อินฟลูฯ TikTok ตะโกนลั่นร้าน ไม่พอใจการบริการของ Apple Store

iPhonemod - 12 July 2023 - 15:27

ทีมงานมาขอสรุปเรื่องราวที่กลายเป็นไวรัลใน TikTok เกี่ยว […] More

The post อินฟลูฯ TikTok ตะโกนลั่นร้าน ไม่พอใจการบริการของ Apple Store appeared first on iMoD.

Edukey เว็บทำแบบทดสอบ ค้นหาอาชีพที่ใช่!

iPhonemod - 12 July 2023 - 15:04

เพื่อน ๆ เป็นกันมั้ยไม่รู้จะทำอาชีพอะไร แต่วันนี้ทีมงาน […] More

The post Edukey เว็บทำแบบทดสอบ ค้นหาอาชีพที่ใช่! appeared first on iMoD.

รับกระแสคุยเสียง! LINE OpenChat ส่ง Live talk ฟีเจอร์ใหม่ สร้างห้องพูดคุย รองรับได้ 10,000 คน

Brand Inside - 12 July 2023 - 14:16

LINE OpenChat ปล่อยฟีเจอร์ Live talk ห้องสนทนาด้วยเสียงแบบเรียลไทม์ ตอบโจทย์ผู้ใช้งานในประเทศไทยกว่า 17 ล้านคน โดยแต่ละห้อง LINE OpenChat ที่ใช้ฟีเจอร์นี้จะมีผู้เข้าร่วมฟังได้ 10,000 คน และผู้พูดได้ 100 คน ช่วยรักษากระแสการเติบโตผ่านคอมมูนิตี้

LINE OpenChat

กระแสคุยเสียงยังมีอยู่

LINE OpenChat เปิดตัว Live talk ฟีเจอร์ใหม่ที่ให้สมาชิกในห้อง OpenChat กดเข้าร่วมฟัง และร่วมพูดคุยได้ทุกที่ทุกเวลา โดยห้อง Live talk สามารถรองรับผู้เข้าร่วมฟังได้ 10,000 คน และผู้พูดได้ 100 คน แต่ในห้อง OpenChat หลัก และห้องย่อย สามารถสร้าง Live talk ได้ครั้งละ 1 ห้องเท่านั้น ไม่จำกัดจำนวนสมาชิกขั้นต่ำ

ด้านฝั่งผู้ใช้ สมาชิกสามารถกดเข้าร่วมฟัง Live talk หรือไม่เข้าร่วมเพื่ออ่านแชทใน OpenChat ได้ตามปกติ เช่นกัน แต่ถ้าหากต้องการพูดในห้อง Live talk สามารถกดขอขึ้นพูดได้ โดยบริการดังกล่าวถูกสร้างขึ้นเพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้งานต่อเนื่องรายเดือน (MAU) กว่า 17 ล้านราย ในระบบ OpenChat ให้มีความหลากหลายมากขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้า Live talk ของ LINE OpenChat บริการในลักษณะเดียวกันนี้มีให้ใช้ในหลายโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์ม เริ่มต้นจาก Clubhouse ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงโรคโควิด-19 ระบาด รวมถึง Space ของ Twitter ที่เปิดตัวหลังจาก Clubhouse ไม่นาน

อย่างไรก็ตามด้วยกระแสการพูดคุยกับสังคมด้วยเสียงเริ่มไม่ได้รับความนิยมเหมือนเดิม ทำให้ช่วงเดือน เม.ย. 2023 Clubhouse มีการปลดพนักงานมากกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งหมด เนื่องจากตัวองค์กรต้องการปรับโครงสร้าง และผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมเกี่ยวกับการใช้งานบริการเพื่อพูดคุยกับเพื่อน ๆ ในโลกออนไลน์

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post รับกระแสคุยเสียง! LINE OpenChat ส่ง Live talk ฟีเจอร์ใหม่ สร้างห้องพูดคุย รองรับได้ 10,000 คน first appeared on Brand Inside.

Apple เปิดร้านค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์ม WeChat ของจีน

iPhonemod - 12 July 2023 - 14:05

สำนักข่าว Reuters รายงาน Apple ได้เปิดตัวร้านค้าออนไลน์ […] More

The post Apple เปิดร้านค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์ม WeChat ของจีน appeared first on iMoD.

ไม่เด่นแค่รับงานโครงการ! Loxley รุกธุรกิจเทรดดิ้งเต็มตัว สิ้นปี 2022 กินรายได้สัดส่วน 38%

Brand Inside - 12 July 2023 - 13:29

บมจ. ล็อกซเล่ย์ เดินหน้าธุรกิจเทรดดิ้งเต็มตัว เผยสิ้นปี 2022 ทำรายได้ 4,831 ล้านบาท กินสัดส่วน 38% ของรายได้รวม มากที่สุดในทุกกลุ่มธุรกิจ ช่วยขับเคลื่อนกลยุทธ์เพิ่มสัดส่วนรายได้ประจำ ลดความเสี่ยงจากแค่รับงานโครงการ ล่าสุดเปิด WaQ Yakiniku ร้านอาหารปิ้งย่างเพิ่มเป็น 4 สาขา

Loxley

ล็อกซเล่ย์ กับการรุกธุรกิจเทรดดิ้ง

สุรช ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ล็อกซเล่ย์ เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา บริษัทได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจจากผู้ประกอบธุรกิจที่มีความหลากหลาย พยายามตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในทุกเรื่อง มาเป็นการให้ความสำคัญใน 5 กลุ่มธุรกิจหลักที่มีความชำนาญ ประกอบด้วย

  • ธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศ
  • ธุรกิจพลังงาน
  • ธุรกิจเน็ตเวิร์คโซลูชั่นส์
  • ธุรกิจบริการ
  • ธุรกิจเทรดดิ้ง

สำหรับ 3 กลุ่มธุรกิจแรกจะดำเนินงานธุรกิจในลักษณะงานโครงการเป็นหลัก ส่วนอีก 2 ธุรกิจที่เหลือจะเป็นการสร้างรายได้ประจำ (Recurring) ซึ่งงานโครงการอาจมีความไม่แน่นอน ผ่านความเสี่ยงภายนอกที่บริษัทไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้การขับเคลื่อนธุรกิจสร้างรายได้ประจำจึงมีความสำคัญมากขึ้น

“ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สายธุรกิจเทรดดิ้งมียอดขายเติบโตแบบก้าวกระโดด ปี 2022 ธุรกิจเทรดดิ้งมีรายได้ 4,831 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนถึง 38% ของรายได้รวม 13,220 ล้านบาท มากที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มธุรกิจอื่น เนื่องจากการขยายธุรกิจเดิมที่มีอยู่ และสร้างธุรกิจใหม่ที่ส่งเสริมหรือเกื้อหนุนธุรกิจหลักที่ทำอยู่”

Loxleyสุรช ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ล็อกซเล่ย์ รู้จักฝั่งธุรกิจเทรดดิ้งของ ล็อกซเล่ย์

ธุรกิจเทรดดิ้งของ ล็อกซเล่ย์ จะแบ่งธุรกิจผ่านกิจการ บริษัท ล็อกซเล่ย์ เทรดดิ้ง จำกัด เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น น้ำมันพืชกุ๊ก, ถั่วลันเตาอบกรอบกรีนนัท, น้ำปลาทิพรส และนมหนองโพ เป็นต้น และเริ่มปรับไปสู่ผู้ร่วมลงทุนเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มโอกาสธุรกิจใหม่

นอกจากนี้ยังมี บริษัท แอล ฟู้ดโซลูชันส์ จำกัด ให้บริการด้านร้านอาหาร และบริษัท สยามสมุทรวาริน จำกัด ดำเนินธุรกิจนำเข้าวัตถุดิบอาหารเพื่อจำหน่ายให้กับกลุ่ม HoReCa (โรงแรม ร้านอาหาร และธุรกิจจัดเลี้ยง) โดยรายได้กลุ่มธุรกิจเทรดดิ้งในไตรมาส 1 ปี 2023 ทำรายได้ทั้งหมด 796 ล้านบาท กินสัดส่วน 30% จากรายได้รวม

อย่างไรก็ตามธุรกิจเทรดดิ้งไตรมาส 1 ปี 2023 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2022 จะลดลงราว 500 ล้านบาท เนื่องจากเกิดการหดตัวของความต้องการสินค้าน้ำมันพืชที่ผลิตจากถั่วเหลือง และการแข่งขันในสินค้ากลุ่มเคมีภัณฑ์ที่มีมากกว่าเดิม

Loxley

เปิดร้านอาหารใหม่ต่อยอดกลยุทธ์

นอกจากตัวแทนจำหน่าย และการเป็นผู้ลงทุน ล็อกซเล่ย์ ยังมี บริษัท แอล ฟู้ดโซลูชันส์ จำกัด เป็นผู้ให้บริการร้านอาหารไทย ตำรับกูร์ และร้านวาคิว ยากินิคุ บุฟเฟ่ต์ปิ้งย่างสไตล์ญี่ปุ่น เปิดให้บริการมา 11 ปี มีทั้งหมด 3 สาขา ล่าสุดเปิดสาขาที่ 4 ที่ศูนย์การค้าเอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟร้อนท์ เพิ่ม

“โอกาสจากนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่เริ่มกลับมา และนักท่องเที่ยวไทยที่เริ่มออกมาจำหน่ายหลังเหตุการณ์โรคโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ทำให้ธุรกิจร้านอาหารสามารถเติบโตต่อไปได้ โดยสาขาใหม่นี้รองรับได้ 80 ที่นั่ง และใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ของ ล็อกซเล่ย์ เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำตลาด”

ปัจจุบัน ล็อกซเล่ย์ ยังมีภาพลักษณ์การรับงานโครงการต่าง ๆ ของหน่วยงานภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็น การดูแลงานระบบไฟจราจร, ระบบน้ำ และไฟฟ้า รวมถึงการดูแลเรื่องรักษาความปลอดภัย และคลังสินค้า ซึ่งบริษัทยังรักษาการเดินหน้าธุรกิจดังกล่าวอยู่เช่นเดิม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post ไม่เด่นแค่รับงานโครงการ! Loxley รุกธุรกิจเทรดดิ้งเต็มตัว สิ้นปี 2022 กินรายได้สัดส่วน 38% first appeared on Brand Inside.

ทรู แจ้งความผู้ปล่อยเฟคนิวส์ กรณีตัดสัญญาณมือถือ พิธา และชวนย้ายค่ายไปแบรนด์คู่แข่ง

Brand Inside - 12 July 2023 - 11:17

ทรู ดำเนินคดีขบวนการเฟคนิวส์ กรณีใส่ร้ายทรูตัดสัญญาณมือถือนักการเมือง พร้อมชวนย้ายค่ายไปคู่แข่งปั้นข้อมูลเท็จหวังดึงการเมืองให้เข้าใจผิด

True, ทรู คอร์ปอเรชั่น

ทรู เดินหน้าทางกฎหมายผู้ปั่นเฟคนิวส์

จากกรณีมีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง โพสต์เฟคนิวส์ในเพจกลุ่มพรรคก้าวไกล – Move Forward Party ว่า “คุณพิธา ถูกตัด สัญญาณโทรศัพท์จากทรู Fc คุณพิธาเปลี่ยนเป็น เอไอเอสหรือยัง” ซึ่งจากการตรวจสอบอย่างละเอียดพบว่า หมายเลขดังกล่าวยังสามารถใช้งานได้ต่อเนื่องตามปกติ

ทรู ยืนยันว่า ไม่มีการตัดสัญญาณตามที่ถูกใส่ร้ายแต่อย่างใด โดยทีมงานของทรูได้ติดต่อแจ้งข้อเท็จจริงต่าง ๆโดยตรงกับแอดมินเพจกลุ่มพรรคก้าวไกล – Move Forward Party แล้ว ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีช่วยลบโพสต์ดังกล่าวด้วยความเข้าใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

เมื่อโพสต์ดังกล่าวไม่เป็นความจริง และเข้าข่าย Fake News ทรู จึงได้ดำเนินการแจ้งความเอาผิดกับผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ได้โพสต์ข้อความสร้างความเสียหายให้แก่บริษัท โดยไม่มีมูลความจริง ต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลห้วยขวาง กองบังคับการตำรวจนครบาล 1 กองบัญชาการตำรวจนครบาล เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ที่ผ่านมา

ทรู

การดำเนินการทางกฎหมายอย่างถึงที่สุด และสืบสวนต่อถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง จะเป็นกรณีตัวอย่างให้สังคมหลีกเลี่ยงการใช้เฟคนิวส์ ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เป็นความผิดตาม พรบ.คอมพิวเตอร์มาตรา 14 (1) โดยการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอม

สำหรับสาเหตุที่จำเป็นต้องแจ้งความดำเนินคดี เนื่องจากข้อความที่มีการโพสต์เป็นลักษณะการโฆษณาต่อบุคคลอื่นที่ได้พบหรือได้อ่านข้อความดังกล่าว อันเป็นเหตุต่อเนื่องให้มีการแสดงความคิดเห็นที่เป็นการใส่ความต่อบริษัท โดยเผยแพร่ต่อสาธารณะ ผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือโซเชียลมีเดียในเพจกลุ่มก้าวไกล

ทั้งปลุกปั่นให้เชื่อว่าบริษัทที่ประกอบธุรกิจโดยความสุจริตเป็นผู้ฝักใฝ่ทางด้านการเมือง และได้ดำเนินการกลั่นแกล้งทางการเมือง ทำให้บริษัทได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงเกียรติยศเป็นการดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง และกระทบต่อธุรกิจ บริษัทจึงจำเป็นต้องดำเนินคดีถึงที่สุด เพื่อป้องกันมิให้เกิดการกระทำที่เข้าข่ายเฟคนิวส์เช่นนี้อีกในอนาคต

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post ทรู แจ้งความผู้ปล่อยเฟคนิวส์ กรณีตัดสัญญาณมือถือ พิธา และชวนย้ายค่ายไปแบรนด์คู่แข่ง first appeared on Brand Inside.

วิธีปิด Pop-up ให้รีวิวแอป ให้คะแนนแอปบน App Store

iPhonemod - 12 July 2023 - 11:13

เวลาที่โหลดแอปมาเล่นใหม่ ๆ จะชอบมีหน้าต่าง Pop-up ให้คะ […] More

The post วิธีปิด Pop-up ให้รีวิวแอป ให้คะแนนแอปบน App Store appeared first on iMoD.

5 ข้อชวนคิด…ก่อนตัดสินใจขอสินเชื่อส่วนบุคคล

Brand Inside - 12 July 2023 - 11:12

ในวันที่เรามีปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน แต่มีเรื่องสำคัญและจำเป็นต้องใช้เงินเร่งด่วน สินเชื่อส่วนบุคคล นับเป็นหนึ่งในทางเลือกที่อาจช่วยเพิ่มสภาพคล่อง ตอบโจทย์ชีวิตคุณได้ แต่ทุกการตัดสินใจก็ย่อมมีผลตามมา เช่น ภาระหนี้สิน กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ผู้ให้บริการบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ชวนทำความรู้จักกับ สินเชื่อส่วนบุคคล ตัวช่วยในวันที่เกิดเรื่องฉุกเฉินด้านการเงิน พร้อมคำแนะนำดี ๆ เพื่อเป็นแนวทางเบื้องต้นก่อนตัดสินใจ

สินเชื่อส่วนบุคคลเป็นแหล่งเงินฉุกเฉินที่อนุมัติให้ผู้ขอสินเชื่อสามารถนำเงินก้อนไปใช้จ่ายในเรื่องที่ต้องการได้โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ในการค้ำประกันสินเชื่อส่วนบุคคลเป็นผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับกลุ่มคนวัยทำงานโดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีรายได้ประจำเช่นพนักงานบริษัทและกลุ่มเจ้าของกิจการหรือผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระเช่นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ฟรีแลนซ์เป็นต้นปัจจุบันสถาบันการเงินต่างๆนำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อส่วนบุคคลหลากหลายรูปแบบเพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าโดยหนึ่งในผลิตภัณฑ์ยอดนิยมคือ ‘บัตรกดเงินสด’  ทั้งนี้ สถาบันการเงินจะพิจารณาให้สินเชื่อจากวงเงินที่ต้องการขอ, เอกสารหรือข้อมูลแสดงรายได้, ภาระหนี้สินในปัจจุบัน รวมทั้งประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมาของผู้ขอสินเชื่อ

แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าสินเชื่อส่วนบุคคลเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะกับเราหรือไม่และควรขอสินเชื่อเท่าไรก่อนตัดสินใจลองถามตัวเองง่ายๆกับ  ‘Checklist 5 ข้อ…ก่อนคิดขอสินเชื่อส่วนบุคคล’

อยากขอสินเชื่อไปทำอะไร ?

แนวคิดพื้นฐานก็คือ ‘คิดก่อนใช้ ใช้เท่าที่จำเป็น’ ก่อนตัดสินใจขอสินเชื่อ ลองถามตัวเองก่อนว่า ต้องการเงินก้อนนี้ไปทำอะไร จำเป็นจริง ๆ หรือไม่ เช่น ขอสินเชื่อเพื่อไปจ่ายค่ารักษาพยาบาลก้อนใหญ่ เพื่อเป็นเงินทุนในการทำธุรกิจ หรือเพื่อรีไฟแนนซ์ลดภาระดอกเบี้ย เป็นต้น และควรถามตัวเองด้วยว่า สามารถรับผิดชอบภาระหนี้สินที่จะตามมาได้หรือไม่

ควรขอสินเชื่อวงเงินเท่าไร?

ใคร ๆ ก็อยากได้เงินก้อนใหญ่ แต่ต้องคิดก่อนว่า เงินก้อนนี้จะตามมาด้วยภาระดอกเบี้ยด้วยเช่นกัน การกำหนดวงเงินที่ต้องการขอสินเชื่อส่วนบุคคลให้เหมาะสมจึงเป็นเรื่องสำคัญ ปกติแล้ว วงเงินสินเชื่อที่สถาบันการเงินอนุมัติ มักจะไม่เกิน 3-5 เท่าของรายได้ โดยเราควรจะคำนวณก่อนว่า หากหักค่าใช้จ่ายประจำ ค่ากินอยู่ในแต่ละเดือนแล้ว เราต้องสามารถรับผิดชอบจ่ายคืนเงินที่ต้องผ่อนชำระในแต่ละเดือนได้โดยไม่ลำบาก หากคำนวณแล้วคิดว่าอาจผ่อนชำระไม่ไหว อาจลดวงเงินที่จะขอสินเชื่อลง หรือยืดระยะเวลาในการผ่อนชำระให้นานขึ้น เพื่อลดภาระหนี้สินในแต่ละเดือนให้บริหารเงินได้คล่องตัวขึ้น

จะชำระเงินคืนได้เมื่อไร?

เมื่อขอสินเชื่อมาแล้วอย่านิ่งนอนใจ เพราะแต่ละวันที่ผ่านไปก็หมายถึงภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ขั้นตอนต่อไปจึงควรวางแผนวิธีชำระเงินคืนและจัดสรรเงินใช้จ่ายอย่างเป็นระบบ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาชักหน้าไม่ถึงหลัง

แต่ละเดือน สามารถจ่ายคืนได้ตามกำหนดเวลาหรือไม่?

กรอบเวลาวันเริ่มและสิ้นสุดการชำระเงินคืน กำหนดให้เรารู้จักรับผิดชอบวางแผนชำระคืนให้ตรงเวลา เพราะหากพลาดไปอาจเกิดภาระดอกเบี้ยตามมา ดังนั้น ก่อนขอสินเชื่อส่วนบุคคลจึงควรมั่นใจว่าจะสามารถบริหารจัดการได้ ไม่ผิดนัดชำระเงินคืนในแต่ละเดือน โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำ เพื่อรักษาวินัยทางการเงินของตัวเองไว้

ควรวางแผนการใช้เงินในแต่ละเดือนอย่างไร?

แต่ละเดือนเราควรวางแผนการใช้เงินเพื่อให้เห็นภาพรวมการใช้จ่ายของตัวเอง อย่างน้อยที่สุดเราต้องรู้รายรับ, รายจ่าย, ยอดหนี้ที่ต้องชำระคืน หากทำแบบนี้อย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้เรารู้ความสามารถในการชำระหนี้ของตัวเอง และสามารถหาทางปลดหนี้ได้เร็วขึ้น โดยอาจหาช่องทางหารายได้เสริม หรือลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลง เพื่อประหยัดเงิน เพิ่มสภาพคล่อง เพื่อให้เราหมดภาระหนี้สินได้เร็วขึ้น

แนวทางข้างต้นไม่เพียงเป็นหลักให้คิดก่อนตัดสินใจขอสินเชื่อส่วนบุคคลเท่านั้นหากแต่ยังช่วยเพาะบ่มนิสัยสร้างวินัยทางการเงินที่ดีให้เกิดกับตัวคุณได้ด้วยเพราะท้ายที่สุดวินัยทางการเงินที่ดีจะเป็นหลักยึดให้คุณสามารถจัดการเรื่องการเงินของตัวเองได้อย่างมีสติอยู่เสมอ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post 5 ข้อชวนคิด…ก่อนตัดสินใจขอสินเชื่อส่วนบุคคล first appeared on Brand Inside.

OECD แจ้ง แรงงาน 27% ของประเทศกลุ่มสมาชิก มีความเสี่ยงสูงที่จะถูก AI ทำให้ตกงาน

Brand Inside - 12 July 2023 - 10:20

องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และการพัฒนา หรือ OECD แจ้งว่า แรงงานในกลุ่มประเทศสมาชิกมีความเสี่ยงโดยเฉลี่ย 27% ที่จะถูกการปฏิวัติของ AI ทำให้ตกงาน โดยกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกมีอาการหนักที่สุด วอนใช้นโยบายช่วยสร้างการเรียนรู้ให้แรงงานเพิ่ม

Employee

OECD มอง AI สร้างความเสี่ยงจริงให้คนตกงาน

Mathias Cormann เลขาธิการ OECD แจ้งว่า ปัจจุบันเริ่มพบข้อพิสูจน์ส่วนหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึงเหตุการณ์ AI เข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมแรงงานในระยะยาว และมีความเสี่ยงที่จะเข้ามาทดแทนแรงงานปัจจุบัน แต่ด้วยเหตุการณ์ดังกล่าวอยู่ในระยะแรก ทำให้ไม่ถูกสังเกตเห็น

แต่ OECD พบว่า 27% ของกลุ่มประเทศสมาชิกทั้งหมด 38 ประเทศ มีความเสี่ยงที่แรงงานในประเทศเหล่านั้นจะถูกทดแทนด้วย AI โดยกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกมีความเสี่ยงมากที่สุด ซึ่ง 3 ใน 5 ของแรงงานในกลุ่มประเทศสมาชิกที่ถูกสำรวจยังระบุว่า พวกเขากังวลที่จะถูกทดแทนด้วย AI ในช่วง 10 ปี จากนี้

หลักการที่ OECD ใช้วิเคราะห์คือ หากตำแหน่งงานนั้นมีการใช้ทักษะ หรือความสามารถมากกว่า 25 รายการ จากเกณฑ์ 100 รายการ ที่ AI สามารถเข้ามาช่วยทำงานผ่านระบบอัตโนมัติได้ ตำแหน่งงานนั้นจะมีความเสี่ยง ซึ่งผลการสำรวจข้างต้น OECD ทำก่อนที่จะเกิดการแพร่หลายของระบบ AI อัตโนมัติ เช่น ChatGPT

ในทางกลับกัน กลุ่มแรงงานที่ถูกสำรวจ และทำงานคู่กับระบบ AI อยู่เดิม ในสัดส่วน 2 ใน 3 กลับมองว่า การทำงานกับ AI ไม่ได้ทำให้พวกเขามีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะถูกทดแทน หรือทำให้งานของพวกเขาน่าเบื่อ ขัดแย้งกับกลุ่มที่กังวลค่อนข้างมาก

“AI จะสร้างผลกระทบกับแรงงานหนักแค่ไหน และเสี่ยงอย่างไร ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐ และองค์กร ทำให้รัฐบาลต้องช่วยเหลือแรงงานเพื่อให้พวกเขาเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลง และสร้างประโยชน์จากการเกิดขึ้นของ AI หลังจากนี้” Mathias Cormann เลขาธิการ OECD กล่าว

อ้างอิง // Reuters

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post OECD แจ้ง แรงงาน 27% ของประเทศกลุ่มสมาชิก มีความเสี่ยงสูงที่จะถูก AI ทำให้ตกงาน first appeared on Brand Inside.

พอร์ตลงทุน Temasek ปี 2022 มูลค่าลดลง 5.2% ผลกระทบ FTX กระดานเทรดคริปโตฯ ล้มละลาย

Brand Inside - 12 July 2023 - 10:06

Temasek Holdings (หรือ เทมาเส็ก) กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของสิงคโปร์ เปิดเผย ว่า มูลค่าพอร์ตการลงทุนปี 2022 ณ สิ้นเดือนมี.ค. ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง 5.2% เนื่องจากมูลค่าหุ้นที่ปรับตัวลดลงและเริ่มส่งสัญญาณถึงการระมัดระวังการลงทุนในระยะข้างหน้า เนื่องจากความท้าทายเศรษฐกิจมหภาคที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ พอร์ตการลงทุนของ Temasek ในปี 2022 มีทรัพย์สินอยู่ที่ 382,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือราว 9.90 ล้านล้านบาท* ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่มีทรัพย์สินรวม 403,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือราว 10.45 ล้านล้านบาท*

โดยปี 2022 นี้กองทุนมีผลตอบแทนพลิกขาดทุนที่ 5.07% ต่างจากปีก่อนหน้าที่มีกำไร 5.81% เพราะได้รับผลกระทบจากกรณีการขาดทุน 275 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือราว 9,565 ล้านบาท**) หลังการลงทุนในธุรกิจ FTX กระดานซื้อขาย Cryptocurrency ที่ล้มละลาย

ทั้งนี้ พอร์ตการลงทุนส่วนของบริษัทในสิงคโปร์ยังคงเข้มแข็ง ส่วนการลงทุนตรงทั่วโลกของพอร์ตกลับมีผลตอบแทนสวนทางจากการประเมินมูลค่าที่สูงช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี Healthcare  และระบบการชำระเงิน หลังจากมูลค่าหุ้นมีการปรับฐานในช่วงที่ภาวะอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ด้าน Temasek มองว่า ระยะข้างหน้า หนึ่งในความท้าทายหลักคือ สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจมหภาค ทั้งอัตราเงินเฟ้อที่ยังยืดเยื้อแม้ธนาคารกลางหลักทั่วโลกต่างปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับสูงแล้ว ความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ทวีความรุนแรงขึ้น รวมถึงนโยบายของประเทศต่างๆ ที่เน้นการพัฒนาในประเทศมากขึ้น ทั้งหมดนี้นำสู่การเปลี่ยนแปลงทิศทางเศรษฐกิจโลก ให้ต่างจากการ Globalisation ที่ช่วยสร้างการเติบโตให้เศรษฐกิจโลกตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ พอร์ตการลงทุนของ Temasek ในปี 2022 มีการลงทุนเพิ่ม 31,000 ล้าน ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 8.41 แสนล้านบาท*) แต่ก็มีการถอนการลงทุนราว 27,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 7.00 แสนล้านบาท*) ในปีที่ผ่านมา เนื่องจากบริษัทเริ่มต้องระมัดระวังในการลงทุนท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นทั่วโลก และข้อตกลงทางธุรกิจทั่วโลกที่ปรับตัวลดลงเนื่องจากสภาพคล่องที่ตึงตัว

โดยสัดส่วนหลักของพอร์ตการลงทุนของ Temasek ในปี 2022 สัดส่วนใหญ่กว่า 63% ยังลงทุนในเอเชีย ทั้งนี้มีสัดส่วนการลงทุนสูงสุดใน 3 ตลาด ได้แก่ สิงคโปร์ 28% จีน 22% และสหรัฐ 21%​

*อัตราแลกเปลี่ยนที่ 25.93 บาท/ดอลลาร์สิงคโปร์ ณ วันที่ 11 ก.ค. 2023
**อัตราแลกเปลี่ยนที่ 34.78 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 11 ก.ค. 2023

ที่มา – CNA

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post พอร์ตลงทุน Temasek ปี 2022 มูลค่าลดลง 5.2% ผลกระทบ FTX กระดานเทรดคริปโตฯ ล้มละลาย first appeared on Brand Inside.

Apple แพลนจะปล่อยแพตช์ความปลอดภัยฉุกเฉินอีก เพราะผู้ใช้เข้าเว็บบางเว็บไม่ได้

MacThai - 12 July 2023 - 10:00

หลังจากแอปเปิลปล่อยอัปเดตแพตช์ความปลอดภัยฉุกเฉิน หรือ  Rapid Security Responses ครั้งแรกไปเมื่อวาน เพื่ออุดช่องโหว่การโจมตีทั้งบน iOS, iPadOS, และ macOS ตอนนี้ก็แพลนจะปล่อยแพตช์เดียวกันครั้งที่ 2 แล้ว เพราะผู้ใช้บางคนเข้าบางเว็บไซต์ไม่ได้

โดยแพตช์ที่ออกมาครั้งก่อน คือ  iOS 16.5.1 (a), iPadOS 16.5.1 (a), และ macOS Ventura 13.4.1 (a) ซึ่งจะสังเกตได้ว่ามีตัว a กำกับอยู่ เพื่อบ่งบอกเวอร์ชันนั่นเอง แต่ระบบปฏิบัติการเวอร์ชัน a ยังมีจุดบกพร่องอยู่

เพราะเว็บไซต์บางเว็บมีการเช็กเลขเวอร์ชันของเบราว์เซอร์ ทำให้เลเวอร์ชันที่สูงกว่ากำหนดไม่สามารถเปิดใช้งานได้ และโปรแกรมของระบบเว็บไซต์ก็อ่านเลขเวอร์ชันผิดพลาดด้วยเช่นกัน ทำให้มีการแจ้งเตือนบนเว็บแสดงขึ้นมาว่าไม่รองรับเบราว์เซอร์นี้

ซึ่งกรณีนี้อาจไม่ใช่ความผิดพลาดของแอปเปิลโดยตรง แต่ก็มีการแก้ไขเพื่อระบุเลขเวอร์ชันของการอัปเดตแพตช์ใหม่เร็ว ๆ นี้อย่างแน่นอน เพื่อไม่ให้กระทบต่อการใช้งานของสาวกแอปเปิลอีก

สำหรับใครที่ติดตั้งไปแล้ว สามารถลบออกได้ด้วยขั้นตอน ตามนี้

สำหรับ iPhone และ iPad

  • เปิดการตั้งค่า
  • เลือก About หรือ เกี่ยวกับ
  • เลือกเวอร์ชัน iOS ที่ใช้งานอยู่
  • แตะไปที่ “ลบการตอบสนองด้านความปลอดภัย” แล้วกดยืนยันเพื่อลบอีกครั้ง

สำหรับ Mac

  • เปิดเมนู
  • เลือก About Mac หรือ เกี่ยวกับ Mac
  • จากนั้นเลือกข้อมูลเพิ่มเติม หรือ More Information
  • คลิกที่ปุ่ม (i) ที่อยู่ถัดจากหมายเลขเวอร์ชัน
  • แตะไปที่ “Remove and Restart” เพื่อลบ และรีเครื่องใหม่
  • สุดท้ายกดยืนยันตัวเลือก

ซึ่งการอัปเดตแพตช์ฉุกเฉนของแอปเปิล โดยปกติแล้วออกแบบมาเพื่อให้ผู้ใช้ iPhone, iPad และ Mac ได้รับการแก้ไขด้านความปลอดภัยโดยไม่จำเป็นต้องติดตั้งการอัปเดตซอฟต์แวร์แบบเวอร์ชันเต็ม

ฉะนั้นการอัปเดตแพตช์เวอร์ชัน a ที่เผยช่องโหว่ WebKit ที่ใช้งาน ทำให้ไม่สามารถโหลด หรือใช้งานเว็บเบราว์เซอร์นั้น ๆ ได้นั่นเอง

ที่มา – MacRumors

The post Apple แพลนจะปล่อยแพตช์ความปลอดภัยฉุกเฉินอีก เพราะผู้ใช้เข้าเว็บบางเว็บไม่ได้ appeared first on Macthai.com.

ปัญหาใหม่ ที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของญี่ปุ่น: คนสูงวัยเสียชีวิตนานแล้ว ไม่มีคนรู้ ไม่มีทายาทรับมรดก

Brand Inside - 11 July 2023 - 22:51

Aging Society หรือสังคมสูงวัยกำลังเป็นปัญหาใหม่ ปัญหาใหญ่ของญี่ปุ่น

อย่างที่เรารู้กันดีว่า ปัญหาใหญ่ที่กำลังเป็นประเด็นสำคัญในญี่ปุ่นคือเรื่องสังคมสูงวัย ขณะเดียวกันคนเกิดใหม่ก็มีน้อยเหลือเกิน แต่ตอนนี้ปัญหาสืบเนื่องจากคนสูงวัยที่เริ่มมีมากขึ้นก็คือ เมื่อถึงคราวที่ผู้สูงวัยเสียชีวิตแล้ว นอกจากหาคนรับช่วงหรือสืบทอดต่อไม่ได้ ก็คือ ไม่มีคนรับมรดกที่เหลือไว้ของคนก่อนหน้า

Older Japanese, คนสูงวัย, ญี่ปุ่น

บทความจาก Japan Times เล่าถึงบรรยากาศการเคลียร์หรือการทำความสะอาดอพาร์ทเมนท์ขนาด 3 ห้องในญี่ปุ่น สิ่งที่ผู้เสียชีวิตทิ้งไว้หลังจากลาโลกไป มรดกหรือสิ่งของที่ทิ้งไว้ต่างหน้า คือบรรยากาศแห่งความเศร้า ความหดหู่ชนิดที่มีแต่ผู้ทำความสะอาดพื้นที่หลังผู้ตายจากไปหลายเดือนเท่านั้นที่จะสามารถสัมผัสหรือเข้าใจความรู้สึกได้

ญี่ปุ่นไม่ได้เพิ่งมีเรื่องผู้สูงวัยเสียชีวิตจากไปแล้วไม่มีคนรู้ กว่าเจ้าหน้าที่จะไปเจอก็หลายเดือน นี่เป็นเรื่องที่เกิดมาได้พักใหญ่ แต่ญี่ปุ่นก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้

เคยมีการประเมินว่าผู้สูงวัยที่ใช้ชีวิตอยู่คนเดียวจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นราว 8.42 ล้านคนภายใน 12 ปี หรือประมาณปี 2035 มากกว่าเดิม 1.3 เท่า แน่นอนว่าด้วยจำนวนเท่านี้ ย่อมทำให้พบเจอสถานการณ์ที่คนสูงวัยอยู่ลำพังจะเสียชีวิตโดยไม่มีใครรู้อีกจำนวนมากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นวัตกรรมจำนวนมากที่ภาคเอกชนพยายามคิดค้นและประดิษฐ์ขึ้นมา มักจะเป็นมาตรการที่ช่วยให้เกิดการสังเกต สังเกตความผิดปกติของบ้านที่มีความไม่เคลื่อนไหว ไม่มีผู้คนเนิ่นนานอาจมีการเสียชีวิตเกิดขึ้น มีแต่มาตรการให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินเพื่อให้ความช่วยเหลือทัน

แต่ไม่มีการ Track ให้รู้ล่วงหน้าว่าอาจเริ่มมีเหตุการณ์ไม่ปกติเกิดขึ้น ไม่มีการเตือนภัยใดๆ ที่ทำให้รู้ว่าจะมีคนเสียชีวิตล่วงหน้า เช่น อายุระดับนี้ใกล้ถึงความเสี่ยงแล้ว ต้องระวัง โดยปกติเราย่อมไม่อาจรู้ได้ว่าใครจะเสียชีวิตวันไหนล่วงหน้า แม้ผู้เสียชีวิตเองก็ไม่อาจรู้ตัวได้ แม้จะมีความป่วยกระเสาะกระแสะติดตัว แต่ถ้าวันไหนวูบล้มลง ก็ไม่อาจใช้ปุ่มฉุกเฉินได้ทันท่วงที

นี่จึงเป็นปัญหาที่หาทางออกไม่ได้ เว้นแต่จะมีผู้คนคอยเยี่ยมเยือนทุกวัน หรือมีระบบ Track ที่ต้องทำให้รู้ว่าบุคคลนั้นๆ เริ่มมีความปกติแล้ว วันนี้ไม่ทักมาอาจมีเหตุผิดปกติ เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องนี้ หากไม่มีญาติมิตรที่สนิทกันมากพอ ก็ไม่สามารถแก้ได้ เว้นแต่รัฐจะออกแบบระบบให้สามารถดูแลคนได้ทั่วถึงมากขึ้น คล้าย Telemedicine ที่ต้องมีแพทย์คอยทักทายติดตามชีวิตผู้สูงอายุที่ใช้ชีวิตลำพังทุกวันและสังเกตความเปลี่ยนแปลงทางสุขภาพที่เกิดขึ้นได้ ก็อาจจะพอทำให้ปัญหาดังกล่าวคลี่คลายได้บ้างไม่มากก็น้อย

ทั้งนี้ การสำรวจสำมะโนประชากรแห่งชาติเผยให้เห็นว่า ปี 2020 มีครัวเรือนที่มีประชากรอาศัยอยู่คนเดียว 21.1 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2015 อยู่ที่ 14.8% จากการสำรวจพบว่า มีผู้สูงวัยเป็นจำนวน 1 ใน 3 ของกลุ่มประชากรที่อยู่คนเดียว หรือประมาณ 6.72 ล้านคน ซึ่งเป็นผู้สูงวัยที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ขณะเดียวกัน จำนวนการแต่งงานในปี 2022 อยู่ที่ 519,823 ราย มีอัตราที่ลดลงจากปี 2000 อยู่ที่ 35%

รัฐบาลได้สำรวจจากปี 2021 พบว่า มีผู้ชายราว 17.3% และผู้หญิงราว 14.6% ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีถึง 34 ปี ไม่ได้มีความต้องการที่จะแต่งงาน ซึ่งก็ถือเป็นการส่งสัญญาณว่าจะมีครัวเรือนที่จะมีประชากรอาศัยอยู่คนเดียวเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ด้วยแนวโน้มดังกล่าวส่งผลให้ปีงบประมาณ 2021 ที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นได้รับทรัพย์สินที่ถูกทอดทิ้งจากผู้เสียชีวิตที่ไร้ทายาทมากเป็นประวัติการณ์ถึง 6.47 หมื่นล้านเยนหรือประมาณ 1.65 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 7.8% เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าเทียบจาก 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งตามกฎหมาย เมื่อมีผู้เสียชีวิตและไม่มีพินัยกรรม ญาติหรือลูกหลานห่างๆ ก็สามารถได้รับการพิจารณาให้เป็นทายาทรับมรดกได้ แต่เมื่อใดก็ตามที่ไม่มีทายาทและไม่มีการเตรียมการด้านพินัยกรรมไว้ ศาลครอบครัวก็สามารถแต่งตั้งผู้ดูแลมรดก เพื่อจัดการทรัพย์สินได้ หากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ร้องขอไว้

Japan

อย่างไรก็ตาม หากมีผู้ที่ต้องการดูแลมรดกต่อจากผู้เสียชีวิต ก็จะต้องชำระเงินล่วงหน้าแก่ศาลราว 1 ล้านเยน หรือประมาณ 2.47 แสนบาท ซึ่งตามปกติแล้วก็จะเป็นผู้ที่มีผลประโยชน์โดยเฉพาะ ผู้ที่มีสิทธิเรียกร้องจากผลประโยชน์ดังกล่าว ซึ่งในความเป็นจริงก็มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่มาก เช่น บัญชีเงินฝากที่ไม่ได้มีการเคลื่อนไหวมานานเป็นสิบปีหรืออาจจะนานกว่านั้น ซึ่งในแต่ละปีนั้น มีบัญชีธนาคารที่มีมูลค่าราว 1.2 แสนล้านเยนหรือประมาณ 2.96 หมื่นล้านบาทที่ไม่มีการเคลื่อนไหว ซึ่งรัฐก็มีการออกกฎหมายใหม่ให้สามารถใช้เงินส่วนนี้เพื่อเป็นทุนในการสนับสนุนองค์การที่ทำกิจการแบบไม่แสวงผลกำไรได้

Kodokushi หรือ การตายอย่างโดดเดี่ยวในญี่ปุ่น

เรื่องการตายอย่างโดดเดี่ยวนี้ รายงานจาก Japan Times ยกตัวอย่างถึงตึกที่เป็นอาคารเคหะของญี่ปุ่นที่เรียกว่า “Danchi” ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุด เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้คนช่วงนั้นที่กำลังอยู่ในภาวะขาดแคลนบ้าน

จากนั้นในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์เริ่มเกิดภาวะฟองสบู่ ทำให้สถานที่แห่งนี้มีไว้เพื่อรองรับคนสูงวัย คนรายได้น้อย และคนทุพพลภาพ

ที่อยู่อาศัยแห่งนี้มีประมาณ 251,000 ยูนิต ด้าน Yoshio Nakagawa ผู้อำนวยการด้านการจัดการการเคหะของเมืองหลวง ระบุว่า จำนวนคนสูงวัยเพิ่มขึ้นในย่านนี้อย่างมาก

  • ปลายเดือนมีนาคมปี 2022 ที่ผ่านมา มีผู้สูงวัยอยู่ราว 52,886 ราย หรือประมาณ 24.9% ของครัวเรือนทั้งหมด เป็นผู้เช่าที่ที่อายุตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไปที่อาศัยอยู่เพียงลำพัง อัตราดังกล่าว ถือว่ามีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อ
  • ปี 2021 ก่อนหน้านี้อยู่ที่ 24.2%
  • ส่วนปี 2020 อยู่ที่ 23.6%

ผู้อำนวยการ Nakagawa กล่าวว่า Kodokushi หรือการเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวในญี่ปุ่น ส่วนมากมักจะเกิดกับคนสูงวัยที่อายุ 76 ปีขึ้นไป

เราจะพบว่าพวกเขามักจะเสียชีวิตในบ้านพักของตัวเอง หรือพบว่าไม่มีการเคลื่อนไหวนานเป็นวัน เป็นสัปดาห์ เป็นเดือน ซึ่งในปีงบประมาณ 2019 ญี่ปุ่นพบผู้สูงวัยเสียชีวิตเพียงลำพัง 580 ราย ขณะที่ปี 2021 มีผู้เสียชีวิตราว 675 ราย

นั่นหมายความว่า ในทุกๆ วันจะมีผู้สูงวัยเสียชีวิตอย่างน้อยราว 2 คนในอพาร์ทเมนท์ของตัวเอง

หลังพบว่าผู้เช่าห้องเสียชีวิต และทางการไม่สามารถติดต่อญาติได้ รัฐจะติดประกาศที่ประตูและเฝ้ารออย่างน้อย 1-2 เดือนเพื่อให้ญาติผู้ใกล้ชิดติดต่อกลับมา เมื่อไม่มีการตอบสนองใดๆ กลับมา ทางการจะเปลี่ยนกุญแจห้องพักนั้นและติดป้ายแจ้งเตือนเป็นเวลา 3 เดือนก่อนจะเคลื่อนย้ายสิ่งของของผู้เสียชีวิตออกไปโดยผู้เชี่ยวชาญในการทำความสะอาด จากนั้นจึงย้ายสิ่งของไปจัดเก็บ

ทั้งหมดนี้ใช้เวลา 6 เดือน ก่อนที่จะปล่อยให้ผู้เช่ารายใหม่เข้าพักต่อได้

แน่นอนว่ากำหนดการอาจไม่ได้เป็นไปตามที่กล่าวมาทั้งหมด หมายความว่าอาจล่าช้ากว่า 6 เดือนบ้าง ดังนั้นสังคมจึงได้พบเห็น Akiya หรือบ้านที่ถูกทิ้งร้างเกลื่อนญี่ปุ่นไปหมด เมื่อผู้สูงวัยเสียชีวิตจากไปเงียบๆ โดยที่ญาติไม่รับรู้หรือติดต่อญาติไม่ได้

ยังไม่จบแค่นี้ บ้านที่ถูกทิ้งร้างทั้งหลายจะถูกปกคลุมด้วยพืชไม้เลื้อย สัตว์บางชนิด จนถูกขนานนามว่าเป็นบ้านของสัตว์หรือที่อยู่อาศัยของสัตว์ต่างๆ ที่มาอยู่แทนหลังจากไม่มีคนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นแมว แรคคูน หมา หรือพืชพันธุ์ต่างๆ ที่เลื้อยปกคลุมบ้าน จากผลสำรวจในปี 2018 พบว่า Akiya หรือบ้านที่ถูกทิ้งร้างมีจำนวนมากราว 50,250 หลัง ในที่นี้หมายรวมถึงอพาร์ทเมนท์ด้วย

JapanPhoto by Claudio Guglieri on Unsplash “บ้านของเหล่าสรรพสัตว์”

คือบ้านที่ถูกทิ้งไว้กลางย่านที่อยู่อาศัยของกลุ่มผู้มั่งคั่งในญี่ปุ่น ไม่มีใครรู้เหตุผลแน่ชัดว่าทำไม เจ้าของทรัพย์สินถึงไม่ขายออกไป เพราะนี่เป็นย่านที่อยู่อาศัยที่เป็นทำเลชั้นดีซึ่งห่างออกมาจากมหาวิทยาลัย Komazawa ในโตเกียวไม่กี่นาทีเท่านั้น ซึ่งการรื้อบ้านนั้นมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง แม้จะมีการให้สิทธิลดหย่อนภาษีมานานหลายทศวรรษเพื่อส่งเสริมให้มีการก่อสร้างเพิ่มมากขึ้น ซึ่งภาษีทรัพย์สินสำหรับพื้นที่ว่างเปล่านี้สูงราวหกเท่าของจากระดับราคาอาหาคารที่ไม่สนับสนุนให้มีการรื้อถอน

นอกจากนี้ ก็ยังมีมาตรการอีกมากที่รัฐพยายามสนับสนุนเพื่อให้จัดการกับปรากฏการณ์ดังกล่าว เช่น เงินอุดหนุนสำหรับเจ้าบ้านที่ยินดีรื้อบ้านที่ทรุดโทรมทิ้งไป ซึ่งแน่นอนว่าความพยายามรื้อบ้านก็เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ

ปัญหามากมายจากการตายโดยญาติไม่รับรู้ บ้านถูกทิ้งร้างจนกลายเป็นบ้านแห่งสรรพสัตว์นั้น ทางการได้ประเมินออกเป็น 4 ประเภทเพื่อประเมินสภาพบ้าน  เช่น บ้านที่มีความเสียหายอย่างหนัก หรือบ้านที่อยู่ในสภาพอันตราย หมายความว่าอาจจะพร้อมถล่มลงมาเมื่อไรก็ได้ที่อาจสร้างความอันตรายต่อผู้อื่นได้ เหล่านี้จะถูกระบุว่าเป็น “บ้านว่าง” หรือ “บ้านว่างที่ถูกระบุไว้” (Specified vacant houses) ตามกฎหมายปี 2015

ข้อกำหนดดังกล่าวอาจนำไปสู่การที่รัฐสามารถออกคำแนะนำและคำสั่งแก่ผู้เป็นเจ้าของบ้านได้ หากพบว่าไม่มีการปรับปรุง ก็อาจถูกปรับ ซึ่งก็เป็นไปตามคำสั่งจากการบังคับทางปกครอง หลายกรณีที่เคยเกิดขึ้นพบว่า เจ้าของบ้านเสียชีวิตไปแล้วแต่ครอบครัวหรือญาติไม่รับรู้ว่าพวกเขาจะได้มรดกดังกล่าวตกเป็นทรัพย์สินของตนเอง และการสำรวจสิทธิอันชอบธรรมที่ทายาทพึงได้ก็เป็นเรื่องที่มีกระบวนการซึ่งต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก

บ้านที่ถูกทิ้งร้าง คงสภาพเดิม = รักษาคุณค่าบางอย่างทางจิตใจ

นอกจากการหาเหตุผลเพื่อตอบคำถามที่ชัดเจนไม่ได้ว่า ทำไมเจ้าของถึงไม่ขายบ้านทิ้งหรือปล่อยเช่า ก็คือเหตุผลทางจิตวิทยาที่รัฐได้ทำการศึกษาเมื่อปี 2015 นั้น พบว่า ราว 1 ใน 3 ของเจ้าของบ้านตั้งใจจะเก็บรักษาบ้านนั้นๆ ไว้ในสภาพเดิม นี่คืออีกเหตุผลหนึ่งที่พวกเขาต้องการเก็บบ้านที่เต็มไปด้วยความทรงจำ ความสัมพันธ์ ภาพจำของเหล่าสมาชิกในครอบครัวไว้ให้เป็นแบบเดิม คงเดิมไว้เช่นนั้น

ที่มา – Japan Times

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post ปัญหาใหม่ ที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของญี่ปุ่น: คนสูงวัยเสียชีวิตนานแล้ว ไม่มีคนรู้ ไม่มีทายาทรับมรดก first appeared on Brand Inside.

เจาะอนาคต ไทยลีก 1 จากที่สมาคมบริหารจนลิขสิทธิ์เหลือ 50 ล้านบาท สู่การให้สโมสรไปขายกันเอง

Brand Inside - 11 July 2023 - 20:29

เป็นบทสรุปออกมาแล้วว่า ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอล ไทยลีก 1 ฤดูกาล 2023/24 สโมสรทั้ง 16 ทีม จะเป็นผู้นำสัญญาณไปถ่ายทอดในช่องทางสโมสร หรือนำไปเผยแพร่เพื่อสร้างรายได้ในการสนับสนุนสโมสร

ง่าย ๆ คือ เอาไปรับผิดชอบกันเอง เพราะ ไทยลีก 1 มีกำหนดจะเปิดฤดูกาลวันที่ 11 ส.ค. 2023 แต่ถึงตอนนี้ยังไม่มีบทสรุปเรื่องใครได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด และก่อนหน้านี้มีแค่ผู้ประสงค์ยื่นประมูลในราคา 50 ล้านบาท เท่านั้น

ทำไม ไทยลีก 1 จากที่เคยเป็นกระแสในกลุ่มผู้หลงใหลฟุตบอล และคนขาจร ทั้งเคยขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดได้หลัก 1,000 ล้านบาท ถึงมีบทสรุปแบบนี้ brand inside อยากชวนมาติดตามเรื่องนี้ด้วยกัน

ไทยลีก 1

จุดเริ่มต้นของไทยลีกที่มาจากทีมองค์กร

จากจุดเริ่มต้นเมื่อปี 1996 ที่สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีความพยายามพัฒนากีฬาฟุตบอลให้เป็นอาชีพมากขึ้น จึงเกิดฟุตบอลลีกอาชีพครั้งแรกของประเทศไทยขึ้นมา โดยขณะนั้นมีทีมเข้าแข่งขัน 18 ทีม และเกือบทั้งหมดเป็นทีมจากหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนชั้นนำของประเทศ

เมื่อเป็นอย่างนี้ทำให้ทีมต่าง ๆ ยังไม่ถูกปรับให้เป็นอาชีพเต็มที่ จึงไม่แปลกที่จะไม่ได้รับความสนใจจากผู้ชม ถึงขั้นต้องจ้างตลกเข้ามาเล่นช่วงพักครึ่งเพื่อดึงดูดคนเข้าสนาม ซึ่งไม่ต้องพูดถึงเรื่องลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ที่ไม่เป็นที่สนใจของกลุ่มทุนต่าง ๆ อยู่แล้ว

ฟุตบอล ไทยลีก 1 ใช้เวลาตั้งไข่เกือบ 10 ปี จนปี 2007 เริ่มมีกระแสการรับชม ไทยลีก 1 ขึ้นมา โดยทีมที่จุดกระแสคงไม่พ้น ชลบุรี เอฟซี ผ่านการทำกองเชียร์ในสนามให้คึกคัก กระตุ้นให้ทีมอื่นเพิ่มความจริงจังของความสนุกในสนาม และการคัดเลือกนักกีฬาลงฟาดแข้ง ทั้งยังเริ่มดึงดูดผู้สนใจนำสัญญาณภาพไปถ่ายทอดบางนัดการแข่งขัน

เข้าสู่ยุคอาชีพ และความรุ่งเรืองของลีก

กระแสดังกล่าวเกิดขึ้นต่อเนื่อง และเมื่อนักกีฬาที่เก่ง, มีผู้ลงทุน, ผู้ชม และผู้สนับสนุน ไทยลีก 1 จึงได้รับความนิยมมากกว่าเดิม สวนทางกับกระแสฟุตบอลทีมชาติไทยที่ช่วงนั้นประสบปัญหาอย่างหนัก ทั้งตกรอบซีเกมส์ และนักเตะเล่นไม่เป็นทีม จนสมาคมฟุตบอลฯ ถูกกดดันจากหลายฝ่าย โดยขณะนั้น วรวีร์ มะกูดี เป็นนายกสมาคมฟุตบอลฯ

ปี 2011 เกิดเหตุการณ์สำคัญคือ กลุ่มทรูเซ็นสัญญาซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอล ไทยลีก 1 รวมมูลค่ากว่า 600 ล้านบาท กินเวลา 3 ฤดูกาล หรือตั้งแต่ฤดูกาล 2011-2013 โดยเป็นการเซ็นสัญญาต่อจากกลุ่มสยามสปอร์ตที่เพิ่งสิ้นสุดสัญญาไป แต่ยังเป็นผู้ดูแลสิทธิประโยชน์ของฟุตบอลอาชีพ และกิจกรรมอื่น ๆ ของสมาคมฟุตบอลฯ

ด้วยความสนุกของ ไทยลีก 1 และความนิยมที่ไม่ได้กระจุกแค่แฟนฮาร์ดคอร์ แต่รวมถึงขาจรด้วย กลุ่มทรูจึงทุ่มเงินอีก 1,800 ล้านบาท เพื่อซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอล 4 รายการ ประกอบด้วย ไทยลีก 1, ลีก 1, เอฟเอ คัพ และลีกคัพ 3 ฤดูกาล หรือ 2014-2016 และมีกลุ่มสยามสปอร์ตเป็นผู้รับผิดชอบผลประโยชน์

เจอโควิด และการเปลี่ยนขั้วขัดขวาง

ทุกอย่างยังไปได้สวย เพราะในปี 2015 กลุ่มทรู มีการเซ็นสัญญาลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดอีกครั้ง มีมูลค่ากว่า 4,200 ล้านบาท กินระยะเวลา 4 ฤดูกาล หรือ 2017-2020 ครอบคลุมการแข่งขัน 4 รายการ และมีตัวละครอย่างสยามสปอร์ต, วรวีร์ มะกูดี และกลุ่มทรูเช่นเดิม

อย่างไรก็ตามในปี 2016 เกิดการเปลี่ยนขั้วของสมาคมฟุตบอลฯ เพราะ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง ได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมฟุตบอลฯ คนใหม่ เกิดเหตุการณ์ที่น่าสนใจหลายเรื่อง โดยเฉพาะการเปลี่ยนผู้รับผิดชอบงานบริหารลิขสิทธิ์ต่าง ๆ ของฟุตบอลไทยที่กลายเป็น บมจ. แพลน บี มีเดีย ได้ไปแทน

ทั้งยังตัดสินใจเปลี่ยนตารางการแข่งขันจากจบในแต่ละปี เป็นเตะระหว่างปี หรือเริ่มเดือน ก.ย. จบเดือน พ.ค. ส่งผลกระทบกับปัญหาลิขสิทธิ์กับกลุ่มทรูที่ตกลงกันเป็นปี ทำให้ โดยเหตุการณ์นี้มาจากการระบาดของโรคโควิด-19 ช่วงต้นปี 2020 ทั้งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ ไทยลีก 1 เริ่มเสื่อมความนิยมหลังจากนั้น

ได้รับผู้ถือลิขสิทธิ์ใหม่ แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นดังหวัง

เมื่อเปลี่ยนขั้ว การจำหน่ายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดจึงเปลี่ยนมือไปที่ เซ้นส์ เอนเตอร์เทนเมนท์ ที่ทุ่มเงิน 12,000 ล้านบาท (แบ่งจ่าย 8 ปี) เพื่อได้สิทธิ์บริหารลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดเป็นเวลา 8 ฤดูกาล หรือตั้งแต่ฤดูกาล 2021/22-2028/29 มากขึ้นอย่างก้าวกระโดด แต่พิษโรคโควิด-19 ที่ไม่หายง่าย ๆ สุดท้ายดีลนี้จึงล่ม

เพราะปี 2021 ทางสมาคมฟุตบอลฯ ประกาศยกเลิกสัญญากับ เซ้นส์ เอนเตอร์เทนเมนท์ เพราะคู่สัญญาไม่ทำตามที่ตกลง จนสมาคมฟุตบอลฯ ต้องไปหาใครสักคนมาช่วย ซึ่งสุดท้ายเป็น AIS ที่เข้ามาอุ้ม และมีรายงานว่า AIS ได้สิทธิ์ไปในราคาราว 800 ล้านบาท กินระยะเวลาเพียง 1 ฤดูกาล หรือ 2021/22

ส่วนฤดูกาล 2022/23 ทาง AIS ได้สิทธิ์ไปอีกเช่นเดียวกัน แต่ยังไม่มีการเปิดเผยค่าลิขสิทธิ์ ส่วนฤดูกาล 2023/24 ที่จะเริ่มการแข่งขันในวันที่ 11 ส.ค. 2023 ก่อนหน้านี้มีรายงานข่าวว่ามีผู้เสนอราคามาเพียง 50 ล้านบาท/ฤดูกาล ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบมูลค่าลิขสิทธิ์ก่อนหน้านี้

ตกต่ำจนต้องให้สโมสรไปบริหารเอง

AIS รายงานว่า ตัวเลขผู้ชมฟุตบอลสด และย้อนหลังของการแข่งขันฟุตบอลทีมชาติไทยและไทยลีก ผ่านการรับชมจากแพลตฟอร์ม AIS PLAY ในทั้ง 2 ฤดูกาลที่ผ่านมา มียอดคนดูกว่า 11.66 ล้านคน และยอดวิวรวมกว่า 1,000 ล้านวิว ทั้งยังมีเรตติ้งเฉลี่ยมากกว่าลีกสูงสุดฟุตบอลอังกฤษ และลีกสูงสุดฟุตบอลเยอรมนี

อย่างไรก็ตามแม้จะมากขนาดนี้ แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครสนใจจนสมาคมฟุตบอลยินดีมอบลิขสิทธิ์ให้สโมสร ไทยลีก 1 ทั้ง 16 ทีม เป็นผู้นำสัญญาณไปถ่ายทอดในช่องทางของสโมสร หรือนำไปเผยแพร่เพื่อสร้างรายได้ในการสนับสนุนสโมสรตามเงื่อนไขที่สมาคมกำหนด และเห็นด้วยกับการจัดตั้งองค์กรบริหารฟุตบอลไทยลีก 1 

ส่วนลีกล่าง หรือรายการอื่น ๆ ทางสมาคมจะพยายามหาช่องทางการถ่ายทอดสดให้ได้ ซึ่งน่าสนใจว่า การตัดสินใจแบบนี้ของสมาคมจะช่วยให้ทั้ง 16 สโมสรสามารถสร้างรายได้จากค่าลิขสิทธิ์มากแค่ไหน เพราะตัวราคา 50 ล้านบาท ที่ยื่นเข้ามา ยังมีราคาน้อยกว่าค่าตัว เมสซี่เจ ที่ย้ายจากญี่ปุ่นมาร่วมทีมบีจี ปทุม ด้วยราคา 70 ล้านบาท

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post เจาะอนาคต ไทยลีก 1 จากที่สมาคมบริหารจนลิขสิทธิ์เหลือ 50 ล้านบาท สู่การให้สโมสรไปขายกันเอง first appeared on Brand Inside.

เอะอะก็ของมันต้องมี! รู้จักกลุ่ม HENRY ทำรายได้สูง แต่ค่าใช้จ่ายเยอะจนไม่เหลือเงินเก็บ

Brand Inside - 11 July 2023 - 17:03

ตอนเงินเดือนน้อย ก็อาจจะคิดว่า ถ้าเงินเดือนเยอะ เราน่าจะมีเงินเก็บเยอะขึ้น ชีวิตดีขึ้น แต่หลายๆ คนกลับเจอสถานการณ์ที่ เงินเดือนเยอะแล้ว ค่าใช้จ่ายก็เยอะตาม ไม่ว่าจะที่จำเป็นหรือสิ้นเปลือง

ถ้าชีวิตคุณเป็นแบบนี้อาจเข้าข่ายอยู่ในกลุ่ม HENRY ที่ย่อมาจาก High Earner, Not Rich Yet ที่ใช้เรียกกลุ่มคนที่ทำรายได้สูง แต่ใช้ชีวิตแบบค่อนข้างกินหรูอยู่แพงจนค่าใช้จ่ายมากตามเงินเดือน ไร้เงินเก็บ ถ้าไม่ทำงานก็ไม่มีเงิน พูดง่าย ๆ ว่าเงินเดือนสูงแต่ยังไม่รวยสักที

คำว่า HENRY เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา โดย Shawn Tully เป็นผู้ใช้คำนี้เป็นคนแรกในบทความนิตรสาร Fortune เมื่อปี 2003 Melkorka Licea เขียนบทความลงใน New York Post อธิบายว่า คนกลุ่มนี้มักจะเป็นคนที่มีรายได้อย่างน้อย 100,000 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3.5 ล้านบาท) ต่อปีหรือเป็นคู่รักที่มีรายได้รวมกัน 150,000 เหรียญสหรัฐ (ราว 5.3 ล้านบาท) ต่อปีและส่วนใหญ่เป็นชาว Gen Y

Priya Malani ผู้ก่อตั้งบริษัทการเงิน Stash Wealth ที่มองตัวเองเป็น ‘บ้านของเหล่า HENRY’ ยังประมาณรายได้ของคนกลุ่มนี้ว่าอาจจะอยู่ที่ 70,000-500,000 ดอลลาร์หรือราว 2.4-17.4 ล้านบาทต่อปีก็ได้ 

นอกจากใช้เงินเดือนเป็นตัวจัดกลุ่มแล้ว ชาว HENRY ยังมีลักษณะสำคัญตรงที่มี ‘นิสัยรวย’ คือ มีชีวิตค่อนข้างหรูหรา สะดวกสบาย ไม่ต้องหักโหมทำงานเพื่อหารายได้ แต่กลับไม่มีเงินเก็บเพียงพอสำหรับอนาคตที่มั่นคงหากไม่มีรายได้ รายงานจากบริษัทการเงิน PYMNTS และ LendingClub เผยว่า มากกว่าครึ่งของชาวอเมริกันที่มีรายได้มากกว่า 100,000 เหรียญสหรัฐต่อปีใช้ชีวิตแบบเดือนชนเดือน

อายุส่วนใหญ่ของเหล่า HENRY จะอยู่ในช่วง Gen Y แต่จริง ๆ แล้วใคร ๆ ก็สามารถอยู่ในกลุ่มนี้ได้โดยไม่จำกัดอายุ Malani เผยว่าอายุเฉลี่ยของคนกลุ่มนี้จะอยู่ที่ 32 ปี แต่เธอมีลูกค้าเกือบทุกช่วงอายุตั้งแต่ 22-68 ปี ส่วน Gideon Drucker นักวางแผนการเงินที่บริษัท Drucker Wealth บอกว่า ลูกค้าของเขาอยู่ในช่วงอายุ 25-40 ปี

จะเป็นกลุ่ม HENRY ได้ก็ต้องเริ่มจากการมีรายได้เยอะก่อนทำให้คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในสายงานที่ทำรายได้สูงเมื่อเทียบกับสายงานอื่น ๆ อย่างสายเทคโนโลยี งานสร้างสรรค์ งานโฆษณา รวมถึงงานด้านการเงิน การแพทย์ และกฎหมาย 

HENRY มักจะมีเงินที่เก็บสะสมอยู่ราว 20,000 เหรียญหรือเกือบ 7 แสนบาทในช่วงระยะเวลาหลายปีที่เก็บสะสมมา ดูเหมือนจะเป็นเงินจำนวนมาก แต่ถ้าหากเทียบกับรายได้ปีละ 100,000 เหรียญจะเทียบเท่าเป็น 10% เท่านั้นเองและไม่ใช่การเก็บเงิน 10% ในทุก ๆ ปีแต่เป็นหลายปีรวมกันซึ่งถือว่าน้อยมาก

นอกจากนี้ คนกลุ่มนี้มักจะใช้ติดกักดักชีวิตหรูหราราคาแพงยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อมีรายได้มากขึ้นทำให้แม้จะมีรายได้เพิ่มขึ้นก็ไม่ได้ทำให้คนกลุ่มนี้สะสมความมั่งคั่งเพื่ออนาคตได้มากกว่าเดิม แถมแม้ว่าจะมีรายได้มาก แต่ HENRY โดยเฉลี่ยมีหนี้การศึกษาถึง 80,000 เหรียญหรือ 2.8 ล้านบาท มากกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศถึง 50,000 เหรียญ

ทั้งนี้ ปัญหาในเรื่องการใช้จ่ายส่วนตัวไม่ใช่ทั้งหมดที่ทำให้คนที่มีรายได้สูงไม่มีฐานะร่ำรวยสักที ส่วนหนึ่งมาจากภาวะเงินเฟ้อด้วยโดยข้อมูลของสำนักงานสถิติแรงงานของสหรัฐอเมริกาเผยว่า ปัจจุบันควรจะต้องมีรายได้ต่อปีอยู่ที่ 129,000 เหรียญหากต้องการมีกำลังซื้อเท่าผู้ที่มีเงินเดือน 100,000 เหรียญในช่วงเวลา 10 ปีก่อน เพราะตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา มีภาวะเงินเฟ้อสะสมอยู่ที่ 29%

แน่นอนว่ากลุ่ม HENRY มีอยู่โดยทั่วไปไม่ว่าจะรัฐไหนในสหรัฐอเมริกาแต่ส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตเมืองใหญ่ที่สามารถหางานรายได้สูงได้ อย่างในสหรัฐอเมริกาก็จะอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย เมืองนิวยอร์ก และกรุงวอชิงตันดีซี เป็นหลัก ในทางกลับกัน ค่าครองชีพในเมืองใหญ่ก็มักจะสูงกว่าเมืองอื่น ๆ 

SmartAsset พบว่าเมื่อคำนวณค่าใช้จ่ายภาษีรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น บวกกับค่าครองชีพที่ชาว HENRY ต้องจ่ายหากอาศัยอยู่ในเมืองนิวยอร์กแล้ว รายได้ต่อปีที่อยู่ที่ 100,000 เหรียญหรือ 2.9 แสนบาทต่อเดือน ก็รู้สึกเหมือนมีค่าเพียง 35,791 เหรียญต่อปีหรือประมาณ 1.04 แสนบาทเท่านั้น

ทั้งค่าครองชีพ ภาษี รายจ่ายจากการใช้ชีวิตที่ค่อนข้างหรูหราเลยทำให้ผู้คนที่อยู่ในกลุ่ม HENRY มีปัญหาเรื่องการหาสมดุลระหว่างการใช้ชีวิตให้เต็มที่ในปัจจุบันและการออมเงินไว้ใช้สำหรับอนาคต

Brad Klontz นักวางแผนการเงินและนักจิตวิทยาการเงินของ Creighton University แนะนำว่า วิธีที่ดีที่จะสะสมความร่ำรวย คือ การจ่ายเงินให้ตัวเองก่อนเมื่อได้รับเงินเดือนมา โดยกำหนดว่าจะเก็บออมเงินคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือนและเริ่มเก็บก่อนที่จะใช้ 

ที่มา – Business Insider, CNBC

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post เอะอะก็ของมันต้องมี! รู้จักกลุ่ม HENRY ทำรายได้สูง แต่ค่าใช้จ่ายเยอะจนไม่เหลือเงินเก็บ first appeared on Brand Inside.

Pages