Tags:
Node Thumbnail

ไมโครซอฟท์เปิดเผยว่า ไมโครซอฟท์ได้พัฒนาต้นแบบของศูนย์ข้อมูลยุคที่สี่ ที่เรียกสั้นๆว่า Gen 4 หรือชื่อเต็มคือ Generation 4 Modular Data Centers โดยไมโครซอฟท์วางแผนไว้ว่าจะใช้ต้นแบบดังกล่าวในการสร้างศูนย์ข้อมูลที่จะเกิดขึ้นอีกหลายแห่งใน 5 ปีข้างหน้านี้ เพื่อรองรับการประมวลผลแบบกลุ่มเมฆ และบริการแบบกลุ่มเมฆ* อาทิเช่น Hotmail, Live Search, Virtual Earth และ Azure เป็นต้น มากไปกว่านั้น ไมโครซอฟท์กล่าวว่าจะเปิดเผยข้อมูลของต้นแบบนี้ต่อสาธารณะ และบริษัทอื่นๆสามารถนำต้นแบบดังกล่าวไปพัฒนาศูนย์ข้อมูลยุคที่สี่ของตนเองได้อีกด้วย

ลักษณะของศูนย์ข้อมูลยุคที่สี่ ได้แก่ ถอดและประกอบได้ง่าย, ย้ายที่ไปติดตั้งตำแหน่งอื่นที่อยู่ห่างไกลได้สะดวก, ประกอบได้อย่างรวดเร็ว, ยืดขยายศูนย์ข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ, และประหยัดต้นทุน โดยเท่าที่ผมอ่านหลักการของต้นแบบศูนย์ข้อมูลยุคที่สี่ ผมคิดว่าวิธีการนี้เหมือนกับวิธีการก่อสร้างสำเร็จรูปหรือเรียกสั้นๆกันว่า พรีแฟบ (Prefabs หรือเต็มๆคือ Prefabricated building) ท่านลองดูตัวอย่างภาพการสร้างบ้านแบบพรีแฟบ หรือบ้านแบบประกอบสำเร็จรูปได้ที่ Wikipedia อย่างไรก็ดี ศูนย์ข้อมูลยุคที่สี่ อันเป็นศูนย์ข้อมูลแบบพรีแฟบตามที่ไมโครซอฟท์ออกแบบไว้มีความแปลกประหลาดพอควร นั่นคือ ตั้งบนสถานที่ที่มีชั้นเดียวและไม่มีหลังคา

จากแหล่งข่าวกล่าวว่า ศูนย์ข้อมูลยุคที่สี่เป็นวิวัฒนาการแบบถอนรากถอนโคน และต้องการความร่วมมือจากเหล่าบรรดาโรงงานผู้ผลิต เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมาตรฐาน ให้สามารถประกอบเข้ากันและทำงานร่วมกันได้ โดยผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะถูกพัฒนาเป็นชิ้นส่วนหรือโมดูลที่ถอดและประกอบได้ และเคลื่อนย้ายได้ง่าย อาทิเช่น โมดูลสำหรับประกอบระบบเซิรฟ์เวอร์, โมดูลสำหรับประกอบระบบปั่นไฟ, โมดูลสำหรับประกอบระบบทำความเย็น, และโมดูลระบบรักษาความปลอดภัย เป็นต้น โดยโมดูลต่างๆเหล่านี้ควรประกอบให้เสร็จสิ้นให้เกิดเป็นระบบพร้อมใช้งาน ก่อนที่จะนำไปติดตั้ง​ ณ สถานที่ตั้งจริงของศูนย์ข้อมูล

จากวีดีโอต้นฉบับที่ MSN Video หรือวิดีโอจาก YouTube ตามที่แสดงไว้ด้านบน ได้สาธิตหลักการของศูนย์ข้อมูลยุคที่สี่ที่เรียกว่า Container Assembly ในวีดีโอยกตัวอย่างการประกอบโมดูลของเซิร์ฟเวอร์ ซึ่งแสดงให้เห็นเป็นตู้เรียงกันหลายสิบตู้ แต่ละตู้อาจจะบรรจุเซิร์ฟเวอร์แบบเบลดที่มีจำนวนโปรเซสเซอร์หลายร้อยหรือหลายพันคอร์ จากนั้น ตู้เหล่านี้จะถูกขนไปวางบนรถบรรทุกเพื่อลำเลียงไปติดตั้งยังตำแหน่งของศูนย์ข้อมูลที่อยู่ไกลออกไป ซึ่งเป็นไปได้ว่า รถบรรทุกแต่ละคันอาจลำเลียงอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่แตกต่างกัน (ดูวิดีโอประกอบแล้วจะเข้าใจมากขึ้น) และอาจจะถูกประกอบมาจากโรงงานที่แตกต่างกันก็ได้

สาเหตุที่ศูนย์ข้อมูลประเภทนี้มีชั้นเดียวก็เพื่อให้รถบรรทุกหรือรถขนของสามารถลำเลียงชิ้นส่วนต่างๆไปติดตั้งได้สะดวก และการที่ไม่มีหลังคาก็สามารถประหยัดพลังงานไฟฟ้าสำหรับอุปกรณ์ทำความเย็นหรือเครื่องปรับอากาศ ดังนั้น สถานที่ติดตั้งศูนย์ข้อมูลคงต้องมีอากาศเย็นและอุณหภูมิไม่เปลี่ยนแปลงมาก ส่วนข้อมูลจาก LooseBolts กล่าวว่า การไม่มีหลังคานั้น อุปกรณ์ต่างๆจะต้องทนต่ออุณหภูมิภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ ซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ 10 - 35 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ สถานที่ตั้งของศูนย์ควรเป็นที่โล่งกว้างเพื่อการขยายอาณาบริเวณของศูนย์ข้อมูลได้อีกต่อไป

สำหรับกลยุทธ์ในตลาดการประมวลผลแบบกลุ่มเมฆ เท่าที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์ได้เพิ่มเซิร์ฟเวอร์กว่า 10,000 เครื่องเข้าไปในศูนย์ข้อมูลที่มีอยู่เดิมทุกๆ 1 เดือน แต่แผนการที่ยิ่งใหญ่ไปกว่านั้นคือ ในระยะเวลาไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ไมโครซอฟท์วางแผนสร้างศูนย์ข้อมูลขนาดยักษ์ถึง 20 แห่ง โดยแต่ละแห่งจะลงทุนด้วยงบกว่า 1 พันล้านเหรียญ และคาดว่าถ้าพัฒนาให้ได้ตามแบบศูนย์ข้อมูลยุคที่สี่แล้ว จะสามารถลดเวลาในการพัฒนาให้เสร็จภายในครึ่งปีถึงหนึ่งปี และประหยัดงบไปกว่า 40%

* คำว่า บริการแบบกลุ่มเมฆ (Cloud services) หมายถึง ระบบสารสนเทศหรือบริการสารสนเทศที่ถูกประมวลผลโดยการประมวลผลแบบกลุ่มเมฆ (Cloud Computing)

ที่มา - COMPUTERWORLD, VIRTUALIZATION REVIEW และข้อมูลแบบละเอียดยิ่งขึ้นจะกล่าวไว้ที่ LooseBolts โดยจะกล่าวถึงศูนย์ข้อมูลในยุคก่อนหน้ายุคที่สี่ไว้ที่หัวข้อสุดท้าย

Get latest news from Blognone

Comments

By: mk
FounderAndroid
on 9 December 2008 - 06:46 #74924
mk's picture

คิดว่าไอเดียน่าจะคล้ายๆ กับ Blackbox ของซันนะครับ

By: cblue on 9 December 2008 - 06:54 #74925 Reply to:74924

คิดว่าใช่เหมือนกันครับ

ออกมาช้าไปรึปล่าว? หรือซันออกเร็วไป

By: audy
AndroidUbuntu
on 9 December 2008 - 08:13 #74929 Reply to:74925
audy's picture

ตามสไตล์เล็กนุ่มครับ ต้องมาทีหลังนิดนึง

By: mk
FounderAndroid
on 9 December 2008 - 08:25 #74934 Reply to:74925
mk's picture

ผมกลับไปอ่านย้อนอีกรอบ คิดว่าถึงวิธีการจะคล้ายๆ แต่กลุ่มเป้าหมายคนละเรื่องเลย

ของซันเหมือนเป็นบ้านขนย้ายง่าย ที่เราเห็นเวลาน้ำท่วม เอาไว้อยู่ชั่วคราว

ของไมโครซอฟท์เหมือนเป็นเทคโนโลยีการสร้างคอนโดแบบเร็วๆ ทำเป็นบล็อคๆ แล้วอัดลงโครงสร้าง ปั๊มทีเป็นตึกๆ

จุดชี้ขาดอาจเป็นว่าใครมองตลาดแม่นกว่ากัน ไม่ใช่ไอเดียใครมาก่อนกัน

By: javaboom
WriteriPhone
on 9 December 2008 - 10:01 #74948 Reply to:74934
javaboom's picture

ใช่แล้วครับ คล้ายหลักการ BlackBox ของซัน หรือ Sun Modular Data Center

แต่จริงๆหลักการของซัน ไมโครซอฟท์ก็เคยทำมาแล้ว แต่อาจจะไม่ได้ประกาศข่าวโจ่งแจ้ง จากแหล่งข่าวที่ LooseBolts ได้กล่าวถึงศูนย์ข้อมูลที่ชิคาโกว่าได้อยู่ในช่วงก่อสร้างตามแบบศูนย์ข้อมูลยุคที่ 3 หรือ Gen 3 อ่านประกอบได้ประมาณย่อหน้าเกือบสุดท้ายครับ โดย Gen 3 มีวัตถุประสงค์คือ ประกอบได้เป็นโมดูล แล้วก็ประหยัดพลังงานไฟฟ้า

Gen 1 คือ ศูนย์ข้อมูลแบบดั้งเดิมและมีให้เห็นทั่วไป ส่วน Gen 2 จะกล่าวถึงการลดต้นทุน และประหยัดพลังงาน และแล้ว Gen 3 จะเน้นไปที่การถอดประกอบได้เป็นโมดูลได้สะดวกขึ้น และต้องประหยัดพลังงานด้วย ลดการก่อ CO2 ให้มากๆก็ต้องประหยัดไฟฟ้าได้มากด้ย หากเทียบกับศูนย์ข้อมูลของไมโครซอฟท์ยุค Gen 3 ที่มีอยู่เดิม ก็ต้องยอมรับเลยว่าไอเดีย Modular Data Center เกิดมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่เกิดก่อนหรือหลัง BlackBox อันนี้ผมไม่มี Timeline ครับ อย่างไรก็ดี BlackBox ของซันเริ่มคิดค้นตอน 2006 อาจจะเป็นเจ้าต้นๆที่คิดเรื่องนี้ แต่ BlackBox ส่งออกตลาดเมื่อมกราคม ปี 2008 นี่เอง จาก Wikipedia กูเกิลอาจจะเป็นรายแรกที่คิด Gen 3 เมื่อปี 2005 และก็เลิกล้มโครงการ แต่ว่ากูเกิลเคยจดสิทธิบัตรไว้แล้ว และก็ประกาศไปในเดือนตุลาคมปี 2007

จากวิดีโอ ไมโครซอฟท์สาธิตการติดตั้งศูนย์แบบเล็กไม่กี่ไร่ให้ดูก่อน ซึ่งนั่นผมคิดเอาเองว่าเป็นยุค Gen 3 ที่ไมโครซอฟท์เริ่มทำที่ชิคาโก แต่ในส่วนต่อมาของวิดีโอ ไมโครซอฟท์กล่าวถึง ศูนย์ข้อมูลที่กำลังจะเกิดขึ้นที่ยุโรป ที่เรียกว่า Mega Data Center - Europe เห็นได้ว่าไมโครซอฟท์ใส่ซับว่า Gen 4 เราจะเห็นว่ามีรถบรรทุก Azure, Hotmail, VirtualEarth, และ LiveSearch กำลังวิ่งเข้าไปในไร่ (เหมือนไร่ข้าวโพดมากเลย) เพื่อติดตั้งศูนย์ข้อมูลขนาดยักษ์ จากวิดีโอผมว่ามันก็ยังไม่ใหญ่เท่า Mega ตามชื่อเท่าไหร่ แต่ถ้าข้างๆของไร่ศูนย์ข้อมูลไม่มีสิ่งกีดขวางหรือสิ่งก่อสร้าง ไมโครซอฟท์คงเหมาที่ดินไว้ขยายอาณาบริเวณได้อีก

ส่วน Gen 3 กับ Gen 4 เนี่ย คล้ายๆกันมากๆ แต่น่าจะต่างตรงที่เหมือนไมโครซอฟท์อยากบอกว่าเป็นวิวัฒนาการแบบถอนรากถอนโคน เพราะต้องการให้บรรดาผู้ผลิตจากหลายๆเจ้าทำผลิตภัณฑ์ของตนให้เป็นโมดูลและเป็นมาตรฐาน คือ ผลิตภัณฑ์ต้องไม่ใช่แค่คอมพิวเตอร์ แต่หมายถึงทุกสิ่งที่เกี่ยวกับศูนย์ข้อมูล แล้วจากนั้นโมดูลเหล่านี้ต้องเข้ากันได้และประกอบได้เร็ว

จุดต่่าง Gen 3 กับ Gen 4 ที่ชัดเจน คงเป็นตามที่ mk กล่าวไว้คือ Gen 4 เป็นศูนย์แบบคงที่แบบคอนโด ปั๊มทีกว้างใหญ่กว่าสนามฟุตบอลหรือสนามกอล์ฟก็ว่าได้ และพร้อมที่จะขยายอาณาเขตไปได้เรื่อยๆ อย่างที่แหล่งข่าวจาก COMPUTERWORLD ไมโครซอฟท์ใจปล้ำที่จะลงทุนถึง 1 พันล้านเหรียญต่อศูนย์ข้อมูลหนึ่งแห่ง (แต่จะทำตั้ง 20 ศูนย์) เงินจำนวนมากระดับนี้คงรวมค่าที่ดินที่ต้องกันอาณาเขตของศูนย์ข้อมูลไว้หลายไร่พอสมควร ทำออกมาในแนวปลูกศูนย์ข้อมูลแทนปลูกไร่ข้าวโพดเลยก็ว่าได้

ผมมอง Gen 4 ออกแบบมาเพื่อการยืดขยายแบบ On-demand ตามรูปแบบการประมวลผลแบบกลุ่มเมฆ ดังนั้น ไมโครซอฟท์จึงต้องการผลักดันให้โรงงานผู้ผลิตสร้างอุปกรณ์ที่ประกอบได้ง่ายและรวดเร็วเพื่อการขยายผลหรือขยายขนาดของศูนย์ข้อมูลจะได้ทำได้อย่างรวดเร็ว ที่นี้ล่ะครับ นักอนุรักษ์ธรรมชาติคงเปลี่ยนจากต่อต้านคนสร้างสนามกอฟท์มาเป็นต่อต้านการสร้างสนามศูนย์ข้อมูลกันแล้ว และมนุษย์ต่างดาวเหลือที่ให้ทำ Crop Circle น้อยลง

JavaBoom (Boom is not Java, but Java was boom)
http://javaboom.wordpress.com


My Blog

By: mk
FounderAndroid
on 9 December 2008 - 11:20 #74969 Reply to:74948
mk's picture

ผมคิดว่าการต่อยอดเทคโนโลยีของซันนั้นค่อนข้างมีปัญหา อย่าง Blackbox เป็นตัวอย่างที่ดีมาก คือผมเห็นตอนแรกสุดที่ซันออกมาโฆษณา Blackbox ว่าเป็นตู้นะ ทำได้จริงนะ ต่อน้ำต่อไฟได้นะ จากนั้นก็หายไปเลย เหมือนเป็นแค่เทคโนโลยีต้นแบบเฉยๆ ก็จบกันไป ไม่มีการขยายผลต่อว่ามีใครซื้อบ้าง เอาไปทำอะไรต่อได้บ้าง (เช่น พวกเอาไปช่วย UN ส่งข้อมูลเวลาเกิดน้ำท่วมแผ่นดินไหว ฯลฯ)

หรืออาจจะมีแต่ผมไม่ทราบก็เป็นได้ (แต่ผมรับ feed ของ Jonathan Schwartz นะ)

By: javaboom
WriteriPhone
on 9 December 2008 - 12:11 #74972 Reply to:74969
javaboom's picture

โอ ผมเพิ่งทราบนะเนี่ยว่าต่อน้ำต่อไฟได้ด้วย จริงๆด้วยครับ ลองค้นหาข้อมูลในซันแล้ว ยังไม่เห็น Success story ให้อ่านแบบน่าติดตาติดใจเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์อื่นๆ ปกติบริการและผลิตภัณฑ์ของซันจะมีบทความพวกนี้เตรียมไว้ให้ลูกค้าอ่าน (จริงๆก็เอาไว้ให้ sale อ่าน จะได้เอาไปคุยได้) อย่างไรก็ดี เขามีกล่าวไว้ที่ Perspectives ในส่วน Customer Success Stories ไว้นิดหน่อย

อย่างไรก็ดี ไมโครซอฟท์จับจุดขายที่ใช้เอง ออกแบบเอง และบริการเอง ผมไม่ทราบซันจะลุยตลาด Network.com แข่งกับไมโครซอฟท์และกูเกิลหรือเปล่า แต่ส่วนตัวผมคิดว่าคงออกไปในแนว Salesforce หริอ Amazon EC2 มากกว่า ต่างจากไมโครซอฟท์กับกูเกิลที่ลุยบริการออนไลน์ที่มีตลาดกลุ่มเดียวกันและ สามารถยกเอาบริการของทั้งสองขึ้นมาเทียบชั้นเชิงกันได้เลย กลับมาที่เรื่องศูนย์ข้อมูล ผมว่าควรเทียบระหว่างไมโครซอฟท์กับกูเกิล เพราะทั้งสองมีทิศทางของศูนย์ข้อมูลต่างกันในขณะที่เป้าหมายคือกลุ่มตลาดเดียวกัน (แม้กูเกิลเคยคิดจะทำ Gen 3 ก็ตาม) ของกูเกิลน่าจะออกไปในแนว Gen 2

ในแหล่งข่าวจาก COMPUTERWORLD มีกล่าวไว้ในหน้าสอง ว่า Gen 4 คงไม่เหมาะกับบริษัททั่วๆไป โดยเฉพาะการเงิน (เหมือนจะเหน็บว่า บ้าหรือเปล่า ถ้าบริษัทการเงินไม่มีหลังคาให้กับศูนย์ข้อมูล) ก็คงจริง ไม่มีหลังคาและต้องเหมาซื้อที่ดินไว้กว้างๆพอควร แต่เขาก็บอกว่าคงเหมาะกับไมโครซอฟท์ ในเรื่องการลดต้นทุน (และถ้าไมโครซอฟท์เป็นเจ้าพ่อที่ดิน) และผมมองว่ามันเหมาะมากๆ ไมโครซอฟท์ไม่ต้องกุ้มอยู่แล้ว เพราะไม่ได้จะเอา Gen 4 ไปขายเหมือนซัน แต่ว่าจะเอาไว้ใช้เอง มากกว่านั้น Gen 4 ยิ่งเหมาะมากๆในเรื่องการยืดขยายบริการแบบกลุ่มเมฆในเครือ Live Services ของไมโครซอฟท์ โดยปัจจัยยืดขยาย (Scalability factor) ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญมากๆของการประมวลผลแบบกลุ่มเมฆ

JavaBoom (Boom is not Java, but Java was boom)
http://javaboom.wordpress.com


My Blog

By: mk
FounderAndroid
on 9 December 2008 - 12:28 #74976 Reply to:74972
mk's picture

เรื่องที่ดินนี่ อีกประเด็นที่น่าสนใจคือกูเกิลไปซื้อที่ใกล้ๆ โรงไฟฟ้า สำหรับตั้ง data center โดยเฉพาะ เผอิญผมขี้เกียจหาข่าวเก่าครับ

By: javaboom
WriteriPhone
on 9 December 2008 - 15:25 #74999 Reply to:74976
javaboom's picture

ข่าวของศูนย์ข้อมูลของกูเกิลเมื่อปี 2006 จาก New York Times มีภาพประกอบให้ชมด้วยครับ

จริงๆอีกที่หนึ่งที่น่าตั้งศูนย์ข้อมูลคือแคนาดาครับ เพราะค่าไฟถูกมากๆ และพลังงานไฟฟ้าสะอาดอีกด้วย จากวารสาร netWorker เครือ ACM มีหัวข้อ Computing in the Clouds โดย Aaron เขากล่าวว่าไอบีเอ็มกับไมโครซอฟท์เล็งทำเลที่ตั้งศูนย์ข้อมูลอยู่ 2 ที่ใหญ่ๆที่ใกล้โรงงานไฟฟ้าพลังงานสะอาดและราคาถูก คือ แถวแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือกับแคนาดา และนักลงทุนหลายเจ้าเล็งไปที่ประเทศจีน เพราะจีนมีโรงงานไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างอยู่มากมาย ซึ่งยังคงมีพื้นที่ว่างแถวโรงไฟฟ้าให้เหมาะแก่การตั้งศูนย์ข้อมูล และน่าจะมีต้นทุนที่ไม่สูงเกินไป

JavaBoom (Boom is not Java, but Java was boom)
http://javaboom.wordpress.com


My Blog

By: lew
FounderJusci's WriterMEconomicsAndroid
on 9 December 2008 - 13:00 #74981 Reply to:74972
lew's picture

ที่เดียวที่ผมเคยได้ยินว่าใช้ Blackbox (ที่เป็นสีขาว) คือสแตนฟอร์ดนะครับ ได้จากซันมาฟรี

เรื่องต่อน้ำนี่เอาไว้ทำความเย็น ผมยังสงสัยเรื่องนี้จนทุกวันนี้ว่าจะอัดน้ำเย็นเข้าไปใน Blackbox ยังไง ต้องออก Cool box ตามมารึเปล่า?

LewCPE


lewcpe.com, @wasonliw

By: audy
AndroidUbuntu
on 9 December 2008 - 08:13 #74930 Reply to:74924
audy's picture

แว้บแรก ก็คิดถึง Blackbox ครับ แต่ของเค้ามีสินค้าให้จับต้องได้แล้ว

By: superballsj2
iPhoneWindowsIn Love
on 9 December 2008 - 08:05 #74927
superballsj2's picture

ไม่มีหลังคา แล้วมันโดนแดด โดนฝนแล้วไม่เป็นไรหรอครับ

By: javaboom
WriteriPhone
on 9 December 2008 - 16:23 #74960 Reply to:74927
javaboom's picture

คำถามนี้ผมก็สงสัยเหมือนกันครับ จากแหล่งข่าวกล่าวว่าอุปกรณ์ต้องทนต่ออุณหภูมิและสภาพอากาศที่ควบคุมไม่ได้ ไม่ทราบว่ากันน้ำกันหิมะได้หรือเปล่า ผมเลยคิดเหมาเอาเองว่า ไมโครซอฟท์คงต้องเลือกทำเลที่อากาศเย็น ไม่มีฝน ไม่มีหิมะ แดดอ่อน (หลายพื้นที่ในยุโรปกำลังเหมาะ) และต่อให้มี ผมคาดว่าตู้เซิร์ฟเวอร์และตู้ระบบอื่นๆ คงสามารถปิดตู้เพื่อกันน้ำได้ ส่วนสายไฟสายเคเบิลคงมัดและลากลงใต้ตู้ซึ่งเป็นพื้นยกระดับมีช่องว่างสำหรับเก็บสายต่างๆ และต้องกันน้ำได้ แต่เขาคงจะปิดตู้ก็ตอนเกิดเรื่องเท่านั้น โดยปกติคงเปิดตู้อ้าแขนมองฟ้าชมจันทร์ มองดูกลุ่มเมฆไปวันๆ

Gen 4 มีไอเดียว่าต้องย้ายที่ได้ ดังนั้น หากทำเลดังกล่าวไม่เหมาะ เขาคงให้รถบรรทุกย้ายศูนย์ข้อมูลบางส่วนหรือทั้งหมดที่ไปตั้งที่อื่นที่เหมาะกว่าเป็นการชั่วคราว (หรือการถาวรก็ค่อยว่ากันไป) นอกจากนี้แล้ว ความสามารถในการย้ายที่ได้ ยังสอดคล้องกับแผนการแบ่งสรรปันส่วนทรัพยากร (resource provision) วิธีการนี้ฮิตมากใน Virtualization แต่ Gen 4 มันไม่ใช่ Virtual หรือเสมือน เพราะเป็นการขนย้ายพลังการประมวลผลตัวจริงเสียงจริงได้เลย แต่ขนแบบรันไทม์หรือ live migration ได้หรือไม่ แฮๆ อันนี้รถบรรทุกคงต้องขน UPS สำรองไฟได้นานๆไปด้วย และมันจะเรียกว่า Gen 5 หรือเปล่า คงต้องติดตามกันต่อไป

JavaBoom (Boom is not Java, but Java was boom)
http://javaboom.wordpress.com


My Blog

By: tomyum
ContributorAndroidWindows
on 9 December 2008 - 14:31 #74994 Reply to:74927
tomyum's picture

ถ้าต้องมีหลังคาด้วย โครงสร้างจะต้องรับน้ำหนักเพิ่มและเพิ่มต้นทุนฐานรากอีกมากแถมมีเสาเพิ่มเข้ามาเกะกะกลางอาคารอีกด้วย ถ้าแนวคิดหลักคือย้ายได้ง่าย ก็ไม่ควรลงทุนโครงสร้างมาก จากในวีดิโอ ก็ทำแค่รั้วถูกๆกั้นเท่านั้นเองขอให้มีสายโทรศัพท์พาดถึงพร้อมสายไฟฟ้า ก็สามารถเปิดให้บริการได้ทันที เหมาะกับการลงทุนในประเทศสารขัณฑ์ ไม่น่าไว้ใจม๊อบจะบุกเมื่อไรก็โทรเรียกหัวลากเทรลเลอร์ไปลากหนีได้เลย แต่เปลืองค่าไฟเลี้ยงระบบปรับอากาศหน่อย อาจต้องดัดแปลงเพิ่มโดยการเช่าเต้นท์ผ้าใบมาบังแดด ตัวตู้คอนเทนเนอร์ก็ต้องบุฉนวนหนากว่าปกติสักสามเท่า อ้อถ้าจะมาตั้งแถวๆกทม.ตัวตู้ก็ควรมีซีลกันน้ำได้เวลาน้ำท่วมนะครับ \(@^_^@)/ M R T O M Y U M

By: sugree
FounderWriterAndroidBlackberry
on 9 December 2008 - 08:40 #74939

แปลว่าตอนนี้ไมโครซอฟท์มีเครื่องเป็นแสน

การติดตั้งด้านฮาร์ดแวร์คงไม่ใช่ประเด็น ยังไงก็ทำแค่ครั้งเดียว แต่การดูแลคงไม่สนุกนัก นี่ยังไม่นับค่าไฟ

สงสัยจะกลายเป็น ทำเอง ใช้เอง ให้บริการเอง

By: 7
Android
on 9 December 2008 - 13:19 #74984
7's picture

อืม อ่านตรง MS ให้ผู้ผลิต ผลิตโมดูลให้ตัวเองมากๆ

ผมว่าแค่ Demand ของ MS เองก็น่าจะดึงดูดผู้ผลิตได้เป็นจำนวนมาก

มากพอที่จะดันให้กลายเป็นมาตรฐาน และราคาถูกในที่สุด

ผมเลยคิดว่า คนที่คิดว่าโมเดลนี้ MS คงทำได้คนเดียว จึงต้องดูต่อไป

มันเป็นไปได้ที่ราคามันจะถูกลงจนคุ้มที่จะทำตาม เพราะ MS ช่วยดันจนมันถูก

แล้ว MS ก็เปิด HW ให้ผู้ผลิตกินกำไรไป ตัวเองขาย SW จัดการโมดูลตามถนัด

7blogger.com

By: khajochi
WriteriPhoneIn Love
on 9 December 2008 - 15:59 #75003
khajochi's picture

อ่านแล้วรู้สึกเหมือนการสร้างฐานของ terran ใน starcraft รึเปล่าครับ .. พอจะโดนนิวเครียร์ยิงก็ประกอบร่างบินหนีกันใหญ่ :)

---
Khajochi Blog : It's not a Bug ... It's a Feature


แฟนพันธุ์แท้สตีฟจ็อบส์ | MacThai.com

By: audy
AndroidUbuntu
on 9 December 2008 - 17:33 #75020
audy's picture

มีมาตรการป้องการการปิดล้อมจากม็อบหรือยังครับเนี่ย

By: lew
FounderJusci's WriterMEconomicsAndroid
on 9 December 2008 - 18:31 #75023 Reply to:75020
lew's picture

ให้เตรียมใบปลิว?

LewCPE


lewcpe.com, @wasonliw

By: ABZee on 10 December 2008 - 00:42 #75085 Reply to:75020

ก็ขับรถหนีไปที่อื่นเลย ปลอดภัยแล้วค่อยจอดมาติดตั้งใหม่

LongSpine.com

By: natty
ContributoriPhone
on 9 December 2008 - 21:54 #75044

คิดภาพไม่ค่อยออกเลย เหมือนเป็นเรื่องเหลือเชื่อ

บลอกของ natty


บลอกของ natty

By: orbitalz
ContributorWindows PhoneAndroidUbuntu
on 11 December 2008 - 19:21 #75386

ผมลองดูจากวีดีโอแล้วนะครับ เหมือนไมโครซอฟต์จะใช้หลังคาแบบโปร่งใสนะครับ เท่าที่สังเกตดู ...

ป.ล. แอบเห็น mega ที่แถวๆประเทศไทยด้วยแฮะ จะดีเหรอเนี่ยะ ไมดครซอฟต์!!!

By: javaboom
WriteriPhone
on 11 December 2008 - 20:41 #75396 Reply to:75386
javaboom's picture

จากวิดีโอนี้ผมไม่แน่ใจครับ มองไม่ชัดน่ะครับ แต่จากข้อมูลที่ไมโครซอฟท์เปิดเผยเอง คือ ไม่ใช้หลังเลยครับ

JavaBoom (Boom is not Java, but Java was boom)
http://javaboom.wordpress.com


My Blog