Tags:
Node Thumbnail

หลังจาก Firefox 3.0.2 เวอร์ชั่นภาษาไทยเบต้าออกแล้ว ตามมาด้วย Firefox 3.0.3 อย่างรวดเร็ว มีคนสนใจเรื่องการแปลภาษาไทยมาก ผมในฐานะตัวแทนทีมแปล ก็ขอชี้แจงอย่างละเอียดดังนี้

ว่าด้วยแนวคิดในการแปลภาษาไทย

ส่วนนี้จะกล่าวถึงแนวคิดต่างๆ ในการแปลภาษาไทย เช่น ทำไมต้องแปล แปลแล้วได้อะไร

ทำไมต้องแปลภาษาไทย

คำตอบที่ชัดเจนที่สุด ผมแนะนำว่าให้เดินไปดูคอมพิวเตอร์ของห้องธุรการที่ใกล้ที่สุด ว่า Office ที่คุณพี่หรือคุณป้าธุรการใช้ เป็นภาษาอะไรครับ

ส่วนคำตอบแบบขยายความขึ้นมาหน่อย ก็ต้องบอกว่า "ไม่ใช่ทุกคนที่เก่งภาษาอังกฤษ" อย่าเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง

สมัยก่อนผมก็เคยคิดแบบนี้ว่า คนไทยอ่านภาษาอังกฤษออก จะแปลภาษาไทยไปทำไมให้งง แต่หลังจากผมได้ทำงานด้าน deployment ชุดออฟฟิศในหน่วยของรัฐไทยขนาดใหญ่หลายแห่ง (ในที่นี้คือ OpenOffice.org) ความเชื่อของผมก็สั่นคลอนอย่างรุนแรง เมื่อผมพบว่าผู้ใช้จำนวนมากไม่สามารถใช้งานโปรแกรมภาษาอังกฤษได้เลย

สรุปว่า การส่วนติดต่อผู้ใช้ภาษาไทยเป็นการ "สร้างโอกาสในการเข้าถึงคอมพิวเตอร์" ให้กับคนจำนวนมากขึ้น ถ้าตอบแบบวิชาการก็คือลด digital divide ทำลายกำแพงด้านภาษาลงไป (ถือเป็นการพัฒนาประเทศแบบอ้อมๆ อย่างหนึ่ง) มันคือการสร้าง "ทางเลือก" อันใหม่ขึ้นมาให้คนเลือก เมนูภาษาอังกฤษก็ไม่ได้หายไปไหน

ทำไมเมนูภาษาไทย ใช้แล้วไม่คุ้นเลย

อันนี้มีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ คือปกติแล้วเวลาเราอ่านเมนูภาษาอังกฤษ เราจะ "อ่าน" เพียงครั้งแรกๆ เท่านั้น พอรู้แล้วว่ามันใช้ทำอะไรได้ หลังจากนั้นเราจะใช้วิธีจำ "รูปร่าง" และ "ตำแหน่ง"​ แทนการอ่านเพื่อเอาความหมาย

ในเมื่อเราถูกฝึกให้ใช้งานเมนูภาษาอังกฤษมาตลอดชีวิตการใช้คอมพิวเตอร์ พอมาเจอเมนูภาษาไทยแค่ไม่กี่นาที มันไม่มีทางคุ้นเคยได้ในเวลารวดเร็วปานนั้น อารมณ์เดียวกับคนใช้เมาส์เปลี่ยนไปใช้ trackball หรือคนใช้วินโดวส์เปลี่ยนไปใช้แมค-ลินุกซ์

นอกจากนี้ ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่คำหนึ่งคำมีความหมายชัดเจน ไม่คลุมเครือ และใช้ตัวสะกดน้อย ในขณะที่ธรรมชาติของภาษาไทย ความหมายไม่แน่ชัดนัก (ตัวอย่างเช่น "ค่อนข้างมาก" กับ "มาก" ในภาษาไทย แทบไม่ต่างกัน) และมักอธิบายโดยใช้ประโยคหรือวลีที่ยาว

ปัญหาคือโปรแกรมที่เราใช้ส่วนมากฝรั่งเขียน และเว้นที่ในโปรแกรมไว้ให้เหมาะกับการใส่ภาษาอังกฤษ (หรือภาษาตระกูลตะวันตก) ดังนั้นคนแปลไทยจึงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากเลือกคำที่ดีที่สุดที่สั้นกระชับพอจะใส่ลงไปในเนื้อที่ขนาดเท่ากับของฝรั่งได้

นอกจาก Firefox แล้ว มีอะไรบ้างที่แปลไทย

  • Windows Starter Edition
  • Microsoft Office
  • OpenOffice.org ชุดออฟฟิศ
  • Winamp โปรแกรมฟังเพลงยอดนิยม
  • VLC โปรแกรมดูหนังยอดนิยม
  • Nero โปรแกรมเขียนซีดียอดนิยม
  • ไดรเวอร์หลายตัว เช่น ของ Nvidia
  • Filezilla โปรแกรม FTP ใช้งานได้หลายระบบปฏิบัติการ
  • Cyberduck โปรแกรม FTP บนแมคอินทอช
  • GNOME และ KDE สำหรับลินุกซ์ ซึ่งมีโปรแกรมย่อยในชุดจำนวนมาก
  • Chrome
Picasa Web Albums - LewCPE - Blognone
  • บริการหลายอันจาก Google เช่น Google Search, Gmail, Google Maps, Blogger
Google Maps
  • บริการหลายอันจาก Yahoo! เช่น Yahoo! Messenger, Yahoo! Mail, Yahoo! รู้รอบ
Yahoo! 0E230E390E490E230E2D0E1A - 0E2B0E190E490E320E2B0E250E310E01
  • บริการหลายอันจาก Microsoft เช่น Hotmail, Windows Live Messenger, Live Search
  • Facebook และ Hi5
hi5 | Your Friends. Your World.
  • CMS หลายตัว เช่น WordPress, Joomla, Mambo, Drupal, MediaWiki
  • โปรแกรมช่วยจัดการเซิร์ฟเวอร์ผ่านเว็บ เช่น phpMyAdmin หรือ Webmin
  • โปรแกรมเว็บบอร์ด เช่น SMF, Invision
  • คู่มือเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ เช่น กล้อง ทีวี
  • ส่วนติดต่อผู้ใช้ในโทรศัพท์มือถือหลายยี่ห้อ เช่น Nokia
  • ตู้เอทีเอ็ม

ถ้าใครนึกออกช่วยเพิ่มกันหน่อยครับ

กระบวนการแปล เกิดขึ้นอย่างไร

Firefox เป็นซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สที่ถูกพัฒนาโดยชุมชน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องส่วนใหญ่เสียสละเวลาว่างส่วนตัวมาพัฒนาโค้ด เขียนคู่มือ หรือแปลภาษาให้โดยไม่ได้อะไรตอบแทน ยกเว้นความสนุกและความรู้สึกดีๆ ที่ได้ลงมือทำอะไรบางอย่างให้เป็นประโยชน์ต่อคนอื่น คนที่เคยไปออกค่ายอาสาน่าจะพอนึกอารมณ์ออก

การแปลส่วนติดต่อผู้ใช้นั้นใช้ระบบอาสาสมัครเช่นกัน ปัจจุบันมีผู้สนใจการแปลภาษาไทยอยู่จำนวนหนึ่ง แยกย้ายกันแปลภาษาในโครงการโอเพนซอร์สต่างๆ จำนวนมากไม่เฉพาะ Firefox อย่างเดียว

สำหรับการแปล Firefox ทำผ่านเว็บ กระบวนการทั้งหมดเปิดเผยให้ "ผู้สนใจคนไหนก็ได้" (ถ้าสนใจนะ) เข้ามาร่วมได้ตลอด

ผมคิดว่าโครงการแปล Firefox นั้นมีความเคลื่อนไหวให้เห็นตามสื่อต่างๆ อยู่พอสมควร ประกาศทุกอันหรือทุกครั้งที่ออกสื่อก็ได้เชื้อเชิญให้ผู้สนใจมาร่วมแปลเสมอ (ซึ่งก็มีผู้สนใจมาหัด "แปลครั้งแรก" อยู่หลายคน ต้องขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วย)

คนที่มาร่วมแปล มีใครบ้าง

เท่าที่ผมทราบ

  • ผู้ใช้ซอฟต์แวร์นั้นๆ ที่ใช้โปรแกรมแล้วอยากช่วยให้โปรแกรมดีขึ้น
  • นักพัฒนา โปรแกรมเมอร์
  • นักภาษาศาสตร์ จบภาษาศาสตร์โดยตรง และทำงานด้านแปลซอฟต์แวร์มาเป็นอาชีพ
  • เว็บมาสเตอร์
  • ดีไซเนอร์
  • ผู้ประกอบกิจการด้านโฮสติ้ง
  • ผู้สนใจทั่วไป

ทีมแปลเปิดกว้างให้ทุกคนเข้าร่วมได้ ไม่ใช่วงปิด ไม่ต้องใช้เส้นสายอะไรพิเศษ แค่สมัครเข้าเมลลิ่งลิสต์ก็คุยกันได้ทันที​ ถ้าเกิดว่าไม่ได้สมัคร (จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม) แล้วบอกว่าทีมแปลปัจจุบันตัดสินใจกันเองแต่ฝ่ายเดียว ผมก็ไม่รู้จะว่ายังไงแล้วเหมือนกันครับ (คงต้องบอกว่า "มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ" แล้วล่ะ)

ใช้แล้วคำแปลไม่ถูกใจ ควรทำอย่างไร?

ผมเสนอให้

  1. สมัครเข้าเมลลิ่งลิสต์ thai-l10n ปัจจุบันขณะที่เขียน มีผู้สนใจเรื่องการแปลเข้าเป็นสมาชิกแล้ว 133 คน แล้วส่งข้อเสนอแนะเข้ามาว่า คำไหนแปลไม่ดี และควรแปลเป็นอะไร
  2. อีกทางเลือกหนึ่งคือ แจ้งบั๊กเข้ามาใน issue tracker ของโครงการแปล Firefox ภาษาไทย

แจ้งบั๊กไม่เป็น ใช้ยาก

ก่อนอื่นต้องย้ำว่า ทีมงานแปล Firefox (และซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สอื่นๆ) เป็นอาสาสมัคร ไม่มีค่าตอบแทนในการแปล หรือแก้ปัญหาในการแปล

ทีมงานแปลไม่ใช่ทีมงานสนับสนุนด้านเทคนิค ที่เราสามารถโทรไปถามได้เหมือนกับผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เราเสียเงินซื้อตัวผลิตภัณฑ์หรือบริการ

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้แปลว่าเราจะไม่สามารถคุยกับทีมงานเพื่อเสนอข้อคิดเห็นหรือแจ้งปัญหาได้

แต่...

เพื่อให้การทำงานของทีมงาน (ซึ่งทำฟรีไม่ได้อะไรตอบแทน) สะดวกมากขึ้น ไม่รบกวนเวลาในงานประจำ จึงต้องกำหนดช่องทางในการติดต่อที่มีประสิทธิภาพ ติดตามเรื่องได้ง่าย ค้นหาได้สะดวก ฯลฯ ซึ่งสรุปออกมาแล้วว่ามี 2 อย่างดังที่กล่าวไปแล้ว นั่นคือ เมลลิ่งลิสต์และ issue tracker

ทีมงานแปลได้คำนึงถึงผู้ใช้ และพยายามหาระบบแจ้งปัญหาที่ใช้งานได้ง่ายที่สุด ซึ่งมาลงตัวกับ Google Groups และ Google Code

เมลลิ่งลิสต์ใช้งานอย่างไร? สมัครแล้วเขียนอีเมล เหมือนเวลาเมลไปถามการบ้านเพื่อน

Thai Localization Group | Google Groups

issue tracker ใช้งานอย่างไร? คลิก เขียนๆ แล้วกดปุ่ม Submit issue ถ้าดูภาพประกอบด้านล่าง ง่ายกว่านับ 1-2-3

New Issue - thai-l10n - Google Code

หมายเหตุ: ก่อนแจ้งทั้งในเมลลิ่งลิสต์และ issue tracker กรุณาค้นหาก่อนว่า มีคนถามหรือแจ้งไปแล้วหรือยัง เพื่อไม่ให้งานซ้ำซ้อน

ถ้าแจ้งแล้ว ทีมงานไม่เห็นด้วย ทำยังไง?

ข้อเสนอมีได้ไม่จำกัด แต่การตัดสินใจมีเพียงหนึ่ง

ตามธรรมเนียมของวงการโอเพนซอร์ส (จริงๆ ก็ที่อื่นๆ ด้วย) คนที่มีสิทธิ์มีเสียงคือคนที่ลงแรง ระหว่างคนที่เสนอมาทางอีเมล 1 ฉบับกับคนที่ยอมอดนอนไปนั่งแปล 2-3 วัน ควรให้คนไหนเป็นคนตัดสินใจดีครับ?

ถ้าไม่พอใจจริงๆ มีทางเลือกสองทาง อย่างแรกคือ เข้ามาเป็นหนึ่งในทีมแปลที่ทุกคนยอมรับ ซึ่งหมายความว่าต้องลงแรงแปลและมีส่วนร่วมกับวงการแปลเยอะในระดับหนึ่ง ไม่ง่ายแต่ก็ไม่ยาก ทุกวันนี้มีนักแปลหน้าใหม่เข้ามาอยู่เรื่อยๆ

อย่างที่สองคือแยกไปทำเอง (fork) ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นปกติธรรมดาในแวดวงโอเพนซอร์ส (และเป็นข้อดีข้อหนึ่งของโอเพนซอร์สว่า ถ้าความเห็นไม่ลงรอยกัน ยังมีทางออกเสมอโดยการแยกไปทำเอง) อย่างไรก็ตามการแยกไปทำเองต้องใช้ทรัพยากรสูงกว่าทำร่วมกัน (เรื่องแบรนด์ก็มีผล) และโครงการโอเพนซอร์สทุกที่รับคำแปลจากทีมงานทีมเดียวในแต่ละภาษา เพื่อไม่ให้งานซ้ำซ้อน

ว่าด้วยคำแปลภาษาไทยใน Firefox

ในส่วนนี้จะยกตัวอย่างคำแปลที่เป็นข้อขัดแย้งใน Firefox 3 และอธิบายว่า ทำไมถึงแปลแบบนั้น

แรกสุดต้องอธิบายว่า การตัดสินใจ "เลือก" คำแปลนั้น มีหลักการกว้างๆ ดังนี้

  • ความสม่ำเสมอ (consistency) สำคัญมาก เพราะผู้ใช้จะเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง "คำ" กับ "หน้าที่" ในหัวและจำคำนั้นไปตลอด ถ้านึกภาพตามไม่ออก ลองนึกถึงโปรแกรมที่ใช้คำว่า

    • "Create" แทน "New"
    • "Load" แทน "Open"
    • "Duplicate" แทน "Copy"
    • "Manual" แทน "Help"
  • สั้นกระชับ ได้ใจความ อ่านแล้วไม่คลุมเครือ มีความหมายได้อย่างเดียว
  • เข้ากับบริบทในการใช้งาน คำบางคำภาษาอังกฤษใช้แบบเดียวกันทุกที่ แต่ภาษาไทยต้องใช้หลายคำขึ้นกับตำแหน่งที่ปรากฎ ตัวอย่างเช่น ภาษาอังกฤษใช้คำว่า item คำเดียวได้ทุกกรณี แต่ภาษาไทยต้องเปลี่ยนเป็น "อัน" "ชิ้น" "รายการ" ตามบริบทของโปรแกรม

สำหรับเงื่อนไขด้านความสม่ำเสมอนั้น เป็นเรื่องสำคัญมากที่ทุกโปรแกรมต้องใช้ให้เหมือนกันเพื่อลดความสับสนของผู้ใช้ โดยปัจจุบัน กลุ่มนักแปลภาษาไทยได้ใช้ข้อมูลจาก Glossary for Open Source Software ซึ่งดูแลโดยเนคเทคเป็นหลัก ถ้าคำใดถูกระบุไว้ใน Glossary แล้ว ก็ไม่มีเหตุผลใดที่ไม่ควรปฏิบัติตาม

สำหรับคำแปลกๆ ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมา และยังไม่ได้บรรจุลงใน Glossary จะใช้การถกเถียงแลกเปลี่ยนความเห็นกันในเมลลิ่งลิสต์ thai-l10n และหาข้อยุติกันเป็นกรณีไป ถ้ากลัวว่าในอนาคตจะมีคำแปลที่แปลกจนรับไม่ได้ออกมา แนะนำให้สมัครเมลลิ่งลิสต์เอาไว้ และแสดงความเห็นทุกครั้งที่มีคนขอความเห็นในการแปล เป็นการปกป้องสิทธิ์ของตัวเองครับ

ส่วนการเรียกศัพท์บัญญัตินั้นอ้างอิงตามราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งเป็นองค์กรหลักของประเทศไทยที่ทำหน้าที่บัญญัติศัพท์ใหม่ ตัวอย่างเช่น "อินเทอร์เน็ต" ไม่ใช่ "อินเตอร์เน็ต" ถ้าไม่เห็นด้วยกับราชบัณฑิต ก็คงต้องติดต่อกับราชบัณฑิตเอาเอง แต่ข้อสรุปของทีมแปลคือ

"เห็นด้วยไม่เห็นด้วยกับคำแปล เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล แต่ความสม่ำเสมอของคำแปล เป็นเรื่องของทุกคน"

ทีนี้มาดูคำเจ้าปัญหากันทีละคำ

"วาง"

คำนี้เป็นกรณีคลาสสิก ที่มานั้นมาจากคำว่า "Paste" ซึ่งตามพจนานุกรมเป็นคำนามแปลว่า "กาวหรือแป้งเปียก" แต่พอมาอยู่ในโปรแกรม มันกลายเป็นคำกริยาเข้าชุดกับ Cut และ Copy ซึ่งคำกริยาสำหรับ "กาว" ที่ใช้กันเป็นปกติในภาษาไทยก็คือ "แปะ" ซึ่งถ้านำไปใช้คู่กับคำว่า "Cut" ซึ่งแปลว่า "ตัด" ก็จะสมเหตุสมผลคือเป็น "ตัดแปะ" ซึ่งตรงกับการทำงานของ Cut-Copy-Paste

ปัญหาของคำว่า Paste คือในโปรแกรมของไมโครซอฟท์แปลว่า "วาง" ซึ่งผมเข้าใจ (เอาเอง) ว่าคนแปลตั้งต้นของไมโครซอฟท์ ต้องการสื่อความหมายแบบอ้อมๆ ว่า "ตัดออกจากที่เดิม แล้วนำมาวางไว้ที่อื่น" ซึ่งมันอ่านรู้เรื่องถ้าเขียนในรูปประโยคยาวๆ แบบนี้ แต่ตามเหตุผลที่เขียนไปข้างบนว่า เนื้อที่มันไม่ได้มีเยอะขนาดนั้น เราต้องคิดคำที่สั้นที่สุดที่สื่อความหมายได้ดีที่สุด ซึ่งในกรณีนี้ ทีมแปลไทยลงความเห็นว่า ควรใช้ "แปะ" แทน "วาง"

"ที่คั่นหน้า"

คำว่า Bookmark นั้นต้องย้อนกลับไปสมัยแรกเริ่มของเบราว์เซอร์และ HTML สมัยนั้นเว็บมีลักษณะใกล้เคียงกับการอ่านหนังสือ (สังเกตได้จากการที่เราใช้คำว่า "เว็บเพจ" ซึ่งหมายถึง "หน้า" ในความหมายของหน้าหนังสือ)

แนวคิดของคำว่า Bookmark จึงใช้การกระทำแบบเดียวกันกับหนังสือจริงๆ เพื่อให้ผู้ใช้เข้าใจง่าย นั่นคือ "คั่นหน้าที่ชอบเอาไว้ แล้วกลับมาอ่านทีหลัง" ซึ่งการคั่นหน้า ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Bookmark

เมื่อเบราว์เซอร์อย่าง Firefox ต้องแปลภาษาไทย คำว่า "ที่คั่นหน้า" ซึ่งเป็นนามหมายถึงสัญลักษณ์อะไรสักอย่างที่เอาไว้คั่นหน้าหนังสือ จึงเป็นคำที่เหมาะสม

ลองสังเกตคำว่า "Bookmark this page" ในเมนู "Bookmark" เมื่อแปลเป็นไทยใช้คำว่า "คั่นหน้านี้" ด้วยเหตุผลเดียวกัน

"มีเชิง"

ตัวอักษรภาษาละตินนั้นมีรูปแบบใหญ่ๆ อยู่ 2 อย่างคือ Serif กับ Sans Serif ซึ่งเกิดมาหลายศตวรรษแล้ว โดยรากฐานของมันมาจากระบบการพิมพ์และการออกแบบตัวอักษรของยุโรป

Serif คือแบบอักษรที่มีการตกแต่งหรือการตวัดตามขอบมุม ส่วน Sans-serif ตรงข้ามคือไม่มีการตกแต่ง มีแต่เส้นตรงโล้นๆ ดูภาพประกอบเข้าใจง่ายกว่า (ภาพจากวิกิพีเดีย)

Serif - Wikipedia, the free encyclopedia

คำว่า Sans เป็นภาษาฝรั่งเศส แปลว่า "ไม่มี" (without) ดังนั้น Sans-serif แปลว่าแบบอักษรที่ไม่มีการตกแต่งหรือตวัดแบบ Serif

คำภาษาไทยที่ใช้เรียกกันในวงการออกแบบตัวอักษรนั้นเรียก Serif ว่า "มีเชิง" (ในความหมายเดียวกับ "เชิงเทียน" ที่มีอะไรยื่นๆ ออกมา) และเรียก Sans-serif ว่า "ไม่มีเชิง" ซึ่งตรงกับรากศัพท์ภาษาฝรั่งเศส

สำหรับตัวอักษรภาษาไทยนั้นไม่มีแนวคิดเรื่อง "เชิง" ชัดเจนนัก อย่างไรก็ตามเมื่อภาษาไทยอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งคิดโดยฝรั่ง และมีการแบ่งฟอนต์ออกเป็นสองตระกูล จึงต้องปฏิบัติตามธรรมเนียมของเจ้าบ้านอยู่บ้างเหมือนกัน

ผมยกตัวอย่างฟอนต์ยอดนิยม 2 อันของคนไทย นั่นคือ Angsana UPC และ Cordia UPC

ถ้าดูเฉพาะตัวภาษาอังกฤษ อันนี้ชัดเจนว่า

  • Angsana UPC เป็นฟอนต์แบบ Serif เช่นเดียวกับ Times
  • Cordia UPC เป็นฟอนต์แบบ Sans-serif เหมือน Arial

แต่พอต้องใส่ตัวภาษาไทยลงไป ผู้ประดิษฐ์ฟอนต์เลยต้องหาทางสร้างจุดต่างในฟอนต์ทั้งสองตัว โดยอิงจากหลัก Serif และ Sans-serif อย่างของฝรั่ง แล้วใส่ลวยลายเพิ่มเติมเข้าไปในฟอนต์แบบ Serif (สังเกตวงกลมสีส้มในภาพ จะเห็นว่าหลักการไม่ถูกบังคับใช้อย่างเคร่งครัดนัก แต่ก็มีใน Angsana เยอะกว่า Cordia)

Untitled 1 - OpenOffice.org Writer

หมายเหตุ: ข้อมูลอันนี้ผมได้มาจากการพูดคุยกับคุณบุญเลิศ ผู้ประดิษฐ์ฟอนต์ตระกูล UPC เป็นการส่วนตัว

กลับมาที่ประเด็นการแปล ในเมื่อ Firefox เป็นโปรแกรมที่มีรากเหง้ามาจากอเมริกา และมีคำว่า Serif กับ Sans-serif ให้แปล การเลือกใช้ "มีเชิง" และ "ไม่มีเชิง" ซึ่งเป็นคำไทยที่ใช้กันในวงการประดิษฐ์อักษรจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด (ลองนึกถึง "เซริฟ" กับ "ซานเซริฟ" ดูได้ครับ)

encrypt

จากพจนานุกรมลองดู

encryption (เอน' สคริพเชิน) n. การสร้างรหัสลับ, การนำข้อความมาเข้ารหัส

ตอนแปลนั้นมี 2 ทางเลือกคือ "เข้ารหัส" หรือ "เข้ารหัสลับ" ซึ่งสุดท้ายตัดสินใจเลือก "เข้ารหัสลับ"​ เพราะต้องการนำคำว่า "เข้ารหัส" ไปใช้กับคำว่า encode ซึ่งมีใน Firefox เช่นกัน (ลักษณะของ encode ต่างจาก encrypt ตรงที่ไม่เป็นความลับ ทุกคนสามารถถอดรหัสได้ถ้ารู้ตาราง)

desktop

ใน Glossary ใช้คำว่า "พื้นโต๊ะ" ถ้าไม่เห็นด้วย เสนอเข้ามาในเมลลิ่งลิสต์ได้ครับ แต่ตอนนี้ระหว่างที่ยังไม่มีคนเสนอเข้ามา ก็ต้องทำตามข้อตกลง ด้วยเหตุผลที่ผมเขียนไปแล้ว

about:robots

อันนี้ผมคิดว่าแปลตรงตัวนะครับ

ต้นฉบับ

Gort! Klaatu barada nikto!

ภาษาไทย

about:config

ต้นฉบับ

config

หน้าจอนี้ในต้นฉบับภาษาอังกฤษเองก็มีที่มาครับ อ่านแบบเต็มๆ ในบล็อกของ Jesse Ruderman

เรื่องแบบสั้นๆ มีอยู่ว่า Mike Beltzner ทีมงานด้านออกแบบอินเทอร์เฟซของ Mozilla เสนอว่า หน้า about:config ควรมีคำเตือนเพราะมันมีสิทธิ์ทำให้ Firefox พัง (เขาเสนออย่างเป็นทางการในบั๊ก 339720) ซึ่งแรกมีคนใช้คำเตือนแบบเป็นทางการหน่อย ดังภาพ

aboutConfigWarning.png (PNG Image, 748x576 pixels)

แต่ Beltzner ไม่เห็นด้วย เหตุผลของเขาคือมันเป็นทางการเกินไป ขู่มากเกินไป คนอ่านแล้วไม่เข้าใจว่า security vulnerabilities มันคืออะไร ควรปรับให้อ่านง่ายขึ้น และในหัวเรื่องใช้คำว่า "Be careful, this gun is loaded!" เพื่อให้ดูไม่ซีเรียสจนเกินไป

มีคนติงมาว่า "gun" นั้นรุนแรงเกินไปไหมนะ หลังจากถกกันนานโคตรๆ ก็มาได้ข้อสรุปเป็น "This might void your warranty!" (ระวังนะ มันจะเสียประกันนะ) อย่างที่เห็นในปัจจุบัน

คำว่า "This might void your warranty!" นั้นเป็นมุกตลก เพราะ Firefox ไม่มีประกัน

ส่วนคำแปลภาษาไทยก็คงไว้ซึ่งอารมณ์ขัน และความหมายตามบริบทเดิม ถ้าไม่ชอบ แจ้งเข้ามาทาง issue หรือเมลลิ่งลิสต์

เครดิตผู้แปล

มีคนถามมาว่าทำไมชื่อต้องใช้ภาษาอังกฤษ ในเมื่อแปลส่วนอื่นๆ เป็นภาษาไทย

No Description

คำตอบง่ายมากครับ เวลามีปัญหาฝรั่งมันจะได้ตามตัวถูกว่าใครแปลไว้ เป็นธรรมเนียมของการแปลซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สทุกตัวว่า ชื่อผู้แปลให้ใช้ภาษาอังกฤษ​ (บางโปรแกรมให้ใส่อีเมลไว้ติดต่อด้วย)

อยากได้เวอร์ชันภาษาอังกฤษ

ก่อนหน้านี้ดาวน์โหลด Firefox (ที่มีแต่ภาษาอังกฤษ) ยังไง ก็ทำอย่างงั้นเช่นเดิมครับ

แต่อยากได้ความชัวร์ ให้ทำตามนี้

เข้าไปที่ หน้าดาวน์โหลด Firefox ตรงปุ่มมันจะขึ้นอะไรไม่ต้องสนใจ เลือก Other Systems and Languages ตามลูกศรชี้

Firefox web browser | Faster, more secure, & customizable

เลื่อนลงไปหา English (US) ตามภาพ แล้วเลือกดาวน์โหลดตามระบบปฏิบัติการที่ใช้

 Get Firefox in your language

ขั้นสุดท้ายก็ติดตั้ง Firefox ตามปกติ

สรุป

  • แปลภาษาไทยเพื่อเปิดโอกาสการเข้าถึงคอมพิวเตอร์ให้มากขึ้น ไม่มีอะไรเสียหาย
  • ภาษาอังกฤษยังมีให้เลือกใช้เสมอ ไม่หายไปไหน
  • การแปลซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมอะไร เป็นงานอาสาสมัคร ไม่มีใครมีหน้าที่มาตอบปัญหาหรือแก้ปัญหาโดยตรง
  • ความเห็นในเรื่องการแปล ทุกคนสามารถเสนอได้ โอเพนซอร์สเปิดกว้างเสมอ
  • แต่การเสนอ ควรใช้ช่องทางที่เตรียมไว้ให้แล้ว
  • ถ้าคิดว่าแปลไม่ดี ควรเสนอคำที่ดีกว่าด้วย ไม่ใช่ติอย่างเดียว
  • งานแปลภาษาไทยยังขาดคนอีกมาก ขอเชิญทุกท่านเข้ามาช่วยกันแปล วิธีเริ่มต้นง่ายๆ คือสมัครเมลลิ่งลิสต์เข้ามาก่อน และอ่านบทความชุด "ระดมพลนักแปล" ดังนี้

ถ้ามีข้อข้องใจเรื่องการแปลอื่นๆ ก็ถามมาได้ครับ แต่ถามในเมลลิ่งลิสต์จะดีกว่านะ

Get latest news from Blognone

Comments

By: mnop
Android
on 28 September 2008 - 08:00 #66413

ว่าแต่ blognone ไม่เปลี่ยนเมนูเป็นภาษาไทยบ้างหรือครับ แฮะแฮะ "'ไม่ใช่ทุกคนที่เก่...'"

ป.ล. Special Report ตรงหัวเมนู น่าจะเป็น Special Reports (เติม s) นะครับ

http://itshee.exteen.com/ -- Can you upgrade Vista to XP Pro?

By: iamlan on 29 September 2008 - 16:18 #66582 Reply to:66413

ว่าแต่ทำไมคุณ mnop ไม่ไปช่วยเขาแปลล่ะครับ เห็นทำใน wiki มาเยอะแยะ น่าจะมีปัญญาแจ้งบั๊กนะ

By: iWindows7 on 28 September 2008 - 08:06 #66414

ผมสมัครเข้าไปแล้ว

แล้วทำอย่างไรต่อครับ

จะช่วยงานอย่างไรดีครับ

By: mk
FounderAndroid
on 28 September 2008 - 15:38 #66463 Reply to:66414
mk's picture

ลองหาโปรแกรมที่สนใจอยากแปลครับ จะให้ดีก็ควรเป็นโปรแกรมที่ใช้อยู่ทุกวันแต่ยังไม่มีคนแปล

รายละเอียดวิธีการแปลมักจะอยู่ในหน้าเว็บของโปรแกรมนั้นๆ อยู่ในส่วนที่เรียกว่า Translation หรือ Contribution หรือ Developer

ส่งเมลเข้ามาคุยกันในลิสต์ก่อนก็ได้ครับ

By: atheist
AndroidUbuntuWindows
on 28 September 2008 - 08:49 #66416

ไอ้คำแปลเนี่ย ผมไม่มีอะไรจะตินะ

1.มุกตลก มันมาตั้งแต่ต้นน้ำแล้ว เราก็ตามน้ำ และผมก็ชอบนะ
2.ศัพท์ที่ไม่คุ้นหู มันก็จำเป็นต้องแปลอยู่ดี เผื่อคนที่ไม่รู้อะไรเลย คงงงกับทับศัพท์
.
.

แต่ไปเห็นบล็อกบางคน เหมือนจะเจอปัญหาเรื่องการเข้าไปโหลดที่ getfirefox.com นี่หละ ที่มันจะเลือกภาษาไทยให้เป็นแค่เริ่มต้น ซึ่งคนประเทศอื่นเค้าชอบใช้ภาษาตั้งเองมั้ง เหอะๆ
แต่ลูกค้าในไทยส่วนมาก ที่ใช้กันในตอนนี้ อ่านภาษาอังกฤษพอใช้ได้ แต่ แก้ปัญหาทางเทคนิคไม่เป็นเลย ถ้าบางคนไม่ชอบการแปลไทย จุดที่จะทำให้เกิดอาการงุ่นง่าน หงุดหงิด น่าจะเป็นปัญหาว่า เอ๊ เราจะเปลี่ยนกลับยังไงมากกว่า

By: z2
Windows PhoneAndroidUbuntuWindows
on 28 September 2008 - 09:32 #66423

ก็โอเคนะ พี่ป้าน้าอา จะได้หันมาใช้หมาไฟกันง่ายๆ

By: kidtalentz on 28 September 2008 - 09:59 #66426

เป็นกำลังใจให้ครับ ทำเมนูภาษาไทย คนก็จะเข้าถึงได้มากขึ้น
ขอให้อดทน และยินดีรับฟังความเห็นที่แตกต่างเข้าไว้
ผ่านความเหน็ดเหนื่อยและยากลำบากมาแค่ไหนแล้ว กว่าจะมาถึงตอนนี้

บางคำที่คนเสนอมาก็อาจจะปรับกันได้ เพื่อให้มันดูดี และเข้าถึงคนได้มากที่สุด

เด็กอนุบาลจับมานั่งเล่นคอมพิวเตอร์ไม่กี่วันใช้งานได้หมด ทั้งที่เมนูภาษาอังกฤษ
แล้วเด็กก็ไม่ได้เข้าใจภาษาอังกฤษในเมนูสักคำ นี่เป็นภาษาไทย ทำไมเด็กจะใช้ไม่ได้
ชาวบ้านร้านช่อง น้องสาวเสื้อลายทำงานในโรงงานเดี๋ยวก็ใช้อินเทอร์เน็ตกัน ถ้าเป้นภาษา
ที่พวกเขาพอรู้เรื่องบ้างน่าจะดีกว่า

แต่คนใช้ก็มีพวกรู้มาก รู้เยอะอยู่ด้วย ค่อยๆปรับกันไป

คำว่าพื้นโต๊ะ ฟังดูแปลกมาก ที่ทำงานผมเขาเรียก หน้าจอ ...เฮ้ย..โยนรูปใส่ไว้ที่หน้าจอให้เลยนะ ไม่ไเคยได้ยินใครเรียกเดสค์ท็อปเลย

โฟลเดอร์ หรือ แฟ้ม เราเรียกกันว่า กล่อง ไอ้ตุ๋ย..รูปอยู่ในกล่องแต๋ว ไปดึงเอาเอง

ไม่ว่าจะใช้คำไหน พอใช้นานๆจนคุ้นมันก็จะชินไปเอง

By: DArKer on 28 September 2008 - 10:10 #66427

ดีมากเลยครับ
แต่ผมติดตรง คำว่ามีเชิง ไม่มีเชิง
น่าจะใช้ ตวัดหาง ไม่ตวัดหาง ยังรู้สึกไม่ค่อยเข้าใจมากเท่าตวัดหาง

By: tvchampion on 28 September 2008 - 13:41 #66451 Reply to:66427

ถ้าใช้คำว่า ตวัดหาง ไม่ตวัดหาง ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน พวกตำราเกี่ยวกับตัวอักษร หรือบทความเกี่ยวกับตัวอักษรภาษาไทย ก็
นิยมใช้คำว่า มีเชิง ไม่มีเชิง อันนี้ใช้ในการเรียนการสอนระดับมหาวิทยาลัยด้วย ในวงการกราฟฟิกไทย มีหลานคนเข้าใจคำนี้แน่
ส่วนระดับความเข้าคนทั่วไป อันนี้ไม่รู้ครับ

จริงๆ มันมีอีกคำ ที่ใช้กันในวงการเวลาพูด แต่ไม่ใช้เขียนในหนังสือวิชาการ คำนั้น คือคำว่า "มีตีน" กับ "ไม่มีตีน"

By: lancaster
Contributor
on 28 September 2008 - 16:00 #66464 Reply to:66451

ถ้าใช้วงเล็บเอาล่ะครับ ("มีเชิง (Serif)", "ไม่มีเชิง (Sans Serif)")

By: mk
FounderAndroid
on 28 September 2008 - 16:11 #66468 Reply to:66464
mk's picture

ข้อจำกัดแบบเนื้อที่ อย่างที่อธิบายไปครับ

By: jakrapong
ContributorAndroid
on 28 September 2008 - 11:11 #66432
jakrapong's picture

ผมชอบโควตนี้นะครับ

"สมัยก่อนผมก็เคยคิดแบบนี้ว่า คนไทยอ่านภาษาอังกฤษออก จะแปลภาษาไทยไปทำไมให้งง แต่หลังจากผมได้ทำงานด้าน deployment ชุดออฟฟิศในหน่วยของรัฐไทยขนาดใหญ่หลายแห่ง (ในที่นี้คือ OpenOffice.org) ความเชื่อของผมก็สั่นคลอนอย่างรุนแรง เมื่อผมพบว่าผู้ใช้จำนวนมากไม่สามารถใช้งานโปรแกรมภาษาอังกฤษได้เลย"

ผมก็เคยคิดอย่าง mk นะครับ แต่วันนึงผมออกต่างจังหวัดและบังเอิญไปเจอคนที่ใช้โปรแกรมภาษาอังกฤษไม่ได้คล่องแบบที่เราเคยเจอ มันเลยเริ่มทำให้ผมคิดได้ว่าเราคิดกันแบบ "City girls, City boys" มากเกินไปครับ คนใช้อินเทอร์เน็ตไทยต่อไปจะไม่ได้กระจุกตัวอยู่เพียงแค่เมืองใหญ่ในประเทศ เราจำเป็นต้อง Localize ให้คนในท้องถิ่นนั้นเข้าใจได้ง่ายๆ ครับ

just my humble opinion,
jakrapong

By: javaboom
WriteriPhone
on 28 September 2008 - 12:23 #66440 Reply to:66432
javaboom's picture

ผมก็เคยคิดครับ และเคยคิดเข้าข้างตนว่าถ้าคนไม่พยายามเปิดพจนานุกรม อ่านและแปลเอาเองแล้ว จะรู้ภาษาอังกฤษได้อย่างไร และแล้วกรรมก็สนองเมื่อต้องเจอญาติพี่น่้องขอคำปรึกษาว่าอันนี้แปลว่าอะไร อันนี้คืออะไร และก็ได้ไปคิดอีกแง่หนึ่งว่า ทำไมญี่ปุ่นเขามี Japan Edition / Version ไม่รู้เท่าไหร่ต่อไหร่ ก็ไม่เห็นประเทศเขาจะด้อยพัฒนาเลยเนี่ย ทำไมไทยเราจะมีไม่ได้ล่ะครับ

ปล. พี่ pong อยู่ blognone ด้วยเหรอครับ ผมเพิ่งทราบ

Sivadon Chaisiri (JavaBoom)
http://javaboom.wordpress.com


My Blog

By: jakrapong
ContributorAndroid
on 28 September 2008 - 13:45 #66453 Reply to:66440
jakrapong's picture

ผมเป็นคนอ่านมากกว่าคนออกความเห็นน่ะครับ ด้วยหน้าที่การงานมันรัดตัวทำได้แค่เพียงอ่าน หลังๆ เห็นมีโปรเจ็คต์ดีๆ มากกว่าการรายงานข่าวตามปกติก็เลยรู้สึกชื่นชมทีมงานเขา (เคย localize ผลิตภัณฑ์ที่บริษัทมาหลายตัวจนเข้าใจสภาพจิตใจคนทำงานครับ) เลยเข้ามาออกความเห็นครับ คือผมมองว่าคนไทยไม่ค่อยให้กำลังใจกันเท่าไหร่ คือคนทำงานแบบอาสาสมัครเขาอยู่ได้ด้วยน้ำใจครับ ถ้าเราช่วยกันแสดงออกถึงความรู้สึกดีๆ ที่เรามีให้อาสาสมัคร มันเป็นเหมือนสิ่งพิเศษอะไรบางอย่างของคนทำงานครับ

just my humble opinion,
jakrapong

By: javaboom
WriteriPhone
on 28 September 2008 - 18:51 #66494 Reply to:66453
javaboom's picture

+10 เห็นด้วยครับพี่ ผมเคยทำงานอาสาสมัครเหมือนกัน แล้วหลายครั้งก็โดนกดดันว่าทำเพื่อเอาหน้า บางครั้งก็โดนว่าไม่มีงานจะทำกันหรือไง มันก็เหนื่อยเอาการครับเวลาได้ยิน เห็นด้วยครับว่าคนไทยต้องให้กำลังใจซึ่งกันและกันครับ มีน้ำใจไมตรี หากติขอให้ติเพื่อก่อสิ่งสร้างสรรค์และมีวิธีการเสนอมาให้ด้วยครับ

Sivadon Chaisiri (JavaBoom)
http://javaboom.wordpress.com


My Blog

By: sdh on 28 September 2008 - 12:49 #66445

ขอนิดหนึ่งครับ ไม่ตรงประเด็นนักแต่ก็ไม่ถึงกับหลุด

ซีรีย์

คำนี้ควรจะเป็น ซีรีส์ หรือ ซีรี่ส์ หรือเปล่า เข้าใจครับว่าการทับศัพท์ให้ใช้รูปเอกพจน์ แต่คิดว่า series มันไม่เคยมีรูปเอกพจน์เป็น sery/serie นะ

(หวังว่าคงไม่ใช่ติดมาจากหนังสือเครื่องเสียงบางเจ้า ที่ชอบถอดรูปการสะกดจากคำอังกฤษแบบเป๊ะๆ ซึ่งผมว่าน่ารำคาญ อ้อ แต่คำนี้เขาใช้ ซีรียส์ มั้ง)

ขอบคุณครับ

By: mk
FounderAndroid
on 28 September 2008 - 15:21 #66458 Reply to:66445
mk's picture

คำนี้น่าสนใจมาก มีแหล่งอ้างอิงไหมครับว่าผมควรใช้ "ซีรีส์" หรือ "ซีรียส์" ดี

ระหว่างนี้ผมแก้เป็น "บทความชุด" แทนนะครับ

By: sdh on 28 September 2008 - 15:59 #66465 Reply to:66458

ไม่มีอ้างอิงครับ ก่อน post ก็ลองหาดูแล้วไม่เจออะไร (แต่เมื่อกี้พบ Calcio Serie A ซึ่งเป็นรูปเอกพจน์อันเดียวที่เคยได้ยิน) ความเห็นส่วนตัวคือตัว ย มันไม่ออกเสียงจึงไม่น่าสะกดไปด้วย จะว่าให้ถอดจากรูปศัพท์เดิมเป๊ะๆ ก็ไม่น่าจำเป็น ดูจะรุงรังมากกว่า

ลอง Google เล่นๆ "ซีรียส์" เจอ 435,000 links "ซีรีส์" เจอ 1,330,000 links. ที่ th.wikipedia.org มีสองความเห็น ไม่มี ย

By: mk
FounderAndroid
on 28 September 2008 - 16:12 #66469 Reply to:66465
mk's picture

เรื่องจำนวนนี่ไม่ได้แปลว่า มากกว่าแล้วจะถูกเสมอไปน่ะครับ ผมเชื่อว่า อินเตอร์เน็ต มีเยอะกว่า อินเทอร์เน็ต แน่

By: sdh on 28 September 2008 - 16:26 #66471 Reply to:66469

เห็นด้วยครับ ถึงได้บอกว่า Google เล่นๆ

แต่เรื่องพวกมากลากไปนี่ มันก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ต้องชำระพจนานุกรมนะ

By: chayaninw
WriterMEconomicsAndroidIn Love
on 28 September 2008 - 18:13 #66486 Reply to:66458
chayaninw's picture

"ถ้า" ใช้หลักการทับศัพท์ของราชัณฑิตฯ

ข้อ 1 บอกว่า "สระ ให้ถอดตามการออกเสียงในพจนานุกรมภาษาอังกฤษ โดยเทียบเสียงสระภาษาไทยตามตารางเทียบเสียงสระภาษาอังกฤษ"

ตามตาราง ie มีสะกดแบบ อี เอีย อาย ไอ ซึ่งถ้านับตามนี้ น่าจะเป็น อี (ไม่ใช่ อีย)

น่าจะเป็นหลักหนึ่งที่ใช้ได้ครับ (แต่คิดว่าหลายคนคงไม่ค่อยยึดหลักนี้อยู่แล้ว)

By: skycreeper
iPhoneBlackberryUbuntu
on 28 September 2008 - 14:03 #66454

เห็นด้วยกับบทความและแอบส่งกำลังใจให้เล็กๆ!!

(แปล about:configs ได้สุดยิดมาก)

By: mossila
iPhoneWindows PhoneAndroidBlackberry
on 29 September 2008 - 11:58 #66571 Reply to:66454
mossila's picture

+10 ขอพลังจงอยู่กับทีมแปลทุกท่าน

อย่าเข้าไปอ่านนะ บทความของ Rookie

By: mehnba on 28 September 2008 - 14:44 #66455

ชอบครับ ใช้อยู่ เดี๋ยวนี้เริ่มเห็นว่าตัวหนังสือภาษาไทยมันสวยจัง สงสัยทิ้งภาษาอังกฤษไปนาน

By: Wizard.
iPhoneAndroidUbuntuWindows
on 28 September 2008 - 15:00 #66457
Wizard.'s picture

ถ้าผมบอกผู้ใช้ว่าไปดูที่ พื้นโต๊ะ(desktop) นะครับ มันจะมี bla bla bla ...

เค้าจะไปดูที่พื้นโต๊ะ (ที่วางคอมพิวเตอร์) อยู่แล้วบอกว่า "ไม่เห็นมีเลย"

By: PaePae
WriteriPhoneAndroidWindows
on 28 September 2008 - 21:34 #66514 Reply to:66457
PaePae's picture

มองมุมกลับ คนที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักในชีวิตประจำวัน ก็น่าจะมีปัญหาแบบเดียวกัน? :-D

———————
คิดๆ ขีดๆ เขียนๆ


LinkedIn

By: Ford AntiTrust
ContributorAndroidBlackberryUbuntu
on 29 September 2008 - 00:48 #66535 Reply to:66457
Ford AntiTrust's picture

Desktop = พื้นโต๊ะ

อันนี้ผมจำได้ว่ามีคำแปลนี้มาตั้งแต่ Windows 3.11 และ Windows 95 ในคู่มือที่แปลจาก Microsoft Press น่ะครับ

Ford AntiTrust’s Blog | PHP Hoffman Framework

By: p-joy on 28 September 2008 - 15:29 #66460

บทความดีมากครับ

แต่ตินิด โดยเนื้อหา และกลุ่มเป้าหมายแล้วมันยาวไปหน่อย
ถ้าตัดตอนได้น่าจะมีประโยชน์มากกว่านี้ กล่าวคือแยกกลุ่ม
ของเนื้อหา

By: runnary
iPhoneWindows PhoneAndroidBlackberry
on 28 September 2008 - 15:33 #66462
runnary's picture

มีแต่ความรู้ทั้งนั้น ต้องโกย

By: shelling
ContributoriPhoneAndroidUbuntu
on 28 September 2008 - 16:19 #66470
shelling's picture

ผมเรียก desktop ว่า "หน้าโต๊ะ" อะครับ เพื่อนฝูงก็เก็ทนะ

มี Thai Edition ผมว่ามีข้อดีมากกว่าอยู่แล้วครับ
แต่ว่า ถ้าอยากให้คนไทยหันมาใช้เยอะขึ้น ก็ต้องโหมเรื่องประชาสัมพันธ์กันหนักหน่อยล่ะ

By: สมเจตน์ on 28 September 2008 - 16:38 #66473

เห็นด้วยครับเรื่อง รณรงค์ภาษาไทยกับงานคอมพิวเตอร์ ถึงผมจะไม่มีส่วนในการช่วยแปล แต่ก็เป็นผู้ใช้งานที่ดีและส่งเสริมการใช้เต็มที่ ภูมิใจในความเป็นไทยเสมอมา ...

ผมเจอยูสเซอร์ที่เริ่มใช้งานกับเมนูภาษาไทย พอเปลี่ยนเป็นเมนูภาษาอังกฤษ ทำงานไม่ถูก กรณีเดียวกันเลยครับมาจากความคุ้นเคยในการใช้แน่นอน แต่การแปลภาษาไทยที่ใช้ไม่ควรจะประดิษฐ์คำให้เว่อร์เกิน(ราชการชอบนักเรื่องบัญญัติศัพท์ใหม่) ตัวอย่างเช่น คำว่า "software" ประดิษฐ์คำเป็น "ละมุนภัณฑ์" แบบนี้ใช้ทับศัพท์ไปเลย "ซอฟท์แวร์" ดีกว่า ...

^^

By: sdh on 28 September 2008 - 16:50 #66475 Reply to:66473

ประดิษฐ์คำเป็น “ละมุนภัณฑ์”

ราชบัณฑิตยสถานไม่เคยบัญญัติศัพท์นี้ครับ .

By: p-joy on 28 September 2008 - 19:30 #66501 Reply to:66475

เพิ่มเติม ศัพท์บัญญัติของราชบัณฑิตนั้น ถ้าเริ่มใช้จริง ๆ จะรู้ว่าดีมาก ๆ สั้นได้ใจความครับ

By: chayaninw
WriterMEconomicsAndroidIn Love
on 28 September 2008 - 18:15 #66487 Reply to:66473
chayaninw's picture

ละมุณภัณฑ์ ไม่ใช่คำราชการครับ

By: สมเจตน์ on 28 September 2008 - 23:19 #66523 Reply to:66487

ขอ reply รวมในส่วนนี้เลยนะครับ ต้องขออภัยอย่างแรงที่พาดพิงถึง "ราชการ" เลยก้าวล่วงไปถึงศัพท์บัญญัติของราชบัณฑิต สำหรับราชบัญฑิตผมก็ไม่ได้มีเจตนาถึง ...

เพียงแต่ชี้ประเด็นถึงคำการแปลไทยบางตัวแล้วมีรูปแบบภาษาที่ลึกซึ้งยากที่จะเข้าใจนัก แต่ทะลึ่งไปวงเล็บเหน็บแนมราชการแบบแซวๆ ขออภัยอีกครั้ง ประเด็นคืออยากให้แปลโดยการหลีกเลี่ยงประดิษฐ์คำใหม่ให้มีภาษาที่ยากต่อความเข้าใจ ประมาณต้องแปลไทยเป็นไทยอีก ...

มีบทความหนึ่ง ซึ่งเป็นแรงจูงใจให้เขียนพาดพิง "ราชการ" จากโพสต์ก่อนหน้า

http://www.koratlourdes.ob.tc/-View.php?N=5

จริงๆคำรูปแบบทับศัพท์เช่น "ซอฟท์แวร์" ที่ผมยกตัวอย่างไปก่อนหน้านั้นอาจจะใช้ไม่ถูกต้องอีก ที่ถูกต้องอาจจะเป็น "ซอฟต์แวร์" ยากเหมือนกันนะครับภาษาไทย ลึกซึ้งมากทีเดียว ...

By: molek
WriteriPhoneWindows Phone
on 28 September 2008 - 23:25 #66525 Reply to:66523
molek's picture

ผมว่าเค้าเขียนเวอร์ไปครับ ผมทำงานราชการ ยังไม่เคยเจอแบบนั้นเลยครับ

molecularck โม-เล-กุล่า-ซี-เค

sci news on foosci.com


http://www.digimolek.com

By: p-joy on 29 September 2008 - 03:41 #66543 Reply to:66523

software ส่วนชุดคำสั่ง, ซอฟต์แวร์ คอมพิวเตอร์
อันนี้จากเว็บราชบัณฑิตโดยตรงครับ
http://rirs3.royin.go.th/coinages/webcoinage.php

คือต้องย้ำอีกครั้งว่าการแปลไทยบางทีเราต้องบัญญัติคำใหม่ (ใจจริงอยากให้ทับศัพท์เหมือนญี่ปุ่น)
เพราะว่าคำภาษาอังกฤษบางคำนั้นมีการบัญญัติความหมายใหม่ขึ้นมา ยกตัวอย่างเช่น fragile controller
เราจะแปลว่าอะไรดีครับ ตัวควบคุมแตกง่าย ตัวควบคุมแบบแตกง่าย ซึ่งความหมายไม่ตรงนักหรือสื่อความหมายที่ควร (คำนี้พึ่งประชุมเพื่อหาคำที่เหมาะสมเมื่อปีที่แล้่วนี่เอง) ก็ต้องบัญญัติคำใหม่

ยกตัวอย่างครับ โทรเลข โทรศัพท์ วิทยุ เหล่านี้ล้วนเป็นคำใหม่ของคนสมัยก่อนทั้งสิ้น ซึ่งต้องประดิษฐ์คำใหม่
ซึ่งการแปลไทยเป็นไทยนั้นเป็นเรื่องจำเป็นที่คนไทยเราอาจจะร้องยี้ แต่คนในยุโรปแล้วตู้หนังสือเต็มไปด้วย
พจนานุกรม คนอังกฤษก็มีพจนานุกรมภาษาอังกฤษ ดังนั้นก็แค่ปรับตัวให้เข้ากับคำใหม่เป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง

แค่นี้ก่อน

By: Mr.JoH
Writer
on 29 September 2008 - 15:09 #66578 Reply to:66523

ผมว่าสาเหตส่วนหนึ่งที่คำของราชบัณทิตไม่ค่อยเป็นที่นิยม มีเหตุผลสองอย่าง

  1. ใช้เวลาบัญญัติศัพท์นานเกินไป จนทำให้คนชินกับคำทับศัพท์
  2. ใช้ศัพท์บาลี-สันสกฤติ มากเกินไป คนไทยไม่ได้คุ้นชินกับคำจากภาษาบาลี-สันสกฤติ เหมือนกับคนยุโรปคุ้นชินกับภาษาละติน

แต่ทั้งนี้ผมก็เข้าใจทางราชบัญฑืตนะครับ ว่ามีกำลังคนไม่พอ แล้วศัพท์ใหม่ๆ มันก็มีออกมาแทบจะทุกวัน การบัญญัติศัพท์ใหม่ๆ ให้ถูกใจและเข้าใจได้ง่าย เป็นเรื่องที่ยากมากครับ

Lastest Science News @Jusci.net


Lastest Science News @Jusci.net

By: enormityboy
iPhone
on 28 September 2008 - 16:48 #66474
enormityboy's picture

เมนูของไทยเข้าใจโอเคนะ
น่าเบื่อพวกมือไม่พายเอาเท้าราน้ำนี่แหล่ะ เกิดมาติอย่างเดียว เบื่อจริงๆ

By: HudchewMan
ContributorAndroidWindowsIn Love
on 28 September 2008 - 17:58 #66483
HudchewMan's picture

เคยใช้พวกโปรแกรมที่มีแปลเมนูเป็นไทย หรือเมนูไทยในโทรศัพท์มือถือ
อ่านแล้วงง ถนัดใช้ภาษาอังกฤษมากกว่า อ่านรู้เรื่อง เข้าใจความหมายกว่า

หลังจากได้ใช้ ubuntu เป็นจริงเป็นจัง เมนูเป็นไทยก็จริง แต่กลับไม่รู้สึกขัดใจเท่าไหร่
ทำให้รู้สึกว่า ที่ไม่ชอบเมนูไทย เพราะมันแปลไม่เวิร์คนี่เอง

ถ้าแปลได้ใจความ สื่อความหมายได้ชัดเจน เหมือนที่ทำๆ กันอยู่
ก็ช่วยคนที่ไม่เข้าใจภาษาอังกฤษได้อีกเยอะเลย

เว็บพจนานุกรม แปลภาษาจีน-ไทย ไทย-จีน
http://www.zhongtai.org


~ HudchewMan's Station & @HudchewMan~

By: iamlan on 29 September 2008 - 16:19 #66583 Reply to:66483

ไปช่วยเขาแปลสิครับ

By: lancaster
Contributor
on 29 September 2008 - 17:01 #66588 Reply to:66583

ถ้าโปรแกรมที่เขาบ่นพวกนั้นช่วยแปลได้เขาก็ช่วยไปแล้วล่ะครับ

By: molek
WriteriPhoneWindows Phone
on 29 September 2008 - 17:11 #66591 Reply to:66588
molek's picture

ผมไม่เป็นอะไรเลย ยังมาช่วยแปลได้เลยครับ ที่สำคัญการช่วยไม่จำเป็นต้องมานั่งแปล การทดสอบ หาคำที่ไม่ถูกใจแล้วแจ้งไปให้ทีมงานก็คือการช่วยส่วนหนึ่ง ซึ่งตลอดเวลาก็ประกาศความเคลื่อนไหวและรับฟังความคิดเห็นในนี้ตลอดนะครับ

การแปลไม่ได้ยาก มันเป็นคำมาในบรรทัดบน เราก็แปล ใส่บรรทัดล่าง ถ้าไม่เป็นก็มีคนสอนครับ ผมไม่เป็นอะไรเลย command ก็ไม่เป็น ใช้ terminal ก็ไม่เป็น โปรแกรมที่แปลก็ใช้ไม่เป็น ทุกคนก็ช่วยสอน ช่วยทำให้ผมทำงานได้ สิ่งที่ผมทำคือการแปลได้อย่างเดียว

molecularck โม-เล-กุล่า-ซี-เค

sci news on foosci.com


http://www.digimolek.com

By: kamthorn
ContributorAndroidUbuntu
on 29 September 2008 - 20:41 #66603 Reply to:66591

ปัญหาคือ ไม่ใช่แปลไม่เป็น แต่เพราะสิ่งที่เค้าไม่ชอบในคำแปลนั้น มันไม่มีช่องให้เข้าไปช่วยแปลน่ะสิ เช่นพวกโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น เลยต้องใช้เมนูภาษาอังกฤษแหละดีแล้ว

--


--

By: lancaster
Contributor
on 29 September 2008 - 20:47 #66604 Reply to:66603

ตามนั้นเลยครับ

By: molek
WriteriPhoneWindows Phone
on 29 September 2008 - 22:51 #66613 Reply to:66604
molek's picture

งั้นต้องขอโทษที่เข้าใจผิด แต่ถ้าเป็นไฟฟอกซ์แล้วก็อย่างที่ผมบอกครับ จะแจ้งปัญหาที่นี้ก็ได้หรือจะไฟล์บั๊กไปที่ google code หรือ google group ของ l10n ก็ได้ครับ

molecularck โม-เล-กุล่า-ซี-เค

sci news on foosci.com


http://www.digimolek.com

By: LawrenceX on 28 September 2008 - 18:34 #66488

ใช้สำหรับ"ทางเลือก"ก็แล้วกันนะครับ

By: AdmOd
iPhoneWindows
on 28 September 2008 - 18:41 #66490

ถึงแปลไทย ยังไงก็ขอหน้าดาวน์โหลดภาษาอังกฤษด้วยนะครับ

ไม่เอาแบบ WLM เลมสุดๆ

By: latesleeper
Android
on 28 September 2008 - 18:51 #66491

"หุ่นยนต์มีบั้นท้ายเป็นโลหะมันวาวซึ่งไม่ควรถูกกัด"
"หุ่นยนต์มีบั้นท้ายเป็นโลหะมันวาว จึงไม่ควรกัดเล่น" ผมไม่ได้บอกว่ามัน "ถูกกว่า" นะครับ แต่มัน "ได้ใจความที่ถูกต้องและเป็นภาษาไทย" มากกว่าครับ
เพราะจากประสบการณ์ที่ผมให้ความสนใจกับ passive voice มานาน (เพราะสมัยเด็กๆ เบลอบ่อยมาก แต่ชอบ logic ของมัน)แม้ว่าคุณจะพูดในเชิงถูกกระทำ แต่บ่อยครั้งมันเป็นแค่ใส่สำบัดสำนวนเพื่อให้เกิดความสวยงามทางภาษาเท่านั้นเองครับผมไม่แน่ใจว่านักภาษาศาสตร์ในทีมจะเห็นด้วยกับผมหรือเปล่า แต่นี่คือสิ่งที่ผมค่อนข้างมั่นใจครับผมชอบงานแปล ถ้ามีอะไรให้ช่วยก็บอกนะครับ

By: mk
FounderAndroid
on 28 September 2008 - 19:08 #66499 Reply to:66491
mk's picture

เรื่องการแปล คุยในเมลลิ่งลิสต์ดีกว่าครับ

By: pittaya
WriterAndroidUbuntuIn Love
on 28 September 2008 - 22:52 #66521 Reply to:66491
pittaya's picture

ผมแจ้งอันนี้เข้า issue tracker ให้แล้วครับ

pittaya.com


pittaya.com

By: latesleeper
Android
on 29 September 2008 - 11:12 #66566 Reply to:66521

สมัครเมล์ลิ่งลิสต์แล้ว กดโพสต์แล้วแต่มันไม่ติดน่ะครับ ขอบคุณมากนะครับที่ทำแทนให้แล้วครับไว้มันกดติดแล้วจะไปช่วยต่อนะครับ

By: mossila
iPhoneWindows PhoneAndroidBlackberry
on 29 September 2008 - 12:05 #66572
mossila's picture

แล้วใครเป็นทีมแปล chrome หว่า? แปลได้ดีเหมือนกันนะผมว่า ไม่รู้สึกตะขิดตะขวงเท่าไหร่ อย่าเข้าไปอ่านนะ บทความของ Rookie

By: sirn
WriteriPhone
on 29 September 2008 - 18:59 #66595 Reply to:66572

ผมไม่ชอบแปลไทยของ Chrome นิดๆ เพราะมุกตลกที่มีในภาษาอังกฤษมันหายไปหมดเลย กลายเป็นภาษาทางการไปซะ (ซึ่งบางคนอาจจะชอบ แต่ผมไม่)

By: Ford AntiTrust
ContributorAndroidBlackberryUbuntu
on 29 September 2008 - 19:38 #66599 Reply to:66572
Ford AntiTrust's picture

ผมก็ไม่ชอบของ chrome ไปซะงั้น ใช้ interface english ไปเลยดีกว่า -_-' ทับศัพท์บางครั้งอ่านยากเข้าไปอีก

Ford AntiTrust’s Blog | PHP Hoffman Framework

By: iMenn
ContributorAndroid
on 30 September 2008 - 11:26 #66645
iMenn's picture

ขอแสดงความนับถือ!!

อ่านเมล์ผ่านตาตลอด แต่ยังไม่มีส่วนร่วมอะไร แบบว่า มึนนนนน

:D

By: Jax on 16 October 2008 - 18:42 #68240

ด้วยความมเคารพครับ
คำว่า "ละมุนภัณฑ์" รวมไปถึง "กระด้างภัณฑ์" นั้น ทางราชบัณฑิตยสถานไม่เคยบัญญัติขึ้นมานะครับ
เท่าที่ทราบ ศัพท์สองคำนี้เป็นคำที่สื่อ (บางฉบับ) เขียนขึ้นมาเพื่อล้อเลียนเท่านั้น
แต่บังเอิญว่ามันเกิดได้รับความนิยมขึ้นมา คนส่วนใหญ่ก็เลยเชื่อไปว่ามันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ
ซึ่งทางราชบัณฑิตยสถานเองก็เคยออกมาชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้ว แต่ดูเหมือนจะไม่ได้รับความสนใจเท่าไร

ศัพท์ที่ถูกบัญญัติไว้จริง ๆ นั้น

software = ส่วนชุดคำสั่ง, ซอฟต์แวร์ hardware = ๑. ส่วนเครื่อง ๒. ส่วนอุปกรณ์, ฮาร์ดแวร์ (ละมุนภัณฑ์/กระด้างภัณฑ์ไม่ใช่ศัพท์ของราชบัณฑิตยสถาน เป็นเพียงเรื่องที่เล่าต่อ ๆ กันเท่านั้น) joystick = ก้านควบคุม, built-in = ในตัว, window = หน้าต่าง, วินโดว์ Windows ที่เป็นชื่อเฉพาะ = วินโดวส์ PowerPoint/Lotus Notes/Excel/Basic/Visual Basic/Microsoft เป็นชื่อเฉพาะให้ใช้ทับศัพท์ตามหลักเกณฑ์ หรือเขียนเป็นภาษาอังกฤษก็ได้ multitasking = ระบบหลายภารกิจ taskbar ไม่มีศัพท์บัญญัติ ให้ทับศัพท์ว่า ทาสก์บาร์ ท่านสามารถตรวจสอบศัพท์บัญญัติสาขาวิชาต่าง ๆ ได้จาก ...

http://www.royin.go.th/th/faq/showsearch.php?GroupID=16&SystemModuleKey=110&ID=129

By: dbook on 5 April 2009 - 01:05 #94846

ยืนยันครับว่าทางราชบัณฑิตยสถานไม่เคยบัญญัติขึ้นมา

DBO0K