Tags:
Node Thumbnail

ปัจจุบันผู้ใช้งานระบบปฏิบัติการ GNU/Linux มีตัวดิสโทรต่าง ๆ มากมายนับร้อยเป็นตัวเลือกในการใช้งาน เท่าที่ผมใช้งานดิสโทรต่าง ๆ มากมาย มีดิสโทรที่ผมแนะนำให้ใช้งานจริงเพียงสามดิสโทร นั่นก็คือ Debian, Ubuntu แล้วก็ Gentoo ทั้งนี้เนื่องจาก ดิสโทรทั้งสามเป็นดิสโทรที่มีชุมชนที่เข้มแข็ง ไม่มีเรื่องทางพานิชย์เข้ามาเกี่ยวข้อง มีซอพท์แวร์ให้เลือกใช้งานเยอะ และการจัดการซอพท์แวร์มีความสะดวก มีประสิทธิภาพสูง ส่วนดิสโทรที่ผมชอบมากที่สุดเห็นจะเป็น Gentoo

ผมเคยติดตั้งและใช้งาน Gentoo อยู่เป็นเวลานานพอสมควร แต่แล้ววันหนึ่งเมื่อผมอัพเกรดซอพท์แวร์ทุกตัวบนเครื่องคอมพิวเตอร์พร้อม ๆ กัน กับคำสั่ง emerge world เนตเวิร์คบนเครื่องผมก็ใช้การไม่ได้ ผมพยายามหาวิธีแก้แต่ไม่สำเร็จ สุดท้ายเลยต้องเปลี่ยนมาใช้ Debian เพราะผมไม่มีเวลามากพอที่จะมาติดตั้ง Gentoo ใหม่ทั้งหมดอีกครั้ง แต่เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว Gentoo 2006.0 install CD ก็ออกสู่โลก OpenSource เป็นเครื่องมือที่ช่วยอำนวนความสะดวก และช่วยประหยัดเวลาในการติดตั้ง Gentoo มากเลยทีเดียว

ที่มา: BioLawCom.De

Gentoo เป็นดิสโทรที่ไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือน เพราะ ซอพท์แวร์เกือบทั้งหมดรวมถึงแกนระบบ (Kernel) จะถูกคอมไพล์บนเครื่องของเรา หลายคนอ่านแล้วอาจตกใจ เพราะการคอมไพล์โปรแกรมโดยเฉพาะโปรแกรมที่มีขนาดใหญ่มาก ๆ มี depencies ที่ซับซ้อน ไม่ได้ทำกันง่าย ๆ แต่ Gentoo มีเครื่องมือที่เรียกว่า Portage ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกการคอมไพล์โปรแกรม ไม่ว่าจะ ดาวน์โหลด Source Code ให้อัตโนมัติ คำนวน depedencies ของโปรแกรมทั้งหมด รวมถึงขั้นตอนการ optimize ต่าง ๆ อีกมากมาย ดังนั้นโปรแกรมที่ได้จาก Portage จึงเป็นโปรแกรมที่เหมาะสมที่สุดสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์ของเรา

แต่สิ่งที่ได้มาย่อมแลกกับบางอย่าง จริงอยู่ที่ Portage ใช้ง่าย เพียงใช้คำสั่ง emerge เพียงคำสั่งเดียวทุกอย่างก็จะเสร็จเรียบร้อย แต่กว่าจะเสร็จเรียบร้อยก็ต้องรอนานเอาการ ยกตัวอย่างเช่น หากต้องการลงโปรแกรมชุด KDE ต้องใช้เวลาคอมไพล์กันอย่างน้อยสองวันเลยทีเดียว นอกจากนี้โปรแกรมที่ได้ส่วนมากจะไม่มีการตั้งค่าใด ๆ มาก่อน เราต้องมาตั้งค่าเองอีกครั้ง ด้วยเครื่องมือเพียงอย่างเดียวคือ Text-Editor

สิ่งที่น่ากลัวที่สุดของ Gentoo คือติดตั้งระบบลงบนเครื่องคอมพิวเตอร์ ผมใช้เวลาศึกษาร่วมอาทิตย์ ลองผิด ลองถูกมากมาย กว่าจะสามารถติดตั้งระบบได้สำเร็จ ถึงแม้คนที่มีประสบการณ์เคยติดตั้งมาก่อน ก็ต้องใช้เวลาหลายวันในการติดตั้ง ทั้งนี้เนื่องจากการติดตั้ง Gentoo ต้องทำการสร้างระบบขึ้นมาเองเกือบทั้งหมด มีเครื่องมือที่ช่วยในการติดตั้งน้อยมาก ๆ เรียกได้ว่าการติดตั้ง Gentoo มีความยากระดับน้อง ๆ Linux from Scratch เลยทีเดียว ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้ผมต้องเปลี่ยนใจไปใช้ Debian หลังจากที่รู้ว่าต้องติดตั้งระบบใหม่ และด้วยเหตุนี้เองเช่นกัน ที่ทำให้จำนวนผู้ใช้ Gentoo เพิ่มขึ้นช้ามากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ใช้ดิสโทรอื่น ๆ

แต่มาถึงตอนนี้ปัญหาการติดตั้ง Gentoo ได้ถูกแก้ไขแล้วด้วย Gentoo 2006.0 ซึ่งเป็น LiveCD คล้าย ๆ Knoppix นั่นหมายความว่า เราสามารถบูตคอมพิวเตอร์จาก CD ดังกล่าว แล้วใช้งาน Gentoo จาก CD ได้ทันที ซึ่งเรื่องนี้ไม่แปลกใหม่เท่าใดนัก เพราะ LiveCD ของ Gentoo มีมานานแล้ว แต่ที่พิเศษกว่าเดิมคือ LiveCD ตัวนี้มาพร้อม Gnome, Firefox, Openoffice และโปรแกรมอื่น ๆ อีกมากมาย พร้อมใช้งานได้ทันที แต่ที่พิเศษสุด ๆ เลยก็คือ LiveCD มีโปรแกรมติดตั้ง Gentoo ตัวใหม่ล่าสุดมาให้ด้วย ทั้งที่เป็น Graphic และ Shell-Script ถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมของ Gentoo เลนทีเดียว

โปรแกรมติดตั้งที่มาพร้อม Gentoo 2006.0 ไม่ได้เปลี่ยนแปลงหลักการเดิมของ Gentoo ไปเท่าใดนัก เนื่องจากแกนของระบบ และโปรแกรมส่วนใหญ่ยังคงถูกคอมไพล์บนเครื่องของเราอยู่ ที่ต้องเขียนว่าโปรแกรมส่วนใหญ่เนื่องเพราะโปรแกรมขนาดใหญ่บางตัวเช่น Gnome, XOrg หรือ OpenOffice มาในรูปของไบนารี่แพกเกจ ที่ไม่ต้องคอมไพล์ แต่สิ่งที่โปรแกรมติดตั้งช่วยได้อย่างสูงคือ การอำนวยความสะดวก และรับรองผลความถูกต้อง ช่วยให้มือใหม่ที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับ GNU/Linux มากนัก มีโอกาสได้ติดตั้งและใช้งาน Gentoo

โดยหลัก ๆ แล้วขั้นตอนการติดตั้ง Gentoo ด้วย Installer ตัวใหม่ไม่แตกต่างจาก Installer ของดิสโทรอื่น ๆ มากนัก ผู้ติดตั้งต้องตั้งค่าต่าง ๆ ที่จำเป็นลงไป จากนั้น Installer ก็จะจำค่าต่าง ๆ นี้ไว้ แล้วจึงจัดการคอมไพล์โปรแกรมในภายหลัง การติดตั้งใช้เวลาประมาณสี่ชั่วโมง ทั้งนี้ผมได้ติดตั้งโปรแกรมที่มีไบนารี่แพกเกจมาให้เท่านั้น การติดตั้งโปรแกรมอื่น ๆ ที่ต้องคอมไพล์จะทำให้การติดตั้งใช้ระยะเวลานานเกินความจำเป็น และลดความเสถียรของโปรแกรม Installer ลง ดังนั้นการติดตั้งโปรแกรมอื่น ๆ เพิ่มเติมจึงควรทำหลังจากติดตั้งระบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว

ขั้นตอนการติดตั้งด้วย Graphic Installer มีดังนี้

เมื่อ LiveCD บูตตัวเองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว gdm จะ login เข้าสู่ gnome โดยอัตโนมัติ แล้วเราก็จะเห็น Desktop หน้าตาเช่นนี้

image

ให้คลิกที่ไอคอน Gentoo Installer เพื่อเข้าสู่โปรแกรมติดตั้ง Gentoo

image

จากนั้นโปรแกรมก็จะให้เราตั้งค่าต่างเกี่ยวกับเนตเวิร์คของเรา เพื่อโปรแกรมสามารถดาวน์โหลดไฟล์ต่าง ๆ ที่จำเป็นในการติดตั้งได้จากอินเตอร์เนต

image

ขั้นตอนต่อไปก็จะเป็นการแบ่งพาร์ติชั่น ก็ให้แบ่งพาร์ติชั่นเหมือน Linux ทั่ว ๆ ไปคือ 100 MB (แนะนำให้เป็น ext2 หรือ ext3 สำหรับ filesystem) สำหรับ /boot สองเท่าของแรมสำหรับ swap และที่เหลือให้เป็น root directory (/) (แนะนำให้ใช้ reiserfs หรือ xfs)

image

image

แล้วก็เมาท์เนตเวิร์คพาร์ติชั่นต่าง ๆ เช่น NFS

image

ต่อมาก็จะเลือก stage ซึ่งจะมีให้เลือกสาม stage โดย stage1 จะคอมไพล์ทุกอย่างใหม่หมด จึงใช้เวลามากที่สุด ส่วน stage2 และ 3 จะคอมไพล์น้อยลงมาตามลำดับ และใช้เวลาน้อยลงมาเช่นกัน ในส่วนนี้ผมแนะนำให้ใช้ stage3 เพราะผลที่ได้ไม่ต่างกันมากนัก แต่ระยะเวลาที่ต้องรอคอยต่างกันมากทีเดียว

image

จากนั้นก็ทำการเลือกที่มาของ portage หากไดอะลอกก่อนหน้าที่ได้ติ้กในช่อง Dynamic ไว้ก็ไม่จำเป็นต้องเลือก หากต้องเลือกเอง ผมแนะนำให้เลือก Normal หากใครใช้เนตเวิร์คที่มี proxy ผมแนะนำให้เลือก webrsync

image

ขั้นตอนต่อมาถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก เพราะจะมีผลต่อการคอมไพล์โปรแกรมทั้งหมด นั่นคือการปรับแต่ค่าสำหรับ make ในช่อง USE FLAG ให้เลือกโปรแกรมที่เราคิดว่าต้องใช้ ยิ่งเลือกมากเท่าไร เวลาการคอมไพล์ก็จะเพิ่มขึ้นเท่านั้น หากเลือกไม่ได้ก็แสดงว่าเลือกทั้งหมด ในช่อง proc ให้เลือกสถาปัตยกรรม CPU บนเครื่องคอมพิวเตอร์ ในช่อง optimization ผมแนะนำให้เลือก -O2 เพราะโปรแกรมที่ได้จะมีความเร็วสูง และเสถียร ส่วน -Os นั้น โปรแกรมจะมีขนาดเล็ก และ -O3 โปรแกรมจะเร็วมาก แต่ไม่รับรองความเสถียร ส่วนช่อง custom ให้เลือก -pipe ในช่องอื่น ๆ นั้นหากไม่มีความจำเป็นไม่ควรเลือก เพราะจะทำให้การติดตั้งช้า

image

เมื่อเสร็จแล้วโปรแกรมจะถามแกนระบบ (Kernel) ที่เราต้องการติดตั้ง ซึ่งผมแนะนำให้ใช้ gentoo-sources

image

เลือกและปรับแต่ง bootloader

image

เลือก timezone

image

ปรับแต่งเนตเวิร์คที่ต้องการติดตั้ง

image

เลือก Cron Deamon และ System Logger

image

เลือกแพกเกจที่ต้องการติดตั้งเพิ่มเติม ผมแนะนำให้เลือกเฉพาะไบนารี่แพกเกจ หรือแพกเกจที่มีวงเล็บข้างหลังว่า GRP เหตุผลดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

image

เลือก service ต่าง ๆ ที่เราต้องการให้เริ่มทำงานเวลาบูตเครื่อง ควรเลือก service ที่เราติดตั้งไว้แล้วเท่านั้น และหากเลือก gnome ไว้ ควรเลือก xdm ด้วยเพื่อตอนบูตตัว login manger จะได้ทำงาน

image

ปรับแต่ค่าต่าง ๆ สำหรับ xserver

image

เปลี่ยนรหัสลอกอินสำหรับ root และเพิ่มแอคเคาท์สำหรับผู้ใช้คนอื่น ๆ

image

เป็นอันเรียบร้อย สามารถกดปุ่ม install เพื่อเริ่มติดตั้งได้เลย (ในระหว่างรอสามารถออกไปเดินเที่ยวข้างนอกได้ หรือไม่ก็นอนหลับได้หนึ่งตื่น เพราะใช้เวลานานมาก ๆ)

image

สำหรับคอมพิวเตอร์ที่ LiveCD ไม่สามารถใช้งาน Gnome ได้ หรือคนที่ชอบทำงานบน Terminal สามารถใช้ Text-Mode ในการติดตั้งได้ โดยใช้คำสั่ง installer-dialog ซึ่งผมเองยังไม่ได้ลองใช้งาน แต่คาดว่าตัวโปรแกรมจะเป็นตัวเดียวกับ Graphic-Mode เพียงแค่เปลี่ยน Interface เท่านั้น

image

โดยรวมแล้วถือว่า Installer ตัวใหม่ของ Gentoo ทำงานได้ดีมาก แทบไม่มีข้อผิดพลาดในการทำงาน ช่วยอำนวยความสะดวกในการติดตั้ง โดยไม่ทิ้งหลักการเดิม หากเปรียบเทียบ Installer และ LiveCD ตัวนี้กับ Installer ของดิสโทรอื่น ๆ แล้วถือได้ว่าแซงหน้าเกือบทุกดิสโทรเลยก็ว่าได้ เพราะมีทั้ง Text-Mode และ Graphic-Mode อีกทั้งผู้ใช้ยังสามารถใช้งานโปรแกรมอื่น ๆ ในระหว่างรอการติดตั้ง เหมือน LiveCD ทั่ว ๆ ไปได้อีกด้วย ซึ่ง Installer ที่มีคุณสมบัติดังกล่าวนอกจาก Gentoo 2006.0 แล้วก็มี Knoppix-Installer ซึ่งยังมีข้อผิดพลาดค่อนข้างสูง และมีความยืดหยุ่นน้อย

เมือติดตั้งเรียบร้อยแล้ว เราก็มาดูผลงานที่ได้กัน

สิ่งแรกที่รู้สึกได้ในขณะบูตเครื่องคือความเร็ว ระยะเวลาในการบูตเครื่องจากเปิดเครื่องจนกระทั่งลอกอินใช้เวลาประมาณ 50 วินาที เร็วกว่า Ubuntu ที่เคยติดตั้งบนเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องเดียวกันนี้เกือบสองเท่า Login-Manager ที่ผมตั้งไว้ตอนติดตั้งคือ gdm เพื่อใช้งานร่วมกับ Gnome-2.12 สำหรับแฟน KDE ต้องผิดหวังเล็กน้อย เนื่องจาก Gentoo 2006.0 ไม่มี KDE ที่เป็นไบนารีแพกเกจมาให้ คนที่ต้องการใช้งาน KDE ต้องใช้เวลาคอมไพล์เอง (ตอนนี้ Gentoo มีนโยบายแยก KDE เป็นแพกเกจย่อยหลาย ๆ แพกเกจเพื่อประหยัดเวลาในการคอมไพล์) แต่ทีมงานพัฒนาสัญญาว่า LiveDVD ที่มี KDE ไบนารีแพกเกจจะออกมาเร็ว ๆ นี้

ซอพท์แวร์ที่ถูกติดตั้งจาก Portage จะไม่ได้รับการปรับแต่งค่าใด ๆ เลย ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจหากโปรแกรมต่าง ๆ ที่ปรากฏครั้งแรกจะมีหน้าตาอัปลักษณ์เล็กน้อย รวมถึงหน้าจอที่มีขนาดเล็กกว่าความเป็นจริง (ผมติดตั้งบนโน้ตบุคที่มีไวด์สกรีนขนากด 1200x800 แต่แสดงผลครั้งแรกที่ 1024x768) ดังนั้นผู้ใช้ต้องตั้งค่าต่าง ๆ เองทั้งหมดอีกครั้งหนึ่ง สำหรับคนที่ไม่มีความรู้ในเรื่องนี้ไม่ต้องกลัวไปครับ เอกสารของ Gentoo ดีมาก ๆ นอกจากนี้เวบบอร์ดของ Gentoo ยังมีชุมชนที่ดีมาก ๆ การตอบคำถามต่าง ๆ เป็นไปด้วยความสุภาพ ไม่มีการดูถูกเหยียดหยามเหล่ามือใหม่แม้แต่น้อย และส่วนมากแล้วเหล่านักพัฒนาของ Gentoo จะตอบคำถามต่าง ๆ ด้วยตัวเอง

สิ่งที่ทำให้ผมแปลกใจไม่น้อยหลังจากติดตั้งคือ เจ้า Gentoo เห็น CPU ซึ่งเป็น Pentium4 HT ที่อยู่บนเครื่องโน้ตบุค เป็น CPU ถึงสองตัว ซึ่งเป็นครั้งแรกตั้งแต่ผมใช้โน้ตบุคมาเป็นเวลาเกือบสองปี การทำงานต่าง ๆ ก็เร็วเหมือนมี CPU สองตัวเช่นกัน ดังนั้นระยะเวลาที่เสียไปในการติดตั้งถือว่าคุ้มค่าทีเดียว

การใช้งาน Gentoo โดยรวมถือได้ว่าใช้ยากเมื่อเปรียบเทียบกับดิสโทรอื่น ๆ แต่สามารถชดเชยได้จากเอกสารที่มีคุณภาพ และชุมชนที่ดีดังที่ได้เขียนไว้ หากทำงานกับ Genntoo และเอกสารของ Gentoo จนเกิดความเคยชิน ก็จะมีข้อดีอื่น ๆ ตามมา นั่นคือการ Optimize ระบบบนเครื่องคอมพิวเตอร์ได้อย่างเต็มพิกัด โดยที่ไม่มีดิสโทรไหนทำได้ นอกจากนี้ความรู้ที่ได้จากการปรับแต่งระบบบน Gentoo ยังสามารถนำไปใช้กับดิสโทรอื่น ๆ ได้อีกด้วย เพราะ Gentoo มีหลักการที่ว่า ซอพท์แวร์ต่าง ๆ ของ Gentoo จะถูกเปลี่ยนแปลงจากนักพัฒนาของ Gentoo ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ดังนั้นการปรับค่าต่าง ๆ บน Gentoo จึงค่อนข้างเป็นมาตรฐาน

Portage ถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของ Gentoo ตัว Portage เป็นการรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่จำเป็นในการคอมไพล์ซอพท์แวร์ แบ่งไว้ในไดเรคทอรีต่าง ๆ อย่างเป็นหมวดหมู่ เครื่องมือสำคัญของ Portage ที่ใช้ในการคอมไพล์โปรแกรมคือ ebuild และมีเครื่องมือที่ใช้ติดต่อกับผู้ใช้คือ emerge (หากเปรียบเทียบกับ Debian : Portage=Debian Package Management System, ebuild=dpkg, emerge = apt-get)

image

Portage มีการใช้งานที่ค่อนข้างง่าย ด้วยคำสั่ง emerge sync หรือ emerge-webrsync เราก็สามารถอัพเดด Portage ให้มีความสดใหม่ได้รายวัน และด้วยคำสั่ง emerge programm_name เราก็จะสามารถคอมไพล์และติดตั้งโปรแกรมที่เราต้องการได้ (ในตัวอย่างคือ programm_name) และด้วยคำสั่ง emerge -u world เราก็จะสามารถออัพเกรดโปรแกรมทุกตัวบนระบบได้ ข้อมูลเพิ่มเติมต่าง ๆ สามารถดูได้ที่ การใช้งาน Portage

สรุปแล้ว Gentoo เป็นดิสโทรที่ดีมากดิสโทรหนึ่ง แต่มีข้อเสียคือใช้ยาก การติดตั้งระบบและติดตั้งโปรแกรมใช้เวลานาน คนที่ต้องการใช้ Gentoo ต้องมีความรู้เกี่ยวกับระบบปฏิบัติการ GNU/Linux มากในระดับหนึ่ง หรือต้องการเรียนรู้ระบบปฏิบัติการ GNU/Linux ซึ่งสามารถศึกษาหาความรู้ได้โดยผ่านเอกสารของ Gentoo แต่รับรองได้ครับว่าเป็นความยากที่คุ้มค่าเหนื่อย ระบบที่ได้มีความเสถียร มีความยืดหยุ่น และที่สำคัญที่สุดคือความเร็ว ส่วนความปลอดภัยนั้นขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้ใช้ นอกจากนี้ Protage ของ Gentoo ยังมีซอพท์แวร์จำนวนมหาศาลให้เราเลือกใช้ (ขณะนี้อยู่ที่หลักหมื่นต้น ๆ ) มีการอัพเดตซอพท์แวร์รายวัน จึงมั่นใจได้ในความสด ดังนั้นคนที่เหมาะที่จะใช้ Gentoo กลุ่มแรกเลยคือเหล่านักพัฒนาโปรแกรม ต่อมาคือเจ้าของเซิพเวอร์ที่ค่อนข้างมีประสบการณ์ และคนที่อยากเรียนรู้ระบบปฏิบัติการ GNU/Linux สำหรับการใช้งานในระดับ Desktop นั้น Gentoo ถือว่าทำได้ดีไม่แพ้ดิสโทรอื่น ๆ แต่เนื่องจาก Gentoo ไม่มีระบบปรับแต่งค่าอัตโนมัติ Gentoo จึงไม่ได้รับความนิยมในการใช้งานระดับนี้

ส่วนคนที่ชอบความท้าทาย Gentoo เป็นอะไรที่ต้องลองเลยทีเดียว

Get latest news from Blognone

Comments

By: plynoi
WriterAndroidUbuntu
on 3 March 2006 - 07:14 #4200

:) ละเอียดมากๆครับ
ระดับ Novice อย่างผมของฝึกฝีมือกับ distro อื่นๆก่อนล่ะกัน :P

ได้ข่าวว่าคนที่ทำ Gentoo ไปทำงานที่ Microsoft นิ

By: sirn
WriteriPhone
on 1 January 1970 - 07:00 #4201

เติมให้อีกนิดหนึ่ง เรื่องของ CFlags ว่าไปอ่านใน Gentoo Wiki's Safe Cflags ได้เหมือนกัน

ผมเคยอ่านอยู่ครั้งหนึ่ง เรื่อง "ไม่แนะนำให้ใช้ Gentoo สำหรับเซิฟเวอร์ที่ทำงานจริง"
ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่า "ถ้าคุณตั้งให้มันอัพเดทตัวเองตอนกลางคืน ตื่นขึ้นมาคุณจะรู้ได้ยังไงว่าเครื่องคุณจะไม่ดับไปเฉยๆ"

ถึงแม้ Tool จะดีขนาดไหน ยังไงผมก็คิดว่าการ "คอมไพล์ทุกอย่าง" มันก็อันตรายอยู่ดี
ตราบจนบัดนี้ ผมก็ยังเลือก Debian เป็นตัวเลือกแรกอยู่ดี (ถึงแม้ว่าระยะห่างของ Release จะหน่วยเป็น "ปี" ก็ตาม) แต่ถ้ามีเวลาก็อยากจะลองเล่น Gentoo ดูเหมือนกัน

@ Daniel Robbins ลาออกจาก Microsoft แล้ว เมื่อเดือนมกราคมครับ

By: sirn
WriteriPhone
on 3 March 2006 - 07:17 #4202

บั๊ควันที่ยังไม่หายจริงๆ ด้วย -_-"

By: plynoi
WriterAndroidUbuntu
on 3 March 2006 - 09:43 #4205

sirn

หง่ะ เพิ่งไปทำแป๊บๆเองไม่ใช่เหรอ

By: Halogenmaster on 3 March 2006 - 10:33 #4207

แล้วสำหรับ hoem user เนี่ย ตัวไหนน่าจะเหมาะสมกว่าครับ

By: pt on 3 March 2006 - 11:56 #4210

http://distrowatch.com/ ranking ขวามือครับ ช่วยในการตัดสินใจ

By: mk
FounderAndroid
on 3 March 2006 - 17:48 #4213
mk's picture

มันยังไม่หายเพราะผมยังไม่ได้แก้อะไรเพิ่มน่ะสิ :(

By: bow_der_kleine
WriterAndroidUbuntu
on 4 March 2006 - 20:07 #4234
bow_der_kleine's picture

ผมเห็นด้วยกับคุณ sirn ครับที่ว่า Debian เหมาะกับเซิพเวอร์มากกว่า Gentoo เรื่องการคอมไพล์ผมคิดว่าไม่น่าจะสร้างปัญหาได้มากนัก เพราะเท่าที่ผมใช้มายังไม่ค่อยเจอปัญหาเรื่องคอมไพล์เท่าไร (เจอไปครั้งนึงเครื่องง่อยไปเลย) ผลที่ได้น่าพอใจทีเดียว แต่มันเสียเวลาและพลังเซิพเวอร์อย่างแรง ซึ่งทั้งพลังและเวลาสำหรับเซิพเวอร์มันเป็นเงินเป็นทองทั้งนั้น สิ่งที่เป็นปัญหาที่สุด น่าจะเป็นการปรับแต่งค่าต่าง ๆ ในส่วนนี้ Gentoo แทบไม่มีตัวช่วยเลย หากมีประสบการณ์ไม่มากพอ ก็เท่ากับเป็นการเปิดช่องโหว่ด้านความปลอดภัย แต่เรื่องนี้ Debian ทำได้ดีมาก ๆ ครับ

สรุปแล้ว Gentoo ดีกว่า Debian แค่สองอย่างคือ ความเร็ว กับ ความสดใหม่ของซอพแวร์ อย่างอื่น Debian น่าจะดีกว่าหมด สิ่งที่ต้องนำมาคิดคือความเร็วที่ได้คุ้มหรือเปล่า ผมเลยทดสอบความเร็วมาให้ดูกัน โปรแกรมทั้งหมดทำงานบนคอมพิวเตอร์เครื่องเดียวกันครับ

Debian C# Gentoo C# Debian Pyrex Gentoo Pyrex
Int arithmetic 16905 ms 15606 ms 15630.0 ms 13740.0 ms
Double arithmetic 20443 ms 18991 ms 13490.0 ms 11630.0 ms
Long arithmetic 40744 ms 32825 ms 25970.0 ms 24240.0 ms
Trig elapsed 3565 ms 3142 ms 45430.0 ms 7650.0 ms
IO elapsed 4766 ms 7271 ms 2640.0 ms 1440.0 ms

เดิมทีผมใช้โปรแกรมนี้เปรียบเทียบความเร็วระหว่าง Mono กับ Pyrex ก็เลยเอามาเปรียบเทียบ Debian กับ Gentoo ดู โดยรวมแล้ว Gentoo เร็วกว่า Debian ประมาณ 10-20% จะคุ้มกับการมานั่งคอมไพล์เองหรือเปล่า ก็แล้วแต่ใครจะตัดสินใจครับ

By: yimp on 8 April 2006 - 20:22 #5444

ผมเองเพิ่งลองลงไปเมื่อปีที่แล้วเอง ชอบตรง interface สวยนี่แหละ แต่ตอนหลังหันมาใช้ตัวอื่นแทน

Yimp::Webmaster Resources
a href="http://yimp.6te.net">http://yimp.6te.net