Tags:
Node Thumbnail

โครงการ dtac Accelerate Batch 3 ถือเป็นการบ่มเพาะสตาร์ตอัพไทย ติดต่อกันเป็นปีที่สามของบริษัท dtac โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัทแม่ Telenor Group รูปแบบโครงการยังคล้ายของปีที่แล้ว นั่นคือคัดเลือกสตาร์ตอัพที่โดดเด่นเพื่อไปพัฒนาความสามารถ และผลักดันให้เติบโตในเวทีโลก

โดยในครั้งนี้ทาง dtac ได้ทำการคัดเลือกผู้สมัครทั้งหมดจาก 21 ทีม จนเหลือ 6 ทีม ที่สามารถผ่านเข้ารอบสุดท้ายมาได้ เพื่อเข้าสู่การอบรม Bootcamp ในระหว่างเดือน กค-ตค 58 นี้ ทั้ง 6 ทีมจะได้รับการ workshop เข้มข้น จาก กูรูและเมนเตอร์ ที่มากด้วยประสบการณ์และความรู้ เข้าร่วมด้วย นอกจากนี้แต่ละทีมยังสามารถเลือกเมนเตอร์ให้เข้ามาเป็นที่ปรึกษากับทีมตัวเองแบบใกล้ชิดได้อีกด้วย

สิ่งที่สตาร์ตอัพที่ผ่านการเข้ารอบจะได้รับ มีตั้งแต่

  • เงินสนับสนุนมูลค่า 5 แสน - 1.5 ล้านบาท
  • การเข้าอบรม bootcamp นาน 4 เดือน โดยมีวิทยากรที่มีชื่อเสียงระดับโลกเข้าให้ประสบการณ์
  • โอกาสนำเสนอแนวคิดและผลงานต่อหน้านักลงทุน (venture capital) ระดับโลก และนำเสนอผลงานที่งาน Telenor Digital Winners
  • โอกาสพัฒนาธุรกิจต่อยอดร่วมกับ dtac และกลุ่ม Telenor
  • สิทธิการใช้งาน dtac coworking space ที่อาคารจามจุรีสแควร์ฟรี 1 ปี
  • เดินทางไปพบสตาร์ตอัพที่มีชื่อเสียงในซิลิคอนวัลเลย์

จุดเด่นของโครงการ dtac Accelerate ในปีนี้ยังเป็นโอกาสในการเรียนรู้จากวิทยากรที่มีชื่อเสียง ทั้งในระดับประเทศ ระดับเอเชีย และระดับโลก ดังนี้

วิทยากร (Speakers)

alt="upic.me"

กลุ่มวิทยากรรับเชิญที่จะมาให้ประสบการณ์แก่สตาร์ตอัพที่ผ่านการคัดเลือก ได้แก่

  • Krating Poonpol คนไทยที่เคยทำงานกับกูเกิล และผู้ก่อตั้ง Disrupt University
  • Nir Eyal ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Hooked และผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์
  • Kulawat Wongsaroj ผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาแบบ agile จากบริษัท Lean In Consulting
  • Jon Yongfook ผู้ก่อตั้ง Beatrix สตาร์ตอัพจากสิงคโปร์ ผู้เชี่ยวชาญเทคนิค Growth Hacking
  • Stefan Jung นักลงทุนจาก Monk’s Hill Ventures บริษัทลงทุนจากสิงคโปร์ที่เน้นการลงทุนในสตาร์ตอัพฝั่งเอเชีย
  • Jeffrey Paine นักลงทุนจาก Golden Gate Ventures บริษัทลงทุนจากสิงคโปร์และซานฟรานซิสโก (บทสรุปการบรรยายของคุณ Jeffrey)
  • Kittinan Anuphan ซีอีโอ Claim Di สตาร์ตอัพด้านประกันภัยรถยนต์ ผู้เข้าแข่งขัน dtac Accelerate ปีที่แล้ว
  • Moo Natavudh ผู้ก่อตั้ง Ookbee และพาร์ทเนอร์ร่วมจัดการกองทุน 500tuktuks

พี่เลี้ยง (Mentors)

alt="upic.me"

Mentor หรือพี่เลี้ยง คือกลุ่มคนที่จะอยู่กับสตาร์ตอัพไปตลอดจนจบโครงการ และใกล้ชิดกับสตาร์ตอัพที่เข้าแข่งขันมากที่สุด งานนี้ dtac เชิญผู้ก่อตั้งสตาร์ตอัพและผู้บริหารบริษัทไอทีที่ประสบความสำเร็จ มาถ่ายทอดประสบการณ์ล้ำค่าให้ทีมที่เข้ารอบต่อไป

  • Wicharn Manawanitjaren ผู้ก่อตั้ง Taamkru สตาร์ตอัพด้านการศึกษา
  • Thanawat Malabuppha ผู้ก่อตั้ง Priceza เว็บไซต์เปรียบเทียบราคาสินค้าชื่อดัง
  • Tiwa York ผู้บริการ Kaidee.com เว็บไซต์ประกาศขายสินค้าชื่อดัง
  • Somwang Luangphaiboonsri ผู้บริหาร Paysbuy บริการจ่ายเงินออนไลน์ในเครือ dtac
  • Yod Chinsupakul ผู้ก่อตั้ง Wongnai สตาร์ตอัพด้านร้านอาหารและสถานที่

กรรมการ (Judges)

alt="upic.me"

ถึงแม้สตาร์ตอัพอาจไม่ได้มีเวลาอยู่กับกรรมการมากเท่ากับพี่เลี้ยงหรือวิทยากร แต่กรรมการที่ dtac คัดเลือกมาก็คุณภาพคับแก้ว และสามารถถ่ายทอดประสบการณ์ระดับโลกให้กับทีมสตาร์ตอัพได้เช่นกัน

  • Andrew Kvalseth ผู้บริหารฝ่ายกลยุทธ์องค์กรของ dtac และหนึ่งในผู้ดูแลโครงการนี้
  • Patai Padungtin นายกสมาคมสตาร์ตอัพไทย และผู้ก่อตั้ง Builk สตาร์ตอัพด้านก่อสร้างที่ประสบความสำเร็จระดับเอเชีย
  • Jeffrey Paine นักลงทุนจาก Golden Gate Ventures บริษัทลงทุนจากสิงคโปร์
  • Moo Natavudh ผู้ก่อตั้ง Ookbee และพาร์ทเนอร์ร่วมจัดการกองทุน 500tuktuks
  • Koichi Saito นักลงทุนจาก KK Fund ของประเทศญี่ปุ่น
  • Peng T.Ong ผู้ก่อตั้ง Monk’s Hill Venture บริษัทลงทุนชื่อดังของเอเชีย

ทั้งหมดคือผู้เชี่ยวชาญที่ทาง dtac เชิญมาให้ความรู้และประสบการณ์กับบรรดาสตาร์ตอัพรุ่นใหม่ ซึ่งโอกาสที่จะมีบิ๊กเนมระดับนี้มารวมตัวกันเป็นเรื่องไม่ง่ายเลย

สรุปเนื้อหาการบรรยายเรื่อง Growth Hacking จาก Jon Youngfook

หนึ่งในวิทยากรที่ dtac เชิญมาคือ จอน ยังฟุค (Jon Youngfook) หนุ่มลูกครึ่งจีน-อังกฤษที่มาเปิดสตาร์ตอัพในสิงคโปร์ชื่อ Beatrix และเป็นผู้เชี่ยวชาญเทคนิค growth hacking ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

คนในแวดวงสตาร์ตอัพบ้านเราอาจคุ้นชื่อหรือคุ้นหน้าของ Jon Youngfook เพราะบินมาพูดที่เมืองไทยหลายครั้งแล้ว เนื้อหาที่ Jon พูดถือว่ามีประโยชน์สำหรับสตาร์ตอัพหน้าใหม่ทุกราย

อะไรคือ Growth Hacking

Growth Hacking เป็นเทคนิคการทำตลาดเพื่อเพิ่มยอดผู้ใช้ให้เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงแรกๆ ที่เริ่มเปิดบริการ โดยใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยแทนการโปรโมทแบบเดิมๆ เพื่อช่วยให้ต้นทุนค่าการตลาดต่ำลง (‘hack’ เพื่อให้ ‘growth’)

ตัวอย่าง growth hacking คลาสสิกของวงการไอทีคือผู้ให้บริการอีเมลชื่อดัง Hotmail ในสมัยที่เปิดบริการใหม่ๆ แนบข้อความท้ายอีเมลทุกฉบับว่า ‘Powered by Hotmail’ ส่งผลให้คนรู้จัก Hotmail มากขึ้นอย่างรวดเร็ว และขยายฐานลูกค้าได้อย่างก้าวกระโดด

เทคนิค growth hacking อื่นที่น่าสนใจ คือ Airbnb ในสมัยเกิดตัวใหม่ๆ สร้างปุ่ม "Post to Craiglist" เพื่อโปรโมทห้องพักบนเว็บไซต์ Craiglist เพื่อให้คนเห็นประกาศมากขึ้น ในอดีต Craiglist ไม่ห้ามการกระทำแบบนี้แต่ไม่มี API ให้ใช้ ซึ่งทาง Airbnb ค้นหาวิธีเจอกันเอง ถึงแม้ปัจจุบันเทคนิคนี้ใช้งานไม่ได้แล้ว แต่ในตอนนั้นก็ช่วยสร้างฐานผู้ใช้ให้ Airbnb เป็นอย่างมาก

เทคนิคที่ Jon นำมาสอนสตาร์ตอัพที่เข้ารอบ dtac Accelerate คือการทำ lifecycle marketing สร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ส่งอีเมลหาลูกค้าต่อเนื่องเพื่อให้เกิดสายสัมพันธ์ระหว่างกัน

อย่างไรก็ตาม Jon ยืนยันว่าการทำ growth hacking ให้ประสบความสำเร็จ ต้องยืนอยู่บนฐานที่ว่าตัวผลิตภัณฑ์หรือบริการต้องดีก่อน ถ้าตัวผลิตภัณฑ์ไม่ดีพอ ทำ growth hacking ดีแค่ไหนก็ไม่มีทางสำเร็จได้ในระยะยาว เพราะ growth hacking ถือเป็นตัวช่วยทางการตลาดเท่านั้น

สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียดเรื่อง growth hacking สามารถอ่านได้จากหนังสือ Growth Hacking Handbook ที่เขาเป็นคนเขียน

มุมมองต่อแวดวงสตาร์ตอัพไทย

Jon มองว่า ecosystem ของสตาร์ตอัพเมืองไทยยังเล็กมาก ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น เทียบได้กับซิลิคอนวัลเลย์เมื่อ 20-30 ปีก่อน การสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ยังน้อยอยู่ และรัฐบาลเองก็ยังไม่มีท่าทีชัดเจนในการสนับสนุนสตาร์ตอัพ ต่างจากรัฐบาลสิงคโปร์ที่มีโครงการ Block 71 สร้างที่ทำงานให้กับสตาร์ตอัพโดยเฉพาะเลย

Jon ยังมองว่าสตาร์ตอัพไทยเขียนบล็อกโปรโมทธุรกิจกันน้อย ซึ่งเป็นสิ่งที่สตาร์ตอัพในโลกตะวันตกให้ความสำคัญมาก ดังนั้นจึงขอให้สตาร์ตอัพไทยเริ่มเขียนบล็อก เล่าเรื่องเกี่ยวกับธุรกิจของตัวเองว่าคืออะไร โดยเฉพาะสตาร์ตอัพสาย B2B ที่อธิบายแนวคิดได้ค่อนข้างยาก

นอกจากนี้ เขายังมองว่าสตาร์ตอัพไทยขาดโมเดลธุรกิจที่ชัดเจน และคนไทยยังยึดติดกับการให้บริการฟรี เพราะกลัวการเก็บเงินแล้วลูกค้าจะหนี อันนี้ต้องชัดเจนว่าเราทำธุรกิจ เส้นแบ่งของบริการฟรีกับเก็บเงินอยู่ที่ตรงไหน

เขามองว่าทิศทางในอนาคตของสตาร์ตอัพจะหมุนไปทาง Internet of Things รวมถึงสตาร์ตอัพสาย B2B ถือว่ามีอนาคตเชิงธุรกิจที่ดี

Get latest news from Blognone

Comments

By: AlninlA
ContributorAndroidUbuntu
on 17 October 2015 - 07:29 #853451
AlninlA's picture

Krating Poonpol อดีตคนไทยที่เคยทำงานกับกูเกิล..

ตัดอดีตออกก็ยังใช้ได้ครับ

By: panurat2000
ContributorSymbianUbuntuIn Love
on 18 October 2015 - 08:41 #853674 Reply to:853451
panurat2000's picture

โดยในครั้งนี้ทาง dact ได้ทำการคัดเลือกผู้สมัครทั้งหมดจาก 21 ทีม

dact => dtac

By: hydrojen
iPhoneRed HatWindows
on 19 October 2015 - 09:31 #853906 Reply to:853451
hydrojen's picture

อ่านแล้วนึกว่าย้ายสัญชาติไปละ

By: zerost
AndroidWindows
on 20 October 2015 - 13:57 #854310 Reply to:853451
zerost's picture

อดีตคนไทย >> ปัจจุบันไม่ใช่คนไทย
ที่เคยทำงานกับกูเกิล >> เมื่อก่อนทำงานที่กูเกิ้ล