Tags:
Node Thumbnail

ดิจิทัล เวนเจอร์ส (DV) ในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เพื่อส่งเสริมสตาร์ทอัพ จัดการแข่งขัน Young-D Startup Ideation ในงาน Money Expo 2019 โดยเปิดพื้นที่ให้นักศึกษามาแข่งไอเดียทำกิจการของตนเอง โดยครั้งนี้พิเศษตรงที่เป็นเวทีเปิดให้คนที่มาร่วมงานสามารถเข้าร่วมชมการ pitching ของนักศึกษาไปพร้อมๆ กับคณะกรรมการ โดยนักศึกษาแต่ละทีมมีเวลา 10 นาที ในการนำเสนอไอเดียและผลงานของตัวเอง แสดงให้เห็นถึงการเตรียมพร้อมและเตรียมข้อมูลมาเป็นอย่างดี

สำหรับโครงการ Young-D Startup Ideation เป็นโครงการเฉพาะกิจของ DV ที่ต่อยอดมาจาก U.REKA ที่ DV เป็นส่วนหนึ่งของภาคส่วนการศึกษาที่มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมนักวิจัยและผู้ประกอบการนวัตกรรมที่เน้นเทคโนโลยี Deep Tech

No Description

คุณธีรวิทย์ ธรรมาภรณ์พิลาศ Team Lead Discovery Lab and Digital Products บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส ระบุว่า Young-D Startup Ideation เป็นโครงการเฉพาะกิจเน้นที่การเปิดพื้นที่ให้นักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่ที่มีไอเดียทำกิจการของตนเองมาแข่ง pitching ชิงเงินรางวัลพร้อมโชว์ศักยภาพในการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหาให้กับสังคม เยาวชน ผู้สูงอายุ และสิ่งแวดล้อม ฯลฯ สำหรับรางวัลในโครงการ Young-D Startup Ideation จะเป็นเหมือนคลื่นเล็กๆ ที่ช่วยเสริมความมั่นใจให้แก่เยาวชนคนรุ่นใหม่เติบโตไปเป็นผู้ประกอบการต่อไปได้

สำหรับการแข่งขันทั้ง 8 ทีม งัดไอเดียที่น่าสนใจ ประกอบด้วย

  • Billboard AI (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี) ทำป้ายโฆษณาดิจิทัลที่เรียนรู้พฤติกรรมคนเดินผ่านไปมาได้
  • Maker Playground (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี) แพลตฟอร์มพัฒนา IoT เขียนเป็นโค้ด ใช้ไดอะแกรม และใช้ AI แปลงไดอะแกรมเป็นซอสโค้ด
  • NISITGEN (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) ทำแพลตฟอร์มรวบรวมสิทธิพิเศษส่วนลดสำหรับนักศึกษาจากแบรนด์ต่างๆ ให้นักศึกษารู้ว่าเราจะได้ส่วนลดอะไรบ้าง และแบรนด์จะได้เข้าถึงนักศึกษา
  • Phase1 (มหาวิทยาลัยมหิดล) เป็นแพลตฟอร์มขายชีท เลกเชอร์ให้กับนักศึกษา
  • CalCal (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี) ทำแอพพลิเคชั่นเพื่อสุขภาพ นับแคลอรี่
  • Space Walker (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) คิดค้นอุปกรณ์ช่วยทำกายภาพแก่ผู้ที่เป็นอัมพาตครึ่งซีก และผู้ที่ต้องการทำกายภาพ
  • TriOCIN (มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์) ผลิตภัณฑ์รักษาสิวจากแบคทีริโอซิน
  • Greensery (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) ทำถุงเพาะปลูกเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ย่อยสลายเองได้

สำหรับทีมที่ชนะ เรียกได้ว่าไม่ผิดความคาดหมาย เพราะคณะกรรมการออกปากชมเชยคือทีม Space Walker จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้สร้างอุปกรณ์ช่วยเดินที่ต้นทุนถูกกว่าสั่งซื้อจากต่างประเทศ มีกลไกป้องกันการล้มทั้งด้านหน้าและด้านหลัง โดยทำขายและให้เช่าทั้งโรงพยาบาลและผู้ที่มีผู้ป่วยที่บ้าน ได้เงินรางวัล 5 หมื่นบาท รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้เงินรางวัล 3 หมื่นบาท คือ Greensery และรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้เงินรางวัล 2 หมื่นบาท คือ Maker Playground

No Description

คุณสุธีรพันธุ์ สักรวัตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานการตลาด ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) พูดถึงบทบาทของธนาคารในการส่งเสริมสตาร์ทอัพว่า ไม่ว่าธุรกิจอะไรก็มีแนวโน้มการใช้เทคโนโลยีมากขึ้นเรื่อยๆ ธนาคารเองถือเป็นภาคส่วนสำคัญในการทำธุรกิจ ที่น่าจะสามารถมีส่วนร่วมกับกิจการต่างๆ ต่อยอดธุรกิจของพวกเขาได้

คุณสุธีรพันธุ์ ระบุว่า ครั้งนี้ ธนาคารได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัย ซึ่งมหาวิทยาลัยเป็นภาคส่วนที่มีองค์ความรู้เก็บไว้มาก แต่อาจยังไม่มีโอกาสได้นำออกมาใช้ ธนาคารก็ช่วยให้สามารถนำความรู้ นวัตกรรมออกมาใช้งานอย่างเป็นรูปธรรมได้

No Description

นายวรัตถ์ สิทธิ์เหล่าถาวร จากทีม Space Walker ระบุถึงกุญแจสำคัญของตัวธุรกิจว่า สิ่งที่ Space Walker มอบให้ลูกค้าคือคุณค่า คุณค่าที่ผู้ป่วยจะได้ฝึกเดิน มันสำคัญมากสำหรับผู้ป่วยที่จะหลีกเลี่ยงไม่ต้องนอนติดเตียง เพียงเพราะไม่มีอุปกรณ์หรือคนช่วยพาเดิน ซึ่งอุปกรณ์ในบ้านยังไม่เพียงพอที่จะให้พวกเขาฝึกเดินได้

ปัจจุบันเรามีตัว Space Walker ที่ให้ผู้ป่วยหัดเดิน แต่อนาคตผู้ป่วยจะไม่ได้ใช้แค่ผลิตภัณฑ์นี้ผลิตภัณฑ์เดียว เขาต้องมีการเปลี่ยนอุปกรณ์ให้เหมาะสมตามความสามารถของผู้ป่วย ซึ่งในอนาคตเราตั้งใจจะเป็น Number 1 Stroke Solution คือเราจะมีอุปกรณ์รองรับตั้งแต่ที่ผู้ป่วยเริ่มเดินไม่ได้ในระยะแรก ไปจนถึงผู้ป่วยเริ่มฟื้นตัวและใช้ชีวิตประจำวันได้ เรามีอุปกรณ์ช่วยเรื่องขาแล้ว ต่อไปเราจะพัฒนาอุปกรณ์ช่วยการทำงานของแขน และจะขยายอุปกรณ์ให้ครอบคลุมเด็กพิการทางสมองด้วยในอนาคต

Get latest news from Blognone