Tags:
Topics: 
Node Thumbnail

คำว่าความทะเยอทะยานกลายเป็นคำที่ถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ดีและสิ่งที่บั่นทอนสภาพจิตใจไปพร้อมกันในโลกที่เริ่มยึดถือการทำงานแต่พอดีและมี Work-life balance เป็นเป้าหมายสำคัญอีกอย่าง ทำให้เรื่องสุขภาพจิตในการทำงานได้รับการเน้นย้ำและใส่ใจมากขึ้น แต่จำเป็นหรือไม่ว่าเราต้องทอดทิ้งความทะเยอทะยานเพื่อพยายามรักษาสุขภาพจิตไว้

ในทางกลับกัน มีผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่าความทะเยอทะยานไม่ได้ทำลายสุขภาพจิตเสมอไป เราสามารถทะเยอทะยานในหน้าที่การงานไปพร้อมกับการมีสุขภาพจิตที่ดีได้ สิ่งสำคัญคือก็ใช้ความทะเยอทะยานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่จะมีชีวิตความเป็นอยู่และสุขภาพจิตที่ดีขึ้นซะเลย

Richard Ryan นักจิตวิทยาคลินิกและผู้คิดค้นทฤษฎีการตัดสินใจด้วยตนเองหรือ Self-Determination กล่าวว่าความทะเยอทะยานเป็นสิ่งที่ดีตราบใดที่ไม่ทำลายแง่มุมอื่น ๆ ของชีวิต

No Description

งานวิจัยที่มีชื่อเสียงในปี 2012 เก็บข้อมูลบุคคลหลายร้อยรายเป็นระยะเวลา 70 ปี พบว่าคนที่มีความทะเยอทะยานก็เป็นไปได้มากที่จะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน แต่ความทะเยอทะยานกลับไม่เกี่ยวข้องกับความพึงพอใจในการใช้ชีวิตเลย ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบทั้งทางแง่บวกหรือแง่ลบ พูดง่าย ๆ คือ ความทะเยอทะยานไม่ส่งผลต่อระดับความสุขในการใช้ชีวิต

แต่สิ่งที่ทำให้ความทะเยอทะยานมีผลกระทบต่อสุขภาพจิตคือเป้าหมายที่เราอยากจะไปให้ถึงมากกว่า การศึกษาหลายงานพบว่า คนที่มีแรงจูงใจจากเป้าหมายภายนอกอย่างความร่ำรวย ฐานะ ชื่อเสียง จะไม่รู้สึกว่าได้รับการเติมเต็มเท่าคนที่มีแรงผลักดันจากเป้าหมายภายในอย่างการเติบโต การมีความสัมพันธ์ที่ดี หรือการเป็นคนรอบรู้มากขึ้น

เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว เราควรบังคับทิศทางความทะเยอทะยานไปทางไหนดี?

ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์กับคนรอบข้างก่อน

Richard Ryan กล่าวว่า ความทะเยอทะยานเป็นสิ่งที่ต้องลงมือลงแรงและต้องใช้ความพยายามอย่างมาก ดังนั้น เราควรใช้แรงและความพยายามไปกับสิ่งที่จะช่วยเติมเต็มความสุขในชีวิตอย่างการสร้างความสัมพันธ์กับคนรอบข้างให้แข็งแรง เพราะหากความทะเยอทะยานต้องแลกมาด้วยการไม่มีเวลาให้ตัวเองและคนรอบข้าง ก็เป็นไปได้ว่าจะส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตได้

No Description

ใส่ใจที่กระบวนการทำงาน ไม่ใช่ผลลัพธ์

งานวิจัยชี้ว่าเราจะรู้สึกมีความสุขเมื่อเราให้ความสำคัญกับการบรรลุเป้าหมายที่การบรรลุเป้าหมายจริง ๆ (achievement for achievement’ sake) ไม่ใช่ให้ความสำคัญกับรางวัลที่จะได้รับหากประสบความสำเร็จ อย่างเช่น การให้คุณค่ากับการที่เราทำงานได้เก่งขึ้น ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ หรือสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าของบริษัทแทนที่จะให้ความสำคัญกับการเลื่อนตำแหน่งหรือการเพิ่มเงินเดือน

งานวิจัยบางชิ้นยังชี้ด้วยว่าในที่สุดแล้วคนที่มีแรงผลักดันมาจากภายในจะประสบความสำเร็จมากกว่าคนที่มีแรงผลักดันอย่างสถานะทางการเงินหรือตำแหน่งด้วย

Ryan เองก็เสนอว่าเราสามารถทะเยอทะยานกับการทำงานที่ได้รับมอบหมายให้บรรลุผลสำเร็จได้ หากงานนั้นเป็นไปในทิศทางเดียวกันตัวตนของเรา

ทะเยอทะยานเพื่อการเติบโต

การมี Growth Mindset ที่มองว่าตัวเราสามารถพัฒนาตัวเองได้อยู่เสมอเป็นเรื่องที่ดีกว่าการยึดถือความทะเยอทะยานเป็นทุกสิ่งในชีวิตและปล่อยให้ควบคุมชีวิตเรา การใช้ความทะเยอทะยานเพื่อการพัฒนาตัวเองก็อย่างเช่น เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ พยายามพัฒนาตัวเองให้มีนิสัยที่น่าคบหา มากกว่าการตั้งเป้าหมายว่าต้องได้งานนี้หรือได้เงินเดือนเท่านั้นเท่านี้

พอใจและขอบคุณในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่

ในโลกของทุนนิยม ถ้าเราจะให้ความสำคัญกับวัตถุนิยมบ้างก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาและปกติมากแต่ความรู้สึกพึงพอใจในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ก็จะช่วยให้เรามีสุขภาพจิตที่ดีมากขึ้น

งานวิจัยของนักจิตวิทยาที่ชื่อ Tim Kasser เสนอว่าเราควรจะพยายามอดทนอดกลั้นต่อความอยากได้ที่เกิดขึ้นบ้างเพราะจะช่วยทำให้สภาพจิตใจของเราแข็งแรงมากขึ้น ซึ่งสิ่งที่จะช่วยให้เราลดความคิดแบบวัตถุนิยมลงได้คือสติ การชื่นชมและรู้สึกขอบคุณต่อสิ่งที่เรามีอยู่ มีการศึกษาพบว่าการทำสมาธิทุกวันช่วยให้คนมีความพึงพอใจกับสถานะทางการเงินและความเป็นอยู่ของตัวเองมากขึ้นและทำให้สุขภาพจิตดีขึ้นตามไปด้วย

No Description

พยายามอย่ามองทุกอย่างเป็นเงินเป็นทองไปหมด

บางคนอาจเคยได้ยินคำพูดที่ว่า “อย่าเอาสิ่งที่รักมาเป็นงาน เพราะจะกลายเป็นสิ่งที่เกลียด” ซึ่งบางครั้งดูเหมือนจะเป็นคำพูดเล่น ๆ แต่ดันมีงานวิจัยที่เผยว่า การยึดติดแรงจูงใจภายนอกไว้กับสิ่งที่เราเคยชอบจะทำให้แรงผลักดันจากภายในมีน้อยลงจนทำให้เราไม่อยากทำในสิ่งที่เคยชอบอีกต่อไป ในทางเดียวกัน การเอาสิ่งที่รักมาเป็นงาน คือการเพิ่มแรงผลักดันจากภายนอกซึ่งก็คือเงินลงไป ดังนั้น หากสิ่งที่เราทำมีคุณค่าในแง่การสร้างความสบายใจและความพึงพอใจให้เราอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นจะต้องดึงเงินเข้ามาเกี่ยวข้องอีก

ความทะเยอทะยานเป็นตัวแปรสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความสำเร็จในหน้าที่การงาน แต่การมีสุขภาพดีก็เป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกันเพราะเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ที่ดีและความสุขในชีวิต ดังนั้น เราควรกำหนดเป้าหมายที่สร้างแรงผลักดันจากภายใน และใช้ความทะเยอทะยานเพื่อทำให้เป้าหมายนี้ประสบความสำเร็จแทน

ใครที่กำลังมองหางานประจำด้านเทคโนโลยี เข้ามาดูงานได้เลยที่ Blognone Jobs

ที่มา: TIME

Get latest news from Blognone