Tags:
Node Thumbnail

ใน ตอนที่ 1 คุณ mk ได้ปูพื้นเรื่องงานแปลโดยทั่วไปไว้แล้ว ต่อไปนี้ก็จะเจาะเรื่องการร่วมแปล GNOME นะครับ

ระบบการแปลของ GNOME จะอาศัยหน้าเว็บ "Damned Lies" ที่รวม PO ของโครงการต่าง ๆ ใน GNOME จาก SVN snapshot ล่าสุด ซึ่งพร้อมสำหรับการแปลอยู่ตลอดเวลา ผู้แปลสามารถเลือกดาวน์โหลด PO ของโครงการที่สนใจ เพื่อมาแปลด้วย PO editor ทั้งหลาย แล้วส่งงานที่ได้ให้กับผู้ประสานงานหรือ mailing list ทีมแปล เพื่อผ่านกระบวนการตรวจทานและ commit เข้า SVN ต่อไป

การดาวน์โหลด PO/POT

ผู้แปลสามารถตั้งต้นที่หน้า ทีมแปลไทย แล้วเลือกชุด Release ที่สนใจแปล โดยสำหรับชุด GNOME 2.x กรุณาเลือกรุ่นล่าสุดเสมอ เนื่องจากรุ่นเก่าจะไม่มีการ maintain อีกแล้ว ส่วนชุดอื่น ๆ เช่น GNOME Fifth Toe, Extra GNOME Applications, GNOME-Office จะมีแค่รุ่นเดียว สามารถเลือกแปลได้ทันที

การแปลแฟ้ม PO/POT

เครื่องมือที่ใช้แปลมีหลายตัวให้เลือก เช่น gtranslator, kbabel, poedit หรือแม้กระทั่ง text editor ทั่วไปอย่าง emacs/vim ซึ่งไม่ขอแนะนำสำหรับผู้เริ่มต้นแปล

รายละเอียดอื่น ๆ อ่านได้จากหัวข้อ ขั้นตอนและเครื่องมือในการแปล ใน ตอนที่ 1

เครื่องมือช่วยแปล

เพื่ออำนวยความสะดวกนักแปล และเพื่อสำนวนการแปลที่สอดคล้องต้องกัน เราได้เตรียมเครื่องมือช่วยไว้ดังนี้:

  1. wiki รวบรวมประเด็นการแปลต่าง ๆ ไว้เป็นหมวดหมู่ เช่น ชื่อภาษา ชื่อสี

  2. glossary อภิธานศัพท์สำหรับศัพท์เฉพาะทาง ตามที่ได้ตกลงร่วมกันสำหรับทีมแปล ซึ่งจะผ่านการพิจารณาข้อมูลประกอบหลาย ๆ ด้านมาแล้ว

  3. corpus เก็บรวบรวมคำแปลเดิมในแพกเกจที่แปลไปแล้ว เพื่อเป็นแนวทางสำหรับคำแปลใหม่ รวมทั้งในบางครั้ง ใช้เป็นเครื่องมือตรวจสอบความสอดคล้องของคำแปลในที่ต่าง ๆ ด้วย

  4. mailing list ใช้ถามคำถามในกรณีที่มีปัญหา รวมทั้งใช้ส่งงานแปลด้วย เราขอแนะนำให้ผู้แปลทุกท่านสมัครสมาชิก เพื่อใช้สนทนาตกลงกัน รวมทั้งใช้ประสานงานต่าง ๆ ด้วย mailing list นี้ ไม่ได้ใช้ประสานงานแค่สำหรับ GNOME เท่านั้น งานแปล KDE, OpenOffice.org, Debian ก็ใช้ช่องทางนี้ร่วมกันด้วยเช่นกัน

การส่งงานแปล

เมื่อแปลเสร็จแล้ว สามารถส่งคำแปลได้สองทาง

  1. ส่งเข้า mailing list ซึ่งกระบวนการตรวจทานจะทำใน mailing list ซึ่งหมายความว่าสมาชิกท่านอื่นจะได้เห็นรายการแก้ไขคำแปลต่าง ๆ จากผู้ตรวจทาน รวมทั้งอาจได้รับความเห็นต่าง ๆ จากสมาชิกด้วย

  2. ส่งถึงผู้ประสานงานโดยตรง ซึ่งที่อยู่อีเมลของผู้ประสานงาน ได้แสดงอยู่ที่ด้านบนของหน้า Damned Lies ตรงหัวข้อ "Coordinator" อยู่แล้ว ในกรณีนี้ การตรวจทานจะทำเป็นการส่วนตัว เหมาะกับผู้ที่ต้องการความเป็นส่วนตัวในการตรวจทาน

การตรวจทาน

การตรวจทานมีเพื่อควบคุมคุณภาพของงานแปล อาจมีการตรวจตัวสะกด ตรวจการใช้คำศัพท์ว่าตรงตามความหมายของโปรแกรมจริงหรือไม่ หรือใช้สอดคล้องกับส่วนอื่น ๆ ของโครงการหรือไม่ ก่อนที่จะ commit เข้า SVN ต่อไป ซึ่งตรงนี้ เป็นหน้าที่ของผู้ประสานงานแปล

โดยปกติแล้ว รอบแรก ๆ ของการตรวจทาน มักจะมีรายการแก้ไขมาก และจะค่อย ๆ ลดลงเมื่อมีการปรับความคุ้นเคยของผู้แปลเอง ในอดีต เราเคยตรวจทานใน mailing list เป็นหลัก
ซึ่งทำให้ผู้ที่มาใหม่เกิดความเกร็ง เมื่อมีการแจ้งรายการแก้ไขมากมายต่อหน้าธารกำนัล ฉะนั้น ต่อมาเราจึงแนะนำให้ผู้แปลใหม่ส่งงานถึงผู้ประสานงานโดยตรง เพื่อตรวจทานเป็นการส่วนตัวก่อน

ที่ผ่านมา พบว่าบางคนเมื่อได้เห็นรายการแก้ไขจำนวนมาก ก็อาจรู้สึกท้อถอย หรือรู้สึกว่ามาสร้างภาระให้กับผู้ตรวจทาน ในฐานะผู้ตรวจทานก็ต้องชี้แจงว่า ทุกงานแปลที่ส่งมา ถือเป็นการแบ่งเบาภาระงานแปลทั้งสิ้น เพราะอย่างน้อย การตรวจทานก็ใช้เวลาในการคิดสั้นกว่าการแปลแน่ ๆ แม้จะแก้เกือบทุกข้อความก็ตาม

รายละเอียดเพิ่มเติม

รายละเอียดเพิ่มเติม ได้รวบรวมไว้ที่หน้า มาช่วยกัน
ของหน้าเว็บทีมแปล GNOME ไทย [http://gnome-th.sourceforge.net] สามารถใช้อ้างอิงยามฉุกเฉินได้

หรือหากจำ URL ของทีมแปลไม่ได้ ก็สามารถหาได้ง่าย ๆ โดยคลิกขวาที่พาเนลของ GNOME เลือก "เกี่ยวกับพาเนล" จะได้ about box ของพาเนล กด "เครดิต", "แปลโดย" แล้วเลื่อนแถบเลื่อนลงมาบรรทัดล่างสุด

Get latest news from Blognone