Tags:
Topics: 
Node Thumbnail

เคยไหมที่รู้สึกหมดไฟกับงานที่ทำอยู่จนอยากจะลาออกแต่ก็ไม่รู้ว่าจะหางานที่มั่นคงเท่างานปัจจุบันได้ไหม แถมไม่รู้ด้วยว่าจะได้งานใหม่เมื่อไร แล้วจะใช้ชีวิตในช่วงที่ว่างงานอยู่รอดหรือไม่ แต่จะพยายามอดทนกับงานปัจจุบันยังไงก็ไม่รู้สึกดีขึ้นมา

Kathleen Hogan หัวหน้าฝ่ายบุคคลของ Microsoft ให้คำแนะนำถึง 2 สิ่งที่เราควรทำเมื่ออยากลาออกจากงานแต่ติดกับดักงานเดิมจนไม่กล้าลาออกซะทีแบบสถานการณ์ข้างต้น

ขั้นตอนแรก คิดว่าเรามีส่วนร่วมในการทำเป้าหมายของบริษัทให้สำเร็จลุล่วงอย่างไร

คงจะเป็นเรื่องดีที่ถ้าเราตื่นขึ้นมาตอนเช้าแล้วรู้ว่าเป้าหมายในการไปทำงานของเราคืออะไรและเป้าหมายของเราช่วยเติมเต็มเป้าหมายของบริษัทอย่างไร แต่แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะมีความรู้สึกแบบนั้น

No Description

Hogan แนะนำว่าหากไม่รู้ว่าตนเองทำงานไปเพื่ออะไร ควรจะ Zoom Out ออกมาและเปลี่ยนจากการหมกมุ่นกับจุดเล็ก ๆ น้อย ๆ มามองภาพบริษัทเป็นภาพใหญ่ขึ้น เพราะคนส่วนใหญ่มักจะหมกมุ่นครุ่นคิดอยู่กับเรื่องที่เราจะต้องทำในวันนั้นอย่าง การประชุมที่กำลังจะเริ่มขึ้น

Hogan กล่าวว่าหากเรามองภาพใหญ่ด้วยการคิดถึงว่าเราเป็นผู้ที่ได้รับโอกาสได้เข้ามาทำงานในบริษัทดี ๆ ได้พบเจอเพื่อนร่วมงานที่มีคุณภาพ และมองว่าเราก็มีประโยชน์ต่อบริษัทก็อาจจะทำให้เรารู้สึกดีที่มีโอกาสได้ทำงานที่ทำอยู่และมีแรงที่จะทำงานอีกครั้ง

แม้ว่า Hogan จะพูดถึงการทำงานในบริษัท Microsoft เป็นหลักแต่แนวคิดนี้ก็นำมาปรับใช้ในกับทุกคนเพราะหากเราย้อนกลับไปมองว่าเราได้ทำประโยชน์อะไรให้กับองค์กรที่เราทำงานอยู่บ้าง เราอาจจะเข้าใจก็ได้ว่าเหตุผลที่เราไม่มีแรงจะไปทำงานในแต่ละวันอยู่ตรงไหน ตัวอย่างเช่น Shannon Sullivan รองประธานอาวุโสฝ่ายทรัพยากลบุคคลของบริษัท Hulu กล่าวว่า เธอท้อแท้กับงานเพราะขั้นตอนเรื่องการบริหารจัดการที่น่าเบื่อหน่าย ไม่ใช่เพราะว่าเธอเบื่องานที่ทำ พอรู้ปัญหาและแก้ไขได้ เธอก็รู้สึกกลับมามีแรงทำงานอีกครั้ง

ขั้นตอนที่ 2 พูดคุยอย่างตรงไปตรงมากับหัวหน้าเรื่องที่รู้สึกดไม่มีแรงจูงใจที่จะทำงาน

ถ้าพยายามจัดการกับความรู้สึกตัวเองในขั้นตอนแรกแล้วยังไม่เวิร์ค สิ่งที่ควรทำต่อไปคือการพูดคุยกับหัวหน้าหรือผู้จัดการฝ่ายตามตรงเรื่องที่เรารู้สึกไม่มีไฟในการทำงาน

ปัจจุบันการโยกย้ายพนักงานไปทำงานฝ่ายอื่นภายในองค์กรเดิม (Internal Mobolity) เป็นแนวทางที่ได้รับความนิยมมากขึ้นหลังจากที่บริษัทต่างพยายามรักษาคนเก่ง ๆ ไว้ไม่ให้ย้ายไปยังบริษัทอื่นโดยเฉพาะในบริษัทเทคโนโลยี ดังนั้น หัวหน้าก็อาจจะช่วยให้เราได้ย้ายตำแหน่งเพื่อลองไปทำงานที่แตกต่างจากเดิมดู เราเองจะได้มีแรงจูงใจในการทำงานอย่างเต็มที่ส่วนบริษัทก็ได้ประโยชน์จากผลงานที่ดีของเราด้วย

No Description

นอกจากนี้ Hogan ยังแนะนำให้เราพูดคุยกับหัวหน้าทีมหรือผู้จัดการฝ่ายอย่างตรงไปตรงมาหากเรากำลังไปสัมภาษณ์งานกับบริษัทอื่น แต่หากหัวหน้างานของเราไม่ได้เป็นคนที่เราสามารถพูดคุยอย่างเปิดเผยด้วยได้ ก็คงถึงเวลาที่เราอาจจะต้องมองหาหัวหน้างานคนใหม่ที่จะสามารถรับฟังความคิดเห็นของเราได้

จากประสบการณ์ในการทำงานฝ่ายบุคคลของ Hogan สอนให้เธอรู้ว่าหัวหน้างานมีส่วนอย่างมากในการสร้างประสบการณ์ทำงานของพนักงาน ผลสำรวจช่วงต้นปีนี้จากบริษัทวิจัยเรื่องการจ้างงาน GoodHire เป็นสิ่งที่สนับสนุนความคิดของ Hogan โดยผลสำรวจเผยว่า พนักงาน 82% ในสหรัฐอเมริกาจะลาออกจากงานหากเจอกับหัวหน้างานที่ไม่ดี นอกจากนี้ พนักงานส่วนใหญ่ไม่ได้มองว่าหัวหน้างานของตัวเองเป็นคนที่เปิดกว้างและซื่อตรงในเรื่องการพิจารณาเลื่อนตำแหน่งหรือขึ้นเงินเดือนซึ่งทำให้กระทบต่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงานของพนักงาน

แม้ว่า Hogan จะแนะนำ 2 ขั้นตอนเพื่อประนีประนอมกับอาการอยากลาออกด้วยการพยายามแก้ปัญหาก่อน แต่ Hogan ก็ได้ทิ้งท้ายไว้ว่า การคิดที่จะเปลี่ยนไปทำงานที่เรารู้สึกดีมากกว่าก็เป็นสิ่งที่ควรทำเหมือนกัน เพราะชีวิตสั้นเกินกว่าที่จะทำงานที่ไม่ได้ทำให้เราค้นพบเป้าหมายความสุขในการทำงาน

สำหรับใครที่กำลังมองหางานใหม่ด้านเทคโนโลยี เข้ามาดูงานได้เลยที่ Blognone Jobs

ที่มา: Business Insider

Get latest news from Blognone