Tags:
Node Thumbnail

Harry McCracken บรรณาธิการของ Fast Company ได้เขียนบทความเจาะลึกถึงการบริหารจัดการองค์กรของ Instagram สตาร์ทอัพดาวรุ่งที่ถูก Facebook ซื้อไปที่มูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์ เมื่อปี 2012 ผ่านไป 5 ปี จำนวนผู้ใช้งานเพิ่มจาก 30 ล้านคน เป็น 600 ล้านคน สะท้อนความนิยมที่เพิ่มขึ้นโดยตลอด รวมทั้งเริ่มหารายได้จากโฆษณาแล้ว สิ่งเหล่านี้เกิดจากการวางแผนที่น่าสนใจภายในองค์กร

เริ่มจากวันที่ออกจากกรอบสี่เหลี่ยมจัตุรัส

เมื่อกลางปี 2015 ผู้บริหาร Instagram ได้พูดคุยกันและเสนอความคิดว่า Instagram น่าจะเลิกบังคับให้โพสต์ภาพเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสได้แล้ว ซึ่งถือเป็นความคิดที่ท้าทายมาก เพราะแอพ Instagram มีจุดเด่นคือความฮิปสเตอร์ ที่กระทั่งไอคอนแอพยังเป็นรูปกล้องแนวโพลารอยด์ ที่เป็นเหตุผลของการบังคับให้ใช้รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส

Ian Spalter หัวหน้าฝ่ายออกแบบ เล่าถึงเหตุการณ์ตอนนั้นที่เขาเพิ่งย้ายจาก YouTube เพื่อมาร่วมงานกับ Instagram ว่าเขาตกใจมากที่ Instagram เลือกจะทำลายเอกลักษณ์ของตน ซึ่งสุดท้ายแล้ว Instagram ก็เปิดให้โพสต์ภาพโดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส เมื่อเดือนสิงหาคม 2015

alt="Kevin Systrom ซีอีโอ Instagram"

ซีอีโอ Kevin Systrom บอกว่าเมื่อเลือกเปลี่ยนแปลงและผลตอบรับออกมาดี ก็ส่งผลให้ Instagram มีความกล้าที่จะลองทำสิ่งแปลกใหม่มากขึ้นนับตั้งแต่ตอนนั้น ดังจะเห็นได้จากการเปลี่ยนแปลงมากมายที่ตามมา อาทิ Stories, ถ่ายทอดสด, สติ๊กเกอร์, ใส่ภาพเป็นอัลบั้ม, จัด Timeline แบบใหม่, แอพวนลูป Boomerang จนถึงโลโก้และดีไซน์ใหม่

Systrom บอกว่าทุกครั้งเขาจะตั้งคำถามว่า เราจะทำอย่างไรหาก Instagram ที่เรารู้จักไม่สำคัญอีกต่อไปแล้ว ซึ่งนำมาสู่การเลือกที่จะเปลี่ยนให้รวดเร็ว ก่อนที่จะถูกบังคับให้เปลี่ยน

เป็นให้มากกว่าแอพแชร์ภาพถ่าย

Instagram เริ่มต้นจากการเป็นแอพแชร์ภาพถ่าย ใส่ฟิลเตอร์สวยงาม แต่วันนี้ Systrom บอกว่าพันธกิจ (Mission) ของ Instagram คือเพิ่มความสัมพันธ์ของผู้คนให้แนบแน่น ผ่านการแบ่งปันประสบการณ์ นั่นทำให้ Instagram เพิ่มฟีเจอร์ที่หลากหลายมากขึ้นแบบไม่มีกรอบมาจำกัดอีก

ฟีเจอร์ Stories อาจทำให้ผู้ใช้ Instagram ตั้งแต่รุ่นแรกๆ รู้สึกแอพเดี๋ยวนี้มีอะไรเยอะเกินไป เรื่องนี้ Tim Van Damme พนักงานลำดับที่ 9 ของ Instagram ที่รับผิดชอบงานออกแบบบอกว่า เพราะเดิมแอพ Instagram เขียนเองโดยสองผู้ก่อตั้ง จึงมีแนวทางคือทำให้เรียบง่ายที่สุด เนื่องจากมีกันอยู่สองคน แต่ตอนนี้ Instagram มีพนักงานเกือบ 500 คน (ในวันที่ Facebook ซื้อกิจการมีพนักงาน 13 คน) การพัฒนาสิ่งใหม่ต่างๆ จึงทำได้ง่ายขึ้นมาก

alt="พนักงาน 13 คนแรกของ Instagram ที่สำนักงานใหญ่ Facebook"

แต่ถึงจะเพิ่มฟีเจอร์มากมาย หลักสำคัญของ Instagram ก็คือ ผู้ใช้งานต้องสามารถเข้าใจได้ว่าฟีเจอร์เหล่านี้คืออะไร และใช้อย่างไร

การอยู่ในเครือของ Facebook ยังช่วยให้ Instagram พัฒนาฟีเจอร์ที่ต้องพึ่งพาระบบขนาดใหญ่อย่างการถ่ายทอดสด Live ง่ายขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีของ Facebook เลย แล้วที่เหลือ Instagram ก็ควบคุมประสบการณ์ใช้งานของผู้ใช้เป็นหลัก

Systrom บอกว่าเขาเองไม่อยากให้ Instagram เป็นแอพที่มีอะไรเยอะแยะเต็มไปหมด แต่ต้องยอมรับว่าเมื่อผู้ใช้งานมีหลายร้อยล้านคน ก็จะมีความต้องการที่น่าสนใจใหม่ๆ เข้ามา ขณะเดียวกันก็ต้องกล้าที่จะตัดคุณสมบัติซึ่งไม่จำเป็นออกไปด้วย (เช่น Photo Maps)

ถึงตอนนี้อาจเร็วไปที่จะสรุปว่า Instagram จะสามารถเอาชนะในการแข่งขันกับแอพคล้ายคลึงกับอย่าง Snapchat ได้หรือไม่ แต่การมีผู้สนับสนุนเบื้องหลังอย่าง Facebook ทำให้ Instagram สามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ได้รวดเร็วเหนือกว่า Snapchat นั่นเอง

Instagram

ที่มา: Fast Company

บทความเก่าเมื่อ 5 ปีที่แล้ว: ทำไม Facebook ถึงต้องซื้อ Instagram

Get latest news from Blognone

Comments

By: panurat2000
ContributorSymbianUbuntuIn Love
on 21 March 2017 - 10:34 #976207
panurat2000's picture

[ใส่ภาพเป็นอัลบั้ม],(https://www.blognone.com/node/90316) => ใส่ภาพเป็นอัลบั้ม

By: mr_tawan
ContributoriPhoneAndroidWindows
on 21 March 2017 - 18:16 #976330
mr_tawan's picture

หัวข่าวเข้ากับ ข่าว Cobol/Fortran ข้างบนมาก


  • 9tawan.net บล็อกส่วนตัวฮับ