จีนเริ่มทดสอบเดินรถไฟลอยฟ้าสายใหม่ชื่อ Red Rail ในเมือง Xingguo มณฑล Jiangxi โดยรถไฟลอยฟ้าเส้นนี้มีความพิเศษตรงเทคโนโลยี maglev ที่ใช้แม่เหล็กถาวรแทนแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นครั้งแรกของโลก
เทคโนโลยี maglev อาศัยแรงผลักของแม่เหล็กในการยกตัวยานพาหนะให้ลอยสูงจากราง รวมทั้งใช้แรงจากแม่เหล็กนี้สร้างแรงขับให้ตัวรถเคลื่อนที่ไปตามรางด้วย โดยที่ผ่านมาการสร้างรถไฟ maglev จนถึงปัจจุบันล้วนแล้วแต่ใช้แม่เหล็กไฟฟ้าสร้างแรงผลัก โดยจะมีการควบคุมการจ่ายไฟให้กับขดลวดแม่เหล็กไฟฟ้าที่ถูกติดตั้งไว้ตามรางและบนตัวรถ
รถไฟลอยฟ้าสาย Red Rail
การพัฒนาแม่เหล็กของระบบ maglev ที่ผ่านมานั้น เริ่มจากยุคแรกที่สร้างแรงยกให้ตัวรถด้วยเทคนิค EMS (Electromagnetic Suspension) ซึ่งเป็นการใช้ขดลวดแม่เหล็กที่อาศัยการจ่ายไฟเข้าในขดลวดบนตัวรถให้เกิดอำนาจแม่เหล็กกระทำต่อราง จนต่อมามีการพัฒนาเทคโนโลยี EDS (Electrodynamic Suspension) ซึ่งได้นำเอาแม่เหล็กตัวนำยิ่งยวด (superconducting magnet) มาใช้งาน โดยแม่เหล็กตัวนำยิ่งยวดนี้มีขดลวดที่สร้างจากตัวนำยิ่งยวดที่มีคุณสมบัตินำไฟฟ้าได้ดีและมีความต้านทานไฟฟ้าน้อยมากจนแทบไม่มีเลย ซึ่งช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าและมีประสิทธิภาพการสร้างอำนาจแม่เหล็กดียิ่งขึ้น แต่ทั้ง 2 เทคโนโลยีที่กล่าวมาข้างต้นยังคงต้องอาศัยพลังงานไฟฟ้าเป็นหลักมาสร้างสนามแม่เหล็กเพื่อก่อให้เกิดแรงยกและแรงขับให้กับตัวรถ maglev
สิ่งที่จีนพยายามเปลี่ยนแปลงทำใหม่ในงานนี้คือการเปลี่ยนมาใช้แม่เหล็กถาวรติดตั้งบนรางแทนการใช้แม่เหล็กไฟฟ้า และในฐานะที่เป็นประเทศผู้มีแหล่งแร่หายาก เช่น neodymium อันเป็นสิ่งจำเป็นต่อการผลิตแม่เหล็กถาวรมากที่สุดในโลก จึงไม่น่าแปลกใจที่จีนจะไม่ลังเลที่จะทุ่มเทให้กับแนวคิดการใช้แม่เหล็กถาวรนี้ ซึ่งพวกเขาเรียกเทคโนโลยีนี้ว่า PML (Permanent Magnet Levitation)
ข้อดีที่สำคัญของเทคโนโลยี PML ก็คือจะทำให้ต้นทุนด้านพลังงานในการเดินรถลดลง โดย Yang Bin หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญของ Red Rail บอกว่าการใช้แม่เหล็กถาวรช่วยให้ใช้พลังงานในการเดินรถลง 31% เมื่อเทียบกับการใช้แม่เหล็กไฟฟ้า
รถไฟสาย Red Rail ขณะวิ่งออกจากสถานีโดยสาร
หลังจากผ่านการคิดค้นและพัฒนามานาน 9 ปี ตอนนี้รถไฟลอยฟ้าสาย Red Rail นี้เริ่มทดสอบเดินรถแล้ว ในตอนนี้เส้นทางรถไฟถูกก่อสร้างเป็นโครงสร้างเหล็กรองรับรางวิ่งสูงเหนือพื้น 10 เมตร เส้นทางวิ่งมีความยาวรวม 800 เมตร ตัวรถมี 32 ที่นั่งรองรับผู้โดยสารได้ 88 คน และทำความเร็วได้สูงสุด 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
หลังจากนี้หากการทดสอบเดินรถไฟลอยฟ้า Red Rail ประสบผลสำเร็จแล้ว จะมีการก่อสร้างรางเพิ่มจนมีความยาวรวม 7.5 กิโลเมตร ซึ่งจะทำให้รถไฟสามารถทำความเร็วสูงสุดได้เพิ่มขึ้นเป็น 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นอกจากนี้ทางการจีนยังมีแผนจะพัฒนาโครงการรถไฟ maglev แม่เหล็กถาวรสายอื่นๆ อีกประมาณ 10 โครงการด้วยเงินลงทุนราว 11.43 พันล้านหยวน (ประมาณ 59.58 พันล้านบาท)
ที่มา - CCTV+, New Atlas, China Daily
แม่เหล็กถาวรจะขาดแคลนละทีนี้
gamoman Tue, 08/16/2022 - 16:40
แม่เหล็กถาวรจะขาดแคลนละทีนี้ สร้างกันยาวเป็นร้อย ๆ กิโลเมตร
สร้างทีก็ต้องมีหลักการนะ
lawson Tue, 08/16/2022 - 19:43
In reply to แม่เหล็กถาวรจะขาดแคลนละทีนี้ by gamoman
สร้างทีก็ต้องมีหลักการนะ ทรัพยากรย์ที่มี ราคาคุ้มทุน คงสร้างไม่ถึง 100 กิโลเมตรคิดว่านะ น่าจะเป็นเทคโนโลยี demonstration เพื่อเอาไปใช้ในด้านอื่น เช่นอวกาศ ควันตัมคอมพิวเตอร์
แร่หายากที่ไม่ได้หายาก
Noblesse Wed, 08/17/2022 - 08:51
In reply to แม่เหล็กถาวรจะขาดแคลนละทีนี้ by gamoman
แร่หายากที่ไม่ได้หายาก แค่จีนเป็นผู้ผลิตรายใหญ่เท่านั้น ไม่ใช่ว่าแร่นี้มีเฉพาะในจีน หากมี demand เดี๋ยวก็มี supply ถ้าราคามันสูงขึ้นถึงระดับที่ถลุงแร่เองในประเทศคุ้มกว่าเดี๋ยวก็มีคนลงมาทำ
ดูเขาพัฒนาประเทศสิ
kadeep Tue, 08/16/2022 - 16:51
ดูเขาพัฒนาประเทศสิ เมืองนั้นไม่เห็นต้องชื่อว่า เป่ยจิง ตลอดปีตลอดชาติ
ต้นทุนพลังงานถูกแต่ค่าก่อสร้า
nutkan Tue, 08/16/2022 - 20:09
ต้นทุนพลังงานถูกแต่ค่าก่อสร้างน่าจะแพงมากเพราะเป็นแร่หายาก เอาจริงๆหลายๆโครงการที่ทำมาเหมือนเอามาโชว์ว่าทำได้น่ะมากกว่าเอามาใช้จริง ซึ่งทางตะวันตกมองแล้วว่าไม่คุ้มทุน
ที่ผ่านมาผู้เสียภาษีก็มองว่า
Noblesse Wed, 08/17/2022 - 09:54
In reply to ต้นทุนพลังงานถูกแต่ค่าก่อสร้า by nutkan
ที่ผ่านมาผู้เสียภาษีก็มองว่า NASA เป็นโครงการที่ทำมาเหมือนเอามาโชว์สหภาพโซเวียตมากกว่าเอามาใช้จริง หลังจากหมดสงครามเย็นก็เลยโดนตัดงบรัวๆ แต่ที่ผ่านมาเราก็ได้เห็นเทคโนโลยีหลายอย่างที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวันก็ได้มาจากอานิสงส์ของโครงการอวกาศของ NASA
แม้กระทั่งปัจจุบันเหล่าบริษัทอวกาศเอกชนเช่น SpaceX ก็ได้ประโยชน์หลายๆ อย่างที่ NASA ปูพรมไว้ให้โดยที่ไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ หากต้องเริ่มจากศูนย์คงไม่มีเอกชนรายไหนลงทุนเป็นแน่ ถ้าทุกสิ่งอย่างบนโลกต้องคิดถึงกำไรที่เป็นตัวเงินในระยะสั้นอย่างเดียวผมว่ามนุษย์คงไม่ได้พัฒนามาถึงขนาดนี้ มันถึงต้องมีการลงทุนจากรัฐบาลในโครงการที่มีความจำเป็นในระยะยาวซึ่งมีให้เห็นอยู่ทั่วโลก
ยกตัวอย่างเช่น California High-Speed Rail ที่มีข่าวด้านลบมาเรื่อยๆ ดูคลิปนี้ก่อน แล้วกลับมาอ่านต่อ พูดตรงๆ ว่าโครงการโครงสร้างพื้นฐานนี่ไม่มีที่ไหนในโลกไม่โดนด่าแม้แต่ Shinkansen ที่ในคลิปก็ได้ยกตัวอย่างไปแล้ว แต่ปัจจุบันก็ไม่มีใครจำได้เลย เพราะส่วนใหญ่ประชาชนคนธรรมดาก็จะคิดถึงอะไรที่ตัวเองได้ผลประโยชน์โดยตรงในระยะสั้น โครงการใหญ่ๆ พวกนี้ก็จะเห็นผลทุกคนก็ลืมไปแล้วด้วยซ่ำ ทุกวันนี้ก็เหมือน take for granted
สำหรับโครงการ PML ของจีนนี่เป็นประโยชน์อย่างมาก ทั้งระยะสั้นและระยะยาว แถมใช้ได้จริงแล้วไม่ได้โชว์ใน test track (เช่น Hyperloop) เพราะแม่เหล็กถาวรไม่ต้องใช้ไฟเลี้ยงตลอดเวลาเพื่อให้ลอยตัวทำให้ประหยัดพลังงานไปอย่างมาก ซึ่ง 31% นี่ถือว่าเยอะมากๆ เวลาเกิดเหตุฉุกเฉินก็ไม่ต้องพึ่งไฟฟ้าเพื่อให้รถไฟลอยตัวเพราะมันเป็นแม่เหล็กถาวร กรณีเดียวกับรถยนต์ไฟฟ้าที่ถึงแม้ต้นทุนจะสูงกว่าเครื่องยนต์สันดาป แต่ค่าพลังงานในการดำเนินการคือสิ่งที่เราต้องจ่ายตลอดอายุการใช้งาน ในระยะยาวจึงคุ้มค่ากว่าและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า ในมุมมองกลับกันแทนที่จะเอาแม่เหล็กไปทำรถยนต์ไฟฟ้า เอามาทำระบบขนส่งมวลชนแบบ PML จะเป็นประโยชน์กว่าด้วยซ่ำ
ส่วนเรื่องแร่หายากที่ไม่ได้หายากให้อ่านจากคอมเมนต์นี้ แค่จีนเป็นผู้ผลิตรายใหญ่เท่านั้น ไม่ใช่ว่าแร่นี้มีเฉพาะในจีน เพราะถึงไม่ใช้ Neodymium ทำแม่เหล็กถาวรก็ต้องใช้ Copper ทำแม่เหล็กไฟฟ้าซึ่งก็พบได้ทั่วไปบนโลกพอๆ กับ Neodymium เลยแค่ถลุงง่ายกว่าเลยไม่ใช่แร่หายาก (Rare Earth Elements)
สุดท้ายอยากให้มองด้วยใจที่เปิดกว้าง เพราะถ้าจีนทำอะไรฝั่งตะวันตกก็โจมตี ถ้าฝั่งตะวันตกทำอะไรฝั่งจีนก็โจมตีเช่นกัน ทุกคนล้วนแต่ยึดผลประโยชน์ของตัวเอง (national interest)
จีนจะเผาผลาญทรัพยากรหมดโลกไหม
TeamKiller Tue, 08/16/2022 - 21:42
จีนจะเผาผลาญทรัพยากรหมดโลกไหมเนี่ย
นึกถึงอันนี้เลยครับ
Noblesse Wed, 08/17/2022 - 09:00
In reply to จีนจะเผาผลาญทรัพยากรหมดโลกไหม by TeamKiller
นึกถึงอันนี้เลยครับ
โลกนี้มี
waroonh Wed, 08/17/2022 - 06:45
โลกนี้มี แม่เหล็กนิโอดิเมี่ยมเยอะขนาดนั้นเลยเหลอเนี่ย
ทั้งลิเธียมเอามาทำแบตเตอรี่
schanon Wed, 08/17/2022 - 07:32
ทั้งลิเธียมเอามาทำแบตเตอรี่ ทั้งนีโอไดเมียมเอามาทำรถไฟฟ้า ของพวกนี้มันมีจำกัด สงสัยอนาคตแบบเรื่องอวตาร ที่เราต้องถ่อไปขุดแร่จากดาวเคราะห์อื่น ไม่ได้เกินจริงสักเท่าไหร่
ที่ไปดาวอังคารกันก็ด้วยเหตุผล
akira Wed, 08/17/2022 - 07:50
In reply to ทั้งลิเธียมเอามาทำแบตเตอรี่ by schanon
ที่ไปดาวอังคารกันก็ด้วยเหตุผลนี้แหล่ะครับ ถ้าอ่านนิตยสารวิทยาศาสตร์จะเห็นว่ามีโครงการพวกนี้อยู่ด้วย เพราะยังไงการไปดาวอังคารก็ต้องมีต้นทุน โดยเฉพาะในแถบดาวเคราะห์น้อยที่อยู่ใกล้ๆ ดวงดาวอะไรนะ?
จำได้ว่าครูเคมีสอนไว้ตั้งแต่ม
Noblesse Wed, 08/17/2022 - 08:34
จำได้ว่าครูเคมีสอนไว้ตั้งแต่มัธยมฯ ต้น ชื่อเรียกมันทำให้สับสนแหละ แต่ถ้าไม่มีการคิดเชิงวิพากษ์ก็คงไม่ถามหรือไม่ไปค้นหากัน เช่น หายากที่ว่านี่หายากขนาดไหน? คำตอบก็จะอยู่ในหน้าแรกของผลการค้นหา