Tags:
Topics: 
Node Thumbnail

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาประเทศในอาเซียนเราเจอกับพายุโนรู ในขณะเดียวกันแถบอเมริกาเหนือก็มีพายุเฮอริเคน Fiona เมื่อสัปดาห์ก่อนและเจอพายุ Ian อยู่ในตอนนี้ ด้วยความที่วาตภัยเองก็ถือเป็นภัยพิบัติร้ายแรงสำหรับประเทศสหรัฐอเมริกาจึงทำให้มีความพยายามศึกษาเกี่ยวกับพายุที่เกิดขึ้น

หนทางหนึ่งในการศึกษาเรื่องนี้คือการ "ล่าพายุ" ซึ่งหมายถึงการนำเอาเครื่องมือวัดทางวิทยาศาสตร์ไปเก็บค่าต่างๆ จากบริเวณที่พายุพัดผ่านและนำข้อมูลที่ได้มาศึกษาสร้างความเข้าใจเพื่อให้สามารถวางแผนรับมือกับพายุที่เกิดขึ้น โดยหนึ่งในเครื่องมือล่าพายุที่ได้รับการพัฒนาล่าสุดคือเรือไร้คนขับของบริษัท Saildrone ซึ่งเมื่อวันที่ 22 กันยายนที่ผ่านมาสามารถเก็บข้อมูลจากตำแหน่งใกล้ตาพายุ Fiona ได้จากกลางมหาสมุทร ทำให้ได้เห็นภาพวิดีโอที่แสดงถึงความรุนแรงของพายุเฮอริเคนลูกนี้

พายุ Fiona ได้เคลื่อนตัวผ่านมหาสมุทรแอตแลนติกและเจอเข้ากับเรือสำรวจของ Saildrone ด้วยกัน 4 ลำ โดยลำแรกซึ่งอยู่ที่ตำแหน่ง 700 กิโลเมตรทางทิศตะวันออกของ Montserrat เจอพายุในขณะที่ยังเป็นแค่พายุโซนร้อน ก่อนที่มันจะเพิ่มกำลังจนเป็นพายุเฮอริเคนระดับ 1 และเคลื่อนมาเจอเรือสำรวจลำที่ 2 ในบริเวณใกล้เปอโตริโก ด้วยความเร็วลมมากกว่า 112 กิโลเมตรต่อชั่วโมงมันได้สร้างคลื่นสูง 14 เมตร หลังจากนั้นพายุได้เปลี่ยนทิศทางเคลื่อนขึ้นทางทิศเหนือมาเจอเรือของ Saildrone ลำที่ 3

แต่คลิปวิดีโอที่แสดงความรุนแรงระดับสูงสุดของพายุ Fiona มาจากเรือ SD 1078 ของ Saildrone ที่อยู่บริเวณถัดจากสามเหลี่ยมเบอร์มิวด้าไปทางทิศใต้เล็กน้อย ซึ่งนับเป็นเรือสำรวจล่าพายุลำที่ 4 ของ Saildrone ที่เจอเข้ากับพายุลูกนี้ โดยเรือสามารถเก็บข้อมูลพายุในตอนที่มันกลายเป็นเฮอริเคนระดับ 4 มีการวัดความเร็วลมสูงสุดได้มากกว่า 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความรุนแรงของพายุได้ก่อให้เกิดคลื่นขนาดใหญ่ความสูง 15 เมตร

สำหรับ Saildrone นั้นเป็นบริษัทที่สร้าง USV (unmanned surface vehicle) ซึ่งเป็นเรือไร้คนขับที่อาศัยแรงลม (แบบเดียวกับเรือใบหรือวินด์เซิร์ฟ) หรือเครื่องยนต์ดีเซลในการเคลื่อนที่ และใช้พลังงานแสงอาทิตย์มาเลี้ยงระบบเซ็นเซอร์ต่างๆ สำหรับเรือที่เจอพายุ Fiona นี้เป็นเรือรุ่น Explorer ที่ถูกออกแบบมาใช้สำหรับเก็บข้อมูลจากพื้นที่โดยรอบ เพื่อการศึกษาและงานวิจัยทั้งในด้านสมุทรศาสตร์และด้านภูมิอากาศ

No Descriptionเรือ SD 1058 หนึ่งในเรือ Explorer ของ Saildrone

ในปีที่ผ่านมามีเรือของ Explorer ของ Saildrone รวมทั้งหมด 7 ลำถูกปล่อยออกไปปฏิบัติภารกิจเก็บข้อมูลในมหาสมุทรแอตแลนติกและบริเวณอ่าวเม็กซิโก โดยได้รับการสนับสนุนจาก NOAA (National Oceanic and Atmospheric Administration) อันเป็นหน่วยงานรัฐภายใต้กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐอเมริกา

เรือของ Saildrone สามารถปฏิบัติภารกิจกลางทะเลได้ต่อเนื่องนานสูงสุด 12 เดือน สามารถแล่นด้วยแรงลมทำความเร็วได้ 2-6 น็อต (3.7-11.11 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) โดยมีเรือ 3 รุ่นสำหรับใช้งานแตกต่างกัน อันได้แก่

  • Explorer เรือขนาด 7 เมตร เน้นสำหรับงานสำรวจและเก็บข้อมูล ซึ่งเรือที่เจอพายุก็เป็นเรือ Explorer นี้เอง
  • Voyager เรือขนาด 10 เมตร มีเรดาร์และกว้านสำหรับงานเก็บกู้ อาศัยเครื่องยนต์ดีเซลในการขับเคลื่อนเรือ
  • Surveyor เรือขนาด 20 เมตร พร้อมเรดาร์และกว้านสำหรับงานเก็บกู้ อาศัยเครื่องยนต์ดีเซลในการขับเคลื่อนเรือเช่นเดียวกับรุ่น Voyager

ทั้งนี้พายุ Fiona ไม่ใช่พายุลูกแรกที่เรือของ Saildrone เคยบันทึกวิดีโอเอาไว้ได้ เมื่อปีที่แล้วก็มีเรือที่สามารถบันทึกวิดีโอในพื้นที่กลางพายุ Sam ได้เช่นกัน ซึ่งข้อมูลที่ได้จากเรือนี้ได้ช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถประเมินความแรงของพายุได้แม่นยำยิ่งขึ้น

ที่มา - New Atlas

Get latest news from Blognone