Tags:
Node Thumbnail

ทุกวันนี้เราพูดเรื่อง IoT กันเยอะมาก และแนวโน้มของตลาดก็ชัดเจนว่าโลกเราจะมีอุปกรณ์ IoT เพิ่มขึ้นอีกมหาศาลในอนาคตอันใกล้นี้ คำถามคือ สถาปัตยกรรมทางไอทีที่เหมาะสมกับยุค IoT คืออะไร?

ผมมีโอกาสได้รับฟังข้อมูลจากคุณ Mauro Favero ผู้บริหารของ Dell ในงาน Dell EMC World 2016 ซึ่งได้มุมมองที่น่าสนใจ 2 เรื่อง นั่นคือ แนวคิด Edge-Fog-Cloud และแนวคิดว่าตลาด IoT เป็นตลาดที่ขายความเฉพาะทางของแต่ละอุตสาหกรรม (vertical)

Edge-Fog-Cloud สถาปัตยกรรมประมวลผล IoT สามระดับชั้น

เดิมที โลกของเรามีอุปกรณ์ฝังตัวสาย embedded ที่ทำงานเฉพาะอย่าง (single function) และมักปล่อยให้มันทำงานอยู่โดดๆ โดยไม่ต้องยุ่งกับอุปกรณ์อื่นใด แต่ทิศทางตลาดชัดเจนว่าอุปกรณ์เหล่านี้เริ่มเชื่อมต่อเน็ตได้ (connected) กลายเป็นศัพท์ใหม่ที่เรียกว่า Internet of Things หรือ IoT

เมื่อ IoT ต่อเน็ตได้ และสถาปัตยกรรมเซิร์ฟเวอร์เริ่มก้าวสู่ยุคของคลาวด์ เราจึงมักถือว่า IoT จะต้องเชื่อมต่อกับคลาวด์ตลอดเวลา ซึ่งในมุมมองของ Dell มองว่าไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้นเสมอไป

Dell มองว่าอุปกรณ์ IoT บางประเภทก็ไม่จำเป็นต้องส่งข้อมูลขึ้นคลาวด์ไปซะทั้งหมด เช่น สวิตช์ไฟที่เปลี่ยนสถานะตามสภาพแสง ก็ไม่ต้องส่งข้อมูลขึ้นคลาวด์ตลอดเวลา งานบางอย่างสามารถประมวลผลในระดับ local network ให้จบในตัวได้ แล้วค่อยส่งข้อมูลขึ้นคลาวด์เพื่อแจ้งให้ทราบเป็นระยะก็พอ การประมวลผลแบบนี้ช่วยให้การทำงานคล่องตัวขึ้น และประหยัดแบนด์วิดท์ของการส่งข้อมูลโดยรวมลงมาก

การประมวลผลที่ local แบบนี้ มีชื่อเรียกว่า "Edge" (ขอบ)

alt="Dell EMC World 2016"

Dell ยังแยกระดับการประมวลผล-เก็บข้อมูล ออกเป็นทั้งหมด 3 ระดับคือ

  • Edge (ขอบ) การประมวลผลที่ระดับ local
  • Fog (หมอก) การประมวลผลที่คั่นอยู่ตรงกลาง เช่น ส่งข้อมูลเข้ามายังเซิร์ฟเวอร์ขององค์กร
  • Cloud (เมฆ) การประมวลผลบนคลาวด์แบบที่เรารู้จักกันดี

ภาพแบบเต็มๆ จาก Dell

alt="dell-iot-framework"

เป้าหมายของ Dell คือเป็นผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ (essential infrastructure) ของการประมวลผล 3 ระดับนี้ให้ได้ (และนี่คือเหตุผลสำคัญที่ซื้อ EMC) ซึ่งในระดับของ Fog และ Cloud นั้น Dell EMC มีสินค้ากลุ่มเซิร์ฟเวอร์และศูนย์ข้อมูลจำนวนมากอยู่แล้ว

สิ่งที่คนยังไม่ค่อยรู้จักกันมากนักคือในระดับของ Edge ที่อยู่สุดปลายอีกข้าง Dell ยังมีสินค้ากลุ่มที่เรียกว่า Dell Edge Gateway เป็นพีซีขนาดเล็กที่ใช้ Atom และมีระบบเครือข่ายไร้สายในตัว มันเป็นสินค้าเกรดอุตสาหกรรมที่ติดตั้งในสภาพการทำงานภายนอกอาคารได้ (ทนแดด-ทนฝุ่น) และทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลจากเซ็นเซอร์ต่างๆ มาประมวลผลที่ระดับ Edge นั่นเอง

หน้าตาของ Dell Edge Gateway

alt="Dell EMC World 2016"

ผมมีโอกาสคุยกับบริษัทที่ทำโซลูชัน IoT หลายราย ทุกรายบอกตรงกันว่าอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ประมวลผลข้อมูลตรงนี้ จริงๆ แล้วจะใช้อะไรก็ได้ ใช้ Raspberry Pi หรือพีซีทำเองก็ได้หมด แต่พอมาถึงการใช้งานเป็นโซลูชันจำนวนมากๆ ติดตั้งทีเป็นร้อยๆ ตัว การใช้พีซี Edge Gateway ที่ออกแบบมาสำหรับงานแบบนี้โดยเฉพาะ ก็จะดีกว่าในแง่การซัพพอร์ตและรับรองมาตรฐาน

ถ้าวิสัยทัศน์นี้ถูกต้อง ธุรกิจ Edge Gateway น่าจะกลายเป็นธุรกิจที่สำคัญในอนาคตของ Dell ในอีกไม่ช้านี้

IoT เป็นงานที่ต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะอุตสาหกรรม

คุณ Favero ให้ประเด็นกับผมว่า Dell จัดสายธุรกิจ IoT เข้าเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ OEM ของตัวเอง ด้วยเหตุผลว่า Dell มองว่าตลาด IoT ไม่ใช่อุปกรณ์ที่วางขายทั่วไป (general-purpose) แบบเดียวกับการขายพีซีหรือเซิร์ฟเวอร์ แต่เป็นการขายทั้งโซลูชันที่ต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางสูงมาก

คุณ Favero ยกตัวอย่างว่า ถ้าเราเป็นโรงพยาบาลที่ต้องการเลือกซื้อโซลูชัน IoT เราก็คงต้องการซื้อสินค้าจากบริษัทที่เชี่ยวชาญเรื่องการแพทย์ มีประสบการณ์ว่าแพทย์หรือพยาบาลต้องการอะไร เรื่องไหนคือประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ (เช่น การแผ่คลื่นต้องไม่รบกวนผู้ป่วย) ซึ่งแต่ละอุตสาหกรรมมีความต้องการแตกต่างกันสูงมาก เรียกว่าเป็น vertical market

ในฐานะผู้ขายคอมพิวเตอร์รายใหญ่ของโลกมายาวนาน Dell บอกว่ามีลูกค้าต้องการระบบเฉพาะทาง (custom) เยอะมาก จึงตั้งฝ่าย OEM ขึ้นมารองรับความต้องการนี้ มีประสบการณ์สั่งสมมานานพอที่จะรู้ว่าลูกค้าต้องการอะไรบ้าง พอมาถึงยุค OEM บริษัทจึงมั่นใจว่าควรมาในทิศทางนี้ และเป็นเหตุผลว่าทำไม Dell ถึงจัด IoT อยู่ในกลุ่มธุรกิจด้าน OEM

อุตสาหกรรมหลักที่ Dell ให้ความสนใจได้แก่ สุขภาพ (healthcare), โทรคมนาคม (telecom), ระบบเครื่องจักรอัตโนมัติ (industrial automation) และงานด้านสอดส่อง-รักษาความปลอดภัย (security and surveillance) ส่วนโซลูชันที่วางขายก็จะใช้วิธีร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ โดยมีอุปกรณ์ของ Dell เป็นศูนย์กลาง

โซลูชันระบบติดตามรถบรรทุก ร่วมมือกับ Nokia

alt="Dell EMC World 2016"

โซลูชันตรวจสอบสถานะและอายุการใช้งานของเครื่องจักรอุตสาหกรรม (พวกมอเตอร์ต่างๆ) เพื่อซ่อมบำรุงล่วงหน้า (predictive maintenance)

alt="Dell EMC World 2016"

ตัวอย่างการใช้ VR เพื่อ "ซ้อม" ดูการทำงานของเครื่องจักรก่อนซ่อมบำรุง

alt="Dell EMC World 2016"

Get latest news from Blognone

Comments

By: delta on 24 October 2016 - 18:08 #948818
delta's picture

ยิ่งเทคโนโลยีเข้าใกล้คนมากเท่าไร...ภัยก็มากเป็นเงาตามตัว...แต่เทคโนโลยีก็ดีตรงความสะดวก ไม่สบายเสมอ

By: plen007
iPhoneAndroidWindows
on 25 October 2016 - 13:12 #948972

ภาพสุดท้ายนี้น่าจะเป็น AR มากกว่า VR นะครับ