้สำเร็จมาก่อนในทวีปเอเชีย จึงถือได้ว่ากรณีการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ, ตับ และไตของโรงพยาบาลศิริราชในครั้งนี้ ถือเป็นความก้าวหน้าที่ทำได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในระดับทวีป

ที่มา - Workpoint News, Voice TV, ไทยรัฐ

Get latest news from Blognone

Comments

By: lingjaidee
ContributoriPhoneAndroid
on 4 May 2018 - 01:34 #1047741
lingjaidee's picture

หลังข่าว รพ.รามาฯ ประสบความสำเร็จกับธาลัสซีเมีย ก็เป็นข่าว ศิริราช ช่วงนี้หมอไทยเก่งรัวๆ น่าชื่นชม


my blog

By: Hadakung
iPhoneWindows PhoneAndroidWindows
on 4 May 2018 - 06:14 #1047750

คือมันจะมีคนโชคดีถึงขนสดได้อวัยวะสำคัญสามชิ้นพร้อมกันผมว่าปาฏิหารย์กว่าผ่าตัดสำเร็จอีกครับโดยเฉพาะหัวใจบริจาคยังไงอะอีกคนต่องตายเลยนะให่กันได้หรอ?

By: pon456123 on 4 May 2018 - 06:55 #1047751 Reply to:1047750

บริจาคหัวใจมีมานานแล้วครับ โดยรับมาจากผู้บริจาคที่เสียชีวิตครับ

By: alonerii
AndroidUbuntuWindows
on 4 May 2018 - 10:29 #1047782 Reply to:1047751

ผมว่าเขาหมายถึงการที่จะได้ หัวใจ ตับ และไตมาพร้อม ๆ กันน่ะครับ

ไอ้เรื่องมีการบริจาคหัวใจอันนั้นใคร ๆ ก็คงรู้อยู่แล้ว

By: Hadakung
iPhoneWindows PhoneAndroidWindows
on 4 May 2018 - 13:33 #1047817 Reply to:1047751

ผมเลยสงสัยครับว่าวิธีการทำให้หัวใจคนที่ตายแล้วให้เต้นมันทำไงอะครับ แล้วมันจะหยุดเต้นไหมเพราะคนที่ให้ก็ตายแล้วหัวใจมันก็ต้องหยุดเต้นใช่ไหมเขาจะทำไงไม่ให้มันหยุดเหมือนคนเก่า

By: pepporony
ContributorAndroid
on 4 May 2018 - 13:45 #1047822 Reply to:1047817

ผมเคยอ่านเจอแต่บริจาคจากคนที่สมองตาย อวัยวะยังทำงาน

แต่ถ้าคนที่ตายเลยแบบหยุดไปแล้วเห็นว่ามีเวลาแค่ 90 นาทีในการเอาอวัยวะออกมา ส่วนจะทำให้มันเต้นอีกครั้ง เดาว่าออกซิเจนล่ะมั้งครับ เพราะที่หยุดก็คือไม่ได้รับออกซิเจน

By: 255BB
Android
on 4 May 2018 - 07:08 #1047753 Reply to:1047750

มาจากการบริจาคอวัยวะไงครับ
ปกติการบริจาคจะมี 3 แบบคือ
1.บริจาคอวัยวะสำคัญๆ
2.บริจาคร่างกายเป็นอาจารย์ใหญ่
3.บริจาคแก้วตา
บริจาคแบบนี้ได้บุญกุศลมหาศาลครับ ดีกว่าตายแล้วเผาทิ้งเป็นขี้เถ้า

By: pepporony
ContributorAndroid
on 4 May 2018 - 07:59 #1047755 Reply to:1047753

ใช่ครับ แต่คงหมายถึงว่า ได้พร้อมกันหมดทุกอวัยวะ

เพราะผมคิดว่า อวัยวะนึง ก็จะมีเข้าคิวรอแถวนึง อีกอวัยวะนึงก็อีกแถว

By: icez
ContributoriPhoneAndroidRed Hat
on 4 May 2018 - 08:17 #1047756 Reply to:1047755

ผมเดาว่าน่าจะมาจากผู้บริจาคท่านเดียวเลยครับ + โอกาสอวัยวะเขเากันได้มันน้อยอยู่แล้วด้วย

By: ปาโมกข์
iPhoneAndroidWindows
on 4 May 2018 - 10:06 #1047777
ปาโมกข์'s picture

ผมว่าก็ดีนะ
รวมข่าววิทยาศาสตร์กับข่าวเทคโนโลยีไอทีมาไว้ในเว็บเดียวกัน
เพราะสองเรื่องนี้ มันก็เป็นเรื่องเดียวกัน แยกกันไม่ขาดหรอก
โดยเฉพาะต่อไปแพทย์จะใช้ AI มารักษาอีก