Tags:

วันนี้เป็นวันหยุด ผมเองมีโอกาสไปเดินชื่นชมข้าวของสวยสวยงามๆ ที่ฟอร์จูนทาวน์เช่นเคย สังเกตไหมครับว่าเดี๋ยวนี้ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ เครื่องพิมพ์ โดยเฉพาะเน็ตบุ๊กและโน๊ตบุ๊กนั้นเริ่มออกแบบมาให้เน้นรูปลักษณ์และสไตล์ที่ใหม่และก้าวหน้ามากขึ้น แนวโน้มเหล่านี้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในสังคม เทคโนโลยีและสภาพแวดล้อมด้านไอที ที่จะมีบทบาทในอีกหลายปีข้างหน้า วันนี้เรามาลองดูกันว่าแนวโน้มพวกนี้ที่เรียกว่า ไลฟ์สไตล์คอมพิวติ้ง (lifestyle computing) คืออะไร มีแนวโน้มไปทางไหนกันบ้าง

เมื่อก่อนบริษัทผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลแข่งกันเพื่อให้ได้คอมพิวเตอร์ที่มีราคาเท่าเดิมแต่ประสิทธิภาพดีขึ้นเรื่อยๆ สมัยนั้นดูง่ายๆ ที่ความเร็วสัญญาณนาฬิกา ใครได้ความถี่สูงกว่าก็เร็วกว่า เริ่มแข่งกันจาก 33MHz, 66 MHz, 133MHz, 200MHz, 300MHz ขึ้นไปเรื่อยๆ ถ้าใครจำตอนที่ AMD Athlon ทะลุ 1 GHz ได้นั้นรู้สึกยิ่งใหญ่มาก เหมือนมีคนขับเครื่องบินไอพ่นทะลุกำแพงเสียงอย่างไรอย่างนั้น

ต่อมาเราเจอกำแพงความร้อนและกำแพงความซับซ้อนของการออกแบบ ทำให้เราติดอยู่ราว 3-4 GHz กันมานานหลายปี แนวทางการพัฒนาก็เลยเปลี่ยนไปทุ่มเทที่การประมวลผลแบบขนาน โดยแบ่งตัวหน่วยประมวลผล (ซีพียู) ออกเป็นหลายๆ ชุด โดยเรียกแต่ละชุดว่า คอร์ (core) ทำให้โลกเกิดระบบมัลติคอร์ (multicore) ใช้งาน ฟังดูเหมือนจะดีแต่แท้จริงแล้วระบบแบบมัลติคอร์เป็นการผลักภาระในการเร่งประสิทธิภาพไปให้ซอฟต์แวร์ ตัวแปลภาษา ระบบปฏิบัติการแทนฮาร์ดแวร์ การใช้ความสามารถของคอมพิวเตอร์ใหม่ๆ เหล่านี้ให้เต็มที่ต้องอาศัยการปรับแต่งซอฟต์แวร์อีกมาก ดังนั้นถ้าต้องการเห็นคอมพิวเตอร์ในสมัยนี้เร็วเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนเหมือนสมัยเพิ่มสัญญาณนาฬิกาคงเป็นไปได้ยาก

ด้วยสภาพแวดล้อมที่กล่าวมาแล้ว เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงได้สามประการ

  • ประการแรก เมื่อคอมพิวเตอร์ไม่ช่วยให้ซอฟต์แวร์เร็วขึ้น ทำให้ความต้องการซื้อคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงมาใช้ทำงานเป็นเครื่องแบบตั้งโต๊ะและโน๊ตบุ๊กโดยทั่วไปจะลดลง เว้นแต่ระบบเซิฟเวอร์ที่ต้องการรองรับผู้ใช้มากขึ้นทุกขณะ ระบบที่ทำงานด้านกราฟิกแอนิเมชั่น กับเครื่องที่เล่นเกมส์กันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน คนส่วนใหญ่จะร่ำร้องได้เครื่องราคาถูกลงที่สมรรถนะคงเดิม ที่เราเห็นราคาเครื่องทั้งระบบถูกลงเรื่อยๆ เป็นเพราะส่วนประมวลผลหลัก (ซีพียู เมนบอร์ด แรม การ์ดจอ) ลดลง แม้ว่าอุปกรณ์บางส่วนเช่น จอภาพและฮาร์ดดิสก์จะค่อนข้างคงที่ก็ตาม

  • ประการที่สอง ผู้ใช้จะต้องการความสามารถในการเคลื่อนที่ (mobility) มากขึ้น เนื่องจากเครือข่ายบรอดแบนด์ไร้สาย เช่น Wi-Fi, GPRS, 3G แพร่กระจายไปมากในราคาที่ยอมรับได้ ดังนั้นคอมพิวเตอร์แบบใหม่อย่างเน็ตบุ๊คจึงเติบโตสูงมาก และการแข่งขันจะย้ายไปตัดสินกันที่น้ำหนัก การประหยัดพลังงาน และแบตเตอรี่ที่ทนนาน ผมคิดว่าสุดท้ายแล้วสเปกที่แข่งขันได้คือ หน้าจอ 10.6 -11.6, แบตเตอรี่ที่ชาร์จแล้วทำงานมากกว่า 12 ชั่วโมงแบบมือถือ และการใช้เทคโนโลยีจอภาพที่กินพลังงานน้อยกว่านี้ (เช่น [e-ink](http://www.eink.com/technology/howitworks.html “e-ink”) ในเครื่อง Kindle ของ Amazon อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีนี้อาจไม่เหมาะกับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เราใช้งานเท่าไรนัก เนื่องจากแสดงผลบนหน้าจอได้ช้า แต่ความสามารถคงการแสดงผลไว้โดยไม่ใช้พลังงานคล้ายกระดาษทำให้เหมาะกับการเป็น e-book มากเนื่องจากเบาและกินไฟต่ำมากๆ)

  • ประการที่สาม และเป็นเรื่องที่เราจะมาคุยกันในบทความนี้ คือการมาถึงของไลฟ์สไตล์คอมพิวติ้ง ซึ่งเป็นการปรับคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ประกอบให้เป็นเครื่องประดับที่เข้ากับลักษณะการใช้ชีวิตนั่นเอง ผู้บุกเบิกในด้านนี้คือบริษัทแอปเปิล เนื่องจากตลาดของเครื่องคอมพิวเตอร์นั้น 80-90% ถูกพีซียึดไปหมดแล้ว แมคจึงต้องสร้างความแตกต่าง เพื่อให้ได้กำไรในยอดขายที่น้อยกว่ามาก คำตอบคือการสร้างคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ในลักษณะที่เป็นเครื่องประดับบอกรสนิยม เป็นสินค้าที่สวยงาม ราคาแพง เทคโนโลยีดี และสร้างสภาพแวดล้อมรายรอบและทำให้กลุ่มผู้ใช้ติด กลายเป็นแฟนพันธุ์แท้ ซึ่งแอปเปิลได้ประสบความสำเร็จอย่างสวยงาม และขยายไปสร้างอาณาจักรไอพ็อดและไอโฟนต่อ

อันที่จริงอุตสาหกรรมพีซีคงจะไม่เคลื่อนเข้าหาไลฟ์สไตล์คอมพิวติ้งเร็วขนาดนี้ ถ้าหากว่าเราสามารถทำให้คอมพิวเตอร์เร็วขึ้นเรื่อยๆ เราคงจะเห็นแต่เครื่อง "อ้วน ล่ำ ดำ แต่ดี" อย่าง Lenovo ThinkPad ไปอีกนาน แต่เมื่อโลกเปลี่ยนไป อุตสาหกรรมทั้งหมดต้องปรับตัวตามไปด้วย การเคลื่อนตัวในลักษณะนี้เกิดมาแล้วกับอุตสาหกรรมรถยนต์และโทรศัพท์มือถือ รถยนต์ใช้เวลาราว 50 ปี จนถึงช่วง 1940-1950 เทคโนโลยีหลักๆ ในการทำรถยนต์ก็เริ่มอยู่ตัว ทำให้รถยนต์แต่ละรุ่นหันมาเน้นความสวยงาม อุปกรณ์ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ หวือหวาและเปลี่ยนตามไลฟ์สไตล์แต่ละยุคสมัย ส่วนมือถือนั้นสเปกทางฮาร์ดแวร์ก็คงเดิมมาหลายปี การเปลี่ยนแปลงใหญ่ครั้งสุดท้ายคือการที่แอปเปิลที่เอาตัวจับการเคลื่อนไหวใส่มาเพิ่มใน iPhone ณ วันนี้มือถือเลยมาแข่งกันที่ไลฟ์สไตล์คอมพิวติ้ง คือ ใครทำส่วนติดต่อกับผู้ใช้สวยใช้ง่าย แข่งการออกแบบเครื่องสวยๆ มาแข่งกัน เพราะการแข่งที่สเปกทางฮาร์ดแวร์ที่แตกต่างทำได้น้อยลงมาก

ดังนั้นหากเราจะดูแนวโน้มในอนาคต สินค้าคอมพิวเตอร์จะเน้นไปที่รูปลักษณ์มากขึ้น เน้นหุ่นเพรียวบาง หลายแบรนด์ก็ต้องลดน้ำหนักของตัวเครื่องลง ใช้แบตเตอรี่ที่ทนทานมากขึ้น และมีราคาที่ถูกลงตามมา อาจมีบางยี่ห้อทำของแพง สวย เร็วไปเลย แต่ส่วนใหญ่คงไม่เน้นเร็วมาก เพื่อให้ซื้อสองเครื่องกันไงครับ คือ เครื่องตั้งโต๊ะแบบเร็วๆ จอใหญ่ๆ กับโน๊ตบุ๊กไว้ถือเดินไปมา ช่วงนี้เราจะเห็นว่าอุปกรณ์อย่างคอมพิวเตอร์กับเครื่องพิมพ์จะถูกออกแบบมาให้กลายเป็นเครื่องประดับในสำนักงานมากขึ้น อาจมีคอมพิวเตอร์ที่ออกแบบมาให้เปลี่ยนกรอบเล่นได้แบบโทรศัพท์โนเกียบ้าง ก็ได้ตามกระแส Personalization/De-massification of Products and Services ที่เป็นกระแสหลักของโลกาภิวัฒน์ในตอนนี้ (ใครอยากรู้เพิ่มลองอ่านหนังสือเรื่อง ความมั่งคั่งปฏิวัติ ของ Alvin and Heidi Toffler ครับ)

ในเรื่องนี้ ประเทศไทยเราน่าจะเป็นผู้เล่นได้ดีในเกมส์ของไลฟ์สไตล์คอมพิวติ้งครับ เนื่องจากการสร้างผลิตภัณฑ์ไม่ได้ทำในประเทศเดียวแต่อาศัยการบริหาร supply chain เทคโนโลยีถูกคิดในสหรัฐอเมริกา ฐานการผลิตอยู่ในจีนและไต้หวัน ซอฟต์แวร์พัฒนาที่อินเดีย ใครก็ได้ในโลกที่ไม่จำเป็นต้องมีเทคโนโลยีสูงสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ได้ถ้า

  1. มีความสามารถวิเคราะห์ความต้องการ เป็นผู้หาโจทย์ หาความต้องการที่มีตลาดขนาดใหญ่หนุนหลังได้
  2. เป้นผู้ควบคุมการออกแบบและบริหารจัดการการผลิต ต่อเชื่อมโยงผู้ผลิตเข้าหาตลาดและลูกค้า
  3. มีศักยภาพในการผลักดันสร้างแบรนด์ระดับโลกออกไปได้

ประเทศไทยเรามีอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ แฟชั่น และสปา หรือที่เราอาจมองรวมๆ ว่าเป็น "อุตสาหกรรมไลฟ์สไตล์" อยู่แล้ว ทำให้ฐานการผลิตและออกแบบที่สร้างสรรค์ ไหนๆ รัฐบาลก็หนุนเรื่อง Creative Economy กันเต็มที่แล้ว ผมว่าน่าจะลองคิดส่งเสริมด้านนี้บ้างว่าจะทำได้อย่างไร ในอนาคตผมอยากไปงาน OTOP หรือเมดอินไทยแลนด์แล้วเห็นเราทำเครื่องคอมพิวเตอร์สวยๆ แบบ Sony Vaio หรือ Toshiba มาใช้บ้าง หรือทำแค่ เครื่องที่ติดเปลือกได้แบบโทรศัพท์โนเกียเล่นบ้างก็ไม่เลวนะครับ โลกจะได้สวยด้วยคอมพิวเตอร์กันไงครับ

Get latest news from Blognone

Comments

By: nuntawat
WriterAndroidWindowsIn Love
on 6 July 2009 - 16:38 #112207
nuntawat's picture

บทความดีครับ ไม่รู้ว่าคุณใส่แท็ก '' หลังย่อหน้าแรกหรือเปล่า ถ้ามีจะดีเลยครับ ไม่ขึ้นหน้าแรกหมด

  • 'รถยนตร์' -> 'รถยนต์'

  • 'อิเล็คทรอนิคส์' -> 'อิเล็กทรอนิกส์'

  • 'จะได้มี สองเครื่องกันไงครับ' ไม่น่ามีช่องว่างคั่นนะ

  • 'Thinkpad' ตัว P ตัวใหญ่ครับ

  • 'เน็ตบุ๊ค','โน็ตบุ๊ค' -> 'เน็ตบุ๊ก','โน้ตบุ๊ก'

  • 'สหรัฐ' น่าจะมีไปยาลน้อยต่อท้ายครับ

คงมีคำอื่นอีกนะครับ ลองหาดู

ป.ย.เด็ด: "ในบางครั้งเราก็ควรถอย...เพื่อก้าวต่อไปอย่างมั่นคง... ปัญหาคือ "อะไรและทำไมควรถอย จะถอยเมื่อไร ณ ที่ไหน อย่างไรให้สง่างาม"

By: putchonguth on 6 July 2009 - 18:02 #112226 Reply to:112207

ขอบคุณครับ ที่กรุณาอ่านและช่วยตรวจให้ แก้ไขไปแล้วบ้างครับ ไม่รู้หมดหรือเปล่า นะครับ

By: nuntawat
WriterAndroidWindowsIn Love
on 6 July 2009 - 18:33 #112230 Reply to:112226
nuntawat's picture

ยังมีปนๆ อยู่กับ โดยเฉพาะคำว่า 'Thinkpad' แอบติดใจเพราะผมใช้อยู่ ต้องเขียนว่า 'ThinkPad' ครับ หุหุ

ป.ย.เด็ด: "ในบางครั้งเราก็ควรถอย...เพื่อก้าวต่อไปอย่างมั่นคง... ปัญหาคือ "อะไรและทำไมควรถอย จะถอยเมื่อไร ณ ที่ไหน อย่างไรให้สง่างาม"

By: totiz
ContributoriPhoneAndroidRed Hat
on 7 July 2009 - 12:28 #112344
totiz's picture

ขอบคุณมากครับ
เป็นบทความวิเคราะห์ที่ดีมากครับ

By: Mayarine on 7 July 2009 - 13:25 #112353

แนวคิดดี

By: konrasee
iPhoneUbuntuWindows
on 7 July 2009 - 14:28 #112357

บทความดีครับ อ่านเพลินเลย มาเขียนแนวนี้บ่อยๆ นะครับ

By: javaboom
WriteriPhone
on 7 July 2009 - 14:58 #112358
javaboom's picture

ขอบคุณครับอาจารย์ ผมติดตามผลงานต่อไปของอาจารย์อยู่นะครับ

My Blog / hi5 / Facebook / Follow me


My Blog

By: putchonguth on 7 July 2009 - 21:08 #112417 Reply to:112358

ครับ จะพยายามขยันๆ เขียนกว่านี้ครับ

By: Ruler on 7 July 2009 - 15:28 #112359

ทำอะไร ทำด้วยใจ ใส่ศิลปะใส่ไอเดีย มันเป็นการเพิ่มมูลค่าของสิ่งนั้นๆ ให้สูงขึ้น
ที่เหลือก็นั่งนับตัง หุหุ

By: willwill
ContributorAndroid
on 7 July 2009 - 15:42 #112361
willwill's picture

Gateway : "ชีวิตเราไม่ได้อยู่กับเหตุผล แต่อยู่กับแฟชั่น"

(พบข้อความนี้ได้ในภาษาอังกฤษ ที่บูท Gateway ในคอมมาร์ท)

By: HyBRiD
ContributoriPhoneSymbianUbuntu
on 7 July 2009 - 17:03 #112368
HyBRiD's picture

อ่านแล้วไม่เข้าใจ

NERD GOD

By: putchonguth on 7 July 2009 - 21:07 #112416 Reply to:112368

อยากสื่อว่าตอนนี้ product design จะเริ่มมีบทบาท เมื่อก่อนเรามองการแข่งไฮเทคว่าเราทำยาก ตอนนี้ อาจจะมีโอกาสแข่งง่ายขึ้น อันที่จริง ตอนนี้ เด็กไทยก็ชนะ robocup, rescue robot และ wimbledon ทำไมตอนโตหายแผ่วหมด

สังคมไทยไม่เอื้อให้อัจฉริยะได้แสดงฝีมือหรือ น่าคิดนะครับ

By: p-joy on 8 July 2009 - 01:24 #112493 Reply to:112416

คำตอบนี้ ตอบแล้วโดยนักออกแบบลายผ้าชื่อดังของไทยครับ จำชื่อไม่ได้

  1. ไม่มีโรงงานเล็ก ๆ ที่สามารถรับงานจำนวนน้อยไปผลิต
  2. นักออกแบบที่ไม่มีสนามให้ลอง ก็ไม่สามารถสร้างแบบใหม่ ๆ ได้ เก็บเงินทั้งชีวิตแล้วก็เอาไปลงทุนกับครั้งแรก ดัง ครั้งต่อไปเงินไม่มีก็ดับ
  3. ไม่มีงาน โรงงานเล็ก ๆ ก็ไม่เกิด
  4. ไม่มีโรงงานเล็ก ๆ งานเล็ก ๆ ก็ไม่เกิด

งูกินหางต่อไป รู้สึกว่าวงการสิ่งพิมพ์มีช่องทางไปแล้ว ก็ใช้เครื่องพิมพ์สีขนาดใหญ่ พิมพ์หนังสือไม่กี่เล่มก็ได้

By: putchonguth on 8 July 2009 - 23:18 #112711 Reply to:112493

ผมว่าปัญหา คือ การออกแบบลายผ้าสวยกับการทำธุรกิจนั้นเป็นคนละเรื่อง สิ่งที่ขาด คือ ภาคการศึกษาส่วนใหญ่ยังสอนคนไปทำงานตามที่มีมาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ไม่ได้สอนคนออกไปสร้างธุรกิจ ให้รู้จักวางโมเดลธุรกิจ รู้จักบริหารธุรกิจ ผมเองก็เป็น ตอนนี้ยังไม่กล้าทำอะไรเลยครับ กลัวเจ๊ง

By: tontpong
Contributor
on 9 July 2009 - 10:14 #112770 Reply to:112711

น่าจะยาก ที่จะให้คนๆ เดียว มี mind set มีความสามารถรอบด้านแบบนั้น การจะทำให้ของขาย mass ได้ ต้องใช้มากกว่าการสามารถประดิษฐ์คิดค้น ซึ่งถ้าไม่มีอัจฉริยะแบบนั้น ก็ต้องใช้การร่วมแรงลงมือกันเป็นทีม

แต่รวมๆ แล้ว ผมว่าคนไทยถูกสอนให้ "มักง่าย" การผสมที่ลงตัวของคนด้านต่างๆ จึงเกิดขึ้นยาก ทำให้ไม่สามารถดัน product เป็น global mass ได้

คนไทย "มักง่าย" อย่างไร .. เราถูกปลูกฝังให้พยายามย้ายไปสู่สภาพที่ดีกว่า แทนที่จะพยายามพัฒนาสภาพใกล้ๆ ตัวให้ดีขึ้น

เช่น คนเรียนเก่ง (ไม่อยากเรียกว่า "ฉลาด") ต้องไปเรียนหมอเรียนวิศวะ รายได้สูง จะได้สบาย แทนที่จะดูว่าตนถนัดอะไรหรือมีอะไรอยู่แล้ว

ผมเรียนวิศวะ แต่มองง่ายๆ ว่าเป็นสายเทคโนฯ ละกัน ที่สังเกต เพื่อนพี่น้อง กว่าครึ่งไม่อยู่ในสายเทคโนฯ แล้ว

คร่าวๆ ครึ่งนึงทำไม่ได้จริงๆ แต่อีกครึ่งผมว่าเพราะทำเงินง่ายกว่า ย้ายไปสายงานที่เงินดีๆ แทนที่จะพัฒนาศักยภาพให้ทำเงินได้ดีๆ จะว่าสภาพไม่อำนวยหรือเป็นสิทธิ์ส่วนตัว ผมก็ว่า "มักง่าย" อยู่ดี

ถ้ามาเรียนโดยไม่มี passion ก็คือ ไร้เป้าหมาย ขอเลือกที่ดีๆ ไว้ก่อน ถ้ามาโดยมี passion แต่สุดท้ายย้ายสายงาน ก็คือ passion แพ้เงิน

ผลชัดๆ คือ แต่ละคนเสียเวลาสี่ปี ซึ่งเป็นช่วงที่มีความคิดสร้างสรรค์สูงสุดด้วย และคนที่มี passion จริงๆ ก็เสียโอกาสที่จะเข้ามาพัฒนาต่อยอดศักยภาพ ซึ่งทำให้สังคมโดยรวม เสียโอกาสต่อเนื่องจากการใช้ความสามารถของคน และถ้าเป็นมหาลัยรัฐ ก็คืองบประมาณชาติส่วนนึงถูกใช้ไป โดยไม่ก่อประโยชน์

ผมเชื่อว่า จะสายงานไหน จะทำไร่ไถนา ถ้าพัฒนาจนเต็มที่แล้ว ก็ทำเงินได้ แค่ว่าเราจะพยายามแค่ไหน หรือจะ "มักง่าย" อะไรก็ได้ ที่ได้เงินง่ายกว่า

ทั้งนี้ ขอยกเว้น คนที่มีความสามารถรอบด้าน แล้วย้ายสายงาน เพราะเห็นว่าตำแหน่งที่ตนจะย้ายไป สังคมต้องการแต่ยังขาดคน

นโยบายรัฐ/เอกชน/สังคม ด้านการส่งเสริมศักยภาพ.. ก็มักง่าย ได้หน้าพอ หลายๆ แผนทำแค่ให้ได้รางวัล แถมบางแผนเริ่มทำเมื่อได้รางวัลแล้วด้วยซ้ำ ยิ่งด้านกีฬาด้านวิชาการจะเห็นบ่อยมาก งานวิจัยหลายชิ้นต้องควักเนื้อก่อน

พอได้ชื่อ ถึงจะมีคนแล ซึ่งถึงจุดนั้น พอต่างชาติเห็น ก็เอาบางอย่างไปทำต่อแล้ว บางเรื่อง ต้องไปขอทุนต่างชาติ หรือบางทีเค้าก็เสนอทุนให้โดยยังไม่ทันขอด้วยซ้ำ ในขณะที่เรากันเอง ขอยากและก็ให้ไม่ค่อยเต็ม ไม่พอที่เอาไปต่อยอดให้เต็มที่

จริงๆ ยังลงได้อีกหลายจุด แต่นี่ก็ยาวละ .. ขอ "มักง่าย" เอาแค่นี้ก่อนละกัน

By: him10x on 9 July 2009 - 10:52 #112776 Reply to:112770

เห้นด้วยครับ

By: Lightwave
iPhoneAndroidWindows
on 23 July 2009 - 19:28 #116024 Reply to:112770

+10^10^10 เลยครับ

By: mossila
iPhoneWindows PhoneAndroidBlackberry
on 8 July 2009 - 10:30 #112539 Reply to:112416
mossila's picture

สังคมไทยไม่เอื้อให้อัจฉริยะได้แสดงฝีมือ

น่าจะเป็นอย่างนั้นเพิ่งดูข่าวนักฟันดาบไทยที่โดนถีบทิ้ง

Moss 's blog

By: magicbank on 8 July 2009 - 00:08 #112466

อ่านจบ คิดในใจ เออ... จริงว่ะ ของธรรมดาที่มีอยู่ทั่วไป เอามาใส่ idea นิดหน่อย ก็สามารถทำเงินได้มากมาย

ผมเคยได้ยินจากที่ไหนก็จำไม่ได้แล้ว เขาเปรียบเทียบให้ฟังว่า มีปลาดิบสดๆ อยู่ตัวหนึ่ง ถ้าเราเอาไปแล่แล้วหั่นเป็นชิ้นๆ ประดับจานให้สวยงามแบบอาหารญี่ปุ่น กับ เอาไปทอดให้เหลืองกรอบวางบนจานประดับด้วยผักสลัดมะเขือเทศแบบอาหารไทย ลองคิดดูครับ เมนูไหนจะตั้งราคาแพงกว่ากัน

By: norasama
Symbian
on 8 July 2009 - 01:03 #112484 Reply to:112466
norasama's picture

จำได้จากโน้ส อุดม ครับ ประโยคล่างเนี่ย

มันเป็น art ;)

By: dogdoy on 8 July 2009 - 03:31 #112510

ขอบคุณสำหรับบทความดีดีครับ

By: starbucks on 8 July 2009 - 10:40 #112544

เป็นไปตามกฏ 3 ข้อครับ

ถ้าไม่ First ก็ต้อง Best ถ้าไม่ Best ก็ต้อง Different ;)

By: amyggie on 8 July 2009 - 11:06 #112552

คิดดูดีๆ First กับ Different นี่มันก็แบบเดียวกันไม่ใช่หรือครับ
พอแตกต่าง ก็ทำเป็นคนแรก ประมาณนั้น

By: trendyteddy on 8 July 2009 - 20:27 #112677

ไปเห็น Gateway มาที่งานคอมมาร์ท
สวย ในขณะที่ราคาก็ไม่แพงอย่างที่คิด

By: putchonguth on 8 July 2009 - 22:55 #112708

อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์เราก็เริ่มสวยแล้วนะครับ แต่เริ่มจาก pretty ก่อน
คงต้องขยับให้ product สวยหน่อย

By: -Rookies-
ContributorAndroidWindowsIn Love
on 9 July 2009 - 12:23 #112797

โอววว มาอีกแล้วบทความยาวเหยียดที่อ่านไม่เบื่อ แถมคอมเมนต์แต่ละอันก็น่าคิด ขอบคุณครับ

เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!


เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!

By: Lightwave
iPhoneAndroidWindows
on 23 July 2009 - 20:09 #116036

อีกหน่อยคอมคงจะฉายภาพแบบลอยได้แล้วล่ะทั้งเนี่ย

By: tontpong
Contributor
on 25 July 2009 - 02:51 #116266 Reply to:116036

นึกถึงหนังเรื่องนึงแหะ ที่พระเอกเปนยอดนักลอกสิ่งประดิษฐ์ แล้วต่อยอดให้เจ๋งขึ้นอีก ที่จุดหลักของเรื่อง คือ สร้างเครื่องที่มองเหนอนาคต.. แต่ตอนต้นเรื่องคือทำจอ 3D