Tags:
Topics: 
Node Thumbnail

ข่าวใหญ่ประจำวันนี้คือบริษัทอินเทลได้ส่งจดหมายข่าวว่า Paul Otellini ซีอีโอของบริษัทที่ทำงานมาตั้งแต่ปี 2005 จะลาออกโดยมีผลในเดือนพฤษภาคมปีหน้า

พร้อมกับการเตรียมการลาออกของซีอีโอ อินเทลก็เลื่อนตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายสามคนขึ้นมารับตำแหน่งรองประธานบริษัทพร้อมๆ กัน ได้แก่ Renee James หัวหน้าฝ่ายธุรกิจซอฟต์แวร์, Brian Krzanich หัวหน้าฝ่ายปฎิบัติการ (COO) และหัวหน้าฝ่ายการผลิตทั่วโลก, สุดท้ายคือ Stacy Smith หัวหน้าฝ่ายการเงินและกลยุทธ์บริษัท ส่วนตัว Otellini จะทำงานในช่วงส่งผ่านต่อไป และคงตำแหน่งที่ปรึกษาหลังจากออกจากตำแหน่งซีอีโอไปแล้ว

กระบวนการต่อจากนี้คือบอร์ดบริหารจะเริ่มสรรหาคนเข้ามาดำรงตำแหน่งซีอีโอต่อไป โดยจะเปิดพิจารณาทั้งคนภายในและภายนอก นับเป็นกระบวนการที่ต้องจับตาเป็นอย่างยิ่งเพราะที่ผ่านมา อินเทลมีซีอีโอมาแล้วเพียง 5 คนเท่านั้น

No Description

ภายใต้การบริหารของ Paul Otellini เราได้เห็นการปฎิวัติอินเทลครั้งใหญ่ จากการรับช่วงต่อจาก Craig Barrett (อยู่ในตำแหน่ง 1997-2005) ในยุคที่เราเห็นความสับสนของอินเทลครั้งใหญ่

อินเทลในยุคของ Barrett คือยุคที่อินเทลไม่เชื่อใน x86 อีกต่อไป หลังจาก x86 ครองโลกพีซีอย่างเบ็ดเสร็จมานานกว่าสิบปี อินเทลเริ่มไม่มั่นใจว่า x86 จะสามารถไปรอดและพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มที่แข็งแกร่งได้หรือไม่ Barrett จึงทุ่มเททรัพยากรลงไปกับการพัฒนาสินค้าสองสายทาง ทางหนึ่งคือ Intel XScale ที่ได้มาจากการซื้อกิจการ StrongARM จากบริษัท Digital Equipment ตั้งแต่ปี 1998 เริ่มวางขายตัวแรกตั้งแต่ปี 2002 อีกทางหนึ่งอินเทลมุ่งสู่เครื่องที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าด้วยสถาปัตยกรรม Itanium หรือ IA-64 ที่ถูกตั้งชื่อมาเพื่อเป็น "ตัวต่อไป" ของ x86 ที่เป็น IA-32

No Description

ประมาณการยอดขายของ Itanium นับแต่เปิดตัว (ภาพโดย Ctrl alt delboot)

แต่โลกในยุคนั้นยังไม่พร้อมสำหรับ ARM ที่ยังมีประสิทธิภาพต่ำเกินไป ขณะเดียวกันเครื่องมือพัฒนาซอฟต์แวร์ข้ามสถาปัตยกรรมชิปก็ยังไม่พร้อมสำหรับการก้าวกระโดดไปยังสถาปัตยกรรมใหม่ Itanium ถูกตั้งคำถามว่ามีประสิทธิภาพดีกว่า x86 จริงหรือไม่ เครื่องคอมไพล์เลอร์ที่ยังมีพัฒนาการไม่สูงพอ ไม่สามารถรีดประสิทธิภาพซอฟต์แวร์ออกมาได้อย่างที่นักออกแบบฮาร์ดแวร์ฝันไว้ (ความเห็นของ Donald E. Knuth)

ทรัพยากรที่ถูกดึงออกไปจาก x86 ขณะเดียวกันมวยรองอย่างเอเอ็มดีก็เข้ามายื่นทางเลือกให้กับลูกค้าของอินเทลด้วยสถาปัตยกรรม AMD64 เป็นทางเลือกที่นิ่มนวลกว่า ด้วยความสามารถในการรันซอฟต์แวร์ x86 เดิมได้ทั้งหมด และสามารถพัฒนาซอฟต์แวร์ใหม่เป็นสถาปัตยกรรม 64 บิตที่ใช้แรมเกิน 4GB ได้และยังรันอยู่บนเครื่องเดียวกัน ทำให้ส่วนแบ่งตลาดของเอเอ็มดีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จุดสูงสุดของเอเอ็มดีนั้นสามารถครองส่วนแบ่งตลาดได้ถึง 17% ในปี 2006 ปีแรกแห่งการทำงานของ Otellini และภายหลังอินเทลต้องยอมกลับมาใช้ AMD64 โดยใช้ชื่อการตลาดว่า EM64T โดยไม่เคยยอมเรียกว่า AMD64 เลยจนกระทั่งช่วงหลังตลาดเริ่มยอมรับชื่อ x86-64 ซึ่งเป็นชื่อกลางๆ มากขึ้น

Paul Otellini เป็นพนักงานลูกหม้อยุคก่อตั้งของอินเทลที่เข้ามารับช่วงต่อจาก Barrett เขาลงมือเปลี่ยนแปลงโครงสร้างบริษัทอย่างรวดเร็ว เขาขายกิจการ XScale ออกไปให้ Marvell ในเดือนมิถุนายน 2006 หลังเข้ารับตำแหน่งเพียงปีเดียว และลดพนักงานออกไปถึง 10% นับเป็นการปลดพนักงานครั้งใหญ่ที่สุดของอินเทล

No Description

การยุบสายการพัฒนา x86 หลังยุค Otellini ที่เหลือเพียงสายเดียว (ภาพโดย Matthew Anthony Smith)

พร้อมๆ กับการทิ้งกิจการ ARM อินเทลยุบสายการพัฒนาซีพียู x86 ลงเหลือสายเดียว จากเดิมมีถึง 5 สาย แนวทางการพัฒนาซีพียูสายเดิมเป็นจังหวะ สลับฟันปลาระหว่างการเปลี่ยนสถาปัตยกรรมกับการเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิต ทำให้อินเทลมีสินค้าใหม่ออกวางตลาดได้ทุกปีจนได้ชื่อว่าเป็นโมเดลการพัฒนาแบบ Tick-Tock ด้วยแนวทางการพัฒนานี้ เราจะเห็นชิปอินเทลรุ่นเดสก์ทอปเปิดตัวในช่วงปีใหม่ รุ่นโน้ตบุ๊กเปิดตัวในอีกเดือนถึงสองเดือนต่อมา รุ่นเซิร์ฟเวอร์ราคาประหยัด (E3) เปิดตัวในช่วงไตรมาสสาม และเซิร์ฟเวอร์รุ่นกลาง (E5) เปิดตัวในปลายปี เป็นรอบการพัฒนาที่เป็นวงจรอย่างเป็นระบบ

ขณะที่อินเทลทิ้ง ARM ออกไป Otellini ก็อนุมัติโครงการพัฒนาซีพียูประหยัดพลังงานบนสถาปัตยกรรม x86 เอง ข่าวเริ่มออกมาในช่วงปี 2007 เมื่อโครงการ One Laptop Per Child ถูกจับตามองจากสื่อทั่วโลก เอเอ็มดีนั้นมีชิป Geode ที่แม้จะประสิทธิภาพไม่ดีนัก แต่ก็สามารถจำกัดปริมาณพลังงานได้พอที่จะใช้งานบนเครื่อง OLPC สื่อเริ่มตั้งคำถามว่าอินเทลจะมีอะไรมาสู้กับ Geode หรือไม่ ในที่สุดอินเทลก็เปิดเผยการพัฒนาชิป Diamondville พร้อมๆ กับที่ Atom ยังไม่พร้อม อินเทลก็เปิดตัว Classmate PC ที่ใช้ชิปของ Celeron ลดสัญญาณนาฬิกาลงเพื่อลดการใช้พลังงานและส่งพิมพ์เขียวให้กับ Asus เพื่อผลิตสำหรับตลาดอื่นนอกตลาดการศึกษา กลายเป็น Asus Eee PC 700 ที่เป็นต้นกำเนิดของตลาดคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กเหมาะสำหรับการพกพาในราคาถูก

No Description

ยอดขายเน็ตบุ๊กในปี 2008 ต่อตลาดโน้ตบุ๊กรวม (ภาพโดย Kozuch)

ในปี 2008 เป็นปีแห่ง Atom อย่างแท้จริง ขณะที่เครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กในสมัยนั้นราคามักอยู่ในช่วงสองหมื่นถึงสามหมื่นบาทขึ้นไป โน้ตบุ๊ก (ภายหลังอินเทลตั้งชื่อให้ว่าเน็ตบุ๊ก) ที่ใช้ Atom กลับทำราคาได้เพียงหมื่นบาทกลางๆ เท่านั้น ภายในปีเดียว เน็ตบุ๊กทำตลาดได้ถึง 19% ของตลาดรวมโน้ตบุ๊ก นับเป็นความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วที่สุดครั้งหนึ่งของตลาดพีซีจนกระทั่งแอปเปิลส่งไอแพดเข้ามาเปลี่ยนตลาดในกลุ่มราคานี้ในภายหลัง

No Description

อีกโครงการหนึ่งในยุคสมัยแห่ง Otellini คือการพัฒนา Solid-state drives (SSD) มาตั้งแต่ปี 2008 จากเทคโนโลยีการผลิตของตัวเอง จนทุกวันนี้กลุ่มกิจการ SSD ของอินเทลกลายเป็นสินค้าที่เราจับต้องกันบ่อยที่สุดอีกตัวหนึ่งนอกจากซีพียู

แต่ความยิ่งใหญ่ของ Otellini ก็ไม่ได้แปลว่าในยุคของเขาไม่มีความล้มเหลว ความพยายามพัฒนาชิปกราฟิกในชื่อรหัสว่า Larrabee กลายเป็นโครงการที่เต็มไปด้วยความล่าช้า และประสิทธิภาพไม่ดีเท่าที่หวัง ชิปกราฟิกสาย Intel HD แม้จะมีการพัฒนาต่อเนื่องแต่ก็ยังไม่สามารถเข้ามากินส่วนแบ่งในตลาดชิปกราฟิกของ NVIDIA และ AMD ได้ ยิ่งกว่านั้น การพัฒนาเทคโนโลยี GPGPU ที่ใช้ชิปกราฟิกเข้ามาช่วยประมวลผลทำให้ชิปกราฟิกเหล่านี้แทรกตัวเองเข้ามาอยู่ในตลาดเซิร์ฟเวอร์สำหรับประมวลผลด้านวิทยาศาสตร์ได้อย่างมาก แม้อินเทลจะกินส่วนแบ่งในตลาดซุปเปอร์คอมพิวเตอร์อย่างมากในช่วงหลัง แต่เครื่องส่วนมากก็ต้องประกบด้วยชิปกราฟิกทั้งสิ้น จนกระทั่ง Larrabee เพิ่งออกเป็นสินค้าจริงได้เมื่อเดือนที่ผ่านมา เราจึงได้การ์ด Intel Xeon Phi เป็นส่วนประกอบของเครื่องที่ใช้ "อินเทลล้วน" ในสิบอันดับแรกของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่แรงที่สุดในโลก

ความล้มเหลวที่ใหญ่ที่สุดของอินเทลในช่วงไม่กี่ปีมานี้ คือ โลกแห่งโมบาย ชิป Atom และวิสัยทัศน์แห่ง Mobile Internet Device (MID) ของอินเทลไม่สามารถเจาะตลาดหลักได้อย่างเป็นรูปธรรม แม้ Atom จะประหยัดไฟมากพอที่จะทำให้น่าใช้งานสำหรับโน้ตบุ๊ก แต่กลับไม่พอที่จะเป็นอุปกรณ์พกพาอย่างเต็มรูปแบบ อีกทั้งราคาที่สูงมากของเครื่อง MID ก็ทำให้มันไม่เคยเกิดในตลาดได้จริงทั้ง แต่กลับถูกสมาร์ตโฟนอย่าง iPhone กินตลาดอย่างรวดเร็ว

ความพยายามอย่างหนักของอินเทลที่จะแทรกตัวเองเข้ามาในตลาดของอุปกรณ์เคลื่อนที่ทั้งโทรศัพท์มีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความพยายามที่จะผลักดันแพลตฟอร์ม Moblin ไปพร้อมกับ Atom ล้มเหลว และความพยายามพัฒนา MeeGo ร่วมกับโนเกียก็ถูก Stephen Elop พับแผนไป สุดท้ายอินเทลจึงไปประกาศร่วมมือกับกูเกิลในการพัฒนาแอนดรอยด์ ที่ตอนนี้โทรศัพท์แอนดรอยด์ที่ใช้ชิป Atom Medfield ก็ยังไม่สามารถสร้างตลาดได้จริงจัง

ความหวังสำคัญที่อินเทลจะบุกกลับอุปกรณ์โมบายคือการเข้ายึดตลาดแท็บเล็ตด้วย Windows 8 ที่ใช้ชิป Atom Cloverfield

Otellini พาบริษัทเข้าสู่ยุคทองแห่งพีซีและเซิร์ฟเวอร์ 64 บิตมาได้ แต่กลับไม่สามารถพาบริษัทเข้าไปยังตลาดโมบายได้ ตลาดคอมพิวเตอร์ราคาถูกที่เน็ตบุ๊กเคยครองตลาดเบ็ดเสร็จกลับเสียให้กับแท็บเล็ตอย่างไร้การต่อต้าน

เมื่อแนวคิดที่เคยประสบความสำเร็จ กลับไม่สามารถพาอินเทลให้เติบโตไปอย่างมั่นคงได้ ก็ถึงเวลาที่อินเทลจะต้องหาหนทางใหม่อีกครั้ง และหนึ่งปีข้างหน้าในการเปลี่ยนผ่านของอินเทลไม่ว่าจะดีหรือร้าย มันจะเป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของวงการไอทีของทั้งโลก

ที่มา - Intel, Wikipedia:Paul Otellini, Wikipedia:Intel

Get latest news from Blognone

Comments

By: tanapon000 on 20 November 2012 - 08:39 #508529
tanapon000's picture

ถ้า AMD รวยคงทำเหมือนกัน

By: sdh on 20 November 2012 - 08:44 #508531

ซีอีโอของบริษัทที่ทำงานมาตั้งแต่ปี 2005, ในปี 2006 ปีแรกแห่งการทำงานของ Otellini

ถ้าใช้ว่า "ซีอีโอของบริษัทที่รับตำแหน่งนี้มาตั้งแต่ปี 2005", "ในปี 2006 ปีแรกในตำแหน่งซีอีโอของ Otellini" น่าจะถูกต้องกว่า เขา "ทำงาน" กับอินเทลมาเกือบสี่สิบปี

By: hisoft
ContributorWindows PhoneWindows
on 20 November 2012 - 09:49 #508555
hisoft's picture
  • อีกทั้งราคาที่สูงมากเครื่อง MID ก็ทำให้มัน

น่าจะเป็น "สูงมากของเครื่อง" หรือเปล่าครับ

  • ของอินเทลที่จะแรกตัวเอง

แรกตัวเอง น่าจะเป็น "แทรกตัวเอง" หรือเปล่าครับ?

  • อุปกรณ์เคลื่อนที่ทั้งโทรศัพท์มีขั้นอย่างต่อเนื่อง

มีขั้นอย่างต่อเนื่อง??? งงครับ

  • และความพยามพัฒนา

พยาม => พยายาม

By: nonarav
ContributorAndroid
on 20 November 2012 - 11:27 #508606
nonarav's picture

ขอบคุณสำหรับบทความดีๆครับ

By: quake_the_rock
iPhoneRed HatUbuntuWindows
on 20 November 2012 - 12:53 #508647
quake_the_rock's picture

ผมชอบประโยคที่ว่า "ตลาดคอมพิวเตอร์ราคาถูกที่เน็ตบุ๊กเคยครองตลาดเบ็ดเสร็จกลับเสียให้กับแท็บเล็ตอย่างไร้การต่อต้าน" อ่านแล้วได้ความรู้สึกว่าอาณาจักรอินเทลโดนรุกรานหนักจริงๆ

By: Be1con
ContributorWindows PhoneWindowsIn Love
on 20 November 2012 - 13:40 #508671
Be1con's picture

Steven Elop => Stephen Elop


Coder | Designer | Thinker | Blogger

By: toneferis
iPhoneWindows PhoneAndroidWindows
on 20 November 2012 - 13:56 #508678

-> Paul Otellini เป็นพนักลูกหม้อ =พนักงาน รึเปล่าครับ

By: leonoinoi
AndroidUbuntuWindows
on 20 November 2012 - 14:52 #508694

น่าติดตาม CEO คนใหม่ของ Intel (อย่าให้เป็นแบบ Elop ละกัน)

By: plawanja
Android
on 20 November 2012 - 19:20 #508791
plawanja's picture

Asus Eee PC 700 ยังมีตั้งไว้ให้ฝุ่นเกาะอยู่ที่บ้านเครื่องนึง ส่วน XScale นี่ยังมีใช้อยู่ใน Palm Treo ที่บ้านสองเครื่องความเร็วแค่ 300MHz เทียบกับมือถือเดี๋ยวนี้ทั้ง droid, iphone ... เวลาไม่ถึงสิบปีเทคโนโลยีมันไปเร็วจริงๆ

By: mementototem
ContributorJusci's WriterAndroidWindows
on 22 November 2012 - 11:10 #509690
mementototem's picture

ผมใช้ซีพียู Intel รู้ว่าถ้าจะหา Linux distro ต้องดูว่ารองรับ AMD64 ไหม แต่พอเจอว่ารองรับ EM64T ผมงง เอิ๊ก ๆ

ตราบใดที่ Intel ยังหาทางทำให้ซีพียูของตัวเองประหยัดพลังงานมากพอไม่ได้ หนทางสู่โลก mobile ก็มืดมนต่อไป ต่อให้ผลิตแบตที่ประสิทธิภาพมากกว่า จนไม่ต้องสนใจเรื่องการประหยัดพลังงานได้ก็ตาม


Jusci - Google Plus - Twitter