Tags:
Topics: 

Bruce Schneier นักวิชาการวิทยาการเข้ารหัสลับและผู้เชี่ยวชาญความปลอดภัยคอมพิวเตอร์ มักออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นความปลอดภัยและประเด็นสังคมที่เกี่ยวข้องเสมอๆ เช่น กรณี FBI ขอให้แอปเปิลสร้างรอมพิเศษเพื่อปลด ที่หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมจึงมีความเห็นแตกต่างกันมาก และการที่แอปเปิลจะปลดล็อกให้โทรศัพท์เพียงเครื่องหนึ่งโดยสร้างเครื่องมือเฉพาะจะมีปัญหาอะไร แต่หลังจากสโนว์เดนปล่อยเอกสารมาปีกว่าๆ Schneier ก็ออกหนังสือแสดงความกังวลต่อแนวทางของบริษัทและรัฐบาลที่ไม่เคารพความเป็นส่วนตัวนัก โดยออกมาเป็นหนังสือ Data and Goliath

alt="upic.me"

Data and Goliath ชี้ให้เห็นว่าทุกวันนี้เรากำลังโดน "สอดส่อง" (surveillance) อย่างไรบ้าง จากบริษัทที่เราใช้งาน และรัฐบาลต่างๆ ที่เรารับรู้ได้จากข้อมูลเอกสารของสโนว์เดนเป็นส่วนใหญ่ หนังสือจงใจใช้คำว่าสอดส่องจากบริการเอกชนเหมือนกับการสอดส่องจากรัฐบาล และแสดงให้เห็นว่าแม้จะมีจุดมุ่งหมายต่างกัน แต่การกระทำกลับใกล้เคียงกัน จากการพยายามเก็บข้อมูลของคนจำนวนมาก และใช้งานได้ตามแต่ใจชอบ โดยบริษัทเหล่านี้มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนยากที่จะมีใครหนีรอดจากการถูกเก็บข้อมูลได้ เขายกตัวอย่างตัวของเขาเองที่ไม่ได้ใช้บริการจีเมล แต่กลับมีอีเมลหนึ่งในสามถูกเก็บไว้ในเซิร์ฟเวอร์ของกูเกิลเพราะปลายทางใช้งานกูเกิล ทำให้กูเกิลรู้จักตัวตนของเราได้ดีกว่าตัวเราเองเสียอีก และตัวอย่างการใช้งานอื่น เช่น Uber ที่สามารถแสดงว่าใคร "ประสบความสำเร็จ" ในการไปปาร์ตี้และนั่ง Uber หลังสี่ทุ่มถึงตีสี่ จากนั้นจึงนั่ง Uber กลับบ้านภายใน 6 ชั่วโมงต่อมา

แม้ว่าการแสดงข้อมูลเหล่านี้จะเป็นการแสดงข้อมูลเชิงสถิติที่ไม่ระบุตัวตน แต่การที่บริษัทสามารถรายงานข้อมูลออกมาได้แสดงว่าข้อมูลของเราถูกเก็บอยู่และสามารถถูกใช้งานในรูปแบบต่างๆ ได้ตามใจชอบ (Uber ลบบล็อคออกภายหลังแต่ก็มีคนจำนวนมากสำเนาเอาไว้) ไม่เพียงแค่บริษัทที่เราใช้บริการ แต่ยังมีบริษัทโฆษณาที่สามารถติดตามเราข้ามเว็บจำนวนมากผ่านทางแบนเนอร์ กูเกิลและเฟซบุ๊กที่รับรู้พฤติกรรมการใช้งานเว็บภายนอกของเราผ่านทางเว็บที่มักจะฝังโค้ดและสคริปต์ของทั้ง Google Analytics, Facebook Plugins และช่องทางอื่น

การสอดส่องโดยรัฐเป็นอีกหัวข้อสำคัญของหนังสือ จากข้อมูลจากเอกสารของสโนว์เดนและเอกสารอื่น Bruce Schneier แสดงให้เห็นว่ารัฐพยายามสอดส่องเราอย่างมากด้วยเทคโนโลยีในยุคใหม่ NSA ติดตามผู้ใช้อินเทอร์เน็ตได้ในระดับประเทศ FBI ติดตามรถได้ทุกคันในระดับรัฐ

alt="upic.me"

ส่วนที่สองของหนังสือพยายามอธิบายว่าทำไมเราจึงควรให้ความสำคัญกับเรื่องส่วนตัว หนังสืออธิบายถึงสิทธิ์ที่เราจะแสดงตัวตนด้านใดด้านหนึ่งให้คนภายนอกรับรู้ว่าเป็นเรื่องสำคัญกับความเป็นตัวตนของเรา การทำลายความเป็นส่วนตัวก็ทำลายตัวตนของเราลงไปด้วยพร้อมๆ กัน เมื่อเรารับรู้ว่าเราไม่มีความเป็นส่วนตัวการแสดงออก ความคิด และการกระทำของเราจะเปลี่ยนไป

ขณะเดียวกันสังคมก็เคลื่อนไปด้วยการกระทำส่วนตัว สังคมหลายสังคมเคยมีกฎหมายหรือกติกาไม่ยอมรับการความสัมพันธ์ทางเพศที่หลากหลายแต่เรื่องพวกนี้ก็มีอยู่ในสังคมโดยที่เป็นเรื่องส่วนตัวของคนจำนวนหนึ่ง จากเรื่องที่เคยเป็นเรื่องผิด เรื่องจำนวนมากก็กลายเป็นเรื่องที่ยังผิดอยู่แต่ยอมรับกันโดยทั่วไป และกลายเป็นเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องผิดในที่สุดได้ แต่หากการสอดส่องทำได้อย่างสมบูรณ์การเคลื่อนไหวของสังคมก็จะทำไม่ได้ และสังคมจะกลายเป็นรัฐตำรวจไปในที่สุด

alt="upic.me"

ส่วนสุดท้ายของหนังสือเสนอทางออกของการอยู่ร่วมกับเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยได้ประโยชน์จากการ "สอดส่อง" เหล่านี้โดยไม่ทำให้สังคมกลายเป็นสังคมที่ไร้ความเป็นส่วนตัวในที่สุด หนังสืออธิบายถึงหลักการ "จำเป็นและได้สัดส่วน" สำหรับการสอดส่องเมื่อจำเป็นต่อการดำเนินคดี นอกจากหลักการที่ยอมรับในวงกว้างแล้ว Schneier ยังระบุถึงความเปลี่ยนแปลงที่ควรเป็นในสหรัฐฯ เช่น การปรับโครงสร้างของ NSA ให้แยกระหว่างภารกิจป้องกันการสื่อสารออกจากหน่วยงานดักฟัง โครงสร้างการดักฟังโดยรัฐต้องมีการปกป้องและเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะให้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ควรมีกฎหมายปกป้องข้อมูลส่วนตัวอย่างเข้มแข็ง การปกป้องไม่ใช่เรื่องการห้ามใช้ข้อมูลไปให้บริการ แต่เป็นเรื่องของการทำกระบวนการให้โปร่งใส เมื่อมีการเก็บข้อมูลต้องบอกได้ว่าทำไมจึงต้องเก็บข้อมูล และเมื่อต้องการนำข้อมูลไปใช้งานอย่างอื่นก็ต้องขออนุญาตผู้ใช้ใหม่อีกครั้ง

การปกป้องข้อมูลยังเป็นเรื่องการควบคุม ผู้ใช้ต้องมีสิทธิสอบถามผู้ให้บริการได้ว่ามีข้อมูลอะไรที่เกี่ยวข้องกับเขาถูกเก็บอยู่กับผู้ให้บริการบ้าง ผู้ใช้มีสิทธิขอลบข้อมูลออกเมื่อต้องการ

ท้ายเล่มเป็นเรื่องของกระบวนการเปลี่ยนแปลง Schneier ระบุว่ากระบวนการสอดส่องไม่ได้เกิดมาเพราะรัฐบาลต้องการเพียงอย่างเดียว เขายกตัวอย่างว่าเมื่อเกิดเหตุก่อการร้าย การโทษนักการเมืองว่าไม่ได้ให้อำนาจหน่วยงานความมั่นคงอย่างเพียงพอกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการก่อการร้ายได้ ไม่ว่าอำนาจนั้นจะเกินเลยหรือไร้การควบคุมแค่ไหน และมีหลักฐานน้อยเพียงใดอำนาจเหล่านั้นสามารถลดการก่อการร้ายได้จริง เขาเตือนให้คนทั่วไปตระหนักว่าเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องรักษาสังคมให้มีเสรีภาพ

หนังสือแสดงถึงหลักการโดยทั่วไปโดยไม่ลงรายละเอียดทางเทคนิคที่ซับซ้อน คนทั่วไปที่สนใจความเป็นส่วนตัวสามารถอ่านได้โดยง่าย ขณะเดียวกันก็หนังสือก็เปิดประเด็นทางสังคมให้กับคนที่เข้าใจหลักการทางเทคนิคอยู่แล้ว หนังสือเล่มนี้จึงเป็นหนังสือสำคัญที่เราควรจะอ่านเพื่อทำความเข้าใจถึงมุมมองต่อความเป็นส่วนตัวในโลกอินเทอร์เน็ตทุกวันนี้และในอนาคตต่อไป

Get latest news from Blognone

Comments

By: panurat2000
ContributorSymbianUbuntuIn Love
on 26 February 2016 - 05:57 #888217
panurat2000's picture

เช่น กรณี FBI ขอให้แอปเปิลสร้างรอมพิเศษเพื่อปลด

เพื่อปลด => เพื่อปลดล็อก

(Uber ลบบล็อคออกภายหลังแต่ก็มีคนจำนวนมากสำเนาเอาไว้)

ลบบล็อค ?

ไม่ยอมรับการความสัมพันธ์ทางเพศที่หลากหลาย

การความสัมพันธ์ ?

ขณะเดียวกันก็หนังสือก็เปิดประเด็นทางสังคม

ก็หนังสือก็ ?

By: Kittichok
Contributor
on 27 February 2016 - 00:02 #888459

ขอบคุณสำหรับรีวิวครับ ที่เขียนนี้ก็ได้ความคิดเห็นที่น่าคิดครับ